bangkok plan

ผังเมืองกรุงเทพหลากสี แบ่งไปทำไมกัน?

Categories : Life+Style
Tags : , ,

หลายครั้งหลายหนที่เราพูดถึงเรื่องที่ดิน แต่ทราบหรือเปล่าคะว่าแต่ละพื้นที่นั้นมีการจัดการวางผังเมืองเอาไว้แบ่งเป็นโซนๆ แล้วในแต่ละโซนก็มีการกำหนดสีเอาไว้ด้วยว่าสีไหนสร้างอะไรบนที่ดินนั้นได้ แล้วสร้างได้ขนาดไหน หรือห้ามสร้างอะไรบ้าง ซึ่งในบทความนี้เราจะโฟกัสพื้นที่ของกรุงเทพฯ ค่ะ

 

ผังเมือง คือ การจัดการพื้นที่ของเมืองให้เป็นสัดส่วน แล้วตั้งข้อกำหนดเพื่อให้การนำที่ดินไปพัฒนานั้นเกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นไปตามแนวทางที่วางเอาไว้ มองภาพรวมแล้วมีความสอดคล้องกันควบคู่ไปกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพทย์สินของประชาชน รวมถึงต้องรักษาสภาพแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปด้วย ซึ่งในประเทศไทยมีกรมโยธาธิการและผังเมืองที่เป็นหน่วยงานดูแลจัดทำผังเมือง ส่วนในกรุงเทพฯ มีสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร คอยจัดการดูแล ซึ่งในบ้านเรามีการแบ่งผังเมืองแยกออกเป็นหลายสี แต่ละสีก็มีความหมายรวมถึงมีข้อกฎหมายในการใช้ประโยชน์จากที่ดินแตกต่างกันออกไป

จากภาพเราจะเห็นว่ากรุงเทพฯ ถูกแบ่งพื้นที่ออกเป็นหลายสี แต่ละสีก็จะมีความหมายรวมถึงกฎข้อบังคับการใช้ประโยชน์ที่ดินแตกต่างกันออกไป โดยแบ่งตามสีได้ดังนี้     

 

สีเหลือง(ย.1-ย.4) ที่ดินประเภทอยู่อาศัยหนาแน่นน้อย

สีส้ม(ย.5-ย.7) ที่ดินประเภทอยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง

สีน้ำตาล(ย.8-ย.10)   ที่ดินประเภทอยู่อาศัยหนาแน่นมาก

สีแดง(พ.1-พ.5)    ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม

สีม่วง(อ.1-อ.2)    ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม

สีม่วงเม็ดมะปราง(อ.3) ที่ดินประเภทคลังสินค้า

สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว(ก.1-ก.3) ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม

สีเขียว(ก.4-ก.5) ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม

สีน้ำตาลอ่อน(ศ.1-ศ.2) ที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย

สีน้ำเงิน(ส.) ที่ดินประเภทสถาบันราชการการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ

 

ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีการขยายตัวของเมืองออกไปอย่างรวดเร็วตามรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างอยู่หลายสายรวมถึงถนนที่ขยายเส้นทางเพิ่มขึ้น จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่แค่ในโซน CBD เช่น สีลม สาทร อโศก สุขุมวิทช่วงต้น รวมถึง New CBD อย่างพระราม9 และพื้นที่อื่นๆ อีกในอนาคต ซึ่งย่อมต้องมีผลกระทบจากการขยายตัวของเมืองแม้จะเกิดผลดีต่อการพัฒนาบ้านเมือง แต่ทั้งนี้ย่อมเกิดผลกระทบด้านลบตามมาด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อไหร่ที่มีความเจริญเข้ามาพื้นที่เกษตรกรรมก็มักจะลดลงตามไปด้วย โดยพื้นที่การเกษตรในเขตกรุงเทพฯ เกิดการใช้ประโยชน์ลดลงกว่า 4% หรือประมาณ 2.6 แสนไร่ จากพื้นที่การเกษตรในกรุงเทพฯ ทั้งหมด 1,500 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 27% แต่ในขณะที่พื้นที่อยู่อาศัยกลับเพิ่มขึ้นประมาณ 7.3% และพื้นที่พาณิชยกรรมเพิ่มขึ้น 25.43%  

 

เมื่อเมืองเกิดการพัฒนาที่ขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้นเช่นนี้แล้วจึงต้องมีการเตรียมปรับปรุงผังเมืองฉบับใหม่ซึ่งฉบับที่กำลังเร่งพลักดันให้ประกาศใช้ในปีนี้นั้นเป็นฉบับที่ 4 โดยการปรับปรุงผังเมืองแต่ละครั้งจะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจาก 14 ด้านมาดำเนินงานร่วมกันกับสำนักผังเมือง เพื่อให้ผังเมืองออกมาสมบูรณ์มากที่สุด ได้แก่ ด้านประชากร, เศรษฐกิจ, อุตสาหกรรม, ผังเมือง, การคมนาคมขนส่ง, สิ่งแวดล้อม, สาธารณูปโภค, สังคม, ยุทธศาสตร์ความมั่นคง, การวางผังชุมชนและภูมิทัศน์เมือง, กฏหมาย, สารสนเทศด้านภูมิศาสตร์, การจัดทำร่างผังเมืองรวม และด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งสาระสำคัญของผังเมืองฉบับใหม่นี้คือการกำหนดการขยายตัวเท่าที่จำเป็น กำหนดโซนเพื่อให้เกิดการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าที่สุดทำให้กระชับเมืองเข้าไปอีก แต่จะไม่เป็นการเสียพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ไป สร้างความสมดุลระหว่างพื้นที่ในเมืองกับชานเมือง ขณะเดียวกันกลุ่มนักลงทุนก็พยายามพลักดันให้เกิดการกระจายของเมืองให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาโครงการได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และยังช่วยเรื่องราคาที่ดินได้ด้วย    

 

สุดท้ายแล้วหน้าตาของผังเมืองใหม่จะออกมาเป็นอย่างไร เมื่อบังคับใช้แล้วจะสามารถนำมาใช้จริงโดยไม่เกิดผลเสียต่อฝ่ายใดได้หรือไม่ก็ต้องรอดูกันต่อไปค่ะ

 

บทความ Life+Style ล่าสุด