Plus

พลัสฯ แนะ 5 วิธี ดีเวลอปเปอร์หน้าใหม่ รับมือวิกฤตอสังหาฯ  

แม้ว่ารัฐบาลจะดีเดย์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการออกมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนจากเดิม 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดทะเบียนจดจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01%

สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งมีผลใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพราะช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า เกิดวิกฤตอสังหาฯ​ ไม่น้อยเลยจากปัจจัยลบต่างๆ

 

แต่ด้วยระยะเวลาที่ธุรกิจอสังหาฯ ต้องเผชิญกับความยากลำบาก  เป็นวิกฤตอสังหาฯ จากผลกระทบของมาตรการ LTV เศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ที่ต่อเนื่องยาวนานกว่า ขณะที่ผลบวกจากมาตรการที่จะใช้ในปีนี้เหลือระยะเวลาแค่ 2 เดือนเท่านั้น ขณะที่ วิกฤตอสังหาฯ ดูเหมือนว่าปัจจัยลบยังต่อเนื่องยาวนานไปจนถึงปีหน้าด้วย เพราะภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเป็นปกติ

 

5 วิธีรับมือ วิกฤตอสังหาฯ

 

บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในฐานะที่ดำเนินธุรกิจบริหารงานขายมานานกว่า 20 ปี พลัสฯ ได้ให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการหน้าใหม่  เพื่อรับมือกับปัญหาและปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้น  กับคำแนะนำ 5 วิธี ปรับตัว รับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น ได้แก่

 

1.คอยติดตามสถานการณ์ตลาดและข่าวสารอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจครั้งนี้เป็นการชะลอตัวในหลายประเทศ จึงอาจกระทบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคทั่วโลก หากผู้ประกอบการรายใดมีเป้าหมายเน้นกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ก็จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ประเทศที่เป็นกลุ่มลูกค้าอย่างใกล้ชิดว่ากำลังซื้อยังดีหรือไม่

Location

2.หา Demand เฉพาะในแต่ละพื้นที่ และลงทุนให้เหมาะกับขนาดตลาดหรือความต้องการที่มี เมื่อสถานการณ์ของตลาดนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ (Investor) ได้รับผลกระทบจากการควบคุมการปล่อยสินเชื่อของภาครัฐฯ

 

การศึกษากลุ่มที่เป็นผู้อยู่อาศัยจริง (Real Demand) ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ควรสำรวจตลาดโดยเฉพาะเรื่องยอดขายของโครงการในบริเวณนั้นๆ และจำนวนยูนิตเหลือขาย  ตลาดที่อยู่อาศัยยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง หากพัฒนาสินค้าให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายในทำเลนั้นๆ จึงต้องศึกษาและวิจัยตลาดอย่างละเอียดและตั้งราคาที่สมเหตุสมผล

 

3.ความรู้เกี่ยวกับตลาดและทำเลต้องแน่น ทำเลที่ตั้งของโครงการเป็นสิ่งที่ลูกค้าพิจารณาเป็นอันดับต้นๆ การเลือกทำเลจึงเป็นสิ่งสำคัญ ต้องเข้าใจตลาดในทำเลนั้นและสามารถวิเคราะห์ศักยภาพทำเลได้อย่างแม่นยำ เพื่อการพัฒนาโครงการที่เหมาะสมและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าด้วย และวางแผนเปิดตัวโครงการให้สอดคล้องกับภาวะตลาดที่แท้จริงมากยิ่งขึ้น พิจารณาเรื่องเวลาและจังหวะการเปิดตัวที่เหมาะสม และมีแผนรองรับที่มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ตลาด

 

4.Customer-Centric ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง โดยต้องเข้าใจ Insight ของลูกค้าว่ากลุ่มเป้าหมายมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตและความต้องการด้านที่อยู่อาศัยอย่างไร เพื่อออกแบบโครงการที่ตอบโจทย์และวางกลยุทธ์การขายและการตลาดที่ตรงใจลูกค้า  นอกจากนี้ การปรับสเปคโครงการเพื่อให้ตั้งราคาได้เหมาะสม กับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่น่าสนใจ และเน้นโฟกัสโครงการเดิมที่มีอยู่เพื่อระบายสต็อก

 

5.ทำการตลาดที่แข็งแกร่ง สามารถสื่อสารภาพลักษณ์ที่สะท้อนจุดเด่นของโครงการ และเชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมาย การออกแบบห้องพักและพื้นที่ส่วนกลาง ต้องสะท้อนภาพลักษณ์ของกลุ่มเป้าหมาย ต้องมีความประณีตในการพัฒนาและเลือกสรรสิ่งต่างๆ เพื่อสะท้อนความใส่ใจในทุกรายละเอียด การตลาดที่ดีจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของผู้พัฒนาโครงการและตัวโครงการ

 

Marketing

 

รวมถึงสามารถสื่อสารจุดเด่นของตัวโครงการ ให้เชื่อมโยงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้ เลือกกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อทำตลาด ให้ความสำคัญกับการสร้าง Brand Story ที่สามารถสะท้อน Personality ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ ทั้งในแง่ Functional และ Emotional

 

“พลัส” เดินหน้าลงทุน-หาลูกค้าใหม่ สู้ วิกฤตอสังหาฯ     

 

นางสาวสมสกุล หลิมศุทธพรรณ  รองกรรมการผู้จัดการสายงานบริหารธุรกิจใหม่และสนับสนุนงานขาย บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ภาวะเศรษฐกิจยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายราย ออกมาปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

สำหรับพลัส พร็อพเพอร์ตี้ ในส่วนของงานบริหารงานขาย ยังเดินตามแผนโรดแมพระยะยาวที่วางไว้ ด้วยการเดินหน้าขยายฐานลูกค้าไปกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการรุ่นใหม่ กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการต่างชาติ และกลุ่มลูกค้าบริษัทขนาดใหญ่ ในการเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกับลูกค้า เป็นมากกว่าตัวแทนขาย เข้าไปมีส่วนร่วมให้คำปรึกษาตั้งแต่ก่อน-ระหว่าง-หลัง การพัฒนาโครงการ

 

เพื่อให้แต่ละโครงการมีรูปแบบที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และออกแบบกลยุทธ์การบริหารงานขายและการตลาดที่ตอบโจทย์ Customer-Centric และที่สำคัญคือเคียงข้างและให้คำปรึกษาลูกค้าผู้ประกอบการในทุกสถานการณ์ ไม่ทอดทิ้งลูกค้า ซึ่งในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจชะลอตัวนั้นลูกค้าหลายรายโดยเฉพาะรายใหญ่ล้วนมีการปรับตัวที่ดี

 

“นอกจากนี้พลัสฯ ยังได้ทำการสำรวจเทรนด์ความต้องการผู้บริโภคในปัจจุบันพบว่า คอนโดมิเนียมในทำเลที่เดินทางสะดวก มีการเชื่อมต่อด้านคมนาคมที่หลากหลาย ยังคงตอบโจทย์ลูกค้าในทุกยุคสมัย ในปีนี้ทำเลสุขุมวิทตอนกลางถือว่ามีความโดดเด่น ตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกในทุกด้านของการใช้ชีวิต”

 

อย่างไรก็ตาม หากดูจากเทรนด์ของโครงการใหม่ที่เปิดในปีนี้จะพบว่า ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัย และมีการออกแบบ Facility ตลอดจนการบริการต่างๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะกลุ่มมากขึ้น และมีเทคโนโลยี IoT ใช้อำนวยความสะดวกในโครงการ จะได้รับความสนใจจากลูกค้ามากยิ่งขึ้น

 

ทั้งนี้ ธุรกิจ Sole Agent หรืองานบริหารงานขายของพลัสฯ ปัจจุบัน (เดือนพฤศจิกายน 2562) มีลูกค้ารวม 13 โครงการ มูลค่าโครงการโดยประมาณอยู่ที่ 14,000 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ 50%  กลุ่มบริษัทมหาชน 30% และกลุ่มทุนต่างชาติ 20%

 

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด