53e22589 4736 4cfc 8ac5 Dccd800746a5

7 วิธีปรับปรุงบ้านเพื่อผู้สูงอายุ ด้วยตัวเอง

ด้วยพัฒนาการทางด้านการแพทย์ที่ล้ำหน้าไปมาก ประกอบกับการดูแลใส่ใจตัวเองของคนยุคปัจจุบัน ส่งผลให้คนส่วนใหญ่มีอายุที่ยืนยาวขึ้น อายุขัยเฉลี่ยของการเสียชีวิตก็เพิ่มขึ้น

 

โครงสร้างอายุของประชากรในแต่ละประเทศก็ปรับเปลี่ยนไป มีคนสูงอายุเพิ่มมากขึ้น รวมถึงประเทศไทยด้วย เรียกว่าเป็นการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งอัตราการเกิดใหม่ที่ลดน้อยลงด้วย สัดส่วนผู้สูงอายุก็ยิ่งเพิ่มตัวเลขมากขึ้น

C119eff4 F33b 4076 852f Df2197acd4ff

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom หรือ LWS)  บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) ระบุว่า ​ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานตัวเลขประชากรไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป  ในปี 2573 จะมีมากกว่า 21% เป็นการเข้าสู่ Super Aged Society ในช่วงเวลาดังกล่าว

 

โดยผู้สูงอายุแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่สามารถดูแลตัวเองได้ (Independent Living/Active Aging) กับกลุ่มที่ต้องมีผู้ดูแล (Assisted Living) สำหรับกลุ่มที่ดูแลตัวเองได้ การปรับปรุงสภาพแวดล้อม และที่อยู่อาศัย ให้เหมาะกับการใช้งานจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถที่จะใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

 

ในขณะที่กลุ่มที่ต้องมีผู้ดูแลที่จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในสถานบริบาลหรือ Nursing Home Care สถานบริบาล จำเป็นต้องออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมสำหรับการดูแลผู้สูงอายุเช่นกัน

 

ดังนั้น ทาง LPN Wisdom จึงแนะนำ 7 วิธีปรับปรุงบ้านเพื่อผู้สูงอายุ ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นวิธีการปรับปรุงอย่างง่าย  ตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุในครอบครัว ประกอบด้วย

1.ปรับปรุงห้องน้ำป้องกันลื่นล้ม

การปรับปรุงห้องน้ำ เป็นวิธี ปรับปรุงบ้านเพื่อผู้สูงอายุ ที่จำเป็นและต้องทำเป็นอันดับแรก ๆ เพราะเป็นสถานที่สำหรับกิจวัตรประจำวัน ซึ่งใช้วันละหลาย ๆ ครั้ง และเป็นสถานที่เสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายด้วย จาก​สถิติการเกิดอุบัติเหตุของผู้สูงอายุพบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุ จะเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มในห้องน้ำ ดังนั้น ห้องน้ำจึงเป็นพื้นที่แรกในบ้านที่ควรปรับปรุง โดยติดตั้งราวจับช่วยพยุงตัว ใช้กระเบื้องพื้นที่มีผิวหยาบโดยค่ากันลื่นที่ R10 ขึ้นไป เลือกสุขภัณฑ์ที่แข็งแรงไม่แตกหักง่าย โดยเฉพาะโถสุขภัณฑ์ระดับนั่งไม่ควรต่ำเกินไปทำให้ลุกยาก และห้องน้ำควรมีแสงสว่างที่เพียงพอ

2.เลือกเก้าอี้-โซฟาไม่ล้มง่าย  

การเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่ตอบรับการใช้งานของผู้สูงอายุ ควรเลือกเก้าอี้และโซฟาที่มั่นคงไม่ล้มง่าย เพราะผู้สูงอายุมักจะทิ้งน้ำหนักเพื่อพยุงตัวในขณะลุกหรือนั่ง ที่นั่งตื้นเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาหัวเข่า มากกว่าที่นั่งที่ลึก ที่นั่งที่สามารถปรับเอนได้เหมาะกับการพักผ่อนในตอนกลางวัน ที่รองขาจำเป็น ในการยกขาให้สูงขึ้นเพื่อลดอาการเหน็บชาเบาะสามารถถอดซักทำความสะอาดได้ง่าย โต๊ะหรือชั้นวางของควรมีขอบมุมที่มนป้องกันการกระแทก ติดตั้งชั้นวางของที่อยู่ในระยะเอื้อมถึง ไม่สูงเกินไป หลีกเลี่ยงการใช้บันไดปีน และฟูกที่นอนควรสูงจากพื้น 45-50 เซนติเมตร

3.เลือกวัสดุปูพื้นลดแรงกระแทก  

พื้นบ้านหรือพื้นห้องนอน เป็นสิ่งที่ต้องทำให้ถูกต้องและเหมาะสมกับการใช้งานของผู้สูงอายุ ซึ่งต้อง​เลือกวัสดุพื้นอุณหภูมิคงที่และลดแรงกระแทก ห้องผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่ถ่ายเทความร้อน-เย็น กับสภาพแวดล้อมเร็วเกินไป เช่น พื้นกระเบื้อง พื้นหิน เพราะเมื่อสัมผัสแล้วรู้สึกไม่สบายตัว ร่างกายต้องปรับอุณหภูมิบ่อยอาจเกิดความเจ็บป่วยได้ง่าย ดังนั้น พื้นไม้ซึ่งอุณหภูมิคงที่จึงเหมาะกว่า ช่วยลดแรงกระแทกหากลื่นล้ม และลายไม้ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย นอกจากนี้ยังมีวัสดุพื้นลดแรงกระแทก ลายไม้ ทำจาก PVC  ก็สามารถใช้ได้เช่นเดียวกัน หากบ้านไหนยังไม่ได้ปรับปรุงพื้นให้เหมาะสม ควรต้องรีบดำเนินการ เพราะเป็น วิธีปรับปรุงบ้านเพื่อผู้สูงอายุ ที่ไม่อาจจะละเลยได้

4.ติดตั้งราวจับบันได

บันไดจำเป็นจะต้องมีราวจับยึดเกาะ ส่วนมือจับประตูเปลี่ยนจากลูกบิดเป็นแบบก้านโยก บันไดเป็นจุดสำคัญที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้น ควรติดตั้งราวจับตลอดแนวบันไดทั้งสองด้าน โดยเป็นราวจับที่มั่นคง สูงจากพื้น 80 ซม. ในขณะที่มือจับประตูควรปรับเปลี่ยนจากลูกบิดมาเป็นที่เปิดปิดประตูแบบก้านโยก เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานสำหรับผู้สูงอายุ

5.เพิ่มพื้นที่สีเขียวในบ้าน

นอกจากเรื่องการดูแลร่างกายของผู้สูงอายุแล้ว การดูแลเรื่องของจิตใจก็เป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้กัน การเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในบ้านจะช่วยฟื้นฟูจิตใจของผู้สูงอายุได้ดี ​ ช่วยบรรเทาความตึงเครียด ลดระดับภาวะซึมเศร้า การได้สัมผัสธรรมชาติทำให้เกิดอารมณ์เชิงบวก อาจจัดให้มีพื้นที่ปลูกไม้กระถาง ผักสวนครัว กระตุ้นให้ผู้สูงอายุขยับร่างกายเล็ก ๆ น้อย ๆในชีวิตประจำวันมากขึ้น หากไม่มีพื้นที่ปลูกต้นไม้ วิธีง่ายก็คงจะเป็นพวกต้นไม้เล็ก ๆ ใส่กระถางไว้ในบ้าน หรือไม่แจกันดอกไม้สดมาไว้ในบ้านบ้างก็ช่วยได้

6.เติมความสะดวกด้วย Smart Home  

แม้เรื่องเทคโนโลยีหลาย ๆ อย่าง ผู้สูงอายุอาจจะไม่ถนัดมากนัก แต่หากแนะนำการใช้งานก็อาจจะไม่ใช่เรื่องยาก เดี๋ยวนี้ผู้สูงอายุหลายคน สามารถเล่นโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์​ หรือแอปพลิเคชั่นหลายอย่างได้ไม่แพ้เด็ก ๆ ดังนั้น วิธีการปรับปรุงบ้านเพื่อผู้สูงอายุ ก็ควรทำให้บ้านฉลาดขึ้น ด้วยระบบ Smart Home อย่างเช่น การติดตั้งกล้องวงจรปิด การเปิดปิดประตูอัตโนมัติ หรือการติดตั้งสัญญาณกันขโมย ปุ่มฉุกเฉินที่ห้องน้ำและหัวเตียง เพื่อส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยัง ครอบครัว ผู้ดูแลอาคาร หรือโรงพยาบาลได้เป็นต้น เพราะบางครั้งผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่อยู่คนเดียว หรืออยู่กันเองเป็นคู่ Smart Home จึงตอบโจทย์ความสะดวกสบาย สามารถควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ

7.อัพสปีดออนไลน์ด้วย WiFi

วิธีการปรับปรุงบ้านเพื่อผู้สูงอายุ ข้อนี้ อาจจะใกล้เคียงกับ ข้อที่ผ่านมา แต่อย่าลืมว่า ต้องเพิ่มสปีดของสัญญาณ WiFi ให้แรง ๆ เพื่อการใช้งานของระบบเหล่านั้นจะได้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการเล่นโซเชียลมีเดียของบรรดาผู้สูงอายุด้วย

 

นอกจากนี้ จากการสำรวจของ NRF พบว่าคนรุ่น Baby Boomer กว่า 47% ใช้ Social Network เพิ่มมากขึ้น โดย 75% มีบัญชี Facebook ของตนเอง ชื่นชอบการส่งต่อข้อมูลให้กับเพื่อน ๆ รวมถึงใช้ติดต่อ กับครอบครัวเพื่อคลายเหงา นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังชื่นชอบการสั่งสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้น การติดตั้ง WiFi ที่ทั่วถึงทั้งบริเวณพักอาศัย จึงเป็นสิ่งจำเป็น

 

ทั้งหมด เป็นคำแนะนำสำหรับ วิธีการปรับปรุงบ้านเพื่อผู้สูงอายุ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องความสะดวกสบายในการอยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงความปลอดภัย และเรื่องของสุขภาพด้วย หากบ้านไหนยังมีจุดเสี่ยง คงต้องรีบดำเนินการโดยด่วน เพราะหากเกิดอุบัติเหตุกับผู้สูงอายุแล้ว เรื่องเล็กอาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้

 

 

 

 

 

 

บทความ Life+Style ล่าสุด