Reic Top5 Land Price

REIC เปิด 5 ทำเลราคาที่ดินยังพุ่งสูง​​ ท่ามกลางโควิด-19 ระรอกใหม่

รอบปีที่ผ่านมา ดีเวลลอปเปอร์อสังหาริมทรัพย์ มีการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ลดจำนวนลงเป็นอย่างมาก เพราะความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค ที่ได้รับจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การซื้อที่ดินใหม่เพื่อนำมาพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยลดลงตามไปด้วย รวมถึงชะลอแผนการสะสมที่ดินเพื่อเตรียมไว้พัฒนาโครงการในอนาคต  โดยหันมาพัฒนาโครงการบนที่ดินเดิมที่ซื้อไว้ก่อนแล้ว ​

 

เมื่อความต้องการซื้อที่ดินชะลอตัวลง ทำให้ประเมินกันว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินอาจจะมีการปรับลดราคาลง ตามหลักดีมานด์และซัพพลาย ซึ่งพบว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา ในช่วงไตรมาส 3 หลังเกิดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของไวรัสโควิด-19 จนนำมาสู่การล็อกดาวน์ประเทศในช่วงไตรมาส 2 นั้น พบว่าดัชนีราคาที่ดินเปล่ามีการขยายตัวเพียง 0.7% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวถึง 5.2% และขยายตัวในอัตรา 21.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในไตรมาส 4 มีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะสถาการณ์แพร่ระบาดเริ่มปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าจะยังต่ำกว่าช่วงที่ผ่านมาในอดีตก็ตาม โดยมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นเป็น 7.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 แต่มีค่าดัชนีลดลงเท่ากับ 17.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Reic Land Price Index By Quater

ราคาที่ดินลดต่ำลงครั้งแรกในรอบ 5 ปี​

สำหรับปี 2564 ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กลับมาระบาดรุนแรงอีกครั้ง ได้ส่งผลกระทบทำให้ค่าดัชนีราคาที่ดินได้รับผลกระทบ และมีอัตราการขยายตัวต่ำสุด นับตั้งแต่มีการจัดเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2559 โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงานว่า ค่าดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 1 ปี 2564 มีค่าดัชนีเท่ากับ 326.2 จุด หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ยังเพิ่มขึ้นเพียง 11.2% แต่เริ่มเห็นสัญญาณราคาที่ดินเริ่มลดลง ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2559 – 2563) ที่มีค่าดัชนี 17.7% ต่อไตรมาส

 

นอกจากนี้  เมื่อเปรียบเทียบกับค่าดัชนีราคาที่ดินในไตรมาสก่อนหน้า  พบว่า ในไตรมาสแรกของปี 2564 มีค่าดัชนีลดลงติดลบ 2.2% ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรก ตั้งแต่เริ่มมีการจัดทำดัชนีราคาที่ดินเปล่าของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2555 ด้วย

 

ดร. วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า ​ ศูนย์ข้อมูลฯ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ได้เห็นภาวการณ์ชะลอตัว และการปรับลดลงของราคาที่ดิน เป็นไตรมาสแรกเมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ซึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีการแพร่ระบาดต่อเนื่องในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ

Reic Price Index Top 5 Q12021

ทั้งนี้ ภาวการณ์ลดลงของดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา ยังถูกสะท้อนถึงความต้องการซื้อขายที่ดินเปล่าในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ที่มีจำนวนการโอนกรรมสิทธิ์ลดลงถึง 13.3% เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้ว่า ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้มีการปรับตัว โดยอาจมีการซื้อที่ดินสะสมไว้น้อยลง และมีการซื้อที่ดินใหม่เมื่อต้องใช้ในการพัฒนา ​มากกว่าที่จะซื้อมาเก็บไว้รอการพัฒนาในอนาคต

5 ทำเลราคาดินปรับตัวสูง

แต่อย่างไรก็ตาม  ยังพบว่า มีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาเพิ่มขึ้นมากในไตรมาส 1 ปี 2564 ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นที่ดินในทำเลตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า โดยพบ 5 ทำเลแนวรถไฟฟ้าที่ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่

1.แนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

ทำเลที่มีการปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดของดัชนีราคาที่ดินก่อนการพัฒนา คือ ที่ดินในทำเลแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางแค-พุทธมณฑล สาย 4) ที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น  38.3% เป็นที่ดินโซนตะวันตกของกรุงเทพฯ  ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค) ที่เปิดให้บริการแล้ว

2.แนวรถไฟฟ้าสายสีทอง-น้ำเงิน-ส้ม 

ที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าสายสีทอง (ธนบุรี-ประชาธิปก) ที่เพิ่งเปิดให้บริการไปเมื่อเดือนธันวาคม 2563 และสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค) และ สายสีส้ม (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม) ที่เป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต  โดยทั้ง 3 โครงการมีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น  35.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY)

Reic Land Price Index Graph

3.แนวรถไฟฟ้าสีส้ม

ที่ดินตามแนวรถไฟฟ้า สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ซึ่งเป็นโครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างที่มีความคืบหน้าการก่อสร้างโดยรวมอยู่ที่ 79.44% (ณ มีนาคม 2564) มีอัตราขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 35.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ดัชนีราคานี้ทำให้เห็นว่าราคาที่ดินโซนตะวันตก และโซนตะวันออกของกรุงเทพฯ มีราคาเพิ่มขึ้นมากในไตรมาสนี้

4.แนว MRT

ที่ดินตามแนว MRT ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว และ สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวลำโพง) ซึ่งเป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต โดยทั้ง 2 โครงการ มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY)

5.แนว BTS สายสุขุมวิท 

ทำเลที่ดิน BTS สายสุขุมวิท ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 34.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY)

Reic Map Land Price Increse

 

 

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด