Tag : การผ่อนบ้าน

9 ผลลัพธ์
ผ่อนบ้านไม่ไหว ควรทำอย่างไรดี

ผ่อนบ้านไม่ไหว ควรทำอย่างไรดี

เมื่อมีปัญหาผ่อนชำระบ้านไม่ไหว หรือหมุนเงินไม่ทัน ก่อนอื่นต้องสำรวจก่อนว่าเราสามารถลดรายจ่ายอื่นๆ อีกได้ไหม พยายามตัดรายจ่ายก้อนใหญ่ออกก่อน (ที่ไม่เกี่ยวกับการดำรงชีวิต) จากนั้น ดูว่าเดือนนี้ (หรือเดือนถัดไป) จะเหลือเงินส่งผ่อนน้อยกว่าที่กำหนดได้เท่าไหร่ เช่น ผ่อนต่องวด 10,000 บาท แต่เหลือเงินแค่ 5,000 บาท เป็นต้น   เมื่อเราได้สำรวจตัวเองและพยายามที่จะลดรายจ่ายอื่นๆแล้ว สิ่งที่ควรกระทำ เกี่ยวกับการผ่อนชำระบ้าน ควรทำดังต่อไปนี้ 1.เมื่อผ่อนบ้านไม่ไหวให้โทรไปบอกเจ้าหน้าที่ธนาคาร (สาขาที่ทำเรื่องกู้เงิน) แจ้งทางธนาคารว่า เราสามารถผ่อนชำระงวดนี้ได้น้อยกว่าค่างวดปกติ ธนาคารจะมีเบี้ยปรับอย่างไรบ้าง (ส่วนใหญ่จะมีเบี้ยปรับกรณีผ่อนชำระล่าช้า) ซึ่งจะคิดในอัตราที่สูงกว่าปกติ (ราวๆ 18%) และควรถามค่าธรรมเนียมอื่นๆ อีก เช่น ค่าธรรมเนียมในการทวงหนี้ที่ค้างชำระ หรือ ค่าธรรมเนียมธนาคารอื่นๆ เป็นต้น   2.หากผ่อนบ้านไม่ไหว ให้จ่ายค่างวดที่สามารถจ่ายได้ ในเดือนนี้ก่อน ห้ามไม่จ่ายค่างวดเลย หรือ เงียบหายไปเฉยๆ ควรจ่ายของเดือนนี้ไปก่อน เช่น เหลือแค่ 5,000 บาท เพราะธนาคารอาจจะคิดไว้ก่อนว่าเราจะเบี้ยวหนี้ในครั้งต่อไปด้วยครับ ทำให้ธนาคารอาจจะเตรียมเรื่องส่งฟ้องเพื่อยึดทรัพย์เพื่อขายทอดตลาด และอาจจะฟ้องเราเป็นบุคคลล้มลายได้ ทำให้เราหรือผู้กู้ร่วมไม่สามารถทำธุรกรรมใดๆ (การเซ็นฯเอกสารการเงิน) ได้อีกเลย   เพราะหากมีธุรกรรมใดๆ เกิดขึ้น ธนาคารจะตามไปอายัดไว้ แล้วดึงเงินในธุรกรรมนั้นไปหักค่าคงค้างพร้อมดอกเบี้ย นับตั้งแต่วันหยุดชำระ (ดอกเบี้ยบ้านเป็นแบบหักต้นหักดอก ในกรณีจ่ายค่าผ่อนปกติ แต่เมื่อหยุดจ่าย ดอกเบี้ยบ้านก็จะกลายเป็น “ต้นทบดอก” ไป) ทำให้เมื่อไปเจรจากับธนาคารในภายหลังจากที่ให้ฟ้องล้มละลายไปแล้ว จะทำให้เห็นว่ายังมีเงินคงค้างที่เป็นดอกเบี้ยที่ทบต้นทบดอก ตามมาหลอกหลอนอีก ทำให้ธุรกรรมใดๆ เมื่อมีการโอนเงินก็จะถูกดึงไปหักอยู่ตลอด แบบนี้ก็ไม่มีวันที่จะไปทำมาหากินใดๆ ได้อีกเลย   3.การชำระเงินเดือนถัดไป เมื่อผ่อนบ้านไม่ไหว เดือนถัดไปควรจะชำระเงินค่างวดที่คงค้างไว้ครั้งก่อน + ดอกเบี้ยที่ปรับชำระล่าช้า + ค่างวดปกติในเดือนนั้น เพื่อที่ธนาคารจะได้หยุดดอกเบี้ยปรับล่าช้า (18%) กลับมาที่ดอกเบี้ยปกติ ที่ควรจะเป็นครับ เมื่อชำระทั้ง 3 ยอดแล้ว นำสลิปส่ง FAX ไปหาเจ้าหน้าที่สินเชื่อที่เดือนก่อนได้ติดต่อไว้เรื่องขอชำระล่าช้า เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่รีบทำเรื่องยืนยันการชำระที่ค้างชำระไปในเดือนก่อน เพื่อเป็นลายลักษณ์อักษรไปที่สำนักงานใหญ่ด้วย พร้อมทั้งสอบถามว่าแบบนี้จะทำให้กลับมาคิดในดอกเบี้ยปกติเมื่อใด   4.ตรวจสอบยอดชำระเดือนถัดๆ ไป ตรวจสอบว่าเดือนถัดไป (เดือนที่ 3) มีการคำนวณดอกเบี้ย และหักเงินต้นกลับมาเป็นระบบปกติหรือไม่ หากไม่ปกติ ให้รีบติดต่อเจ้าหน้าที่สินเชื่อที่ได้ติดต่อไว้ทันที ว่ามีเหตุผิดพลาดในขั้นตอนไหน หรือ เข้าไปพบเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวให้พิมพ์ Statement การผ่อนชำระมาพูดคุยกัน หากเจ้าหน้าที่อธิบายแล้วไม่เข้าใจ แนะนำให้ติดต่อสำนักงานใหญ่ (อาจผ่านระบบโทรศัพท์ก่อน) หากยังไม่ได้รับการอธิบายที่ชัดเจน หรือยังไม่เข้าใจ ก็ขอชื่อเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานใหญ่ที่จะสามารถเข้าพบได้ เพื่อเข้าไปปรึกษา   ทั้งนี้ ควรรีบเข้าไปดำเนินการเรื่องนี้ ไม่อย่างนั้นระบบยังจะคำนวณเป็นการชำระล่าช้าอยู่ ซึ่งก็จะเป็นลักษณะทบต้นทบดอกอยู่ หากปล่อยให้เนิ่นนานก็จะกลายเป็นยอดที่สูงมากจนเราไม่สามารถชำระไหว   หมายเหตุ เหตุที่ผ่อนชำระไม่ไหว ควรรีบติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารทันที เมื่อเราทราบว่าผ่อนไม่ไหวแน่ๆ ในเดือนนี้ หรือ ในเดือนถัดไป (อาจจะมีเหตุจำเป็นต้องหมุนเงินขึ้นมา) อย่าคิดเอาเองว่าธนาคารน่าจะช่วยเราอย่างนั้นอย่างนี้ โดยที่เราไม่ติดต่อเข้าไปก่อน (เรื่องหนี้ไม่มีใครมาช่วยเราได้ หากเราไม่ช่วยตัวเอง)   ขอให้ทุกท่านสามารถฟันฟ่าอุปสรรคในการผ่อนบ้านไปได้ครับ เช็คว่าคุณพร้อมจะผ่อนบ้านหรือยัง 5 สัญญาณที่บอกว่าคุณยังไม่พร้อมจะซื้อบ้าน เรื่องราวเกี่ยวกับกับการผ่อนบ้าน-คอนโด เคล็ดลับผ่อนบ้านให้หมดเร็ว ดอกเบี้ยลด หมดหนี้ไว ผ่อนไหวใช่ว่าดี คำนวณก่อน ดอกเบี้ยบ้าน คุ้มค่าจริงเปล่า? ผ่อนบ้าน (คอนโด) แนวฮาร์ดคอร์ หมดภายใน 7-10 ปี
ผ่อนไหวใช่ว่าดี คำนวณก่อน ดอกเบี้ยบ้าน คุ้มค่าจริงเปล่า?

ผ่อนไหวใช่ว่าดี คำนวณก่อน ดอกเบี้ยบ้าน คุ้มค่าจริงเปล่า?

การมีทรัพย์สินติดตัวไว้ใช่ว่าจะเป็นเรื่องดีเสมอไป ยิ่งเมื่อการได้มาเป็นภาระเกินความจำเป็น ยิ่งมีมูลค่ามาก การได้มากก็ยิ่งยากขึ้นเท่านั้น และผู้ให้บริการทางการเงินส่วนมากก็มอบช่องทางสบายๆให้กับคนใจร้อน คนที่มีความต้องการมากเสียจนลืมคิดหน้าคิดหลังให้ดีซะก่อน หากคุณไม่อยากเสียผลประโยชน์จากการไม่วางแผน ลองอ่านบทความนี้ให้จบ แล้วคุณจะพบว่า ดอกเบี้ยจากการผ่อนบ้าน หากไม่บริหารให้ดี จะเจ็บหนักขนาดไหน   อันดับแรกคือหาเจ้าที่ประหยัดที่สุด เวลาเราไปดูตารางดอกเบี้ยของผู้ให้บริการทางการเงินหลายๆเจ้า เรามักจะเห็นคำว่า MRR นำอยู่ข้างหน้าเสมอ ตามด้วย สามปีแรกดอกเบี้ยกี่ % แล้วหลังจากนั้นเป็น MRR ลบเท่าไหร่ เช่น MRR = 7.25% สามปีแรก ดอกเบี้ย 3.75% ปีที่เหลือ ดอกเบี้ย MRR-2% เมื่อเห็นแบบนี้ก็เข้าใจง่ายๆว่าคุณจะต้องโดนดอกเบี้ยปีละกี่ % แต่ค่า MRR จะเปลี่ยนไปทุกปีตามกำหนดการของธนาคาร เป็นเหตุผลที่มีการรีไฟแนนซ์ ทำให้การตัดสินใจเลือกผู้บริการธุรกรรมทางการเงินเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ยังไม่รวมไปถึงปริมาณการผ่อนชำระ   หลักการผ่อนไม่ให้ขาดทุน จุดสำคัญที่อยากให้ทุกคนเข้าใจกันคือปริมาณก่อนผ่อนชำระของคุณ เพราะคนส่วนมากมักจะเลือกผ่อนทีละน้อย เพื่อไม่ให้เดือดร้อนทรัพย์สินส่วนอื่น ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกไปซะหมด โดยเฉพาะกับคนที่สามารถรับผิดชอบผ่อนชำระได้มาก บางคนมีรายได้พอจะผ่อนให้เสร็จในสิบปีได้ แต่เลือกจะผ่อน 20 ปีเพื่อจะเอาเงินไปใช้ทำส่วนอื่น ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดเต็มๆ ธนาคารมักจะมีการผ่อนชำระขั้นต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 1ล้านต่อ 7พันบาท จะผ่อนหมดในเวลาประมาณ 142 สัปดาห์หรือ 20 ปี ซึ่งใช้เวลานานมาก ในขณะที่ปริมาณดอกเบี้ยไม่ได้ลดลงเลย คุณอาจจะมีรายได้อยู่ที่ 30,000 บาทต่อเดือน ผ่อน 15,000 บาทต่อเดือนต่อเงินต้นสองล้านบาท คุณคิดว่าคุณจะโดนดอกเบี้ยเท่าไหร่? ดอกเบี้ยหรือค่า MRR อาจจะคงที่ในทุกทุกปีที่คุณผ่อน แต่ดอกเบี้ยจะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับเงินต้นว่าคุณผ่อนไปแล้วมากน้อยแค่ไหน ซึ่งดอกเบี้ยนั้นจะคำนวณตามเงินต้นและต้องรับผิดชอบทุกเดือน หมายความว่ายิ่งคุณจ่ายทีละน้อย เงินต้นก็จะลดลงช้าลงเท่านั้น เท่ากับว่าดอกเบี้ยก็จะลดลงช้าด้วยเช่นกัน จากล้านละเจ็ดพัน เปลี่ยนมาเป็นล้านละหมื่น จะย่นระยะเวลาการผ่อนชำระลงได้มากกว่าที่คุณคิด ยอมลงทุนผ่อนทีละมากๆต่อทรัพย์สินทีละชิ้น ดีกว่ามานั่งผ่อนยาวๆแต่เมื่อคำนวณออกมาแล้ว ดอกเบี้ยสูงเท่าเงินต้นนะครับ   รายได้ไม่พอ จะแก้ปัญหาอย่างไร? สำหรับคนที่มีความจำเป็นที่จะต้องผ่อนบ้าน หรือคนที่ผ่อนชำระไปแล้วพึ่งพบว่าตนเองกำลังขาดทุนอยู่จะแก้ปัญหาได้ทางไหนบ้าง? จริงๆแล้วหากไม่มีรายได้เพิ่ม ก็อาจจะเป็นทางออกที่ยาก แต่ก็มีทางเลือกง่ายๆดังนี้ โปะก้อนใหญ่ วิธีการแก้ปัญหาเงินต้นลดช้า แก้ได้ด้วยการโปะเงินก้อนเข้าไปในทุกทุกปีหรือทุกทุกเดือน เพื่อเป็นการลดเงินต้นอีกรูปแบบหนึ่ง แม้จะต้องใช้เงินเยอะเหมือนเดิม แต่ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารเงินของท่านว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน รีไฟแนนซ์ การรีไฟแนนซ์นั้นมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเสมอ หากคำนวณไม่ดี จะกลายเป็นขาดทุนไปด้วย แต่หากทำถูกวิธี จะสามารถลดดอกเบี้ยลงอย่างเห็นได้ชัด ข้อเสนอปัจจุบัน ดอกเบี้ยกำไรผู้ซื้อมีเป็นช่วงระยะเวลา 3 ปีแรก หลังจากนั้นไปการรีไฟแนนซ์จึงกลายมาเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่ง หาผู้กู้ร่วม ในเมื่อไม่สามารถรับผิดชอบด้วยตัวเองได้ ก็ต้องหาคนมาช่วยรับผิดชอบ อาจจะไม่ใช่รูปแบบของการ กู้ร่วมทั้งหมด แต่ก็สามารถหารายได้เพิ่มจากที่พักที่คุณมีนี่แหล่ะ ไม่ว่าจะเป็นเช่าที่ หรือเปลี่ยนเป็นหอพักก็ดีทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ไม่สามารถแก้ที่ปลายทางได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ วิธีการหลีกหนีดอกเบี้ยบ้านที่สูงเกินไป อยู่ตั้งแต่ตอนเริ่มขอสินเชื่อ ตั้งแต่ตอนคำนวณฐานรายได้และรูปแบบการชำระที่คุณต้องการ หากเตรียมพร้อมไว้ก่อน ก็จะไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม คนที่ไม่มีทางเลือกก็จำเป็นต้องพยายามให้หนักกว่าคนอื่น หากต้องการจะออกจากวังวนนี้ แม้ว่าการผ่อนระยะเวลานานจะเป็นทางเลือกที่คุณสบายใจที่สุด แต่การผ่อนเงินเพียงสองล้านบาทอาจกลายเป็นดอกเบี้ยร่วมหนึ่งล้านบาทได้เลย มากพอที่จะคุณถอยรถยนต์อีกคันได้สบายๆ ดังนั้นก่อนจะทำการใหญ่ การศึกษาข้อมูลทางการเงินมีความจำเป็นมากกว่าที่คุณคิด อย่ารีบร้อน วางแผนให้ดีก่อน ขอบคุณข้อมูลจาก : https://finance.rabbit.co.th/blog/minimum-house-installment        
เรื่องควรรู้ก่อนตัดสินใจ รีไฟแนนซ์บ้าน

เรื่องควรรู้ก่อนตัดสินใจ รีไฟแนนซ์บ้าน

เรื่องของสินเชื่ออาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใจยากซักหน่อย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องที่เราต้องรู้ไว้ ไม่ว่าคุณจะกำลังผ่อนบ้านอยู่ หรือกำลังตัดสินใจจะซื้อบ้านซักหลังเป็นของตัวเอง เรื่องสินเชื่อบ้าน ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลยค่ะ     รีไฟแนนซ์บ้านคืออะไร? การรีไฟแนนซ์บ้าน คือ การขอกู้ยืมสินเชื่อก้อนใหม่จากธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เรามีสัญญาการผ่อนชำระอยู่เดิม หรือ จะทำเรื่องกู้เงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงินแห่งใหม่ มาโปะหนี้จากธนาคารเดิมก็สามารถทำได้ การรีไฟแนนซ์บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการขอกู้เงินจากธนาคารเดิม หรือธนาคารหรือสถาบันการเงินแห่งใหม่ ต่างมีจุดประสงค์เพื่อขยายระยะเวลาการผ่อนที่เหลือให้นานขึ้น และมีค่างวดน้อยลง หรือ เพื่อให้ผ่อนหมดเร็วขึ้น     คนส่วนใหญ่มักจะนิยมรีไฟแนนซ์บ้าน หรือ คอนโดมิเนียม กันทุกๆ 3  ปี หรือ เมื่อเริ่มที่จะรู้สึกว่าผ่อนไม่ไหว แต่ในความเป็นจริงแล้ว การรีไฟแนนซ์บ้าน ไม่จำเป็นต้องรอให้เรารู้สึกว่าผ่อนบ้านหรือคอนโดไม่ไหวถึงจะยื่นเรื่องขอรีไฟแนนซ์ เพราะ ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ มีกำหนดให้สามารถรีไฟแนนซ์ได้เรื่อยๆ (ทุกรอบ 3ปี) ทั้งนี้เพราะธนาคารและสถาบันการเงินแต่ละแห่งล้วนมีแรงจูงใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงนั่นเอง เพราะอัตราดอกเบี้ยในการกู้เงินซื้อบ้านหรือคอนโดของทุกธนาคารจะถูกแค่ในช่วง 3 ปีแรกเท่านั้น และหลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น หมายความว่าคุณจะต้องจ่ายค่างวดและดอกเบี้ยการผ่อนบ้านในอัตราปกติ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกค้าหลายๆคนจึงเลือกทำการรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารหรือสถาบันการเงินแห่งใหม่นั่นเอง       1.เงื่อนไขการรีไฟแนนซ์ของธนาคารและสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ปัจจัยหลักๆของการกู้สินเชื่อบ้านคือดอกเบี้ย ดังนั้นหากคุณต้องการจะรีไฟแนนซ์ ดอกเบี้ยคือสิ่งที่จะต้องพิจารณาเป็นอย่างแรก อัตราดอกเบี้ยสำหรับการรีไฟแนนซ์ที่เหมาะสม คือ อัตราดอกเบี้ยจะต้องต่ำกว่าดอกเบี้ยตลอดสินเชื่อที่ใช้ในปัจจุบัน รวมทั้งเงื่อนไขเรื่องจำนวนเงินผ่อนต่องวดที่ต้องลดลงและ ระยะการผ่อนที่นานขึ้นเพราะธนาคารและสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ย่อมมีเงื่อนไขการรีไฟแนนซ์ที่ต่างกัน หากคุณรู้เงื่อนไขของธนาคารแต่ละแห่ง จะทำให้เราสามารถคำนวนได้ว่าการรีไฟแนนซ์บ้านแต่ละครั้งมีส่วนช่วยในการลดดอกเบี้ยได้มากน้อยแค่ไหน     2.ค่าใช้จ่ายโดยรวมทั้งหมด อัตราดอกเบี้ย ค่าประเมินราคาทรัพย์สิน ค่าธรรมเนียมการปล่อยกู้ ค่าอากรแสตมป์ ค่าจำนองที่ดิน ค่าทำประกัน หรือค่าบริการอื่นๆ (ค่าประกันอัคคีภัย) ส่วนมากค่าใช้จ่ายโดยรวมนี้คุณสามารถคำนวนได้จากเว็บไซต์ของธนาคารและสถาบันการเงินแต่ละแห่ง เพราะในปัจจุบันธนาคารและสถาบันการเงินที่มีการให้บริการรีไฟแนนซ์ จะมีบริการคำนวนค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกค้าที่ต้องการใช้บริการรีไฟแนนซ์อยู่แล้ว     3.ต้องรู้ว่าใช้เอกสารอะไรในการยื่นขอรีไฟแนนซ์บ้าง สำเนาบัตรประชาชน/สำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมฉบับจริง ใบรับรองเงินเดือน (ย้อนหลัง 3เดือน) หรือ หนังสือผ่านสิทธิสวัสดิการข้อตกลง ฉบับจริง ใบเสร็จการผ่อนชำระย้อนหลัง 24 เดือน (ในกรณีรีไฟแนนซ์บ้านแบบไถ่ถอน) สำเนาบัญชีเงินฝากแสดงรายการย้อนหลัง 6 เดือน และหลักฐานแสดงฐานะการเงินอื่น ๆ พร้อมฉบับจริง หรือ Statement พร้อมเซ็นต์รับรอง หากผู้ยื่นเรื่องขอรีไฟแนนซ์ ประกอบอาชีพส่วนตัว ให้นำสำเนาใบประกอบวิชาชีพ หรือ ใบอนุญาตประกอบการ มาแสดงด้วย แต่หากประกอบธุรกิจให้นำสำเนาทะเบียนการค้า ทะเบียนบริษัท หรือทะเบียนห้างหุ้นส่วนฯ พร้อมยื่นหลักฐานการเสียภาษีเงินได้ แนบใบเสร็จตัวจริงจากกรมสรรพากร ย้อนหลัง 6 เดือน มาด้วย (รูปถ่ายกิจการ จำนวน 3-4 รูป) สำเนาโฉนดที่ดิน/นส.3ก/หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด/อช.2(2ชุด) พร้อมรับรองจาก สนง.ที่ดิน     4.ศึกษาขั้นตอนการรีไฟแนนซ์เบื้องต้น การศึกษาขั้นตอนการรีไฟแนนซ์บ้านจะทำให้คุณประหยัดเวลาในการดำเนินการได้มากขึ้น รวมถึงคุณสามารถเตรียมเอกสารและดำเนินการยื่นเอกสารได้ทันเวลาอีกด้วยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น การติดต่อขอสำเนาสรุปยอดหนี้เงินกู้กับธนาคารเก่า ยื่นเอกสารสรุปยอดหนี้ที่ได้จากธนาคารแห่งเก่าไปขอรีไฟแนนซ์กับธนาคารหรือสถาบันการเงินแห่งใหม่ เจ้าหน้าที่ธนาคารมาประเมินทรัพย์สิน การนัดวันไถ่ถอนที่สำนักงานที่ดินธนาคารเดิม การนัดวันทำสัญญากับธนาคารหรือสถาบันการเงินแห่งใหม่ ดำเนินการเรื่องโอนที่ที่ดินในเขตที่ของเราตั้งอยู่   แม้ว่าข้อมูลต่างๆจะสำคัญต่อการรีไฟแนนซ์บ้าน แต่การศึกษาข้อมูลอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่ทางออกทั้งหมด คุณควรดูปัจจัยจากตัวคุณเพิ่มเข้าไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นรายได้ประจำ เงินเก็บ กำลังทรัพย์ แนวมโน้มทางการเงิน แนวโน้มหน้าที่การงาน รวมถึงการคำนวนความสามารถในการผ่อนค่างวด ดอกเบี้ย รวมถึงระยะเวลาในการผ่อนด้วย  ขอบคุณข้อมูลจาก : https://finance.rabbit.co.th/blog/re-finance-101        
คนผ่อนบ้านกับผ่อนรถ ธนาคารจะอนุมัติบัตรเครดิตให้ใครมากกว่ากัน

คนผ่อนบ้านกับผ่อนรถ ธนาคารจะอนุมัติบัตรเครดิตให้ใครมากกว่ากัน

คนที่อยากมีบัตรเครดิตใช้และได้สมัครบัตรเครดิตกับธนาคารไปก็ย่อมอยากรู้ว่าตัวเองจะได้รับการอนุมัติหรือไม่ ซึ่งความกังวลใจเหล่านี้อาจจะมาจากด้วยหลากหลายเหตุผลที่ทำให้ไม่มั่นใจในการขออนุมัติบัตร เช่น เคยมีประวัติจ่ายหนี้ช้าบ้าง แต่ไม่เคยไม่จ่าย หรือปัจจุบันมีภาระหนี้อยู่เยอะ บางคนก็ผ่อนบ้าน บางคนก็ผ่อนรถยนต์ จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่าระหว่างคนผ่อนบ้านกับผ่อนรถ ธนาคารจะอนุมัติบัตรเครดิตให้ใครมากกว่ากัน   หากมองในมุมของระยะเวลาในการผ่อน การผ่อนรถยนต์ก็จะดูเป็นภาระน้อยกว่าเพราะผ่อนไม่กี่ปีก็จบ ในขณะที่คนที่ผ่อนบ้านจะต้องผ่อนเป็นเวลานานเป็นสิบปีถือว่าเป็นภาระหนี้ที่ยาวนาน ถ้ามองในมุมนี้ โอกาสที่ธนาคารจะอนุมัติบัตรเครดิตให้กับคนที่ผ่อนรถยนต์ก็มากกว่าคนที่ผ่อนบ้าน   แต่หากมองในอีกมุมเรื่องของเครดิตที่เกิดจากการขอสินเชื่อนั้น การที่คนเราได้รับอนุมัติกู้เงินซื้อบ้านได้ต้องถือว่ามีเครดิตที่ดีมาก ต้องผ่านการพิจารณาหลักเกณฑ์ต่าง ๆ จนธนาคารมั่นใจได้จึงปล่อยเครดิตกู้บ้านให้ได้ หากมองในมุมที่การขอสินเชื่อบ้านนั้นยากกว่าการขอสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารก็น่าจะอนุมัติบัตรเครดิตให้กับคนที่ผ่อนบ้านมากกว่าคนที่ผ่อนรถยนต์   ในความเป็นจริงแล้ว เหตุผลที่ธนาคารจะอนุมัติบัตรเครดิตให้กับลูกค้าหรือไม่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องว่าลูกค้าคนนั้นผ่อนบ้านหรือผ่อนรถยนต์อยู่เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องดูปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายด้วย โดยการอนุมัติบัตรเครดิตในปัจจุบันธนาคารจะใช้ระบบที่เรียกว่า Credit Scoring โดยนำหลักเกณฑ์ คุณสมบัติและข้อมูลรายละเอียดของลูกค้ามาจัดทำเป็น Score เพื่อดูว่าลูกค้าคนนั้นผ่านเกณฑ์หรือไม่ หากผ่านเกณฑ์ก็หมายความว่าได้รับอนุมัติ แต่หากไม่ผ่านก็หมายความว่าไม่ได้รับอนุมัตินั่นเอง   โดยข้อมูลที่นำมาเป็นปัจจัยในการทำ Credit Scoring ก็อาจจะแตกต่างกันไปตามนโยบายของแต่ละธนาคาร ธนาคารหลายแห่งใช้ผลวิเคราะห์จากสถิติของลูกค้าธนาคารในอดีตเพื่อนำมากำหนดเป็น Credit Scoring ใช้ในการพิจารณาการอนุมัติหรือไม่อนุมัติบัตรเครดิตใหม่ให้กับลูกค้าด้วย ยกตัวอย่างสิ่งที่จะมีผลกับ Credit Scoring เช่น อายุ คนที่มีอายุน้อยจะได้คะแนนน้อยกว่าคนที่อยู่ในช่วงวัยกลางคนหรือเป็นผู้ใหญ่กว่า เพราะธนาคารมองว่าคนที่เป็นผู้ใหญ่ทำงานมานานมีความมั่นคงทางการงานและการเงินมากกว่า ส่วนคนที่มีอายุน้อยก็อาจเพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นานและยังมีโอกาสที่จะเปลี่ยนงานได้อีก ส่วนคนที่มีอายุมากอยู่ในวัยใกล้เกษียณหรือเกษียณแล้วก็อาจได้คะแนนเครดิตน้อยกว่าคนที่อยู่ในวัยทำงานเพราะธนาคารก็มองอีกเช่นกันว่าคนเหล่านี้อีกไม่นานก็จะถึงวัยที่ไม่ได้ทำงานมีรายได้อีกต่อไป อาชีพ คนที่มีอาชีพมั่นคง เช่น แพทย์หรือวิศวกรมีโอกาสที่จะได้รับอนุมัติบัตรเครดิตมากกว่าอาชีพอื่น ๆ เพราะธนาคารถือว่าการงานมั่นคงต่อให้ต้องย้ายที่ทำงานก็มีงานรองรับแน่นอน เมื่อเทียบกับอาชีพผู้รับเหมาก่อสร้างหรือพนักงานขายที่รายได้อาจจะไม่มั่นคงมีขึ้นมีลงได้ตลอด การศึกษา คนที่มีการศึกษาสูงกว่า เช่น จบปริญญาเอกหรือปริญญาโท มีโอกาสที่จะได้คะแนนเครดิตสูงกว่าคนที่เรียนไม่จบหรือจบแค่ปริญญาตรี เพราะธนาคารมองว่าคือโอกาสในการทำงานที่มีความมั่นคง เพศ มีเช่นกันสำหรับบางธนาคารที่ให้คะแนนเครดิตผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เพราะถือว่าเป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องทำงานและเป็นคนที่มีรายได้ แต่บางธนาคารก็ให้คะแนนเครดิตผู้หญิงมากกว่าก็มี เพราะมองในมุมว่าผู้หญิงมีความรับผิดชอบสูงกว่า ประวัติสินเชื่อ คนที่มีเครดิตคือเคยกู้เงินมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิตใบก่อนหน้า สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์หรือเงินกู้อะไรก็แล้วแต่ ธนาคารจะพิจารณาให้คะแนนเครดิตคนเหล่านี้มากกว่าคนที่ไม่เคยมีเครดิตหรือขอสินเชื่อที่ไหนมาก่อนเลย รายได้ ข้อมูลรายได้ของลูกค้าแน่นอนว่าต้องเป็นส่วนหนึ่งของการให้คะแนนเครดิต คนที่มีรายได้สูงกว่าก็ย่อมมีโอกาสที่จะได้รับอนุมัติบัตรเครดิตมากกว่าคนที่มีรายได้น้อย ภาระหนี้ ภาระหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบันก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะบอกถึงความสามารถในการชำระหนี้ก้อนใหม่ที่ลูกค้ากำลังสมัครเข้ามา ลูกค้าที่มีภาระหนี้น้อยกว่าก็ย่อมมีโอกาสที่จะได้รับอนุมัติบัตรเครดิตมากกว่าลูกค้าที่มีภาระหนี้เยอะ   ที่ยกมาก็เป็นเพียงแค่ตัวอย่างของปัจจัยที่มีผลกับ Credit Scoring ที่ธนาคารใช้เป็นเครื่องมือในการพิจารณาอนุมัติบัตรเครดิตให้กับลูกค้าเท่านั้น อาจมีปัจจัยอะไรอื่น ๆ อีกที่เราไม่สามารถรู้ได้ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นนโยบายของแต่ละธนาคารที่แตกต่างกันไป น้ำหนักคะแนนของแต่ละปัจจัยว่าเรื่องไหนจะมากหรือน้อยก็ไม่มีสูตรตายตัวแล้วแต่นโยบายของแต่ละธนาคารอีก จึงเป็นเรื่องที่ตอบได้ยากในบางครั้งว่าเพราะเหตุใดบางคนถึงสมัครบัตรเครดิตแล้วไม่ผ่าน หรือบางคนสมัครบัตรเครดิตกับธนาคารหนึ่งไม่ผ่าน แต่สมัครกับอีกธนาคารหนึ่งอาจจะผ่านก็เป็นได้   เรื่องการผ่อนบ้านหรือผ่อนรถธนาคารจะอนุมัติบัตรเครดิตให้กับใครมากกว่ากัน จึงเป็นเรื่องที่ตอบยาก ต้องดูเรื่องภาระหนี้ด้วยเป็นสิ่งสำคัญ หากมีรายได้มากแม้ผ่อนบ้านหรือผ่อนรถแล้ว ภาระหนี้ก็ยังไม่ถึง 40% แบบนี้โอกาสที่จะได้รับอนุมัติบัตรเครดิตก็ย่อมสูงขึ้น อย่างลูกค้าบางรายเมื่อได้รับอนุมัติสินเชื่อบ้านเรียบร้อย ผ่อนจ่ายไปไม่กี่เดือน ธนาคารก็โทรมาเสนอบัตรเครดิตให้ใช้โดยไม่ต้องเสียเวลาสมัครก็มี หรืออย่างคนที่ผ่อนรถอยู่ก็มีที่สมัครบัตรเครดิตแล้วได้หรือไม่ได้รับอนุมัติมีทั้งสองแบบด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป   ดังนั้นการที่ธนาคารจะอนุมัติบัตรเครดิตให้หรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราผ่อนบ้านหรือผ่อนรถอยู่เท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ประกอบอีกมากมายขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละธนาคาร   ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://money.sanook.com/424023/
ผ่อนบ้าน (คอนโด) แนวฮาร์ดคอร์ หมดภายใน 7-10 ปี

ผ่อนบ้าน (คอนโด) แนวฮาร์ดคอร์ หมดภายใน 7-10 ปี

วิธีผ่อนบ้านหรือคอนโดให้หมดภายใน 7-10 ปี สำหรับคนที่อยากหมดหนี้บ้านหรือคอนโดไว ๆ ไม่ต้องผ่อนนาน อาจฟังดูเหลือเชื่อ แต่ชายคนนี้ก็ทำได้จริง ๆ   ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจอยากมีสินทรัพย์เป็นของตัวเอง ชายคนนี้เลยคิดหาวิธีผ่อนบ้านให้หมดเร็ว ๆ ที่กล้าบอกเลยว่าทำได้จริง ๆ เพราะเขาทำมาแล้ว อีกทั้งวันนี้ คุณ Mr.Worldwide สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ก็ได้นำประสบการณ์การปลดหนี้บ้านภายใน 7-10 ปีมาบอกต่อกันด้วย ไว้เป็นไกด์ไลน์ให้กับคนที่มีหนี้บ้านหรือคอนโดอยู่ตอนนี้ "ผ่อนบ้าน (คอนโด) แนวฮาร์ดคอร์ หมดภายใน 7-10 ปี" ฟันธง ! โดย คุณ Mr.Worldwide คือผมอยากแชร์ประสบการณ์วิธีผ่อนบ้านและคอนโด ที่ผมเคยทำตั้งแต่ยังเป็นมนุษย์เงินเดือน เริ่มต้นตั้งแต่สมัยที่ผมยังมีเงินเดือนแค่ 14,000 บาท เมื่อประมาณ 18 ปีที่แล้ว เลื่อนตำแหน่งเปลี่ยนงานมาก็มาก จนปัจจุบันมาทำธุรกิจส่วนตัว จึงมั่นใจว่าวิธีการจัดการผ่อนบ้านของผมค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจสำหรับตัวเอง และคิดว่าน่าจะพอเป็นไกด์ไลน์ให้คนที่กำลังจะซื้อบ้านหรือคอนโดมาให้ทราบกันครับ   ขอบอกว่าแนวทางผมอาจจะ "อึดอัด" และต้องมี "วินัยสูง" แต่รับประกันว่าสามารถลดเวลาผ่อนสินทรัพย์ของท่านจาก 25-30 ปีหรืออาจจะมากกว่าจนผ่อน 7-10 ปีได้ !!! ยกตัวอย่างผ่อนบ้าน ผมเริ่มคิดที่จะมีสินทรัพย์แรกคือ ทาวน์โฮมครับ เป็นทาวน์โฮมที่อยู่เกือบจะในเมืองหรือเกือบจะนอกเมือง 555 (คือมันอยู่ปลาย ๆ พระราม 9) ราคาประมาณ 4 ล้านบาท สมัยนั้นผมทำงานบริษัท หน้าที่การงานดี ได้เงินเดือน ๆ ละ 55,000 บาทครับ พอตัดสินใจจะซื้อ เซลส์มักจะโน้มน้าวเราต่าง ๆ นานา เพราะเห็นว่าเราคงกู้ผ่านแน่ ๆ "ผ่อนเดือนละ 20,000 บาทเองค่ะ สบาย ๆ" ประโยคนี้อันตรายครับ เพราะหากเป็นคนทั่วไปมักจะคิดว่าเงินเดือน 5 หมื่นกว่าบาท ผ่อนแค่ 2 หมื่นบาท ชิล ๆ ใช่ไหมครับ ?   วิธีคิดของผมคือ ถ้าเราชอบสินทรัพย์นั้น ๆ ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคอนโด บ้าน หรือทาวน์เฮ้าส์ แต่ท่านตั้งใจจะซื้อแน่นอน "ถ้าเราต้องผ่อน 20,000 บาท (ตัวอย่าง) ให้เราคิดว่าเราต้องผ่อนเป็น "2 เท่า" คือ 40,000 บาทให้ได้ ผมถึงจะซื้อครับ"   อ่านถึงตรงนี้คงมีคนบอก  "ถ้าอย่างนั้นอย่าผ่อนเลย ไม่มีวันมีบ้านหรอกชาตินี้" คิดแบบนั้นก็คือ ผ่อนไปตามนั้นเดือนละ 20,000 บาท ก็จะไปจบที่ผ่อน 25-27 ปี ถึงจะได้เป็นเจ้าของจริง ๆ (โดยประมาณของดอกเบี้ยลดต้นลดดอกของการผ่อนบ้าน) แต่ผมบอกแล้ววิธีผ่อนบ้านของผม "ฮาร์ดคอร์" ทำไมต้องทำถึงขนาดนั้น เพราะรู้ไหมครับว่าดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านแพงมาก ๆ ท่านจะทราบก็ต่อเมื่อเป็นลูกหนี้แล้วเท่านั้น เอาดอกเบี้ยมาตรฐานทั่วไป MLR-1% หรือดอกเบี้ยประมาณ 5-7% ต่อปี เพราะเวลาเราผ่อนบ้าน 1-3 ปีแรก มันจะมีดอกเบี้ยหลายแบบ ทั้ง 0% ปีแรกบ้าง ปีต่อไปลอยตัว (อันนี้ไม่ค่อยมีแล้ว) แบบขั้นบันไดบ้าง ผมขอไม่ลงดีเทลนะครับ ขอสมมุติว่าดอกเบี้ย 5-7% ต่อปีแบบเท่ากันหมด (ซึ่งส่วนใหญ่เราก็ผ่อนกันเกิน 3 ปีกันอยู่แล้ว แล้วค่อยรีไฟแนนซ์ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) แต่ถ้าเอาแบบบ้าน ๆ ก็คือ เวลาบิลเรียกเก็บค่างวดมาที่บ้าน หากท่านผ่อนเดือนละ 20,000 บาท ท่านจะเห็นในบิลเลยว่า ดอกเบี้ย = 12,000 บาท (หัก) เงินต้น = 8,000 บาท (เอาเลขกลม ๆ) นี่คือค่าผ่อนต่อเดือนนะครับ คราวนี้ดอกเบี้ยแพงหรือยังครับ กู้ไป 4 ล้านบาทเมื่อไรจะหมด ? (4,000,000-8,000 = 3,992,000)   แต่ผ่อน "2 เท่า" ตามวิธีของผมก็คือ 40,000 บาท เหลือกินใช้ 15,000 บาท (สำหรับคนไม่มีภาระนะครับ หากมีภาระแล้ว อยากใช้วิธีนี้แนะนำให้ดูสินทรัพย์ที่ถูกลงมาครับ) "20,000 บาทแรก" (ดอกเบี้ย 12,000 บาท+หักเงินต้น 8,000 บาท) "20,000 บาทหลัง" (หักเงินต้น 100% หรือหักไปเลยอีก 20,000 บาท)  ^_^ หมายความว่า ท่านจะสามารถหักเงินต้นเดือนนั้นได้ถึง 8,000+20,000 บาท หรือ "3.5 เท่า" ของการหักโดยปกติ (4,000,000-28,000 = 3,972,000)   เห็นไหมครับว่าเงินต้นที่กู้ธนาคารมาลดลงเร็วขึ้น เพราะเราได้จ่ายดอกเบี้ยสำหรับค่างวด 20,000 บาทแรกแล้ว ท่านก็ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ พอสิ้นปีได้โบนัส ถูกหวย หรือได้เงินพิเศษมาก็จ่ายเพิ่มหนักหน่อย แต่บางครั้งเราก็จำเป็นต้องใช้เงิน ท่านก็สามารถลดเงินค่างวดพิเศษลงได้หรือไม่จ่ายเพิ่มในเดือนนั้น แต่อย่าทำบ่อยนะครับ ถ้ามีครั้งแรกย่อมมีครั้งที่ 2 เสมอ   พอผ่านไปสัก 3 ปี ผมกล้าพูดได้เลยว่าเงินต้นที่ท่านกู้จะลดลงไปมาก ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทแน่นอนครับ หนี้จาก "4 ล้านบาทก็จะเหลือไม่ถึง 3 ล้านบาท ประมาณ 2 ล้านบาทปลาย ๆ (ถ้าผ่อนแบบปกติครบ 3 ปี เงินต้นจะลดไปแค่ 1 แสนบาทเองครับ ลองคิดดู) หากท่านมีวินัย โปะไปเรื่อย ๆ หนี้สินก็จะหมดภายใน 5-7 ปี แล้วท่านก็จะปลอดหนี้ ถ้าไม่สร้างหนี้เพิ่มเหมือนผม   วิธีการคือ ตากปกติธนาคารมักจะให้หักค่างวดจากบัญชีของธนาคารนั้น ๆ เลย (20,000 บาทแรก) โดยเราสามารถจ่ายเพิ่มได้อีก 1 เท่า (20,000 บาทหลัง) ได้โดยการไปจ่ายที่เคาน์เตอร์ธนาคารนั้น ๆ ครับ แนะนำว่าควรไปจ่ายเพิ่มอีก 1 เท่าภายในเดือนนั้น ๆ แต่ควรเป็นต้นเดือน เพราะโดยปกติธนาคารจะเรียกเก็บค่างวดจากการหักบัญชีเราตอนสิ้นเดือน (ส่วนใหญ่วันที่ 30 ของทุกเดือน) เพราะถ้าเราจ่ายวันที่ 1 ของเดือนนั้น ธนาคารจะแอบคิดดอกเบี้ย 1 วัน (ประมาณ 500 บาท) หักเงินต้น (19,500 บาท) อ่าว…ไหนบอกหัก 100% ไง ?? คืออย่าเพิ่งตกใจครับ เพราะตอนธนาคารหักเงินจากบัญชีเรา วันที่ 30 ที่หักค่างวดปกติ ดอกเบี้ยก็จะคิดแค่ 29 วัน ไม่นับวันที่ 1 ที่เราจ่ายแล้วครับ เข้าใจแล้วใช่ไหมครับ   พอครบ 3 ปีเราค่อยไปรีไฟแนนซ์กับธนาคารอื่นที่เราจ่ายดอกเบี้ยน้อยกว่า เพราะจะมีโปรโมชั่นรีไฟแนนซ์ที่ดีกว่า เพราะพอครบ 3 ปีเราจะไม่ได้โปรโมชั่นจากธนาคารเดิมแล้ว "ปีที่ 4 ทุกธนาคารจะคิดดอกเบี้ยลอยตัวหมดครับ"  (ควรไปรีไฟแนนซ์หรือภาษาบ้าน ๆ เรียกว่าไปกู้ธนาคารอื่นครับ เพื่อโปรโมชั่นดอกเบี้ยที่ถูกลง อย่าทำก่อน 3 ปีนะครับ เพราะจะโดนค่าปรับไม่คุ้มครับ)   หวังว่าจะพอเป็นประโยชน์สำหรับคนที่คิดกู้เงินซื้อบ้านนะครับ วิธีการนี้หากใช้ให้เป็น มันสามารถสร้างสินทรัพย์ได้ 4-5 อันในระยะเวลาเท่า ๆ กัน เมื่อเทียบกับคนทั่วไปที่ใช้เวลา 25-30 ปี ในการสร้างสินทรัพย์แค่อันเดียว แล้วถ้าหากสินทรัพย์เหล่านั้นที่ท่านเลือกเป็นสินทรัพย์ที่ดี ออกดอกออกผล สร้างรายได้หรือกระแสเงินสด (Cash Flow) ให้ท่านต่อเดือน เช่น ให้ค่าเช่า มันก็จะเป็นรายได้ให้ท่านอีกทางหนึ่ง หรือที่สมัยนี้นิยมเรียกกันว่า "Passive Income" ขอขอบคุณข้อมูลผ่อนบ้านดีๆ จาก คุณ Mr.Worldwide สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม เกี่ยวกับการผ่อนบ้าน-คอนโด เคล็ดลับผ่อนบ้านให้หมดเร็ว ดอกเบี้ยลด หมดหนี้ไว ผ่อนบ้านไม่ไหว ควรทำอย่างไรดี ผ่อนบ้านหมดไว เหมือนได้รถใหม่ 1 คัน
8 วิธีประเมินกำลังซื้อที่อยู่อาศัย

8 วิธีประเมินกำลังซื้อที่อยู่อาศัย

หากต้องการจะเป็นเจ้าของบ้านหรือคอนโดฯสักแห่ง จะสามารถทราบได้อย่างไร ว่ารายได้ที่มีจะสามารถผ่อนบ้านไหว การประเมินกำลังซื้อและความสามารถในการผ่อนบ้าน คอนโดฯ ก่อนตัดสินใจซื้อจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น นอกจากนั้น การประเมินถึงความเป็นไปได้ยังส่งผลให้ผ่านการกู้ด้วย ซึ่งรายได้กับราคาบ้านต้องสอดคล้องกัน ไม่มีหนี้สินมากเกินไป วันนี้เรามี 8 วิธีที่จะสามารถประเมินกำลังซื้อ ความสามารถในการผ่อนบ้าน คอนโดฯ มาให้ได้อ่านกัน 1. วงเงินกู้ 30-50 เท่าของรายได้สุทธิ ตามปกติธนาคารจะอนุมัติวงเงินกู้ 30-50 เท่าของรายได้สุทธิ แต่ก็ขึ้นอยู่กับอาชีพและฐานรายได้ของผู้กู้ด้วย 2. 1 ใน 3 ส่วนของรายได้สุทธิ ธนาคารให้ผู้กู้ผ่อนบ้านได้เพียง 1 ใน 3 ส่วนของรายได้สุทธิ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวงเงินกู้ด้วย โดยอ้างอิงจากความสามารถในการผ่อน ยกตัวอย่าง มีรายได้เดือนละ 20,000 บาท ผ่อนบ้านได้เต็มที่ประมาณ 6,000 – 7,000 บาท 3. 20,000 บาท รายได้ขั้นต่ำ รายได้ขั้นต่ำที่จะสามารถซื้อบ้านหรือคอนโดฯราคา 1 ล้านบาทได้อย่างสบายๆ อยู่ที่ 20,000 บาท 4. เงินงวดผ่อนต่อเดือนอยู่ที่ 7,000 บาท การกู้เงิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันคือ 7-8 % จำนวนเงินงวดผ่อนจะตกเดือนละ 7,000 บาท ระยะกู้ 20-30 ปี 5. หนี้บัตรเครดิตถูกนำมาคิด 10% ของภาระหนี้สิน หลายคนที่มีปัญหากู้ไม่ผ่านเพราะมีหนี้สินมากเกินไป ทั่วไปการคำนวณภาระหนี้ส่วนของบัตรเครดิตจะอยู่ที่ 10% จากยอดหนี้ ซึ่งก็คือการชำระขั้นต่ำ 6. 90% ของราคาประเมินคือวงเงินกู้ซื้อคอนโด วงเงินกู้สูงสุดที่จะได้รับในกรณีขอกู้ซื้อคอนโดฯใหม่ อยู่ที่ 90% 7. 95% ของราคาประเมินคือวงเงินกู้ซื้อบ้าน วงเงินกู้สูงสุดที่จะได้รับในกรณีขอกู้ซื้อบ้านจัดสรร อยู่ที่ 95% 8. 70-80% ของราคาคือวงเงินกู้ซื้อบ้าน คอนโดฯ มือสอง วงเงินกู้สูงสุดที่จะได้รับในกรณีขอซื้อบ้าน คอนโดฯ มือสอง อยู่ที่ 70-80% แต่หากเป็นสินทรัพย์ของธนาคารนั้น อาจได้วงเงินกู้สูงกว่าทั่วไป จาก 8 ข้อข้างต้น เราสามารถนำมาเป็นเกณฑ์พิจารณากำลังการซื้อของเราได้อย่างคร่าวๆ โดยเปรียบเทียบจากรายได้สุทธิ และหนี้สินที่มี ตรงส่วนนี้ก็สามารถบ่งบอกได้แล้วว่า หากยื่นเรื่องขอกู้สินเชื่อเพื่อซื้อบ้านหรือคอนโดฯ โอกาสที่จะได้รับการอนุมัติมีมากน้อยเท่าใด ลองศึกษาและคำนวณกันดูนะครับ   ขอขอบคุณข้อมูลจาก home.co.th
ผ่อนบ้านอย่างไรให้หมดเร็ว

ผ่อนบ้านอย่างไรให้หมดเร็ว

เดี๋ยวนี้การเป็นเจ้าของบ้านสักหลังหนึ่งไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ต้องรอเก็บเงินก้อนใหญ่ ก็สามารถซื้อบ้านได้ โดยการขอสินเชื่อ ขอเพียงมีรายได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ อาชีพการงานที่มั่นคง มีความสามารถในการชำระหนี้ หรือมีประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาดี ก็มีโอกาสได้รับพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ แต่เมื่อซื้อบ้านด้วยการขอสินเชื่อ สิ่งที่ตามมา ก็คือ ดอกเบี้ย ซึ่งรู้หรือไม่ว่า กว่าเราจะผ่อนบ้านหมดสักหลังหนึ่ง ต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็นเงินเท่าไร แล้วถ้าไม่อยากต้องจ่ายดอกเบี้ยเยอะๆ หรืออยากให้ภาระหนี้ก้อนนี้หมดเร็วๆ จะทำอย่างไรได้บ้าง เรามีคำแนะนำมาฝาก สมมติเรากู้ซื้อบ้าน 3 ล้านบาท ถ้าเลือกผ่อนสัก 10 ปี จะจ่ายดอกเบี้ยประมาณ 9 แสนบาท แล้วถ้าเลือกผ่อนนานขึ้นเป็น 20 ปี คิดเป็นดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมดประมาณ 2.5 ล้านบาท จะเห็นได้ว่า ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในการกู้ซื้อบ้านหลังหนึ่ง เทียบได้กับราคารถยนต์คันหนึ่ง หรือสามารถซื้อบ้านได้อีกหลังหนึ่งเลยทีเดียว แต่เราสามารถประหยัดดอกเบี้ยจากการผ่อนบ้านได้ด้วย 3 เคล็ดลับที่นำมาฝากดังนี้ เคล็ดลับที่ 1 เพิ่มยอดผ่อนในแต่ละงวด แทนที่จะผ่อนบ้านตามยอดผ่อนปกติ ก็เพิ่มเงินผ่อนแต่ละงวดให้มากขึ้นอีกสักหน่อย ก็ช่วยให้หนี้หมดไวขึ้น จากตัวอย่าง กู้ซื้อบ้าน 3 ล้านบาท ถ้าผ่อน 20 ปี จะผ่อนเดือนละ 22,300 บาท และคิดเป็นดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมดประมาณ 2.5 ล้านบาท ถ้าเราเพิ่มเงินผ่อนอีกเดือนละ 10% หรือ 2,230 บาท ระยะเวลาผ่อนบ้านจาก 20 ปีจะเหลือ 17 ปี และจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมดประมาณ 1.9 ล้านบาท ประหยัดดอกเบี้ยได้เกือบ 6 แสนบาท แต่ถ้าเราเพิ่มเงินผ่อนอีกเดือนละ 30% หรือ 6,690 บาท ระยะเวลาผ่อนบ้านจาก 20 ปีจะเหลือ 12.5 ปี และจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมดประมาณ 1.4 ล้านบาท ประหยัดดอกเบี้ยได้ถึง 1.1 ล้านบาท จะเห็นได้ว่า เพิ่มเงินผ่อนบ้านเพียงหลักพันในแต่ละเดือนช่วยให้ประหยัดดอกเบี้ยได้หลักแสนถึงหลักล้าน และหมดหนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งการที่เราจะมีเงินมาผ่อนบ้านในแต่ละเดือนมากขึ้นได้นั้น เพียงแค่ลดค่าสังสรรค์ ค่าชอปปิ้ง เพียงเดือนละไม่กี่พัน ก็จะช่วยให้ผ่อนบ้านหมดไวขึ้น เคล็ดลับที่ 2 โปะบ้านด้วยเงินก้อน เมื่อได้รับเงินก้อน เช่น เงินโบนัส อย่าเพิ่งเอาไปเที่ยว ชอปปิ้ง จนหมด แบ่งมาสร้างอิสรภาพทางการเงินให้ตัวเอง ด้วยการโปะบ้านเพื่อให้ยอดหนี้ลดลง จากตัวอย่างเดิม กู้ซื้อบ้าน 3 ล้านบาท ถ้าผ่อน 20 ปี จะจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมด 2.5 ล้านบาท สมมติเงินเดือนของเราอยู่ที่ 50,000 บาท ได้รับโบนัส 3 เดือน เท่ากับ 150,000 บาท ถ้าแบ่งมาโปะบ้าน 1 แสนบาท โดยโปะเมื่อผ่อนบ้านไปแล้ว 1 ปี และโปะเพียงครั้งเดียว คิดเป็นดอกเบี้ยที่ประหยัดได้ตลอดระยะเวลาที่เหลือเกือบ 3 แสนบาท และระยะเวลาผ่อนบ้านลดลงเกือบ 1.5 ปี จะเห็นได้ว่า โปะบ้านเพียงครั้งเดียวด้วยเงิน 1 แสนบาท ยังประหยัดดอกเบี้ยได้หลายแสน แล้วถ้าโปะบ้านทุกครั้งที่มีเงินก้อนหรือได้เงินโบนัส จะประหยัดดอกเบี้ยได้มากขนาดไหน เมื่อพูดถึงการโปะบ้าน หลายคนอาจสงสัยว่า ถ้ามีเงินก้อนควรเอาไปโปะบ้านหรือเอาไปลงทุนดีกว่ากัน ... ขอแนะนำว่า ถ้าสามารถลงทุนได้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยบ้านที่จ่ายอยู่ ก็คุ้มที่จะนำเงินก้อนไปลงทุน แต่โดยทั่วไปดอกเบี้ยบ้านเฉลี่ยอยู่ที่ 6-7% ต่อปี ซึ่งการลงทุนที่สามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่านี้ มักเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยง เช่น หุ้น โดยมีโอกาสขาดทุนที่สูงได้ ดังนั้น ถ้าไม่มั่นใจเรื่องผลตอบแทนที่จะได้รับ การนำเงินก้อนไปโปะบ้านก็จะคุ้มค่ากว่า เคล็ดลับที่ 3 รีไฟแนนซ์เพื่อลดดอกเบี้ย การรีไฟแนนซ์เป็นการย้ายสถาบันการเงิน หรือขอปรับลดดอกเบี้ยกับสถาบันการเงินที่เราผ่อนบ้านอยู่ โดยทั่วไปจะทำให้เราจ่ายดอกเบี้ยลดลงจากอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายอยู่ในปัจจุบัน แต่ถ้ารีไฟแนนซ์โดยการย้ายสถาบันการเงิน อย่าลืมเปรียบเทียบดอกเบี้ยที่ประหยัดได้ กับค่าใช้จ่ายที่ตามมาจากการรีไฟแนนซ์ ซึ่งได้แก่ 1. ค่าธรรมเนียมในการจำนอง (จ่ายกรมที่ดิน) 1% ของวงเงินกู้ใหม่ 2. ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ใหม่ 3. ค่าประเมินหลักประกัน 2,700 บาท (ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร) ยกตัวอย่างเช่น วงเงินกู้ใหม่ 3 ล้านบาท จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 + 1,500 + 2,700 = 34,200 บาท สมมติ เดิมผ่อนบ้านที่อัตราดอกเบี้ย 7.1% ต่อปี คิดเป็นดอกเบี้ยจ่ายในช่วง 3 ปี ประมาณ 6 แสนบาท แต่ถ้ารีไฟแนนซ์โดยอัตราดอกเบี้ยใหม่อยู่ที่ 5.5% ต่อปี ดอกเบี้ยจ่ายในช่วง 3 ปี รวมกับค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ จะอยู่ที่ประมาณ 5 แสนบาท เห็นได้ว่า การรีไฟแนนซ์ช่วยประหยัดเงินได้ถึงหลักแสน ทั้งนี้ โดยทั่วไปเราสามารถรีไฟแนนซ์ได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับเมื่อผ่อนบ้านไปแล้วอย่างน้อย 3 ปีนับตั้งแต่วันที่เริ่มกู้ ซึ่งค่าธรรมเนียมในการรีไฟแนนซ์ก่อนกำหนดอยู่ที่ 2-3% ของวงเงินกู้ครั้งแรกหรือวงเงินกู้คงเหลือ ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร ดังนั้น ควรดูเงื่อนไขในสัญญาให้ดีก่อนรีไฟแนนซ์ เชื่อว่า ถ้าทุกๆ ท่านที่ผ่อนบ้านอยู่ทำตามเคล็ดลับ 3 ข้อที่แนะนำข้างต้น จะสามารถประหยัดเงินในกระเป๋าที่ต้องจ่ายไปในส่วนของดอกเบี้ยได้เป็นหลักแสนหรือหลักล้าน ที่สำคัญระยะเวลาที่เป็นหนี้ก็ลดลง ทำให้เราได้เป็นเจ้าของบ้านอย่างเต็มตัวเร็วขึ้น   ขอขอบคุณข้อมูลจาก  K-Expert
ผ่อนบ้านหมดไว เหมือนได้รถใหม่ 1 คัน

ผ่อนบ้านหมดไว เหมือนได้รถใหม่ 1 คัน

หากใครที่กำลังจะซื้อบ้าน แล้วคิดว่าจะซื้อด้วยวิธีการกู้เงิน ผ่อนรายเดือนกับธนาคาร ต้องไม่ลืมว่าค่าผ่อนที่จ่ายในแต่ละเดือนนั้น ไม่ได้นำไปชำระเงินต้นทั้งหมด แต่จะชำระดอกเบี้ยจ่ายก่อน ส่วนที่เหลือจึงค่อยชำระเงินต้น ซึ่งการจ่ายค่าผ่อนตามจำนวนเงินที่ธนาคารกำหนดไว้ในแต่ละเดือน โดยไม่มีการผ่อนชำระเพิ่ม เมื่อจ่ายแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนครบกำหนด ดอกเบี้ยทั้งหมดอาจจะสูงถึงประมาณ 70% ของวงเงินกู้เลยทีเดียว แต่ถ้าเราเลือกที่จะชำระค่าผ่อนบ้านเพิ่มจากการผ่อนปกติ รู้หรือไม่ว่าวิธีนี้จะช่วยให้เราประหยัดดอกเบี้ยจ่ายเท่ากับได้รถใหม่มา 1 คัน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นเรามีคำตอบครับ   ยิ่งจ่ายมาก ยิ่งลดมาก ปกติแล้วดอกเบี้ยบ้านจะคิดแบบลดต้นลดดอก หมายความว่าดอกเบี้ยที่ต้องชำระในแต่ละเดือนจะคำนวณจากเงินต้นคงเหลือของเดือนนั้นๆ   ตัวอย่างเช่น สมมุติว่า กู้เงินซื้อบ้าน 2,000,000 บาท ธนาคารกำหนดให้ผ่อนชำระเดือนละ 15,000 บาท เป็นระยะเวลา 30 ปี อัตราดอกเบี้ยปีแรก 2.50% ต่อปี หลังจากนั้น MRR-1 (สมมุติให้ 1 เดือนเท่ากับ 30 วัน) ในเดือนแรกจะเสียดอกเบี้ยอยู่ที่ [2,000,000X2.5%] X [30/365]  = 4,109.59 บาท เมื่อจ่ายชำระค่าผ่อน 15,000 บาท จะถูกนำไปชำระดอกเบี้ยก่อน 4,109.59 บาท ส่วนที่เหลือ 15,000 – 4,109.59 = 10,890.41 บาท ค่อยนำไปชำระเงินต้น เท่ากับว่าเงินต้นคงเหลือจะอยู่ที่ 2,000,000 – 10,890.41 = 1,989,109.59 บาท และเงินต้นคงเหลือก็จะนำไปใช้คำนวณดอกเบี้ยในเดือนถัดไป ซึ่งเท่ากับ [1,989,109.59X2.5%] X [30/365]  = 4,087.21 บาท จะเห็นได้ว่าหากอัตราดอกเบี้ยเท่ากัน ในเดือนถัดไปดอกเบี้ยจะลดลงตามเงินต้นที่ลดลง ดังนั้นการผ่อนชำระหนี้ในแต่ละเดือนด้วยจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นก็จะยิ่งทำให้เงินต้นลดลง ซึ่งเท่ากับว่าดอกเบี้ยจ่ายก็จะลดลงด้วยเช่นกันครับ   ผ่อนเพิ่มแค่เดือนละ 2,000 บาท ประหยัดดอกเบี้ยเท่ากับราคารถอีโคคาร์ 1 คัน จากตัวอย่างจะพบว่าหากเลือกผ่อนชำระเดือนละ 15,000 บาท ตามที่ธนาคารกำหนดไว้ไปเรื่อยๆ จนครบกำหนด ดอกเบี้ยจ่ายทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 1,600,000 บาท แต่หากผ่อนเพิ่มแค่เดือนละ 2,000 บาท จากผ่อนเดือนละ 15,000 บาท เป็น 17,000 บาท ดอกเบี้ยจ่ายทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 1,170,000 บาท เมื่อเปรียบเทียบดอกเบี้ยจ่ายแล้ว การผ่อนเพิ่มเดือนละ 2,000 บาท จะช่วยให้ประหยัดดอกเบี้ยได้ถึง 430,000 บาท และช่วยร่นระยะเวลาในการผ่อนบ้านให้เร็วขึ้นถึงประมาณ 5 ปี   นอกจากนี้หากเราได้รับเงินก้อน ไม่ว่าจะเป็น เงินโบนัส ค่าคอมมิชชั่น ก็อย่าลืมแบ่งเงินบางส่วนนี้ไปโปะบ้านด้วยนะครับ จะได้ประหยัดดอกเบี้ยจ่าย และหมดภาระหนี้สินเร็วขึ้นครับ   ขอขอบคุณข้อมูลจาก K-Expert
6 เหตุผลที่ควรลงทุนอสังหาฯ ก่อนอายุ 30

6 เหตุผลที่ควรลงทุนอสังหาฯ ก่อนอายุ 30

การลงทุนยิ่งเริ่มต้นไว ยิ่งได้ผลตอบแทนเร็ว วัยที่เหมาะกับการลงทุนมากที่สุด คือ วัยที่จบการศึกษาและมีงานมีการทำเรียบร้อย นั่นคือช่วงอายุระหว่าง 25 – 30 ปี แต่ในวัยดังกล่าว มักเป็นวัยที่มีสิ่งยั่วยุสูง เพราะเพิ่งเริ่มต้นสัมผัสอำนาจของเงินและรายได้ด้วยตัวเองรายได้ของคนในวัยนี้จึงมักละลายไปกับสังคม ข้าวของ ท่องเที่ยว จนพบได้บ่อยๆ ว่าคนทำงานช่วง 2 – 3 ปีแรกไม่สามารถเก็บเงินได้ จะเริ่มมีเงินเก็บจริงๆ จังๆ คือเมื่อเริ่มแตะหลัก 30 ไปแล้ว ซึ่งหากเทียบกับคนที่เตรียมตัวไวกว่าก็ถือเป็นการเสียโอกาส หนึ่งในการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับคนวัยไม่ถึงเลข 3 คือ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีข้อดีคือได้ผลตอบแทนในระยะยาว เป็นเงินจำนวนมาก และสม่ำเสมอ การลงทุนอสังหาริมทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ ควรเริ่มต้นก่อนอายุ 30 ด้วย 6 เหตุผล ต่อไปนี้ เป็นที่อยู่อาศัย คนวัยก่อน 30 หลายคนทำงานไกลบ้าน พักอยู่หอพักและเสียค่าเช่าทุกเดือน ซึ่งจำนวนค่าเช่าที่เสียไป สามารถนำมาผ่อนบ้านหรือคอนโดมิเนียมได้ เป็นการกู้ยืมอัตราดอกเบี้ยต่ำ ระยะยาว ดอกเบี้ยบ้านคือดอกเบี้ยที่น้อยที่สุดกับเงินก้อนใหญ่และมีระยะเวลาในการผ่อนชำระนานที่สุด การผ่อนบ้าน มีระยะเวลาในสัญญาสูงสุดนานถึง 30 ปี และด้วยอัตราดอกเบี้ยที่หลากหลาย การซื้ออสังหาริมทรัพย์จึงไม่ใช่ภาระหนักอึ้ง ปล่อยเช่าได้ (Passive Income) อสังหาริมทรัพย์มีข้อดีที่สุดคือเป็นทรัพย์สินถาวร และมีมูลค่าเพิ่มตลอดเวลา ยิ่งซื้อบ้านและปล่อยเช่าเมื่ออายุน้อยเท่าไหร่ รายรับที่ได้ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย เช่น ซื้อคอนโดมิเนียมมา 2 ล้านบาท ปล่อยเช่าเดือนละ 15,000 บาท สินทรัพย์ชิ้นนี้จะทำรายได้ 180,000 บาท/ปี และอาจเพิ่มได้เรื่อยๆตามศักยภาพของทำเล หากปล่อยเช่าเมื่ออายุ 25 เมื่ออายุ 30 จะมีรายได้จากคอนโดมิเนียมแห่งนี้แล้ว 900,000 บาท ทำเงินได้เกือบล้าน เมื่ออายุ 30 น่าสนใจใช่ไหม เป็นมรดก อสังหาริมทรัพย์ถือเป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่คนทุกยุคทุกสมัยเลือกที่จะนำมาเป็นสินทรัพย์ที่สร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองและจุดเด่นอีกจุดหนึ่งคือนำมาเป็นมรดกส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานได้ จะเห็นได้จากนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จหลายคนที่ได้รับมรดกจากพ่อแม่และบรรพบุรุษทั้งที่ดิน บ้าน โรงแรม เป็นต้น แล้วสามารถนำทรัพย์สินเหล่านั้นมาพัฒนาหรือขายต่อเพื่อก่อร่างสร้างตัวจากอสังหาริมทรัพย์จนประสบความสำเร็จในอนาคตได้ เป็นหลักประกันชั้นเยี่ยม อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันที่ทุกสถาบันการเงินอ้าแขนรับหากต้องการเงินลงทุนก้อนใหญ่ อสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในมือจะแปรเป็นเงินได้อย่างง่ายดาย เพราะชีวิตคือความไม่แน่นอน ยิ่งในคนอายุน้อยๆการเปลี่ยนแปลงทางหน้าที่การงานหรือความผิดพลาดทางธุรกิจคือสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เป็นการลงทุนที่ชนะเงินเฟ้อ เนื่องจากในปัจจุบันปัญญาเงินเฟ้อเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะลดทอนมูลค่าเงินในกระเป๋าของท่านให้มีค่าลดน้อยลง การลงทุนอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถเอาชนะกับปัญหาเงินเฟ้อได้คือการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ บางคนอาจจะบอกว่าก่อนอายุ 30 ปี จะมีเงินพอได้อย่างไรที่จะนำเงินไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงหลักแสนหลักล้าน เพราะคนส่วนใหญ่ในช่วงอายุนี้ทำงานประจำและเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีเงินไม่มากพอที่จะลงทุน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ได้ถูกแก้ปัญหาออกไปเนื่องจากนวัตกรรมทางด้านการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปสามารถนำอสังหาริมทรัพย์แบ่งออกเป็นหน่วยย่อยๆได้เพื่อให้คนหลายๆคนสามารถเข้ามาถือครองในอสังหาริมทรัพย์ชิ้นนั้นเป็นการถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันได้ เราเรียกการลงทุนนี้ว่า การลงทุนในกองทุนรวมอสังริมทรัพย์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องลงทุนหลักแสน หลักล้าน เพียงแค่มีเงินลงทุนขึ้นต่ำ 500 บาท ขึ้นไป สามารถลงทุนได้ การลงทุนก่อนอายุ 30 เป็นสิ่งที่ดีและควรทำที่สุดด้วยเหตุผลต่างๆที่กล่าวมาแล้ว แต่คนวัยนี้มักมีข้อจำกัดคือยังไม่สามารถหาทุนมาใช้กับอสังหาริมทรัพย์ได้ เพราะช่วงเวลา 2 – 3 ปีแรก รายได้จากการทำงานไม่ได้มากมายและอำนาจของเงินที่ได้ด้วยตัวเองก็ช่างเย้ายวน ดังนั้นเมื่อเริ่มทำงานใหม่ๆจึงควรตั้งสติให้มั่นและเก็บเงินเก็บทองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่ออนาคต   ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.terrabkk.com