Situation Index Q22020

โควิด-19 ทุบความมั่นใจดีเวลลอปเปอร์ ลดต่ำต่อเนื่อง 5 ไตรมาส

ผู้ประกอบการอสังหาฯ ไม่มั่นใจตลาด หลังเจอวิกฤตโควิด-19 ดัชนีความเชื่อมั่นลดลงต่อเนื่อง 5 ไตรมาส ขณะที่แนวโน้มอีก 6 เดือนข้างหน้าผู้ประกอบการมองตลาดบวกเล็กน้อย

 

ปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์  นอกเหนือจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ กำลังซื้อ และความต้องการของผู้บริโภคแล้ว ทัศนคติและแนวคิดของผู้ประกอบการ ก็นับว่ามีผลสำคัญต่อการสร้างการเติบโตให้กับตลาดอสังหาฯ ไม่น้อย แม้ว่าปัจจัยที่กล่าวมาจะเป็นตัวคาดการณ์ทิศทางของตลาด แต่หากผู้ประกอบการเกิดไม่มั่นใจต่อปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ส่วนของซัพพลายหรือจำนวนที่อยู่อาศัยที่ผู้ประกอบการจะพัฒนาออกมาคงไม่เกิดขึ้น

 

โดยปกติการที่ผู้ประกอบการ พัฒนาโครงการออกมาทำตลาด มักจะเกิดขึ้นจากการนำเอาข้อมูลทางการตลาด มาวิเคราะห์ร่วมกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวม แล้วจึงพัฒนาโครงการออกมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค นั่นหมายถึงว่า ผู้ประกอบการมีความมั่นใจแล้วว่า ตลาดมีความต้องการ แต่การจะให้การตอบรับกับโครงการนั้น ๆ นั้นหรือไม่ ก็อาจจะมีอีกหลายปัจจัยมาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียงของผู้ประกอบการเอง ทำเลในการเลือกพัฒนา แนวทางการทำตลาด และการจับกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมหรือไม่

Current Expectation Q22020

เรื่องของความมั่นใจในตลาดอสังหาฯ ของกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้น  ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) หรือ REIC ได้มีการจัดทำออกมาอย่างต่อเนื่อง  โดยล่าสุด ได้เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) ณ ไตรมาส 2 ปี 2563

 

โดยรายงาน ระบุว่า ดัชนีคามเชื่อมั่นของผู้ประกอบการมีเท่ากับ 42.6   ลดลงต่ำกว่าค่ากลางที่ 50.0 แต่มีสัญญาณดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีค่าดัชนีอยู่ที่ 41.2 ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในภาวะปัจจุบันของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ลดต่ำกว่าค่ากลางที่ 50.0 ติดต่อกัน 5 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2562 ซึ่งมีการประกาศใช้มาตรการ Macroprudential หรือมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย

Riec Vichai 2

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยยังมีมุมมองเชิงลบต่อสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการฯ ในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้า สาเหตุจากการที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาตรการผ่อนคลายการล็อคดาวน์ให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ

 

แต่ทั้งนี้ ดัชนีก็ยังคงต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0  โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทรายกลางและรายย่อยซึ่งไม่ได้จดทะเบียนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในปัจจุบันลดลงอย่างมาก เมื่อแยกกลุ่มผู้ประกอบการฯ ตามประเภทบริษัทพบว่า ความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันของผู้ประกอบการกลุ่ม Listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 45.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีค่าดัชนีอยู่ที่ 41.7 แต่ยังคงต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 ขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 38.0 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีค่าดัชนีอยู่ที่ 40.5 และต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0

Expectation Index Next 6m

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) มีค่าเท่ากับ 51.8 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า  ซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.5  และสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการคาดว่าอีก 6 เดือนข้างหน้าธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แม้ว่าภาคธุรกิจจะกลับมาดำเนินการได้ตามปกติมากขึ้น และรัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจ แต่ผู้ประกอบการยังคงกังวลเกี่ยวกับการระบาดรอบที่สองของเชื้อไวรัสโควิด-19

 

ผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Listed Companies มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับ 57.0 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 54.8 แต่ผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 44.1 จุด ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 46.4

 

 

 

 

 

 

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด