Queen Sirikit National Convention Center 1

6 ไฮไลท์ศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่ ที่พร้อมใช้งาน ก.ย.65

เฟรเซอร์ส ประกาศพร้อมส่งมอบงาน สร้างศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่ ทันกำหนดเวลา เปิดบริการแน่ กันยาย 65 หลังก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 60% พร้อมชู 6 ไฮไลท์น่าสนใจ

 

ในเดือนกันยายน 2565 ทางบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ “FPT” ในฐานะผู้พัฒนาและบริหารงานก่อสร้าง “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” (Queen Sirikit National Convention Center หรือ QSNCC) ของ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ “NCC” ยืนยันแล้วว่า ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จะพร้อมเปิดให้บริการอย่างแน่นอน  จากกำหนดระยะเวลาการพัฒนาและก่อสร้างประมาณ 3 ปี ซึ่งการดำเนินการก่อสร้างปัจจุบันเป็นไปตามกำหนดการและแผนที่ได้วางเอาไว้  ปัจจุบันโครงการมีความคืบหน้าแล้วกว่า 60%

Queen Sirikit National Convention Center

นายวิทวัส คุตตะเทพ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายโครงการเชิงพาณิชยกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย)  เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีปัญหากจากการล็อกดาวน์แคมป์ก่อสร้างในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2564 ร่วม 60 วัน แต่บริษัทฯ ยังคงสามารถรักษาไทม์ไลน์การก่อสร้างได้ตามแผน

 

เมื่อมีการปรับปรุงศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่ โจทย์สำคัญในการพัฒนา คือ ต้องสร้างความแตกต่างและความเป็นสุดยอดศูนย์ประชุมที่ดีที่สุดในประเทศไทย มาใช้ในการพัฒนาโครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของ QSNCC ในการเป็น The Ultimate Inspiring World Class Event Platform for All และนี่น่าจะเป็น 6 ไฮไลท์สำคัญที่จะได้เห็นใน​ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่ ที่จะเปิดตัวในเดือนกันยายน 2565

6 ไฮไลท์ศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่

1.ทางเชื่อมเข้า MRT

เดิมผู้ที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน มาลงสถานีคลองเตย จะต้องขึ้นบันไดเลื่อน เพื่อเข้ามายังศูนย์ประชุมฯ แต่หลังจากนี้ มีทางเลือกเพิ่มขึ้นกับทางเชื่อมโดยตรงจากสถานีรถไฟฟ้า เข้าสู่ตัวศูนย์ประชุมโดยไม่ต้องขึ้นมายับระดับพื้นถนน ซึ่งทางศูนย์ประชุมฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างทางเชื่อม ด้วยงบประมาณ 60 ล้านบาท ปัจจุบันการก่อสร้างมีความคืบหน้าแล้ว 35% กำหนดแล้วเสร็จพร้อมใช้งานได้ในช่วงเดือนมิถุนายน 2565

2.ที่จอดรถ 3,000 คัน

ความลำบากในการมาใช้บริการศูนย์ประชุมฯ ของผู้ที่ใช้รถยนต์ส่วนตัว ในอดีตก่อนหน้านี้ คือ การหาที่จอดรถ ซึ่งถือว่าหาได้ยาก เพราะพื้นที่จอดรถของศูนย์ประชุมฯ มีจำกัดได้เพียง 600 คันเท่านั้น แต่นับจากนี้ผู้ที่ขับรถยนต์ส่วนตัวมาใช้บริการจะหมดปัญหาสถานที่จอดรถที่หาได้ยาก  เพราะศูนย์ประชุมฯ ได้เพิ่มพื้นที่จอดรถมากถึง 5 เท่า หรือประมาณ 3,000 คันเลยทีเดียว และไม่ต้องปล่อยให้รถตากแดดตากฝน เพราะลานจอดรถอยู่ในร่ม บริเวณชั้นใต้ดิน 2 ชั้น

Queen Sirikit National Convention Center 3

3.พื้นที่ใหญ่เท่า 50 สนามฟุตบอล

ที่ผ่านมาศูนย์ประชุมฯ ได้รับการตอบรับจากบริษัท หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ มาใช้พื้นที่จัดงานระดับเล็ก ๆ จนถึงระดับประเทศมากมาย แต่พื้นที่ก็มีไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้เอ็น.ซี.ซี.วางแผนขยายพื้นที่ให้ใหญ่ขึ้น โดยมีการก่อสร้างศูนย์ประชุมฯ แบบเต็มพื้นที่ โดยมีพื้นที่รวม 300,000 ตารางเมตร ใหญ่กว่าเดิมถึง 5 เท่า ขนาดความใหญ่ของศูนย์ประชุมฯ เทียบเท่ากับสนามฟุตบอลมาตรฐานถึง 50 สนามมาเรียงกัน แต่ถ้าเฉพาะพื้นที่จัดงานซึ่งเป็น Main Hall จะมีขนาดเท่ากับ 10 สนามฟุตบอล หรือ 50,000 ตารางเมตร และแน่นอนว่าเมื่อพื้นที่ขนาดใหญ่เท่านี้แล้ว ทำให้ศูนย์ประชุมฯ โฉมใหม่ จะรองรับผู้เข้ามาใช้บริการได้มากถึง 100,000 คนต่อวันเลยทีเดียว จากเดิมรองรับได้วันละ 25,000 คน

 

โดยศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ประกอบด้วยฮอลล์ขนาดใหญ่ 2 ฮอลล์ ห้องสำหรับจัดประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ 2 ห้อง และ ห้องประชุมกว่า 50 ห้อง จึงมีความยืดหยุ่นในการรองรับความต้องการด้านอีเวนต์และงานประชุมทุกรูปแบบ

4.จุดชมวิวสวนเบญจกิติ

ศูนย์ประชุมฯ โฉมใหม่ จะได้ปรับผนังของพื้นที่ Pleanary Hall ด้านทิศที่ติดกับสวนเบญจกิติ ให้เป็นกระจกทั้งหมด ทำให้มองเห็นวิวของสวนเบญจกิติ ซึ่งได้ปรับปรุงโฉมใหม่เช่นกัน ซึ่งทางเฟรเซอร์ฯ ยืนยันว่า จะทำให้ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กลายเป็นศุนย์ประชุมที่มีจุดชมวิวสวยที่สุดของกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ในอนาคตทางศูนย์ประชุมฯ จะทำการเชื่อมต่อพื้นที่ของสวนป่าที่ทางกรุงเทพมหานครจะดำเนินการในอนาคตด้วย

Queen Sirikit National Convention Center 4

5.ศูนย์ประชุมรองรับเทคโนโลยี 6G

ปัจจุบันถือได้ว่าเราอยู่ในยุคการสื่อสารด้วยเทคโนโลยี 5G แม้ว่าการใช้งานยังไม่เต็มพื้นที่ และผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยี 5G ทั้งหมด แต่สำหรับการนำเอาระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ภายในศูนย์ประชุมฯ โฉมใหม่ ได้เตรียมรองรับกับเทคโนโลยี 5G ไว้ทั้งหมดแล้ว และยังสามารถรองรับได้ถึง 6G ด้วยซ้ำ รวมถึงเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่รองรับกับวิถีชีวิต New Normal อาทิ Touchless access ระบบตรวจจับความหนาแน่นของผู้คน เป็นต้น

6.ศูนย์ประชุมแห่งแรกได้รับ LEED

การพัฒนาและก่อสร้างศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในรูปโฉมใหม่ ได้ยึดหลักความยั่งยืน (Sustainability) มาใช้ในการดำเนินการตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประหยัดพลังงาน การใช้โซล่าห์เซลมาช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้า การใช้วัสดุการก่อสร้างที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ถึง 70% การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า 25% เป็นต้น ส่งผลให้ปัจจุบันศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ได้รับการรับรางวัล LEED* ระดับ Silver จากสหรัฐอเมริกา ถือเป็นศูนย์ประชุมแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับรางวัลนี้

Queen Sirikit National Convention Center 5

Queen Sirikit National Convention Center 6

( *LEED:Leadership in Energy and Environmental Design หรือการออกแบบเพื่อความเป็นผู้นําทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม คือระบบที่ถูกนำมาใช้ประเมินมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นระบบอาคารเขียวที่ถูกนำมาใช้ทั่วโลก  โดยสภาอาคารสีเขียวสหรัฐอเมริกาหรือ U.S. Green Building Council (USGBC) ได้เป็นผู้กำหนดเกณฑ์ในการประเมินอาคารต่าง ๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลก มานานกว่า 10 ปี รวมถึงการตั้งระบบสำหรับการออกแบบ การก่อสร้าง การดำเนินงาน การบำรุงรักษาอาคารเขียว บ้านและพื้นที่โดยรอบ ซึ่งมีเป้าหมายให้เจ้าของและผู้ดำเนินการมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ-wikipedia.com)

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด