ความพยายามของรัฐบาลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในการพัฒนาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ด้วยการแปรเปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมไปสู่ประเทศแห่งอุตสาหกรรมมีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ตั้งแต่ช่วงปี 2525 กับโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด (Eastern Seaboard Development Program: ESB) ตั้งแต่ปี 2525 ที่ทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตของหลายอุตสาหกรรม เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี การแปรรูปอาหาร เป็นต้น แต่ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เป็นโครงการที่ทางรัฐบาลยุคปัจจุบันต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค การท่องเที่ยว ธุรกิจ และเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ให้ก้าวสู่ความเป็นเวิลด์คลาส อีโคโนมิคโซน เพิ่มขีดความสามารถทางด้านอุตสาหกรรมให้มีความทันสมัย ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมชั้นสูง มีความไฮเทคยิ่งขึ้น ภายใน 5 ปี สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยส่งให้อีอีซีมีความเจริญก้าวหน้าอย่างสมบูรณ์ นั่นคือการคมนาคมทั้งทางถนนมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี, พัทยา-มาบตาพุด และแหลมฉบัง-นครราชสีมา การขนส่งทางเรือตามท่าเรือขนาดใหญ่ เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ และแผนเชื่อมต่อระหว่างสนามบินดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูง คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2566 จุดนี้ทำให้หลายส่วนคาดหวังว่าประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางทางการบิน ด้วยทำเลที่ตั้งของประเทศไทยเอื้ออำนวยให้เป็นจุดยุธศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตามไปด้วย โดยมีการแบ่งโซนสร้างพื้นที่สีเขียวขึ้นเพื่อเป็นแนวกันชนระหว่างชุมชนกับอุตสาหกรรม และแยกพื้นที่เกษตรกรรมออกจากพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างชัดเจน จุดประสงค์สำคัญของทางรัฐบาลในการเร่งรัดแผนนี้ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติให้เข้ามาเพิ่มมากขึ้น และคาดว่าปี 2564 จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศโตขึ้นถึง 5% โดยได้เตรียมกฎหมายสำคัญ 3 ฉบับ คือ การแก้ไขพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ร.บ.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และพ.ร.บ.พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยทั้งหมดจะเน้นไปที่ความคล่องตัวในการลงทุนของเอกชน เพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจในการลงทุน ซึ่งในวงการอสังหาริมทรัพย์เองก็มีการตื่นตัวเรื่องนี้กันอยู่ไม่น้อย ตั้งแต่ที่ดินในจังหวัดฉะเชิงเทรา แนวถนนสายฉะเชิงเทรา-บางปะกง มีราคาพุ่งขึ้นถึง 20 ล้านบาท/ไร่ จากเดิม 10 ล้านบาท/ไร่ หลายค่ายเริ่มหันมารุกตลาดในพื้นที่จังหวัดชลบุรีมากขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะคอนโดมิเนียม โรงแรม ที่มีความคึกคักเป็นพิเศษ เช่น ปี 2561 ออริจิ้นเตรียมเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมที่ชลบุรี 1 แห่ง ระยอง 1 แห่ง และโรงแรมอีก 1 โครงการ รวมมูลค่าถึง 7,000-8,000 ล้านบาท ทางด้านพฤษาเตรียมเปิด 8 โครงการในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัดเขตอีอีซี รวมมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท ฯลฯ ในทางกลับกันมีอีกมุมมองจากประชาชนและนักวิชาการท้องถิ่นที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะเป็นห่วงเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ปัจจุบันก็ยังคงแก้ไม่ตก และมองว่าภาครัฐเน้นสัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมมากเกินไปถึง 70% ซึ่งแท้จริงแล้วจะต้องมีกระบวนการในส่วนของภาคประชาชนที่จะได้รับผลกระทบให้มีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นกันก่อน แต่อีอีซีกลับถูกประกาศตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจนข้ามขั้นตอนไป นั่นก็มาจากการใช้อำนาจมาตรา 44 จากคสช. จึงมีหลายเสียงที่อยากจะเสนอแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ร่วมมองแนวทางแก้ปัญหาหลายๆ ด้านกันก่อน โดยเฉพาะเรื่องของผังเมือง, ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ที่มีการคัดค้านในการสร้างมาตลอด เพราะผลการศึกษาทางด้านสิ่งแวดล้อมออกมาว่า ท่าเทียบเรือชายฝั่งคือแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่เหลืออยู่ แม้จะมีหน่วยงานภาครัฐออกมากล่าวว่ามีการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ในโครงการต่างๆ ตามกฎหมาย และมีการลงพื้นที่ไปพูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชนก็ตาม สุดท้ายก่อนการเริ่มต้นโครงการนี้อย่างเป็นรูปธรรมจะมีแผนผังการใช้ประโยชน์จากที่ดิน สาธารณูปโภค และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซี ซึ่งคาดว่าจะออกมาประมาณเดือน เม.ย.-พ.ค. 2561 และเมื่อทั้ง 2 แผนนี้เสร็จสมบูรณ์ก็จะถูกส่งต่อให้กรมโยธาฯ จัดทำผังเมืองใหม่อีกภายใน 1 ปี ซึ่งแผนทั้งหมดนี้จะมีหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร สามารถมีจุดตรงกลางที่เหมาะสมระหว่างรัฐบาลที่มองถึงเรื่องการพัฒนาประเทศให้รุดหน้าโดยเร็ว กับประชาชนท้องถิ่นที่หวงแหนธรรมชาติบนแผ่นดินเกิดอย่างไร ถึงตอนนี้ยังคงไม่มีบทสรุปก็คงต้องติดตามกันต่อไป