3 ความท้าทายและวิธีไปต่อ ของศูนย์ข้อมูลฯ ธอส. ในยุค Digital Disruption

ติดต่อโครงการ


Reic Digital Disruption

3 ความท้าทายและวิธีไปต่อ ของศูนย์ข้อมูลฯ ธอส. ในยุค Digital Disruption

ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2547 ที่มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์​ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จนถึงปัจจุบัน นับอายุของศูนย์ข้อมูลฯ ดำเนินงานมาถึง 15 ปีแล้ว การเกิดขึ้นของศูนย์ข้อมูลฯ วัตถุประสงค์หลักแรก คือ ต้องการให้ทำหน้าที่รวบรวบข้อมูลด้านอสังหาฯ ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในงานต่างๆ เข้ามาไว้ด้วยกัน

 

โดยเฉพาะการจัดทำฐานข้อมูลสำคัญด้านอสังหาฯ  ที่หน่วยงานอื่นไม่จัดเก็บ และจัดทำรายงานสถานการณ์ธุรกิจ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไป และหน่วยงานราชการได้รับรู้  หลังจากที่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เกิดปัญหาฟองสบู่แตกในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะไม่มีฐานข้อมูลมาใช้ในการวางแผน

 

Timeline Reic 2

 

ผนึกรวมกับธอส. เสริมศักยภาพ

แม้ว่าจะดำเนินงานมานานถึง 15  ปีแล้ว แต่ดูเหมือนว่าศูนย์ข้อมูลฯ  ยังมีข้อจำกัดในการทำงาน และการเพิ่มขีดความสามารถของตนเองให้ได้มากกว่านี้  เพราะการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลฯ ในช่วงเริ่มต้น ถูกวางบทบาทและสถานะให้เป็น “หน่วยงานอิสระ” และมี ธอส. เป็นผู้ดูแล ซึ่งตลอด 15 ปี โครงสร้างของศูนย์ข้อมูลฯ ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง ยังคงเป็นหน่วยงานที่มีธอส. เป็นผู้ดูแลเหมือนเดิม  แต่ยังมีข้อจำกัดในการเพิ่มเจ้าหน้าที่ และงบประมาณ​ ไม่สามารถขยายศักยภาพของตัวเองได้มากกว่านี้  เพราะถูกมองเป็นภาระสำหรับธอส. ปัจจุบันศูนย์ข้อมูลฯ มีเจ้าหน้าที่ 40 คน และได้รับเงินงบประมาณจากธอส. ปีละ 80-90 ล้านบาทเท่านั้น

 

แนวคิดของนายนริทร์ กัลยาณมิตร ประธานกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และประธานกรรมการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ มองว่าจะต้องนำเอาศูนย์ข้อมูลฯ​ ควบรวม (Merge) กับธอส. ให้กลายเป็นหนึ่งหน่วยงานของธอส.​ แต่ต้องมีอิสระในด้านการทำงาน  การควบรวมกันเพื่อให้ศูนย์ข้อมูลฯ มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น จากการใช้ทรัพยากรและศักยภาพของธอส. ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายสาขา 200 แห่งทั่วประเทศของธอส. ในการทำงาน รวมถึงอุปกรณ์ เครื่องมือ และงบประมาณ  เพราะศักยภาพของศูนย์ข้อมูลฯ มีมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สามารถพัฒนาไปได้ถึงการศูนย์ฝึกอบรมด้านอสังหาฯ ของประเทศ หรือการเป็นผู้ให้ใบอนุญาตในธุรกิจอสังหาฯ ก็ยังสามารถพัฒนาไปได้

 

President Reic

 

ศูนย์ข้อมูลฯ​ ยังสามารถก้าวไปสู่การเป็นหน่วยงาน Warning indicator จากการนำเอาข้อมูลมาวิเคราะห์และคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาฟองสบู่เหมือนในยุควิกฤตปี 2540 ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่น่าจะต้องเป็นให้ได้  รวมถึงการพัฒนาให้ศูนย์ข้อมูลฯ​ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ และมีความยืดหยุ่นสูง จนถึงระดับสามารถตอบสนองความต้องการของการใช้งานได้แบบเฉพาะเจาะจง อยากได้ข้อมูลพื้นที่ไหนก็วิเคราะห์ออกมาได้

 

นอกจากนี้ สิ่งที่ศูนย์ข้อมูลฯ ต้องทำหน้าที่รับผิดชอบ คือ การทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล จากหน่ายงานต่างๆ  และเป็นผู้ให้คำแนะนำ ชี้แนะหน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานที่จะออกมาตรการด้านอสังหาฯ เพื่อให้คำแนะนำได้ว่า มาตรการนั้นๆ ส่งผลดีหรือไม่ดี หรือมีผลกระทบอย่างไรบ้าง

 

“มาตรการภาครัฐ ที่ออกมา มันไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงก็หลายเรื่อง ถ้าทำให้ศูนย์ข้อมูลฯ นำข้อมูลหลายหน่วยงานมาวิเคราะห์ร่วมกันได้จะเป็นประโยชน์”

 

ปัจจุบันศูนย์ข้อมูลฯ ยังถือว่าทำหน้าที่เพียงรวบรวมข้อมูล นำข้อมูลมาวิเคราะห์ระดับพื้นฐาน ยังไม่ถึงระดับส่งสัญญาณเตือนได้ สิ่งที่ศูนย์ข้อมูลฯ ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คือ เพิ่มข้อมูลการบริการ เพิ่มบริการมากขึ้น การวิเคราะห์ในเชิงลึก การวิเคราะห์ด้วยความแม่นยำ เพื่อให้ได้ประโยชน์  รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ เพื่อไม่ให้ผู้นำข้อมูลไปใช้ได้ประโยชน์สูงสุด และไม่กระทบกับแผนการลงทุนของภาคเอกชน

 

Timeline Reic 1

 

4 ความท้าทายในยุคดิจิทัล ที่ศูนย์ข้อมูลฯ ต้องเผชิญ

 

ศูนย์ข้อมูลฯ ไม่เพียงแต่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ  และบุคลากร ซึ่งทำให้ไม่สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานได้มากกว่าปัจจุบันเท่านั้น แต่ต้องยอมรับว่าในโลกยุคดิจิทัลปัจจุบัน ซึ่งเป็นโลกของข้อมูลข่าวสารที่มีมากมายมหาศาล และคนส่วนใหญ่เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่าย ก็ถือว่าส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับธุรกิจและพฤติกรรมของคนในยุคปัจจุบันด้วย  ถือเป็นสิ่งที่เข้ามากระทบกับทุกหน่วยงานเช่นกัน ศูนย์ข้อมูลฯ เองก็ต้องปรับตัวให้ทันกับโลกยุคดิจิทัลเช่นกัน

 

ความท้าทายของศูนย์ข้อมูลฯ ที่ต้องเผชิญในยุคดิจิทัลมีด้วยกัน 3 เรื่องสำคัญ  คือ 

1.ข้อมูลที่มีมหาศาลและรวดเร็วแบบเรียลไทม์

ปัจจุบันถือเป็นยุคของ Big Data หรือ Data Science ที่มีข้อมูลมหาศาล และยังมีความรวดเร็วแบบเรียลไทม์ ซึ่งศูนย์ข้อมูลฯ ยังไม่สามารถจัดทำฐานข้อมูลในระดับนั้นได้ โดยเฉพาะการจัดทำข้อมูลในเชิงคาดการณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกหน่วยงานต้องการข้อมูลประเภทนี้ การวิเคราะห์ข้อมูล หรือ Data Analytic ทางศูนย์ข้อมูลฯ ยังจัดทำได้ไม่สมบูรณ์ จึงถือว่าเป็นความท้าทายสำคัญ ซึ่งจะต้องพัฒนาและก้าวตามไปให้ทัน รวมถึงต้องเพิ่มขีดความสามารถเหล่านั้นให้ได้

 

2.เครื่องมือและเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูล

ปัจจุบันศูนย์ข้อมูลฯ ยังขาดเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงเทคนิคและวิธีการในการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากในการพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การวิเคราะห์ดีมานด์และซัพพลาย โดยเฉพาะการส่งสัญญาณเตือน หรือ Warning สถานการณ์ตลาดอสังหาฯ  รวมถึงการสร้างนวัตกรรม หรือเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น Machine Learning เพื่อทำให้เห็นภาพเสมือนจริงของสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ผู้นำเอาข้อมูลไปใช้ได้ง่าย และปฏิบัติตามได้ง่าย

 

3.การเกิดขึ้นของ Financial Disruption

การพัฒนาเครื่องมือทางการเงินในยุคดิจิทัล ส่งผลทำให้เกิดสกุลเงินดิจิทัล รูปแบบทางการเงินดิจิทัล หรือนวัตกรรมทางการเงินในส่วนที่เป็นดิจิทัล แม้ว่าอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับศูนย์ข้อมูลฯ โดยตรง แต่ Financial Disruption ได้ส่งผลกระทบกับภาพใหญ่ของประเทศ ซึ่งศูนย์ข้อมูลฯ ต้องติดตามและวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ด้วย เพราะมีผลต่อการซื้อขายอสังหาฯ ด้วยเช่นกัน

 

บอร์ดบริหารของศูนย์ข้อมูลฯ  พยายามผลักดันให้ศูนย์ข้อมูลฯ ได้ควบรวมเป็นหนึ่งเดียวกันธอส. เพื่อให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการทำงานด้านข้อมูล ของธุรกิจอสังหาฯ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งคงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง และดูเหมือนจะเป็นหนทางเดียวที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด และมีประสิทธิภาพมากที่สุดเช่นกัน ซึ่งนี่คงเป็นหนทางที่จะทำให้ศูนย์ข้อมูลฯ สามารถไปต่อได้

 

 

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด