อีกหนึ่งปัญหาสำหรับเจ้าของบ้านที่สร้างความกังวลใจอย่างมากก็คือ “รอยร้าว” ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับทุกๆ บ้านเมื่อมีอายุการใช้งานไปสักระยะหนึ่ง แต่เจ้าของบ้านส่วนใหญ่กลับละเลยและไม่ลงมือซ่อมแซมรอยร้าวเหล่านี้ทันที เพราะคิดว่าไม่เป็นอันตรายและเป็นการสิ้นเปลืองค่าซ่อมแซม โดยที่ไม่ทราบเลยว่ารอยร้าวบางลักษณะก็เป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับบ้าน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับโครงสร้างอาคารโดยตรง หากปล่อยทิ้งไว้นานเข้าอาจเป็นอันตรายถึงขั้นทำให้บ้านถล่มได้เลยนะคะ วันนี้เราจึงรวบรวมรอยร้าวทุกอาการที่พบบ่อยซึ่งมีทั้งแบบไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง และรอยร้าวที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง พร้อมวิธีแก้ปัญหาดังกล่าว…
รอยร้าวที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง
รอยร้าวแนวดิ่งบนผนังและคานเป็นรอยร้าวที่เกิดจากการแอ่นตัวของพื้นและคานที่อยู่ใกล้บริเวณนั้น เนื่องจากรองรับน้ำหนักมากเกินไป ทำให้คานแอ่นและดันผนังใต้คานให้เกิดรอยร้าวแนวดิ่งตามมาด้วย หากพบรอยร้าวแนวนี้ แนะนำให้รีบเคลื่อนย้ายข้าวของที่มีน้ำหนักมากๆ ออกทันที เพื่อลดน้ำหนักกดทับและใช้เหล็กค้ำยันเพื่อช่วยแบ่งเบาน้ำหนัก จากนั้นจึงให้วิศวกรเข้ามาตรวจสอบและจ้างผู้รับเหมาหรือช่างที่ชำนาญซ่อมแซมในขั้นตอนต่อไป
ถ้าเกิดรอยร้าวบริเวณนี้นับว่าเป็นรอยร้าวอันตรายที่สุดเลยค่ะ สาเหตุเกิดจากพื้นชั้นบนรับน้ำหนักมากเกินไป จนเกินขีดความสามารถ การที่เกิดรอยร้าวจึงเป็นสัญญาณเตือนภัยก่อนพื้นจะพังทลายลงมา วิธีรับมือที่ดีสุดคือควรรีบเคลื่อนย้ายข้าวของบริเวณใต้รอยร้าวและบนรอยร้าวให้เร็วที่สุด จากนั้นจึงติดต่อให้วิศวกรเข้ามาตรวจสอบและทำการซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน
รอยร้าวทแยงมุมบนผนังเกิดจากการทรุดตัวของฐานรากหรือเสาบ้านที่อยู่ใกล้ผนังบริเวณนั้น ซึ่งรอยร้าวลักษณะนี้บ่งบอกถึงความไม่แข็งแรงของโครงสร้างบ้าน แนะนำให้ปรึกษาช่างผู้ชำนาญหรือสถาปนิกมาตรวจสอบและแก้ไขโดยด่วน ซึ่งวิธีแก้ไขรอยร้าวชนิดนี้ อาจต้องเสริมเสาเข็มและฐานรากหรือใช้วิธียกบ้านขึ้นชั่วคราวเพื่อทำฐานรากใหม่ หากเจ้าของบ้านปล่อยให้เกิดรอยร้าวลักษณะนี้ต่อไปเรื่อยๆ อาจต้องทุบอาคารทิ้งทั้งหมดเลยนะคะ เพราะฉะนั้นรีบแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ ดีกว่าค่ะ
รอยร้าวที่ไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง
เชื่อว่ารอยร้าวนี้ทุกคนต่างพบเจอเยอะที่สุดตามที่อยู่อาศัยแล้วค่ะ สาเหตุหลักๆ มักเกิดจากวงกบประตูหรือหน้าต่างไม้ ซึ่งไม้เป็นวัสดุที่มีการยืดหดตัวง่าย เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องอุณหภูมิและความชื้น ก็จะส่งผลให้ปูนฉาบบริเวณนี้เกิดรอยร้าวได้นั่นเอง วิธีแก้ไขแนะนำให้ติดต่อผู้รับเหมาหรือช่างที่มีความชำนาญ เข้ามาขัดแต่งรอยร้าวและฉาบปูนปิดทับลงไปให้เรียบเนียนเสมอกัน
อีกหนึ่งรอยร้าวที่มีให้พบเห็นตามบ้านและอาคารทั่วไปบ่อยๆ คงหนีไม่พ้นรอยร้าวแตกลายงาทั่วผนังนี่แหละค่ะ สาเหตุนั้นมักเกิดจากงานฉาบที่ไม่ได้มาตรฐาน เมื่อผนังผ่านความชื้นและอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงขึ้น จึงเกิดการยืดหดขยายและกลายเป็นรอยร้าวในที่สุด ซึ่งสามารถเกิดรอยได้ทั้งพื้นและผนังเลยนะคะ วิธีแก้ไขก็คือฉาบปูนปิดลงไปให้เสมอกัน โดยกรีดบริเวณรอยร้าวให้เป็นปากฉลาม (กว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร) และใช้ปูนกาวโป๊เก็บบริเวณรอยต่อ จากนั้นก็ขัดให้เรียบร้อยแล้วจึงทาสีชนิดที่ปกปิดรอยร้าว เท่านี้ก็ผนังหรือพื้นที่มีรอยร้าวก็กลับมาสวยงามดังเดิมแล้วค่ะ
รอยร้าวสุดท้ายที่มักเกิดขึ้นในบ้านมากที่สุดและไม่อันตรายต่อโครงสร้าง คือรอยร้าวบริเวณรอยต่อระหว่างผนังกับโครงสร้างเสาและคาน สาเหตุเกิดจากขั้นตอนการก่อสร้างผนังที่ผู้รับเหมาหรือช่างอาจไม่ได้เสียบเหล็กหนวดกุ้งเพื่อเกาะยึดกับโครงสร้างเสาด้านข้าง หรืออาจจะเสียบแต่ไม่แน่นพอ ทำให้ผนังเกิดรอยร้าวระหว่างรอยต่อของเสาได้ จึงมองดูแล้วไม่สวยงาม วิธีแก้ไขคือติดต่อให้ช่างที่มีความชำนาญอุดรอยต่อหรืออุดรอยร้าวโดยใช้โฟมหรือ PU และจึงทาสีทับให้กลับมาสวยงามดังเดิม
รอยร้าวที่เรารวบรวมมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงรอยร้าวที่มักพบบ่อยตามอาคารที่อยู่อาศัยซึ่งมีทั้งแบบไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง และรอยร้าวที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง ทั้งนี้หากใครพบรอยร้าวตามที่กล่าวมา แนะนำให้ปรึกษาวิศวกรที่มีความชำนาญเข้ามาทำการตรวจสอบเพื่อแก้ไขในขั้นตอนต่อไป ทางที่ดีไม่ควรชะล่าใจปล่อยรอยร้าวทิ้งไว้นานนะคะ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสมาชิกในครอบครัวได้