Tag : eec คือ

2 ผลลัพธ์
EEC มีดีอะไร ทำไมถึงแห่ลงทุนกันนัก

EEC มีดีอะไร ทำไมถึงแห่ลงทุนกันนัก

ตั้งแต่มีประกาศนโยบาย EEC เกิดขึ้น ทุกคนคงจะได้ยินข่าวคราวเรื่องนี้กันมาตลอด เพราะหลายภาคส่วนต่างก็หวังไว้ว่าโครงการนี้จะเป็นกลไลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมารุ่งโรจน์ได้ ซึ่งทุกวันนี้ก็มีความคืบหน้าเกิดขึ้นมากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎหมายหรือโครงการต่างๆ ที่พยายามเร่งกันอย่างเต็มกำลัง เพื่อเป็นแรงจูงใจดึงดูดการเข้ามาลงทุน ครั้งนี้เรามาดูกันว่าโครงการ EEC คืบหน้าไปถึงไหนกันแล้ว แล้วทำไมถึงได้มีเหล่านักลงทุ่มทุนสร้างกันหลายโครงการ   อย่างที่เคยอธิบายกันไปแล้วเกี่ยวกับ EEC ในบทความ "ทำความรู้จักกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)" ทุกวันนี้เราจะเห็นว่าเหล่านักลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศต่างก็ให้ความสำคัญอย่างมากต่อโครงการนี้ ดังจะเห็นได้จากโครงการต่างๆ ที่เริ่มมีการกางแผนออกมาบ้างแล้วภายในเขตพื้นที่ของ EEC ทั้งในส่วนของภาคอุตสาหกรรม และภาคส่วนอสังหาริมทรัพย์เอง เราก็เริ่มได้เห็นหลายๆ โครงการเกิดขึ้นพร้อมความหวังในการสร้างรายได้ให้เติบโตตามไปด้วยกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกนี้ โดยโครงการในภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มมีการเข้าซื้อที่ดินแล้วเรียบร้อยแล้ว เช่น บริษัท จินป่าว พรีซิชั่น อินดัสทรี่ จำกัด เป็นบริษัทอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมสัญชาติไต้หวันที่มาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยตั้งแต่ปี 1998 มีการซื้อที่ดินขนาด 54 ไร่ ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 2 จ.ชลบุรี เพื่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน,นักธุรกิจรัสเซียหลายรายสนใจเข้ามาดูทิศทางการลงทุนในเขตอีอีซี เช่น พลังงานนิวเคลียร์ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ การบริหารท่าเรือ สนามบิน เทคโนโลยีสร้างสรรค์ ยานยนต์เพื่อการก่อสร้าง เทคโนโลยีชีวิภาพ เทคโนโลยีสื่อสาร ฯลฯ โดยจะเข้ามาเยี่ยมชมด้วยตนเองเร็วๆ นี้   ส่วนในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีการเปิดตัวลงแแข่งขันกันในสนามนี้ แม้ว่าราคาที่ดินจะพุ่งสูงขึ้นถึง 50% ก็ตาม เช่น  เอสซี แอสเสท ปีนี้เตรียมพัฒนาโครงการใน จ.ฉะเชิงเทรา, เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ มีการเจรจาซื้อที่ดินเพิ่ม แต่ก็มีแผนจะพัฒนาโครงการในที่ดินที่มีอยู่แล้วใน จ.ระยอง กับจ.ชลบุรี, ออริจิ้น หลังจากมีโครงการคอนโดมิเนียมกับมิกซ์ยูสที่ศรีราชาไปแล้ว ก็เตรียมจะพัฒนามิกซ์ยูสที่จ.ระยอง 2 ทำเล, พฤกษา ปีนี้มีแผนเปิดตัวโครงการแนวราบถึง 8 โครงการ แบ่งเป็นจ.ชลบุรี 3 โครงการ จ.ระยอง 3 โครงการ และจ.ฉะเชิงเทรา 2 โครงการ, แสนสิริ มีแผนพัฒนาโครงการในพัทยา เป็นต้น   จะเห็นได้ว่ายิ่งโครงการนี้เป็นรูปธรรมขึ้นมากเท่าไรก็ยิ่งได้รับความสนในการลงทุนมากขึ้นเท่านั้น ตั้งแต่รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการอีอีซี มาจนถึงปัจจุบันที่มีการร่างพรบ. กันเสร็จเรียบร้อยแล้วทุกมาตรา สภานิติบัญญัติแห่งชาติก็มีมติเป็นเอกฉันท์ที่จะให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยมีมาตรการสำคัญที่ส่งเสริมชวนให้นักลงทุนหลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสายซึ่งบางอย่างมีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งพื้นที่ทั้งหมด 3 จังหวัดจะถูกแบ่งประมาณ 10 โซน แต่ละโซนก็จะได้รับสิทธิพิเศษที่แตกต่างกันไป แต่ละ เช่น ขยายพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่จากเดิม 12,000 ไร่ เพิ่มอีก 26,366 ไร่ ซึ่งรวมทั้งหมด, เขตเมืองการบินภาคตะวันออกจะได้รับการยกเว้นภาษี 8 ปี และลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 5 ปี, เขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย เขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ได้ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 5 ปี, สิทธิการทำงานของแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ 3 จังหวัดโดยไม่ต้องขออนุญาตครอบคลุมไปถึงครอบครัวที่ติดตามมาอาศัยอยู่ด้วย, สิทธิคนต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน, สิทธิการซื้ออาคารชุดของต่างชาติได้แต่ละโครงการได้ 100% เต็ม เป็นต้น     สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้โครงการ EEC ประสบความสำเร็จได้นั่นคือโครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคม เพราะหากการคมนาคมขนส่งเป็นไปได้อย่างสะดวกสบายก็จะช่วยรองรับเรื่อง Logistics หนึ่งในหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรม โดยทางรัฐบาลได้มีการเดินหน้าเรื่องคมนาคมทั้งทางเรือที่จะมีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกหลัก คือ มาบตาพุดเฟส 3 โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โครงการท่าเรือสัตหีบ ส่วนทางอากาศ คือ สนามบินอู่ตะเภาที่ทางรัฐได้ตั้งเป้าหมายให้เป็นสนามบินหลักแห่งที่ 3 ต่อจากดอนเมืองกับสุวรรณภูมิ และทางบกระบบรางในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และต่อไปถึง จ.ระยอง โดยจะเชื่อมจากแนว Airport Rail Link ในปัจจุบัน ซึ่งล่าสุดโปรเจคยักษ์ใหญ่นี้กำลังจะไม่ได้หยุดอยู่แค่ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออกอีกต่อไป แต่ล่าสุดได้มีนโยบายเร่งศึกษาแผนพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อหลากหลายเส้นทางทั่วประเทศ โดยเฉพาะรถไฟทางคู่เส้นทางแหลมฉบัง-มาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด, โครงการรถไฟศรีราชา-ระยอง รวมถึงการเชื่อมต่อโซนอีอีซีไปจนถึงทวาย-กัมพูชา ซึ่งหากโครงการรถไฟนี้เสร็จสมบูรณ์ก็จะยิ่งส่งให้ EEC มีความสมบรูณ์มากขึ้น เพราะหากการคมนาคมขนส่งเป็นไปได้อย่างสะดวกสบายก็จะเป็นปัจจัยสำคัญทั้งทางด้านธุรกิจต่างๆ และการท่องเที่ยวที่จะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้หลากหลายกลุ่มมากขึ้น ประชาชนในพื้นที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น สุดท้ายสิ่งเหล่านี้จะทำให้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่น่าอยู่ระดับภูมิภาคเอเชียอย่างที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้   ณ วันนี้เราสามารถพูดกันได้อย่างเต็มปากว่า EEC คือความหวังใหม่ในการพลิกฟื้นคืนชีพของเศรษฐกิจประเทศไทยให้กลับมาเป็นแหล่งลงทุนที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจกันอีกครั้ง แม้โครงการนี้จะยังคงไม่สมบูรณ์ 100% แต่เชื่อว่าหากเริ่มมีการประกาศพระราชชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอย่างเป็นทางการซึ่งคาดว่าจะประกาศภายในปีนี้ก็จะยิ่งทำให้มีเงินเม็ดเงินเข้ามาลงทุนมหาศาลตามที่คาดการณ์กันเอาไว้ถึงหลักแสนล้านบาท ส่งผลถึงการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เองที่ก็มีความเชื่อมั่นในโครงการนี้อยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อมีอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นก็จะมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น คนทำงานทั้งที่เป็นคนไทยและต่างชาติย่อมเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ความต้องการที่อยู่อาศัยก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว จากนี้ต้องคอยจับตามองตลาดนี้กันเอาไว้ให้ดีว่าจะมีอะไรน่าสนใจตามที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายค่ายโปรยเอาไว้บ้าง
ทำความรู้จักกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

ทำความรู้จักกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

ความพยายามของรัฐบาลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในการพัฒนาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ด้วยการแปรเปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมไปสู่ประเทศแห่งอุตสาหกรรมมีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ตั้งแต่ช่วงปี 2525 กับโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด (Eastern Seaboard Development Program: ESB) ตั้งแต่ปี 2525 ที่ทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตของหลายอุตสาหกรรม เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี การแปรรูปอาหาร เป็นต้น แต่ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เป็นโครงการที่ทางรัฐบาลยุคปัจจุบันต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค การท่องเที่ยว ธุรกิจ และเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ให้ก้าวสู่ความเป็นเวิลด์คลาส อีโคโนมิคโซน เพิ่มขีดความสามารถทางด้านอุตสาหกรรมให้มีความทันสมัย ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมชั้นสูง มีความไฮเทคยิ่งขึ้น ภายใน 5 ปี สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยส่งให้อีอีซีมีความเจริญก้าวหน้าอย่างสมบูรณ์ นั่นคือการคมนาคมทั้งทางถนนมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี, พัทยา-มาบตาพุด และแหลมฉบัง-นครราชสีมา การขนส่งทางเรือตามท่าเรือขนาดใหญ่ เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ และแผนเชื่อมต่อระหว่างสนามบินดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูง คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2566 จุดนี้ทำให้หลายส่วนคาดหวังว่าประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางทางการบิน ด้วยทำเลที่ตั้งของประเทศไทยเอื้ออำนวยให้เป็นจุดยุธศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตามไปด้วย โดยมีการแบ่งโซนสร้างพื้นที่สีเขียวขึ้นเพื่อเป็นแนวกันชนระหว่างชุมชนกับอุตสาหกรรม และแยกพื้นที่เกษตรกรรมออกจากพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างชัดเจน จุดประสงค์สำคัญของทางรัฐบาลในการเร่งรัดแผนนี้ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติให้เข้ามาเพิ่มมากขึ้น และคาดว่าปี 2564 จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศโตขึ้นถึง 5% โดยได้เตรียมกฎหมายสำคัญ 3 ฉบับ คือ การแก้ไขพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ร.บ.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และพ.ร.บ.พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยทั้งหมดจะเน้นไปที่ความคล่องตัวในการลงทุนของเอกชน เพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจในการลงทุน ซึ่งในวงการอสังหาริมทรัพย์เองก็มีการตื่นตัวเรื่องนี้กันอยู่ไม่น้อย ตั้งแต่ที่ดินในจังหวัดฉะเชิงเทรา แนวถนนสายฉะเชิงเทรา-บางปะกง มีราคาพุ่งขึ้นถึง 20 ล้านบาท/ไร่ จากเดิม 10 ล้านบาท/ไร่ หลายค่ายเริ่มหันมารุกตลาดในพื้นที่จังหวัดชลบุรีมากขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะคอนโดมิเนียม โรงแรม ที่มีความคึกคักเป็นพิเศษ เช่น ปี 2561 ออริจิ้นเตรียมเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมที่ชลบุรี 1 แห่ง ระยอง 1 แห่ง และโรงแรมอีก 1 โครงการ รวมมูลค่าถึง 7,000-8,000 ล้านบาท ทางด้านพฤษาเตรียมเปิด 8 โครงการในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัดเขตอีอีซี รวมมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท ฯลฯ ในทางกลับกันมีอีกมุมมองจากประชาชนและนักวิชาการท้องถิ่นที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะเป็นห่วงเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ปัจจุบันก็ยังคงแก้ไม่ตก และมองว่าภาครัฐเน้นสัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมมากเกินไปถึง 70% ซึ่งแท้จริงแล้วจะต้องมีกระบวนการในส่วนของภาคประชาชนที่จะได้รับผลกระทบให้มีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นกันก่อน แต่อีอีซีกลับถูกประกาศตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจนข้ามขั้นตอนไป นั่นก็มาจากการใช้อำนาจมาตรา 44 จากคสช. จึงมีหลายเสียงที่อยากจะเสนอแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ร่วมมองแนวทางแก้ปัญหาหลายๆ ด้านกันก่อน โดยเฉพาะเรื่องของผังเมือง, ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ที่มีการคัดค้านในการสร้างมาตลอด เพราะผลการศึกษาทางด้านสิ่งแวดล้อมออกมาว่า ท่าเทียบเรือชายฝั่งคือแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่เหลืออยู่ แม้จะมีหน่วยงานภาครัฐออกมากล่าวว่ามีการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ในโครงการต่างๆ ตามกฎหมาย และมีการลงพื้นที่ไปพูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชนก็ตาม สุดท้ายก่อนการเริ่มต้นโครงการนี้อย่างเป็นรูปธรรมจะมีแผนผังการใช้ประโยชน์จากที่ดิน สาธารณูปโภค และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซี ซึ่งคาดว่าจะออกมาประมาณเดือน เม.ย.-พ.ค. 2561 และเมื่อทั้ง 2 แผนนี้เสร็จสมบูรณ์ก็จะถูกส่งต่อให้กรมโยธาฯ จัดทำผังเมืองใหม่อีกภายใน 1 ปี ซึ่งแผนทั้งหมดนี้จะมีหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร สามารถมีจุดตรงกลางที่เหมาะสมระหว่างรัฐบาลที่มองถึงเรื่องการพัฒนาประเทศให้รุดหน้าโดยเร็ว กับประชาชนท้องถิ่นที่หวงแหนธรรมชาติบนแผ่นดินเกิดอย่างไร ถึงตอนนี้ยังคงไม่มีบทสรุปก็คงต้องติดตามกันต่อไป