Tag : ดอกเบี้ยบ้าน

4 ผลลัพธ์
5 เทคนิค เพิ่มโอกาสอนุมัติรีไฟแนนซ์บ้าน/คอนโด

5 เทคนิค เพิ่มโอกาสอนุมัติรีไฟแนนซ์บ้าน/คอนโด

สำหรับคนที่เคยกู้สินเชื่อบ้านหรือคอนโดจากธนาคารมาก่อน คงรู้กันดีธนาคารมีสิทธิ์ตอบรับหรือปฏิเสธการขอสินเชื่อ ถ้าเลือกได้เราก็คงอยากเป็นคนที่ได้รับการอนุมัติ คงจะดีไม่น้อยถ้าเราได้มีโอกาสเตรียมตัวก่อนจะถึงเวลารีไฟแนนซ์ เพื่อเพิ่มโอกาสการอนุมัติเวลาเราไปขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน/รีไฟแนนซ์คอนโดกับธนาคาร เทคนิคที่ 1 ชำระหนี้ให้ตรงตามกำหนด เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี ทุกครั้งที่มีการขอสินเชื่อ เจ้าหน้าที่ของธนาคารที่จะไปตรวจสอบประวัติการชำระหนี้ของเราจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ซึ่งเก็บรวบรวมประวัติการขอสินเชื่อและประวัติการชำระหนี้ของเราไว้ เพื่อเอามาประเมินว่าเรามีนิสัยการชำระหนี้เป็นอย่างไร (ทั้งหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ หนี้บัตรเครดิต) ทางที่ดีคือไม่ควรมีการชำระล่าช้า เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี ก็จะทำให้มีโอกาสได้รับการอนุมัติมากขึ้นครับ เทคนิคที่ 2 ปิดบัตรเครดิตที่ไม่ได้ใช้ หลายคนอาจยังไม่รู้จักคำว่า “ความสามารถในการก่อหนี้” ซึ่งดูง่ายๆ จากวงเงินสินเชื่อที่เราสามารถทำการเบิกกู้ได้ ถ้าจะให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือ บัตรเครดิตนี่แหละครับ สมมติเราเงินเดือน 50,000 บาท แต่มีบัตรเครดิต 3 ใบ วงเงินใบละ 200,000 บาท ถ้าวันดีคืนดี เราดันไปรูดจนเต็มวงเงินทุกใบ กลายเป็นว่ามีหนี้ 600,000 บาททันที แบบนี้ธนาคารก็อาจมองว่าจะเอาเงินที่ไหนมาผ่อนบ้าน จึงเป็นที่มาของคำแนะนำในข้อนี้ว่าถ้าหากมีบัตรเครดิตหลายใบ และมีใบที่ไม่ได้ใช้จริงๆ ก็ปิดไปดีกว่าครับ เทคนิคที่ 3 เดินบัญชีธนาคาร (Statement) อย่างสม่ำเสมอ หนึ่งในรายการเอกสารที่ทุกธนาคารขอเวลาเรายื่นใบสมัครรีไฟแนนซ์บ้าน/รีไฟแนนซ์คอนโด ก็คือรายการเดินบัญชีย้อนหลัง เพื่อนำมาดูว่าเรามีรายได้เข้ามาสม่ำเสมอหรือไม่ และแต่ละเดือนมีเงินเข้า/ออกอย่างไรบ้าง ซึ่งก็แล้วแต่ธนาคารว่าจะดูย้อนหลังกี่เดือน บางธนาคารก็ 6 เดือน หรือบางธนาคารอาจขอดูยาวถึง 2 ปีเลยก็มี เทคนิคที่ 4 สลิปเงินเดือนหรือหนังสือรับรองเงินเดือน บางคนอาจเคยได้ยินว่า สลิปเงินเดือนต้องใช้สลิปคาร์บอนเท่านั้น แต่หลายๆบริษัทสมัยนี้ไม่ใช้กระดาษคาร์บอนในการพิมพ์สลิปเงินเดือนแล้ว จึงสงสัยกันว่าถ้าสลิปเงินเดือนไม่ใช่กระดาษคาร์บอน จะกู้ผ่านไหม ก็ขอตอบกันตรงนี้ให้หายข้อข้องใจเลยแล้วกันครับว่า “ได้เหมือนกัน” เพียงแต่สลิปคาร์บอนจะดูน่าเชื่อถือกว่าเล็กน้อยเท่านั้นเอง แต่เราก็สามารถขอใบรับรองเงินเดือนจากบริษัทมาประกอบ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือได้เช่นกันครับ เทคนิคที่ 5 ลายเซ็นต้องเหมือนกันทุกแผ่น คุณรู้หรือไม่ว่าเอกสารทุกใบที่ส่งไปธนาคารจะพูดตรวจสอบให้แน่ใจว่า ไม่ได้เป็นมิจฉาชีพมาแอบอ้างขอสินเชื่อ ดังนั้นการเซ็นรับรองในเอกสารทุกใบควรเซ็นให้เหมือนกัน เพราะแต่ละวันมีเอกสารจำนวนมากถูกปฏิเสธเพราะลายเซ็นไม่ตรงกัน ทำให้ต้องเสียเวลาไปเซ็นใหม่อีกรอบ ขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.refinn.com/เพิ่มโอกาสอนุมัติรีไฟแนนซ์บ้าน
ผ่อนไหวใช่ว่าดี คำนวณก่อน ดอกเบี้ยบ้าน คุ้มค่าจริงเปล่า?

ผ่อนไหวใช่ว่าดี คำนวณก่อน ดอกเบี้ยบ้าน คุ้มค่าจริงเปล่า?

การมีทรัพย์สินติดตัวไว้ใช่ว่าจะเป็นเรื่องดีเสมอไป ยิ่งเมื่อการได้มาเป็นภาระเกินความจำเป็น ยิ่งมีมูลค่ามาก การได้มากก็ยิ่งยากขึ้นเท่านั้น และผู้ให้บริการทางการเงินส่วนมากก็มอบช่องทางสบายๆให้กับคนใจร้อน คนที่มีความต้องการมากเสียจนลืมคิดหน้าคิดหลังให้ดีซะก่อน หากคุณไม่อยากเสียผลประโยชน์จากการไม่วางแผน ลองอ่านบทความนี้ให้จบ แล้วคุณจะพบว่า ดอกเบี้ยจากการผ่อนบ้าน หากไม่บริหารให้ดี จะเจ็บหนักขนาดไหน   อันดับแรกคือหาเจ้าที่ประหยัดที่สุด เวลาเราไปดูตารางดอกเบี้ยของผู้ให้บริการทางการเงินหลายๆเจ้า เรามักจะเห็นคำว่า MRR นำอยู่ข้างหน้าเสมอ ตามด้วย สามปีแรกดอกเบี้ยกี่ % แล้วหลังจากนั้นเป็น MRR ลบเท่าไหร่ เช่น MRR = 7.25% สามปีแรก ดอกเบี้ย 3.75% ปีที่เหลือ ดอกเบี้ย MRR-2% เมื่อเห็นแบบนี้ก็เข้าใจง่ายๆว่าคุณจะต้องโดนดอกเบี้ยปีละกี่ % แต่ค่า MRR จะเปลี่ยนไปทุกปีตามกำหนดการของธนาคาร เป็นเหตุผลที่มีการรีไฟแนนซ์ ทำให้การตัดสินใจเลือกผู้บริการธุรกรรมทางการเงินเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ยังไม่รวมไปถึงปริมาณการผ่อนชำระ   หลักการผ่อนไม่ให้ขาดทุน จุดสำคัญที่อยากให้ทุกคนเข้าใจกันคือปริมาณก่อนผ่อนชำระของคุณ เพราะคนส่วนมากมักจะเลือกผ่อนทีละน้อย เพื่อไม่ให้เดือดร้อนทรัพย์สินส่วนอื่น ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกไปซะหมด โดยเฉพาะกับคนที่สามารถรับผิดชอบผ่อนชำระได้มาก บางคนมีรายได้พอจะผ่อนให้เสร็จในสิบปีได้ แต่เลือกจะผ่อน 20 ปีเพื่อจะเอาเงินไปใช้ทำส่วนอื่น ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดเต็มๆ ธนาคารมักจะมีการผ่อนชำระขั้นต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 1ล้านต่อ 7พันบาท จะผ่อนหมดในเวลาประมาณ 142 สัปดาห์หรือ 20 ปี ซึ่งใช้เวลานานมาก ในขณะที่ปริมาณดอกเบี้ยไม่ได้ลดลงเลย คุณอาจจะมีรายได้อยู่ที่ 30,000 บาทต่อเดือน ผ่อน 15,000 บาทต่อเดือนต่อเงินต้นสองล้านบาท คุณคิดว่าคุณจะโดนดอกเบี้ยเท่าไหร่? ดอกเบี้ยหรือค่า MRR อาจจะคงที่ในทุกทุกปีที่คุณผ่อน แต่ดอกเบี้ยจะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับเงินต้นว่าคุณผ่อนไปแล้วมากน้อยแค่ไหน ซึ่งดอกเบี้ยนั้นจะคำนวณตามเงินต้นและต้องรับผิดชอบทุกเดือน หมายความว่ายิ่งคุณจ่ายทีละน้อย เงินต้นก็จะลดลงช้าลงเท่านั้น เท่ากับว่าดอกเบี้ยก็จะลดลงช้าด้วยเช่นกัน จากล้านละเจ็ดพัน เปลี่ยนมาเป็นล้านละหมื่น จะย่นระยะเวลาการผ่อนชำระลงได้มากกว่าที่คุณคิด ยอมลงทุนผ่อนทีละมากๆต่อทรัพย์สินทีละชิ้น ดีกว่ามานั่งผ่อนยาวๆแต่เมื่อคำนวณออกมาแล้ว ดอกเบี้ยสูงเท่าเงินต้นนะครับ   รายได้ไม่พอ จะแก้ปัญหาอย่างไร? สำหรับคนที่มีความจำเป็นที่จะต้องผ่อนบ้าน หรือคนที่ผ่อนชำระไปแล้วพึ่งพบว่าตนเองกำลังขาดทุนอยู่จะแก้ปัญหาได้ทางไหนบ้าง? จริงๆแล้วหากไม่มีรายได้เพิ่ม ก็อาจจะเป็นทางออกที่ยาก แต่ก็มีทางเลือกง่ายๆดังนี้ โปะก้อนใหญ่ วิธีการแก้ปัญหาเงินต้นลดช้า แก้ได้ด้วยการโปะเงินก้อนเข้าไปในทุกทุกปีหรือทุกทุกเดือน เพื่อเป็นการลดเงินต้นอีกรูปแบบหนึ่ง แม้จะต้องใช้เงินเยอะเหมือนเดิม แต่ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารเงินของท่านว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน รีไฟแนนซ์ การรีไฟแนนซ์นั้นมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเสมอ หากคำนวณไม่ดี จะกลายเป็นขาดทุนไปด้วย แต่หากทำถูกวิธี จะสามารถลดดอกเบี้ยลงอย่างเห็นได้ชัด ข้อเสนอปัจจุบัน ดอกเบี้ยกำไรผู้ซื้อมีเป็นช่วงระยะเวลา 3 ปีแรก หลังจากนั้นไปการรีไฟแนนซ์จึงกลายมาเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่ง หาผู้กู้ร่วม ในเมื่อไม่สามารถรับผิดชอบด้วยตัวเองได้ ก็ต้องหาคนมาช่วยรับผิดชอบ อาจจะไม่ใช่รูปแบบของการ กู้ร่วมทั้งหมด แต่ก็สามารถหารายได้เพิ่มจากที่พักที่คุณมีนี่แหล่ะ ไม่ว่าจะเป็นเช่าที่ หรือเปลี่ยนเป็นหอพักก็ดีทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ไม่สามารถแก้ที่ปลายทางได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ วิธีการหลีกหนีดอกเบี้ยบ้านที่สูงเกินไป อยู่ตั้งแต่ตอนเริ่มขอสินเชื่อ ตั้งแต่ตอนคำนวณฐานรายได้และรูปแบบการชำระที่คุณต้องการ หากเตรียมพร้อมไว้ก่อน ก็จะไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม คนที่ไม่มีทางเลือกก็จำเป็นต้องพยายามให้หนักกว่าคนอื่น หากต้องการจะออกจากวังวนนี้ แม้ว่าการผ่อนระยะเวลานานจะเป็นทางเลือกที่คุณสบายใจที่สุด แต่การผ่อนเงินเพียงสองล้านบาทอาจกลายเป็นดอกเบี้ยร่วมหนึ่งล้านบาทได้เลย มากพอที่จะคุณถอยรถยนต์อีกคันได้สบายๆ ดังนั้นก่อนจะทำการใหญ่ การศึกษาข้อมูลทางการเงินมีความจำเป็นมากกว่าที่คุณคิด อย่ารีบร้อน วางแผนให้ดีก่อน ขอบคุณข้อมูลจาก : https://finance.rabbit.co.th/blog/minimum-house-installment        
REFINANCE ที่อยู่อาศัยแล้วชีวิตดี เงินเหลือใช้ จริงหรือไม่?

REFINANCE ที่อยู่อาศัยแล้วชีวิตดี เงินเหลือใช้ จริงหรือไม่?

หลายคนที่กำลัง ‘ผ่อน’ ที่อยู่อาศัยอยู่ คงมีความรู้สึกอยากผ่อนให้หมดไวๆ ใช่ไหมคะ บ้างก็ใช้วิธีการโปะเพิ่มทุกเดือนเพื่อช่วยร่นระยะเวลาในการผ่อน แต่ความจริงแล้วมีอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้เราประหยัดรายจ่ายในเรื่องของดอกเบี้ย ซึ่งทำให้ผ่อนบ้านหมดเร็วขึ้นคือ การ “REFINANCE” หรืออธิบายง่ายๆ คือการไปกู้เงินจากธนาคารอื่นที่จ่ายดอกเบี้ยถูกกว่ามาจ่ายคืนธนาคารเดิมที่เคยกู้นั่นเองค่ะ สำหรับข้อดีของการ REFINANCE คือตัวช่วยผ่อนบ้านให้หมดไวขึ้น โดยจ่ายค่างวดเท่าเดิมแต่จ่ายส่วนที่เป็นดอกเบี้ยน้อยลง ก็ทำให้ลดเงินต้นได้มากขึ้น หรือบางคนที่ผ่อนบ้านไปแล้วเกิดปัญหาการเงิน กรณีหมุนไม่ทัน ก็สามารถรีไฟแนนซ์เพื่อขอลดค่างวดที่ต้องจ่ายต่อเดือนลงหรือเป็นการยืดระยะเวลาในการผ่อนให้นานขึ้น คนที่สนใจ REFINANCE ต้องเช็คสัญญากู้ก่อนนะคะว่ามีกำหนดระยะเวลาที่สามารถรีไฟแนนซ์ได้เมื่อไหร่ ส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ 3 ปี แต่กรณีที่รีไฟแนนซ์ก่อนกำหนดจะเสียค่าปรับประมาณ 0-3% ของวงเงินกู้เดิม (มีระบุไว้ในสัญญากู้) แนะนำว่ารอให้หมดช่วงก่อนดีกว่าค่ะ เพราะถ้าดอกเบี้ยไม่ได้แพงมากจนเกินไป ส่วนใหญ่รีไฟแนนซ์ก่อนกำหนดมักจะไม่คุ้ม และการรีไฟแนนซ์ทุกครั้งจะมีค่าใช้จ่ายแฝงในอยู่ด้วย ไม่ใช่แค่การคำนวณเพื่อปรับลดดอกเบี้ยเท่านั้น ค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์มีอะไรบ้าง เรามาดูไปพร้อมกันเลยดีกว่าค่ะ... 1. ค่าธรรมเนียมการจำนอง กรณีที่รีไฟแนนซ์ธนาคารใหม่จะคิด 1% ของวงเงินกู้ใหม่ เพื่อจ่ายให้กรมที่ดิน 2. ค่าประเมินราคาทรัพย์สิน การ REFINANCE ทั่วไปจะอยู่ที่ 0.25-2% ของราคาประเมินจากกรมที่ดิน หรือคิดเป็นจำนวน 1,500 - 10,000 บาท ขึ้นอยู่กับธนาคาร แต่กรณีที่รีไฟแนนซ์ธนาคารเดิมไม่ต้องจ่ายนะคะ ซึ่งจะเรียกว่าการรีเทนชั่น 3. ค่าธรรมเนียมการปล่อยกู้ จะคิดประมาณ 0-3% ของวงเงินกู้ใหม่ (ซึ่งบางธนาคารก็ไม่คิดค่าธรรมเนียมนี้ สอบถามก่อนก็ดีค่ะ) 4. ค่าอากรแสตมป์ สำหรับค่าอาการแสตมป์นั้นจะคิดเท่ากันทุกธนาคาร คือ 0.05% ของวงเงินกู้ใหม่ค่ะ 5. ค่าประกันอัคคีภัย ในการ REFINANCE ไม่ว่าจะกู้ธนาคารใหม่หรือธนาคารเดิม จะต้องเสียค่าประกันอัคคีภัยซึ่งแต่ละธนาคารจะมีอัตราค่าประกันต่างกัน เมื่อรู้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว ก็นำมาเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารใหม่กับธนาคารเก่า โดยคิดเฉลี่ย 3 ปี เพราะการรีไฟแนนซ์จะกำหนดให้ทำได้หลัง 3 ปี แต่ต้องระวังเวลาเปรียบเทียบดอกเบี้ยที่เป็น MLR MRR ของแต่ละธนาคารไม่เท่ากัน ตัวอย่างเพื่อทำความเข้าใจอย่าละเอียด สมมุติว่ากู้ธนาคารเดิม 2,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี คือ 4.75% ต่อปี ผ่อนเดือนละ 13,000 บาท ผ่อนไปโปะไปแล้ว 3 ปี มียอดหนี้เหลือ 1,500,000 บาท (เปรียบเทียบดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์มาแล้วทุกธนาคาร) แต่เอาที่ถูกที่สุด คือ ดอกเบี้ยปีแรก 2.5% ปีถัดไป MRR-2% สมมติ MRR ธนาคารที่เราเลือกคือ 7% วิธีคิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีธนาคารใหม่ คือ {(2.5% x 1 ปี) + [(7%-2%) x 2 ปี } / 3 ปี = 4.17% ต่อปี ดูแล้วน่าจะถูกกว่า แต่อย่าลืมคิดค่าธรรมเนียมต่างๆ ด้วยนะคะ อาทิ ค่าธรรมเนียมการจำนอง 1% x 1,500,000 บาท = 15,000 บาท ค่าประเมินราคาสินทรัพย์ สมมติธนาคารคิด 3,000 บาท ค่าธรรมเนียมปล่อยกู้ สมมติให้ไม่มี ค่าอากรแสตมป์ 0.05% x 1,500,000 บาท = 750 บาท ส่วนค่าประกันอัคคีภัย เราไม่ได้เอาไปคิดนะคะ เพราะถึงเราไม่รีไฟแนนซ์ก็ต้องจ่ายค่าประกันนี้ทุก 3 ปีอยู่แล้ว ยกเว้นประกันกับธนาคารเดิมไม่ใช่ 3 ปี หรือธนาคารมีค่าบริการอื่นนอกจากนี้ จะเอาค่าใช้จ่ายนั้นมาคิดรวมด้วย พอรวมค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ทั้งหมด จะได้เท่ากับ 18,750 บาท จากนั้นก็ลองไปคำนวณเปรียบเทียบดอกเบี้ย 3 ปีของทั้ง 2 ธนาคารดู ถ้ากู้ต่อธนาคารเดิมอัตราดอกเบี้ย 4.75% เมื่อครบ 3 ปี จะจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมดประมาณ 192,450 บาท ยอดหนี้คงเหลือ คือ 1,224,440 บาท ถ้าเปลี่ยนไปกู้ที่ธนาคารใหม่ อัตราดอกเบี้ย 4.17% เมื่อครบ 3 ปี จะจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมดประมาณ 167,435 บาท เมื่อรวมกับค่าธรรมเนียม 18,750 บาท รวมเป็น 186,185 บาท ยอดหนี้คงเหลือ คือ 1,199,430 บาท                  จากตัวอย่างด้านบนเห็นได้ชัดเลยค่ะว่ากรณีรีไฟแนนซ์ทำให้เราประหยัดดอกเบี้ยได้เยอะกว่า และลดเงินต้นได้เยอะขึ้นด้วย แต่ในการคำนวณเราต้องคำนึงแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยในอนาคตด้วยนะคะ เพราะ MRR หรือ MLR เป็นตัวเลขที่อาจมีการปรับขึ้นลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ถ้าเราคิดว่าในอนาคตอีก 2-3 ปี อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นมากๆ และอัตราดอกเบี้ยที่เรากำลังจ่ายอยู่ขึ้นกับ MRR/MLR การรีไฟแนนซ์ก่อนกำหนดและเสียค่าปรับ ก็อาจจะคุ้มค่ามากกว่าค่ะ :)  
บ้านมีหลายหลัง ดอกเบี้ยลดหย่อนอย่างไร?

บ้านมีหลายหลัง ดอกเบี้ยลดหย่อนอย่างไร?

หลายคนทราบดีอยู่แล้วว่า "ดอกเบี้ยบ้าน" เป็นอีกค่าลดหย่อนหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งหากมีบ้านหลังเดียวก็คงทำความเข้าใจได้ไม่ยาก ว่าสามารถนำดอกเบี้ยบ้านมาใช้ลดหย่อนภาษีได้เท่าไร แต่หากมีบ้านหลายหลัง บางคนอาจสับสนว่าจะนำดอกเบี้ยบ้านมาลดหย่อนอย่างไร วันนี้เรามีคำแนะนำที่เข้าใจได้ง่ายๆ สำหรับคนที่มีบ้านหลายหลังมาฝากครับ บ้านหลายหลังแบบกู้คนเดียว โดยปกติแล้วดอกเบี้ยบ้านสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาทครับ หากมีบ้านหลายหลังมาจากการกู้คนเดียว สามารถนำดอกเบี้ยจ่ายของบ้านที่เราเป็นผู้กู้ มารวมกันแล้วลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท เช่น มีบ้าน 2 หลัง หลังที่ 1 มีดอกเบี้ยจ่าย 50,000 บาท หลังที่ 2 มีดอกเบี้ยจ่าย 60,000 บาท เท่ากับว่าสามารถนำดอกเบี้ยบ้านมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาทครับ ถึงแม้ดอกเบี้ยจ่ายจริงจะอยู่ที่ 110,000 บาทก็ตาม บ้านหลายหลังแบบกู้ร่วม หากใครที่มีบ้านหลายหลังและเป็นการกู้ร่วม การนำดอกเบี้ยบ้านมาลดหย่อนให้หารเฉลี่ยเท่าๆ กันตามจำนวนผู้กู้ร่วมครับ แต่ก่อนที่จะนำดอกเบี้ยมาหารเฉลี่ย ดอกเบี้ยจ่ายของการกู้ร่วมของบ้านแต่ละหลังจะต้องไม่เกิน 100,000 บาท เช่น กู้ร่วม 2 คน ดอกเบี้ยบ้านจากการกู้ร่วมทั้งปีอยู่ที่ 120,000 บาท ตามเกณฑ์ของการลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านสามารถลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 100,000 บาท จึงทำให้ดอกเบี้ยบ้านที่แต่ละคนนำมาลดหย่อนได้จะเท่ากับคนละ 50,000 บาทเท่านั้นครับ และหากมีบ้านหลายๆ หลัง เมื่อนำจำนวนดอกเบี้ยบ้านที่หารเฉลี่ยแล้วมารวมกัน ในหนึ่งคนจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาทเช่นกันครับ ตัวอย่างเช่น มีบ้าน 3 หลัง กู้ร่วม 2 หลัง กู้เดี่ยว 1 หลัง สมมติว่า หลังที่ 1 กู้ร่วมหารเฉลี่ยผู้กู้ร่วมได้ดอกเบี้ยบ้านคนละ 40,000 บาท หลังที่ 2 กู้ร่วมหารเฉลี่ยผู้กู้ร่วมได้ดอกเบี้ยบ้านคนละ 30,000 บาท หลังที่ 3 กู้เดี่ยวดอกเบี้ยบ้านอยู่ที่ 50,000 บาท รวมแล้วดอกเบี้ยบาททั้งหมดเท่ากับ 120,000 บาท แต่สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านได้ไม่เกิน 100,000 บาทครับ แต่หากรวมกันแล้ว 3 หลังดอกเบี้ยตามจริงไม่ถึง 100,000 บาท ก็สามารถลดหย่อนได้ตามจริงเท่านั้น เช่น ดอกเบี้ยบ้าน 3 หลัง รวมกันแล้วอยู่ที่ 80,000 บาท สิทธิลดหย่อนจะใช้ได้ตามจริงก็คือ 80,000 บาทครับ อย่างไรก็ตามดอกเบี้ยบ้านจากการกู้เงินบางประเภทไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เช่น การกู้เพื่อตกแต่งบ้าน การนำบ้านปลอดภาระมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อขอกู้เงินกับธนาคาร การกู้เอนกประสงค์โดยกู้เพิ่มจากวงเงินกู้บ้านเดิม ดังนั้นก่อนการนำดอกเบี้ยบ้านมาลดหย่อนภาษีควรตรวจสอบสัญญาด้วยครับว่าเป็นเงินกู้ประเภทใด เพื่อไม่ให้ใช้สิทธิแบบผิดเงื่อนไขของกรมสรรพากร   ขอขอบคุณข้อมูลจาก K-Expert