Sena Next

เสนา ดีเวลลอปเมนท์  กับ 3 กลยุทธ์สู่เป้ารายได้กว่า 12,000 ล้าน ก้าวต่อไป เปิด 2 แบรด์ใหม่ จับตลาดต่ำล้าน

เสนา ดีเวลลอปเม้นท์

เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ ลุยธุรกิจปี 65 เดินหน้า 3 กลยุทธ์​ SENA Next ปูพรมเปิด 49 โปรเจ็กต์ใหม่ หลังได้ เจ.เอส.พี.ฯ มาเติมพอร์ตบ้านแนวราบ พร้อมลุยรักษาฐานผู้นำตลาดบ้านต่ำล้าน เปิดตัว 2 แบรนด์ใหม่ “FLEXI- SENA Village” เตรียมงบอีก 1,000 ล้าน ขยายธุรกิจใหม่

 

ดูเหมือนว่าในปี 2564 ที่ผ่านมาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์ และมีระดับความรุนแรง ส่งผลทำให้เกิดการล็อกดาวน์ประเทศหลายครั้ง ทำให้หลายธุรกิจต้องหยุดชะงักตาม สำหรับ “เสนา ดีเวลลอปเม้นท์” ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน  กิจกรรมการตลาด และการก่อสร้างต้องหยุดชะงัก ซึ่งส่งผลต่อภาพรวมของผลการดำเนินงาน ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564

 

ปีที่ผ่านมา “เสนา ดีเวลลอปเม้นท์” เปิดตัวโครงการใหม่ไป 12 โครงการ รวมมูลค่า 10,236 ล้านบาท​ ต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่คาดว่าจะเปิดได้ 17 โครงการมูลค่า 15,700 ล้านบาท มียอดขาย 5,608 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดว่าจมียอดขาย 11,100 ล้านบาท และมียอดโอน 5,718 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดว่าจะทำได้ 10,000 ล้านบาท แม้ว่าจะสามารถทำกำไรได้สูงสุดถึง 1,250 ล้านบาท แต่เป็นกำไรจากการต่อรองราคาซื้อเงินลงทุนในบริษัทร่วม หากคิดเฉพาะกำไรสุทธิจากการดำเนินงานจะกำไร 761 ล้านบาท

Sena Next 3

SENA Next กลยุทธ์เติบโตในปี 65

ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า  แผนธุรกิจในปี 2565 เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินธุรกิจครั้งสำคัญ ภายใต้กลยุทธ์ SENA Next” มิติใหม่สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและเติบโต รวมถึงตอกย้ำแนวคิด Made From Her “คิดละเอียดกว่า ก็อยู่สบายกว่า” ซึ่งถือว่าในปีนี้เป็น​แห่งการทรานส์ฟอร์มครั้งใหญ่ของเสนา ดีเวลลอปเม้นท์ ​ซึ่งจะมี 3 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่

1.Next Expansion การเปิดโครงการใหม่

2.Next ERA เฟ้นหาพันธมิตร (Partnership) เพื่อขยายโอกาสในธุรกิจใหม่ (New Business)

3.Next Level การสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์

Sena Next 2

เปิด 49 โปรเจ็กต์กว่า 2.7 หมื่นล้าน

ปี 2565 บริษัทมีแผนขยายธุรกิจที่อยู่อาศัยด้วยการเปิดตัวโครงการใหม่รวม 49 โครงการ 27,480 ล้านบาท แบ่งเป็นคอนโดมิเนียม  21 โครงการและแนวราบ 28 โครงการ ในจำนวน 49 โครงการ เป็นโครงการภายใต้​การควบรวมกิจการบริษัท เจ.เอส.พี พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ JSP จำนวน 25 โครงการ มูลค่า 8,980 ล้านบาท  ซึ่งเป็นผลให้เสนาขยายฐานกลุ่มลูกค้าใหม่ทั้งในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล และต่างจังหวัด ได้ครอบคลุมทุกทำเล  และมีจำนวนโครงการแนวราบมาเสริมทัพจำนวนมากขึ้น

 

