หลายคนคงจะต้องผ่านช่วงชีวิตของการเป็นเด็กหอมาใช่ไหมคะ เพราะการได้อยู่ใกล้กับสถานที่เรียนหรือสถานที่ทำงานย่อมประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้มากกว่า ซึ่งแต่ละคนก็ต้องเจอปัญหาจุกจิกกวนใจไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง อย่างเรื่องค่าประกันหอแรกเข้าที่แพงกว่าค่าเช่าห้องหลายเท่าตัว ค่าน้ำ-ค่าไฟที่เก็บในอัตราสูงเกินจริง เวลาจะย้ายออกจากหอก็โดนยึดเงินประกันจนเกือบจะไม่เหลือทั้งที่ไม่มีอะไรเสียหาย แต่ต่อไปนี้ปัญหาจะลดลงและหมดไปในอนาคต เพราะกำลังจะมีกฎหมายใหม่ออกบังคับใช้เพื่อควบคุมปัญหาหอพัก-อพาร์ทเม้นท์ทั่วประเทศ
กฎหมายควบคุมหอพักที่กำลังจะเผยโฉมออกมาในเร็ววันนี้เกิดขึ้นมาจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ได้รับการร้องเรียนเข้ามาอย่างมากมายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการเช่าหอพัก-อพาร์ทเม้นท์ โดยปัญหา 2 อันดับแรก คือ เมื่อผู้เช่าได้ย้ายออกจากหอพักโดยแจ้งล่วงหน้าเอาไว้ 1 เดือนตามสัญญา แต่กลับไม่ได้เงินค่าประกันหอพักและค่าเช่าล่วงหน้าที่ได้เก็บไว้ตั้งแต่แรกเข้าคืน กับเรื่องอัตราค่าน้ำแพงเกินจริงถึง 15-20 บาท/ลบ.ม. ทั้งที่อัตราค่าน้ำจริงอยู่ที่ 8-11 บาท/ลบ.ม. ส่วนค่าไฟอัตราที่หอพักคิดประมาณ 6-9 บาท/หน่วย แต่อัตราจริงอยู่ที่ 2-4 บาท/หน่วย บางแห่งก็เจอปัญหามิเตอร์วิ่งเร็วเกินจริงอีกด้วย และเมื่อทางสคบ. ได้เขาไปตรวจสอบก็พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนมากจะเป็นหอพักสำหรับนักศึกษา กฏหมายฉบับนี้จึงกำลังจะเกิดขึ้นเพื่อไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภคต่อไปได้ ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในช่วงของการส่งเรื่องเพื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป
ไม่เพียงแต่ควบคุมเรื่องค่าน้ำ-ค่าไฟ ซึ่งเป็นปัญหาหลักของผู้อยู่อาศัยหอพักเพียงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงการควบคุมธุรกิจพอพัก แม้ตอนนี้จะยังไม่ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนแต่ก็ให้คำจำกัดความกับธุรกิจประเภทนี้ว่า เป็นผู้ที่มีห้องแล้วแบ่งให้เช่าตั้งแต่ 5 ห้องขึ้นไปไม่ว่าจะมีอยู่กี่ที่ หรืออยู่กันคนละแห่งก็ตามจะต้องเข้าหลักเกณฑ์ในการควบคุมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นหอพัก อพาร์ทเม้นท์ บ้านเช่า หรือคอนโดมิเนียม ส่วนที่เป็นหอพักนักเรียน นักศึกษา จะต้องทำการจดทะเบียนให้ถูกต้อง ซึ่งส่วนนี้จะไปอยู่ในความควบคุมของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
กฎหมายฉบับนี้มีใจความสำคัญที่เป็นข้อกำหนดให้ปฏิบัติ เช่น ผู้ให้บริการหอพักจะต้องแสดงรายละเอียดให้ชัดเจนครบถ้วนในสัญญา ไม่ว่าจะเป็นชื่อ ที่อยู่ของผู้เช่า ระยะเวลาการเช่า รายละเอียดของทรัพย์สินภายในห้องที่ให้เช่า อัตราค่าน้ำ-ค่าไฟที่เหมาะสมอ้างอิงกับอัตราจริง วิธีการชำระเงิน ฯลฯ และจะมีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ใหม่แก่ผู้ประกอบการ ที่สำคัญคือเงื่อนไขข้อปฏิบัติของการคืนเงินประกัน รวมไปถึงกำหนดข้อห้ามต่างๆ อย่างห้ามไม่ให้มีการเก็บเงินค่าเช่าห้องล่วงหน้าเกิน 1 เดือน ห้ามไม่ให้เก็บเงินค่าประกันเกิน 50% ของค่าเช่า ต้องคืนเงินประกันภายใน 7 วัน หลังผู้เช่าได้ทำการย้ายออก ห้ามไม่ให้ล็อกห้องผู้เช่าที่จ่ายเงินล่าช้าหลังวันที่กำหนด และไม่ให้เก็บเงินเพิ่มสำหรับผู้ต่อสัญญา เป็นต้น ทั้งหมดนี้จะต้องทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ โดยมีการกำหนดโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากมีการฝ่าฝืนต้องมีโทษทันที ซึ่งหากมีผลบังคับใช้เมื่อไรผู้ประกอบธุรกิจจะต้องยกเลิกสัญญาฉบับเดิมที่เคยทำไว้ทั้งหมด แล้วทำสัญญาใหม่กับผู้เช่าภายใต้ข้อกำหนดใหม่ให้เป็นไปตามกฎหมาย
ผู้ที่เช่าอาศัยอยู่หอพักเห็นแบบนี้แล้วคงจะสบายใจกันมากขึ้น เพราะเมื่อมีกฎหมายออกมาคุ้มครองผู้บริโภคอย่างนี้แล้ว ก็จะไม่ถูกเจ้าของหอพักขูดรีดโดยที่ทำอะไรไม่ได้อีกต่อไป รอติดตามการมีผลบังคับใช้กันได้เลยค่ะ คาดว่าประมาณเดือนพฤษภาคมนี้ เราจะได้เห็นหน้าตาของตัวกฎหมายควบคุมหอพักขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย