Tag : DDproperty Property Index

2 ผลลัพธ์
อสังหาฯ กรุงเทพฯ ปีจอยังคงมีแนวโน้มราคาที่โตต่อเนื่อง  นับเป็นโอกาสทองของผู้ซื้อ

อสังหาฯ กรุงเทพฯ ปีจอยังคงมีแนวโน้มราคาที่โตต่อเนื่อง นับเป็นโอกาสทองของผู้ซื้อ

ราคาบ้าน-คอนโดฯ ในกรุงเทพฯ ยังคงโตต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงต้นปี หลังผู้ประกอบการ เล็ก-ใหญ่มั่นใจแนวโน้มตลาดปีจอประกาศเดินหน้าเปิดโครงการใหม่คึกคัก แม้ยอดอุปทานสูงขึ้นแต่ยังไม่ถึงขึ้นต้องหวั่นปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย จากรายงานดัชนีอสังหาริมทรัพย์ DDproperty Property Index ฉบับล่าสุด ซึ่งจัดทำโดย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์สื่อกลางซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทยภายใต้การบริหารของพร็อพเพอร์ตี้กูรู กรุ๊ป พบว่านับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 เป็นต้นมาตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มเป็นบวก โดยดัชนีราคามีการปรับเพิ่มขึ้นจาก 205 จุด เป็น 213 จุดในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2561 (1Q61)สอดคล้องกับแนวโน้มการค่อยๆ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศที่คาดว่าจะมีการขยายตัวของ GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปีนี้ราวร้อยละ 4.2 ซึ่งถือเป็นการขยายตัวในระดับเต็มศักยภาพ   หนึ่งในปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ นั่นคือต้นทุนการพัฒนาโครงการที่สูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในทำเลที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ดัชนีราคาบ้าน-คอนโดฯ ในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้นปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 213 ในช่วงระยะเวลาเพียง 3 ปี อัตราการเติบโตดังกล่าวเป็นผลมาจากราคาที่ดินที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการในปัจจุบันเลือกที่จะพัฒนาโครงการแนวสูงในพื้นที่กรุงเทพฯ ในขณะที่โครงการที่อยู่อาศัยแนวราบอย่างบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์นั้นจะไปเปิดตัวอยู่ในโซนกรุงเทพฯ รอบนอกและชานเมืองแทน   นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า “ตลาดที่อยู่อาศัยของกรุงเทพฯ มีความน่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้น และเป็นหนึ่งในทำเลที่บรรดานักลงทุนอสังหาฯ ให้ความสนใจจากผลตอบแทนการลงทุนที่มีความคุ้มค่า ซึ่งผู้ประกอบการเองก็เล็งเห็นในจุดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เราจะยังเห็นการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ในกรุงเทพฯ แม้แต่ในทำเลที่เราไม่คาดว่าจะยังมีที่เหลือสำหรับการพัฒนาโครงการใหม่ได้อีกก็ตาม โดยในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่ามีบริษัทอสังหาฯ หรือทุนจากต่างชาติเข้ามาสู่ตลาดอสังหาฯ กรุงเทพฯ ในรูปแบบของการร่วมทุน (Joint Venture) พัฒนาโครงการบนทำเลที่มีศักยภาพในเขตกรุงเทพฯ อยู่หลายรายด้วยกัน โดยโครงการภายใต้การร่วมทุนเหล่านี้ เราจะพบว่าดีเวลลอปเปอร์จะให้ความสำคัญกับรายละเอียดของโครงการที่จะพัฒนาในทำเลที่น่าสนใจและตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายของตนให้มากที่สุด ซึ่งถือเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ   โครงการรถไฟฟ้า-ระบบสาธารณูปโภคของภาครัฐดันราคาพุ่ง  ในช่วงที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อศักยภาพของทำเลต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ การเดินหน้าพัฒนาโครงการระบบสาธารณูปโภคของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อสร้างส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าหลากสีที่จะส่งผลให้มูลค่าที่ดินในพื้นที่นั้นๆ เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต   “การที่รัฐบาลเดินหน้าลงทุนในโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายต่างๆ ทำให้เกิดทำเลศักยภาพใหม่ๆ ขึ้นในกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา เรายังคงพบว่าจตุจักรยังคงเป็นเขตที่ดัชนีราคามีการปรับขึ้นสูงสุดที่ร้อยละ 10 และราคามีการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 80 ในช่วง 3 ปี โดยมีปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยในโซนนี้ถีบตัวสูงขึ้น นั่นคือ การก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคตที่กำลังดำเนินการอยู่นั่นเอง” นางกมลภัทรกล่าว   อีกหนึ่งทำเลที่น่าจับตาก็คือ เขตดินแดง ซึ่งเป็นทำเลที่เชื่อมต่อกับเขตจตุจักร โดยในรอบ 1 ปี ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในเขตดินแดงมีการเติบโตถึงร้อยละ 39   คอนโดฯ ยังครองอสังหาฯ ยอดนิยม นอกจากนี้ รายงานดัชนีอสังหาฯ DDproperty Property Index ฉบับล่าสุดยังพบการเพิ่มขึ้นของอุปทาน (Supply) ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงปลายปี 2560 ราวร้อยละ 11 สะท้อนให้เห็นถึงการชะลอตัวของอัตราการดูดซับอุปทานในตลาดที่มีทั้งยูนิตคงค้างจากโครงการที่เปิดตัวในช่วงปีที่ผ่านมา รวมไปถึงยูนิตใหม่ๆ ที่ทยอยเข้าสู่ตลาด โดยในช่วงไตรมาส 1 อุปทานคอนโดฯ มีสัดส่วนสูงสุดหรืออยู่ที่ร้อยละ 89 ของอุปทานที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ทั้งหมด ซึ่งอสังหาฯ ประเภทดังกล่าวเป็นที่นิยมทั้งในฝั่งผู้ประกอบการที่ต้องเผชิญกับต้นทุนราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นมากในกรุงเทพฯ อีกทั้งยังเป็นอสังหาฯ ที่ผู้ซื้อในยุคปัจจุบันให้ความสนใจเนื่องจากตอบโจทย์การใช้ชีวิตในปัจจุบัน   วัฒนายังคงเป็นเขตที่มีจำนวนอุปทานคอนโดมิเนียมสูงที่สุด ราวร้อยละ 23 ของอุปทานคอนโดฯ ในกรุงเทพฯ ทั้งหมด ตามมาด้วยเขตคลองเตยและเขตราชเทวี ส่วนทำเลที่มีอุปทานทาวน์เฮ้าส์มากที่สุดในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมาได้แก่ เขตลาดพร้าว ในขณะที่เขตประเวศมีอุปทานบ้านเดี่ยวมากที่สุด   “หากจะพูดว่าสถานการณ์ตลาดในปัจจุบัน เป็นจังหวะที่ดีของผู้ที่มีกำลังซื้อคงไม่ผิด ด้วยสินค้าในตลาดที่มีให้เลือกหลากหลาย ในขณะที่ผู้ประกอบการเองต่างก็แข่งขันกันออกแคมเปญและโปรโมชั่นต่างๆ มาดึงดูดใจผู้ซื้อมากมาย ผนวกกับอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำในปัจจุบันและแนวโน้มมูลค่าของอสังหาฯ ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต แม้อุปทานที่มีอยู่ในปัจจุบันจะมีจำนวนค่อนข้างสูง แต่เชื่อว่ายังไม่อยู่ในระดับที่น่ากังวลถึงภาวะโอเวอร์ซัพพลายในอนาคตอันใกล้แต่อย่างใด” นางกมลภัทร กล่าวสรุป
ราคาบ้าน-คอนโดฯ ในกรุงเทพฯ โตไม่หยุด กราฟ 3 ปี พุ่งทะลุ 100 เปอร์เซ็นต์

ราคาบ้าน-คอนโดฯ ในกรุงเทพฯ โตไม่หยุด กราฟ 3 ปี พุ่งทะลุ 100 เปอร์เซ็นต์

รายงานดัชนีที่อยู่อาศัย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ พร็อพเพอร์ตี้ อินเด็กซ์ (DDproperty Property Index) ฉบับล่าสุดเผย แนวโน้มดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ยังคงเป็นบวก สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ปรับตัวดีขึ้น ชี้แม้อุปทานในตลาดจะถูกดูดซับช้า แต่ยังคงไร้สัญญาณโอเวอร์ซัพพลาย แม้แนวโน้มของราคาจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2560 แต่อัตราการเติบโตเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสแล้วถือว่าเป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการเปิดตัว รวมไปถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงไว้ทุกข์และพระราชพิธีสำคัญ ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี (4Q60) ดัชนีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 199 จุดในช่วงไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 205 จุด คิดเป็นสัดส่วนการเติบโตระหว่างไตรมาส (Q-o-Q) ราวร้อยละ 3 “แม้ว่าการอัตราการเติบโตของดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 60 จะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังถือเป็นภาพรวมที่ดีของตลาดที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ ที่กำลังค่อยๆ ฟื้นตัว ในขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคในเซ็กเมนต์ระดับกลางไปจนถึงระดับบนมีการปรับตัวดีขึ้น” คุณกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ของ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์สื่อกลางซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทยในเครือพร็อพเพอร์ตี้กูรูกรุ๊ป กล่าว ราคาบ้านในกรุงเทพฯ 3 ปีโตขึ้นกว่า 100 เปอร์เซ็นต์  อย่างไรก็ดี ถ้ามองย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงที่เริ่มทำการเก็บข้อมูลในปี 2558 พบว่าการเติบโตของราคาที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ สูงขึ้นถึงร้อยละ 105 ถือเป็นอัตราการเติบโตที่น่าจับตา โดยเฉพาะราคา(ต่อตารางเมตร) ของคอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบันเมื่อเทียบกับที่อยู่อาศัยแนวราบอย่างบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ โดยในช่วงไตรมาส 4 ปี 60 ดัชนีราคาคอนโดฯ ขึ้นไปแตะที่ระดับ 154 จุด เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีถึงร้อยละ 54 อย่างไรก็ดีที่อยู่อาศัยประเภททาวน์เฮ้าส์มีการเติบโตด้านราคาสูงที่สุดในช่วงไตรมาส 4 ปี 60 โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 60 ร้อยละ 7 และเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 14 ในช่วง 1 ปี เมื่อดูแนวโน้มราคาตามเซ็กเมนต์ต่างๆ พบว่าดัชนีของที่อยู่อาศัยราคา 15 ล้านบาทขึ้นไป มีการเติบโตสูงสุด โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าราวร้อยละ 12 และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 39 ภายในระยะเวลา 2 ปี เขตจตุจักร ยังคงเป็นพื้นที่ที่ราคามีการเติบโตสูงสุด โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 60 ร้อยละ 5 ส่วนเขตบางนาแซงเขตพระโขนงขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 2 ด้วยอัตราการเติบโตในรอบไตรมาสราวร้อยละ 3 ทั้งนี้ในระยะยาว เขตบางนานับเป็นพื้นที่ที่น่าจับตามอง เนื่องจากดัชนีราคาชี้ให้เห็นว่ามีการเติบโตเพิ่มสูงถึงร้อยละ 75 ในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี “โดยภาพรวมราคาที่อยู่อาศัยจะยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไปจากปัจจัยบวกที่ช่วยให้เกิดพื้นที่ศักยภาพเหมาะกับการพัฒนา รวมไปถึงการอยู่อาศัยมากขึ้น อาทิ โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายหลายสายที่มีความคืบหน้า  รวมไปถึงการลงทุนแผนพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี (2560-2579) ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยบนทำเลใหม่ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองสำคัญๆ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC)” คุณกมลภัทรกล่าวเสริม อุปทานแนวสูงยังคงโตแรงแซงแนวราบ  ในฝั่งของอุปทาน แม้ตุลาคมจะเป็นเดือนที่แทบจะไม่มีการเปิดตัวโครงการใหม่หรือกิจกรรมส่งเสริมการขายใดๆ แต่ช่วง 2 เดือนสุดท้ายของไตรมาส 4 ปี 60 กำลังซื้อก็กลับมาอย่างรวดเร็ว โดนในช่วงไตรมาส 4 ปี 60 ดัชนีอุปทานที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 7 มาอยู่ที่ 240 จุด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการพากันแข่งออกแคมเปญและโปรโมชั่นส่งเสริมการขายมาเป็นจำนวนมาก เพื่อเร่งยอดขายในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนั่นเอง เมื่อพิจารณาถึงประเภทของที่อยู่อาศัย อุปทานที่มีอยู่ในตลาดส่วนใหญ่คือคอนโดมิเนียม คิดเป็นร้อยละ 88 ของอุปทานทั้งหมดในช่วงไตรมาส 4 ปี 60 ในขณะที่บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์มีสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย เนื่องจากที่อยู่อาศัยแนวราบส่วนใหญ่ ผู้ซื้อมักจะซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง ต่างกับคอนโดฯที่ผู้ซื้อจำนวนมากซื้อมาเพื่อขายต่อหรือลงทุน ทำให้การดูดซับของอุปทานของคอนโดฯ ค่อนข้างเร็ว ในขณะที่ผู้ประกอบการก็เปิดตัวโครงการใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง สำหรับทำเลที่มีอุปทานคอนโดฯ มากที่สุดในช่วงไตรมาส 4 ปี 60 ได้แก่ เขตวัฒนา ในขณะที่เขตลาดพร้าวมีปริมาณทาวน์เฮ้าส์เข้าสู่ตลาดมากที่สุด ส่วนเขตคลองสามวาเป็นโซนยอดนิยมสำหรับบ้านเดี่ยว คาดอุปทานปี 61 โตเพิ่มแต่ไม่มีสัญญาณโอเวอร์ซัพพลาย ทั้งนี้เป็นที่คาดว่าดัชนีอุปทานที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในปี 2561 จากการที่ผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก-รายใหญ่ส่งสัญญาณว่าจะเปิดโครงการใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก ในขณะที่ตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ นั้นคาดว่าจะยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะไม่หวือหวานักเพราะกำลังซื้อยังค่อนข้างจำกัดจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่แม้จะเริ่มคลี่คลายลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ถือว่าสูง “แม้การดูดซับอุปทานในตลาดจะเป็นไปแบบช้าๆ ในขณะที่ผู้ประกอบการเองก็มีแผนที่จะเปิดโครงการใหม่ๆ ออกมาอย่างคึกคักในปี 2561 แต่เราเชื่อว่าไม่น่าจะมีภาวะโอเวอร์ซัพพลาย หรือสินค้าล้นตลาดเกิดขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างเฝ้าสังเกตการณ์สถานการณ์อย่างใกล้ชิด ผู้ขายจะยังคงได้รับอานิสงส์ที่ดีจากราคาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ โดยดัชนีราคามีการเติบโตมากกว่าร้อยละ 100 ในช่วงเวลาไม่ถึง 3 ปี อย่างไรก็ดี ทางฝั่งผู้ซื้อเองก็ยังคงได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงต่ำ และจากโปรโมชั่นและข้อเสนอพิเศษต่างๆ จากผู้ประกอบการที่ต้องการเร่งระบายสินค้าในสต็อกและเปิดโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง” คุณกมลภัทรกล่าวสรุป