ในปี 2559 ที่ผ่านมา ตลาดการลงทุนซื้อขายโรงแรม (รวมถึงเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์) ในประเทศไทยมีสภาวะคึกคัก โดยมีโรงแรมในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆ มากกว่า 10 โรงแรมที่มีการเปลี่ยนมือ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 9,600 ล้านบาท อย่างไรก็ดี มูลค่าดังกล่าวลดลง 15% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากในปีที่ผ่านมาไม่มีการซื้อขายโรงแรมที่มีมูลค่าสูงดังที่เกิดขึ้นในปี 2558 แต่สำหรับปี 2560 นี้ ยอดการซื้อขายโรงแรมในไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากการที่การเจรจาตกลงซื้อขายโรงแรมสวิสโฮเทล นายเลิศ ปาร์ค มูลค่า 10,800 ล้านบาทจะเสร็จสมบูรณ์ในปีนี้ ยังไม่รวมการซื้อขายโรงแรมอื่นๆ อีก ที่จะเกิดขึ้น ตามการรายงานจากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล
นายไมค์ แบทเชเลอร์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายขายภาคพื้นเอเชีย หน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรมของเจแอลแอล กล่าวว่า “ในจำนวนโรงแรมที่มีการซื้อขายไปในปีที่ผ่านมา มีโรงแรม 5 แห่งที่เจแอลแอลเป็นตัวแทนเจ้าของในการจัดหานักลงทุนเข้าซื้อ ทั้งนี้ เราพบว่า ทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ ยังคงให้ความสนใจเข้าซื้อโรงแรมในไทยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังคงมั่นใจในปัจจัยพื้นฐานของตลาดที่แข็งแกร่งในระยะยาว”
ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แสดงให้เห็นว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.9% โดยในปี 2558 มีจำนวนนักท่องเที่ยวแตะ 30 ล้านคนเป็นปีแรก และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 35 ล้านคนในปีนี้ แม้มาตรการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญจะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้วก็ตาม
กรุงเทพฯ เป็นตลาดการซื้อขายหลักในปี 59
ในปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ เป็นตลาดโรงแรมที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดในประเทศไทย โดยมีสัดส่วนราว 50% ของมูลค่าการลงทุนซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตัวอย่างการซื้อขายรายการสำคัญๆ ได้แก่ เอท ทองหล่อ (ส่วนของเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์เดิมคือ แพน แปซิฟิก เซอร์วิส สวีท เปลี่ยนเป็นโรงแรมอาคิระ ทองหล่อในปัจจุบัน) โรงแรมลิเบอร์ตี้ การ์เดน และปาร์ค 24 คอนโดมิเนียมย่านสุขุมวิทซึ่งจะเปลี่ยนเป็นเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ภายใต้การบริหารโดยแอสคอทท์
การลงทุนซื้อขายโรงแรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา กระจายตัวอยู่ตามเมืองท่องเที่ยวหลักๆ ได้แก่ พัทยา ภูเก็ต พังงา เกาะสมุย หัวหิน และเชียงราย ตลอดไปจนถึงศรีราชาซึ่งเป็นย่านอุตสาหกรรม และนครราชสีมาซึ่งเป็นหัวเมืองหน้าด่านของอีสาน
ทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติเป็นผู้ซื้อหลัก
ในปีที่ผ่านมา นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้าซื้อโรงแรมในไทยมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยการลงทุนซื้อโดยนักลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนคิดเป็น 45% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนประเภทสถาบันจากฮ่องกงและสิงคโปร์
นายแบทเชเลอร์กล่าวว่า “ในปีที่ผ่านมา ทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติให้ความสนใจสูงสำหรับโอกาสการเข้าลงทุนซื้อโรงแรมในไทย ซึ่งคาดว่าแนวโน้มดังกล่าวนี้ จะยังคงดำเนินต่อในปีนี้”
“มีนักลงทุนสถาบันจากประเทศเอเชียจำนวนมากขึ้นที่กำลังมองโอกาสการลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ ของไทย โดยเน้นตลาดที่มีผลประกอบการดีและให้ผลตอบแทนการลงทุนในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งโรงแรมเป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ได้รับความสนใจเนื่องจากตลาดการท่องเที่ยวของไทยมีแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่งในระยะยาว ดังจะเห็นได้จากการที่มีนักลงทุนจำนวนมากเข้าร่วมแข่งขันเสนอราคา เมื่อมีโรงแรมมีศักยภาพเหมาะสำหรับการลงทุนถูกนำออกมาเสนอขาย” นายแบทเชเลอร์กล่าว