Tag : JLL

3 ผลลัพธ์
ครึ่งแรก ปี 60 การลงทุนซื้อขายโรงแรมในไทยทะลุหมื่นล้านบาท

ครึ่งแรก ปี 60 การลงทุนซื้อขายโรงแรมในไทยทะลุหมื่นล้านบาท

บริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ประเทศไทยมีการซื้อขายเกิดขึ้นรวมมูลค่าทั้งสิ้นมากกว่า 10,700 ล้านบาท จากการซื้อขายโรงแรม 4 โรงในกรุงเทพฯ และ 1 โรงในพัทยา เทียบกับปี 2559 ที่มีการซื้อขายโรงแรมเกิดขึ้นทั้งปี รวมมูลค่าประมาณ 9,600 ล้านบาท นายไมค์ แบทเชเลอร์ หัวหน้าฝ่ายขายภาคพื้นเอเชีย หน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรม เจแอลแอล กล่าวว่า “การซื้อขายที่มีมูลค่าสูงในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นว่านักลงทุนยังคงมีความสนใจในการลงทุนซื้อโรงแรมในไทยสูงแล้ว  ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยในระยะยาวอีกด้วย” “ผู้ซื้อประกอบด้วยทั้งนักลงทุนไทยและนักลงทุนจากต่างชาติ โดยนักลงทุนต่างชาติรายล่าสุดที่ซื้อโรงแรมในไทยคือ โฮเทล เอทตี้วัน (Hotel81) และกลุ่มคาร์ลตัน โฮเทล ซึ่งเป็นทุนจากสิงคโปร์ทั้งสองราย ตอกย้ำสถานภาพของไทยในฐานะหนึ่งในจุดหมายการลงทุนด้านโรงแรมที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในภูมิภาคนี้” นายแบทเชเลอร์กล่าว การลงทุนซื้อขายโรงแรมล่าสุดในครึ่งแรกปีนี้ คือการเข้าซื้อพอร์ตโรงแรมพรีเมียร์ อินน์ โดยโฮเทล เอทตี้วันจากสิงคโปร์ ประกอบด้วยโรงแรมสองโรงที่กรุงเทพฯ และพัทยา จำนวนห้องพักรวม 388 ห้อง ซึ่งนับเป็นก้าวแรกโฮเทล เอทตี้วันในการเข้ามาลงทุนในภาคธุรกิจโรงแรมของไทย ทั้งนี้ บริษัทได้มอบหมายให้ทราเวลลอดจ์ (Travelodge) เข้ามาเป็นผู้บริหารโรงแรมที่เพิ่งซื้อ นายจักรกริช จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโสฝ่ายขาย หน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรม เจแอลแอล กล่าวว่า “การซื้อพอร์ตโรงแรมพรีเมียร์ อินน์ ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่โฮเทล เอทตี้วัน ซึ่งมีโรงแรมในความครอบครองมากที่สุดในสิงคโปร์ ลงทุนซื้อโรงแรมในต่างประเทศ ส่วนผู้ขายคือกลุ่มวิทเบรด (Whitbread) ซึ่งมีโรงแรมในความครอบครองมากที่สุดในอังกฤษ โดยมีเจแอลแอลเป็นตัวแทนในการจัดการซื้อขายข้ามประเทศในครั้งนี้” ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มคาร์ลตัน โฮเทล จากสิงคโปร์ได้เข้าซื้อโครงการโรงแรมที่หยุดการก่อสร้างค้างไว้ในกรุงเทพฯ ด้วยมูลค่า 2,400 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวตั้งอยู่หัวมุมปากซอยสุขุมวิท 27 ประกอบด้วยที่ดิน 2 ไร่ 2 งาน 34.3 ตารางวา และอาคารโรงแรมความสูง 34 ชั้นที่ยังสร้างไม่เสร็จ โดยเจแอลแอลทำหน้าที่เป็นตัวแทนเจ้าของเดิม คือ บริษัท กรุงเทพบริหาร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) ในการหาผู้ซื้อ ทั้งนี้ โรงแรมดังกล่าวซึ่งมีห้องพัก 342 ห้องจะมีการก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จในปี 2562 และคาดว่าจะใช้ชื่อคาร์ลตัน โฮเทล นายการัณย์ คานิเยาว ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโสฝ่ายขาย หน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรม เจแอลแอล กล่าวว่า “การซื้อโครงการโรงแรมโดยกลุ่มคาร์ลตัน โฮเทล นับเป็นการลงทุนซื้อโรงแรมรายการใหญ่ที่สุดบนถนนสุขุมวิท และนับเป็นราคาสูงสุดเท่าที่เคยมีการซื้อขายเกิดขึ้น หากคิดมูลค่าราคาต่อห้องพักหลังก่อสร้างต่อจนเสร็จ” ส่วนอีกสองโรงแรมที่มีการเปลี่ยนมือในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ได้แก่ โรงแรมบางกอกเอดิชั่น บูติค โฮเต็ล และโรงแรมสวิสโซเทล นายเลิศปาร์ค ซึ่งกรณีของโรงแรมสวิสโซเทล นายเลิศปาร์ค แม้จะมีการเปิดเผยการซื้อขายในปี 2559 แต่ธุรกรรมการซื้อขายได้รับการดำเนินการเสร็จสิ้นในปีนี้ เจแอลแอล คาดว่า การลงทุนซื้อขายโรงแรมในไทยสำหรับทั้งปีนี้ จะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นมากกว่า 14,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2559 ที่ผ่านมา มีการซื้อขายโรงแรมในไทยทั้งหมดมากกว่า 10 โรงในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 9,600 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ เป็นโรงแรมที่เจแอลแอลเป็นตัวแทนการขายจำนวน 5 โรงในกรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุย ศรีราชา และเชียงราย
การลงทุนซื้อขายโรงแรมในไทยมีมูลค่ารวม 9.6 พันล้านในปี 59 ปี 60 มีแนวโน้มคึกคัก

การลงทุนซื้อขายโรงแรมในไทยมีมูลค่ารวม 9.6 พันล้านในปี 59 ปี 60 มีแนวโน้มคึกคัก

ในปี 2559 ที่ผ่านมา ตลาดการลงทุนซื้อขายโรงแรม (รวมถึงเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์) ในประเทศไทยมีสภาวะคึกคัก โดยมีโรงแรมในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆ มากกว่า 10 โรงแรมที่มีการเปลี่ยนมือ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 9,600 ล้านบาท อย่างไรก็ดี มูลค่าดังกล่าวลดลง 15% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากในปีที่ผ่านมาไม่มีการซื้อขายโรงแรมที่มีมูลค่าสูงดังที่เกิดขึ้นในปี 2558 แต่สำหรับปี 2560 นี้ ยอดการซื้อขายโรงแรมในไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากการที่การเจรจาตกลงซื้อขายโรงแรมสวิสโฮเทล นายเลิศ ปาร์ค มูลค่า 10,800 ล้านบาทจะเสร็จสมบูรณ์ในปีนี้ ยังไม่รวมการซื้อขายโรงแรมอื่นๆ อีก ที่จะเกิดขึ้น ตามการรายงานจากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล   นายไมค์ แบทเชเลอร์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายขายภาคพื้นเอเชีย หน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรมของเจแอลแอล กล่าวว่า “ในจำนวนโรงแรมที่มีการซื้อขายไปในปีที่ผ่านมา มีโรงแรม 5 แห่งที่เจแอลแอลเป็นตัวแทนเจ้าของในการจัดหานักลงทุนเข้าซื้อ ทั้งนี้ เราพบว่า ทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ ยังคงให้ความสนใจเข้าซื้อโรงแรมในไทยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังคงมั่นใจในปัจจัยพื้นฐานของตลาดที่แข็งแกร่งในระยะยาว”   ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แสดงให้เห็นว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.9% โดยในปี 2558 มีจำนวนนักท่องเที่ยวแตะ 30 ล้านคนเป็นปีแรก และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 35 ล้านคนในปีนี้ แม้มาตรการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญจะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้วก็ตาม   กรุงเทพฯ เป็นตลาดการซื้อขายหลักในปี 59 ในปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ เป็นตลาดโรงแรมที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดในประเทศไทย โดยมีสัดส่วนราว 50% ของมูลค่าการลงทุนซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตัวอย่างการซื้อขายรายการสำคัญๆ ได้แก่ เอท ทองหล่อ (ส่วนของเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์เดิมคือ แพน แปซิฟิก เซอร์วิส สวีท เปลี่ยนเป็นโรงแรมอาคิระ ทองหล่อในปัจจุบัน) โรงแรมลิเบอร์ตี้ การ์เดน และปาร์ค 24 คอนโดมิเนียมย่านสุขุมวิทซึ่งจะเปลี่ยนเป็นเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ภายใต้การบริหารโดยแอสคอทท์   การลงทุนซื้อขายโรงแรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา กระจายตัวอยู่ตามเมืองท่องเที่ยวหลักๆ ได้แก่ พัทยา ภูเก็ต พังงา เกาะสมุย หัวหิน และเชียงราย ตลอดไปจนถึงศรีราชาซึ่งเป็นย่านอุตสาหกรรม และนครราชสีมาซึ่งเป็นหัวเมืองหน้าด่านของอีสาน   ทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติเป็นผู้ซื้อหลัก  ในปีที่ผ่านมา นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้าซื้อโรงแรมในไทยมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยการลงทุนซื้อโดยนักลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนคิดเป็น 45% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนประเภทสถาบันจากฮ่องกงและสิงคโปร์   นายแบทเชเลอร์กล่าวว่า “ในปีที่ผ่านมา ทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติให้ความสนใจสูงสำหรับโอกาสการเข้าลงทุนซื้อโรงแรมในไทย ซึ่งคาดว่าแนวโน้มดังกล่าวนี้ จะยังคงดำเนินต่อในปีนี้”   “มีนักลงทุนสถาบันจากประเทศเอเชียจำนวนมากขึ้นที่กำลังมองโอกาสการลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ ของไทย โดยเน้นตลาดที่มีผลประกอบการดีและให้ผลตอบแทนการลงทุนในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งโรงแรมเป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ได้รับความสนใจเนื่องจากตลาดการท่องเที่ยวของไทยมีแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่งในระยะยาว ดังจะเห็นได้จากการที่มีนักลงทุนจำนวนมากเข้าร่วมแข่งขันเสนอราคา เมื่อมีโรงแรมมีศักยภาพเหมาะสำหรับการลงทุนถูกนำออกมาเสนอขาย” นายแบทเชเลอร์กล่าว    
ความสนใจซื้อคอนโดไฮเอ็นด์ในกรุงเทพฯ ยังสูง แต่ตัวเลือกและราคาที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ซื้อตัดสินใจช้าลง

ความสนใจซื้อคอนโดไฮเอ็นด์ในกรุงเทพฯ ยังสูง แต่ตัวเลือกและราคาที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ซื้อตัดสินใจช้าลง

กรุงเทพฯ 24 สิงหาคม 2559 - แม้โครงการคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ จะมียอดขายแตกต่างกันไปในแต่ละโครงการและทำเล แต่สำหรับตลาดโดยภาพรวม พบว่า มีการขายช้าลง เนื่องจากซัพพลายที่มีอยู่ค่อนข้างมาก ทำให้ผู้ซื้อใช้เวลานานขึ้นในการหาและเปรียบเทียบตัวเลือก ตามการรายงานจากบรืษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล (โจนส์ แลง ลาซาลล์) นายบัณฑูร ดำรงรักษ์ หัวหน้าฝ่ายบริการธุรกิจที่พักอาศัย เจแอลแอล กล่าวว่า “โดยทั่วไป ดีมานด์หรือความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ยังคงมีอยู่สูง โดยเห็นได้จากการที่เจแอลแอลยังคงได้รับการติดต่อสอบถามจากผู้สนใจซื้อเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสำหรับคอนโดมิเนียมในย่านใจกลางกรุง ทั้งนี้ แม้ผู้สนใจซื้อหลายรายมีความตั้งใจซื้อจริง แต่ปริมาณคอนโดมิเนียมที่มีเสนอขายอยู่มากในตลาด ทำให้ผู้ซื้อไม่แน่ใจว่า ยูนิตที่กำลังสนใจนั้น เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดแล้วหรือไม่ จึงลังเลและใช้เวลาในการตัดสินใจนานขึ้น” รายงานจากศูนย์บริการข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ไทยโดยเจแอลแอล ระบุว่า ณ กลางปีนี้ กรุงเทพฯ มีคอนโดมิเนียม (เฉพาะที่สร้างเสร็จแล้ว) คิดเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้นกว่า 406,500 ยูนิต โดยในจำนวนนี้เป็นคอนโดที่สร้างเสร็จในช่วงครึ่งแรกของปีนี้รวม 29,200ยูนิต นอกจากนี้ มีคอนโดอีก 135,900 ยูนิตที่กำลังทยอยสร้าง โดยในจำนวนนี้ จะสร้างเสร็จในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ประมาณ40,000 ยูนิต ซึ่งจะทำให้กรุงเทพฯ ณ สิ้นปี 2559 มีจำนวนคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จแล้วรวมทั้งสิ้นมากกว่า 446,000 ยูนิต เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากช่วงสิ้นปี 2555 คาดหวังราคาของผู้ซื้อและผู้ขาย มีช่องว่าง การติดต่อสอบถามที่เจแอลแอลได้รับส่วนใหญ่ มาจากผู้สนใจซื้อคอนโดมิเนียมกลุ่มไฮเอ็นด์ในย่านศูนย์กลางธุรกิจ ในสนนราคาต่ำกว่า 200,000 บาทต่อตารางเมตร ในขณะที่คอนโดกลุ่มนี้มีราคาเสนอขายส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 200,000-300,000 บาทต่อตารางเมตร “ผู้สนใจซื้อหลายรายรับรู้ว่าตลาดคอนโดในกรุงเทพฯ มีซัพพลายเพิ่มขึ้นมากและโครงการต่างๆ ขายได้ช้าลง จึงคาดหวังว่าเจ้าของจะปรับลดราคา แต่ในความเป็นจริง แม้การขายจะช้าลง ราคาคอนโดมิเนียมยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในโครงการที่เปิดตัวใหม่ (เปิดขายก่อนเริ่มก่อสร้างหรือยังสร้างไม่เสร็จ) นอกจากนี้ โครงการที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ยังคงมีราคาขายปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 10-20% จากราคาเสนอขายช่วงเริ่มเปิดตัวโครงการก่อนเริ่มการก่อสร้าง” นายบัณฑูรกล่าว เพื่อกระตุ้นการขาย เจ้าของโครงการบางรายเสนอแรงจูงใจเพิ่ม อาทิ แถมเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินหรือลอยตัว ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอน ไปจนถึงยกเว้นการจัดเก็บค่าบริหารส่วนกลางในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ยังไม่มีสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าจะมีการปรับลดราคาลง ดังนั้น ความคาดหวังด้านราคาระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายจึงมีช่องว่าง และเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การขายในตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ช้าลง เจ้าของโครงการรุกตลาดผู้ซื้อต่างชาติมากขึ้น นอกจากการติดต่อสอบถามจากผู้สนใจซื้อชาวไทยแล้ว เจแอลแอลพบว่า มีชาวต่างชาติให้ความสนใจซื้อคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะจากฮ่องกง สิงคโปร์ และจีน ทั้งนี้ จากการซื้อขายที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ และการติดต่อสอบถามที่เจแอลแอลได้รับ แสดงให้เห็นว่า ชาวต่างชาติที่สนใจซื้อส่วนใหญ่ เน้นโครงการไฮเอ็นด์เนื่องจากสามารถมั่นใจได้มากกว่าในแง่ของคุณภาพการออกแบบ การก่อสร้าง และการบริหารจัดการอาคาร รวมถึงศักยภาพการลงทุน “แม้ในขณะนี้ การซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อปล่อยเช่าในกรุงเทพฯ จะให้ผลตอบแทนไม่สูงมาก โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3% แต่ชาวต่างชาติยังคงสนใจลงทุนซื้อ” นายบัณฑูรกล่าว พร้อมอธิบายว่า คอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ นับว่ายังมีราคาที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับคุณภาพและทำเลที่เทียบเคียงกันกับคอนโดที่ฮ่องกง สิงคโปร์ หรือหัวเมืองใหญ่ๆ ของจีน ทำให้นักลงทุนจากประเทศเหล่านี้สามารถซื้อคอนโดกรุงเทพฯ ได้ด้วยงบประมาณที่ต่ำกว่า นอกจากนี้ แม้การซื้อคอนโดในกรุงเทพฯ เพื่อปล่อยเช่าจะให้ผลตอบแทนการลงทุนไม่สูง แต่นักลงทุนหลายรายคาดหวังผลตอบแทนระยะยาวมากกว่า จากมูลค่าที่คาดว่าจะปรับเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต “ความคาดหวังดังกล่าว มีความเป็นสมเหตุสมผล เนื่องจากคอนโดมิเนียมระดับไฮเอ็นด์ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในทำเลชั้นดี ซึ่งมีที่ดินเหลือสำหรับการพัฒนาโครงการใหม่ลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะที่ดินที่เสนอขายกรรมสิทธิ์ขาด ดังนั้น ต้นทุนการพัฒนาโครงการใหม่จึงมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาขายในโครงการใหม่ปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย” นายบัณฑูรกล่าว การที่นักลงทุนต่างชาติสนใจซื้อคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น ทำให้มีเจ้าของโครงการคอนโดมิเนียมมากขึ้นที่สนใจนำโครงการไปทำโรดโชว์ในต่างประเทศ นายบัณฑูรชี้ว่า การเจาะกลุ่มผู้ซื้อเป้าหมายในต่างประเทศอาจเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสม เพราะเป็นการขยายฐานผู้ซื้อ อย่างไรก็ดี แม้นักลงทุนต่างชาติจะสนใจซื้อ แต่ก็ใช้ความระมัดระวังในการซื้อไม่น้อยกว่าผู้ซื้อชาวไทย ดังนั้น ในการทำนำโครงการไปเสนอขายในต่างแดน เจ้าของโครงการอาจไม่สามารถคาดหวังได้ว่าจะสามารถปิดการขายได้ในทันที เว้นเสียแต่ว่า จะมีการเสนอแรงจูงใจพิเศษมากพอที่จะกระตุ้นให้ผู้สนใจตัดสินใจซื้อในระหว่างจัดกิจกรรม