Tag : living

432 ผลลัพธ์
ปัญหายอดฮิต ของชาวคอนโด

ปัญหายอดฮิต ของชาวคอนโด

ปัญหายอดฮิต ของชาวคอนโดที่ต้องเจอ เคยได้ยินคนบอกกันมั้ยครับว่า "ปัญหามีไว้แก้" หรือ "ปัญหามีไว้ฝึกปัญญา" แต่หลายๆ ครั้งก็ต้องยอมรับกันครับว่า ปัญหาในคอนโดบ้านเราเป็นปัญหาที่ต้องทำใจ และทำใจกันอย่างเดียว! วันนี้เราลองมาดูกันครับว่า ปัญหาหรือคำถามยอดฮิตที่พวกเราน่าจะเจอกันประจำในคอนโดมีอะไรบ้าง 1. ที่จอดรถไม่พอ ปัญหาอมตะครับสำหรับคอนโดเมืองไทย แถมพ่วงด้วยปัญหาต่อเนื่องอื่นอีก เช่น จอดรถซ้อนกัน (โดยเฉพาะในชั้นเตี้ยทั้งที่ชั้นสูงก็ยังมีที่จอด) คนที่มีสิทธิจอดไม่ตายตัว (Float) แต่ไปแอบจอดในตำแหน่งตายตัว (Fixed) ของคนอื่น โชคไม่ดีครับว่า สคบ. และกฎหมายบ้านเรายังไม่มีกฎเกณฑ์บังคับกับผู้ประกอบการว่าจะต้องทำที่จอดรถอย่างน้อยเท่าไหร่ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจ (และ Profit Margin) ของผู้ประกอบการแต่ละรายเองว่าจะทำเป็นสัดส่วนเท่าไร เช่น 100 ห้องอาจทำที่จอดครบ 100 ตำแหน่ง หรือ 100 ห้องแต่มีที่จอดแค่ 60 ตำแหน่ง (รวมหรือไม่รวมจอดซ้อน) วิธีเลี่ยงปัญหาที่ดีที่สุดคือ ซื้อคอนโดแบบมีกรรมสิทธิ์ในที่จอดรถด้วย (ซึ่งจะต้องระบุกรรมสิทธิ์ชัดเจนในหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดด้วย)แต่ราคาก็จะแพงสุดๆ ทีเดียว หรือเสนอที่ประชุมให้ตั้งกฎกติกาจอดรถชัดเจน เช่น กำหนดตายตัวให้จอดรถได้ 1 ห้องต่อ 1 คัน เท่าเทียมกันทุกห้อง (ไม่ว่าห้องเล็กหรือห้องใหญ่) ส่วนคันต่อไปต้องเสียเงิน หรือต้องจอดนอกโรงจอดรถหรือกำหนดว่าหากมีการจอดทับสิทธิบนตำแหน่งที่จอดรถตายตัวของคนอื่น ก็ให้มีการล็อคล้อกันไปเลย เป็นต้น   2. ไม่เข้าร่วมประชุมลูกบ้าน กฎหมายคอนโดกำหนดให้มีการเรียกประชุมใหญ่ (สามัญ) ลูกบ้านปีละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย (และอาจมีประชุมย่อยที่เรียกว่าวิสามัญได้อีกกี่ครั้งก็ได้) การไม่เข้าประชุมไม่มีความผิดใดๆแต่จะทำให้เสียสิทธิในการแสดงความเห็น และออกเสียงในการบริหารจัดการคอนโด ในการประชุมออกเสียงลงคะแนน ต้องยอมรับครับว่าห้องใหญ่จะมีคะแนนเสียงมากกว่าห้องเล็ก เพราะคะแนนเสียงจะเท่ากับสัดส่วนพื้นที่ของแต่ละห้องต่อพื้นที่ทั้งหมดของทุกห้องในอาคารนั้นข้อแนะนำคือปกติเวลาจะมีประชุม เราจะได้รับเอกสารนัดประชุมพร้อมเรื่องที่จะมีการประชุมกัน ถ้าเราเจอเรื่องสำคัญ (เช่น พิจารณาการขึ้นค่าส่วนกลาง) หรือเป็นเรื่องที่กระทบกับความเป็นอยู่เรา (เช่น การเปลี่ยนกฎเกณฑ์การจอดรถ)เราก็ควรเข้าประชุม หรือมอบฉันทะให้เพื่อน หรือคนรู้จักในคอนโดเข้าร่วมประชุม และออกเสียงแทน แต่ผู้รับมอบฉันทะ 1 คนจะรับมอบอำนาจจากคนอื่นเกิน 3 ห้องไม่ได้นะครับ และจะมอบให้กรรมการ เจ้าหน้าที่นิติฯ หรือผู้จัดการนิติฯหรือผู้จัดการนิติฯ เป็นผู้รับมอบก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะทั้งหมดนี้กฎหมายห้ามไว้ หากเราเป็นกรรมการแล้วอยากให้เข้าร่วมประชุมกันเยอะๆ ก็อาจกระตุ้นโดยการแถมคูปองจอดรถสำหรับ Visitor ให้คนที่เข้าร่วมประชุมโดยมีมูลค่าแล้วแต่จะกำหนดวิธีนี้ก็ได้ผลดีไม่เลวเหมือนกัน   3. ใช้ทรัพย์ส่วนกลางกันจนเสียหาย และไม่เกรงใจเพื่อนบ้าน ปัญหานี้มีสารพัดมากมาย ตั้งแต่ทิ้งขวดน้ำกระป๋องเบียร์ไว้ข้างสระว่ายน้ำ จัดงานปาร์ตี้เสียงดังในสวน โยนรองเท้า กองถุงขยะไว้หน้าห้อง พาคนนอกเข้ามาใช้ยิม รือห้องอ่านหนังสือ ซึ่งเรื่องพวกนี้คงต้องอาศัยพวกเราชาวคอนโดช่วยกันเป็นหูเป็นตาแจ้งให้นิติฯ จัดการ โดยปกติในข้อบังคับทุกคอนโดจะเขียนไว้ว่า ถ้ามีการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้ทรัพย์ส่วนกลางเหล่านี้ ผลจะเป็นเช่นไร เช่น เรียกค่าเสียหาย แจ้งความ งดการให้บริการสาธารณูปโภค แต่ปัญหาคอนโดบ้านเรา คือการบังคับใช้กฎ เพราะแม้จะเขียนกฎไว้ แต่ถ้านิติฯ ไม่บังคับใช้กฎอย่างจริงจัง ปัญหาบางอย่างก็บานปลายออกไปได้ หรือแม้กระทั่งเรื่องเล็กน้อย อย่างเช่น การเจาะกำแพงแขวนนาฬิกาบนผนังด้านที่ติดกับอีกห้องหนึ่งโดยไม่ถามเขาก่อน เพราะถ้าว่ากันตามหลักแล้ว เรื่องนี้ก็ถือว่าผิดเช่นกัน เพราะผนังกั้นห้องนี้ถือเป็นกรรมสิทธิ์รวมของเจ้าของห้อง 2 ห้องที่ติดกันนี้นะครับ ดังนั้น ถ้าจะทำอะไรกับผนังนี้ต้องได้รับความยินยอมจากห้องที่ติดกันนี้ก่อนเสมอครับ   4. เลี้ยงสัตว์ในคอนโด คอนโดบ้านเราส่วนใหญ่จะมีกฎห้ามเลี้ยงสุนัข หรือแมว ทั้งนี้เพื่อความเป็นระเบียบ สะอาด และเงียบสงบของผู้อยู่อาศัยทุกคน ทางที่ดีทุกคนควรรักษากฎข้อนี้นะครับเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ถ้าท่านใดอยากเลี้ยงสุนัข หรือแมวจริงๆ ขอแนะนำให้มองหาคอนโดที่ยอมให้เลี้ยงได้ ในกรณีที่เราเห็นคนเลี้ยงสุนัข หรือแมวซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับคอนโด เราควรแจ้งนิติฯ ให้เข้ามาจัดการโดยเร็วเพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เพราะถ้าเราปล่อยให้คนทำผิดข้อบังคับไปเรื่อยๆ โดยไม่มีใครร้องเรียน หรือจัดการ จะทำให้การดำเนินการกับเจ้าของห้องที่แอบเลี้ยงสุนัขเป็นไปได้ยากขึ้นเรื่อยๆ   5. โทรศัพท์มือถือสัญญาณแย่ คอนโดห้องสูงในหลายๆ คอนโดมักจะมีปัญหานี้โดยส่วนใหญ่จะเริ่มมีปัญหากันตั้งแต่ชั้น 10 ขึ้นไป (หรือแม้กระทั่งบางทีห้องชั้นเดียวกัน แต่ห้องด้านหนึ่งมีสัญญาณ แต่ห้องอีกด้านกลับไม่มี)  ทั้งนี้ เป็นเพราะว่าในแง่วิศวกรรมนั้น การส่งสัญญาณโทรศัพท์จะเป็นการส่งลงมาจากเสาสัญญาณที่สูง เป็นรูปกรวยลงมาบนพื้นดิน ไม่ได้ยิงในระนาบเดียวกับเสาสัญญาณ ทำให้ห้องที่อยู่สูงๆ หรือห้องบางทิศไม่สามารถรับสัญญาณโทรศัพท์ที่เพียงพอได้ วิธีที่อาจจะช่วยแก้ปัญหาได้คือ ขอให้นิติฯ ติดต่อค่ายโทรศัพท์ให้เข้ามาติดตั้งตัวขยายสัญญาณเพิ่มในคอนโด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งค่ายโทรศัพท์ และนิติฯ ทั้งสองฝ่ายด้วยครับ (เช่น นิติฯ ต้องยอมเสียค่าใช้จ่ายในการติดตั้งด้วย  เป็นต้น) หรือหากคอนโด หรือละแวกนั้นมีปัญหากันมากๆ ก็คงต้องรวมตัวกันติดต่อไปที่ค่ายโทรศัพท์ เพื่อให้ติดเสาสัญญาณ หรืออุปกรณ์เครือข่ายเพิ่มในละแวกนั้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะค่าใช้จ่ายจะสูงมากสำหรับค่ายโทรศัพท์ (และจะไม่เกี่ยวกับนิติฯ คอนโดของเรา   6. ค้างค่าส่วนกลาง หรือเงินส่วนกลางหาย ปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่เกิดบ่อย คือ ลูกบ้านบางคนไม่จ่ายค่าส่วนกลาง นิติฯ หรือคณะกรรมการบางคนทำตัวมาเฟียไม่โปร่งใสในเรื่องเงินๆ ทองๆ ในการบริหารจัดการคอนโด ปัญหาแรกเป็นเรื่องของการทำผิดกฎหมายคอนโดชัดเจน พราะกฎหมายกำหนดให้ลูกบ้านต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ผลของการไม่จ่ายตามกฎหมายคือ (ก) อาจโดนเงินเพิ่มร้อยละ 12 และถ้าค้างเกิน 6 เดือนอาจโดนถึงร้อยละ 20 และอาจถูกระงับการให้บริการสาธารณูปโภค หรือใช้ทรัพย์ส่วนกลางด้วย และ (ข) คอนโดห้องที่ค้างชำระส่วนกลางจะทำนิติกรรมการโอนไม่ได้ เพราะผู้จัดการนิติฯ จะไม่ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้ ซึ่งจะทำให้จดทะเบียนขายไม่ได้ ส่วนปัญหาเรื่องไม่โปร่งใสนั้น กฎหมายกำหนดให้นิติฯ จะต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายทุกเดือน และติดประกาศให้ลูกบ้านทราบทุกเดือน นอกจากนี้ นิติฯ จะต้องทำรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงาน และงบดุล และปิดประกาศไว้ที่สำนักงานนิติฯ และเก็บไว้อย่างน้อย 10 ปีด้วย และหากนิติฯ ไม่ทำสิ่งเหล่านี้ ผู้จัดการนิติฯและประธานคณะกรรมการจะมีความผิด และต้องรับโทษปรับตามกฎหมายคอนโด ดังนั้น วิธีแก้คือพวกเราควรช่วยกันสอดส่องตัวเลขเหล่านี้ และถ้าเจออะไรมีพิรุธก็ควรดำเนินการตามกฎหมายทันที   7. ปัญหาน้ำรั่วน้ำซึม ปัญหานี้เกิดขึ้นได้บ่อยจากหลายสาเหตุ เช่น บางห้องไม่อยู่นานแล้วลืมปิดก๊อกน้ำ ปั๊มน้ำคอนโด หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของระบบแรงดันน้ำรั่วหรือเสีย รอยต่อท่อส่วนกลางรั่วหรือแตก เป็นต้น ดังนั้นถ้าจะดูว่าใครต้องรับผิดชอบคงต้องดูว่าสาเหตุเกิดจากอะไร วิธีปฏิบัติที่ดีหากเกิดกรณีเช่นนี้คือ แจ้งให้นิติฯ ทราบเพื่อเข้ามาช่วยดู และพิจารณาร่วมกันว่า น้ำที่รั่วเกิดจากสาเหตุอะไร เกิดจากทรัพย์สินของใคร และจะรับผิดชอบกันอย่างไร แต่ในบางกรณีก็เป็นการยากที่จะขีดเส้นแบ่งว่า น้ำที่รั่วเกิดจากทรัพย์ส่วนบุคคลของห้องชุดห้องไหน (ซึ่งเจ้าของห้องชุดนั้นเองจะต้องรับผิดชอบ) หรือเกิดจากทรัพย์ส่วนกลาง (ซึ่งนิติฯ จะต้องรับผิดชอบ) ซึ่งถ้าไม่ชัดเจนแบบนี้ ก็คงขึ้นอยู่กับความเห็นของช่างประปา การพูดคุยหารือกันของเจ้าของห้องที่ได้รับผลกระทบ และการเข้ามาช่วยแก้ปัญหา หรือเจรจาไกล่เกลี่ยของนิติฯ แต่ถ้าชัดเจนว่าเกิดจากเจ้าของห้องใดห้องหนึ่ง เช่น เจ้าของห้องไม่อยู่แล้วเปิดน้ำทิ้งไว้อย่างประมาทเลินเล่อ แล้วเจ้าของห้องนี้ไม่ยอมรับผิดชอบ ห้องติดกันที่เสียหายมีสิทธิเล่นงานตามกฎหมาย สามารถเรียกค่าเสียหายจากเจ้าของห้องนี้ได้เลยครับ โดยถือเป็นความผิดฐานละเมิดสร้างความเสียหายให้แก่ผู้อื่น   8. ยาม และแม่บ้านละเลยหน้าที่ ปัญหานี้เกิดขึ้นได้ทั้งในอาคาร แหล่งพักอาศัย และคอนโดทุกประเภท หากรปภ.ปล่อยปละละเลยในการต้องแลกบัตรของ Visitor ไม่บังคับใช้กฎกับคนที่จอดรถไม่ถูกที่ถูกทาง หรือแม่บ้านไม่ทำความสะอาดส่วนกลางให้ดี หรือมาทำงานสายเป็นประจำ ปัญหาเหล่านี้จะมีผลต่อเนื่องไปถึงเรื่องความปลอดภัยของลูกบ้าน และความสะอาดภายในคอนโด ทางแก้ในเรื่องนี้คือ นิติบุคคลอาคารชุดจะต้องกำกับดูแลการทำงานของยาม และแม่บ้านอย่างเข้มงวด และลูกบ้านก็ควรจะช่วยกันสอดส่องดูแลการทำงานของยาม และแม่บ้านเหล่านี้ด้วย หากเห็นว่ายาม หรือแม่บ้านละเลยไม่ทำหน้าที่ที่ควรทำ เราก็ควรดำเนินการ หรือแจ้งให้ผู้จัดการนิติบุคคลทราบเพื่อแก้ปัญหากันต่อไปครับ   9. อาคารชำรุดเสียหายควรทำอย่างไร ความเห็นในเชิงวิศวกรรมส่วนใหญ่เห็นว่า อาคารคอนโดสามารถยืนระยะให้อยู่ในสภาพที่ดี หรือใช้การได้ดีได้นานอย่างน้อยถึงประมาณ 30 ปี (ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาซ่อมแซมเป็นหลักด้วย) แล้วถ้าเกิดความเสียหาย เช่น ไฟไหม้ หรือแผ่นดินไหวกับตัวตึกก่อนหรือหลังจากนั้น ตามหลักแล้ว ถ้าอาคารเสียหายไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน การจะซ่อมหรือไม่ซ่อมอย่างไรนั้น จะขึ้นอยู่กับมติของเจ้าของห้องชุดเป็นหลักเสมอครับ เช่น ถ้าว่ากันตามหลักกฎหมายคอนโดบ้านเราตอนนี้ ถ้าเกิดกรณีเสียหายทั้งหมด หรือบางส่วน แต่เกินครึ่งของจำนวนห้องชุดทั้งหมด จะขึ้นอยู่กับมติไม่น้อยกว่า 50% ของจำนวนห้องชุดทุกห้อง แต่ถ้าเสียหายบางส่วน หรือไม่ถึงครึ่งของจำนวนห้องชุดทั้งหมด จะขึ้นอยู่กับมติไม่น้อยกว่า 50% ของเจ้าของห้องชุดที่เสียหาย ซึ่งไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม ค่าใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมทรัพย์ส่วนกลาง เจ้าของห้องชุดทุกคนจะต้องร่วมกันรับผิดชอบเฉลี่ยตามส่วนที่ตนมีในทรัพย์ส่วนกลาง แต่ถ้าเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมทรัพย์ส่วนบุคคลในห้องชุดของแต่ละคน เจ้าของห้องชุดที่เสียหายต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองนะครับ ซึ่งถ้ามีการทำประกันภัยครอบคลุมความเสียหายพวกนี้ไว้ ก็จะเป็นประโยชน์ทีเดียว   10. นิติบุคคลอาคารชุดไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหาสุดท้ายแต่เป็นปัญหาที่ใหญ่ทีเดียว โดยหลักแล้ว วัตถุประสงค์ของการมีนิติบุคคลอาคารชุดตามกฎหมายคือ เพื่อจัดการ และดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และให้มีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว โดยในตัวของนิติบุคคลเองก็จะประกอบไปด้วย 1) ผู้จัดการ 1 คน (แต่งตั้งตามมติที่ประชุมใหญ่ของลูกบ้าน) โดยผู้จัดการมีหน้าที่ปฏิบัติตามมติที่ประชุมลูกบ้าน จัดให้มีการดูแลความปลอดภัย หรือความสงบเรียบร้อย จัดให้มีการทำบัญชีรายรับรายจ่าย และอื่นๆ 2) คณะกรรมการนิติบุคคล (แต่งตั้งโดยที่ประชุมลูกบ้าน) โดยคณะกรรมการจะมีหน้าที่ควบคุมจัดการนิติบุคคลอาคารชุด และอื่นๆ ในทางปฏิบัติ ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นคือ ผู้จัดการอาจไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ในการบังคับใช้กฎ หรือขาดซึ่งประสบการณ์ในการจัดการกับผู้อยู่อาศัยในคอนโด ในทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าเป็นการยากที่จะหาคนเข้ามาเป็นคณะกรรมการ (โดยเฉพาะคนที่มีประสบการณ์ที่เหมาะสมที่จะเข้ามาเป็น เช่น นักบัญชี นักกฎหมาย หรือวิศวกรที่รู้เรื่องอาคาร) เพราะการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการนั้นจำเป็นต้องมีเวลาพอสมควร เช่น ต้องเข้าร่วมประชุมบ่อย แถมยังเปลืองตัวโดนด่า (ต้องตัดสินใจในเรื่องที่ไม่ค่อยเป็นที่ชื่นชอบของลูกบ้านหลายๆ คนแต่เป็นประโยชน์สำหรับส่วนรวม) และการเป็นคณะกรรมการก็ไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นหากคนที่เข้ามาเป็นผู้จัดการ หรือคณะกรรมการไม่มีประสิทธิภาพ ความรู้ หรือประสบการณ์ในการแก้ปัญหาที่เพียงพอ ก็อาจนำมาซึ่งปัญหา หรือทำให้ปัญหาบางอย่างเรื้อรังได้ง่ายๆ
3 สัญญาซื้อขายคอนโด-บ้าน ก่อนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์

3 สัญญาซื้อขายคอนโด-บ้าน ก่อนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์

ซื้อคอนโดไม่ใช่เรื่องเล็ก ต้องเช็คสัญญาให้ดี รู้หรือไม่ การซื้อบ้านหนึ่งหลัง ผู้ซื้ออาจต้องทำสัญญาถึง 3 สัญญาด้วยกัน จึงจะได้กรรมสิทธิ์ในตัวบ้านโอนมาเป็นของคนซื้อ อาจจะฟังดูเหมือนการซื้อบ้านหลังหนึ่งมีความซับซ้อน แต่จริงๆ แล้ว หากเข้าใจความหมายและหน้าที่ของสัญญาทั้ง 3 แล้ว จะพบว่าไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิดไว้เลย ซึ่งสัญญาทั้ง 3 ที่ผู้ซื้อสามารถพบเจอได้นั้น ประกอบไปด้วย สัญญาจอง ซื้อเป็นสัญญาแรกที่เกิดขึ้น แต่อาจไม่ได้เกิดกับผู้ซื้อทุกคน สัญญาประเภทนี้คือ เมื่อผู้ซื้อตกลงใจที่จะซื้อบ้านก็ต้องวางเงินจองเอาไว้ก่อน ซึ่งสัญญาจองซื้อนี้ระบุเงื่อนไขให้ผู้ซื้อต้องผ่อนเงินดาวน์ไปเรื่อยๆ ตามรายการแนบท้ายสัญญา แต่สัญญาจองซื้อนี้จะมีข้อเสียเปรียบตรงที่ หากผู้ขายได้รับใบอนุญาตให้ปลูกสร้างจากหน่วยงานราชการแล้ว ผู้ซื้อต้องเข้ามาทำสัญญาจะซื้อจะขายอีกครั้ง และมักมีเงื่อนไขระบุว่า หากไม่มาทำสัญญาจะซื้อจะขาย จะถือเป็นการยกเลิกสัญญาและจะริบเงินมัดจำทั้งหมด แต่หากครบกำหนดผ่อนชำระแล้ว ผู้ขายไม่สามารถขออนุญาตก่อสร้างได้ก็จะคืนเงินให้แต่ไม่มีดอกเบี้ย สัญญาจะซื้อจะขาย เป็นสัญญาที่กฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องทำ แต่ในชีวิตจริงเรื่องบ้านถือเป็นเรื่องใหญ่ รวมถึงอาจมีการขอสินเชื่อ ดังนั้นเพื่อความมั่นใจของทั้ง 2 ฝ่าย จึงเกิด “สัญญาจะซื้อจะขาย” ขึ้น โดยสัญญาจะซื้อจะขายนี้ แตกต่างจากสัญญาจองซื้อตรงที่ผู้ซื้อมีหน้าที่จ่ายเงินตามสัญญา เมื่อครบกำหนดผู้ขายมีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์บ้านโดยทำสัญญาซื้อขาย หากผู้ซื้อผิดสัญญา ผู้ขายสามารถยกเลิกสัญญาและริบเงินมัดจำหรือเงินดาวน์ที่ผ่อนมาได้ตามกฎหมาย หากผู้ขายผิดสัญญา ผู้ซื้อสามารถฟ้องให้โอนกรรมสิทธิ์ได้ หรือยกเลิกสัญญาและให้คืนเงินพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่โครงการผิดนัด สัญญาซื้อขาย เป็นสัญญาที่กฎหมายบังคับให้ทำ โดยมีชื่อเป็นทางการว่า “หนังสือสัญญาขายที่ดิน” โดยวันที่เซ็นสัญญาเป็นวันที่กรรมสิทธิ์ในตัวบ้านจะโอนมาเป็นของคนซื้อ ดังนั้น ผู้ขายต้องแจ้งผู้ซื้อล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนวันทำสัญญาซื้อขาย สำหรับผู้ซื้อในวันทำสัญญาซื้อขายจะเป็นวันที่พร้อมชำระเงินหรือได้รับสินเชื่อจากธนาคารพร้อมที่จะจ่ายเงินให้กับผู้ขาย และเป็นวันที่ผู้ซื้อต้องเซ็นสัญญาซื้อขายที่สำนักงานที่ดิน จดทะเบียนการโอน และจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด   ดังนั้น ในการซื้อบ้านหนึ่งหลัง อาจต้องทำสัญญากันถึง 3 ครั้ง แต่สัญญาครั้งสุดท้าย ถือเป็นสัญญาที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือ สัญญาซื้อขาย ที่จะทำให้เรามีกรรมสิทธิ์ในตัวบ้านนั่นเอง เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายคอนโดเพิ่มเติม ศึกษากฎหมายเกี่ยวกับอสังหาฯ ที่ควรรู้ และหนังสือสัญญาซื้อขายบ้าน-คอนโด ก่อนทำการลงทุน เกี่ยวกับการซื้อ-ขาย คอนโดฯ เคล็ด (ไม่) ลับ เลือกธนาคารกู้ซื้อบ้าน ซื้อคอนโด มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง? ทางเลือกซื้อคอนโด สำหรับคนงบน้อย  
เลือกคอนโดเสริมร่ำรวย

เลือกคอนโดเสริมร่ำรวย

 เลือกคอนโดฯ เสริมร่ำรวย คอนโดมิเนียมเป็นทางออกที่ดีมากสำหรับการอยู่อาศัยในเมือง เพราะสะดวกสบาย ทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกและการเดินทางไปทำงาน แต่เราจะเลือกคอนโดฯ ให้ส่งเสริมโชคลาภ และจัดฮวงจุ้ยอย่างไร เพื่อแก้ไขสิ่งร้ายให้กลายเป็นโชค (มากขึ้น) ลองพิจารณาคำแนะนำเหล่านี้ครับ     1.ทางเข้าออก ภาพของรวมโครงการ :   คอนโดฯ ที่ดีควรมีทางเข้าออกกว้างและสะดวก มีสวนหรือพื้นที่สีเขียวส่วนกลางมากๆ และเห็นกระแสพลังไหลเข้า เช่น เห็นสายน้ำไหลมาหา ถนนสายใหญ่มีรถวิ่งมาหาจำนวนมาก เพราะบริเวณดังกล่าวนี้ก็จะเป็นจุดสะสมกระแสพลังให้ภาพรวมของโครงการที่เราอาศัยอยู่นั้นเกิดความเจริญรุ่งเรืองและมีมูลค่าในระยะยาว สำหรับการอยู่อาศัยในเชิงพาณิชย์หรือเก็งกำไรก็ควรเลือกทิศที่ระเบียงอยู่ในแนวทิศเหนือ-ใต้เป็นหลัก เพราะสามารถรับลมได้ดี สามารถหาคนเช่าอาศัยต่อได้ง่าย   2.กระแสพลัง :   พลังงานต้องมีทิศทางวิ่งเข้าหาห้องพักของเราได้ จุดเด่นของคอนโดฯ คือ ระเบียง เราถือว่าภายนอกอาคารนั้นระเบียงเป็นทิศจ่ายกระแสพลังงาน ลมต้องไหลเวียนเข้าจากระเบียงได้ดี การอยู่ชั้นสูงๆ จะได้เปรียบเรื่องทางลม ลมเข้ามากก็มีโอกาสรวยมาก ยิ่งอยู่ในชั้นที่เปิดประตูระเบียงแล้วไม่มีสิ่งปลูกสร้างบังเลย ก็จะทำให้โอกาสทางการเงินมากกว่าห้องอื่นๆ ระเบียง คือ ตำแหน่ง “เหม่งตึ๊ง” หรือเปรียบดัง “สถานที่สะสมความมั่งคั่ง” ให้กับคอนโดฯจึงควรมีสภาพโล่งกว้างที่สุด ไม่วางโต๊ะเก้าอี้เกะกะ หรือมีต้นไม้ปลูกบังขวางทางเดินและทิศทางลม สำหรับระเบียงที่อยู่สูงจากสระว่ายน้ำส่วนกลางไม่มากนักสัก 1-2 ชั้น ถือเป็นตำแหน่งดีด้วยเช่นกัน เพราะที่สระว่ายน้ำนั้นน้ำจะมีสภาพเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นการกระตุ้นพลังอยู่ตลอดเวลา ถือว่าเป็นการเสริมโชคที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้การวางโซฟาบริเวณโถงที่ติดกับระเบียงไม่ควรเลือกโซฟาชนิดหนา บังระเบียงจนทึบ ส่วนแหล่งจ่ายกระแสพลังภายในอาคารให้พิจารณาห้องพักตำแหน่งใกล้กับลิฟต์ ถือเป็นห้องที่รับกระแสพลังที่ดี หากบริเวณทางเข้าประตูห้องของเราไกลจากลิฟต์หรือมืด แนะนำให้ติดไฟให้สว่างบริเวณปากทางเข้าห้อง หากทำได้ให้ติดทั้งนอกและในห้องเลย ก็จะช่วยให้สภาพประตูมีความเป็นหยาง หรือพลังคึกคัก โชคลาภก็จะวิ่งเข้าประตูได้ดีขึ้น   3.การเลือกทิศหันหัวนอน :   หลักของการวางตำแหน่งหัวนอนในคอนโดฯ นั้น ใช้หลักของชัยภูมิที่ดี คือ ควรมองเห็นประตู เห็นคนที่จะเดินเข้าห้องและเห็นทิวทัศน์ที่หน้าต่างด้วย ถ้าจะให้ดีจริงๆ ก็คือ ก่อนไปเลือกซื้อควรปรึกษาซินแสว่าทิศไหนเป็นทิศหัวนอนที่ดีต่อเราจริงๆ จะได้เลือกตอนซื้อไปเลยเพราะคอนโดฯ บางแห่งเขาได้บังคับตำแหน่งหัวนอนตามรูปห้องไว้แล้ว ทำให้เราหาทิศเข้ากับดวงนั้นทำได้ยาก การหันทิศหัวนอนทางทิศตะวันตกไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้ายอย่างที่หลายๆ ท่านเข้าใจ เพราะทิศตะวันตกเป็นทิศธาตุทอง ซึ่งเพิ่มพลังแห่งการตัดสินใจที่เฉียบขาดให้ท่านและช่วยให้การควบคุมลูกน้องในปกครองเป็นไปได้ดี แต่สำหรับบางท่านที่ประสงค์จะทำการปล่อยให้เช่าหรือขายต่อ ท่านก็ต้องพิจารณาเลี่ยงการซื้อห้องซึ่งมีทิศหัวนอนทางทิศนี้ เนื่องจากผู้เช่าอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องอยู่ การปล่อยห้องให้เช่าหรือขายต่อก็อาจจะยากกว่าปกติ   4.ของใช้เพื่อการอยู่อาศัย :   ควรมีเท่าที่จำเป็น เพราะข้าวของที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้พื้นที่ใช้สอยและการไหลเวียนของพลังงานในห้องพักลดน้อยลง หากจำเป็นต้องมีหรือเก็บไว้ควรหาตู้เก็บเป็นสัดส่วน ไม่วางระเกะระกะจนรกไม่น่าอยู่ แนวทางในการจัดฮวงจุ้ยเพื่อให้มีพลังที่ดีแบบเฉพาะเจาะจงก็ยังสามารถใช้แนวทางของดวงชะตาและดาวเหินได้อีกด้วย   สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามได้ที่ www.100fs.com  
วิธีขจัดคราบเขม่า ควันไฟ ไม่ได้ยากอย่างที่คิด

วิธีขจัดคราบเขม่า ควันไฟ ไม่ได้ยากอย่างที่คิด

วิธีขจัดคราบเขม่าควันไฟที่ติดเสื้อผ้า พรม ม่าน หรือวัสดุอื่น ๆ ไม่ได้ยากอย่างที่คิด แค่รู้เคล็ดลับกำจัดคราบเขม่าควันไฟให้หมดจดเหล่านี้ก็เอาอยู่ ปัญหาคราบเขม่าควันไฟไม่ได้แค่เปื้อนดำพื้นผิววัสดุเท่านั้น แต่กลิ่นเขม่าควันจาง ๆ ก็ยังติดอยู่บนเสื้อผ้าและวัสดุต่าง ๆ อย่างฝังแน่น ทำเอาแม่บ้านหลายคนกุมขมับกับการขจัดทั้งคราบและกลิ่นเขม่าควันไฟที่ติดบนเสื้อผ้า โซฟา ผ้าม่านกันเป็นแถว แต่ปัญหาคราบเขม่าควันเปื้อนดำก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรนะคะ เพราะเพียงแค่เจอวิธีขจัดคราบเขม่าควันไฟเหล่านี้ของเราเท่านั้น รับรองเลยว่าทั้งคราบและรอยเปื้อนดำของเขม่าควันไฟที่ติดฝังแน่นอยู่บนวัสดุไหนก็ตาม จะต้องยอมแพ้และจางหายไปในที่สุด 1.ผ้าที่ไม่สามารถซักล้างได้ ก็ขจัดคราบเขม่าได้ สำหรับผ้าที่ไม่สามารถซักล้างได้ เช่น ผ้าขนสัตว์, กำมะหยี่, ผ้าอะซิเตท, ผ้าไหม, ไฟเบอร์กลาส, ผ้าเรยอน, พรมขนสัตว์ และพรมเส้นใยสังเคราะห์ ให้เริ่มกำจัดคราบเขม่าควันติดฝังแน่นด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดเช็ดให้ทั่วรอยเปื้อน จากนั้นโรยผงซักฟอกลงไปบาง ๆ ให้ทั่วบริเวณ ตามด้วยใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดคลุมทับไว้ หมั่นคอยเปิดผ้าคลุมดูทุก ๆ 5 นาที หากผ้าคลุมเริ่มซับคราบเปื้อนออกมาได้มากแล้วให้เปลี่ยนผ้าคลุมผืนใหม่โดยด่วน แต่สำหรับคราบเขม่าควันที่ดื้อด้าน ฝังแน่นไม่ยอมไปไหน แนะนำให้หยดแอมโมเนียลงไปสลายคราบดำประมาณ 2-3 หยด (ยกเว้นกับผ้าไหมและผ้าขนสัตว์) แล้วใช้ผ้าชุบน้ำคลุมทับจนกว่าคราบเปื้อนจะจางหายไป ขั้นตอนสุดท้ายให้เช็ดด้วยผ้าชุบน้ำสะอาดอีกครั้ง 2.ผ้าที่สามารถซักล้างได้ ขจัดคราบเขม่าได้ง่ายกว่า ถ้าคราบเขม่าควันเปื้อนผ้าที่สามารถซักล้างได้ เช่น ผ้าอะคริลิค, ผ้าฝ้าย, ผ้าลินิน, ไนลอน และโพลีเอสเตอร์ สามารถกำจัดได้ง่าย ๆ แค่ใช้น้ำล้างทันทีที่เกิดคราบ แต่หากคราบเปื้อนฝังแน่นอยู่นานแล้ว ให้คุณโรยผงซักฟอกหรือน้ำยากำจัดคราบลงไป จากนั้นทับด้วยผ้าชุบน้ำสักพัก สำหรับคราบเปื้อนฝังแน่นมาก อาจเพิ่มแอมโมเนียลงไปผสมกับน้ำยากำจัดคราบสัก 2-3 หยดก็ได้ ทิ้งไว้สักพักเพื่อให้น้ำยาสลายคราบเขม่าควัน ก่อนจะนำผ้าไปซักและตากแห้งตามปกติ 3.ขจัดคราบเขม่าที่ติดผิววัสดุเนื้อแข็ง นอกจากเนื้อผ้าแล้ว คราบเขม่าก็อาจไประรานวัสดุเนื้อแข็งอย่างพลาสติก, เซรามิก, แก้ว, กระเบื้อง, ยูรีเทน, พอร์ซเลน, สเตนเลส และผ้าไวนิลได้เหมือนกัน ซึ่งวิธีกำจัดคราบเขม่าควันออกจากวัสดุเนื้อแข็งก็ทำได้ง่ายเว่อร์ เพียงแค่ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเกือบร้อนมาเช็ดทำความสะอาดคราบเปื้อนจากเขม่าควันไฟ จากนั้นเช็ดด้วยผ้าแห้งอีกสักครั้งก็เรียบร้อยจ้า 4.วัสดุก่อสร้าง ขจัดคราบเขม่าได้ง่าย สำหรับคราบเขม่าควันบนวัสดุก่อสร้างอย่างอิฐ, หิน, ดินเผา, ปูน และกระเบื้อง ให้คุณผสมน้ำยาขจัดคราบชนิดใดก็ได้ในปริมาณ ½ ถ้วยตวงต่อน้ำสะอาด 1 แกลลอน จากนั้นนำมาล้างคราบเขม่าควันโดยจะใช้ฟองน้ำหรือแปรงขัดเป็นอุปกรณ์เสริมก็แล้วแต่สะดวก เสร็จแล้วล้างด้วยน้ำสะอาดเพื่อเก็บงานอีกครั้งเป็นอันเรียบร้อย 5.ขจัดคราบเขม่าบนหนังและหนังกลับเนื้อนิ่ม ผสมสบู่สูตรอ่อนโยนกับน้ำอุ่นจัด ตีจนเกิดฟองสบู่หนานุ่ม แล้วจึงนำฟองสบู่ที่ได้มาป้ายลงบนรอยเปื้อน จากนั้นใช้ผ้าไมโครไฟเบอร์หรือฟองน้ำเช็ดกำจัดคราบอย่างเบามือ ตามด้วยใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดล้างคราบสกปรกทุกอย่างออกให้หมดจด แล้วตากลมให้แห้งสนิท 6.ขจัดคราบเขม่าบนผิวไม้  ปกติแล้วไม้กับไฟเป็นของที่ใกล้กันไม่ได้ แต่หากไม้ของคุณถูกไฟไหม้จนเกิดรอยเขม่าควันไฟ ให้รีบใช้ผ้าชุบฟองสบู่มาเช็ดทำความสะอาดเนื้อไม้โดยด่วน จากนั้นจึงเช็ดทำความสะอาดด้วยผ้าชุบน้ำธรรมดาอีกครั้ง พร้อมทั้งเช็ดให้แห้งด้วยผ้านิ่มและขัดแว๊กซ์เคลือบเนื้อไม้ปิดท้าย นอกจากการขจัดคราบเขม่า ยังมีเทคนิคทำความสะอาดบ้านต่างๆ เทคนิคทำความสะอาดบ้านแบบง๊ายง่าย ห่างไกล “ภูมิแพ้” วิธีทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์ไม้แบบง่ายๆ การดูแลทำความสะอาดพื้นลามิเนต ทำความสะอาดโซฟาผ้า ไม่ยากอย่างที่คิด  
การจัดห้องน้ำให้ถูกหลักฮวงจุ้ย

การจัดห้องน้ำให้ถูกหลักฮวงจุ้ย

การจะจัดห้องน้ำให้ถูกหลักฮวงจุ้ย มีหลักการดังนี้ครับ   1. อย่าวางตำแหน่งห้องน้ำไว้ใกล้ประตูบ้านมากเกินไป เพราะโดยทั่วไปซินแสจะจัดให้ประตูบ้านของท่านรับกับพลังงานที่ดีประจำยุค (ยุคปัจจุบันคือยุคที่ 8 ปี พศ.2547-2567 ในฮวงจุ้ยระบบดาวเหิน หรือ Xuan Kong Flying Star) ดังนั้นหากห้องน้ำมาอยู่ใกล้ประตูหน้าของบ้านมากเกินไป จะเป็นตัวดูดกระแสโชคเข้าไปที่ห้องน้ำและไหลออกไปทั้งหมด เป็นที่มาของการเสียหายทางด้านโชคลาภและความเจริญรุ่งเรือง   หากจำเป็นต้องวางตำแหน่งห้องน้ำไว้ใกล้ประตูหน้าบ้านจริงๆ ก็ขอให้อย่าหันหน้าชนกับประตูหน้าบ้านโดยตรงนะครับ เพราะสภาวะของกระแสไหลออกจะได้ไม่รุนแรง หรือ หากจำเป็นต้องวางห้องน้ำให้ใกล้ประตูหน้าจริงๆ และยังต้องหันหน้าชนประตู ก็จำเป็นต้องบังคับตัวเองให้ปิดประตูห้องน้ำทุกๆครั้งที่เราไม่ใช้งานครับและก็ควรจะใช้ประตูห้องน้ำที่เป็นลักษณะบานทึบเพื่อกันให้กระแสอากาศไหลเข้าไปในห้องน้ำได้น้อยที่สุดครับ ส่วนการวางตำแหน่งของห้องน้ำที่ดีที่สุดหากเลือกได้ จะพยายามวางให้มองไม่เห็นประตูห้องน้ำจากตำแหน่งของประตูเข้าบ้าน   2. วางตำแหน่งห้องน้ำไว้ให้อยู่ในส่วนที่มีพลังงานที่ไม่ดีสะสมอยู่ สำหรับซินแสที่มีความสามารถและประสบการณ์ มักจะเลือกวางตำแหน่งห้องน้ำให้ตรงกับจุดที่มีพลังงานที่ไม่ดีของฮวงจุ้ยในระบบดาวเหิน เนื่องจากรู้ว่าห้องน้ำมีสภาวะการไหลออกของกระแสอยู่ตลอดเวลา หากเราสามารถเลือกตำแหน่งห้องน้ำให้ตรงกับพลังงานที่ไม่ดี ก็จะนำพาพลังงานที่ไม่ดีดังกล่าวออกไปได้มากเป็นพิเศษด้วย เรียกว่าเป็นการใช้ห้องน้ำให้เป็นประโยชน์ได้ดีมากๆเลยครับ   3. ไม่ควรหันหัวสุขภัณฑ์หนัก อ่างล้างหน้า หรือ ฝักบัว ให้ชนกับหัวเตียง โดยไม่สนใจว่าจะเป็นห้องน้ำในห้องนอนเราหรือห้องน้ำของห้องคนอื่นๆในบ้านนะครับ เนื่องจากเมื่อมีการใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวจะเกิดเสียงและโดยเฉพาะสุขภัณฑ์หนักนั้นการใช้งานจะก่อให้เกิดประจุ “อิออนบวก” ซึ่งจะเข้ามารบกวนการทำงานของร่างกายเราได้ ดังนั้นหากเรานอนหันหัวเตียงเข้าหาอุปกรณ์ดังกล่าวก็ถือว่าเป็นข้อเสียต่อสุขภาพมากทีเดียวครับ หรือหากให้ดีไปกว่านั้นเราจะพิจารณาว่าเตียงที่หันหัวนอนชนผนังผืนเดียวกับอุปกรณ์ดังกล่าวก็ผิดหลักฮวงจุ้ยด้วยเช่นเดียวกันครับ   4. ห้องน้ำควรวางไว้ในตำแหน่งที่ใกล้กับผนังด้านนอกบ้านหรือมีแสงสว่างเพียงพอ เพราะห้องน้ำเป็นห้องที่มีความชื้นสูง เป็นที่สะสมของเชื้อโรค หากเราไม่วางห้องน้ำไว้ในตำแหน่งที่มีอากาศถ่ายเท ไม่มีหน้าต่าง ไม่มีแสงแดดเข้า ก็จะยิ่งทำให้มีความชื้นสูงมากขึ้นไปอีก เป็นที่มีความสุขภาพที่ไม่ดีได้ครับ โดยสำหรับห้องน้ำที่ไม่มีส่วนเปียกหรือส่วนอาบน้ำ จะไม่พิจารณาว่าหลักการนี้มีความสำคัญมากนักครับ   5. ประตูห้องน้ำไม่ควรชนเตียงนอน พิจารณาหลักการข้อนี้สำหรับห้องนอนที่นอนมากกว่าหนึ่งคนครับ เพราะหากมีการเปิดปิดประตูห้องน้ำเมื่อใช้งานเมื่อไร ก็จะมีการรบกวนการนอนของผู้ที่นอนอยู่ได้ครับ จะเป็นที่มีของการรบกวนการนอน ทำให้สุขภาพไม่ดี  
6 วิธีประหยัดค่าไฟในช่วงหน้าร้อน

6 วิธีประหยัดค่าไฟในช่วงหน้าร้อน

วิธีประหยัดค่าไฟ วิธีประหยัดค่าไฟบ้าน ไม่ได้ทำยากอย่างที่คิดนะคะ เพราะแม้อากาศจะร้อนขึ้นทุกวัน ๆ แต่ถ้าเราอยากจะลดค่าไฟบ้านในช่วงหน้าร้อนแบบนี้ ต้องรีบไปดูทริคประหยัดไฟด่วน ด้วยอุณภูมิของอากาศที่พุ่งสูงขึ้นแบบไม่ปรึกษาเทอร์โมมิเตอร์กันสักนิด เลยทำให้อุณหภูมิภายในบ้านของเราร้อนตามไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้ และในเมื่อร้อนจนเหงื่อแตกพลั่ก จะไม่เปิดแอร์ หรือเร่งพัดลมให้เป็นเบอร์ที่แรงที่สุดก็คงทนไม่ไหวแน่ ๆ แต่ก็เพราะใช้ไฟเพิ่มขึ้นตามอุณหภูมินี่ล่ะค่ะ ที่ทำให้ค่าไฟตอนสิ้นเดือนเพิ่มขึ้นจนต้องสะดุ้งเบา ๆ ถ้าอย่างนั้นเรามาประหยัดค่าไฟบ้านด้วยวิธีง่าย ๆ ตามนี้ดีกว่า จะได้ไม่ต้องมาปาดเหงื่อซ้ำตอนได้รับบิลค่าไฟ   1. ปรับอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียสเสมอ ถึงจะเป็นคำแนะนำที่ฟังกันมาจนชิน แต่หลายคนก็ยังเปิดแอร์ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียสอยู่บ่อย ๆ เช่น 22 องศาเซลเซียส เป็นต้น ซึ่งเราก็เข้าใจว่าอากาศมันร้อนจริง ๆ แต่รู้ไหมคะว่า หากคุณคงอุณหภูมิแอร์ให้ไม่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียสได้ล่ะก็ ค่าไฟของคุณจะลดลงไปอีกหลายบาทจนน่าแปลกใจเลยล่ะ ไม่เชื่อลองทำแบบนี้ดูสักเดือนสิ   2. เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า เลิกใช้ซะ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้มานาน มีสภาพเกือบทำงานไม่ไหวแล้ว เป็นตัวเพิ่มกำลังไฟชั้นดีให้บ้านเราอย่างคาดไม่ถึงเลยนะคะ ดังนั้นหากคุณมีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อายุการใช้งานเกิน 3 ปีขึ้นไป ต้องหมั่นตรวจสอบสภาพการใช้งานของเหล่านี้กันหน่อย หรือถ้าเป็นไปได้ก็เลิกใช้ไปซะน่าจะประหยัดกว่า   3. ทำความสะอาดตู้เย็นให้หมดจด การทำความสะอาดตู้เย็นในที่นี้หมายถึง ให้คุณจัดการเคลียร์อาหารเก่าเก็บ เน่าเสียออกจากตู้เย็นเป็นประจำ รวมทั้งหมั่นกดละลายน้ำแข็ง และทำความสะอาดตู้เย็นไม่ให้มีคราบสกปรกด้วย เนื่องจากตู้เย็นที่เต็มไปด้วยของมากมาย แถมยังไม่ค่อยได้รับการดูแลเท่าที่ควร จะใช้พลังงานมากกว่าปกติอีกหลายเท่า เพิ่มค่าไฟให้สูงขึ้นอย่างไร้ประโยชน์ใด ๆ   4. ถอดปลั๊กทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งาน หลายคนอาจจะคิดว่า แค่กดปิดสวิตช์เครื่องใช้ไฟฟ้าเพียงกริ๊กเดียว ก็เท่ากับตัดกระแสไฟฟ้าไม่ให้ไหลผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้าได้แล้ว แต่จริง ๆ ต้องบอกอย่างนี้ค่ะว่า หากคุณปิดสวิตช์เครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ไม่ได้ถอดปลั๊กไฟ กระแสไฟฟ้าก็ยังคงไหลผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้าตามปกติ เพื่อเป็นการสแตนด์บายให้คุณกดเปิดสวิตช์ใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกครั้งได้เลยทันที ฉะนั้นการถอดปลั๊กจึงเป็นวิธีตัดกระแสไฟฟ้าที่ชัวร์ที่สุด โดยเฉพาะเหล่าเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบเปิด-ปิด อัตโนมัติ เมื่อไม่ใช้งานก็ควรต้องถอดปลั๊กทุกครั้งด้วยนะคะ   5. มาใช้หลอดไฟ LED กันเถอะ ด้วยข้อดีที่ช่วยประหยัดไฟได้มากกว่าหลอดไส้ธรรมดาถึง 80-90% และอายุการใช้งานที่คงทนมากว่า 11 ปี หรือราว ๆ 1 แสนชั่วโมง เลยทำให้หลอดไฟ LED กลายเป็นหลอดไฟที่บ้านสมัยใหม่เลือกใช้เป็นอันดับหนึ่ง และเมื่อได้รู้อย่างนี้แล้ว ก็หันมาใช้หลอดไฟ LED กันน่าจะประหยัดกว่า   6. ใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่ปริมาณการใช้ไฟน้อย ช่วงเวลาที่ปริมาณการใช้ไฟน้อยจะอยู่ราว ๆ 22.00-06.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนกำลังนอนหลับ และการเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ทำงานในเวลานี้ จะทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้ามีกำลังไฟสำหรับการนำไปใช้งานได้อย่างเต็มที่ การทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าก็จะเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้เวลาในการทำงานน้อยลง ประหยัดไฟบ้านได้อีกหลายบาทเชียวล่ะ ค่าไฟจะมากหรือจะน้อย ไม่ได้อยู่ที่ประสิทธิภาพของเครื่องใช้ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของเราเองด้วย ดังนั้นนอกจากทำตามคำแนะนำเหล่านี้แล้ว ก็อย่าลืมสอดส่องเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านด้วยนะคะ หากพบเจอว่าปลั๊กตรงไฟเสียบคาไว้ โดยไม่ได้ใช้งาน ก็ให้รีบถอดปลั๊กออกด่วน ๆ เลย เป็นต้น  
เครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดกินไฟแค่ไหน

เครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดกินไฟแค่ไหน

เครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิด กินไฟแค่ไหนมาดูกัน ! เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราใช้งานกันอยู่ในบ้าน แต่ละชนิดก็ใช้พลังงานแตกต่างกันออกไป แล้วคุณรู้หรือไม่ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดไหน กินไฟเท่าไหร่กันบ้าง แน่นอนว่าเครื่องใช้ไฟฟ้า คืออีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต เพราะทุกบ้านก็ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่มากมายหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น พัดลม แอร์ โทรทัศน์ ตู้เย็น หม้อหุงข้าว หรือแม้กระทั่งไฟส่องสว่าง ก็ล้วนแล้วแต่ต้องใช้พลังงานที่ถูกคำนวณออกมาเป็นค่าไฟทั้งสิ้น วันนี้กระปุกดอทคอมจึงมีความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับการใช้ไฟมาฝากกัน แต่ละชนิดใช้ไฟเปลืองแค่ไหน ลองไปดูแล้วเตรียมตัวประหยัดไฟให้ถูกจุดกันจ้า   กิโลวัตต์ คืออะไร การใช้ไฟฟ้าเรามักจะเห็นคิดค่ากำลังไฟกันเป็น กิโลวัตต์ ซึ่งก็คือแรงเทียน หรือกำลังไฟฟ้าที่ใช้งานไปนั่นเอง (1 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง = 1,000 วัตต์) หากมีจำนวนวัตต์มากก็จะยิ่งเปลืองไฟมาก ซึ่ง 1 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง จะเท่ากับ 1 ยูนิตหรือ 1 หน่วย ตามบิลค่าไฟฟ้า ตัวอย่างเช่น   ในบ้านมีหลอดไฟจำนวน 100 วัตต์ 10 หลอด เท่ากับ 100x10 = 1,000 วัตต์ (1 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง) ถ้าเปิดไฟทั้ง 10 ดวง นาน 2 ชั่วโมง เท่ากับ 1,000x2 = 2,000 วัตต์ (2 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง) ดังนั้น 2 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง = 2 ยูนิต หรือ 2 หน่วย ตามบิลค่าไฟฟ้า   เครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดใช้ไฟกี่วัตต์ พัดลมตั้งพื้น 45-75 วัตต์ พัดลมเพดาน 70-104 วัตต์ หม้อหุงข้าวไฟฟ้า 500-1,000 วัตต์ เครื่องปิ้งขนมปัง 600-1,000 วัตต์ ไดร์เป่าผม 300-1,300 วัตต์ เตารีดไฟฟ้า 430-1,600 วัตต์ เครื่องทำน้ำอุ่น 900-4,800 วัตต์ เครื่องซักผ้า 250-2,000 วัตต์ ตู้เย็น (2-12 คิว) 53-194 วัตต์ แอร์ 680-3,300 วัตต์ เครื่องดูดฝุ่น 625-1,000 วัตต์ เตาไฟฟ้าแบบเดี่ยว 300-1,500 วัตต์ โทรทัศน์สี 43-95 วัตต์ เครื่องอบผ้า 650-2,500 วัตต์   ได้รู้จักกับข้อมูลการใช้ไฟครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ไปแล้ว ก็อย่าลืมเลือกปิด-เปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า กันอย่างเหมาะสมด้วยนะคะ จะได้ประหยัดค่าไฟในบ้านให้ลดน้อยลงได้ ชิ้นไหนไม่ได้ใช้งานก็ถอดปลั๊กให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีกระแสไฟปล่อยออกมา หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นไหนกินไฟหนัก ๆ ก็หลีกเลี่ยงไปใช้วิธีอื่นที่ประหยัดกว่าแทน เช่น กวาดบ้านด้วยไม้กวาดแทนเครื่องดูดฝุ่น หรือไม่เปิดเครื่องทำน้ำอุ่นถ้าไม่จำเป็น เป็นต้นจ้า
กำจัดขนสัตว์จากโซฟาผ้าแค่เรื่องจิ๊บๆ

กำจัดขนสัตว์จากโซฟาผ้าแค่เรื่องจิ๊บๆ

กำจัดขนสัตว์จากโซฟาผ้า แค่เรื่องจิ๊บ ๆ ขนสัตว์ติดโซฟาผ้า กำจัดยังไงดี หลายคนยังไม่รู้วิธีเด็ด ๆ วันนี้เราเลยมีเคล็ดลับกำจัดขนสัตว์จากโซฟาผ้ามาบอกต่อ ถ้าอยากรู้แล้วรีบไปทำความสะอาดขนสัตว์บนโซฟาผ้ากันเลย สำหรับคนรักสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นน้องหมา น้องแมว หรือสัตว์ชนิดอื่น ๆ ก็เชื่อได้เลยว่าต้องเจอปัญหาขนสัตว์ร่วงติดโซฟาแน่ ๆ โดยเฉพาะโซฟ้าผ้าที่กำจัดออกได้ยากเย็น แต่ถ้าคุณกำลังมองหวิธีจัดการกับขนสัตว์ที่ติดโซฟาผ้าอยู่ เราก็มีเคล็ดลับดี ๆ มาแนะนำให้นำทำความสะอาดขนสัตว์ที่ติดอยู่บนโซฟาผ้า และเฟอร์นิเจอร์บุนวมชนิดอื่น ๆ ด้วย 1. เคลียร์พื้นที่ ขั้นตอนแรกให้ใช้เครื่องดูดฝุ่นกำจัดขนสัตว์ออกไปให้ได้มากที่สุดก่อน หรือคุณจะอาศัยแปรงสำหรับหวีขนสัตว์ ที่ยังไม่ได้ใช้มาแปรงเบา ๆ เพื่อเก็บเส้นขนที่ติดอยู่ในโซฟาช่วยอีกแรงก็ได้ 2. ถุงมือยางจุ่มน้ำ เทคนิคพิเศษ เติมน้ำอุณภูมิห้องใส่กะละมังพอประมาณจากนั้นสวมถุงมือยางแล้วจุ่มมือที่สวมถุงมือยางลงในถังน้ำ เสร็จแล้วใช้มือไล่ถูไปตามโซฟา เก็บเศษเส้นขนที่หลงเหลืออยู่ ซึ่งวิธีนี้อาจจะต้องทำซ้ำกันหลาย ๆ ครั้ง 3. ใช้ตัวช่วยกำจัดขน อุปกรณ์ช่วยกำจัดขนสัตว์ที่ติดอยู่บนเฟอร์นิเจอร์บุนวมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นฟองน้ำกำจัดขนสัตว์ ลูกกลิ้งกำจัดขนสัตว์ หรือแปรงกำจัดขนสัตว์ที่มีขายอยู่ทั่วไปตามร้าน Pet Shop ต่าง ๆ ก็เป็นตัวช่วยที่น่าสนใจ เพราะแต่อุปกรณ์ก็มีสรรพคุณในการกำจัดขนสัตว์ที่แตกต่างกันไป อย่างฟองน้ำก็เหมาะกับพื้นที่ขนาดใหญ่ มีขนสัตว์ติดอยู่บางเบา ๆ ไม่ฝังแน่น ส่วนแปรงและลูกกลิ้ง ก็ใช้กำจัดขนสัตว์ที่ติดฝังแน่นพอประมาณไปจนถึงขั้นติดแน่นฝังลึก ซึ่งความต้องการใช้ของคุณเป็นแบบไหน ก็ลองไปซื้อมาใช้กันดู 4. ซื้อเบาะรองนั่งให้สัตว์เลี้ยง ถ้ามีเบาะนอนเป็นของตัวเอง น้องหมา น้องแมวของเราก็จะไม่ค่อยมายุ่งกับโซฟา หรือเฟอร์นิเจอร์ของมนุษย์สักเท่าไร เพราะมัวแต่ซุกตัวอุ่น ๆ อยู่บนที่นอนของตัวเอง แค่นี้โซฟาของเราก็จะมีโอกาสรอดจากขนสัตว์มากขึ้นแล้วล่ะ 5. เลือกใช้เครื่องดูดฝุ่นที่เหมาะสม ไม่เพียงแต่เจ้าของสัตว์เลี้ยงจะต้องหมั่นดูดฝุ่นให้บ้านบ่อย ๆ เท่าที่จะทำได้เท่านั้น แต่ทั้งนี้คุณก็ต้องเลือกใช้เครื่องดูดฝุ่นที่เหมาะสมด้วย เช่น หากคุณเลี้ยงสัตว์ไม่กี่ตัว มีปัญหาขนสัตว์ติดเฟอร์นิเจอร์ไม่มาก กรณีนี้สามารถใช้เครื่องดูดฝุ่นชนิดมือจับได้เลย แต่หากว่าเลี้ยงสัตว์ไว้หลายตัว และปวดหัวกับปัญหาขนสัตว์ติดโซฟาน่าดู แบบนี้ควรต้องเลือกใช้เครื่องดูดฝุ่นขนาดใหญ่ ที่มีถังเก็บฝุ่นประมาณ 4.5 ลิตรขึ้นไปถึงจะเหมาะ เคล็ดลับกำจัดขนสัตว์ติดโซฟาก็เป็นเค่เรื่องจิ๊บ ๆ ที่ทำได้ง่าย แต่อย่างไรก็ดีหากว่าคุณไม่อยากเสียเวลากำจัดขนสัตว์อีกต่อไป ถ้าเป็นไปได้ให้แบ่งโซนสำหรับสัตว์เลี้ยงไปเลยดีกว่า แยกให้เป็นสัดส่วนแบบนี้ จะได้หมดปัญหาสัตว์ติดเฟอร์นิเจอร์อีกต่อไปจ้า
คำนวน BTU แอร์ ให้เหมาะกับขนาดห้อง

คำนวน BTU แอร์ ให้เหมาะกับขนาดห้อง

คอนโด การเลือกซื้อแอร์ ให้มี BTU เหมาะกับขนาดห้อง บรรยกาศภายในบ้านที่สงบเย็น เป็นบรรยากาศที่หลาย ๆ คนต้องการ แน่นอนว่า อากาศย่อมมีผลกับสภาวะของร่างกาย และจิตใจ อากาศที่ร้อนย่อมส่งผลให้สภาวะทางอารมณ์ร้อนตามไปได้โดยง่าย การทำให้พื้นที่บ้าน เย็นสบายนั้น มีหลากหลายแนวทาง แต่ก่อนที่จะพึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เราอยากให้ทุก ๆ บ้าน พึ่งพาวิธีทางธรรมชาติก่อนเป็นหลัก เช่น การปลูกต้นไม้รอบบ้าน เพื่อบังแดดและยังกรองอากาศที่เป็นพิษได้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นวิธีที่ยั่งยืน ส่งผลดีต่อสุขภาพ หรือแม้แต่การออกแบบบ้าน ทิศทาง วัสดุก่อสร้างที่ช่วยให้บ้านเย็นได้ แต่หากเลือกใช้ทุกวิธีแล้ว อากาศภายในบ้านก็ยังไม่เย็นเพียงพอ อาจเนื่องด้วยทำเลที่ตั้ง เช่น ในเมือง การจัดสวนต่าง ๆ เป็นไปได้ยากนัก เครื่องปรับอากาศ หรือ แอร์ คงเป็นตัวเลือกสุดท้าย ที่จะช่วยให้อุณหภูมิภายในบ้านเย็นสบาย วันนี้ บ้านไอเดียจึงนำข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการเลือกซื้อ ให้เหมาะสมต่อห้องของคุณ ซึ่งหลายท่านอาจกำลังสับสนอยู่ว่า ห้องของเราเลือกกี่ BTU ดี เพราะดูตามในศูนย์การค้า มีให้เลือกเยอะเหลือเกิน การเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศ ทำไมต้องเลือก BTU ให้เหมาะสม BTU สูงไป คอมเพรสเซอร์ทำงานตัดบ่อยเกินไป เนื่องด้วยสามารถทำความเย็นได้เร็วเกิน ทำให้ประสิทธิ์ภาพในการทำงานลดน้อยลง ทำให้ความชื้นในห้องสูง ไม่สบายตัวและที่สำคัญราคาแพงและสิ้นเปลื้องพลังงาน BTU ต่ำไป คอมเพรสเซอร์ทำงานหนักตลอดเวลา เพราะความเย็นห้องไม่ได้ตามอุณหภูมิที่ตั้งไว้ ผู้ใช้มักจะเลือกอุณหภูมิต่ำ เมื่อเลือกต่ำแล้วยังรู้สึกไม่เย็น ก็จะลดต่ำลงอีก ทำให้สิ้นเปลื้องพลังงานและเครื่องเสียเร็ว ก่อนอื่น มาทำความเข้าใจกันเล็กน้อย BTU ย่อมาจาก British Thermal Unit นั่นคือ ขนาดของการทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ ซึ่งหน่วยวัดจะมีผลต่อขนาดน้ำหนัก โดย 1 ตัน สามารถทำความเย็นได้ 12000 BTU/hr. มีให้เลือกซื้อกันตั้งแต่ขนาด 9,000 BTU วิธีการเลือกซื้อ อันดับแรก คุณต้องรู้ขนาดของห้องก่อน และสำรวจดูว่า ห้องของคุณมีแดดเข้ามาได้หรือไม่ เพราะหากห้องที่มีแสงแดดสาดส่องได้ง่าย ความสามารถในการทำความเย็น ก็จะถูกลดลงไป หากโดนแดดมากเกินไป อาจแก้ไขปัญหาส่วนนี้ก่อน เช่น การติดผ้าม่าน ติดกระจกฟิล์ม หรืออื่น ๆ คราวนี้ก็เลือกตามสัดส่วนขนาดของห้อง โดยปกติแล้ว BTU จะนำมาคำนวณร่วมกับอุหภูมิความร้อนเฉลี่ยต่อชั่วโมง หากเป็นอุณหภูมิห้องทั่วไป ไม่ร้อนมาก ค่าความร้อนประมาณ 700 BTU แต่หากแดดส่องเยอะ ทำให้ความร้อนสูงขึ้น อาจนำค่าความร้อนที่ 900 BTU มาคำนวณ ตัวอย่างเช่น ห้องนอนปกติ ขนาด 20 ตร.ม. แดดไม่ส่อง คำนวณโดย ขนาดห้อง x ค่าความร้อน = 20 x 700 การเลือกเครื่องปรับอากาศ ควรเลือกขนาด 14,000 BTU นั่นเอง แต่หากยังสงสัย งง ๆ กับการคำนวณ ไม่ต้องเป็นห่วง ทางเว็บไซต์ คำนวณมาให้โดยประมาณแล้วครับ
ใช้แอร์อย่างไร? ให้ถูกวิธี

ใช้แอร์อย่างไร? ให้ถูกวิธี

ใช้แอร์อย่างถูกวิธี ประหยัดไฟฟ้า ด้วยการปฏิบัติ ดังนี้ - หมั่นล้างแอร์ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง โดยช่างผู้ชำนาญทุก 6 เดือน และถอดหน้ากากแอร์ออกมาล้างเอง เป็นประจำ เดือนละครั้ง เพื่อให้แอร์ทำงาน ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพไม่มีฝุ่นอุดตัน ซึ่งนอกจาก ช่วยยืดอายุการใช้งานแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าไฟได้ 10% - ตั้งอุณหภูมิแอร์ ต้องไม่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส และทดลองตั้งที่ 26-27 องศาเซลเซียส แล้วใช้พัดลมเบอร์ 5 พัดกระจายความเย็น ก็จะช่วยให้ประหยัดไฟฟ้าได้ถึง 10-30% เลยทีเดียว - ไม่ควรนำความชื้นเข้าไปในห้องแอร์ เช่น ไม่นำผ้าเปียกๆเข้าไปตาก ไม่ควรวางกระถางต้นไม้ ไว้ในห้องที่มีแอร์ และไม่ควรเปิดบานเกล็ด ระบายอากาศของประตูห้องน้ำ เพราะไม่เช่นนั้น แอร์จะทำงานหนัก ในการต้องรีดความชื้น ออกจากห้อง ทำให้ต้องสูญเสียพลังงานไปโดยใช่เหตุ - ไม่ควรนำของร้อนเข้าไปในห้องแอร์ เพราะจะทำให้สิ้นเปลืองไฟฟ้ามาก ดังนั้นจึงไม่ควรนำเตาไฟฟ้า หม้อต้มน้ำ หม้อสุกี้ เข้าไปในห้องแอร์ ควรปรุงให้เสร็จในครัว และอนุโลมให้นำมารับประทานในห้องแอร์ได้ - ก่อนเปิดแอร์ให้เปิดประตู หน้าต่างให้อากาศภายนอก เข้าไปแทนที่อากาศภาย ในห้องเป็นการถ่ายเทความร้อน สัก 15 นาที เพื่อหลีกเลี่ยงการเปิดพัดลมระบายอากาศ และแอร์ไม่ต้องทำงานหนักเกินไป - ปิดประตู หน้าต่างให้สนิทขณะเปิดแอร์ เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศร้อน หรือความชื้นจากภายนอกเข้ามา เพราะจะทำให้ เครื่องปรับอากาศ ทำงานหนักขึ้น - ปรับทิศทางของช่องจ่ายลมเย็น และความแรงของลมให้เหมาะสม กับตำแหน่งที่ต้องการ เพื่อจะได้เย็นเร็วขึ้น และไม่ต้องปรับอุณหภูมิให้เย็นขึ้น เพราะจะทำสิ้นเปลืองค่าไฟฟ้า