ความนิยมของอสังหาฯ ไทยในชาวต่างชาติ

ประเทศไทยขึ้นชื้อว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวติดอันดับท็อปของโลกต่อเนื่องมาหลายปี โดยในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยมากถึง 65 ล้านคน และคาดว่าในปี 2561 นี้จะเพิ่มขึ้นอีก 10% การเข้ามาของนักท่องเที่ยวนั้นส่งผลดีต่อเศรษฐกิจหลายด้าน ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกับชาวบ้านในพื้นที่เท่านั้น แต่ส่งผลไปถึงการเข้ามาลงทุนในบ้านเราเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

หลายประเทศโดยเฉพาะในแทบเอเชียมีแนวโน้มเข้ามาลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยมากขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก(อีอีซี) ประกอบกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายรายนำโครงการคอนโดมิเนียมไปออกโรดโชว์ต่างประเทศจึงทำให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มชาวต่างชาติมากขึ้น เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และมากที่สุดคือประเทศจีน ซึ่งมีทั้งการเข้ามาลงทุนด้วยตัวเอง การซื้อกิจการอาคาร ที่ดิน โครงการต่างๆ และการร่วมทุนที่มีการเข้ามาช่วยบริหารจัดการด้วยตัวเอง เนื่องจากที่ผ่านมามีการลงทุนจากชาวจีนเป็นเม็ดเงินเฉลี่ยปีละ 4-5 หมื่นล้านบาท โดยลักษณะการลงทุนมีหลากหลายรูปแบบ เช่น

 

คอนโดมิเนียม เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะสามารถปล่อยขายกรรมสิทธิ์แก่ชาวต่างชาติได้ถึง 49%/โครงการ สามารถซื้อเป็นชื่อของชาวต่างชาติเองได้ โดยนิยมเลือกทำเลทั้งในกรุงเทพฯ และตามเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ สามารถเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะได้ง่ายเน้นแนวรถไฟฟ้าหรือใกล้สถานที่สำคัญ มีสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโครงการรวมถึงราคาที่เหมาะสมเป็นหลัก กำลังซื้อจะอยู่ที่ประมาณ 5-10 ล้านบาทขึ้นไป โดยบางโครงการก็มีการกว้านซื้อแบบเหมายกชั้นมาแล้ว อีกส่วนหนึ่งในภาคธุรกิจจะให้ความสนใจในการร่วมทุนสร้างคอนโดมิเนียม เช่น โครงการ Hyde Heritage ทองหล่อ จากบริษัท แกรนด์ สตาร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง Property Perfect กับ Grand Asset จากประเทศไทย และ Sumimoto Forestry จากประเทศญี่ปุ่น, โครงการ Life อโศก คอนโดมิเนียมที่มีการร่วมทุนระหว่าง AP (Thailand) กับ Mitsubishi Estate Group-MEC จากประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

 

อาคารสำนักงาน ในบ้านเรานั้นติดอันดับที่ 2 ของอาคารสำนักงานระดับพรีเมียมที่มีค่าเช่าถูกที่สุดในโลก โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 1,020 บาท/ตร.ม./เดือน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอาคารสำนักงานที่แพงที่สุดในโลกอย่างฮ่องกงจะมีราคาเฉลี่ยที่ 9412 บาท/ตร.ม./เดือน รองลงมาเป็นนิวยอร์กมีราคาเฉลี่ย 5,653 บาท/ตร.ม./เดือน และลอนดอน 5,624 บาท/ตร.ม./เดือน แม้ว่าในประเทศไทยจะมีค่าเช่าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังถือว่าถูกกว่าฮ่องกงอยู่ถึง 9 เท่า เพราะมีซัพลายที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะอาคารสำนักงานเกรดเอย่านใจกลางเมืองที่มีเหลือให้เช่าเพียง 7.8% ซึ่งการลงทุนพัฒนาอาคารสำนักงานมักจะเป็นการร่วมทุนกันระหว่างบริษัทในประเทศไทยกับต่างชาติ

 

โครงการมิกซ์ยูส เป็นลักษณะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ผ่านมาจึงเป็นการร่วมทุนกัน เช่น โครงการมิกซ์ยูสในพัทยา โดยจงเทียน คอนสตรัคชั่น กรุ๊ป ร่วมทุนกับเจ.เอส.พี. พร็อพเพอร์ตี้, โครงการมิกซ์ยูสในพังงากับหัวหิน โดยจุนฟา เรียลเอสเตท ร่วมทุนกับชาญอิสระ ดีเวล็อปเมนท์ และล่าสุดกับการทุ่มทุนซื้อที่ดินเปล่าประมาณ 2,000 ไร่ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยครบวงจรแบบมิกซ์ยูสภายใน 5 ปี เป็นต้น

 

โรงแรม เดิมมีการลงทุนจากชาวจีนด้วยการซื้ออพาร์ตเมนต์ แต่ปัจจุบันลงทุนขนาดใหญ่ขึ้นโดยหันมาพัฒนาเป็นโรงแรมเอง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากประเทศเดียวกันที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยปีละเกือบ 10 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ เน้นตามเมืองท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม มีการเดินทางสะดวก เช่น ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น

 

โรงงานอุตสาหกรรม ส่วนมากจะเป็นการซื้อที่ดินแล้วพัฒนาเป็นโรงงานอุตสาหกรรม หรือซื้อต่อจากที่มีอยู่แล้วในเขตพื้นที่รอยต่อกับกรุงเทพฯ กับจังหวัดที่เป็นแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมอยู่แล้ว เช่น บริษัท ไฮดู เบสท์ กรุ๊ป จํากัด มีการ Take over โรงงานร้างในจังหวัดระยอง เพื่อนำมาพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย

ความนิยมของอสังหาฯ ไทยในชาวต่างชาติ 1

อีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้กลุ่มนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในเมืองไทยเพิ่มมากขึ้นคือ พ.ร.บ.ทรัพย์อ้างสิทธิ ที่เพิ่งผ่านการอนุมัติจากครม. เมื่อไม่นานมานี้ โดยเป็นการกำหนดให้มีทรัพย์อิงสิทธิ ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่เกิดจากการทำสัญญาเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดินมีโฉนด และห้องชุด ระหว่างเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ เรียกว่า “ผู้ให้ทรัพย์อิงสิทธิ์” สามารถทำสัญญาให้อีกคนหนึ่งที่เรียกกันว่า “ผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิ์” ใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นได้ในระยะเวลาไม่เกิน 30 ปี ไม่ว่าจะเป็นการขายสิทธิ์ โอน จำนอง เช่า สามารถดัดแปลง ต่อเติม สร้างสิ่งปลุกสร้างได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้ให้ทรัพย์อิงสิทธิ์(ขึ้นอยู่กับสัญญา) และหาก “ผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิ์” เสียชีวิตก็สามารถตกทอดแก่ทายาทได้

 

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ในอนาคตจะมีชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน-ญี่ปุ่น เข้ามาทำงาน อาศัยอยู่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศไทยยังสามารถเติบโตไปได้ดี แต่ทั้งนี้ก็ต้องมองดูที่ปัจจัยอื่นควบคู่กันไปด้วย เช่น เศรษฐกิจ การเมือง กฏหมายเรื่องการถือครองกรรมสิทธิ์ของชาวต่างชาติ และข้อกำหนดในการนำเงินออกนอกประเทศสำหรับประเทศจีนด้วย

 

 

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด