Eic New Normal Office 2021

New Normal ตลาดออฟฟิศให้เช่า ใช้พื้นที่น้อยแต่ยืดหยุ่นสูง

นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบันต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการทำงานที่หันมาใช้วิธีทำงานจากที่บ้าน (work from home) กันมากขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายรูปแบบต่าง ๆ มาเป็นเครื่องมือในการทำงาน เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม และลดการได้รับเชื้อโรค ทั้งจากการเดินทางและการพบปะผู้คน

 

คำถามที่เกิดขึ้น คือ เมื่อสถานการณ์และรูปแบบการทำงานเป็นแบบนี้ แล้วพื้นที่สำนักงานยังมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน เพราะทุกคนสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา และก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ธุรกิจให้บริการพื้นที่สำนักงานให้เช่า ก็มีทิศทางเติบโตที่ดี มีผู้ประกอบการจำนวนมาก หันมาพัฒนาพื้นที่เพื่อเตรียมรองรับกับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต

โควิด-19 พ่นพิษ ความต้องการใช้ออฟฟิศลดลง

ล่าสุด นายภัทรพล ยุทธศักดิ์นุกูล นักวิเคราะห์ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้นำเสนอรายงานเรื่อง New Normal ของตลาดสำนักงานให้เช่า จากผลกระทบของโควิด-19 เพื่อให้เห็นภาพรวมของตลาดสำนักงาน ที่มีปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตและเทรนด์ในอนาคต

โดยรายงานของ EIC ระบุว่า โควิด-19 ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการพื้นที่สำนักงานเปลี่ยนแปลงไปในมิติสำคัญ 2 ด้าน คือ

1.ความต้องการพื้นที่สำนักงานให้เช่าที่ลดลง

สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ ความต้องการ (Demand) พื้นที่สำนักงานให้เช่าลดลงนั้น เกิดจากจำนวนบริษัทที่ลดลง เพราะมีการปิดกิจการที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ การเปิดธุรกิจใหม่ก็มีแนวโน้มลดลงด้วยเช่นกัน และหลายบริษัทมีนโยบาย work from home ส่งผลให้ความต้องการพื้นที่สำนักงานลดลง และอาจกลายเป็น new normal ของหลายบริษัทในอนาคต

2.ความต้องการพื้นที่สำนักงานรูปแบบใหม่

ความต้องการพื้นที่สำนักงานจะปรับเปลี่ยนไปสู่สำนักงานรูปแบบใหม่อย่างเช่น flexible space ที่ต้องตอบสนอง เทรนด์การทำงานแบบใหม่ที่ต้องการความคล่องตัวและมีความยืดหยุ่นทำให้สามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้สอยได้ตามความต้องการ

ธุรกิจไปต่อไม่ไหว ปิดกิจการพุ่งกว่า 2 หมื่นราย​

โควิด-19 ส่งผลให้ภาคธุรกิจจำนวนมากประสบปัญหาจนมีแนวโน้มการปิดกิจการเพิ่มขึ้น ขณะที่การเปิดกิจการใหม่มีแนวโน้มลดลง นำไปสู่การชะลอตัวของอุปสงค์ต่อพื้นที่สำนักงาน

 

วิกฤติ โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเป็นวงกว้าง โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 บริษัทต่าง ๆ เริ่มกลับไปดำเนินงานที่สำนักงานภายหลังคลายล็อกดาวน์แล้ว แต่ในช่วงปลายปี 2563 ได้มีการระบาดรอบใหม่ส่งผลให้หลายบริษัทจำเป็นต้องกลับไปอยู่ในภาวะใกล้เคียงกับการล็อกดาวน์อีกครั้ง

 

ทั้งนี้ สภาพเศรษฐกิจที่หดตัวลงอย่างมากส่งผลให้หลายธุรกิจประสบปัญหา จนต้องมีการปรับลดต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างการดำเนินงาน ปรับลดจำนวนพนักงาน ปรับลดพื้นที่เช่า ตลอดจนปิดกิจการในท้ายที่สุด ซึ่งหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากและเป็นผู้เช่าสำคัญของธุรกิจสำนักงาน คือ ธุรกิจในภาคบริการ ซึ่งเป็นสัดส่วนราว 85% ของธุรกิจทั้งหมดในไทย

 

จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (รูปที่ 1) พบว่า จำนวนบริษัทในภาคบริการที่ปิดกิจการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากข้อมูลล่าสุดในปี 2563 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ​มาอยู่ที่ 21,440 ราย ขณะที่จำนวนธุรกิจบริการที่เริ่มกิจการใหม่ กลับหดตัวลดลง 12% จากปีก่อนหน้า ​จากระดับเฉลี่ยที่มีการเพิ่มขึ้นราว 4% ต่อปีในช่วงปี 2557-2562 ส่งผลให้จำนวนบริษัทที่ดำเนินการอยู่โดยรวม มีแนวโน้มลดลงและนำไปสู่การชะลอตัวของความต้องการพื้นที่สำนักงานให้เช่า

 

ไม่เพียงแค่ภาคธุรกิจในประเทศเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันความต้องการจากบริษัทต่างชาติก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นกัน สะท้อนจากจำนวนชาวต่างชาติที่ได้รับใบอนุญาตทำงาน (aliens work permit) ในกรุงเทพฯ ช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 ลดลงประมาณ ​9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ​ซึ่งสะท้อนถึงการชะลอตัวของการลงทุนของบริษัทต่างชาติ ที่เป็นหนึ่งในผู้เช่าหลักของพื้นที่สำนักงานโดยเฉพาะพื้นที่เกรด A

 

นอกจากนี้  จากบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการคาดการณ์แนวโน้ม การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของทั้งโลก (Global foreign direct investment) ของ UNCTAD คาดว่าในปี 2563 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของทั้งโลกอาจลดลงประมาณ​ 40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ​และในปี 2564 จะลดลงต่อเนื่องราว 5-10% จากปีก่อนหน้า​และเริ่มกลับมาฟื้นตัวในปี 2565

Eic Office New Normal 1

หลังล็อกดาวน์ หลายธุรกิจให้ work from home ต่อ

นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 ยังส่งผลให้ภาคธุรกิจปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาสู่การ work from home ซึ่งบางบริษัทมีการปรับใช้รูปแบบการทำงานที่บ้านอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

 

ในการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ตั้งแต่ปลายปี 2563 ส่งผลให้หลายบริษัทจำเป็นที่จะต้องกลับไปใช้นโยบายในการ work from home อีกครั้ง ส่งผลให้การเดินทางไปทำงานเริ่มหดตัวอีกครั้งหนึ่ง เห็นได้จาก Google mobility index ของไทย (รูปที่ 2) ซึ่งเป็นดัชนีที่แสดง traffic ของการเดินทางไปยังสถานที่ประเภทต่าง ๆ ของผู้ใช้บริการ Google พบว่า ในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ การเดินทางไปที่ทำงานลดลงอย่างมาก แม้ว่าภายหลังคลายล็อกดาวน์ จะมีแนวโน้มที่ traffic ของการไปทำงานจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังคงน้อยกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19  โดยลดน้อยลงประมาณ 10%-20% จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหม่ ประกอบกับเป็นช่วงวันหยุดปีใหม่ ส่งผลให้แนวโน้มที่กำลังฟื้นตัวขึ้น เริ่มกลับไปหดตัวอีกครั้ง

 

ทั้งนี้ ในระยะต่อไป บริษัทหลายแห่งมีแนวโน้มที่จะใช้นโยบาย work from home ต่อในระยะยาว หรือมีการปรับตัวโดยการลดวัน/เวลาในการเข้าทำงานในแต่ละสัปดาห์ลง เนื่องจากสามารถลดต้นทุนดำเนินธุรกิจได้ดี อีกทั้ง พนักงานยังได้รับความสะดวกมากขึ้นจากการลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มมากขึ้น

Eic Office New Normal 2

จากผลสำรวจของ Gartner เกี่ยวกับการรับมือกับ โควิด-19 ของ CFO (CFO Actions in Response to covid-19) จากผู้บริหารมากกว่า 15,000 บริษัททั่วโลกรวมถึงไทย (รูปที่ 3) พบว่า ภายหลังจากสถานการณ์ โควิด-19 คลี่คลาย บริษัททั่วโลกราว 74% ยังคงมีนโยบายให้พนักงานอย่างน้อย 5% สามารถที่จะทำงานจากที่บ้านได้ต่อไป  ส่งผลให้ความต้องการพื้นที่สำนักงานมีแนวโน้มชะลอลง

Eic Office New Normal 3

อนาคตพื้นที่ออฟฟิศต้องการ flexible space

แม้ว่าพนักงานบริษัทมีความต้องการที่จะใช้เวลาทำงาน จากทั้งออฟฟิศและบ้าน แต่พื้นที่สำนักงานยังคงจำเป็นต่อการทำงาน แต่รูปแบบของสำนักงานอาจต้องปรับเปลี่ยนไป โดย flexible space เป็นรูปแบบหนึ่งที่ตอบสนองเทรนด์การทำงานในอนาคต

 

จากผลสำรวจของ CBRE เกี่ยวกับรูปแบบสำนักงานในอนาคต (The Future of the Office Survey) จากพนักงานออฟฟิศ 10,000 คน จากหลายประเทศทั่วโลก  ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป อินเดีย และเอเชียตะวันออก ซึ่งรวมถึงไทยด้วย พบว่า ภายหลังจากเหตุการณ์ โควิด-19 คลี่คลาย 28% ของพนักงานออฟฟิศต้องการทำงานจากที่บ้านแบบเต็มเวลา ขณะที่ 67% ของพนักงานออฟฟิศต้องการใช้เวลาทำงานจากทั้งออฟฟิศและบ้าน ส่งผลให้พื้นที่สำนักงานยังมีความจำเป็นอยู่บางส่วน แต่รูปแบบของพื้นที่สำนักงานจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไป เพื่อตอบสนองต่อรูปแบบการทำงานในอนาคต

 

โดยบริษัทส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับพื้นที่สำนักงานเพื่อตอบโจทย์องค์กร 3 ด้านคือ

1.การสร้างความร่วมมือ นวัตกรรม และประสิทธิภาพในการทำงาน

2.ความสามารถในการสะท้อนภาพลักษณ์และวัฒนธรรมขององค์กร

3.สถานที่สำหรับพบปะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์

 

ดังนั้น รูปแบบการใช้งานของพื้นที่สำนักงานอาจเปลี่ยนไป พนักงานทุกคนอาจไม่ต้องการโต๊ะทำงานประจำอีกต่อไป อาจต้องการเพียงพื้นที่นั่งทำงานร่วมกันเป็นทีมหรือมุมทำงานส่วนตัว ห้องประชุมอาจต้องมีเทคโนโลยีที่สามารถรองรับได้ทั้งพนักงานที่เข้าประชุมที่สำนักงานและผ่านทางช่องทางออนไลน์

 

จากผลสำรวจของ CBRE ยังพบว่า 56% ของบริษัทที่มีการสำรวจจะใช้พื้นที่สำนักงานที่เป็นรูปแบบ flexible space ในอนาคต เนื่องจากเป็นรูปแบบที่มีความคล่องตัวสูงและพื้นที่ใช้งานค่อนข้างหลากหลาย โดยอาจมีทั้งพื้นที่ส่วนกลางสำหรับการทำงานเป็นทีม หรือพื้นที่ส่วนตัวสำหรับผู้ที่ต้องการสมาธิ

 

ทั้งนี้ ความหมายโดยกว้างของ flexible space คือ พื้นที่สำนักงานที่มีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้สอยได้ตามความต้องการในการใช้งาน โดย flexible space มักประกอบไปด้วยพื้นที่ทำงาน อุปกรณ์สำนักงาน สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่าง ๆ อีกทั้ง ระยะเวลาในการทำสัญญายังสั้นกว่าสำนักงานทั่วไป

 

flexible space จะครอบคลุมรูปแบบพื้นที่สำนักงาน ดังนี้

1.สำนักงานสำเร็จรูป (serviced offices)

คือพื้นที่สำนักงานให้เช่าพร้อมเฟอร์นิเจอร์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ โดยผู้เช่ามักเป็นองค์กรหรือธุรกิจที่เริ่มตั้งใหม่หรืออยู่ในช่วงขยายกิจการ เนื่องจากสำนักงานลักษณะนี้มีเงื่อนไขและสัญญาเช่าที่ยืดหยุ่นมากกว่าพื้นที่สำนักงานให้เช่าทั่วไป

2.Co-working spaces

เป็นพื้นที่ส่วนกลางที่สามารถเข้าใช้บริการได้ทั้งแบบส่วนบุคคลและแบบกลุ่ม และใช้พื้นที่ร่วมกันได้หลายกลุ่มในเวลาเดียวกัน พื้นที่นี้จะเน้นการแบ่งปันและสร้างเครือข่ายระหว่างผู้เช่าผ่านการจัดกิจกรรมของ community manager ที่มีหน้าที่รับผิดชอบและตอบสนองความต้องการของผู้เข้าใช้บริการพื้นที่ ส่งผลให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วนกว่าสำนักงานสำเร็จรูป

ตลาดออฟฟิศ 64 ซึมต่อเนื่อง

แนวโน้มการชะลอตัวของภาคธุรกิจและเทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่ ส่งผลให้ตลาดสำนักงานให้เช่าในกรุงเทพฯ ปี 2564 มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องอีกเล็กน้อยจากในปี 2563

 

เนื่องจากผลจากการระบาดระลอกใหม่ของ โควิด-19 โดย EIC คาดว่าการชะลอตัวของตลาดในปี 2564 มาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่

1.พื้นที่ให้เช่าได้ ในกรุงเทพฯ ลดลง 0.5% -1.0%

พื้นที่สำนักงานให้เช่าได้ (occupied space) ในกรุงเทพฯ ในปี 2564 มีแนวโน้มชะลอตัวลงอีกเล็กน้อย โดยพื้นที่ที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ พื้นที่แถบนอกศูนย์กลางทางธุรกิจ (Non CBD) ทั้งนี้ผลจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ส่งผลให้แผนการขยายหรืออัปเกรดพื้นที่สำนักงานต่าง ๆ ในปี 2563 ถูกเลื่อนออกไป

 

สำหรับแนวโน้มในปี 2564 ภาพรวมของพื้นที่ให้เช่าได้จะชะลอตัวลง โดยคาดว่าจะลดลง 0.5% -1.0% (รูปที่ 4) โดยความต้องการพื้นที่เช่าจะลดลงจากการปิดกิจการหรือลดพื้นที่เช่า  อย่างไรก็ดี พื้นที่เช่าส่วนหนึ่งจะถูกชดเชยด้วยความต้องการพื้นที่เช่า จากในบางกลุ่มธุรกิจที่ยังมีความต้องการขยายพื้นที่ ได้แก่ ธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ

 

นอกจากนี้ หลายโครงการที่จะเปิดตัวในปี 2564 มีกลุ่มผู้เช่าแล้วบางส่วนจากที่มีทำสัญญาไว้ล่วงหน้า ประกอบกับเจ้าของโครงการมีแนวโน้มที่จะตั้งราคาค่าเช่าให้ต่ำลง เพื่อดึงดูดผู้เช่าเข้าสู่โครงการ อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และยังมีความเปราะบางทำให้หลายภาคธุรกิจยังต้องระมัดระวังในการขยายกิจการ ส่งผลให้อัตราเติบโตของความต้องการต่อพื้นที่สำนักงานต่ำกว่าในอดีต

 

โดยพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ พื้นที่แถบย่านนอกศูนย์กลางทางธุรกิจ (Non CBD) ที่มีบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นผู้เช่าอยู่เป็นสัดส่วนมากกว่าย่านศูนย์กลางทางธุรกิจ (CBD) เนื่องจากธุรกิจกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่  ส่งผลให้ต้องปรับตัวมากเพื่อให้สามารถอยู่รอดในภาวะวิกฤติ โดยหลายบริษัทต้องมีการลดจำนวนพนักงานหรือบางกิจการอาจต้องปิดดำเนินการส่งผลให้ความต้องการปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก

Eic Office New Normal 4

2.อัตราค่าเช่า ต่ำกว่าในช่วงก่อนเกิด โควิด-19

อัตราค่าเช่าปี 2564 มีแนวโน้มปรับลดลงอีกเล็กน้อย และยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในช่วงก่อนเกิด โควิด-19 จากความต้องการที่ชะลอตัว ในขณะเดียวกันกับที่มีจำนวนพื้นที่ใหม่เข้ามาในตลาดซึ่งเป็นปัจจัยกดดันการปรับขึ้นของค่าเช่า

 

ในช่วงที่ 4-5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจสำนักงานให้เช่ายังมีรายได้เติบโตดีต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราค่าเช่า ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.5% ต่อปีในช่วงปี 2558-2562 จากอัตราการเช่าที่อยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจาก โควิด-19 ทำให้ความต้องการมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงมาก

 

โดยอัตราค่าเช่าเฉลี่ยในกรุงเทพฯ ในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัว โดยจะเห็นผลกระทบค่อนข้างชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 2 จากนโยบายล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งผู้ประกอบการให้เช่าสำนักงานหลายแห่ง  ได้ลดหย่อนค่าเช่าเพื่อช่วยเหลือผู้เช่าในโครงการที่ได้รับผลกระทบ​  และหลายรายยังคงลดหย่อนค่าเช่า​ต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายปี 2563

 

สำหรับปี 2564 คาดว่าอัตราค่าเช่าจะลดลงอีกเล็กน้อย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอีกครั้ง  จากการระบาดรอบใหม่  ขณะที่จำนวนในพื้นที่ให้เช่ายังมีแนวโน้มชะลอตัว  จากจำนวนพื้นที่ให้เช่าใหม่เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นถึงราว 334,000 ตารางเมตรในปี 2564 (รูปที่ 5) ส่งผลให้ค่าเช่าไม่สามารถเติบโตได้ดีนัก

 

ในระยะกลาง จำนวนพื้นที่สำนักงานแห่งใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก จะกดดันให้เกิดภาวะจำนวนพื้นที่ส่วนเกิน ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราการเช่าปรับตัวลดลง

พื้นที่ใหม่เข้าตลาดอีกกว่า 4.58 แสนตร.ม.

เนื่องจากในช่วงปี 2565-2566  จำนวนพื้นที่สำนักงานใหม่ ที่เข้าสู่ตลาดจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 458,000 ตารางเมตร ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2558-2562  ถึงประมาณ​ 3 เท่า (รูปที่ 5) โดยเฉพาะสำนักงานเกรด A ในพื้นที่ CBD ที่มีสัดส่วนของพื้นที่ใหม่ถึง 55% ของพื้นที่ใหม่ทั้งหมด

 

สำหรับสำนักงานเกรด B แม้ว่าจะมีพื้นที่ใหม่ไม่มากนัก แต่คาดว่าสำนักงานเกรด B จะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงกับสำนักงานเกรด A เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้หลายโครงการมีพื้นที่ว่างมากขึ้น ทำให้เจ้าของพื้นที่มีแนวโน้มปรับลดค่าเช่าลง เพื่อดึงดูดผู้เช่าใหม่ให้เข้าสู่โครงการ และลดภาระการแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น

 

โดยเฉพาะโครงการที่เปิดให้บริการมานานหรืออยู่ในพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่อยู่ในทำเลทอง (prime location) ขณะที่ความต้องการในระยะกลางแม้ว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่คาดว่าความต้องการในพื้นที่ให้เช่ายังคงเติบโตไม่ทันกับจำนวนพื้นที่ที่เข้ามาใหม่ ส่งผลให้อัตราการให้เช่า (occupancy rate) โดยรวม  มีแนวโน้มปรับลดลงจนอาจต่ำกว่าระดับ 85% ในช่วงปี 2565-2566 และจะเป็นปัจจัยกดดันการปรับค่าเช่าในระยะต่อไป

Eic Office New Normal 5

แนวโน้มความต้องการพื้นที่สำนักงานที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจสำนักงานให้เช่าต้องปรับตัว อย่างเช่น การปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้ประโยชน์ของพื้นที่สำนักงานให้เหมาะสมกับผู้เช่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานพื้นที่ รวมถึงการนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบโจทย์ความต้องการใช้งาน

 

แนวโน้มพื้นที่สำนักงานที่จะตอบโจทย์หลัง โควิด-19 นอกเหนือจาก  ต้องมีมาตรการเพื่อรักษาความสะอาดและความปลอดภัยแล้ว การให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนและออกแบบพื้นที่สำนักงาน ให้ตอบโจทย์ความต้องการ เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการพื้นที่ให้เช่าต้องปรับตัว โดยเจ้าของพื้นที่อาจมีการสำรวจความต้องการของผู้เช่า และพิจารณาปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้งาน  ตลอดจนการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน

เทรนด์อนาคตพื้นที่ออฟฟิศต้องยืดหยุ่น

จากผลสำรวจของ CBRE เกี่ยวกับลักษณะของพื้นที่สำนักงานในอนาคต ที่พนักงานองค์กรต้องการจากหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย (รูปที่ 6) พบว่า  ปัจจัยสำคัญที่พนักงานส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อการใช้งานพื้นที่สำนักงาน 3 อันดับแรกคือ

1.พื้นที่สำนักงานที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน

2.การมีห้องประชุมส่วนกลาง (shared meeting space)

3.คุณภาพของอากาศภายในอาคาร

 

จากผลสำรวจของ CBRE ยังพบว่า ในอนาคตสัดส่วนของสำนักงานที่มีที่นั่งประจำเป็นหลักมีแนวโน้มลดลงเหลือเพียง 10% เท่านั้น (จาก 57% ก่อนเกิด โควิด-19) ส่วนอีก 90% ที่เหลือมีการใช้พื้นที่แบบยืดหยุ่น  (รูปที่ 7) สะท้อนถึงความต้องการพื้นที่สำนักงานในรูปแบบ flexible space มากขึ้น

Eic Office New Normal 6

Eic Office New Normal 7

นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ภายในพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกในอาคารยังเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ ตัวอย่างของเทคโนโลยีหรือแอปพลิเคชัน ที่มีการนำเอามาใช้ในพื้นที่สำนักงานมากขึ้น ได้แก่ แอปพลิเคชันสำหรับยืนยันตัวตนผู้เช่าใช้บริการ เทคโนโลยี touchless ต่าง ๆ ตั้งแต่การเข้า-ออกอาคารไปจนถึงภายในสำนักงาน การจองห้องประชุมผ่านมือถือ การสั่งงานอุปกรณ์ด้วยเสียง ตลอดจนอุปกรณ์ทำความสะอาดอัตโนมัติ หรือเครื่องมือช่วยในการติดต่อทางไกล (รูปที่ 8)

 

นอกจากนี้ การออกแบบพื้นที่ทำงานและพื้นที่รองรับการให้บริการต่าง ๆ ภายในโครงการอย่างครบวงจร จะช่วยตอบโจทย์เทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่

Eic Office New Normal 8

แม้ว่าการระบาดของ โควิด-19 ในระยะต่อไป จะปรับตัวดีขึ้นจนเข้าสู่ภาวะปกติ แต่รูปแบบการทำงานที่รักษาระยะห่างระหว่างบุคคลยังน่าจะเป็นเทรนด์ที่ภาคธุรกิจต่าง ๆ ให้ความสำคัญมากขึ้น ส่งผลให้ในอนาคตการวางแผนผัง (layout) ของออฟฟิศจะต้องมีการออกแบบ และปรับปรุงเพื่อลดความหนาแน่นของพนักงาน รวมถึงจุดที่มีโอกาสหนาแน่นสูง อาทิ ล็อบบี้ ลิฟต์ ห้องน้ำ

 

นอกจากนี้ อาจปรับปรุงพื้นที่สำนักงานในโครงการ เพื่อรองรับการให้บริการ flexible space ไม่ว่าจะเป็น serviced office หรือ co-working space ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวสามารถตอบสนองรูปแบบการทำงานในอนาคต ที่พนักงานบริษัทเริ่มใช้เวลาที่สำนักงานน้อยลงได้ดี อีกทั้ง การออกแบบพื้นที่ใช้ประโยชน์ภายในโครงการ  จะต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของพนักงาน นอกเหนือจากการออกแบบพื้นที่สำหรับการทำงานที่ตอบโจทย์เทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่ โดยอาจเน้นเพิ่มพื้นที่สนับสนุนต่าง ๆ อย่างครบวงจร อาทิ การเพิ่มพื้นที่สำหรับออกกำลังกาย หรือการจัดหาร้านอาหารเพื่อสุขภาพไว้ในโครงการ นับเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้เช่ามีความต้องการเช่าพื้นที่มากขึ้น

 

 

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด