บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เจ้าของและผู้บริหารโครงการที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และหนึ่งในพันธมิตรเจ้าของ‘ไอคอนสยาม’ อภิมหาโครงการเมืองสัญลักษณ์แห่งความรุ่งโรจน์ของไทยริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ประกาศจุดยืน “ผู้นำแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์” (Creative Economy) ด้วยการนำความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่ล้ำสมัย มุ่งสร้างชื่อเสียงประเทศไทยให้ยิ่งใหญ่บนเวทีโลก เผยกลยุทธ์สำคัญใน 5 ปีข้างหน้า พร้อมฉลองการเข้าสู่ปีที่ 60 ด้วยความสำเร็จของธุรกิจที่เติบโตแบบก้าวกระโดดนับจากปี 2557 ถึงวันนี้ รายได้เติบโตขึ้นถึงเท่าตัว นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า “ตลอด 60 ปี สยามพิวรรธน์มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในการสร้างต้นแบบและนำมาตรฐานใหม่ๆ มาพัฒนาวงการอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด เราสร้างปรากฎการณ์ปฏิวัติวงการให้เกิดขึ้น ครั้งแล้วครั้งเล่า และจากทิศทางที่สยามพิวรรธน์ได้ประกาศไปเมื่อ 5 ปีก่อน การเปลี่ยนสยามเซ็นเตอร์ ให้กลายเป็นเมืองแห่งไอเดียที่ล้ำเทรนด์ และการปรับโฉมสยามดิสคัฟเวอรี่ ดิเอ็กซ์พลอราทอเรียม ให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางรูปแบบไฮบริดรีเทล ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ศูนย์การค้าไทยได้รับรางวัลชนะเลิศจากทั้งวงการศูนย์การค้าและการค้าปลีกของโลกพร้อมกัน และล่าสุด สำหรับการเปิดอภิมหาโครงการเมืองไอคอนสยามที่เป็นกระแสร้อนแรงที่สุดแห่งปี 2561 โดยได้วางแผนกลยุทธ์ใหม่ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ และกำหนดทิศทางการลงทุนของสยามพิวรรธน์ ซึ่งจะเน้นไปที่การสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกับคนไทยทั้งประเทศ และพันธมิตรชั้นนำในต่างประเทศ พร้อมเปิดตัวนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหนือชั้นเพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ทางการตลาดแบบครบวงจร โดยเราตั้งเป้าว่าในอีก 5 ปีข้างหน้ารายได้กลุ่มธุรกิจของเราจะโตขึ้นอีก 1 – 1.5 เท่า จุดยืนที่แข็งแกร่งและแตกต่างนี้ สยามพิวรรธน์ ได้เผยกลยุทธ์สำคัญที่จะเป็นแผนธุรกิจ 5 ปี ดังนี้ 1.เดินหน้าสร้างมหาปรากฏการณ์ โครงการระดับโลกทั้งในและต่างประเทศ ต่อยอดจากความสำเร็จของ วันสยาม และไอคอนสยาม ด้วยวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมือง โครงการที่สยามพิวรรธน์สร้างขึ้นจะต้องเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องปฏิวัติวงการค้าปลีก (Retail revolution) และต้องเป็นโครงการที่สร้างสรรค์โดยเฉพาะ (Tailor made) โดยในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีการสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่มีรูปแบบและคอนเซ็ปต์ที่แปลกใหม่เหนือความคาดหมาย ซึ่งจะแจ้งรายละเอียดให้ทราบเร็วๆ นี้ นอกจากนี้สยามพิวรรธน์ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อน “วันสยาม” (One Siam) คือการผนึกกำลังของ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ เป็นสถานที่หนึ่งเดียวในเอเชียและวงการค้าปลีกของโลก ที่ก้าวขึ้นแท่นติดอันดับ 1 ใน 10 ของสถานที่ยอดนิยมระดับโลก อันดับ 1 ใน Instagram และอันดับ 6 ในFacebook ไอคอนสยามยังคงเดินหน้าสร้างปรากฎการณ์ความมหัศจรรย์ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดองค์ประกอบสำคัญเพิ่มเติม เช่น ทรู ไอคอน ฮอลล์ (TRUE ICON HALL) ศูนย์ประชุมพร้อมนวัตกรรมล้ำยุคแห่งแรกในกรุงเทพบนพื้นที่กว่า 12,000 ตารางเมตร และ ริเวอร์มิวเซียม แบงค็อก (rivermusuem bangkok) ซึ่งจะเป็นพิพิธภัณฑ์มาตรฐานระดับสากลครั้งแรกในเมืองไทย โดยจะทำงานร่วมกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก เพื่อนำผลงานศิลปะล้ำค่าจากต่างประเทศมาจัดแสดงเป็นครั้งแรกในประเทศไทย 2.ผนึกกำลังพันธมิตรแถวหน้าระดับโลก ร่วมพัฒนาธุรกิจค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์ ที่ผ่านมาสยามพิวรรธน์ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทชั้นนำระดับโลกมากมาย และเลือกที่จะเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจและร่วมลงทุนพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ไปกับสยามพิวรรธน์ ในขณะเดียวกัน สยามพิวรรธน์ได้รับการติดต่อจากหลายๆ บริษัทที่มีชื่อเสียงในประเทศต่างๆ ซึ่งมีความประสงค์จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และด้วยแนวทางการดำเนินธุรกิจที่เป็นกลางจึงจะทำให้สยามพิวรรธน์สามารถจับมือกับทุกพันธมิตรเพื่อพัฒนาโครงการเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษา โดยได้มองหาทำเลทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด ในส่วนธุรกิจค้าปลีก สยามพิวรรธน์ยังคงมุ่งมั่นที่จะนำเสนอสินค้าและบริการที่แปลกใหม่เป็นคนแรกอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ สยามพิวรรธน์มีแผนที่จะขยายไลน์ธุรกิจค้าปลีกให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งการขยายธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบแฟรนไชส์ การร่วมทุนกับบริษัทค้าปลีกชั้นนำจากต่างประเทศเพื่อเปิดตัวแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์อีก 2 แบรนด์ และมีกำหนดการที่จะเปิด Luxury Premium Outlets แห่งแรกในประเทศไทยในปลายปีนี้ และขยายเพิ่มไปนอกกรุงเทพฯ อีก 2 แห่ง นอกจากนี้ จะมุ่งเน้นการให้ความสนับสนุนดีไซน์เนอร์ไทยและผู้ประกอบการ SME ไทยให้พัฒนาบน platform การจัดจำหน่ายสินค้าที่สยามพิวรรธน์บริหารอย่างครบวงจร เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยๆ ที่มีต้นทุนต่ำ ได้ใช้ประโยชน์จากศูนย์กลางข้อมูลของสยามพิวรรธน์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง 3.ลงทุนธุรกิจใหม่ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลัก สยามพิวรรธน์มีความสนใจที่จะลงทุนในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในธุรกิจอื่น และขยายธุรกิจค้าปลีก ที่จะช่วยสนับสนุนธุรกิจหลักเพื่อเสริมศักยภาพของสยามพิวรรธน์ เช่น การซื้ออาคารสำนักงาน กิจการจัดส่งสินค้า(logistics) รวมไปถึงธุรกิจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆ นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าในการขยายธุรกิจภายใต้บริษัทลูกอีก 4 - 5 บริษัทใหญ่ อาทิ การจัดตั้งบริษัท สยามอัลไลแอนซ์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ต่อยอดความเชี่ยวชาญจากการบริหาร Royal Paragon Hall เพื่อรับบริหารจัดการศูนย์การประชุมและศูนย์แสดงนิทรรศการใหม่ๆ อาทิ TRUE ICON HALL และลงทุนในการสร้างศูนย์ประชุมสำหรับการจัดงานต่างๆ รวมถึงการการจัดแสดงคอนเสิร์ตในทำเลใหม่ การเดินหน้าให้บริการกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดอย่างครบวงจรของบริษัท ซูพรีโม่ จำกัด ที่สร้างประสบการณ์ระดับโลกเหนือความคาดหมายมาแล้วมากมาย อาทิ การจัดงาน Amazing Thailand Countdown ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อปลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีธุรกิจให้คำปรึกษาและบริการเกี่ยวกับการจัดการอาคารของบริษัท สยามโปรเฟสชั่นแนล แมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งได้ให้บริการแก่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาแล้วหลายราย ซึ่งบริษัทในเครือเหล่านี้ จะเดินหน้าให้บริการทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง 4.เปิดตัวระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และการบริหารจัดการข้อมูล ที่ได้ถูกพัฒนามาเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี สร้างความแตกต่างแต่โดนใจ เพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ทางการตลาดแบบครบวงจรทั้งในและต่างประเทศ
ในปีนี้ สยามพิวรรธน์จะเปิดตัวระบบสารสนเทศทางการตลาด (Marketing Intelligence System) ที่ได้พัฒนามานานกว่า 5 ปีด้วยงบประมาณ 500 ล้านบาท สำเร็จพร้อมใช้อย่างเต็มรูปแบบแล้วในปีนี้ โดย อาจารย์สรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของกลุ่มสยามพิวรรธน์ และผศ.ดร.พีรพล เวทีกูล อาจารย์ประจำ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาขับเคลื่อนกลยุทธ์การตลาดให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยระบบจะแบ่งเป็น 2 ส่วน
- ในส่วน Front-end สยามพิวรรธน์ได้มีการทำ Location awareness และ Member awareness ผ่านระบบ Mobile Application รวม ศูนย์ข้อมูลการตลาดโดยทำ Web Centralization และพัฒนาElectronic Digital Marketing (EDM) เพื่อเข้าถึงลูกค้าผ่านทางช่องทางบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น
- ในส่วน Back-end สยามพิวรรธน์ได้พัฒนาระบบ Data Infrastructure เพื่อเก็บข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าในหลายมิติ และใช้ Advanced data analytics ในการวิเคราะห์และทำความเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าแต่ละบุคคล เพื่อนำไปต่อยอดทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดได้ตรงใจลูกค้าและได้ผลตอบแทนมากที่สุด
5.กลยุทธ์การสร้างคุณค่า สมประโยชน์ร่วมกันสู่ความยั่งยืน จับมือผู้ประกอบการไทยทั่วประเทศพร้อมแข่งขันบนเวทีโลก ปั้น Local Heroes ให้เป็น Global Heroes สยามพิวรรธน์ ยังคงยึดมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainability) โดยการสร้างแบบอย่างการดำเนินธุรกิจ คือ การร่วมกันรังสรรค์ (Co-creation) และ การสร้างคุณค่าสมประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย (Creating Shared Value) ซึ่งเป็นคอนเซปต์หลักในการพัฒนาทุกโครงการของสยามพิวรรธน์ตลอดมา ด้วยการผนึกกำลังร่วมกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการไทยรุ่นใหม่ บุคคลผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญจากทั่วโลก ถูกสะท้อนออกมาอย่างเป็นรูปธรรมและเต็มรูปแบบ อาทิ สนับสนุนโครงการดีมาร์ค โชว์ โครงการทาเลนต์ไทย แอนด์ ดีไซน์เนอร์รูม และการเปิดร้าน Objects of Desire Store (ODS) ที่ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อผลักดันผลงานของนักออกแบบไทยรุ่นใหม่ให้ก้าวไกลสู่ตลาดโลก เป็นต้น นอกจากนี้ สยามพิวรรธน์ ยังประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการท้องถิ่นรายย่อยจากทั่วประเทศไทย ในโครงการสุขสยาม ส่งผลให้ผลิตผลจากหมู่บ้านและท้องถิ่นต่างๆ มียอดขายที่ดีและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง รวมทั้งมองหาโอกาสที่จะทำโครงการดีๆ ร่วมกับองค์กรต่างๆ เพื่อสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ เชิดชูความสามารถและผลักดันฝีมือคนไทย ปั้น “Local Heroes” ให้กลายเป็น “Global Heroes” 6.การพัฒนาสยามพิวรรธน์ อคาเดมี (Siam Piwat Academy) และการสร้างสยามพิวรรธน์ Next-Gen Leader
สยามพิวรรธน์มีแผนปรับโครงสร้างบริหารและพัฒนาองค์กรดังนี้ การสร้างสยามพิวรรธน์ Next-Gen Leader ปั้นคนรุ่นใหม่เสริมทัพผู้บริหารเพื่อขับเคลื่อนองค์กร โดย 5 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างหน่วยงาน Think Tank ที่ได้ทำงานร่วมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้บริหารระดับสูงที่มากด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอย่างใกล้ชิด เป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้ถูกฝึกฝีมืออย่างเข้มข้น และมีเวทีในการแสดงศักยภาพ มีโอกาสเติบโตและภาคภูมิใจไปกับทุกความสำเร็จขององค์กร
นอกจากนี้ โครงการสยามพิวรรธน์ อคาเดมี (Siam Piwat Academy) ซึ่งคือหลักสูตรการบริหารจัดการ ที่นำองค์ความรู้ในการบริหารศูนย์การค้าและการค้าปลีกของสยามพิวรรธน์ที่สั่งสมมากว่า 60 ปีมาถ่ายทอดให้กับสังคม ในปีต่อไปนี้สยามพิวรรธน์จะเฟ้นหาคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ มีความชำนาญที่หลากหลาย (Multi Skills) ที่สามารถเข้าใจความต้องการของลูกค้า และเข้าใจไลฟ์สไตล์ของคนยุคดิจิตอล สยามพิวรรธน์มีแผนที่จะปรับโครงการสร้างองค์กรด้วยการสร้าง Center of Excellence หรือ การสร้างหน่วยงานกลางที่รวมเอาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในสาขาต่างๆ ขึ้นเป็นหน่วยงานส่วนกลางเพื่อกำกับดูแล และให้การสนับสนุนบริษัทลูกในเครือทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีแผนการปรับกระบวนการทำงานโดยนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มีผลิตภาพมากขึ้น อาทิ การใช้ Chatbot, Robotic, AI ทำให้องค์กรมีความคล่องตัว (Agile organization) สามารถปรับตัวได้เร็วตอบสนองความต้องการ และการเปลี่ยนแปลงของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว