อัปเดต ค่ารถไฟฟ้า และการเปิดให้บริการเส้นทางใช้ใหม่ ในปี 2566 คนกรุงเตรียมเฮ เปิดเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสีเหลือง แต่เส้นทางรถไฟฟ้าเดิมปรับราคาขึ้นสูงสุดถึง 3 บาท
นับตั้งแต่เมืองไทยเรามีรถไฟฟ้าสายแรก คือ รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว ให้คนไทยได้นั่งโดยสารกันในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 ตอนนี้ก็เป็นระยะเวลา 23 ปีแล้ว ซึ่งตามแผนการพัฒนารถไฟฟ้าของเมืองไทย จะมีรถไฟฟ้ามากถึง 13 สี ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะทางกว่า 553.41 กิโลเมตร จำนวน 365 สถานี ซึ่งหากการพัฒนาเป็นไปตามแผนในปี 2572 เมืองไทยจะมีรถไฟฟ้าวิ่งให้บริการครบทั้ง 13 สี แต่แผนกับการปฏิบัติจริงอาจจะไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ระหว่างทางอาจจะมีการปรับเปลี่ยนหรือติดปัญหาอะไรก็เป็นไปได้ คงต้องติดตามข่าวสารกันต่อไป
แต่สำหรับปี 2566 คนไทยจะมีโอกาสได้นั่งรถไฟฟ้าสีใหม่ที่เปิดบริการอีก 2 สี 2 เส้นทางแล้ว หลังรอคอยมาเป็นเวลานานพอสมควร กับรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร
รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี อัปเดตเดือนพฤศจิกายน 2565 ตอนนี้มีความคืบหน้าด้านงานโยธา 93.85% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 94.12% ความก้าวหน้าโดยรวม 94.00% เบื้องต้นมีแผนจะเปิดทดลองให้บริการ สำหรับเป็นกลุ่มผู้ใช้บริการที่ขอเข้ารับการทดลอง (Control Group Public Trial Run) ตั้งแต่สถานีมีนบุรี-สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2566 ระยะเวลา 1 เดือนและเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ภายในเดือนสิงหาคม 2566 ส่วนค่าโดยสารเบื้องต้นคาดว่าจะจัดเก็บ 15-45* บาท โดยจะมีการคำนวณอีกครั้งจากค่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพฤษภาคม 2566
รถไฟฟ้าสีชมพู เป็นระบบขนส่งมวลชนสายรองประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail) ที่เป็นทางยกระดับตลอดเส้นทาง รวมระยะทางให้บริการ 34.5 กิโลเมตร ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 30 แห่ง โครงสร้างสถานีเป็นลักษณะโครงสร้างยกระดับเหนือพื้นผิวถนน ชานชาลาของสถานีจะอยู่ในรูปแบบของชานชาลาด้านข้างหรืออยู่ตรงกลางขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของใน แต่ละสถานี
นอกจากรถไฟฟ้าสายสีชมพูจะมีเส้นทางแคราย-มีนบุรีแล้ว ยังมีสายสีชมพูส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี (โครงการส่วนต่อขยายฯ) ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลด้วย โดยจะเป็นระบบขนส่งมวลชนประเภทรถไฟรางเดี่ยว (Straddle Monorail) มีลักษณะเป็นโครงสร้างยกระดับตลอดเส้นทาง มีจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีชมพูสายหลัก ที่สถานีเมืองทองธานี (PK10) เข้าสู่ ซอยแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 39 ไปสิ้นสุดที่บริเวณทะเลสาบในเมืองทองธานี ระยะทางโดยประมาณ 3 กิโลเมตรประกอบด้วย 2 สถานี สถานีที่ 1 สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (MT01) และสถานีที่ 2 สถานีทะเลสาบ เมืองทองธานี (MT02)
รถไฟฟ้าอีกหนึ่งสีที่คนไทยจะได้นั่งกัน คือ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ที่วางแผนกันไว้ว่าจะเปิดให้บริการสำหรับกลุ่มผู้ใช้บริการที่ขอเข้ารับการทดลอง (Control Group Public Trial Run) ตลอดทั้งสาย ภายในเดือนพฤษภาคม 2566 ระยะเวลา 1 เดือน และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ภายในเดือนมิถุนายน 2566 โดยอัตราค่าโดยสารจะอยู่ประมาณ 15-45** ซึ่งจะมีการคำรวนจากค่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมีนาคม 2566 อีกครั้ง
ส่วนอัปเดตงานก่อสร้างล่าสุด เดือนพฤศจิกายน 2565 ดำเนินงานไปได้แล้วถึง 97.73% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 97.72% ความก้าวหน้าโดยรวม 97.73% โดยรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เป็นโครงสร้างยกระดับตลอดแนวเส้นทาง มีระยะทางทั้งสิ้น 30.4 กิโลเมตรรวม 23 สถานี แบ่งโครงการออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงรัชดา/ลาดพร้าว–พัฒนาการ และช่วงพัฒนาการ–สำโรง ซึ่งใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือ Monorail ตลอดเส้นทาง
นอกจากปีหน้าเราจะได้นั่งรถไฟฟ้าสีใหม่ เส้นทางใหม่อีก 2 สี 2 เส้นทางแล้ว รถไฟฟ้าสายเดิมที่วิ่งให้บริการอยู่ ก็จะพาเหรดกันปรับขึ้นราคาขึ้น กันหลายสายเลยทีเดียว โดยมีการคิดค่าโดยสารเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 1-3 บาท
สำหรับอัปเดตค่ารถไฟฟ้าปี 2566 ที่ปรับขึ้นมีดังนี้
สำหรับรถไฟฟ้าบีทีเอส มีการปรับค่าโดยสารเริ่มต้นสถานีแรก 17 บาท จากก่อนหน้าเริ่มต้น 16 บาท และสูงสุดต่อเที่ยวเดินทาง คือ 47 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 3 บาท จากก่อนหน้าที่คิด 44 บาท มีกำหนดเริ่มคิดค่าโดยสารใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมนี้
โดยอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นของรถไฟฟ้าบีทีเอส ครั้งแรกกำหนดราคา 10-40 บาท หลังจากนั้นได้มีการปรับราคาใหม่ ซึ่งตลอดระยะเวลา 23 ปีของการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสนั้น มีการปรับค่าโดยสารมาแล้ว 3 ครั้ง ดังนี้
ตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทาน ทางบีทีเอสสามารถปรับขึ้นได้ทุก ๆ 18 เดือน แต่การปรับขึ้นทางบีทีเอสจะพิจารณาจากหลายปัจจัย เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้โดยสารมากนัก โดยค่าโดยสารที่ปรับขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นนั้น จะเป็นบัตรโดยสารเที่ยวเดียว (Single Journey Card) บัตรแรบบิทบุคคลทั่วไป (Adult) บัตรแรบบิทนักเรียน นักศึกษา (Student)
ส่วนบัตรแรบบิทสำหรับผู้สูงอายุ (Senior) จะยังคงได้รับส่วนลด 50% ของอัตราค่าโดยสารปกติ สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางแบบไม่จำกัดเที่ยว และระยะทางต่อวัน สามารถซื้อบัตรโดยสารประเภทหนึ่งวัน (One-Day Pass) ในราคา 150 บาท
ส่วนรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงิน ก็ปรับค่าโดยสารขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เช่นกัน โดยปรับขึ้น 1 บาท เริ่มต้นจาก 17-42 บาท เป็น 17- 43 บาท โดยเป็นการปรับค่าโดยสารสำหรับการเดินทางสถานที่ 6, 9, 11 และ 12 การปรับค่าโดยสารเป็นการคิดตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่กำหนดในสัญญาสัมปทาน
ความจริงค่าโดยสารดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.2565 ที่ผ่านมาแล้ว แต่เนื่องจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงคมนาคม และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้รับสัมปทาน ได้หารือร่วมกันเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะค่าครองชีพสูง จึงยังคงอัตราค่าโดยเดิมไว้ก่อนจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีทอง ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายจากรถไฟฟ้าบีทีเอส เส้นทางกรุงธนบุรี-คลองสาน ก็มีแผนปรับค่าโดยสารขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เช่นกัน โดยจะปรับขึ้น 1 บาท จากราคา 15 บาท เป็น 16 บาทตลอดสาย ซึ่งเป็นไปตามแผนการบริหารโครงการของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้บริหารจัดการรถฟ้าสายสีทองระยะที่ 1 สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน แต่ก็ยังคงมีค่าลดหย่อนให้กับผู้โดยสารต่าง ๆ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ในอัตราค่าโดยสาร 8 บาทตลอดสายเช่นเดิม
ส่วนรถไฟฟ้าเส้นทางอื่น หรือสีอื่น ไม่ว่าจะเป็นสีม่วง สีแดง หรือแอร์พอร์ต เรียลลิงค์ ยังไม่มีความเคลื่อนไหวในด้านราคาว่าจะมีการปรับขึ้นหรือไม่อย่างไร ยังไงหากมีความคืบหน้าจะนำมาอัปเดตและแจ้งข่าวให้ทราบอีกครั้ง
หมายเหตุ
*อัตราค่าโดยสารพื้นฐานอ้างอิง ตามเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนของ (RFP) อัตราโดยสาร จะคำนวณใหม่อีกครั้ง อ้างอิงจากดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม 2566
**อัตราค่าโดยสารเบื้องต้นอ้างอิงจากดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมีนาคม 2565 คำนวณใหม่อีกครั้ง
-สายสีชมพูช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ยังไม่ได้กำหนดอัตราค่าโดยสาร
ที่มา : Reviewyourliving รวมรวม, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชลแห่งประเทศไทย, ก.คมนาคม