“ซีแพนแนล” รับผลบวกมาตรการ LTVหลังดีเวลลอปเปอร์ หันมาขยายตลาดบ้านแนวราบ

ติดต่อโครงการ


“ซีแพนแนล” รับผลบวกมาตรการ LTVหลังดีเวลลอปเปอร์ หันมาขยายตลาดบ้านแนวราบ

การออกมาตรการ LTV หรือ อัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ลดระดับความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการสกัดกลุ่มนักลงทุนและเก็งกำไร ในตลาดคอนโดมิเนียม ผู้ประกอบการหลายรายต่างก็ส่งเสียงไปในทิศทางเดียวกันว่า ทำให้ภาพรวมตลาดชะลอตัวลง ลูกค้าซื้อที่อยู่อาศัยได้ยากขึ้น เพราะต้องหาเงินมาดาวน์บ้านเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ก็ไม่ใช่ผู้ประกอบการในวงการอสังหาฯ ทุกราย ที่ได้รับผลกระทบในเชิงลบ ยังมีคนในวงการบางรายที่ได้รับผลบวกจากมาตรการ  อย่างเช่นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายผนังคอนกรีตสำเร็จรูป หรือระบบพรีคาสท์ เพราะลูกค้าตลาดบ้านแนวราบขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

 

นายชาคริต ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เปิดเผยว่า จากการออกมาตรการ LTV ในปีนี้ ส่งผลให้ตลาดอสังหาฯ ประเภทโครงการแนวราบ มีอัตราการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดเจน เพราะผู้ประกอบการปรับตัว หันมาพัฒนาโครงการแนวราบกันจำนวนมากขึ้น  เนื่องจากเป็นตลาดเรียลดีมานด์ นอกจากนี้ ยังพบว่าแผนขยายเส้นทางรถไฟฟ้าที่มีความชัดเจน และออกมาจำนวนมากนั้น  ส่งผลดีต่อโครงการอสังหาฯ  แนวราบ โดยเชื่อว่าจะทำให้ตลาดบ้านแนวราบเติบโตต่อเนื่องถึง 10 ปี

 

 

“ตลาดบ้านแนวราบเมื่อ 4-5 ปีก่อนหน้า ไม่เติบโตชัดเจนขนาดนี้ สาเหตุเป็นเพราะมาตรการ LTV และผังเส้นทางรถไฟฟ้า ที่ทำให้คนไม่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ในเมืองเท่านั้น”

 

ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนลูกค้าโครงการคอนโดฯ​ ประมาณ​ 5% เท่านั้น จากช่วงเริ่มต้นธุรกิจใน 2ปีแรกมีสัดส่วนลูกค้าโครงการคอนฯ ประมาณ 20% ซึ่งบริษัทมีลูกค้าอยู่ประมาณ 15 ราย มียอดขายรอรับรู้รายได้ หรือ Backlog มูลค่า 500 ล้านบาท ที่จะทยอยรับรู้รายได้จนถึงปี 2563

 

นายชาคริต กล่าวอีกว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้าอีก 4-5 ราย ซึ่งมีมูลค่างานเฉลี่ย 100-200 ล้านบาท โดยหากได้ลูกค้าดังกล่าวเพิ่มจะสร้างการเติบโตให้กับบริษัทอีกจำนวนมาก จากปีนี้ที่คาดว่าจะสร้างรายได้ 318-330 ล้านบาท หรือเติบโต 30-40% จากปีที่ผ่านมารับรู้รายได้มูลค่า 240ล้านบาท

 

“ถ้าลูกค้าที่อยู่ระหว่างการเจรจาเข้ามา จะเป็นรายได้พิเศษเพิ่ม ซึ่งปีหน้าจะทำให้บริษัทเติบโต 70-80%”

 

สำหรับภาพรวมธุรกิจระบบพรีคาสท์  ปัจจุบันมีคาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 70,000- 1 แสนล้านบาท จากมูลค่าการก่อสร้างโครงการอสังหาฯ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีมูลค่ากว่า 3.7 แสนล้านบาท  ซึ่งยังถือว่าปริมาณการใช้ระบบพรีคาสท์ในการก่อสร้างยังอยู่ในอัตราที่ไม่สูง  เมื่อเทียบกับในกลุ่มประเทศยุโรปที่ใช้กว่า 70-80%ของการก่อสร้าง

 

ส่วนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจปีนี้ บริษัทยังคงเน้นการรักษาฐานลูกค้าเดิม และทำตลาดแนะนำผลิตภัณฑ์กับลูกค้ารายใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย และกลุ่มโครงการก่อสร้างงานภาครัฐ

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด