เตรียมใช้รถไฟฟ้าสายสีชมพู เข้าเมืองทองธานี ปี 68 รวมระยะทาง 3 กิโลเมตร กับ 2 สถานี บางกอกแลนด์หวังอำนวยความสะดวกให้ลูกบ้านกว่า 300,000 คน และคนทั่วไปเข้าใช้บริการปีละ 10 ล้านคน เล็งปั้นโปรเจ็กต์มิกซ์ยูสบนเนื้อที่ 400 ไร่ กระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ ในเมืองทองเติบโต 10-20%
รถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย 2 สถานีที่จะเข้าสู่เมืองทองธานี มูลค่า 4,000 ล้านบาท ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2568
โดยโครงการสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย 2 สถานีที่เข้าสู่เมืองทองธานี รวมระยะทาง 3 กิโลเมตร มีชื่ออย่างเป็นทางการแล้ว หลังจากที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทสไทย (รฟม.) กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม และบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BLAND ได้ตกลงร่วมกัน คือ
1.สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (ชาเลนเจอร์อาคาร 1)
2.สถานีทะเลสาบ เมืองทองธานี
ล่าสุด ในวันที่ 2 สิงหาคม 2565 บางกอกแลนด์ ได้จัดพิธีลงนามเซ็นสัญญากับ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ NBM ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR JV consortium) ที่ร่วมทุนกันระหว่างบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSG , บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ใน “โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี”
นายปีเตอร์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ ทางบางกอกแลนด์ไม่ได้มีการแบ่งผลประโยชน์ในด้านค่าตั๋ว หรือจัดสรรผลประโยชน์จากรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย แต่มองว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้พักอาศัยในเมืองทองธานีกว่า 300,000 คน และผู้ที่เดินทางเข้ามาร่วมงานแสดงสินค้าและการประชุมที่มีกว่า 10 ล้านคนต่อปี
นอกจากนี้ ยังจะช่วยทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ในเมืองทองธานีมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 10-20% โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า อาทิ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค, โรงแรม, คอสโม บาซาร์, คอสโม วอล์ค, เอาท์เล็ท สแควร์, บีไฮฟ ไลฟ์สไตล์มอลล์ และ คอสโม ออฟฟิศ พาร์ค ๆ นอกจากนี้ ยังจะช่วยให้ที่ดินภายในเมืองทองธานีมีมูลค่าและศักยภาพเพิ่มมากขึ้นด้วย ปัจจุบันบางกอกแลนด์ยังมีที่ดินเปล่าที่รอการพัฒนาอีก 600 ไร่ ซึ่งวางแผนการพัฒนาเป็นโครงการลักษณะมิกซ์ยูส 400 ไร่รอบทะเลสาบเมืองทองธานี
มีคนถามว่าเราลงทุนโครงการนี้เพื่ออะไร การที่รถไฟฟ้าเข้ามา ธุรกิจเราจะดีขึ้น ที่ดินที่มีอยู่จะมีศักยภาพพัฒนาที่ดีขึ้น
โดยนอกจากบางกอกแลนด์จะให้งบประมาณสนับสนุนโครงการมูลค่า 1,293.75 ล้านบาทแล้ว บริษัทยังลงทุนอีก 1,000 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาทางเชื่อม หรือ Skywalk เพื่อเชื่อมต่อจากสถานีไปยังศูนย์ แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค, โรงแรม, ร้านค้าปลีก และห้างสรรพสินค้าต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตและมอบความสะดวกสบายให้แก่ผู้ที่มาใช้บริการ
ด้านนายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการบริหาร บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ระหว่าง NBM และ BLAND เป็นการลงนามในสัญญา 2 ฉบับ แบ่งเป็น
1.สัญญาให้การสนับสนุนการก่อสร้าง (Construction Support Agreement) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู
ส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี
2.สัญญาก่อสร้างทางเชื่อม (Skywalk Connection Agreement) จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้ามายังตัวอาคารของเมืองทองธานี
โดยภายใต้สัญญาดังกล่าว ทางบางกอกแลนด์ ได้อนุมัติเงินสมทบและค่าสิทธิให้กับ NBM ประมาณ 1,293.75 ล้านบาท (รวมภาษี มูลค่าเพิ่ม) เพื่อสนับสนุนการก่อสร้าง และพัฒนาส่วนต่อขยายเมืองทองธานี และเพื่อสิทธิของ บางกอกแลนด์ หรือบริษัทในเครือของบางกอกแลนด์ ในการก่อสร้างทางเชื่อมสถานี เพื่อเชื่อมต่ออาคารหรือสิ่งก่อสร้างใด ๆ อันเป็นกรรมสิทธิ์ของกลุ่ม บางกอกแลนด์ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเมืองทองธานี เข้ากับสถานีรถไฟฟ้าในส่วนต่อขยายเมืองทองธานี นับแต่วันที่ทำสัญญา จนถึงวันที่สิทธิในการดำเนินงานระบบรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเมืองทองธานี ตามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูระหว่าง NBM และ รฟม.สิ้นสุดลง และยังได้อนุมัติเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการบำรุงรักษาจำนวน 10.35 ล้านบาทต่อปี (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) นับจากวันที่ส่วนต่อขยายเมืองทองธานีเปิดให้บริการด้วย
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการในธุรกิจ MOVE ที่บีทีเอส กรุ๊ปฯ ให้ความสำคัญ เพราะเรามุ่งหวังจะเป็นผู้ให้บริการเดินทางแบบ door-to-door เพื่อตอบโจทย์การเดินทาง ตั้งแต่ก้าวแรกถึงก้าวสุดท้ายให้กับผู้โดยสารอย่างสมบูรณ์ ภายใต้การให้บริการที่สะดวกและปลอดภัย โดยโครงการดังกล่าว จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูเส้นทางหลัก ช่วงแคราย-มีนบุรี ซึ่งสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าได้อีก 4 สายได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ), รถไฟชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ-รังสิต), รถไฟฟ้าสายสีเขียว (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี)
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 37 เดือน และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ เปิดให้บริการได้ในปี 2568 ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 13,785 คน/เที่ยว/วัน หากโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรในการเดินทางเข้าพื้นที่เมืองทองธานีได้เป็นอย่างดี เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นชุมชนขนาดใหญ่ และมีผู้เดินทางเข้า-ออกเป็นจำนวนมาก ส่วนภาพรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี จำนวน 30 สถานี (ไม่รวมสถานีอิมแพ็คเมืองทองธานี และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี) มีความคืบหน้าโครงการ 89.43% แบ่งเป็นงานโยธา 91.01% และงานระบบรถไฟฟ้า 87.90% ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้บางส่วนช่วงต้นปี 2566