Tag : รีโนเวทบ้าน

5 ผลลัพธ์
KINN Kaffe & Craft จิบกาแฟในสวนลับย่านลาดพร้าว

KINN Kaffe & Craft จิบกาแฟในสวนลับย่านลาดพร้าว

ลึกเข้าไปในซอยลาดพร้าว 25 บริบทรอบข้างเต็มไปด้วยบ้านเรือนและตึกเป็นส่วนใหญ่ แต่พื้นที่เกือบสุดทางของซอยตันนี้กลับมีบ้านไม้หลังเก่ายุค 90's ถูกแปลงโฉมให้กลายเป็นคาเฟ่ ภายใต้ชื่อ KINN Kaffe & Craft ที่คอยเปิดต้อนรับทุกคนอยู่ ด้วยร่มไม้เขียวขจีริมรั้วเตี้ยและประตูสีฟ้าเปิดกว้างรอต้อนรับให้ทุกคนไปนั่งจิบกาแฟเพลินๆ สัมผัสกับธรรมชาติใจกลางเมืองอันหาได้ยากในมหานครคอนกรีตแห่งนี้.. ทันทีที่เดินแหวกม่านขาวบางเข้าไปในบริเวณร้าน เราต้องหยุดชะงักให้กับความร่มรื่นที่ซ่อนตัวอยู่ใจกลางเมือง เพราะพื้นที่ตรงหน้าคือสวนสวยเต็มไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด ทั้งไม้ยืนต้นอย่าง มะม่วง, ชมพู่, ลีลาวดี ไปจนถึงไม้แขวนอย่างเฟินสไบนางพุ่มใหญ่ และไม้ประดับอย่างแคคตัส เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากความตั้งใจของสถาปนิกหนุ่มสาว คุณวิน ชิตชนันท์ ขรขันฑ์ และคุณเนย วิริญจ์ลดา เลิศธัญทวี เจ้าของร้านที่ต้องการจะรีโนเวตบ้านไม้ชั้นครึ่งหลังเก่า ในพื้นที่ราว 100 ตารางวา ให้กลายเป็นออฟฟิศภูมิสถาปัตย์กึ่ง Co-working space เล็กๆ สำหรับการทำงานและการพักผ่อนในคราวเดียว รวมถึงเพิ่มฟังก์ชั่นของคาเฟ่เข้าไป เพื่อให้บ้านหลังเล็กแห่งนี้เป็นพื้นที่แห่งความอบอุ่น ท่ามกลางสวนสีเขียวกับความสุขเล็กๆ รอบตัวแก่ผู้มาเยือนทุกคน เมื่อมีคอนเซ็ปต์ร้านที่ชัดเจนแล้ว เจ้าของร้านจึงเริ่มต้นปรับปรุงตัวบ้านไม้ที่มีสภาพผุพังไปตามกาลเวลา โดยต้องการให้พื้นที่ภายใน โปร่งโล่ง ไม่อึดอัด จึงทุบผนังบางส่วน แต่ยังคงโครงสร้างอาคารเดิมไว้ เพื่อเปิดให้สเปซเชื่อมถึงกัน จากพื้นที่ชั้นล่างสู่ชั้นบนที่การใช้งานเดิมเป็นเพียงห้องรับแขก และห้องนอนซึ่งเชื่อมกันด้วยบันไดไม้ขนาดเล็ก บริเวณชั้นล่างของบ้านไม้เก่ายุค 90’s ถูกต่อเติมให้เป็นพื้นที่ต้อนรับ พร้อมเคาน์เตอร์บาร์ไม้ขนาดใหญ่ หน้าฝาบ้านไม้เก่าแบบโบราณทาสีใหม่ประดับด้วยของสะสมสไตล์วินเทจทั้งของเก่าพื้นเมืองและของใหม่ อาทิ รูปปั้น, กรอบรูป, เครื่องจักรสาน ที่แทรกด้วยกระถางต้นไม้ขนาดเล็ก และช่อดอกไม้แห้งเพื่อสร้างเอกลักษณ์ของคาเฟ่สีเขียว รวมถึงต่อเติมชายคาส่วนหน้าบ้านด้วยโครงสร้างกระจกให้เป็นส่วน Green House พร้อมสวนสีเขียวขจี ขยับมายังส่วนพื้นที่ชั้นลอยถูกเนรมิตให้เป็นมุมนั่งเล่นจิบกาแฟ ในบรรยากาศโฮมออฟฟิศ กับมุมโซฟาหนังสุดคลาสสิกขนาดใหญ่ และมุมที่นั่งริมชาน คุมโทนด้วยการเลือกใช้ของตกแต่งสีเขียวและสีน้ำตาล ให้ความรู้สึกอบอุ่น สงบ และสบาย อีกทั้งเจาะช่องแสงเพิ่มระหว่างฝาบ้านทำให้แสงธรรมชาติจากภายนอกส่องเข้าถึงพื้นที่ภายในได้เป็นอย่างดี ในส่วนของบริเวณโดยรอบ เจ้าของร้านปรับพื้นที่โดยเปลี่ยนโรงจอดรถเก่าให้เป็นโซนที่นั่งแบบเอ๊าต์ดอร์ มาพร้อมสนามหญ้าและสวนขนาดเล็กแทรกอยู่ตามบริเวณมุมต่างๆ จัดวางชุดโต๊ะเก้าอี้ไม้ขนาดใหญ่ พร้อมทั้งกระถางต้นไม้หลากหลายขนาด สร้างบรรยากาศด้วยม่านโปร่งแสงสีขาวปลิวไสวไปตามกระแสลม พร้อมเสียงเพลงสากลอินดี้โฟล์ก ที่บางคราวถูกแทนที่ด้วยดนตรีแจ๊ซเปิดคลอ เหมาะแก่การจิบกาแฟ, ประชุม,  นั่งทำงาน, อ่านหนังสือ ไปจนถ่ายรูปเพลินๆ ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่น เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ที่มีศักยภาพเป็นจุดพักสายตา ใครที่มองหาเครื่องดื่มเย็นๆ คลายร้อน ขอแนะนำเมนูซิกเนเจอร์อย่าง KINN Iced Kaffe กาแฟเย็นสูตรพิเศษของทางร้านที่เพิ่มรสชาติด้วยไซรัปสูตรพิเศษหอมหวานชื่นใจ โดยเน้นเมล็ดกาแฟพันธุ์ดีชงแก้วต่อแก้ว เพื่อให้ได้รสชาติเข้ม กลมกล่อม ยิ่งถ้าทานคู่กับ Blueberry Cheese Pie สูตรของทางร้านด้วยล่ะก็..ยิ่งเพิ่มความฟินที่ดีต่อใจ ภายใต้บรรยากาศบนพื้นที่สีเขียวแสนร่มรื่นใจกลางลาดพร้าวแห่งนี้เหลือเกิน หากคุณเป็นคอกาแฟและต้องการหาคาเฟ่สงบๆ หลบหลีกชีวิตที่แสนวุ่นวายในเมืองหลวง KINN Kaffe & Craft คืออีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ตัวร้านตั้งอยู่ที่ 6/22 ซอยลาดพร้าว 25 แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เปิดบริการทุกวัน ยกเว้นวันพุธ ตั้งแต่เวลา 10.00-19.00 น. ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ facebook/kinnkaffe หรือ Instagram/kinnkaffe
บ้านโมเดิร์นเรียบง่าย อยู่สบาย ในเมืองร้อน

บ้านโมเดิร์นเรียบง่าย อยู่สบาย ในเมืองร้อน

จุดเริ่มต้นของการอยากสร้างบ้านสักหลังหนึ่งของใครหลายๆ คน ก็คงไม่ต่างจากบ้านของ คุณเอก ณัฐพงศ์ เพียรเชลงเอก สถาปนิกหนุ่มแห่ง Gooseberry Design ที่มีความตั้งใจอยากสร้างบ้านให้เป็นพื้นที่ของครอบครัว รองรับชีวิตของลูกตัวน้อยทั้งสองคน โดยลงมือออกแบบบ้านด้วยตัวเองซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ความท้าทายอย่างหนึ่ง เพราะมีข้อจำกัดของขนาดที่ดินและสภาพแวดล้อมที่เป็นชุมชนหนาแน่นในซอยโดยรอบ แต่คุณเอกเองก็ได้ใช้ความสามารถทางวิชาชีพที่มีก้าวข้ามข้อจำกัดเหล่านั้นสร้างสรรค์พื้นที่อยู่อาศัยให้ออกมาสวยงามน่าอยู่อาศัยในรูปแบบโมเดิร์น ทรอปิคัล ที่เหมาะกับสภาพอากาศเมืองร้อนอย่างกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี   บ้านกล่องสี่เหลี่ยมหลังคาทรงจั่วสีขาว 2 ชั้น บนที่ดินขนาด 50 ตารางวา ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางชุมชนอย่างสังเกตได้จากระยะไกล ภายในมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 280 ตารางเมตร จุดสังเกตหลักที่เราสะดุดตาได้ตั้งแต่แรกเห็น คืออาคารสีขาวโพลนออกแบบ Facade (ฟาซาด) เหล็กสีดำมีลักษณะเหมือนตัวต่อเลโก้ไล่เรียงกันไปเรื่อยๆ ในรูปทรงสามเหลี่ยมปกคลุมอาคารด้านหน้าไว้เพียงครึ่งหนึ่ง  ซึ่งมีหน้าที่ช่วยลดความร้อนก่อนเข้าสู่ภายในบ้าน และยังช่วยลดอัตราการใช้พลังงานให้น้อยลง แต่ในขณะเดียวกันก็มีช่องแสงเพื่อให้ภายในบ้านได้รับลมและแสงสว่างเพียงพอ นอกจากจะได้ความสวยงามอย่างปลอดโปร่งแล้ว ผู้อยู่อาศัยยังได้ความปลอดภัยเพิ่มขึ้นอีกระดับ อีกทั้งตัวอาคารยังดูสวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยการประดับประดาไม้ประดิษฐ์สีเขียวขจีลงไปในชิ้นฟาซาดเหล็ก   “บ้านหลังนี้มีที่มาครับ” สถาปนิกเจ้าของบ้านเริ่มเล่า “ช่วงหลายปีก่อนผมซื้อที่ดินแปลงนี้เก็บไว้เฉยๆ ตอนแรกทำเป็นสนามหญ้าให้ลูกวิ่งเล่น แต่พอเห็นรถไฟฟ้าหน้าซอยเริ่มก่อสร้างเลยคิดอยากสร้างบ้านไว้ให้เขาในอนาคต โดยมีคอนเซ็ปต์ว่าบ้านอยู่สบาย ไม่ร้อน และตอบโจทย์งบประมาณ ผมเลยออกแบบแปลนบ้านให้มีลักษณะเป็นรูปตัวยู (U) มีสเปซเชื่อมถึงกันทุกส่วน โดยเว้นคอร์ทยาทไว้ตรงกลางไว้ให้สมาชิกทุกคนสามารถมองวิวได้ แม้ในอนาคตจะมีอาคารอื่นมาสร้างขึ้นข้างๆ แต่เราก็ยังรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติอยู่”     ทั้งนี้เพื่อดึงธรรมชาติภายนอกเข้าไปสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน เมื่อก้าวเข้ามาในบ้านจะพบว่าพื้นที่ภายในดูโปร่งโล่งสบายและเชื่อมต่อถึงกันทุกส่วน เนื่องจากมีประตูบานเลื่อนและบานเฟี้ยมกระจกใสรายล้อมอาคารผนังฝั่งที่ติดกับคอร์ทยาท โดยพื้นที่แรกจะเป็นส่วนของแพนทรีและโต๊ะทานข้าวกระชับความสัมพันธ์ก่อนขยับเข้าไปยังทางเดินที่แยกขึ้นบริเวณชั้นสองและห้องนั่งเล่น อีกทั้งประตูหน้าต่างของบ้านเมื่อเลื่อนเปิดออกทั้งหมดจะทำให้ลมพัดผ่านได้ดี ไม่เพียงแต่พื้นที่ภายในเท่านั้นที่มีความเชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน บริเวณสวนด้านนอกภายในบ้านหลังนี้มีต้นมั่งมี ที่ถูกโอบล้อมด้วยพื้นที่พักอาศัยคอยทำหน้าที่ให้ความร่มรื่น และลดความแข็งกระด้างของสถาปัตยกรรมคอนกรีตลงมาอยู่ในจุดที่สมดุลโดยไม่ไปรบกวนโครงสร้างโดยรวม     ในบริเวณห้องนั่งเล่นถูกออกแบบให้เรียบง่าย เน้นโทนสีเรียบๆ มีลูกเล่นอยู่ที่ผนังกรุลามิเนตลายไม้สีอ่อนให้กลิ่นอายสไตล์สแกนดิเนเวีย ภายในถูกตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินเป็นตู้และชั้นวางของล้อไปกับโครงสร้างของบ้าน อีกสิ่งหนึ่งเลยที่คุณเอกบอกว่าขาดไม่ได้สำหรับห้องนั่งเล่นนี้คือโซฟาตัวยาวสีเทาเข้มที่เลือกลงทุนเพื่อการใช้งานในระยะยาว โดยจัดวางโซฟาไว้ตรงกลางห้อง ซึ่งจริงๆ แล้วพื้นที่ส่วนนี้เป็นสเปชกึ่งห้องนั่งเล่น ห้องทำงาน เพราะสถาปนิกออกแบบให้มีมุมทำงานในตัวแต่พื้นที่โดยรอบก็ยังดูโปร่งโล่งด้วยการกรุประตูกระจกใสไว้ที่ผนังฝั่งที่เชื่อมกับคอร์ทยาท     ด้วยการออกแบบที่อยากให้พื้นที่ในบ้านเชื่อมต่อถึงกัน บริเวณโถงทางเดินจึงต่อเนื่องและนำสายตาไปยังอีกพื้นที่หนึ่งได้เป็นอย่างดี ส่วนผนังข้างบันไดขึ้น-ลงคุณเอกหล่อเป็นแผ่นคอนกรีตสูงจากพื้นจรดเพดานชั้นสองขึ้นมาเพื่อโชว์พื้นผิวแบบดิบๆ ซึ่งก็สอดรับกับโครงเหล็กที่เห็นเป็นเส้นสายแนวตั้งโดยใช้เป็นราวจับบันได อีกทั้งยังปูลูกนอนด้วยไม้สักเนื้อแข็งสีธรรมชาติให้ความรู้สึกอบอุ่นกับบ้านมากขึ้น     ทันทีที่ไต่บันไดขึ้นมาจะพบกับระเบียงที่เปิดโล่ง มองเห็นคอร์ทยาทเป็นส่วนเชื่อมพื้นที่ตรงกลางพร้อมรับแสงธรรมชาติสู่ภายในได้เต็มที่ พื้นที่ทั้งหมดประกอบด้วยห้องนอนใหญ่บริเวณส่วนในสุดของอาคาร ห้องนอนเล็ก ห้องพระ และห้องทำงานจะอยู่อีกฝั่งหนึ่งที่ติดกับรั้วด้านหน้าบ้าน     อีกหนึ่งจุดน่าสนใจของบ้านหลังนี้คือเพดานในห้องทำงานที่เต็มไปด้วยปูนเปลือยทั้งหมด โดยเกิดจากความตั้งใจของคุณเอกที่อยากโชว์พื้นผิวของวัสดุจึงหล่อเป็นคอนกรีตขึ้นมา ทำให้หลังคาจั่วนี้ดูสวยงามไม่ต่างจากหลังคาจั่วทั่วไป แถมภายในห้องยังให้บรรยากาศแบบโปร่งโล่งสบายอีกด้วย     เราอาจกล่าวสรุปได้ว่าบ้านสไตล์โมเดิร์นทรอปิคอลหลังนี้นอกจากคุณเอกตั้งใจสร้างให้เป็นบ้านสำหรับลูกๆ แล้ว ยังสร้างตามใจผู้อยู่อย่างแท้จริงด้วยเช่นกัน
ต่อเติมครัวไทยหลังบ้าน แบบโปร่งหรือแบบทึบ ดีกว่ากัน?

ต่อเติมครัวไทยหลังบ้าน แบบโปร่งหรือแบบทึบ ดีกว่ากัน?

บทความฉบับนี้ขอเอาใจคนที่มีบ้านใหม่ ทั้งบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมโครงการต่างๆ ที่จำนวนห้องและพื้นที่ใช้สอยมักจะไม่เพียงพอต่อความต้องการสักเท่าไหร่ เพราะบ้านจัดสรรส่วนใหญ่นั้นจะออกแบบครัวเป็นแบบเปิดอยู่ติดกับห้องนั่งเล่น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดกลิ่นรบกวนได้ อย่างที่ทราบกันดีแหละค่ะว่าครอบครัวคนไทยมักจะประกอบอาหารจำพวกต้ม, ผัด, แกง, ทอด ที่ก่อให้เกิดทั้งเสียง, กลิ่น, ควัน แผ่ฟุ้งกระจายไปทั่วทั้งบ้านอยู่เสมอ ซึ่งเมนูเหล่านี้ไม่เหมาะกับพื้นที่ปรุงอาหารในบ้านขนาดเล็กและกลางเนื่องจากมีช่องระบายอากาศได้น้อย นี่จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เจ้าของบ้านหลายๆ หลังต้องต่อเติมครัวไทยแยกออกมาจากตัวบ้านเพื่อประโยชน์ใช้สอยที่มากขึ้น แต่จะทำเป็นครัวแบบไหนดี? ระหว่างครัวแบบโปร่งและครัวแบบทึบ ครัวทั้งสองแบบนั้นมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไรบ้าง หาคำตอบได้ที่นี่ค่ะ ครัวไทย แบบโปร่ง เน้นความโล่งสบายๆ การต่อเติมครัวแบบโปร่งในรูปแบบที่เน้นความโปร่งโล่งนั้น มีจุดเด่นอยู่ที่เวลาประกอบอาหารกลิ่นควันและความอับชื้นต่างๆ จะระบายออกง่าย สามารถฉีดน้ำล้างทำความสะอาดครัวได้แต่ต้องมีทางระบายน้ำรองรับนะคะ ซึ่งวัสดุที่ใช้กับครัวแบบนี้จะต้องมีน้ำหนักเบา ส่วนใหญ่มักทำเป็นแผงระแนงไม้, ไม้เทียมแทนผนัง บางทีอาจเลือกทำผนังทึบเฉพาะช่วงล่าง ส่วนด้านบนปล่อยโล่งหรือทำเป็นแผงระแนง เพื่อความปลอดภัยและเป็นส่วนตัว ในส่วนของหลังคานั้นอาจทำติดลอยไว้กับผนังบ้านเดิมโดยซื้อกันสาดสำเร็จรูปมาติด หรือจะใช้โครงสร้างเสาส่วนต่อเติมรับหลังคาเช่นเดียวกับครัวแบบทึบ ซึ่งครัวแบบโปร่งมีข้อดีข้อเสียดังนี้ค่ะ ข้อดี ก่อสร้างได้ง่ายและรวดเร็วกว่าครัวแบบทึบ การต่อเติมครัวแบบโปร่งเป็นรูปแบบที่เน้นความโปร่งโล่งจะง่ายและรวดเร็วกว่า เพราะแค่ติดหลังคากันสาดและก่อปูนเป็นเคาน์เตอร์ครัวก็เรียบร้อยแล้วค่ะ หรือจะเลือกซื้อชุดครัวสำเร็จรูปมาติดตั้งเลยก็ได้ค่ะ ระบายอากาศได้ดี เหมาะกับครัวไทยที่อาหารบ่อย การต่อเติมครัวแบบโปร่งโล่งนั้นจะทำให้กลิ่นควันเวลาประกอบอาหาร รวมถึงความอับชื้นต่างๆ ภายในครัวจะระบายออกง่าย เนื่องจากไม่มีอะไรปิดกั้นผนังรอบด้าน สามารถทำความสะอาดง่าย เพราะครัวไทยจะเลอะเทอะง่ายกว่า ครัวแบบโปร่งบางบ้านอาจแค่เทปูนคอนกรีตธรรมดาพร้อมมีทางระบายน้ำรองรับ ทำให้สามารถฉีดน้ำหรือทำความสะอาดได้ง่ายกว่าครัวแบบปิดที่ปูพื้นด้วยกระเบื้อง ข้อเสีย สิ่งแปลกปลอมเข้ามาง่าย แน่นอนว่าครัวแบบเปิดส่วนใหญ่จะเป็นผนังเปิดโล่ง อาจทำให้มีน้ำฝน, ฝุ่นและสิ่งปรกต่างๆ สาดเล็ดรอดเข้ามาได้ง่าย อีกทั้งต้องคอยระวังป้องกันไม่ให้สัตว์เล็กสัตว์น้อยอย่างแมลง นก หนู รวมถึงแมวหรือสุนัขตัวเล็กเข้ามาก่อกวนภายในห้องครัว ซึ่งในส่วนนี้เจ้าของบ้านอาจติดตั้งมุ้งลวดเข้ามาช่วยป้องกันได้ค่ะ อาจส่งกลิ่นรบกวนต่อเพื่อนบ้านได้ เพราะครัวไทยกลิ่นฉุนกว่า เมนูอาหารจำพวกต้ม, ผัด, แกง, ทอด ที่มีกลิ่นฉุนและควันรวมถึงไอน้ำมันเวลาประกอบอาหาร อาจจะกระจายไปถึงเพื่อนบ้านได้ ดังนั้นจึงต้องคอยระมัดระวังให้ดีค่ะ ครัวไทย แบบทึบ ปกปิดมิดชิด สำหรับบ้านที่มีพื้นที่ด้านนอกสำหรับใช้สอยไม่มาก ก็สามารถใช้วิธีกั้นพื้นที่บางส่วนภายในตัวบ้านด้วยผนังทึบ และติดตั้งพัดลมดูดอากาศ เพื่อช่วยระบายอากาศดูดกลิ่นและควันออกสู่ภายนอกไม่ให้รบกวนภายในบ้าน ซึ่งการต่อเติมครัวแบบทึบที่มีผนัง 4 ด้านล้อมรอบโดยเจาะช่องเปิดตามความเหมาะสม พร้อมทำหลังคาครอบมิดชิดนั้น..มีข้อดีข้อเสียดังนี้ค่ะ ข้อดี ป้องกันสิ่งสกปรกได้ดี เมื่อเป็นครัวแบบทึบมีผนังปิดล้อม 4 ด้าน ดังนั้นจึงสามารถป้องกันสิ่งสกปรกและสิ่งไม่พึงประสงค์จากภายนอกได้ดีกว่าครัวแบบโปร่งนั่นเองค่ะ ป้องกันกลิ่นรบกวนเพื่อนบ้าน เพราะความมิดชิดของรูปแบบครัว ทำให้เจ้าของบ้านอาจต้องเสียเงินซื้ออุปกรณ์ช่วยอย่างเครื่องดูดควันพร้อมปล่องระบายอากาศเพิ่ม แต่ก็ยังมีข้อดีช่วยป้องกันกลิ่นควันจากการประกอบอาหารไม่ให้รบกวนเพื่อนบ้านได้ง่ายด้วย ปลอดภัยกว่า แน่นอนค่ะว่าครัวแบบทึบปกปิดมิดชิดนั้นให้ความรู้สึกปลอดภัยและเป็นส่วนตัวมากกว่าครัวแบบเปิดโล่ง นอกจากนี้บริเวณผนังโดยรอบยังสามารถติดตั้งชั้นเก็บของได้มากขึ้นอีกด้วยค่ะ ข้อเสีย บ้านมีโอกาสทรุดตัว การต่อเติมครัวแบบทึบส่วนใหญ่จะใช้วัสดุที่มีน้ำหนักมากกว่าครัวแบบทึบ จึงทำให้บ้านมีโอกาสทรุดตัวเร็วกว่า เพราะส่วนต่อเติมส่วนใหญ่จะใช้เสาเข็มสั้นซึ่งจะทรุดตัวเร็วกว่าตัวบ้านเดิม ทางที่ดีเจ้าของบ้านควรต่อเติมแบบแยกส่วนกันเพื่อลดปัญหาบ้านทรุด เนื่องจากการดึงรั้งกันและเกิดการฉีกขาดของโครงสร้าง ซึ่งอาจเป็นปัญหาใหญ่ที่อาจตามมาได้ค่ะ ค่าใช้จ่ายมากกว่า ครัวแบบทึบ ปิดมิดชิดนั้นก็ไม่ต่างกับห้องเปล่าหนึ่งห้อง ดังนั้นถ้าจะประกอบอาหารเจ้าของบ้านจึงต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์ช่วยอย่างเครื่องดูดควันหรือพัดลมระบายอากาศเพิ่ม นอกจากนี้การสร้างห้องครัวแบบทึบจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าห้องครัวแบบโปร่ง ด้วยปริมาณวัสดุ โครงสร้าง และการเตรียมงานระบบที่มากกว่านั่นเองค่ะ ปฎิเสธไม่ได้เลยค่ะว่าการต่อเติมครัวนอกบ้านนั้นเป็นที่นิยมอย่างมาก เพราะนอกจากจะสะดวกต่อการประกอบอาหารไม่ว่าจะผัด โขลก สับ แล้วยังสามารถระบายอากาศได้ดีกว่าครัวในบ้าน แต่ไม่ว่าจะเลือกต่อเติมครัวแบบไหน แนะนำให้ลองศึกษาสถาปนิกหรือผู้รับเหมาที่มีความชำนาญเพื่อออกแบบและคำนวณให้ถูกต้องเหมาะสม นอกจากนี้ควรศึกษากฎเกณฑ์ของโครงการบ้านจัดสรรนั้นๆ รวมถึงได้รับการยินยอมจากนิติบุคคลก่อนทำการต่อเติมด้วยนะคะ เรื่องราวเกี่ยวกับการต่อเติมบ้าน 4 ปัญหาคาใจต่อเติมครัวแล้วทรุด 10 วิธี เปลี่ยนบ้านจัดสรรให้สวยงาม มีสไตล์ เหมาะสมกับการใช้งาน ต่อรั้วบ้านเดิมเพิ่มความส่วนตัว
ไอเดียเปลี่ยนพื้นที่ใต้บันไดให้ใช้งานได้อย่างมีสไตล์!

ไอเดียเปลี่ยนพื้นที่ใต้บันไดให้ใช้งานได้อย่างมีสไตล์!

หนึ่งในองค์ประกอบของบ้านที่มักจะถูกละเลยอยู่เสมอคงหนีไม่พ้น “พื้นที่ใต้บันได” ด้วยลักษณะการใช้งานที่ทุกคนในบ้านเพียงแค่เดินผ่านขึ้นลง อีกทั้งยังมีพื้นที่น้อยและเป็นมุมอับดูไม่ค่อยน่าสนใจ จึงทำให้เจ้าบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าไหร่นัก ทั้งที่ความจริงแล้วเราสามารถดัดแปลงพื้นที่เหล่านี้ให้ดูโดดเด่นและใช้ประโยชน์ได้อีกมากมายเลยนะคะ แต่จะมีอะไรบ้างนั้น ต้องตามไปดูไอเดียจัดพื้นที่ใต้บันไดที่เรารวบรวมมาฝากให้นำไปประยุกต์ใช้กันดูค่ะ ตู้เก็บของสารพัดประโยชน์ หลายคนอาจจะคุ้นชินกับการวางของไว้ใต้บันไดโดยไม่สนใจว่าพื้นที่ตรงนั้นดูไม่น่ามองสักเท่าไหร่ใช่ไหมคะ ซึ่งวิธีง่ายๆ ที่จะเปลี่ยนพื้นที่ใต้บันไดให้เป็นตู้เก็บของโดยการบิวต์อินชั้นวางหรือเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวตามรูปทรงของพื้นที่ใต้บันได เพียงเท่านี้คุณเองก็จะมีมุมเก็บของที่เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ว่าใครเดินผ่านไปมาก็ต้องสนใจแล้วค่ะ เปลี่ยนให้เป็นมุมทำงานส่วนตัว อีกหนึ่งฟังก์ชั่นที่น่าสนใจก็คือมุมทำงานนั่นเองค่ะ ซึ่งเราสามารถเปลี่ยนพื้นที่ใต้บันไดไว้ใช้นั่งทำงานคิดไอเดียสร้างสรรค์ หรือใช้เป็นพื้นที่ให้ลูกทำการบ้านก็ยังได้ โดยการบิลต์อินดั่งในภาพให้เป็นมุมขนาดพอเหมาะ ตกแต่งด้วยไม้เพิ่มความรู้สึกอบอุ่นชวนนั่ง หรือใครอยากประหยัดก็สามารถเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวดีไซน์เรียบง่าย แต่ต้องมีความยาวพอดีกับความกว้างของพื้นที่ใต้บันไดนะคะ ซึ่งแค่จัดวางคู่กับเก้าอี้นั่งสบายๆ รับรองไม่ว่าใครได้นั่งทำงานตรงนี้ ไอเดียพุ่งกระฉูดแน่นอนค่ะ เนรมิตเป็นมุมนั่งเล่น พื้นที่ใต้บันไดให้ก็สามารถเปลี่ยนเป็นมุมนั่งเล่นให้คนในบ้านใช้พักผ่อนได้นะคะ เพราะเพียงแค่วาง Day Beds เบาะนุ่มขนาดพอดีกับพื้นที่ ประดับด้วยหมอนและตุ๊กตาตัวโปรดก็ชวนนั่งทั้งวันแล้วค่ะ นอกจากนี้หากคุณเป็นหนอนหนังสืออยากมีที่สำหรับเก็บของเพิ่มขึ้นก็สามารถบิวต์อินตู้หนังสือเพิ่มที่ผนังเหนือเตียง เท่านี้ก็จะเป็นมุมนั่งเล่นที่ชวนนั่งแถมยังเก็บหนังสือได้อีกด้วย ทำเป็นบ้านสัตว์เลี้ยงแสนรัก สำหรับทาสหมาทาสแมวที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงตัวโปรดไว้ในบ้าน คงอยากให้พวกเขามีพื้นที่ส่วนตัวไว้พักผ่อนเหมือนกับคนใช่ไหมคะ การทำพื้นที่ใต้บันไดให้เป็นบ้านสัตว์ก็เป็นอีกหนึ่งไอเดียที่น่าสนใจไม่ใช่น้อยเลยค่ะ เพราะเพียงแค่ก่อผนังใต้บันไดปิดทึบพร้อมเจาะช่องประตูไว้สำหรับเป็นทางเข้าออกให้เหล่าสัตว์เลี้ยงและติดไฟด้านในไว้สักดวงหนึ่ง พร้อมวางเบาะนุ่มและของเล่นไว้ให้เขา เพียงเท่านี้พื้นที่ใต้บันไดก็กลายเป็นพื้นที่ที่ดีต่อใจของคุณและสัตว์เลี้ยงแล้วค่ะ จัดสวนซะเลย! สำหรับคนที่อยากเพิ่มความสดชื่นไว้ในบ้าน ก็สามารถเปลี่ยนพื้นที่ใต้บันไดให้เป็นสวนในบ้านได้ง่ายๆ เพียงปลูกต้นไม้ในร่ม อาทิ จั๋ง, เข็มสามสี, ลิ้นมังกร, จันผา และสับปะรดสี เป็นต้น ซึ่งแนะนำให้เลือกต้นที่ขนาดกำลังดี ไม่สูงและโตไวเกินไป พร้อมโรยหินกรวดมนเพิ่มความสวยงาม เท่านี้ก็มีมุมพักสายตาในบ้านแล้วค่ะ ไอเดียที่เรารวบรวมมาฝากวันนี้ นับว่าน่าสนใจและสามารถใช้ได้จริงทั้งหมดเลยนะคะ ยิ่งบ้านไหนปล่อยให้พื้นที่ใต้บันไดว่างเปล่าเฉยๆ ไม่ได้ตกแต่งหรือใช้ทำอะไร แนะนำให้ลองนำไอเดียด้านบนไปประยุกต์ใช้ดูนะคะ รับรองว่านอกจากจะทำให้บ้านของคุณมีฟังก์ชั่นใช้งานเพิ่มขึ้นแล้วยังมีสไตล์ไม่ซ้ำใครอีกด้วย อีกทั้งแขกไปใครมาต่างก็ต้องชื่นชมกับไอเดียเหล่านี้แน่นอน
ฟ้าใสหลังฤดูฝนผ่านไป ก็ได้เวลารีโนเวทบ้าน

ฟ้าใสหลังฤดูฝนผ่านไป ก็ได้เวลารีโนเวทบ้าน

บ้านของเรามักเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป ไม่ว่าจะเป็นสภาพที่ดูทรุดโทรมลง ส่วนประกอบต่างๆ เสื่อมชำรุดต้องซ่อมแซม อยากเปลี่ยนบรรยากาศหรือปรับพื้นที่เพื่อรองรับการใช้สอยซึ่งต่างไปจากเดิม การรีโนเวทบ้านจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อยู่เสมอ ทั้งนี้ หลังฤดูฝนนับเป็นอีกช่วงเวลาที่เหมาะกับการรีโนเวทบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมแซมบ้าน ปรับปรุงบ้านและอาจรวมถึงการต่อเติมบ้าน ด้วยดินฟ้าอากาศที่เป็นใจ เอื้ออำนวยต่อทั้งการทำงาน การขนส่ง และการจัดเก็บวัสดุ รีโนเวทตรวจซ่อมบ้านหลังหน้าฝน คงมีเจ้าของบ้านจำนวนไม่น้อยที่อยากจะจัดการปัญหารั่วซึม ซึ่งก่อกวนใจตลอดช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา โดยเฉพาะปัญหาหลังคาบ้านรั่ว หากเป็นหลังคาดาดฟ้าคอนกรีตมักหาจุดรั่วซึมได้ง่าย ถ้าเป็นรอยรั่วซึมขนาดเล็กก็สามารถสกัดและอุดซ่อมด้วยปูน Non-Shrink Grout ได้ แต่หากรอยแตกร้าวมีขนาดใหญ่เสียหายมากจนเหล็กเสริมเป็นสนิมขุม ควรปรึกษาวิศวกรเพื่อหาทางแก้ไขที่ปลอดภัย สำหรับหลังคารูปทรงต่างๆ ที่ไม่ใช่หลังคาดาดฟ้าคอนกรีตนั้น ให้ลองหาจุดรั่วซึมเบื้องต้นโดยเปิดฝ้าเพดานแล้วมองหาจุดที่แสงลอดเข้ามาได้ หากไม่พบให้ลองสังเกตคราบน้ำตามโครงสร้างเพื่อย้อนไปหาตำแหน่งรั่วซึมที่แท้จริง (บางครั้งอาจมาจากหลังคาทาวน์โฮมเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน) ปัญหาหลังคาบ้านรั่วลักษณะนี้ มักต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญช่วยตรวจสอบหาวิธีแก้ไข ซ่อมแซม หรือปรับปรุงที่เหมาะสม ภาพ: ปัญหาหลังคาบ้านรั่ว อาจเกิดจากกระเบื้องหลังคาแตกร้าว หลุดเผยอ หรือรั่วซึมตามรอยต่อต่างๆ ของหลังคาดังภาพ รอยร้าวตามผนังก็เป็นอีกช่องทางให้น้ำรั่วซึมเข้าบ้านได้ ส่วนใหญ่มักพบบริเวณประตูหน้าต่าง หากเป็นรอยร้าวผนังรอบวงกบ สามารถซ่อมด้วยวัสดุอุดยาแนวหรือใช้ปูนซีเมนต์สำหรับงานซ่อม ส่วนรอยร้าวผุเล็กน้อยที่เนื้อวงกบไม้ก็ใช้วัสดุยาแนวอุดซ่อมได้ด้วย แต่หากวงกบไม้ผุพังมากให้ลองพิจารณาเปลี่ยนประตูหน้าต่างใหม่ โดยเจ้าของบ้านอาจเลือกวัสดุที่คงทนมากขึ้น หรือใช้ประตูหน้าต่างที่ขายพร้อมบริการเปลี่ยนติดตั้งแบบครบวงจรได้เพื่อเน้นคุณภาพและความสะดวก ผนังร้าวรั่วซึมอีกกรณีที่พบได้ก็คือ ตามรอยต่อของผนังส่วนต่อเติมซึ่งถูกก่อฉาบเชื่อมรอยต่อติดกับตัวบ้าน เมื่อส่วนต่อเติมทรุดตัว จะเกิดการฉีกขาดเป็นรอยร้าวทำให้น้ำรั่วซึมเข้ามาได้ วิธีแก้ไขเบื้องต้นคือให้ยาแนวรอยต่อด้วยวัสดุที่ยืดหยุ่น อย่าง PU หรือซิลิโคน ภาพ: การแก้ไขปัญหาผนังร้าวรั่วซึมบริเวณรอยต่อของส่วนต่อเติมกับตัวบ้าน รีโนเวทปรับปรุงบ้านหลังหน้าฝน หลังหน้าฝนเป็นโอกาสอันดีที่จะปรับปรุงบ้านในส่วนกลางแจ้ง อย่างการปรับปรุงหลังคา  ปรับปรุงพื้นบริเวณรอบบ้าน และปรับปรุงผนังภายนอกบ้าน จุดประสงค์อาจมิใช่แค่เพื่อเปลี่ยนรูปลักษณ์บรรยากาศเท่านั้น แต่เป็นการปรับปรุงเพื่อแก้ปัญหาที่ต่อเนื่องมาจากหน้าฝนด้วย อย่างกรณีหลังคารั่วหลายจุดหรือโครงหลังคามีปัญหา ก็อาจปรับปรุงโดยรื้อมุงกระเบื้องใหม่หรือวางโครงหลังคาใหม่ เป็นต้น ปัญหาดินรอบบ้านทรุด จนเห็นโพรงใต้บ้านก็เป็นอีกเรื่องที่เหมาะจะปรับปรุงแก้ไขหลังหน้าฝน หากพื้นดินยังมีแนวโน้มจะทรุดตัวต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว ก็อาจปิดโพรงแบบชั่วคราวไปก่อน เช่น นำกระถางต้นไม้ทรงสี่เหลี่ยมมาวางปิดไว้ ใช้ขอบคันหินปิด หรือจะก่ออิฐบนพื้นคอนกรีตเดิมเพื่อปิดโพรงโดยใช้แผ่นโฟมคั่นระหว่างก้อนอิฐกับตัวบ้าน เป็นต้น แต่สำหรับกรณีที่พื้นทรุดไปมากแล้วและมีแนวโน้มว่าจะทรุดช้าลงมาก ให้ทำการแก้ไขแบบถาวร โดยทุบรื้อเอาหญ้าหรือวัสดุเดิมบนหน้าดินออก แล้วถมดินปิดโพรงในระดับที่เหมาะสมก่อนจะติดตั้งวัสดุปูพื้น ทั้งนี้อาจถือโอกาสเลือกวัสดุปูพื้นแบบใหม่เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศก็ได้ ภาพ: ดินรอบบ้านทรุดจนเห็นโพรงใต้บ้านเล็กน้อย ภาพ: การใช้ขอบคันหินวางปิดโพรงใต้บ้าน พร้อมปลูกต้นไม้ประดับเล็กน้อย อีกปัญหาที่พบบ่อยในหน้าฝน ซึ่งแม้จะไม่ได้มีผลกระทบต่อการใช้งานนัก แต่ก็ทำลายความสวยงามอย่างมากนั่นคือปัญหาผนังชื้น สีโป่งพองลอกล่อนโป่งพอง หรือมีเชื้อราตะไคร่ เจ้าของบ้านสามารถปรับปรุงผนังใหม่หลังหน้าฝนโดยใช้หลักการคือ ทำให้ผนังระบายความชื้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สีที่มีคุณสมบัติระบายความชื้น ทำผนังปูนแบบต่างๆ เช่น ผนังปูนเปลือยฉาบขัดมัน ผนังกรวดล้างทรายล้าง เป็นต้น ไปจนถึงการใช้ไม้เทียมตกแต่งทับผนังเดิม รีโนเวทและต่อเติมบ้านหลังหน้าฝน บางครั้งการปรับปรุงพื้นที่ใช้สอยอาจไม่จบเพียงแค่ในบ้าน แต่มีการขยับขยายต่อเติมออกนอกตัวบ้านด้วย ไม่ว่าจะเป็นการต่อเติมห้องนอน ต่อเติมห้องครัว ต่อเติมห้องนั่งเล่น ฯลฯ เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยส่วนนั้นให้กว้างขวางขึ้น การต่อเติมขยายพื้นที่ลักษณะนี้มักทุบผนังเพื่อเชื่อมพื้นที่ส่วนต่อเติมเชื่อมเข้ากับพื้นที่บ้านเดิม ดังนั้นโครงสร้างที่รองรับพื้นควรลงเสาเข็มให้ลึกถึงชั้นดินแข็งเช่นเดียวกับโครงสร้างบ้านเดิม เพื่อลดปัญหาการทรุดตัวของพื้นที่ไม่เท่ากัน ทั้งนี้ กระบวนการต่อเติมบ้านจะเป็นการทำงานกลางแจ้งเสียส่วนใหญ่ ดังนั้น ช่วงปลายปีหลังฤดูฝนจึงนับเป็นเวลาที่สะดวกต่อการดำเนินงาน รวมทั้งการขนส่งและจัดกองเก็บวัสดุ ภาพ: การลงเสาเข็มส่วนต่อเติมให้ลึกถึงชั้นดินแข็ง การรีโนเวทบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมแซมบ้าน ปรับปรุงบ้านหรือต่อเติมบ้าน ควรอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายควบคุมอาคาร และควรยื่นขออนุญาต อย่างถูกต้อง (หากเข้าข่ายต้องขออนุญาต) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีปรับปรุงต่อเติมบ้าน มักมีกฎหมายควบคุมหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การปรับปรุงหรือต่อเติมนั้นไม่ควรขัดขวางทางหนีไฟ  มีขนาดที่ว่าง ภายในขอบเขตที่ดินและระยะร่นต่างๆ ที่เพียงพอ การกำหนดตำแหน่งของช่องเปิด ซึ่งสัมพันธ์กับแนวเขตที่ดิน เป็นต้น และทางที่ดีควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการรีโนเวท โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่การซ่อมแซม ปรับปรุง หรือต่อเติมบ้านนั้นมีผลกระทบต่อโครงสร้างบ้าน ควรอยู่ภายใต้ความดูแลวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัยและลดปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อการอยู่อาศัยในระยะยาว บทความโดย SCG Experience คู่คิดก่อนสร้างบ้าน ช่วยให้คุณสร้างบ้านได้อย่างมั่นใจ พร้อมให้คำปรึกษาตลอดการสร้างบ้าน โดยผู้เชี่ยวชาญจาก SCG เพียงนำแบบบ้านมายื่นรับคำปรึกษา พร้อมรับสิทธิพิเศษต่างๆ ได้ที่ SCGคู่คิดก่อนสร้างบ้าน​  img class="alignnone size-full wp-image-61869" src="https://www.reviewyourliving.com/wp-content/uploads/2017/05/5-1-2-รีโนเวทบ้าน-headline.png" alt="" width="1446" height="800" />