Bim

[PR News] ตั้งสมาคม TBIM รับมือเทคโนโลยี Disrupt

รัฐ-เอกชน จับมือตั้ง สมาคม TBIM รับมือธุรกิจอสังหาฯ -ก่อสร้าง เจอเทคโนโลยี Disrupt หวังสร้างมาตรฐานการออกแบบ BIM พร้อมยกระดับคนในวงการ เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน  

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ ศาสตราจารย์สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะนายกสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (TBIM) เปิดเผยว่า  จากการที่เทคโนโลยีเข้ามา Disrupt ธุรกิจมากยิ่งขึ้น รวมถึงธุรกิจก่อสร้าง ทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างและงานออกแบบ ต้องเร่งพัฒนาศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อรับมือกับการ Disrupt ของเทคโนโลยี  รวมถึงเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันให้กับธุรกิจ เพื่อแข่งขันกับต่างชาติได้ทุกรูปแบบ

 

โดยเฉพาะปัจจุบันการออกแบบในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  ได้พัฒนานำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการออบแบบ ด้วยระบบคอมพิวเตอร์แบบ 3 มิติ  ที่เรียกว่า “BIM” (Building Information Modeling) แต่พบว่ากระบวนการ BIM ในประเทศไทย ยังไม่มีมาตรฐานการทำงานที่ชัดเจน  จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรกลาง คือ สมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Thai Building Information Modeling Association; TBIM) เพื่อช่วยสร้างกรอบการทำงาน และมาตรฐานให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

 

สำหรับสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร  ประกอบด้วย คณะกรรมการที่มาจากหลากหลายสาขาวิชาชีพและหลากหลายองค์กร เช่น สถาปนิกและวิศวกรผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนที่มีความสนใจ BIM มาใช้ในการทำงานให้สอดคล้องไปในทางเดียวกันภายใต้มาตรฐานและข้อกำหนดต่างๆ ที่ใช้สำหรับการทำงานให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน  โดยมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการร่างมาตรฐานการทำงานด้วยระบบ BIM ขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้งานมาตรฐานดังกล่าวได้ภายในปี 2563

 

ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้  และพัฒนาความสามารถในการทำงาน ของผู้ที่ทำงานด้วยระบบ BIM ทั้งกับสมาชิกและบุคคลภายนอก ทางสมาคมจึงเตรียมพัฒนาหลักสูตรอบรม-สัมมนา เพื่ออบรมให้ความรู้ในช่วงต้นปี 2563 ด้วย

 

สำหรับการทำงานของระบบ BIM จะสร้างแบบจำลองเสมือนจริงในคอมพิวเตอร์ ทำให้ผู้ทำงานเกี่ยวข้องสามารถเห็นส่วนประกอบทุกส่วนตรงกัน โดย BIM จะสร้างเป็นโมเดล 3 มิติขึ้นมาพร้อมกับ Intelligent Information อาทิ รายละเอียดวัสดุ เพื่อคำนวนปริมาณวัสดุก่อสร้าง ปรับปรุงกระบวนการออกแบบก่อสร้างและคำนวนพลังงานที่จะใช้ในอาคาร สร้างแบบจำลอง หรือ Digital Prototype Model ที่เสมือนจริง และเปลี่ยนจากการสร้างแบบบนกระดาษมาสู่เทคโนโลยีดิจิทัลและประสานข้อมูลบน Cloud สะดวกในการทำงานนอกสถานที่โดยสามารถใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่าง Tablet ได้อีกด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การส่งมอบอาคารที่มีคุณภาพสูงขึ้นจากมาตรฐานของตลาดในปัจจุบัน

 

ปัจจุบันมีผู้พัฒนาโครงการก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยได้นำเทคโนโลยีระบบ BIM เข้ามาใช้ในงานก่อสร้างแล้ว อาทิ สถานีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีส้ม ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และโครงการ แอชตัน อโศก ของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ส่วนในภูมิภาคอาเซียนมีประเทศสิงคโปร์เป็นผู้นำในการใช้ BIM ในการพัฒนาโครงการก่อสร้าง

“การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการสร้างโมเดล พิมพ์เขียวโครงการก่อสร้าง 3 มิติ หรือ BIM จะเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมโครงการก่อสร้างหรืออาคารประเภทต่างๆ มากขึ้น และเห็นแนวโน้มชัดเจนขึ้นภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ทันทีที่เทคโนโลยี 5G เกิดขึ้นในประเทศไทย”  ศ.ดร.อมร กล่าว

 

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด