Tag : NPL

3 ผลลัพธ์
SAM โชว์ผลงานปี 61 ยอดเงินสดรับกว่าหมื่นล้านบาท

SAM โชว์ผลงานปี 61 ยอดเงินสดรับกว่าหมื่นล้านบาท

SAM เปิดตัว “นิยต” นั่งเก้าอี้ผู้บริหารระดับสูง โชว์ผลงานปี 61 ยอดเงินสดรับกว่าหมื่นล้านบาท พร้อมชูกลยุทธ์ใหม่ปี 62  ช่วยเหลือและดูแลลูกค้าทุกมิติ  เน้นให้บริการผ่านเทคโนโลยีและช่องทางการสื่อสารที่ทันสมัย สะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงง่าย    SAM เปิดตัวผู้บริหารสูงสุดคนใหม่ “นิยต มาศะวิสุทธิ์” พร้อมโชว์ผลงานปี 61 ยอดเงินสดรับกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 134% ของเป้าหมายและซื้อสินทรัพย์เข้าพอร์ตได้อีกกว่า 1 หมื่นล้านบาท เผยกลยุทธ์ปี 62 ดูแลอย่างจริงใจ โดยให้คำปรึกษาและพัฒนาบริการลูกค้า NPL และ NPA ผ่านเทคโนโลยีและช่องทางการสื่อสารที่ทันสมัย สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่ายผ่านโซเชียลมีเดีย   นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ ผู้บริหารสูงสุด บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM เปิดเผยว่า ด้วยประสบการณ์กว่า 14 ปีในฐานะผู้บริหารของ SAM ทำให้หลังจากเข้ารับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงมีความพร้อมเดินหน้าและสามารถทำงานได้ต่อเนื่อง รวดเร็ว โดย SAM พร้อมสนับสนุนนโยบายภาครัฐและทำงานอย่างมืออาชีพ  ตลอดปี 2561 ที่ผ่านมา SAM สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ผลการดำเนินงาน ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 SAM ได้รับชำระเงินสด รวมจำนวนทั้งสิ้น 11,422 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 134 ของเป้าหมาย โดยมาจากการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ประมาณ 7,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62  และการจำหน่ายทรัพย์สินรอการขาย (NPA) จำนวนมากกว่า 4,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 38 โดยตลอดปี 2561 SAM สามารถซื้อสินทรัพย์ NPL เพิ่มเติมได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย และหากนับจากปี 2560 ถึงปัจจุบัน SAM มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องมาตลอดและมีแผนลงทุนในปีต่อๆ ไปตามแผนระยะยาวที่ได้วางไว้  จากความสำเร็จและความมุ่งมั่นในการดำเนินงาน ส่งผลให้ตั้งแต่ปี 2543 ถึง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 SAM สามารถนำส่งเงินคืนกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฯ) เป็นเงินสะสมรวมทั้งสิ้นกว่า 250,000 ล้านบาท   ส่วน โครงการคลินิกแก้หนี้ ในปี 2561 มีผู้สมัครเข้าโครงการ 9,800 ราย  โดยยอดรวมผู้ผ่านคุณสมบัติและลงนามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วจำนวน 1,087 ราย  ปัจจุบันมีลูกหนี้ที่ยังผ่อนชำระอยู่กับโครงการเกือบ 1,000 ราย ภาระหนี้รวมทั้งสิ้น 270 ล้านบาท นอกจากนี้  SAM ยังดำเนินงานด้านการอบรมและให้ความรู้ทางการเงิน เพื่อเสริมสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ผ่านหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สถานีตำรวจภูธร อ.ด่านช้าง สำนักงานปลัด กระทรวงกลาโหม สถาบันคุ้มครองเงินฝาก บจ.ธนบุรีประกอบรถยนต์ บจ.สยามมิชลิน เป็นต้น   นายนิยต กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนงานในปี 2562  SAM มีเป้าหมายเก็บเงินสดรับที่ 11,600 ล้านบาท และเพิ่มขนาดพอร์ตสินทรัพย์เพิ่มเติมด้วยการเข้าประมูลซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากธนาคารพาณิชย์ตามแผนระยะยาวที่ตั้งไว้ให้ได้ตามเป้าหมายที่ 16,500 ล้านบาท ปัจจุบัน SAM มีสินทรัพย์ NPL คงเหลือมูลค่ารวมทั้งสิ้น 335,000 ล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้รายใหญ่ ร้อยละ 66  SME ร้อยละ 30 และรายย่อย ร้อยละ 4 จึงมุ่งเน้นการช่วยเหลือลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ทุกกลุ่มให้บรรลุข้อตกลงได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยมีแผนการจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ อาทิ กิจกรรมลดหนี้มีสุข กิจกรรมเปิดบ้านทำงานวันหยุด เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้นอกวันทำการ และเพิ่มเติมกิจกรรมสัญจร (Mobile Branch) เพื่อเดินทางไปพบลูกค้าและให้บริการในพื้นที่อย่างทั่วถึงตลอดปี ส่วนทรัพย์สิน NPA คงเหลือจำนวน  3,700 รายการ มูลค่ารวม 21,000 ล้านบาท แบ่งเป็นทรัพย์รายใหญ่มูลค่ามากกว่า 20 ล้าน ร้อยละ 5 ที่เหลือเป็นทรัพย์มูลค่าต่ำกว่า 20 ล้าน ร้อยละ 95 โดยกว่าร้อยละ 50 เป็นทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย ดังนั้น กลยุทธ์การบริหารจัดการ NPA ในปีนี้ SAM จึงเน้นการทำตลาดเข้าถึงลูกค้ารายย่อย พร้อมวางแผนจัดกิจกรรมต่างๆ ตลอดปี เช่น การจัดงานประมูลทรัพย์ NPA จำนวน 9 ครั้ง การเข้าร่วมงานมหกรรมกับหน่วยงานพันธมิตร จำนวน 5 ครั้ง รวมถึงการเปิดบูธ “ทรัพย์มือสองต้อง SAM” จำนวน 6 ครั้ง รวมทั้งการจัดโปรโมชั่นและกิจกรรมส่งเสริมการขายที่น่าสนใจมากมาย  เช่น  “SAM อีซี่ โปร” ฟรีค่าโอน 1% พร้อมอีก 2 โปรโมชั่นยอดนิยม ทั้ง “SAM จัดให้” และ “SAM Light ผ่อนสบายๆ 0%” และอื่นๆ คาดว่าจะกระตุ้นยอดขายNPA ได้ยาวถึงสิ้นปี   ส่วนแผนงานโครงการคลินิกแก้หนี้  SAM ได้เตรียมความพร้อมขยายขอบเขตการให้บริการเพื่อรองรับลูกค้ากลุ่ม Non-Bank และเพิ่มความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เครดิตบูโร เพื่อลดกระบวนการและขั้นตอนการตรวจสอบให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  รวมทั้งยังมีแผนจัดกิจกรรม เปิดบ้านทำงานวันหยุดกับ คลินิกแก้หนี้  ทุกวันเสาร์ โดยเริ่มครั้งแรกวันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์และตลอดเดือนมีนาคมนี้   ณ ที่ทำการ ชั้น 12 อาคารเล้าเป้งง้วน ถ.วิภาวดีรังสิต ด้วยหวังว่าการจัดกิจกรรมนี้ จะช่วยสร้างโอกาสและกระตุ้นกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามาขอคำปรึกษาและเข้าร่วมโครงการฯ มากขึ้น ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้านหนี้สินส่วนบุคคลของผู้ที่ประสบปัญหาดังกล่าวได้ไม่มากก็น้อย และช่วยให้ลูกหนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้  SAM ยังให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น การอบรมและให้ความรู้ทางการเงินเพื่อเสริมสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่องตลอดปี โดยเฉพาะนักศึกษาที่จบการศึกษาใหม่ที่กำลังจะเข้าทำงาน เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องการวางแผนการเงินก่อนเริ่มมีรายได้  ทั้งนี้  ในปี 62 SAM  ยังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยเข้ามาให้บริการลูกค้า ผ่านแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ และสื่อโซเชียลอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง  เพื่อเข้าถึงลูกค้าและให้บริการอย่างสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น      
NPL คือ? ส่งผลต่อคนจะกู้สินเชื่ออย่างไร

NPL คือ? ส่งผลต่อคนจะกู้สินเชื่ออย่างไร

เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อไรที่เราจะยื่นกู้สินเชื่อบ้านเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยไม่ว่าประเภทไหนก็ตามทางธนาคารจะมีวิธีพิจารณาเพื่ออนุมัติคล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นรายได้หลัก การเดินบัญชี ฯลฯ หรือแม้แต่ปัจจัยภายนอกอย่าง NPL ที่จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจปล่อยกู้ ซึ่งตัวผู้ที่ต้องการยื่นกู้เองควรจะลองศึกษาหาข้อมูลในเบื้องต้นเอาไว้บ้าง เพื่อเพิ่มโอกาสให้เราได้รับการอนุมัติมากยิ่งขึ้น NPL ย่อมาจาก Non-Performing Loan คือ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือที่เรียกกันว่าหนี้เสีย โดยเกิดจากการที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยและเงินต้นคืนให้สถาบันการเงินเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 เดือน สถาบันการเงินนั้นจะมองว่าเป็นหนี้เสียทันที โดยหากตัวบุคคลถูกตีว่าติด NPL จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือทางการเงินอย่างมาก ยิ่งหากจะทำการกู้สินเชื่อไม่ว่าจะประเภทใดก็ตามมักจะถูกปฏิเสธได้ง่าย ซึ่งจากสถิติจากปีที่ผ่านมา NPL ที่พุ่งสูงที่สุด 3 อันดับแรก คือ ธนาคารกรุงเทพ ประมาณ 87,000 ล้านบาท ธนาคารกสิกรไทย ประมาณ 69,000 ล้านบาท และธนาคารไทยพาณิชย์ ประมาณ 65,000 บาท แต่ธนาคารที่มีอัตราลดลง คือ ธนาคารทหารไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย และธนาคารเกียรตินาคิน ตามลำดับ   อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่าเราจะต้องศึกษาข้อมูลที่เป็นปัจจัยหนึ่งก่อนการยื่นขอสินเชื่อนั่นคือ NPL ที่กล่าวถึงนี้ เพราะหากช่วงไหนที่ภาพรวม NPL ของประเทศสูงจะส่งผลให้ธนาคารมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นโดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะเมื่อช่วงปีที่ผ่านมามี NPL พุ่งสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสินเชื่อบุคคลประเภทอื่นๆ สาเหตุหลักมาจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ที่มีรายได้น้อย ส่งผลต่อการถูกปฏิเสธสินเชื่อในกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง ซึ่งปีที่แล้วสูงถึง 40-50% และเมื่อยอดปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง ทางผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จึงหันไปพัฒนาโครงการระดับสูงทำเลใจกลางเมืองมากกว่า เพราะนอกจากเรื่องของการจับกลุ่มผู้ที่มีกำลังซื้อระดับสูงในประเทศไทยแล้ว ยังหันไปหากลุ่มผู้ซื้อชาวต่างชาติโดยเฉพาะในเอเชียด้วยกันที่สนใจซื้อคอนโดมิเนียมในประเทศไทยกันมากขึ้น แม้ว่าในปี 2561 หลายฝ่ายต่างเชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นจากหลายๆ ปัจจัยต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนของยูนิตมากที่สุดในรอบ 4-5 ปี การร่วมทุนระหว่างผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยและจากต่างประเทศ รวมถึงตัวเลข GDP ที่จะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้แนวโน้มของ NPL ค่อยๆ ลดลง แต่การขยายตัวเพิ่มขึ้นของภาคอสังหาริมทรัพย์นี้ยังคงกระจุกตัวอยู่กลางเมืองกรุงเทพฯ ในโครงการที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้มีรายได้สูง  จึงทำให้ธนาคารยังคงต้องพิจารณาการอย่างถี่ถ้วนในการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพื่อพยายามควบคุมไม่ให้มีตัวเลข NPL ที่สูงขึ้นอีก   แม้ว่าหลายธนาคารจะยังคงเข้มงวดต่อการปล่อยสินเชื่อบุคคลโดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้เลย เพราะหลายคนต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าในปีนี้อสังหาริมทรัพย์จะดีขึ้นยิ่งกว่าปีที่แล้ว และหากเราแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการชำระหนี้ได้ รวมถึงการมีวินัยทางการเงินก็จะทำให้กู้ผ่านได้ไม่ยาก แม้แต่ผู้ที่มีประวัติ NPL ก็สามารถเข้าไปปรึกษากับทางธนาคารได้ แต่จะใช้ระยะเวลานานกว่า และมีข้อแม้หลายอย่างที่ต้องปฏิบัติเสียก่อนจะยื่นกู้ เช่น ต้องจ่ายหนี้สินทั้งหมดให้เรียบร้อยก่อน เป็นต้น   ความรู้อื่นเกี่ยวกับ NPL ธนาคารแห่งประเทศไทย บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กู้ไม่ผ่าน เกิดจากอะไร วิเคราะห์ LTV หลักเกณฑ์ใหม่ ดีต่อตลาดอสังหาฯ แค่ไหน-ใครได้ประโยชน์ EIC วิเคราะห์ ใครคือผู้ได้รับผลกระทบจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  
4 ขั้นตอนต้องรู้ มีประวัติค้างชำระกู้อย่างไรให้ผ่าน

4 ขั้นตอนต้องรู้ มีประวัติค้างชำระกู้อย่างไรให้ผ่าน

คำว่า “หนี้ที่มีปัญหา หรือหนี้ NPL” เป็นคำที่หลายๆ คนอาจไม่อยากได้ยิน ไม่คิดจะเป็น และไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง หนี้ NPL คือ หนี้ที่มีการค้างชำระเกิน 90 วัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือทางการเงินของคุณอย่างมาก หากคุณมีการค้างจ่ายหนี้หรือจ่ายไม่ตรงเวลา เพราะมันจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า "สัญญาไม่เป็นสัญญา เป็นหนี้แล้วไม่ชำระหนี้" เรื่องแบบนี้นอกจากจะส่งผลต่อการขอกู้ในอนาคตแล้ว ยังทำให้โอกาสในการได้รับอนุมัติยากกว่าคนที่มีประวัติใสสะอาด แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เราลองมาดู 4 ขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติเพื่อกู้ให้ผ่านกัน 1. หันหน้ามาคุยกัน เพื่อเจรจาแก้ไข เนื่องจากการค้างจ่ายหนี้หรือการชำระไม่ตรงเวลานั้น อาจเกิดขึ้นโดยไม่เจตนา เช่น เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ โรงงานได้รับความเสียหาย ผลิตสินค้าไม่ทัน จึงสูญเสียรายได้ ทำให้ไม่มีเงินมาจ่ายหนี้ตามกำหนด ดังนั้นหากเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำคือ เจรจาหาทางออกร่วมกับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ของคุณ เพื่อแก้ปัญหา ทั้งนี้การเข้าไปเจรจากับเจ้าหนี้ยิ่งเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะอาจช่วยกันแก้ปัญหาได้ก่อนที่คุณจะกลายเป็นหนี้ NPL หรือหากเป็นไปแล้ว ก็ยังสามารถเจรจากันได้ ที่มักเรียกกันว่าการประนอมหนี้ ได้แก่ การยืดระยะเวลาการจ่ายหนี้ออกไปด้วยการลดจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระในแต่ละเดือนลง การขายทรัพย์เพื่อชำระหนี้บางส่วน หรืออื่นๆ แล้วแต่กรณีไป 2. มุ่งมั่นแก้ไขปัญหา สะท้อนความตั้งใจ เพราะปัจจัยในการพิจารณาให้สินเชื่อของธนาคารนั้นดูที่ความตั้งใจในการชำระหนี้เป็นหลัก หากคุณไม่ย่อท้อ พยายามทำทุกทางเพื่อให้การแก้ไขหนี้ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความร่วมมือในการจ่ายหนี้ หรือการปฏิบัติตามเงื่อนไขการผ่อนชำระอย่างเคร่งครัด สิ่งนี้จะสะท้อนความตั้งใจในการแก้ปัญหาของคุณได้อย่างชัดเจน 3. สร้างประวัติใหม่ ผ่อนให้ตรงเวลา เนื่องจากประวัติการผิดนัดชำระหนี้เป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของธนาคาร ซึ่งคุณจะต้องใช้เวลาพอสมควรในการพิสูจน์ตัวเอง ไม่ใช่ว่าผ่อนเป็นปกติดีอยู่ 2-3 เดือนก็จะไปขอกู้ เพราะธนาคารยังไม่มั่นใจความสามารถในการชำระเงินของคุณ ดังนั้นคุณควรพยายามสร้างประวัติใหม่ให้ดีเป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือน เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าฐานะทางการเงินของคุณกลับมาเป็นปกติแล้ว 4. เคลียร์หนี้ NPL ให้จบ เก็บหลักฐานอย่าให้หาย หากคุณสามารถเคลียร์หนี้ก้อนนี้ได้หมดแล้ว สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้จะออกหลักฐานยืนยันมาให้ ซึ่งคุณจะต้องเก็บรักษาไว้ให้ดี เพื่อใช้แสดงกับธนาคารที่คุณไปขอกู้ว่าคุณสามารถจบหนี้ที่มีปัญหาได้แล้วจริงๆ สำหรับคนที่เป็นหนี้ที่มีปัญหา หรือเป็นหนี้ NPL ไปแล้ว การพิสูจน์ตัวเองนั้นต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ในระหว่างนี้ธุรกิจของคุณต้องมีวินัยทางการเงินอย่างมาก อย่าละเลยการเดินบัญชีหรือ Statement เพราะเป็นสิ่งบ่งบอกถึงกระแสเงินสดของธุรกิจ หรือแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ชำระหนี้ แต่ทางที่ดีก็คือพยายามอย่าให้เกิดปัญหาขึ้นมา การไม่มีประวัติหนี้ค้างชำระย่อมดีที่สุด และหากเกิดปัญหาขึ้นมาจริงๆ ให้รีบคุยกับเจ้าหนี้ เพื่อหาทางออกร่วมกัน อย่าปล่อยให้ปัญหาลุกลามจนกลายเป็น NPL   ขอขอบคุณข้อมูลจาก  www.kasikornbank.com