ปัจจุบันเสนา ดีเวลลอปเม้นท์ มีโครงการที่พัฒนาและเปิดการขายอยู่ 41 โครงการ มูลค่ารวม 25,137 ล้านบาท เมื่อรวมกับจำนวนโครงการที่จะเปิดตัวใหม่ในปีนี้  จะส่งผลให้เสนามีโครงการในมือรวมเป็น 90 โครงการ รวมมูลค่า 52,617 ล้านบาท ซึ่งโครงการทั้งหมด จะผลักดันให้บริษัททำเป้าหมายยอดขายได้​ 13,979 ล้านบาท และ​เป้าหมายยอดโอนได้ 12,186 ล้านบาท

จับตลาดต่ำล้านพร้อมเปิดตัว 2 แบรนด์ใหม่

ปัจจุบันบ้านและคอนโดที่มีระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท ถือว่ามีอยู่ในตลาดน้อยมาก ซึ่งเป็นตลาดที่มีโอกาสและความต้องการสูง เพราะกลุ่มคนที่มีระดับรายได้ 10,000-20,000 บาทต่อเดือน มีอยู่จำนวนมาก และมีอยู่ในทุกบริษัท รวมถึงพนักงานจบใหม่ ซึ่งต่างต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง แต่มีผู้ประกอบการพัฒนาสินค้าออกมาน้อย เนื่องจากต้นทุนการพัฒนาสูงจนไม่สามารถทำราคาขายในระดับต่ำกว่า 1 ล้านบาทได้

พนักงานรายได้ 10,000-20,000 บาท มีอยู่ทุกบริษัท สัดส่วนมากน้อยขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ คำถามที่น่าสนใจ คนพวกนี้ไม่ต้องการมีบ้านหรอ ยิ่งประเทศไทยไม่ใช่รัฐสวัสดิการ ไม่ได้เตรียมบ้านไว้ให้ ถ้าเกษียณแล้วไม่มีบ้านทำไง เป็นคนไร้บ้านได้เลย

Sena Next 4

Sena Next 5

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญ รายได้ของคนกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นช้ามาก เมื่อเทียบกับราคาบ้านหรือที่ดิน แม้แต่ในภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ไม่สามารถหยุดการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินได้  ใน 6 ปีที่ผ่านมาราคาบ้านปรับเพิ่มขึ้นโดยตลอด ขณะที่รายได้ต่อคนเพิ่มขึ้น 2-3% ต่อปีเท่านั้น รายได้ของคนเพิ่มขึ้นไม่ทันกับราคาบ้านเพิ่มขึ้น  หากไม่ซื้อบ้านในช่วงอายุที่น้อย เมื่ออายุเพิ่มขึ้นจะซื้อบ้านไม่ได้ เพราะระยะเวลาการผ่อนจะเหลือน้อย

กลุ่มนี้ไม่ใช่ไม่มีคนซื้อ แต่ไม่มีคนทำออกมาขายมากกว่า เพราะมันทำยากมาก ต้นทุนขึ้นทุกอย่าง ขณะที่คนตกงานมากขึ้น รายได้ไม่ได้เพิ่ม มันยากที่จะทำ มันยากกว่าการจะหาคนซื้อ ปีนี้เราขยายเพิ่มเป็นหมื่นยูนิต

แต่สำหรับเสนา ดีเวลลอปเม้นท์ ถือว่าเป็นผู้ประกอบการที่พัฒนาคอนโดต่ำกว่าล้านบาทออกมาขายจำนวนมาก เป็นผู้นำอันดับต้น ๆ ภายใต้แบรนด์ เสนา คิทท์ ซึ่งปีนี้ยังคงเดินหน้ารักษาฐานลูกค้าของตัวเองไวด้วย

 

โดยในปีนี้เสนา ดีเวลลอปเมนท์จะเปิดตัวโครงการระดับราคาต่ำล้าน ภายใต้แบรนด์หลัก คือ เสนา คิทท์ จำนวน 24 โครงการ ขณะเดียวกันยังเปิดตัว 2 แบรนด์ใหม่ ที่จะมาจับตลาดกลุ่มที่อยู่อาศัยต่ำล้านด้วย ได้แก่ แบรนด์ FLEXI คอนโดที่จับตลาดกลุ่มGen Y  และ Gen Z ซึ่งจะเปิดตัว 8 โครงการ แบรนด์ SENA Village มินิบ้านแฝด จำนวน 2 โครงการ

ทุ่มพันล้านขยายธุรกิจใหม่เพิ่มรายได้ประจำ

อีกกลยุทธ์ที่สำคัญในปีนี้ของ เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ คือ การหาพันธมิตรทางธุรกิจ และการเข้าลงทุนในธุรกิจใหม่ ที่มีโอกาสและศักยภาพ จากปีที่ผ่าน เสนา ดีเวลลอปเมนท์ ได้เข้าซื้อ 4 โครงการจากอีก 4 บริษัท รวมเม็ดเงินลงทุน 2,000-3,000 ล้านบาทเข้ามาเพิ่มในพอร์ตธุรกิจ ซึ่งถือเป็นโอกาสทางธุรกิจ ในการเพิ่มสินค้าและทำเล ที่บริษัทไม่ได้เข้าไปพัฒนา ​​

 

นอกจากนี้ ในช่วงเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ ได้ลงทุนกว่า 507 ล้านาท เข้าลงทุนในหุ้นของบริษัท เจ.เอส.พี.พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) และมีการซื้อหุ้นเพิ่มเติมต่อเนื่อง จนมีสัดส่วนการเข้าไปถือหุ้นอยู่ 35.35% ทำให้มีโครงการการพัฒนาภายใต้บมจ. เจ.เอส.พี.ฯ​ ซึ่งเป็นโครงการแนวราบ เข้ามาเติมพอร์ตของเสนา ดีเวลลอปเม้นท์ ด้วย

Sena Next 8

สำหรับการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจใหม่ ในปีนี้ได้วางงบลงทุนไว้ 1,000 ล้านบาท  เพื่อทดลองการทำธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตที่ดี ซึ่งหากมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตจะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป  อาทิ

1.SENA WELLNESS

ธุรกิจบริการด้านการดูแล ป้องกัน และฟื้นฟูสุขภาพ SENA จับมือ ทีมแพทย์ผู้ชำนาญการจัดตั้งบริษัทในเครือภายใต้ Brand “SENA HEALTHCARE” รองรับการเติบโตของสังคมสูงอายุ

2.SENA WAREHOUSE   

ธุรกิจให้เช่าคลังสินค้า พร้อมช่วยบริหารจัดการแบบครบวงจรที่สามารถตอบสนองความต้องการทางธุรกิจของกลุ่มลูกค้าได้ดี

3.S FINANCIAL SERVICE

ธุรกิจให้บริการทางการเงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้ลูกค้าทุกคนสามารถมีบ้านอย่างปรารถนา

 

ปี 65 ยังมีปัจจัยบวกหนุนตลาด

เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ มองว่า ในปีนี้มีแนวโน้มที่จะปัจจัยบวกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ปรับตัวดีขึ้น การเดินทาง ท่องเที่ยวกลับมาได้ แต่ทั้งนี้จะเป็นปัจจัยบวกได้มากแค่ไหน ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าจะฟื้นตัวมากแค่ไหน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยหลักสำคัญ เพราะเชื่อมโยงกับซัพพลายเชนจำนวนมาก

ปีนี้โควิดดีขึ้น และทำอย่างไรให้เศรษฐกิจดีขึ้น ถือว่าเป็นข่าวดี เพราะปีนี้เราสู้เรื่องเดียว จากที่ผ่านมาเราสู้สองเรื่อง ต้องโฟกัสอย่างไรให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ปัจจัยบวกอีกอย่าง คือ อัตราดอกเบี้ยยังต่ำ ทั้งในส่วนผู้ประกอบการในการลงทุน และคนซื้อ

สำหรับปัจจัยลบ มีเรื่องของภาวะเงินเฟ้อ ที่ถือว่าเป็นซัพพลายช็อค สินค้าราคาแพงขึ้น แต่เงินในกระเป๋าน้อยลง แม้เงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ประเทศไทยถือว่าควบคุมภาวะเงินเฟ้อได้ดีมาโดยตลอด การเพิ่มขึ้นของภาวะเงินเฟ้อไม่ได้น่ากลัวจนถึงไม่มีการจับจ่ายใช้สอย

 

ปัจจัยลบอีกประการ คือ ภาวะการเมืองภายในประเทศ ส่งผลให้การดำเนินงานของภาคเอกชนไม่ต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ ต้องมีภาครัฐบาลเป็นตัวนำ กระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน ถ้าไม่มีความเข้มแข็งทางการเมือง มีการยุบสภา หรือการเปลี่ยนตำแหน่ง ก็จะขาดความต่อเนื่อง เป็นปัจจัยลบที่ต้องเฝ้าระวัง

 

 

 

 

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด