Siam Amazing Park

ปิดตำนาน 4 ทศวรรษ  “สวนสยาม” ก้าวสู่โลกใบใหม่ในชื่อ “สยามอะเมซิ่งพาร์ค”

คนไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะวัยผู้ใหญ่ จะรู้จัก “สวนสยาม” สวนสนุกและสวนน้ำขนาดใหญ่ ภายใต้สโลแกน “ทะเลกรุงเทพฯ” ที่สร้างชื่อและภาพจำให้กับคนไทยส่วนใหญ่ประเทศ เมื่อนึกถึงสวนน้ำและสวนสนุก จะต้องนึกถึง “สวนสยาม” ซึ่งนับตั้งแต่วันเริ่มต้นธุรกิจจนถึงปัจจุบัน ก็มีอายุยาวนานเกือบ 40 ปีแล้ว  หากเปรียบเทียบกับชีวิตคน ก็ถือว่าเป็นผู้ใหญ่วัยกลางคนที่ใช้ชีวิตมาอย่างเต็มที่ ผ่านร้อน ผ่านหนาว  ทั้งความสุข ความทุกข์  มามากมาย

 

ท่ามกลางวันเวลาที่ล่วงเลยไป  “สวนสยาม” เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งส่งผลให้การดำเนินธุรกิจมีทั้งช่วงขาขึ้นและขาลง  แม้ว่าสภาพแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และพฤติกรรมผู้บริโภค  จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างก็ตาม “สวนสยาม” ก็สามารถยืนหยัดมาได้จนถึงทุกวันนี้  ด้วยความมุ่งมั่นและไม่ย่อท้อของ ดร.ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ประธานคณะกรรมการกลุ่มบริษัท สยามพาร์คซิตี้ จำกัด เจ้าของและผู้บริหารสวนสยาม

 

แต่สำหรับวันนี้  โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และเป็นการเปลี่ยนแปลง ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น  แต่เปลี่ยนแปลง “พฤติกรรมผู้บริโภค” ที่ถือเป็นหัวใจหลักสำคัญของธุรกิจ ไปอย่างสิ้นเชิง ส่งผลทำโลกธุรกิจในวันนี้อยู่ในมือผู้บริโภค มากกว่าผู้ประกอบการ เพราะผู้บริโภคเข้าถึงแหล่งข้อมูล และมีทางเลือกหลากหลายในการซื้อหรือใช้สินค้าและบริการ

 

Siam Amazing Park 2

 

โลกได้ถูกเปลี่ยนแปลงจากยุค “Analog” สู่โลกยุค “Digital” ซึ่งการจะยืนหยัดอยู่ได้บนโลกธุรกิจยุคนี้  ผู้ประกอบการจะต้องก้าวทัน กับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่เพียงแต่ปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบกับสวนสยามเท่านั้น ปัจจัยภายในเองก็ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการอยู่ต่อไปของสวนสยาม เพราะวันนี้ด้วยวัย 81 ปีของดร.ไชยวัฒน์  ซึ่งถือว่าเป็นคนสูงวัย ที่ควรจะวางมือ และส่งต่อธุรกิจให้กับทายาทต่อไปได้แล้ว ไม่ใช่เรื่องของการไม่มีความรู้ความสามารถ แต่เป็นเรื่องของความเหมาะสม ในวันและเวลาที่ทายาทควรจะเข้ามาสานต่อ และต้องเปลี่ยนแปลง “สวนสยาม” ไม่ใช่แค่เพื่อ “ความอยู่รอด” แต่เพื่อการก้าวไปสู่ “ความยั่งยืน” ของธุรกิจในอนาคต

 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับ “สวนสยาม” นับต่อจากนี้ไปมี 2 เรื่องใหญ่ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่  และสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของสวนสยามตลอดเกือบ 4 ทศวรรษที่ผ่านมาเลยก็ว่าได้ โดยเรื่องแรก นับตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2562 จะไม่มีชื่อ “สวนสยาม” อีกต่อไป แต่จะพบกับชื่อใหม่ “สยามอะเมซิ่งพาร์ค” (Siam Amazing Park)

 

เรื่องที่สอง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป ดร.ไชยวัฒน์ จะลาออกพร้อมกับแต่งตั้งให้ทายาทเข้ามาดูแลกิจการแทน ประกอบด้วยลูกชาย 2 คนได้แก่ นายสิทธิศักดิ์ เหลืองอมรเลิศ นายวุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ  ลูกสาว ได้แก่ นางจิรวรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา และลูกสะไภ้ ได้แก่ นางนพกาญจน์ เหลืองอมรเลิศ

 

Siam Amazing Park Bord

 

5 ดินแดนความสนุกใน “สยามอะเมซิ่งพาร์ค”

 

ไฮไลท์สำคัญของสวนสนุกและสวนน้ำ “สวนสยาม” ที่มีมาแต่เดิม คือ สวนน้ำที่มีสไลท์เดอร์ขนาดใหญ่ ยังคงมีอยู่ให้ลูกค้าได้สนุกเหมือนเดิม แต่ถูกยกระดับการให้บริการภายใต้คอนเซ็ปต์ “Everyday is Amazing” โดยสวนน้ำ หรือ Water World เป็น 1 ใน 5 ดินแดนของความสนุกของสวนน้ำ

 

นอกจากนี้ ยังมี Extreme World  สุดยอดดินแดนแห่งความมันส์ ที่รวบรวมเครื่องเล่นท้าความ เสียวระดับโลกมาไว้ในที่เดียว อาทิ  Vortex (วอร์เท็กซ์) รถไฟเหาะตีลังกาเกลียวสว่านแบบห้อยขาที่ใหญ่ที่สุด 1 ใน 2 ของโลก  Giant Drop ยักษ์ตกตึก เครื่องเล่นทิ้งดิ่งที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Log Flume ล่องซุงมหาสนุกขนาดยักษ์สัญชาติเยอรมัน

 

Adventure World ดินแดนแห่งการผจญภัยไปกับเครื่องเล่นหลากหลาย อาทิ Jurassic Adventure (ผจญภัยแดนไดโนเสาร์) Twin Dragon (เรือมังกรสองหัว) และเครื่องเล่นอีกหลายชนิด Family World ดินแดนของเครื่องเล่นที่เหมาะกับสมาชิกทุกคนในครอบครัว  ทั้ง Africa Adventure (ท่องป่าแอฟริกา) Si-Am Tower หอคอยชมวิวที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้​ ม้าหมุนสองชั้นสุดคลาสสิก รวมถึง Big Double Shock (บิ๊กดับเบิ้ลช็อค) บ้านผีสิงแบบฉบับของสยามอะเมซิ่งพาร์ค และ Small World ดินแดนเครื่องเล่นไซส์มินิสำหรับนักผจญภัยตัวน้อย

 

ทุ่ม 3,000 ล้าน ปั้น “บางกอกเวิลด์” 

 

ดินแดนความสนุกแห่งใหม่ล่าสุด ที่มาพร้อมกับคำว่า “สยามอะเมซิ่งพาร์ค” คือ ดินแดนที่ 6 โครงการบางกอกเวิลด์ ซึ่งใช้งบลงทุนไปถึง 5,000 ล้านบาท ทั้งการก่อสร้างและตกแต่ง เนรมิตพื้นที่ขนาด 70 ไร่ บริเวณด้านหน้าทางเข้าสวนสนุก ให้เป็น แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมขนาดใหญ่  ประกอบไปด้วย 14 อาคาร ได้แก่

 

Bangkok World 03

 

1.บางกอกออร์แกนิกมาร์เก็ต เป็นอาคารขนาด 3 ชั้นที่ได้แรงบันดาลใจจากห้างแบดแมนแอนด์โก ห้างสรรพสินค้าที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นห้างที่ทันสมัยและใหญ่สุดในขณะนั้น

2.บางกอกโฮมคราฟท์มาร์เก็ต จำลองอาคารบี.กริมแอนด์โก ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นศูนย์รวมผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมและเคมีภัณฑ์ครบวงจรในสมัยนั้น

3.บางกอกเวิลด์ฟู้ดฮอลล์ อาคารขนาดใหญ่บนพื้นที่กว่า 10,000 ตารางเมตร ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากศาลาเฉลิมกรุง  หรือมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า โรงมหรสพหลวง ภายในบางกอกเวิลด์ฟู้ดฮอลล์ ประกอบด้วยอาหารไทยปรุงสำเร็จจากสี่ภาค ภัตราคารอาหารไทยและอาหารนานาชาติ ซุ้มอาหารพร้อมทาน ร้านอาหารแบบ Take away รวมถึงฟู้ดคอร์ด

4.บางกอกฟาบริกมาร์เก็ต เป็นการจำลองพาหุรัดมาไว้ในอาคารขนาด 3 ชั้น เป็นแหล่งรวมสินค้าจากวิสาหกิจชุมชน ประเภทผ้าสารพัดชนิด

5.บางกอกไทยโคลธมาร์เก็ต เป็นอาคารที่ได้แรงบันดาลใจจากตลาดสำเพ็ง โดยจัดให้เป็นแหล่งจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป จากวิสาหกิจชุมชนสี่ภาค

6.บางกอกดินเนอร์เธียเตอร์ การจำลองบรรยากาศของศาลาเฉลิมไทย โรงละครที่ถือเป็นตำนานมากว่า 40 ปี โดยจะมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมรูปแบบต่างๆ ทั้งของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ระหว่างการชมการแสดงจะมีดินเนอร์มือพิเศษ ตัวอาคารบริเวณชั้น 2 และ 3 ยังมีห้องประชุม สัมมนา และจัดเลี้ยงด้วย

 

Bangkok World 02

 

7.บางกอกไชน่าทาวน์ ดึงเสน่ห์ของเยาวราชมาไว้รวมกันอย่างครบถ้วน ทั้งร้านค้า ร้านอาหาร

8.บางกอกไฟน์อาร์ทมาร์เก็ต อาคารที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคลองถม ภายในอาคารขนาด 2 ชั้น ได้รวบรวมสินค้าซึ่งจัดเป็นงานประณีตศิลป์ จากวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศมาไว้ที่นี่

9.ไทยคิดส์คุกกิ้งเอ็กซ์พีเรียนส์ แรงบันดาลใจจากบ้านพระอาทิตย์ ที่ถูกนำมาใช้เป็นสถานที่สำหรับการเรียนอาหารและขนมไทยสำหรับเด็กๆ

10.เวิลด์คิดส์คุกกิ้งเอ็กซ์พีเรียนส์ อาคารเรือนไทย ที่ได้แรงบันดาลใจจากเรือนขนมปังขิง ที่ได้รับความนิยมตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เพื่อเป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้การทำอาหารและขนมในแบบตะวันตก

11.บางกอกซูวีเนียร์ แรงบันดาลใจจากสะพานหัน ที่ตั้งอยู่ในย่านสำเพ็ง ซึ่งจะมีร้านขายสินค้าของที่รระลึก ของฝากจากทั่วประเทศ สินค้าแฮนด์เมด และอีกสารพัดกิ๊ฟช็อป

12.บางกอกโฟลทติ้งฟรุตท์มาร์เก็ต แรงบันดาลใจจากตลาดน้ำคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งจะมีเรือจำหน่ายผลไม้ และสินค้าต่างๆ

13.สำนักงานกลุ่มบริษัทสยามพาร์คซิตี้ ที่ออกแบบอาคารด้วยแรงบันดาลใจจากธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อยที่สร้างมาตั้งแต่ปี 2447 ซึ่งนอกจากเป็นสำนักงานแล้ว ยังเป็นจุดบริการและเงินและเติมเงินในบัตรแคชการ์ดด้วย

14.จุดเช็คอิน แลนด์มาร์คสำคัญของบางกอกเวิล์ด ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เสาชิงช้า ป้อมพระสุเมรุ คลองผดุงกรุงเกษม ประตูสามยอด และสะพานหัน

 

โครงการ “บางกอกเวิลด์” อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งกำหนดแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการในปี 2564 ที่จะถึงนี้

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด