หากมองย้อนกลับไปในอดีตที่มีค่านิยมในการแต่งงานเมื่อยังอายุน้อย มีลูกจำนวนมากเพื่อให้เติบโตมาช่วยกันทำมาหากินหรือเพื่อสืบทอดวงศ์ตระกูล แต่สภาพสังคมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนค่านิยมนี้เปลี่ยนตามไปด้วย ทุกวันนี้เริ่มมีการแต่งงานสร้างครอบครัวใหม่ในช่วงอายุที่มากขึ้น มีลูกจำนวนน้อยลงหรือไม่มีลูกเลยเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและสังคม บางคนก็ครองตัวเป็นโสด ส่งผลถึงภาพรวมเริ่มมีประชากรเกิดใหม่น้อยลง แต่ประชากรผู้สูงอายุกลับมีมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในไม่ช้า ซึ่งหากเป็นเช่นนี้แล้วเราจะมีวิธีการรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไรบ้าง ลองไปดูในบทความนี้กันค่ะ องค์กรสหประชาชาติ (United Nations : UN) ได้ระบุเอาไว้ว่า ประเทศใดที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ นั่นหมายความว่าประเทศนั้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว โดยประเทศไทยในปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุมากถึง 11.2 ล้านคน หรือประมาณ 17.1% ส่วนอัตราของเด็กเกิดใหม่ประมาณ 700,000 คน/ปี ลดลงจากปี 2506-2526 ที่มีประชากรเกิดใหม่ปีละมากกว่า 1 ล้านคน ในขณะเดียวกันมีแนวโน้มของผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 20 ในปี 2561 และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2564 คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด จากตัวเลขเหล่านี้หมายความว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุภายในปีหน้านี้แล้ว และจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ประมาณปี 2567 ซึ่งมีประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิตาลี เยอรมัน ฯลฯ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั้นมีมากมาย เช่น ทรัพยากรบุคคลวัยทำงานจะลดน้อยลงจนส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อสภาพเศรษฐกิจ ปัญหาสุขภาพตามวัยก็มากขึ้นไปด้วย ภาครัฐอาจจะต้องจัดหาสวัสดิการด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันบุคลากรทางด้านสาธารณะสุขก็ยังไม่เพียงพอต่อประชากรในประเทศ แต่ก็มีข้อดีตรงที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสินค้าเพื่อสุขภาพที่มีให้เลือกหลากหลายขึ้นมากกว่าเมื่อก่อน และด้านการท่องเที่ยว ซึ่งวัดจากนักเที่ยววัยเกษียณชาวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากเป็นอันดับ 1 จากตัวเลขประชากรตามที่กล่าวไปแล้วนั้น ทำให้หลายภาคส่วนตื่นตัวมากขึ้นในการรับมือของสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้สูงอายุมากขึ้น เช่น การจัดอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุตามสถานบริการสุขภาพทั้งในภาครัฐและเอกชน การจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุเพื่อการเรียนรู้ด้านสุขภาพ การดูแลตัวเอง เพิ่มพูนทักษะพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นต้น การทำเอาเทคโนโลยีมาพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกปลอดภัยขึ้น เช่น อุปกรณ์การแพทย์เพื่อใช้ดูแลผู้สูงอายุภายในบ้านที่เริ่มมีวางขายกันทั่วไป แอพพลิเคชั่นที่จะคอยช่วยเหลือติดต่อลูกหลานยามฉุกเฉิน แจ้งเตือนเวลากินยา ฯลฯ เรื่องที่อยู่อาศัยอันเหมาะสมกับวัยก็สำคัญเช่นกัน ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เองก็เริ่มหันมาจับตลาดกลุ่มนี้กันบ้างแล้ว กับโครงการที่เรียกกันว่า "คอนโดวัยเกษียณ" ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุมีจุดสำคัญอยู่ตรงที่ภายในโครงการจะมีบุคคลากรทางการแพทย์คอยดูแลอย่างใกล้ชิด ราคาการบริการและรักษาไม่แพงจนเกินไป แถมยังมีสภาพแวดล้อมที่ดีส่งผลต่อจิตใจของผู้อยู่อาศัย โดยในปัจจุบันมีคอนโดวัยเกษียณเกิดขึ้นแล้ว เช่น Villa Meesuk Residences ตั้งอยู่ที่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ มีทั้งบ้านเดี่ยว และคอนโดมิเนียม 3 ชั้น มีเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งพร้อมอยู่ ออกแบบมาให้อากาศถ่ายเทสะดวก ใกล้ชิดธรรมชาติ ได้วิวภูเขา ส่วนกลางมีสระว่ายน้ำ สวนสีเขียว ห้องออกกำลังกาย เช่นเดียวกันกับคอนโดทั่วไป สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ บริการรถรับ-ส่ง เข้าตัวเมืองหรือไปโรงพยาบาล มีกิจกรรมให้ทำร่วมกัน ภายในห้องพักมีปุ่มฉุกเฉินสำหรับเรียกเจ้าหน้าที่ได้ 24 ชม. และยังมีระบบปลดล็อคประตูเพื่อเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที Lumpini Ville นาเกลือ-วงศ์อมาตย์ ถ.พัทยา-นาเกลือ จ.ชลบุรี คอนโดมิเนียมที่มีโซนสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ดีไซน์ภายในห้องพักอาศัยแบบ Universal Design เพื่อรองรับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ เช่น ออกแบบเพื่อรองรับการใช้ Wheel chair เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ไม่มีเหลี่ยมมุม มีปุ่มฉุกเฉินภายในห้อง มีพยาบาลอยู่ในโซนอาคารผู้สูงอายุ มีส่วนกลางอย่างสระว่ายน้ำ ห้องออกกำลังกาย ส่วนสีเขียว ห้องสมุด ฯลฯ ภาพรวมแล้วก็เป็นคอนโดมิเนียมปกติ Jin Wellbeing County โครงการที่พักอาศัยพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกด้านไลฟ์สไตล์และบริการด้านสุขภาพครบวงจรเพื่อผู้สูงวัยและครอบครัว บนพื้นที่กว่า 140 ไร่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ลักษณะโครงการเป็นคอนโดมิเนียม 7 ชั้น มีอาคารที่จัดไว้สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษ และอาคารที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ ส่วนกลางมีทั้งสปา ฟิตเนส สระว่ายน้ำ สวนสาธารณะกลางโครงการถูกออกแบบให้มีลำธารไหลผ่าน มีบริการเพื่อสุขภาพเพื่อบริการทางการแพทย์เชิงป้องกัน รักษา และฟื้นฟู ทั้งยังมีคลาสกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงมีคอมมูนิตี้มอลล์ และโรงพยาบาล อยู่ภายในโครงการ ที่สำคัญคือมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวก รวมถึงความปลอดภัย เช่น สายรัดข้อมืออัจฉริยะ โดยสายรัดข้อมือนี้จะระบุตำแหน่งของบุคคลที่ใส่ สามารถแจ้งเตือนเมื่อเกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ แล้วจะส่งสัญญาณเตือนไปที่ศูนย์ควบคุมเพื่อเข้าช่วยเหลือได้ทันที โครงการนี้คาดว่าแล้วเสร็จประมาณปี 2561-2562 หากเราลบทัศนคติเก่าๆ ที่ว่า การอยู่ในที่พักอาศัยแบบนี้เหมือนกับการอยู่ในบ้านพักคนชราออกไปได้ ก็จะค้นพบว่า "คอนโดวัยเกษียณ" เหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อดูแลผู้สูงวัยอย่างใกล้ชิด สร้างความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้ ไม่ใช่เพียงการมองหาที่อยู่อาศัยอันเหมาะสมสำหรับญาติผู้ใหญ่ที่ทำให้ลูกหลานไม่ต้องกังวลเวลาออกไปทำงานนอกบ้าน แต่ยังเป็นทางเลือกที่ดีของคนโสดในการวางแผนชีวิตต่อไปด้วย สิ่งเหล่านี้ถือว่าสามารถตอบโจทย์สังคมของเราในปัจจุบันไปจนถึงอนาคตได้เป็นอย่างดี *ที่มาข้อมูลจาก สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) และ มส.ผส. (มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย)