Tag : ซีบีอาร์อี

8 ผลลัพธ์
ความต้องการอสังหาริมทรัพย์ไทยจากจีนเพิ่มมากขึ้น

ความต้องการอสังหาริมทรัพย์ไทยจากจีนเพิ่มมากขึ้น

ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก รายงานว่า จีนกำลังมีบทบาทมากขึ้นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทย   ในด้านการท่องเที่ยว  นักท่องเที่ยวจีนเดินมาเข้ามายังประเทศไทยจำนวน 10.5 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว คิดเป็น 30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด  ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 1,175% ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา   ในด้านการทำงาน ชาวจีนเป็นชาวต่างชาติที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยมากเป็นอันดับสองรองจากชาวญี่ปุ่น โดยชาวจีนที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำงานในไทยนั้นเพิ่มขึ้นถึง 185.25% ในช่วงแปดปีที่ผ่านมา   ในด้านเศรษฐกิจ ปัจจุบันประเทศจีนเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย และเมื่อปีที่แล้วจีนเป็นประเทศที่ลงทุนโดยตรง (FDI) ในประเทศไทยที่ใหญ่เป็นอันดับ 5   แผนกวิจัย ซีบีอาร์อี เชื่อว่า ความสำคัญของจีนในฐานะแหล่งที่มาของความต้องการและการลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยจะเพิ่มมากขึ้น  การเติบโตที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและเป็นที่คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก  ทั้งนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะมีความผันผวน ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของจีนและผลกระทบที่มีต่อกำลังซื้อของประชากร  รวมถึงทัศนคติของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีต่อประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยว   ในด้านการลงทุน ปัจจุบันการลงทุนของจีนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรมในไทยนั้นยังมีจำนวนจำกัด   แม้ว่าชาวจีนที่ได้รับในอนญาตให้ทำงานในประเทศไทยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อตลาดที่พักอาศัยให้เช่าในย่านใจกลางธุรกิจหรือซีบีดีมากนัก เนื่องจากงบประมาณในการเช่าที่พักอาศัยของชาวจีนโดยทั่วไปแล้วนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าชาวญี่ปุ่น ชาวอเมริกัน และชาวยุโรป ซึ่งเป็นความต้องการหลักในการเช่าที่พักอาศัยใน ซีบีดี   ในตลาดคอนโดมิเนียม จำนวนผู้ซื้อชาวจีนได้พุ่งสูงขึ้นอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้พัฒนาโครงการบางรายเผยว่ายอดขายคอนโดมิเนียมที่มาจากผู้ซื้อชาวต่างชาติสูงถึง 50% และส่วนใหญ่เป็นผู้ซื้อชาวจีน   นอกจากนี้ ยังรายงานอีกว่าคอนโดมิเนียมบางโครงการสามารถขายให้ผู้ซื้อชาวต่างชาติได้เต็มโควต้า 49% ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต   ผู้ซื้อชาวจีนในตลาดคอนโดมิเนียมของไทยที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากข้อจำกัดหรือภาษีที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับผู้ซื้อชาวต่างชาติในตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเทศอื่นๆ    สำหรับประเทศไทย ชาวต่างชาติได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับคนไทยในเรื่องภาษีจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่ประเทศอื่น ผู้ซื้อชาวต่างชาติจะต้องจ่ายค่าภาษีอากรแสตมป์สูงกว่าผู้ซื้อในประเทศ   ซีบีอาร์อีมีความกังวลเกี่ยวกับความยั่งยืนของความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมจากลูกค้าชาวจีน เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าผู้ซื้อบางรายอาจไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวังไว้ในแง่ของค่าเช่าหรือกำไรจากการลงทุน   นอกจากนี้ มาตรการควบคุมเงินทุนของจีนที่จำกัดการนำเงินออกไปยังต่างประเทศเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับการที่ผู้ซื้อชาวต่างชาติไม่สามารถกู้ยืมเงินในประเทศไทยเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้นั้นอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการ   การลงทุนจากจีนในการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมยังมีจำนวนจำกัด โดยนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาร่วมทุนในการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ยังคงมาจากญี่ปุ่น   บริษัทจีนเป็นที่มาของความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดพื้นที่สำนักงานของกรุงเทพมหานคร  โดยธุรกรรมการเช่าพื้นที่สำนักงานที่ใหญ่ที่สุดหลายธุรกรรมในปีที่แล้วก็มาจากบริษัทด้านอี-คอมเมิร์ซของจีน  สำหรับการลงทุนจากจีนในการพัฒนาอาคารสำนักงานยังคงมีอยู่จำกัด โดยนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดคือไชน่า รีซอร์สเซส (China Resources) ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ร่วมทุนในโครงการออล ซีซั่นส์ เพลส บนถนนวิทยุ ที่มีมานานกว่า 30 ปี   นักท่องเที่ยวชาวจีนได้กลายเป็นความต้องการที่สำคัญของตลาดค้าปลีกทั้งในกรุงเทพฯ และแหล่งท่องเที่ยวหลัก แต่จนถึงปัจจุบัน การลงทุนจากนักลงทุนจีนในการพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกในประเทศไทยยังมีไม่มากนัก    บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนอย่างอาลีบาบาและ JD.com เป็นบริษัทแนวหน้าในตลาดอี-คอมเมิร์ซของไทย ซึ่งแข่งขันโดยตรงกับร้านค้าที่มีหน้าร้านและศูนย์การค้า   เป็นระยะเวลาหลายปีที่ญี่ปุ่นครองความเป็นผู้นำในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เข้ามาสู่ภาคการผลิตของไทย แต่ในปัจจุบันมีหลายปัจจัยด้วยกันที่ช่วยให้การลงทุนโดยตรงจากจีนในภาคการผลิตของไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ต้นทุนด้านแรงงานของจีนที่เพิ่มขึ้น และมาตรการกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกาที่ออกมาเมื่อไม่นานมานี้ สำหรับสินค้านำเข้าที่มาจากจีน   ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561  ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ของไทยหลายรายกล่าวว่าความต้องการซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงงานใหม่นั้นมาจากบริษัทของจีนมากที่สุด   นายเจมส์ พิทชอน หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า “ประเทศจีนจะยังคงเป็นแหล่งที่มาของความต้องการในตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยที่เพิ่มขึ้น แต่ความต้องการนั้นอาจผันผวนตามความเชื่อมั่นและมีความแตกต่างกันไปในแต่ละภาคธุรกิจ    นอกจากนี้ การลงทุนโดยตรงจากจีนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ผ่านการร่วมทุนก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน”   ประเทศจีนนับเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก   ข้อมูลจากแผนกวิจัยของซีบีอาร์อีแสดงให้เห็นว่าการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์จากจีนเพิ่มขึ้นจาก 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (256,000 ล้านบาท) ในปี 2556 เป็นเกือบ 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.12 ล้านล้านบาท) ในปี 2560   แต่แนวโน้มนี้จะชะลอตัวลงในระยะสั้นจากการที่รัฐบาลจีนจำกัดการลงทุนในต่างประเทศและการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ     จีนยังคงเป็นแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และการชะลอตัวของการลงทุนก็มีแนวโน้มที่จะเป็นจุดเริ่มต้นมากกว่าที่จะเป็นจุดจบของการลงทุนที่มาจากจีนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ      
ซีบีอาร์อีซีจัดงานสัมมนาแนวโน้มตลาดคอนโดมิเนียมกรุงเทพฯ

ซีบีอาร์อีซีจัดงานสัมมนาแนวโน้มตลาดคอนโดมิเนียมกรุงเทพฯ

ซีบีอาร์อี ประเทศไทย จัดงานสัมมนา “แนวโน้มตลาดคอนโดมิเนียมกรุงเทพฯ” สำหรับลูกค้าและนักลงทุน เพื่ออัพเดตแนวโน้มตลาดคอนโดมิเนียมของกรุงเทพฯ รวมถึงเคล็ดลับการลงทุนโดยนางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ   นอกจากนี้ ลูกค้าทั้ง 100 ท่านยังได้รับข้อมูลเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมโครงการใหม่ล่าสุดและข้อเสนอพิเศษสุดจากโครงการชั้นนำและคอนโดมิเนียมรีเซลส์ทั้งในกรุงเทพฯ และแหล่งตากอากาศที่สำคัญของไทยเมื่อไม่นานมานี้   ในภาพ นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ให้การต้อนรับนายกิติชัย เตชะงามเลิศ นักเขียนด้านการลงทุนติดอันดับขายดีและนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และสินประเภททรัพย์อื่นๆ    
แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยปี 2562

แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยปี 2562

ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก เผยแนวโน้มปี 2562 ว่าตลาดอสังหาฯในกรุงเทพมหานครจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก ทั้งด้านการชะลอตัวของตลาดในหลายๆ ภาคอสังหาริมทรัพย์และซัพพลายใหม่จำนวนมากที่กำลังจะออกสู่ตลาด   การแข่งขันในการหาที่ดินแบบมีกรรมสิทธิ์ถาวรหรือฟรีโฮลด์ในทำเลที่หายากในย่านใจกลางเมืองยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง   อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดใหม่ๆ รวมถึงผังเมืองกรุงเทพฯ ใหม่ที่กำลังจะประกาศใช้ในปี 2563 นี้ จะส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้ต้องกลับมาประเมินสถานการณ์ใหม่อีกครั้ง   กฎข้อบังคับใหม่และความไม่แน่นอน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหลายประการด้วยกัน ทั้งมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เข้มงวดมากขึ้น  การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้  รวมถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ และผังเมืองใหม่ของกรุงเทพฯ ที่   ผังเมืองใหม่ของกรุงเทพฯ และภาษีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ที่คาดว่าจะประกาศใช้ในปี 2563 ยังคงอยู่ขั้นตอนการวางแผนและยังไม่เสร็จสิ้น การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคาดว่าจะเกิดขึ้นในทำเลที่เป็นจุดเชื่อมต่อของเส้นทางรถไฟฟ้า   การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยเช่นกัน   ความท้าทายในตลาดส่งออกและการท่องเที่ยว ตลาดส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคธุรกิจสำคัญต่อการผลักดันเศรษฐกิจไทย จะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายหลายประการในปีนี้   ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ยังไม่มีความแน่ชัดว่าจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมส่งออกของไทยในด้านบวกหรือลบ รวมถึงการดึงดูดให้ชาวจีนกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยหลังเหตุการณ์เรือล่มในภูเก็ตก็ยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุดสำหรับภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ปริมาณนักท่องเที่ยวจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีนจะเป็นตัวช่วยบ่งชี้ถึงทัศนคติของนักท่องเที่ยวจีนที่มีต่อไทย   ซีบีอาร์อีเชื่อว่าตลาดการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ จะสามารถฟื้นคืนกลับสู่สภาวะเดิมได้อย่างรวดเร็วแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากปริมาณนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง ดังเช่นเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองหลายๆ ครั้งในอดีตที่ผ่านมา ที่สามารถฟื้นตัวกลับมาเข้มแข็งกว่าเดิม   เงินดาวน์ที่สูงขึ้นทำให้ตลาดที่พักอาศัยชะลอตัวลง ความต้องการจากนักเก็งกำไรและนักลงทุนที่ซื้อเพื่อปล่อยเช่าจะลดลง เนื่องจากราคาคอนโดมีเนียมที่สูงขึ้นจากต้นทุนที่ดิน อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และเงินดาวน์ที่เพิ่มมากขึ้นตามกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้การสร้างผลกำไรจากการปล่อยเช่าและการขายต่อคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างนั้นทำได้ยากขึ้น ตลาดจะกลับมาให้ความสำคัญกับผู้ที่ซื้อเพื่อพักอาศัยเองและการขายยูนิตที่เหลือขายในโครงการที่แล้วเสร็จ   จากความต้องการภายในประเทศที่ลดลงส่งผลให้ผู้พัฒนาโครงการหันไปโฟกัสที่ผู้ซื้อต่างชาติที่ใช้เงินทุนของตนเองในการซื้อคอนโดมิเนียม  แต่หากจะพึ่งพาการขายให้ผู้ซื้อต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ ก็อาจเกิดความไม่แน่นอนว่าผู้ซื้อต่างชาติเหล่านี้จะโอนกรรมสิทธิ์หรือไม่เมื่อโครงการแล้วเสร็จ รวมถึงผู้ที่จะพักอาศัยในยูนิตเหล่านั้นจะเป็นใคร นอกจากนี้ ผู้ซื้อต่างชาติยังมีความอ่อนไหวจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศของตนอีกด้วย   การแข่งขันสูงขึ้นในตลาดคอนโดมิเนียมระดับบน ในปีที่ผ่านมาผู้พัฒนาโครงการหลายรายได้เปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ในย่านใจกลางกรุงเทพฯ ด้วยราคาขายที่สูงกว่า 3 แสนบาทต่อตารางเมตร และดูเหมือนว่าราคาขาย 2.5 แสนบาทต่อตารางเมตรจะกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ในตลาดจะมีทั้งโครงการที่ขายดีและไม่ดี  ขึ้นอยู่กับการวางตำแหน่งของสินค้าและราคาที่เหมาะสม การที่ตลาดนี้มีตัวเลือกมากมายในระดับราคานี้ ก็ย่อมทำให้ยอดขายโดย รวมในหลายโครงการชะลอตัว  รวมทั้งมีการลดราคายูนิตเหลือขายในโครงการที่แล้วเสร็จหลายแห่งเพื่อเคลียร์สินค้าที่มีอยู่ให้หมดไป   โครงการใหม่ไม่ได้แข่งขันกันด้วยราคาที่จับต้องได้เท่านั้น แต่ผู้พัฒนาโครงการต่างๆ พยายามหาจุดขายที่โดดเด่นเพื่อดึงดูดผู้ซื้อ ระบบบ้านอัจฉริยะ การจัดการปล่อยเช่า และการพัฒนาโครงการแบบมิกซ์ยูส เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของจุดขายที่มีในตลาดปัจจุบัน ภายใต้สภาวะตลาดที่มีการแข่งขันสูงเช่นนี้ ซีบีอาร์อีเชื่อว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จจะไม่ใช่โครงการที่ได้รับการออกแบบหรือมีผังห้องที่ดีที่สุดเท่านั้น แต่ต้องเป็นโครงการที่ตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตได้ตรงใจและอยู่ในราคาที่เหมาะสมด้วย   ซีบีอาร์อีเชื่อว่าปี 2562 จะเป็นโอกาสทองของกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่เองและลงทุนในระยะยาวเนื่องจากมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เข้มงวดขึ้น จะทำให้จำนวนผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ลดน้อยลง ในขณะที่ผู้พัฒนาจะต้องแข่งขันที่จะเร่งระบายสินค้าคงเหลือก่อนที่มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ ผู้ซื้ออาจสามารถซื้อโครงการที่ใกล้จะสร้างเสร็จในราคาที่เท่ากับตอนที่โครงการเปิดตัวได้    ความต้องการพื้นที่สำนักงานที่เปลี่ยนแปลงไป จากแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก ตลาดพื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯ เองก็ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสในเรื่องของพื้นที่ทำงานที่มีความคล่องตัว (Agile Workplace) และโคเวิร์กกิ้งสเปซ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเช่าพื้นที่สำนักงานขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ พื้นที่สำนักงานใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะสร้างแรงกดดันให้กับอาคารสำนักงานเก่าให้มีการปรับปรุงและยกระดับเพื่อให้คงความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่กำลังเปลี่ยนไป   ในอีก 4 ปี กรุงเทพฯ จะมีการเปลี่ยนแปลงในตลาดอาคารสำนักงาน เนื่องจากพื้นที่ 2 ล้านตารางเมตรที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและการวางแผนจะเข้าสู่ตลาด ซีบีอาร์อีคาดว่าการใช้พื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ 2 แสนตารางเมตรต่อปี   การปรับตัวในตลาดค้าปลีก จากการที่ตลาดค้าปลีกทั่วโลกขยับไปสู่อี-คอมเมิร์ซและการซื้อขายออนไลน์มากขึ้น  ตลาดค้าปลีกในกรุงเทพฯ เองก็กำลังค่อยๆ เดินไปในทิศทางเดียวกัน ผู้ค้าปลีกที่มีหน้าร้านต่างคิดหากลยุทธ์ในการนำเสนอสิ่งที่การซื้อขายออนไลน์ไม่สามารถให้ได้ เช่น การสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ในศูนย์การค้า หรือทำให้ร้านเป็น Retailtainment หรือการผสมผสานความบันเทิงกับการให้บริการเพื่อสร้างความแตกต่าง   ซีบีอาร์อีคาดการณ์ว่าตลาดค้าปลีกจะมีแนวโน้มที่ดีซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว อัตราการเช่าพื้นที่จะยังคงอยู่ในระดับที่สูง แต่พื้นที่ค้าปลีกใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นก็มีมาก ศูนย์การค้าที่มีผลประกอบการไม่ดีนักจะมีปัญหาในการรักษาและดึงดูดผู้เช่า ทั้งยังต้องเผชิญกับการแข่งขันจากอี-คอมเมิร์ซและและซัพพลายใหม่ในอนาคต  แต่ค่าเช่าจะยังคงไม่มีความเปลี่ยนแปลง   อีอีซี: แรงจูงใจในตลาดอุตสาหกรรม โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จะมีความชัดเจนมากขึ้นในปีนี้เมื่อการประมูลโครงการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development - TOD) ตลอดเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่มุ่งหน้าสู่เขตอีอีซีนั้นสิ้นสุดลง ซีบีอาร์อีเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นตัวกระตุ้นให้ประเทศไทยได้รับความสนใจมากขึ้นจากผู้ผลิตและนักลงทุนต่างชาติเพื่อเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตอีอีซี นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการเสนอให้มีสิทธิพิเศษด้านการเงินและการยกเว้นภาษีในเขตปลอดอากรในนิคมอุตสาหกรรมให้แก่บริษัทผู้ผลิตต่างชาติอีกด้วย   ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าประเทศไทยได้รับประโยชน์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนหรือไม่  แต่ซีบีอาร์อีเห็นว่ามีบริษัทผู้ผลิตจากจีนบางแห่งสนใจที่จะย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยบริเวณเขตอีอีซี      การลงทุนชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี จาก 1.50% เป็น 1.75% เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะทำให้ต้นทุนในการพัฒนาโครงการของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์นั้นเพิ่มขึ้น และยังทำให้ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศชะลอการซื้อออกไป ความต้องการในประเทศที่ลดลง ราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น และซัพพลายใหม่จำนวนมาก จะทำให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีความระมัดระวังมากขึ้นในการเปิดโครงการใหม่และการซื้อที่ดินในปี 2562   ที่ดินฟรีโฮลด์ในทำเลชั้นนำของกรุงเทพฯ จะยังคงเป็นที่ต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้า การที่แปลงที่ดินชั้นดีในย่านใจกลางธุรกิจหรือซีบีดีเหลือไม่มากนัก ส่งผลให้ราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้นไปอีกจากสถิติราคาสูงสุดในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ดินบนถนนหลังสวนที่ราคา 3.1 ล้านบาทต่อตารางวา   ด้วยราคาที่ดินฟรีโฮลด์ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว บวกกับการเริ่มชะลอตัวของตลาดคอนโดมิเนียม ทำให้ผู้ประกอบการหันมาพิจารณาที่ดินแบบเช่าระยะยาวมากขึ้น โดยมีการปรับแผนการลงทุน และกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดอื่นๆ เช่น อาคารสำนักงาน โรงแรม และ เซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องพัฒนาบนที่ดินแบบฟรีโฮลด์      
ตลาดคอนโดมิเนียมมือสองในกรุงเทพฯ โตต่อเนื่อง

ตลาดคอนโดมิเนียมมือสองในกรุงเทพฯ โตต่อเนื่อง

เนื่องจากราคาคอนโดมิเนียมใหม่ๆ ในย่านใจกลางกรุงเทพมหานครยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ซื้อจำนวนมากจึงหันมาให้ความสนใจคอนโดมิเนียมมือสองแทนการซื้อคอนโดมิเนียมในโครงการใหม่   ซีบีอาร์อี ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ เห็นถึงความต้องการนี้ที่เพิ่มมากขึ้นในตลาดคอนโดมิเนียมมือสองตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2561 เพราะราคาคอนโดมิเนียมมือสองมักจะถูกกว่าคอนโดมิเนียมในโครงการที่เปิดตัวใหม่ และผู้ซื้อจะได้ห้องที่มีขนาดใหญ่กว่าในราคาที่เอื้อมถึง   ทั้งนี้ คอนโดมิเนียมมือสองมีด้วยกันสองประเภท ได้แก่ คอนโดมิเนียมที่ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างซึ่งนักลงทุนต้องการขายต่อหรือรีเซลส์ก่อนที่จะมีการโอนกรรมสิทธิ์เมื่อโครงการแล้วเสร็จ และคอนโดมิเนียมที่แล้วเสร็จและพร้อมเข้าอยู่ซึ่งผู้ซื้อได้รับการโอนกรรมสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว   จากการสำรวจโดยแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี พบว่า ณ ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีคอนโดมิเนียมที่การก่อสร้างแล้วเสร็จในย่านใจกรุงเทพฯ จำนวนทั้งสิ้น 145,350 ยูนิต มีราคาอยู่ระหว่าง 55,000 – 350,000 บาทต่อตารางเมตรขึ้นอยู่กับระดับ อายุของอาคาร และการบำรุงรักษาอาคาร  โดยคอนโดมิเนียมระดับลักซ์ชัวรี่ที่เปิดตัวใหม่ในย่านใจกลางกรุงเทพฯ ปัจจุบันมีราคาขายตั้งแต่ 300,000 ถึง 600,000 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งโดยทั่วไปจะมีขนาดห้องเล็กกว่าคอนโดมิเนียมในโครงการเก่าที่การก่อสร้างแล้วเสร็จ   นางสาวพรพิมล พึ่งเขื่อนขันธ์ ผู้อำนวยการ แผนกซื้อขายที่พักอาศัยรายย่อย ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ตลาดคอนโดมิเนียมที่ขายต่อก่อนการก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นตลาดที่มีความคึกคักมากในช่วงแรกหลังจากการเปิดตัวโครงการหากโครงการนั้นสามารถขายได้หมดทุกยูนิต   ส่วนในระหว่างการก่อสร้าง การขายต่อห้องชุดที่ยังไม่แล้วเสร็จมีแนวโน้มที่จะลดลงและจะกลับมาคึกคักอีกครั้งเมื่อการก่อสร้างโครงการใกล้เสร็จสมบูรณ์   สำหรับการชำระเงินต่อก่อนการก่อสร้างแล้วเสร็จนั้น ผู้ซื้อชำระเงินให้แก่ผู้ขายตามจำนวนเงินที่ได้ชำระไปแล้วให้กับผู้พัฒนาโครงการพร้อมกับกำไรของผู้ขาย จากนั้นสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมจะถูกเปลี่ยนเป็นชื่อผู้ซื้อรายใหม่ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบชำระเงินที่เหลือทั้งหมดให้แก่ผู้พัฒนาโครงการ   สำหรับโครงการคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ที่อยู่ในย่านใจกลางธุรกิจหรือซีบีดีนั้น ส่วนใหญ่ผู้พัฒนาโครงการจะกำหนดเงื่อนไขการชำระเงินดังนี้ ชำระเงิน 10%เมื่อลงนามในสัญญาจะซื้อจะขาย  ชำระเงิน 10-20% ในช่วงระยะเวลาการก่อสร้าง และชำระเงินที่เหลือทั้งหมดในวันโอนกรรมสิทธิ์เมื่อเสร็จสิ้นการก่อสร้าง  จำนวนเงินที่ผู้ซื้อใหม่ยังคงต้องจ่ายให้กับผู้พัฒนาโครงการขึ้นอยู่กับจำนวนเงินดาวน์รายเดือนที่ยังเหลืออยู่ก่อนที่การโอนกรรมสิทธิ์   สิ่งสำคัญที่จะต้องทราบก็คือ ผู้พัฒนาโครงการจะต้องลงนามในข้อตกลงการโอนสิทธิ์ เช่นเดียวกับผู้ขายและผู้ซื้อเพื่อให้การโอนสิทธิ์ในสัญญาจะซื้อจะขายนั้นถูกต้องโดยสมบูรณ์ สิ่งสำคัญที่ผู้ซื้อควรพิจารณา คือ ชื่อเสียงของผู้พัฒนาโครงการ และประวัติการทำงานที่ผ่านมาว่าสามารถส่งมอบโครงการได้ตามคุณภาพที่ระบุไว้ในเอกสารประกอบการขายหรือไม่   ส่วนโครงการที่การก่อสร้างแล้วเสร็จนั้น  ขั้นตอนการขายคือการทำสัญญาจะซื้อจะขายตามมาตรฐาน ซึ่งโดยปกติแล้ว จะต้องวางเงินมัดจำเท่ากับร้อยละสิบของราคาขาย และโอนกรรมสิทธิ์ ณ กรมที่ดินภายใน 30 – 60 วันหลังจากลงนามในสัญญาจะซื้อจะขาย  โดยยอดคงเหลือทั้งหมดจะต้องชำระให้กับผู้ขาย ณ กรมที่ดินในวันโอนกรรมสิทธิ์   ข้อควรพิจารณาที่สำคัญสำหรับผู้ซื้อคอนโดมิเนียมในอาคารเก่าคือ คุณภาพของการก่อสร้างและการบำรุงรักษาอาคารดีเพียงใด รวมทั้งสถานะการเงินในปัจจุบันของนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งแต่งตั้งโดยเจ้าของร่วมทั้งหมด มีหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่ส่วนกลางของอาคารและการบำรุงรักษาอาคาร   นับตั้งแต่ที่มีการออกพระราชบัญญัติอาคารชุดในปี 2522 ผู้ซื้อชาวไทยส่วนใหญ่นิยมโครงการใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อคอนโดมิเนียมที่การก่อสรางยังไม่แล้วเสร็จจากผู้พัฒนาโครงการ หรือการซื้อห้องชุดจากนักลงทุนก่อนที่อาคารจะสร้างเสร็จสมบูรณ์  มากกว่าซื้อโครงการมือสองที่แล้วเสร็จ   “ความแตกต่างในด้านราคาของคอนโดมิเนียมที่เปิดตัวใหม่และคอนโดมิเนียมที่เก่ากว่าและแล้วเสร็จเริ่มมีมากขึ้นจนทำให้ผู้ซื้อที่ต้องการเข้าพักอาศัยเองมองหาคอนโดมิเนียมในอาคารที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะคอนโดมิเนียมรุ่นใหม่ๆ มีราคาสูงเกินกว่างบประมาณที่ผู้ซื้อชาวไทยส่วนใหญ่มี   ผู้ซื้อค่อยๆ ลดอคติที่มีต่อคอนโดมิเนียมที่มีผู้อื่นเป็นเจ้าของมาก่อนเพื่อแลกกับการได้ห้องที่มีขนาดใหญ่ขึ้นภายใต้งบประมาณเดิมที่มีอยู่” นางสาวพรพิมลกล่าวเพิ่มเติม   ในด้านคุณภาพโครงการนั้นมีด้วยกันหลากหลายระดับ บางโครงการมีคุณภาพดีเหมือนโครงการใหม่ ในขณะที่บางโครงการสร้างขึ้นอย่างไม่มีคุณภาพและ/หรือไม่มีการบริหารอาคารที่ดี  ผู้ซื้อที่เลือกโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบันควรทำการตรวจสอบในด้านคุณภาพการก่อสร้าง สภาพการบำรุงรักษาอาคาร รวมถึงทำความเข้าใจสถานะทางการเงินของสำนักงานนิติบุคคลของอาคาร เพื่อให้ทราบว่าอาคารจะได้รับการบำรุงรักษาที่ดีและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอนาคตหรือไม่          
ตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ไตรมาส 4 ปี 2561

ตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ไตรมาส 4 ปี 2561

ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก เผยว่า มีปัจจัยหลายประการส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนในตลาดที่พักอาศัยของกรุงเทพมหานคร แม้ว่ามีการเปิดตัวโครงการใหม่เกิดขึ้นมาก แต่ยอดขายจากผู้ซื้อชาวไทยเริ่มชะลอตัวลงในบางทำเลและอาจมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวต่อไปอีกจากมาตรการเรื่องการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า  ผู้พัฒนาโครงการบางรายพยายามที่จะหาทำเลที่ตอบโจทย์ความต้องการจากกลุ่มผู้ซื้อคนไทยที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง และพัฒนาโครงการในระดับราคาที่สอดคล้องกับกำลังซื้อของตลาด  ผู้พัฒนาโครงการบางรายปรับเพิ่มสัดส่วนการขายให้กับผู้ซื้อชาวต่างชาติซึ่งอาจซื้อเพื่อการลงทุนโดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์เข้าพักอาศัยจริง ด้านตลาดให้เช่าที่พักอาศัยสำหรับชาวต่างชาติในย่านใจกลางเมืองนั้นยังมีเสถียรภาพ แต่ซีบีอาร์อีมองว่าตลาดให้เช่าที่พักอาศัยสำหรับคนไทยในย่านรอบนอกใจกลางเมืองและย่านชานเมืองไม่ค่อยมีการเติบโตในเรื่องค่าเช่า ทำให้นักลงทุนที่ซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อนำมาปล่อยเช่าอาจไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวังไว้   เมื่อไม่นานมานี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดมาตรการกำกับดูแลการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เข้มงวดขึ้น โดยการปรับลดอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ให้แก่ผู้ซื้อบางกลุ่ม เพื่อลดความเสี่ยงด้านสินเชื่อและความเสี่ยงในตลาดอสังหาริมทรัพย์  รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้น โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป ซึ่งมาตรการใหม่นี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรกซึ่งเป็นความต้องการอยู่อาศัยที่แท้จริง มากกว่านักลงทุนที่ซื้อที่พักอาศัยแล้วนำมาปล่อยเช่าเพื่อสร้างผลตอบแทนซึ่งมีสัญญาสินเชื่อหลายฉบับ แม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่บังคับให้ผู้พัฒนาโครงการต้องเรียกเก็บเงินดาวน์ขั้นต่ำในการทำสัญญา แต่ก็จะกระตุ้นให้ผู้พัฒนาโครงการเรียกเก็บเงินดาวน์ในอัตราที่สูงขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงหากลูกค้าทิ้งเงินดาวน์เมื่อถึงเวลาที่ต้องโอน ซึ่งจะทำให้ความต้องการจากนักเก็งกำไรลดลง เพราะต้องใช้เงินดาวน์สูงถึง 20 - 30% ต่างจากในปัจจุบันที่ใช้เงินดาวน์เพียง 10 - 15%  และมาตรการนี้จะช่วยชะลอความร้อนแรงและสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดโดยรวม   เนื่องจากเป็นที่คาดการณ์ว่าความต้องการภายในประเทศจะชะลอตัว อันเป็นผลจากข้อกำหนดใหม่ด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซีบีอาร์อีคาดว่าจะมีผลต่อเนื่องทำให้ผู้พัฒนาโครงการหันไปพึ่งพาผู้ซื้อชาวต่างชาติที่ซื้อที่พักอาศัยด้วยเงินของตนเองเป็นหลัก เพราะเงินทั้งหมดต้องโอนมาจากต่างประเทศด้วยสกุลเงินต่างประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับด้านการเป็นเจ้าของอาคารชุดโดยชาวต่างชาติ ผู้พัฒนาโครงการหลายรายกล่าวว่าได้เพิ่มยอดขายคอนโดมิเนียมในส่วนที่มาจากผู้ซื้อชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีนทั้งในรูปของการซื้อแบบรายบุคคลและการซื้อแบบยกล็อตโดยผ่านนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ชาวจีน  หลายโครงการได้เปิดเผยว่าโควตาสำหรับผู้ซื้อต่างชาติเต็มแล้ว (49% ของพื้นที่ขาย) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต   “เรื่องนี้ทำให้ซีบีอาร์อีมีความกังวลมากขึ้นว่าการพึ่งพายอดขายจากลูกค้าต่างชาติจำนวนมากจะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ เพราะยังไม่แน่นอนว่าลูกค้าต่างชาติเหล่านี้จะโอนกรรมสิทธิ์หากเป็นนักเก็งกำไร และยังไม่มีความชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้ที่พักอาศัยในคอนโดมิเนียมเมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้น  ลูกค้าต่างชาติส่วนใหญ่เป็นนักลงทุน และอาจไม่มีความต้องการเที่จะซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง” นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าว   จากการสำรวจโดยแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี พบว่า ณ ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 มีการเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่ในย่านใจกลางเมืองราว 7,200 ยูนิต เปรียบเทียบกับในช่วงสองไตรมาสแรกของปีนี้รวมกันมีเพียง 1,300 ยูนิต  โดยคอนโดมิเนียมใหม่ที่เปิดตัวในย่านใจกลางกรุงเทพฯ ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 8%เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว   ด้านราคาเสนอขายโดยเฉลี่ยของคอนโดมิเนียมแบบฟรีโฮลด์ระดับไฮเอนด์ขึ้นไป ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้างในย่านใจกลางกรุงเทพฯ ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยประมาณ 1.7% ต่อปี มาอยู่ที่ 277,000 บาทต่อตารางเมตร  ซีบีอาร์อีไม่เชื่อว่าราคาเฉลี่ยในย่านใจกลางกรุงเทพฯ โดยทั่วไปจะปรับตัวลดลง เว้นแต่ในโครงการที่แล้วเสร็จแต่ยังมียูนิตเหลือขายจำนวนมาก  จากตัวเลขของผู้พัฒนาโครงการพบว่า คอนโดมิเนียมในย่านใจกลางเมืองที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างมียอดขายลดลงเหลือ 67% เทียบกับ 77% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน  ซีบีอาร์อีจึงมองว่าแนวโน้มด้านยอดขายจะค่อนข้างชะลอตัวสำหรับโครงการคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ในย่านใจกลางเมืองที่ผู้ซื้อคัดเลือกสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการที่มีราคาขายสูงกว่า 300,000 บาทต่อตารางเมตร  ผู้พัฒนาโครงการที่ต้องการทำราคาขายให้ได้ในระดับที่สูงจำเป็นต้องทำให้ผู้ซื้อมั่นใจว่าโครงการของตนมีความเหมาะสมกับราคาอย่างแท้จริง   แผนกวิจัย ซีบีอาร์อีรายงานว่า ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มีการเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่ในย่านมิดทาวน์และย่านชานเมืองรวมทั้งสิ้น 18,200 ยูนิต ซึ่งนับเป็นการเปิดตัวคอนโดมิเนียมที่มากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2556 เป็นต้นมา โดยคอนโดมิเนียมที่เปิดตัวในย่านมิดทาวน์ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี2561 ลดลง 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน    ปัจจุบันผู้พัฒนาโครงการต่างกำลังมุ่งไปที่ทำเลที่อยู่ตามแนวรถไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว ส่วนต่อขยายรถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงิน และรถไฟใต้ดินสายสีส้ม สายสีเหลือง และสายสีชมพูที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง   ราคาเสนอขายโดยเฉลี่ยของคอนโดมิเนียมที่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จในย่านมิดทาวน์และย่านชานเมืองปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 99,700 บาทต่อตารางเมตร เพิ่มขึ้น 5.6% ต่อปี  ในอัตราการขายของคอนโดมิเนียมที่มีมากกว่า 200 โครงการในย่านนี้อยู่ที่ระดับ 71% เปรียบเทียบกับ 59% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซีบีอาร์อีเชื่อว่ายอดขายที่ดีขึ้นนั้นเกิดจากการขายยกล็อตให้กับนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ชาวจีน ถึงแม้จะยังไม่สามารถสรุปได้ว่ายอดขายเหล่านี้จะหมายถึงการโอนห้องจริงเมื่อโครงการแล้วเสร็จ   ปริมาณคอนโดมิเนียมที่เพิ่มขึ้น ความไม่แน่นอนด้านความต้องการภายในประเทศจากผู้ซื้อที่ต้องการพักอาศัยเอง รวมไปถึงความยั่งยืนของความต้องการจากลูกค้าต่างชาติ ทำให้แนวโน้มในตลาดคอนโดมิเนียมของกรุงเทพฯ มีความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น สำหรับตลาดคอนโดมิเนียมในย่านใจกลางเมือง ผู้พัฒนาโครงการอาจจะต้องลดความคาดหวังที่มีต่อราคาขายระดับสูง หรือปรับเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นที่ทำเลใจกลางเมือง ไปสู่ทำเลที่ราคาที่ดินถูกกว่า เช่น สุขุมวิท63 (ซอยเอกมัย) มากกว่าสุขุมวิท 55 (ซอยทองหล่อ) สำหรับตลาดคอนโดมิเนียมในย่านมิดทาวน์และย่านชานเมือง โครงการที่ผู้ซื้อสามารถกู้ซื้อได้และมีนักเก็งกำไรและนักลงทุนน้อยจำเป็นต้องพึ่งพาความต้องการจากผู้ซื้อคนไทยที่ต้องการพักอาศัยเองมากยิ่งขึ้น   สำหรับตลาดที่พักอาศัยให้เช่าในย่านใจกลางกรุงเทพฯ สำหรับชาวต่างชาตินั้น จำนวนชาวต่างชาติที่ได้รับใบอนุญาตทำงานมีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 2.7% ต่อปี และงบประมาณต่อเดือนในการเช่าบ้านก็ยังคงที่ สถานการณ์ในตลาดโดยรวมยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีอพาร์ทเมนท์ใหม่เกิดขึ้นน้อยมาก ขณะที่คอนโดมิเนียมกลับเพิ่มขึ้นโดยตลอด ซึ่งซีบีอาร์อีคาดการณ์ว่าประมาณ 30-40% ของคอนโดมิเนียมใหม่จะถูกนำออกมาปล่อยเช่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จ
โอกาสในตลาดที่พักอาศัยให้เช่าใจกลางกรุงเทพฯ

โอกาสในตลาดที่พักอาศัยให้เช่าใจกลางกรุงเทพฯ

ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลกเผยตลาดที่พักอาศัยให้เช่าในย่านใจกลางกรุงเทพมหานครเป็นตลาดที่ขับเคลื่อนโดยผู้เช่าชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ซึ่งต้องการเช่าที่พักอาศัยในไม่กี่ทำเลเท่านั้น และมักจะเลือกเช่าอพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียม หรือเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์เป็นหลักจำนวนชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทยนั้นเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างช้าๆ และงบประมาณโดยเฉลี่ยต่อเดือนที่ผู้เช่ายินดีที่จะจ่ายเพื่อเช่าที่พักอาศัยไม่ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นมาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว หากพิจารณาในด้านปริมาณที่พักอาศัยให้เช่านั้น แผนกวิจัย ซีบีอาร์อี พบว่า อพาร์ตเมนต์ใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างมีจำนวนไม่มากนักต่างจากคอนโดมิเนียมใหม่ที่มีจำนวนมาก ที่พักอาศัยให้เช่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นมากแต่ความต้องการกลับเพิ่มขึ้นในปริมาณที่จำกัด ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาด  ทว่ายังคงมีโอกาสสำหรับผู้พัฒนาโครงการอพาร์ตเมนต์และนักลงทุนที่ซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อปล่อยเช่า  ปัจจัยสำคัญก็คือการเข้าใจในความต้องการของผู้เช่า เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการปล่อยเช่าและได้รับค่าเช่าในอัตราที่สูง การหมุนเวียนของผู้เช่าชาวต่างชาติเกิดขึ้นอยู่เสมอ เพราะระยะเวลาเฉลี่ยในการทำงานในไทยอยู่ที่ประมาณ 3 ปี ซึ่งหมายถึงว่าจะมีผู้เช่ารายใหม่ตัดสินเลือกว่าอยากจะพักอาศัยในทำเลใดอยู่เสมอ จากการสำรวจโดยแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ณ ไตรมาส 2 ปี 2561 พบว่า มีอพาร์ตเมนต์ราว 10,000 ยูนิตในย่านที่เป็นที่นิยมสำหรับผู้เช่าต่างชาติอย่างสุขุมวิท ลุมพินี และสาทร  ขณะที่คอนโดมิเนียมมีอยู่ราว 76,000 ยูนิตในย่านเดียวกัน โดยแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ประเมินว่าคอนโดมิเนียมราว 25,000 - 30,000 ยูนิตเป็นของนักลงทุนที่ซื้อไว้เพื่อปล่อยเช่า ผู้เช่าโดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นนิยมพักอาศัยในอพาร์ตเมนต์ที่มีเจ้าของเพียงผู้เดียวมากกว่าเช่าคอนโดมิเนียม เพราะสามารถพูดคุยกับตัวแทนเจ้าของห้องได้ในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบำรุงรักษาต่างๆ ในขณะที่ถ้าเป็นคอนโดมิเนียม ผู้จัดการอาคารมีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลรักษาเฉพาะพื้นที่ส่วนกลาง และเจ้าของห้องจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่ภายในห้อง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ยากกว่าสำหรับผู้เช่าในการซ่อมแซมสิ่งต่างๆ ภายในห้องพักในกรุงเทพฯ มีเจ้าของคอนโดมิเนียมเพียงไม่กี่แห่งที่ว่าจ้างตัวแทนเพื่อดูแลห้อง รวมถึงการเจรจาในเรื่องต่างๆ กับผู้เช่า   โดยทั่วไปผู้เช่าคอนโดมิเนียมจะต้องติดต่อกับเจ้าของห้องโดยตรงในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับภายในห้องพัก และเจ้าของห้องก็มีความสามารถในการจัดการเรื่องการบำรุงรักษาแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประสบการณ์แต่ละคน และจะเป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีกหากเจ้าของห้องไม่ได้อาศัยอยู่ในไทย  เฉพาะในกรณีที่คอนโดมิเนียมนั้นบริหารจัดการโดยเครือโรงแรมและมีส่วนงานบริการลูกค้าแยกออกมาโดยเฉพาะ ซึ่งเจ้าของห้องจะต้องจ่ายค่าบริหารจัดการพื้นที่ส่วนกลางสูงเป็นพิเศษ ฝ่ายบริหารอาคารก็จะดูแลในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบำรุงรักษาภายในห้องควบคู่ไปด้วยด้านเจ้าของอพาร์ตเมนต์ที่ตั้งอยู่ในย่านยอดนิยมของผู้เช่าชาวต่างชาติและมีความเข้าใจในความต้องการของผู้เช่าจะยังคงประสบความสำเร็จในการปล่อยเช่า มีอัตราการเข้าพักในระดับสูง และได้รับค่าเช่าในอัตราที่ดี นายธีราธร ประพันธ์พงศ์ หัวหน้าแผนกให้เช่าที่พักอาศัย ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ได้เป็นที่ปรึกษาให้แก่เจ้าของอพาร์ตเมนต์ใหม่ 2 แห่งในเรื่องการออกแบบและการเลือกใช้วัสดุในการพัฒนาโครงการ รวมทั้งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนแต่เพียงผู้เดียวในการปล่อยเช่า โครงการแรกคือ ปิยะ เรสซิเดนซ์ ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 28 และ 30 สร้างแล้วเสร็จเมื่อไตรมาส 1 ปี 2561 เจ้าของโครงการได้ปรับผังห้องและขนาดห้องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานและเพื่อให้ได้รับค่าเช่าต่อตารางเมตรสูงสุด โดยปัจจุบันสามารถปล่อยเช่าได้แล้วกว่า 60% อีกโครงการคือ ฌาณิ เรสซิเดนซ์  ในซอยทองหล่อ 13 สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2560 โครงการนี้ได้รับการออกแบบให้ตรงกับความต้องการของผู้เช่าชาวญี่ปุ่นและปัจจุบันสามารถปล่อยเช่าได้แล้วมากกว่า 70% ทั้งสองโครงการ ส่วนใหญ่เป็นยูนิตขนาด 2 และ 3 ห้องนอน ซึ่งเป็นขนาดห้องที่มีความต้องการอยู่มากในตลาด เพราะคอนโดมิเนียมใหม่ที่นำมาปล่อยเช่านั้นส่วนใหญ่มักเป็นขนาด 1 ห้องนอน   นอกจากนี้ นายธีราธรยังเป็นที่ปรึกษาให้แก่โครงการอพาร์ตเมนต์แห่งใหม่ล่าสุด จิติมนต์ เรสซิเด้นซ์ ในซอยทองหล่อ 16 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเข้าอยู่ในช่วงต้นปี 2562 อพาร์ตเมนต์ใหม่แห่งนี้สูง 8 ชั้นประกอบด้วยยูนิตขนาดตั้งแต่ 1 - 3 ห้องนอน และจุดเด่นที่สำคัญคือมีความหนาแน่นน้อย และมีสวนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่แตกต่างจากโครงการอื่นๆ ในตลาดที่เจ้าของอพาร์ตเมนต์ส่วนใหญ่ต่างต้องการใช้พื้นที่ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ปัจจัยที่สำคัญมากที่สุดประการหนึ่งที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการปล่อยเช่าอพาร์ตเมนต์ คือ การพัฒนาโครงการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าทั้งในเรื่องขนาดห้อง ผังห้อง วัสดุอุปกรณ์ ทำเลที่ตั้ง และสิ่งอำนวยความสะดวก   “การที่ซีบีอาร์อีสามารถให้คำแนะนำที่นำไปปรับใช้ได้จริงให้กับเจ้าของอพาร์ตเมนต์ได้นั้นมาจากฐานข้อมูลจริงที่บริษัทรวบรวมจากการปล่อยเช่าให้กับผู้เช่าชาวต่างชาติมากกว่า 1,000 คนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้รู้ว่าผู้เช่าต้องการอะไรจริงๆ และมีงบประมาณมากเพียงใด” นายธีราธรกล่าวเพิ่มเติม ตลาดที่พักอาศัยให้เช่าในย่านใจกลางกรุงเทพฯ จะยังคงมีการแข่งขันที่สูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งเจ้าของอพาร์ตเมนต์และเจ้าของคอนโดมิเนียมให้เช่าจำเป็นต้องรักษาและปรับปรุงห้องพักและพื้นที่ส่วนกลางให้ดีอยู่เสมอ เพื่อทำให้ห้องพักของตนนั้นมีความน่าสนใจและดึงดูดผู้เช่าได้
ราคาที่ดินในกรุงเทพฯ พุ่งขึ้น 1,000% ในช่วง 30 ปี

ราคาที่ดินในกรุงเทพฯ พุ่งขึ้น 1,000% ในช่วง 30 ปี

ราคาที่ดินในย่านใจกลางกรุงเทพมหานครปรับตัวสูงขึ้นกว่า 1,000% นับจากปีพ.ศ. 2531 เมื่อซีบีอาร์อีเปิดสำนักงานในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากในยุค “เอเชียไทเกอร์” ระหว่างปีพ.ศ. 2531 - 2539 ก่อนที่ตลาดจะหยุดชะงักเพราะวิกฤตการณ์ทางการเงินในปีพ.ศ. 2540   การเติบโตของราคาที่ดินเริ่มขยับสูงขึ้นในช่วงกลางทศวรรษปี 2540 และราคามีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสองปีที่ผ่านมาสำหรับที่ดินที่อยู่ในย่านใจกลางเมืองที่สำคัญหรือในซีบีดี   ในช่วงปลายทศวรรษปี 2520 ต่อเนื่องเข้าสู่ทศวรรษปี 2530  มีการซื้อขายที่ดินขนาดใหญ่ 2 แปลงด้วยกัน คือ ที่ดินขนาด 8 ไร่บนถนนสาทร โดยผู้พัฒนาเดิมของอาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ซื้อไปที่ราคาประมาณ 125,000 บาทต่อตารางวา และที่ดินขนาด 21-1-08 ไร่บนถนนวิทยุซึ่งเป็นบ้านของผู้จัดการธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดในยุคนั้น ขายให้กับกลุ่มเอ็มไทย มูลค่าที่ดินประมาณ 250,000 บาทต่อตารางวา ซึ่งปัจจุบันพัฒนาเป็นโครงการออลซีซั่น เพลส   สำหรับการขายที่ดินแปลงล่าสุดในย่านสารทร คือ ที่ดินขนาด 8 ไร่ของสถานทูตออสเตรเลีย ซึ่งขายไปด้วยราคาประมาณ 1.45 ล้านบาทต่อตารางวาในปีพ.ศ. 2560  และในย่านลุมพินี บริษัท เอสซี แอสเสท ซื้อที่ดินขนาด 880 ตารางวาบริเวณถนนหลังสวนด้วยมูลค่าประมาณ 3.1 ล้านบาทต่อตารางวา และการซื้อขายที่ดินที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยคือการขายที่ดินสถานทูตอังกฤษขนาด 23 ไร่ในปีพ.ศ. 2561 ให้แก่บริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่มเซ็นทรัลและฮ่องกงแลนด์   การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินนั้นไม่เหมือนกันทั้งหมด และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นยังเป็นไปตามรูปแบบการพัฒนาเมืองของกรุงเทพฯ    ในอดีตศูนย์กลางทางธุรกิจตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง และศูนย์ราชการตั้งอยู่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์   ในช่วงทศวรรษปี 2490 และ 2500 ศูนย์กลางทางธุรกิจได้ย้ายไปที่ถนนสีลมและถนนสุรวงศ์   กรุงเทพฯ เติบโตมากขึ้นในทศวรรษที่ 2510 และ 2520 แต่ยังไม่มีการกำหนดศูนย์กลางของเมืองอย่างชัดเจน และการพัฒนาได้ขยายตัวออกไปเพราะมีการสร้างถนนใหม่ๆ แต่ในปัจจุบันปัจจัยเหล่านี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว   การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ 2 ประการที่มีผลกับราคาที่ดิน คือ การเปิดและขยายระบบขนส่งมวลชน โดยรถไฟฟ้าบีทีเอสสายแรกเปิดให้บริการในปีพ.ศ. 2542 และรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินเข้มเปิดให้บริการในปีพ.ศ. 2547 ระบบขนส่งมวลชนดังกล่าวได้ทำให้วิถีชีวิตของคนในกรุงเทพฯ ทั้งในด้านการทำงานและการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไป   ในช่วงปลายทศวรรษ 2560  กรุงเทพฯ จะมีระบบขนส่งมวลชนรวมระยะทางประมาณ 460 กิโลเมตร เปรียบเทียบกับกรุงลอนดอนที่มีระบบรถไฟใต้ดินรวมระยะทาง 402 กิโลเมตร   ความนิยมในระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพฯ ที่มีผู้ใช้มากกว่า 1.2 ล้านคนต่อวัน ได้ทำให้มูลค่าที่ดินที่อยู่ใกล้กับสถานีปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกสายหรือทุกสถานีที่จะได้รับความนิยมอย่างเท่าเทียมกัน  ส่วนหนึ่งที่เป็นตัวกำหนดมูลค่าของที่ดินก็มาจากความนิยมของระบบขนส่งมวลชนแต่ละสายและแต่ละสถานี   “ปัจจัยสำคัญอีกประการที่เป็นตัวกำหนดราคาที่ดิน ก็คือ ข้อกำหนดในเรื่องผังเมืองและพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ว่าด้วยเรื่องขนาดพื้นที่ที่สามารถสร้างได้ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าถ้าสามารถสร้างพื้นที่ได้น้อย ราคาที่ดินก็จะไม่ปรับสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด” นางกุลวดี สว่างศรี กรรมการบริหาร หัวหน้าแผนกการลงทุนและที่ดิน  ซีบีอาร์อี ประเทศไทยกล่าว   ข้อกำหนดในเรื่องผังเมืองและการควบคุมการก่อสร้างอาคารมีความเข้มงวดและซับซ้อนมากขึ้น และในปัจจุบันได้กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการกำหนดราคาที่ดิน   ในช่วงทศวรรษปี 2520 และ 2530 กรุงเทพฯ ได้ขยายตัวออกไปมากขึ้น แต่ในช่วงทศวรรษปี 2540 กรุงเทพฯ ได้กลายเป็นเมืองที่ความเจริญรวมเข้าสู่ศูนย์กลางมากขึ้น ด้วยการเกิดขึ้นของอาคารชุดพักอาศัยแนวสูงและการเติบโตของพื้นที่สำนักงานที่ทันสมัย   พื้นที่ใจกลางเมืองได้รับการกำหนดขอบเขตไว้อย่างชัดเจนมากขึ้น และเกิดการพัฒนาโครงการรอบใหม่บนพื้นที่ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์มากนัก เช่น ที่ดินขนาด 105 ไร่ที่เป็นที่ตั้งของโครงการวัน แบงค็อก บริเวณหัวมุมถนนพระราม 4 ตัดกับถนนวิทยุ ราคาที่ดินเริ่มมีสัดส่วนที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับต้นทุนโดยรวมในการพัฒนาโครงการ เนื่องจากราคาที่ดินมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วกว่าค่าก่อสร้าง มูลค่าโดยรวมในการพัฒนาโครงการได้เพิ่มสูงขึ้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้คอนโดมิเนียมมีราคาขายที่แพงขึ้นและทำให้จำเป็นต้องมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้โครงการที่มีรายได้จากค่าเช่าสามารถเกิดขึ้นได้   ซีบีอาร์อีคาดการณ์ว่า ที่ดินในย่านใจกลางกรุงเทพฯ จะยังคงเป็นทำเลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดต่อไปในการพัฒนาโรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และอาคารประเภทอื่น ๆ เช่น โรงพยาบาล เป็นต้น กรุงเทพฯ จะมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ใจกลางเมืองที่ชัดเจนมากขึ้น และการพัฒนาโครงการจะขยายตัวไปตามเส้นทางการเดินรถของระบบขนส่งมวลชนบริเวณรอบสถานี   การที่ราคาที่ดินจะปรับตัวสูงขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับระดับความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ และผลตอบแทนที่จะได้รับจากการพัฒนาโครงการ  ซึ่งจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าสามารถพัฒนาโครงการอะไรได้ และในระดับราคาใดที่ลูกค้ามีกำลังในการซื้อหรือการเช่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จ เนื่องจากที่ดินแบบมีกรรมสิทธิ์เต็มหรือฟรีโฮลด์ในย่านใจกลางเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนานั้น มีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ   ซีบีอาร์อีจึงคาดว่าราคาที่ดินจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในบางครั้ง ที่ดินมีราคาสูงกว่ามูลค่ารวมของอาคารที่ตั้งอยู่บนแปลงที่ดิน  และเราจะได้เห็นว่ามีอาคารเก่าถูกรื้อถอนและมีการพัฒนาโครงการขึ้นใหม่บนที่ดินแปลงเดิมมากขึ้น   เราได้เริ่มเห็นการรื้อถอนอาคารเคี่ยนหงวน ทาวเวอร์ 1 บนถนนวิทยุ และอาคารวานิสสา บนถนนชิดลม  รวมทั้งแผนการรื้อถอนโรงแรมดุสิตธานีและปรับปรุงพื้นที่ใหม่  แต่จนถึงขณะนี้ การรื้อถอนเกิดขึ้นกับอาคารที่มีเจ้าของเดียวเท่านั้น   ในปัจจุบัน กฎหมายอาคารชุดกำหนดให้เจ้าของร่วมต้องเห็นชอบร่วมกันทั้ง 100% ที่จะเพิกถอนอาคารเพื่อให้สามารถขายอาคารและนำมาพัฒนาใหม่ได้ ซึ่งยังไม่เคยเกิดขึ้นในบ้านเราแม้ว่าปัจจุบันจะมีคอนโดมิเนียมบางแห่งที่มูลค่าของทุกยูนิตรวมกันจะมีมูลค่าน้อยกว่าการถือครองที่ดินเปล่าที่ใช้สร้างคอนโดมิเนียมนั้นก็ตาม การขายยูนิตทั้งหมดและนำมาพัฒนาขึ้นใหม่ได้เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์ซึ่งจำนวนเจ้าของร่วมที่ต้องเห็นชอบร่วมกันในการขายทั้งอาคารมีสัดส่วนที่น้อยกว่าของไทย ซีบีอาร์อีมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะได้รับความเห็นชอบทั้ง 100% จากเจ้าของร่วมในกรุงเทพฯ ในการขายห้องชุดทั้งหมดให้กับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์   "สมมติว่าข้อกำหนดด้านผังเมืองไม่มีการเปลี่ยนแปลง และขนาดพื้นที่ที่สามารถสร้างขึ้นได้ยังคงเหมือนเดิม ที่ดินในย่านซีบีดีของกรุงเทพฯ มีแนวโน้มที่จะปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง" นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวสรุป   การปรับขึ้นราคาที่ดินจะไม่อยู่ในระดับที่คงที่ และจะมีความสอดคล้องกับวัฏจักรทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
CBRE เผยแนวโน้มตลาดอสังหาฯ ปี 60 ยังมีโอกาสอีกมาก

CBRE เผยแนวโน้มตลาดอสังหาฯ ปี 60 ยังมีโอกาสอีกมาก

CBRE เผยแนวโน้มตลาดอสังหาฯ ปี 60 นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ได้ออกมาเปิดเผยแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย ในวันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2560) ไว้ว่า "แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมในปีนี้ค่อนข้างจะไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา  โดยธนาคารแห่งประเทศไทยคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2560 ที่ร้อยละ 3.2 เช่นเดียวกับปี 2559 ปัจจัยภายนอกเป็นความท้าทายมากที่สุดสำหรับเศรษฐกิจไทย นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกาต่อจีนที่อาจเกิดขึ้นคือหนึ่งในความเสี่ยงสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2560  เนื่องจากปริมาณการส่งออกจากจีนสู่สหรัฐฯ ที่ลดลงหมายถึงการส่งออกวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์จากไทยสู่จีนเพื่อการส่งออกต่อ ลดลงตามไปด้วย การลงทุนจากต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในตลาดจะยังคงเป็นรายเดิม  แต่ความสนใจจากต่างชาติที่มีต่ออสังหาริมทรัพย์ของไทย ประกอบกับความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินในประเทศให้แก่ผู้พัฒนาโครงการ  กระตุ้นให้เกิดการร่วมทุนระหว่างบริษัทอสังหาริมทรัพย์ไทยกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ต่างชาติมากขึ้น ความต้องการที่ดินในทำเลชั้นนำยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แผนกวิจัย ซีบีอาร์อี เชื่อว่าราคาที่ดินในย่านใจกลางธุรกิจ (ซีบีดี) ของกรุงเทพมหานครจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะความต้องการคอนโดมิเนียมในย่านใจกลางเมืองยังมีอยู่มาก และราคาขายคอนโดมิเนียมก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้นในปี 2560    แผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ยังเชื่อว่าจะมีการทำลายสถิติราคาที่ดินอีกครั้งในแต่ละทำเลของซีบีดี นอกจากนี้ ในปี 2560 นักลงทุนมีแนวโน้มความต้องการในการเข้าซื้อทรัพย์สินในลักษณะของอาคารเก่าและนำมาปรับปรุงใหม่ เช่น โรงแรม เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ และอาคารสำนักงาน เป็นต้น ผู้ซื้อที่พักอาศัยพิจารณามากขึ้นในการเลือกซื้อ และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มกิจกรรมทางการตลาดในต่างประเทศ แผนกวิจัย ซีบีอาร์อี เชื่อว่าความต้องการคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ขึ้นไปจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องแม้ว่าผู้ซื้อจะมีความพิถีพิถันในการเลือกซื้อมากขึ้นก็ตาม   ทั้งนี้ ความต้องการส่วนใหญ่จะยังคงมาจากผู้ซื้อชาวไทยเป็นหลักในสัดส่วน 85% แม้ยอดขายในปีที่ผ่านมาจะชะลอตัวลง แต่ราคาคอนโดมิเนียมที่ผู้ประกอบการเสนอขายก่อนที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ (Off-plan) ในย่านใจกลางเมืองนั้นสามารถทุบสถิติราคาแตะที่ระดับสูงกว่า 3 แสนบาทต่อตารางเมตรได้มากถึง 17 โครงการด้วยกัน ซีบีอาร์อี คาดการณ์ว่า ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายรายจะยังคงมองหาโอกาสในการขายตลาดไปยังผู้ซื้อในต่างประเทศ  ซึ่งต่อยอดมาจากความสำเร็จของโครงการที่ทำการตลาดในต่างประเทศเมื่อปีที่แล้ว   โดยคอนโดมิเนียมที่มีราคาขายต่ำกว่า 10 ล้านบาทต่อยูนิตมักได้รับความนิยมจากผู้ซื้อต่างชาติ    ประเทศไทยยังได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจากการที่ไม่มีการคิดภาษีอากรแสตมป์กับชาวต่างชาติ ต่างจากประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ และ ฮ่องกง ซึ่งสิ่งนี้เป็นการช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ ค่าเช่าพื้นที่สำนักงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แผนกวิจัย ซีบีอาร์อี คาดว่า ค่าเช่าพื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯ จะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2560 เพราะปริมาณความต้องการยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 200,000 ตารางเมตร ประกอบกับปริมาณพื้นที่ใหม่ที่มีจำกัด เป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ค่าเช่าเติบโตขึ้น ซีบีอาร์อี พบว่า ผู้เช่าต่างเริ่มให้ความสนใจในการวางกลยุทธ์การใช้พื้นที่ (Workplace Strategy) มากขึ้น   รวมทั้งความต้องการเช่าพื้นที่ล่วงหน้าก็จะยังคงเพิ่มมากขึ้นสำหรับพื้นที่สำนักงานที่มีคุณภาพ     ซีบีอาร์อี เชื่อว่าอัตราการใช้พื้นที่โดยรวมจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและค่าเช่าจะเติบโตระหว่าง 5-10% ในช่วง 12 เดือนต่อจากนี้ เจ้าของโครงการค้าปลีกมุ่งไปที่การจัดการด้าน Placemaking และกรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่โดดเด่นเรื่องอาหาร เจ้าของโครงการค้าปลีกจะยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างโครงการให้เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการ (Placemaking) ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่การซื้อขายออนไลน์ไม่สามารถให้ได้  การแข่งขันจะมีความรุนแรงมากขึ้นและโครงการที่มีความเข้มแข็งมากที่สุดในแต่ละพื้นที่เท่านั้นที่จะสามารถเติบโตต่อไปได้ การขยายตัวของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มมีส่วนอย่างมากในการสนับสนุนในเรื่องนี้   จากการที่กรุงเทพฯ สร้างชื่อเสียงในฐานะเมืองที่มีความโดดเด่นเรื่องอาหารควบคู่ไปกับการเป็นศูนย์กลางการค้าปลีกระดับลักซ์ชัวรี่ การเติบโตของกลุ่มประเทศ CLMV และอี-คอมเมิร์ซถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับโลจิสติกส์ เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่บริเวณจุดศูนย์กลางของกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) แผนกวิจัย ซีบีอาร์อี เชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาค ซึ่งเป็นผลจากการที่ภูมิภาคมีอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่เติบโตสูง แม้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซจะยังเป็นพียงสัดส่วนเล็กน้อยของยอดค้าปลีกโดยรวมในขณะนี้ แต่การที่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้เกิดความต้องการพื้นที่โลจิสติกส์เพิ่มมากขึ้น  โดยปกติแล้วผู้ค้าปลีกออนไลน์ต้องการพื้นที่มากกว่าร้านค้าปลีกทั่วไปถึง 3 เท่า เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์ที่เสนอขายมากกว่า มีสินค้าคงคลังมากกว่า   รวมถึงความจำเป็นในการอำนวยความสะดวกในการส่งสินค้ากลับในกรณีที่ลูกค้าคืนสินค้า"