พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

มีอะไรใหม่ใน พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

เรื่องการเก็บภาษีเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ผ่านมาประเทศไทยใช้ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ซึ่งในปัจจุบันพบปัญหาขึ้นมากมาย ทั้งข้อจำกัดเกี่ยวกับอัตราภาษี ฐานภาษี รวมถึงการลดหย่อนภาษีไม่สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน เพื่อปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจึงเกิดขึ้น และจะมีผลบังคับใช้ปี 2562

ใครได้-ใครเสีย ?

หน่วยงานที่จัดเก็บภาษี คือ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ซึ่งรายได้จากการจัดเก็บภาษีนี้จะไปอยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น โดยไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินหรือรายได้ของรัฐบาล ส่วนผู้ที่จะต้องเสียภาษี คือ ผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและห้องชุด หรือผู้ทำประโยชน์ในที่ดิน สิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ

มีอะไรใหม่ใน พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 1

 

อัตราภาษีฉบับใหม่

จะมีการเปลี่ยนการคิดจากค่าเช่า มาเป็นราคาประเมินที่ดิน และจากสิ่งปลูกสร้าง มาเป็นฐานภาษีแทน ซึ่งกรมธนารักษ์จะเป็นผู้กำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน ราคาประเมินทุนทรัพย์โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด และอัตราค่าเสื่อมราคา ไม่จำเป็นต้องอาศัยดุลยพินิจของของเจ้าหน้าที่อีกต่อไป ตรงนี้ถือเป็นการลดขั้นตอน และป้องกันการเกิดคอรัปชั่น โดยมีการกำหนดอัตราภาษีเป็นเพดานแบ่งเป็นประเภททรัพย์สิน ดังนี้

  1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อการเกษตร เพดานภาษีไม่เกิน 0.2%
  2. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย เพดานภาษีไม่เกิน 0.5%
  3. ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ เพดานภาษีไม่เกิน 2.0%
  4. ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ภาษีเริ่มต้นไม่เกิน 2% เพดานภาษีไม่เกิน 5.0% หากยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็จะเก็บเพิ่ม 0.5% ทุกๆ 3 ปี มากที่สุดไม่เกิน 5%

*อัตราการเสียภาษีนี้เป็นข่าวที่ออกมาล่าสุด อาจยังไม่ใช่ข้อสรุปที่แท้จริง

 

วิธีการคำนวณภาษีที่

1.กรณีที่ดินที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง

ภาระภาษี = มูลค่าที่ดิน x อัตราภาษี

ทั้งนี้ กำหนดให้ มูลค่าที่ดิน = ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน (ต่อ ตร.ว.) x ขนาดพื้นที่ดิน

2.กรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ภาระภาษี = (มูลค่าที่ดิน + มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง) x อัตราภาษี ทั้งนี้ กำหนดให้มูลค่าที่ดิน = ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน (ต่อ ตร.ว.) x ขนาดพื้นที่ดิน โดยมูลค่าสิ่งปลูกสร้าง = (ราคาประเมินทุนทรัพย์โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง) – ค่าเสื่อมราคา

3.กรณีห้องชุด

ภาระภาษี = มูลค่าห้องชุด x อัตราภาษี ทั้งนี้ กำหนดให้ มูลค่าห้องชุด = ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่ห้องชุด (ตร.ม.)

 

มีอะไรใหม่ใน พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2

ข้อยกเว้น

ตามเพดานการเสียภาษีแบบใหม่นี้ แม้ที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะได้รับผลกระทบในการเสียภาษีมากที่สุด แต่จะถูกยกเว้นเมื่อที่ดินนั้นถูกมอบให้เป็นสาธารณะประโยชน์ โดยให้มีหน่วยราชการเข้าไปดูแลว่ามีการทำประโยชน์ดังกล่าวจริง ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องยกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ราชการแต่อย่างใด และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย วาตภัย ภัยพิบัติต่างๆ ก็ยังได้รับการยกเว้นหรือบรรเทาภาระภาษีด้วยเช่นกัน ล่าสุดกำลังพิจารณาปรับการยกเว้น เช่น บ้านพักอาศัยที่มีราคาไม่เกิน 20 ล้านบาท บ้านหลังที่ 2 เถียงนา กระต๊อบ เพื่อการเกษตรที่มีราคาประเมินต่ำกว่า 50 ล้านบาท หากตั้งอยู่ในตำบลเดียวกันกับบ้านหลังแรกมูลค่าต่ำกว่า 10 ล้านบาท รวมถึงธุรกิจเอสเอ็มอี หรืออุตสาหกรรมขนาดเล็กที่จดทะเบียนแต่งตั้งบริษัท จะให้อยู่ในข่ายยกเว้น

หลายคนเชื่อว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะมีส่วนช่วยให้ลดความเลื่อมล้ำทางสังคมได้ เพราะผู้ที่มีทรัพย์สินมูลค่าสูงจะต้องเสียภาษีมากกว่าผู้ที่มีทรัพย์สินมูลค่าต่ำ การกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไรก็จะลดน้อยลงด้วย และยังสามารถสร้างรายได้ในระดับท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นถึง 200,000 ล้านบาท โดยไม่ต้องรองบประมาณจากภาครัฐ แต่ในขณะเดียวกันหลายฝ่ายยังเห็นช่องว่างที่อาจทำให้เกิดปัญหา โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีประเภทกิจการท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว ซึ่ง ณ วันนี้ก็ยังหาข้อสรุปกันไม่ได้ สุดท้ายแล้ว พรบ. ที่จะออกมาบังคับใช้จริงจะมีบทสรุปอย่างไร จะได้ผลจริงตามที่คาดหวังหรือไม่ก็คงต้องรอดูกันต่อไปหลังจากบังคับใช้ไปแล้วสัก 2-3 ปี

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด