หลังรถไฟฟ้าบีทีเอสเปิดใช้บริการมาร่วม 16 ปี นับจากปี 2542 ถึงปัจจุบันมีระยะทางรวม 30.95 กิโลเมตร มีสถานีให้บริการทั้งหมด 34 สถานี และมีผู้ใช้บริการมากกว่า 2 พันล้านเที่ยว
ล่าสุด “บีทีเอสซี-บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ” เตรียมควักเงิน 450 ล้านบาท จากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) ก่อสร้างสถานีแห่งใหม่ “ศึกษาวิทยา” เพิ่มเติม หลังจากสภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปมากในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา
“สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เหตุผลที่บริษัทสร้างสถานีศึกษาวิทยา (S4) เพิ่ม เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงและมีศักยภาพมากหลังจากมีรถไฟฟ้าบีทีเอสเปิดให้บริการมีการพัฒนามีการเติบโตของที่อยู่อาศัย และอาคารสำนักงานใหม่เกิดมากขึ้น
อีกทั้งจะช่วยรองรับปริมาณผู้โดยสารที่มาใช้บริการสถานีช่องนนทรีที่ปัจจุบันมีผู้โดยสารหนาแน่นทั้งนี้สถานีที่จะสร้างใหม่ได้มีการวางโครงสร้างไว้แล้วตั้งแต่เริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีลม แต่เนื่องจากช่วงเวลานั้นจากการประเมินพบว่า จะไม่คุ้มค่าในการลงทุน จึงชะลอสถานีนี้ไว้ก่อน
“ตอนนี้เรามองว่าพื้นที่ดังกล่าวเริ่มมีศักยภาพ มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลง และการลงทุนต่าง ๆ ส่งผลให้มีตึก อาคาร และที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น คนก็เข้าไปอาศัยในพื้นที่มากขึ้น ที่สำคัญจะช่วยบรรเทาคนที่มาใช้บริการสถานีช่องนนทรีที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน จะเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชนที่มาใช้บริการ”
สำหรับความคืบหน้าล่าสุด “สุรพงษ์” บอกว่า อยู่ระหว่างการจัดหาผู้รับเหมามาก่อสร้าง คาดว่าจะได้บริษัทรับเหมาภายในเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ 2559 จะเริ่มก่อสร้างปี 2560-2561 ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 12-18 เดือน โดยการก่อสร้างนี้ไม่ต้องมีการทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ใหม่ เนื่องจากได้มีการศึกษาสถานีไว้ตั้งแต่เริ่มโครงการแล้ว
นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า โดยจุดก่อสร้างจะอยู่กึ่งกลางระหว่างสถานีช่องนนทรี (S3) กับสถานีสุรศักดิ์ (S5) จุดที่ตั้งสถานีจะอยู่บนถนนสาทรเหนือ-ใต้ บริเวณปากซอยสาทร 12 ด้านหน้าธนาคารยูโอบี สำนักงานใหญ่สาทร และโรงแรมแอสคอทท์ ในพื้นที่เขตบางรักและเขตสาทร
จะใช้เงินทุนประมาณ 450 ล้านบาท และจากการประมาณการของบริษัทที่ปรึกษา การสร้างสถานีศึกษาวิทยาจะทำให้จำนวนเที่ยวการเดินทางเพิ่มขึ้นประมาณ 9,500-12,000 เที่ยวต่อวัน
นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จะทำให้รายได้ค่าโดยสารของบีทีเอสเพิ่มขึ้นประมาณ 94 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของรายได้ค่าโดยสารจะเพิ่มขึ้นประมาณ 70 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอันใกล้อาจจะเห็นบีทีเอสซีสร้างอีกสถานีใหม่เพิ่ม คือ สถานีเสนาร่วม (N6) อยู่ระหว่างสถานีอารีย์ (N5) กับสถานีสะพานควาย (N7) ซึ่งสถานีนี้ได้กำหนดไว้ในแนวเส้นทางตั้งแต่แรก คาดว่าจะสร้างได้เร็วเหมือนกับสถานีศึกษาวิทยา
เพื่อรองรับการเติบโตของเมืองในย่านดังกล่าว ที่ปัจจุบันเริ่มมีการสร้างอาคารสำนักงานและที่อยู่อาศัยใหม่เกิดขึ้นมากมาย ไม่แพ้ย่านใจกลางเมือง รวมถึงผู้ใช้บริการก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีเช่นกัน
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์