Tag : News

2376 ผลลัพธ์
“พรอสเพค”  เดินหน้าขยายพื้นที่โรงงาน-คลังสินค้ากว่า 150,000 ตร.ม. รับดีมานด์จีน

“พรอสเพค”  เดินหน้าขยายพื้นที่โรงงาน-คลังสินค้ากว่า 150,000 ตร.ม. รับดีมานด์จีน

พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ เดินหน้าขยายพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าเพิ่มอีก 150,000 ตารางเมตร รับดีมานด์ต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน แห่เช่าพื้นที่หลังหนีสงครามการค้า มองหาแหล่งผลิตสินค้าใหม่ ชี้ผลกระทบโควิด-19 น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ครึ่งปีหลังเล็งออกกองทรัสต์   นางสาวรัชนี มหัตเดชกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (PD) ในเครือ บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) หรือ MK ผู้พัฒนาและบริหารโครงการบางกอกฟรีเทรดโซน (Bangkok Free Trade Zone : BFTZ) เปิดเผยว่า ได้วางแผนขยายโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง  ในบริเวณ กม.19 ถนนบางนา-ตราด และย่านเทพารักษ์ รวม 150,000 ตารางเมตร  โรงงานและคลังสินค้าให้เช่าทั้ง 2 แห่ง จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปลายปี 2563 จากปัจจุบัน  พรอสเพค มีพื้นที่อาคารโรงงานและคลังสินค้าประมาณ 220,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ที่ ถนนบางนา-ตราด กม.23 ที่ได้เริ่มพัฒนาโครงการมาตั้งแต่ปี 2559  โดยภายในไตรมาสแรกของปี 2564 พรอสเพค จะมีพื้นที่ทั้งหมด 300,000 ตารางเมตร ตั้งแต่เริ่มพัฒนาโครงการจนปัจจุบัน พรอสเพค มีพื้นที่อาคารโรงงานและคลังสินค้าเติบโตสูงถึง 160% ซึ่งหากมีการพัฒนาเต็มทุกเฟส จะทำให้บริษัทมีพื้นที่อาคารโรงงานและคลังสินค้ากว่า 450,000 ตารางเมตร สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2563 ที่ผ่านมา บริษัทสามารถสร้างรายได้แล้ว 101 ล้านบาท จากอัตราการเช่าพื้นที่กว่า 92%  ซึ่งนอกจากแผนการขยายพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าเพิ่ม บริษัท ยังมีแผนจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาฯ ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ด้วย   อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมามีปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่พบว่า ธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าของบริษัท ได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเบื้องต้น  แต่ในทางกลับกันพบว่ามีกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติเข้ามาติดต่อขอเช่าพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าเพิ่มมากขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่เริ่มเห็นสัญญาณชัดเจน  ตั้งแต่มีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน (Trade war) ส่งผลให้จีนมองหาแหล่งผลิตและฐานกระจายสินค้าใหม่  จึงถือเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจให้เช่าโรงงานและคลังสินค้า สำหรับปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้ BFTZ มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากโครงการดังกล่าวมีความ  โดดเด่นอย่างมาก โดยเป็นโครงการที่มีทั้งส่วนที่เป็น Free Zone และ General Zone มีพื้นที่ในการบริการทั้งในส่วนที่เป็นคลังสินค้าและโรงงานให้เช่า มีระบบการดูแลรักษาความปลอดภัยที่สมบูรณ์แบบ บนพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 1,000 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สีม่วงที่ใหญ่ที่สุดในย่านนี้ สามารถเดินทางเข้าออกได้ 2 เส้นทาง คือ ถนนบางนา-ตราด กม.23 และ ถนนบางนา-ตราด กม.19 และมีการคมนาคมที่สะดวก โดยห่างจากท่าเรือคลองเตยเพียง 23 กิโลเมตร ห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิเพียง 17 กิโลเมตร และห่างจากท่าเรือแหลมฉบังเพียง 90 กิโลเมตร   ทั้งนี้ สามารถเดินทางไปยังเขตโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพียง 50 กิโลเมตร มีบริการเสริมสำหรับอำนวยความสะดวกที่เตรียมไว้ให้ผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติ อาทิ Consulting Service เป็นบริการให้คำปรึกษาเรื่องการขออนุญาตประกอบธุรกิจในประเทศไทย ขั้นตอนการเตรียมความพร้อมในการทำธุรกิจ เอกสารประกอบ และให้คำปรึกษาด้านการขอใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากร (กศก. 185) เป็นต้น นอกจากนี้ทางโครงการยังมีระบบสาธารณูปโภคภายในโครงการอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นระบบการบำบัดน้ำเสีย ระบบป้องกันน้ำท่วม ระบบรักษาความปลอดภัย และการดูแลความสะอาดภายในโครงการ และยังมีโซนร้านค้า ร้านอาหาร และบริการด้านศุลกากรสำหรับการบริการผู้เช่าอีกด้วย   ทั้งนี้  โครงการ Bangkok Free Trade Zone ตั้งอยู่ที่ บางนาตราด กม.23  เป็นพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าที่มีการ ขออนุญาตให้เป็น Free Zone สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าที่เข้ามาเช่าพื้นที่ โดยสามารถเลือกได้ทั้งส่วนที่เป็น Free Zone หรือ ส่วนที่เป็น General Zone  ซึ่งภายใน Bangkok Free Trade Zone นี้ เรามีอาคาร ให้เช่าแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.อาคารคลังสินค้า และ 2.อาคารโรงงาน เนื่องจากบริเวณที่ตั้งโครงการเป็นพื้นที่  สีม่วง ทำให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างโรงงานในพื้นที่นี้ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการขออนุญาต สำหรับ Bangkok Free Trade Zone พื้นที่ทั้งหมดในโครงการมีทั้งสิ้น 1,000 ไร่ ซึ่ง 700 ไร่ เป็นพื้นที่เพื่อการเช่าหรือ Leasable Area  โดยอีก 300 ไร่ คือ พื้นที่เพื่อการสาธารณูปโภค อาทิ ถนนสาธารณะ โรงบำบัดน้ำเสีย และส่วนการรักษาความปลอดภัยภายในโครงการ เป็นต้น                      
แลนดี้ โฮม จับตลาด “รื้อบ้านเก่า สร้างบ้านใหม่” หวังสร้างยอดขาย 200 ล้านบาท

แลนดี้ โฮม จับตลาด “รื้อบ้านเก่า สร้างบ้านใหม่” หวังสร้างยอดขาย 200 ล้านบาท

แลนดี้ โฮม  บุกตลาด "รื้อบ้านเก่าสร้างใหม่" รับดีมานด์ลูกค้าอยู่ในไพร์มแอเรีย ที่ดินราคาสูง ไม่อยากย้ายทำเล ส่งแคมเปญให้ส่วนลดสูงสุด 30% พร้อมค่ารื้อถอนสูงสุด  65,000 บาท คาดทำยอดขาย 200 ล้าน   นางสาวภัทรา มณีรัตนะพร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท แลนดี้ โฮม (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ในปีนี้ แลนดี้ โฮม หันมาจับตลาดทุบบ้านเก่าสร้างบ้านใหม่ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในกลุ่มเจ้าของที่ดิน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีมูลค่าสูง เช่น สุขุมวิท พระราม 4 พัฒนาการ รามคำแหง ศรีนครินทร์ วิภาวดี พหลโยธิน ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าของที่ดินเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ไม่อยากย้ายออกจากทำเลเดิม และไม่ต้องการขายที่ดินให้กับนักพัฒนาที่ดิน  แต่ต้องการอยู่อาศัยเอง หรือต้องการให้เป็นมรดกแก่ลูกหลาน   โดยการรื้อบ้านเก่า สร้างบ้านใหม่ ถือเป็นเทรนด์ใหม่ที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะในทำเลไพรม์แอเรีย ที่ตัวบ้านหลังเดิมอาจจะมีสภาพเก่า 30 - 50 ปีขึ้นไป และฟังก์ชั่นการใช้งานอาจจะไม่ตอบโจทย์แล้ว  เจ้าของที่ดินหรือบ้าน ยังผูกพันกับย่านที่อยู่อาศัยเดิม จึงมีแนวคิดที่จะทุบทิ้ง และสร้างบ้านแบบใหม่ที่มีดีไซน์ และฟังก์ชั่นตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในยุคปัจจุบันมากขึ้น   ประกอบกับในช่วงสถานการณ์โควิด-19  จำเป็นต้องใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น จึงทำให้หันมาให้ความสำคัญกับตัวบ้าน เกิดการรีโนเวทบ้าน และการสร้างบ้านใหม่ขึ้นมา เพื่อตอบสนองความต้องการในการอยู่อาศัยของสมาชิกในครอบครัวทุกช่วงวัย   อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้านใหม่ กับการรีโนเวทนั้น แทบจะไม่แตกต่างกัน แต่การทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่จะทำให้ได้ฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ได้มากกว่าการรีโนเวท   บริษัทจึงได้ออกแคมเปญพิเศษ “รื้อบ้านเก่า สร้างบ้านใหม่ เป็นมรดกให้ลูกหลาน” เพื่อให้บริการแบบ One Stop Service ที่ทำให้การสร้างบ้านใหม่เป็นเรื่องง่าย โดยมอบสิทธิพิเศษให้กับลูกค้า ด้วยการช่วยสนับสนุนค่ารื้อบ้าน มูลค่าสูงสุด 65,000 บาท และยังช่วยสนับสนุนค่าเช่าในระหว่างรื้อบ้าน และก่อสร้างบ้าน สูงสุด 250,000 บาท โดยบริษัทได้จัดเตรียมแบบบ้านไว้ให้เลือกมากกว่า 300 แบบ พร้อมมอบส่วนลดสร้างบ้านสูงสุด 30% สำหรับลูกค้าที่เข้าร่วมแคมเปญ ซึ่งตั้งเป้าว่าน่าจะทำยอดขายได้ 200 ล้านบาท   นางสาวภัทรา กล่าวอีกว่า ที่ดินในจุดไพรม์แอเรียบางแห่ง ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก แต่มีราคาที่ดินค่อนข้างสูง ซึ่งสามารถส่งต่อเป็นสินทรัพย์ให้ลูกหลานได้ แลนดี้ โฮม เข้าใจถึงความต้องการลูกค้าในส่วนนี้ จึงนำเสนอแบบบ้านที่หลากหลาย เหมาะกับที่ดินรูปแบบต่างๆ ทั้งหน้ากว้าง-ตื้น หรือ หน้าแคบ-ลึก โดยการสร้างบ้านใหม่ลูกค้าสามารถเลือกแบบบ้านได้ตามต้องการ และความเหมาะสม โดยทุกแบบจะได้รับการออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยสถาปนิกและวิศวกรมืออาชีพ ที่คำนึงถึงความสวยงามและฟังก์ชั่นการใช้งานที่ลงตัวสำหรับทุกคนในบ้าน สำหรับภาพรวมของตลาดรับสร้างบ้านในปีนี้ คาดว่ามูลค่าตลาดในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 13,000 – 13,500 ล้านบาท โดยสัดส่วนของตลาดทุบบ้านเก่าสร้างบ้านใหม่นี้ จะอยู่ที่ประมาณ 30% ของตลาดรับสร้างบ้านรวมทั้งหมด
MQDC เตรียมเปิด “เดอะ ฟอเรสเทียร์” เมกะโปรเจกต์ 2.5 แสนล้าน ต้นปี 2564

MQDC เตรียมเปิด “เดอะ ฟอเรสเทียร์” เมกะโปรเจกต์ 2.5 แสนล้าน ต้นปี 2564

MQDC เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย ประกาศเดินหน้าต่อทุกโครงการ  เตรียมเปิดตัว “THE FORESTIAS” เมกะโปรเจกต์ 125,000 ล้านบาท ในต้นปี 2564 ภายใต้ แนวคิด ‘For All Well - Being’  เชื่อหลังวิกฤตโควิด-19 ต่างชาติจะเข้ามาลงทุน เพราะเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัย และมาตรฐานสาธารณสุขไทย   นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้เกิดวิกฤตโควิด – 19  แต่ MQDC ยังคงเดินหน้าธุรกิจต่อไป ด้วยความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว  และเชื่อว่ารัฐบาลยังคงผลักดันในเกิดเมกะโปรเจกต์ เช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เป็นต้น  โดยบริษัทยังคงเปิดขายโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบันต่อไป  แต่มีการปรับแผนงานส่วนใหญ่ จะเป็นการปรับแผนระยะสั้นมากกว่าแผนระยะยาว เช่น การเปิดตัวโครงการใหญ่ก็จะชะลอไปเปิดต้นปีหน้า อย่างเช่น โครงการเดอะฟอเรสเทียร์ (THE FORESTIAS) เมกะโปรเจกต์ มูลค่า 125,000 ล้านบาท ที่เตรียมพร้อมเปิดในช่วงต้นปี 2564   สำหรับการเปิดตัวโครงการเดอะ ฟอเรสเทียร์  โดยเฉพาะหลังจากวิกฤตโควิด – 19 ต้องคิดไปถึงคุณภาพชีวิตจนถึงสุขภาพ และความสุขของผู้อยู่อาศัย เพราะผู้คนจะพิถีพิถันในการดำเนินชีวิตมากขึ้น แนวคิดของ THE FORESTIAS คือ “เมืองคู่ป่า” ที่แรกในโลก  ซึ่งโครงการเดอะ ฟอเรสเทียร์  เป็นการดำเนินโครงการตามปรัชญาของ MQDC ที่มุ่งเน้นเรื่องสร้างสรรค์โครงการที่ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม และให้ความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ตามแนวคิด  "For All Well - Being" โดยโครงการเดอะ ฟอเรสเทียร์ ถูกพัฒนา แบบ Mixed-Use Lifestyle ทั้งที่อยู่อาศัย พื้นที่ค้าปลีก อาคารสำนักงาน ศูนย์สุขภาพ สถานศึกษา อาคารนวัตกรรม พื้นที่สำหรับกิจกรรมการเรียนรู้และสร้างสรรค์ของครอบครัว ที่สามารถครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้ทุกกลุ่ม  ได้แก่ คอนโดมิเนียมแบรนด์ Whizdom กลุ่มคอนโดมิเนียมแบรนด์ Mulberry Grove ที่อยู่อาศัยแบรนด์ Mulberry Grove Villas กลุ่มที่อยู่อาศัยแบรนด์ The Aspen Tree และยังมีที่อยู่อาศัยและโรงแรมจากแบรนด์ระดับโลก คือ กลุ่มที่อยู่อาศัยแบรนด์  Six Senses โรงแรมแบรนด์ Six Senses และอื่นๆ   จากผลงานของรัฐบาลและสาธารณสุขไทย ที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก และความร่วมมือร่วมใจ ความมีวินัยของคนไทย ที่ได้แสดงให้ชาวโลกประจักษ์ รวมถึงความมีน้ำใจ ความแบ่งปันของคนไทย เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยให้ประเทศไทยจะเป็นที่น่าที่ลงทุนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพราะปัจจัยสำคัญตัวนึงที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์โควิด-19 สำหรับในการเลือกลงทุนในประเทศใดของนักลงทุนต่างชาติ คือความปลอดภัย และระบบสาธารณสุข นายวิสิษฐ์  กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด  เนื่องมาจากยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการที่ชัดเจน โดยเฉพาะการเป็นผู้ริเริ่มพัฒนาโครงการประเภท Mixed-Use ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีมูลค่าโครงการสูง ซึ่งสามารถตอบโจทย์ได้ตรงความต้องการของลูกค้า ทำให้เกิดการตอบรับเป็นอย่างดี และด้วยกลยุทธ์ในการพัฒนาโครงการร่วมกับ Global Partner ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในระดับโลก ทำให้โครงการที่พัฒนามีความโดดเด่น สามารถพัฒนาโครงการให้มีมาตรฐานในระดับโลก เป็นที่สนใจจากลูกค้าจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ   นอกจากบริษัทมีพาทเนอร์ระดับโลก ที่ศึกษาและวิจัยด้านการอยู่อาศัยที่มีความสุขแล้ว บริษัทยังได้จัดตั้งศูนย์วิจัย 2 ศูนย์ ได้แก่  ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา FutureTales Lab ที่มีการหาข้อมูลจากทั่วโลกเพื่อมาประมวลแนวโน้มการอยู่อาศัยในอนาคต โดยมองไปถึงอีก 40 ปีข้างหน้า และแม้แต่จากวิกฤตโควิดในครั้งนี้ ทาง FutureTales Lab ก็ได้มีการออกงานวิเคราะห์ออกมาในเรื่อง ชีวิตหลังโควิด-19 ที่จะมีการเปลี่ยนไปจากเดิม โดยประเด็นหนึ่งคือ ความคิดด้านการซื้อที่อยู่อาศัยจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่อยู่แต่ในเมือง โดยยึดการเดินทางแนวทางใกล้รถไฟฟ้าเป็นปัจจัย แต่ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการทำงานในอนาคต สามารถทำงานที่บ้านได้ จึงจะปรับแนวคิดเป็นบ้านนอกเมือง แต่มีพื้นที่มากขึ้น มีสวน มีธรรมชาติ มีการปรับเปลี่ยนบ้านพักตากอากาศมาใช้อาศัยประจำแทน   อีกศูนย์วิจัยในกลุ่มของ MQDC คือ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ซึ่งเกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นของ MQDC ที่ต้องการเป็นผู้นำทางด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างยั่งยืน โดยมีการวิจัยและพัฒนาเป็นพื้นฐานของแนวคิดในมิติต่างๆเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่อยู่อาศัยของ MQDC ผลงานวิจัยที่ได้ศึกษาและค้นคว้าขึ้น ไม่เพียงเพื่อนำมาใช้เฉพาะกับโครงการต่างๆ ขององค์กรเท่านั้น แต่ยังพร้อมเปิดพื้นที่วิจัยนี้ให้กับทุกคน ทุกองค์กร ที่สนใจด้านการพัฒนาและก่อสร้างอย่างยั่งยืน เสมือนห้องค้นคว้าของประชาชน บุคคลภายนอกได้เข้ามาเรียนรู้ นำไปประยุกต์ใช้จริง เพื่อยกมาตรฐานความเป็นอยู่ให้กับวงการอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ   MQDC เคยผ่านปัญหาในสมัยวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งมาแล้ว ทำให้เราบริหารงานด้วยความระมัดระวังมาตลอดเวลา ดังนั้นปัญหาจากวิกฤตในโควิด-19 ในครั้งนี้ จึงไม่ได้ทำให้เราหยุดที่จะเดินหน้าต่อ  
ศูนย์ข้อมูลฯ วิเคราะห์ ตลาดอสังหาฯ 2563 โดนพิษโควิด-19 ปรับตัวลดต่ำสุด 15%

ศูนย์ข้อมูลฯ วิเคราะห์ ตลาดอสังหาฯ 2563 โดนพิษโควิด-19 ปรับตัวลดต่ำสุด 15%

ศูนย์ข้อมูลฯ​ เปิดผลสำรวจข้อมูลตลาดที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ  ช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คาดได้รับผลกระทบ ทำตลาดอสังหาฯภาพรวมลดต่ำลงมากสุด 15% แต่หากปรับตัวดีขึ้น น่าจะติดลบระดับ 10% แม้ตลาดแย่แต่ยังไม่เท่ากับวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540     ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยไตรมาส 1 ปี 2563 เป็นช่วงเวลาที่สะท้อนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ ไวรัส COVID-19 ต่อการลงทุนในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการซื้อขายที่อยู่อาศัยอย่างเป็นรูปธรรม โดยภาพรวมชะลอตัวลงทั้งในด้านดีมานด์และซัพพลาย  ซึ่งเป็นการปรับสมดุลของตลาดลดความเสี่ยงปัญหาอุปทานส่วนเกิน โอนกรรมสิทธิ์ปรับตัวลดทั้งจำนวนและมูลค่า สถานการณ์ด้านความต้องการที่อยู่อาศัยไตรมาส 1 ปี 2563 ประเมินจากข้อมูลการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย พบว่าภาพรวมทั่วประเทศในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 มีจำนวนยูนิตการโอนกรรมสิทธิ์จำนวน 89,024 ยูนิต ลดลงจากไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา​ 16.7% แต่เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2562 จะเพิ่มขึ้น  2.5% โดยมีมูลค่ารวม 210,294 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว  20.6% แต่เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2562 จะเพิ่มขึ้น 6.4% โดยการโอนกรรมสิทธิ๋ที่อยู่อาศัยประเภทห้องชุดมีสัดส่วนใกล้เคียงกับบ้านเดี่ยว แต่มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์บ้านเดี่ยวมีสัดส่วนสูงที่สุด ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาภาพรวมการโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 1 ปี 2563 พบว่า มีจำนวนรวม 45,678 ยูนิต ลดลงจากไตรมส 4 ปีที่แล้ว 18.3% และลดลง 4.4% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์มีจำนวน 129,406 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว 24.4% และลดลง 2.7% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ในส่วนของภูมิภาค ไตรมาส 1 ปี 2563 มีจำนวนรวม 43,346 ยูนิต ลดลงจากไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา 14.9% แต่เพิ่มขึ้น 10.9% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์มีจำนวน 80,888 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา 13.5% แต่เพิ่มขึ้น  25.0% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2562   โดยศูนย์ข้อมูลฯคาดการว่าในปี 2563 จะมีการโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศจำนวน 311,719 ยูนิต ลดลง 16.7% จากปี 2562 มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์รวม 746,206 ล้านบาท ลดลง 14.8% จากปี 2562 ในจำนวนดังกล่าวประมาณการเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจำนวน 160,350 ยูนิต มูลค่ารวม 472,401 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมา 19.1% และลดลง 17.4% ตามลำดับ ประมาณการยูนิตการโอนกรรมสิทธิ์ในภูมิภาครวม 151,369 ยูนิต มูลค่ารวม 273,805 ล้านบาท ลดลงจากปีจากปีที่ผ่านมา 14.0% และลดลง 9.9% ตามลำดับ ด้านภาพรวมสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั่วประเทศ พบว่าในไตรมาส 1 ปี 2563 มีมูลค่ารวม 138,238 ล้านบาท ลดลง 13.0% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยคาดการว่าปี 2563 จะมีจำนวนสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั่วประเทศรวม 571,196 ล้านบาท ลดลง 10.8% จากปี 2562 ซัพพลายที่อยู่อาศัยลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย สำหรับซัพพลายใหม่ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 พบว่ามีการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ จำนวน 60,165 ยูนิต ลดลง 17.9% จากไตรมาส 4 ปี 2562 และลดลง 27.7% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ในจำนวนดังกล่าวเป็นการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล จำนวน 20,590 ยูนิต ลดลง 18.6% จากไตรมาส 4 ปี 2562 และลดลง 36.5% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ส่วนในภูมิภาคพบว่ามีการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยจำนวน 39,575 ยูนิต ลดลง 27.8% จากไตรมาส 4 ปี 2562 และลดลง 30.9% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2562   โดยศูนย์ข้อมูลฯ คาดการว่าในปี 2563 จะมีการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยทั่วประเทศจำนวน 256,601 ยูนิต ลดลง 16.5% เมื่อเทียบจากปี 2562 โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล จะมีการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยจำนวน 97,441 ยูนิต ลดลง 20.7% ในส่วนภูมิภาคคาดว่าจะมีการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยจำนวน 154,160 ยูนิต ลดลง 22.7% นอกจากนี้ จากข้อมูลสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ของศูนย์ข้อมูลฯ พบว่าในช่วงไตรมาส1ปี 2563 ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีที่อยู่อาศัยทุกประเภทเปิดขายใหม่จำนวนรวม 15,932 ยูนิต ลดลง 49.3% จากไตรมาส 4 ปี 2562 และลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562  อัตรา 29.6% โดยประมาณการว่า ปี 2563 เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล จะมีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ทุกประเภทรวม 79,408 ยูนิต เป็นโครงการบ้านจัดสรรเปิดตัวใหม่ประมาณ 35,734 ยูนิต และอาคารชุดเปิดขายใหม่ประมาณ 43,674 ยูนิต ลดลง 19. %เมื่อเทียบกับปี 2562 ในขณะที่รายงานที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 1 ปี 2563 ก็ลดลงด้วยเช่นกัน โดยมีจำนวน 21,260 ยูนิต ลดลง 24.7% จากไตรมาส 4 ปี 2562 และลดลง 12.3% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยคาดการว่าในปี 2563 จะมีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนจำนวนประมาณ 80,563 ยูนิต ลดลง 27.8% จากปี 2562 ตลาดที่อยู่อาศัย ปี 2563 ติดลบหนักสุด 15%  อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสถานการณ์ โดยภาพรวมจากสถิติข้อมูลทั้งในด้านดีมานด์และซัพพลาย ศูนย์ข้อมูลฯคาดการว่าในปี 2563 แม้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะชะลอตัว แต่ในส่วนของตลาดที่อยู่อาศัยจะไม่เกิดปัญหารุนแรงเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2541 เนื่องจากมีการปรับตัวทั้งในด้านดีมานด์และซัพพลาย  ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค   โดยคาดการว่าในปีนี้ แม้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะชะลอตัว มีตัวเลขจีดีพีติดลบในอัตรา 5.5% แต่ในส่วนของตลาดที่อยู่อาศัยจะไม่เกิดปัญหารุนแรง ซึ่งประเมินว่าตลาดที่อยู่อาศัยในภาพรวม จะติดลบมากที่สุด 15% หรือหากปรับตัวดีขึ้นจะติดลบ 10% เพราะว่าความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยยังมีอยู่ เพียงแต่ผู้บริโภคยังไม่มั่นใจ และกังวลต่อแนวโน้มรายได้และอาชีพของตนเองในอนาคต แต่ยังมีผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่ยังมีรายได้และอาชีพที่มั่นคง ทำให้ผู้ประกอบการหันไปจับตลาดในกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งหากปัญหาทุกอย่างคลี่คลายเชื่อว่ากำลังซื้อจะกลับมาเป็นปกติ แต่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาหนึ่ง
ดีมานด์บ้านแนวราบยังโต LPN ส่งโปรเจ็กต์ใหม่กวาดยอดทะลุเป้า

ดีมานด์บ้านแนวราบยังโต LPN ส่งโปรเจ็กต์ใหม่กวาดยอดทะลุเป้า

LPN เปิดโปรเจ็กต์ “ลุมพินี ทาวน์วิลล์ พหลโยธิน - สะพานใหม่” แค่ 2 เดือน ยอดทะลุเป้า กวาดยอดขายกว่า 200 ล้าน หลังปั้นโปรดักส์ตอบโจทย์ ราคาเอื้อมถึง ตอบรับโจทย์คนรุ่นใหม่ ในวิถี New Normal     นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) (LPN) เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัทได้วางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์บ้านให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่การเฟ้นหาทำเลศักยภาพที่เดินทางสะดวกสบาย ใกล้เขตเมือง ใกล้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ สามารถเข้า-ออกได้หลายเส้นทางเพื่อลดความแออัดของการจราจรในชั่วโมงเร่งรีบ รวมถึงการกำหนดราคาขาย ที่ทำให้ผู้บริโภคเป็นเจ้าของได้ง่าย (Affordable Price) เพราะราคาเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อของลูกค้า   โดยช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา LPN เปิดขายบ้านโครงการ “ลุมพินี ทาวน์วิลล์ พหลโยธิน-สะพานใหม่” ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะสามารถสร้างยอดขายทะลุเป้าหมายที่วางไว้ได้  โดยมียอดขาย 80 หลัง จากเป้าที่ตั้งไว้  10 หลังต่อเดือน คิดเป็นมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท เพียงระยะเวลา 2 เดือน  ซึ่งบ้านที่เปิดขายมีราคาเริ่มต้นเพียง 2.3 ล้านบาท จับกลุ่มคนทำงานที่กำลังขยายครอบครัว นับเป็นความสำเร็จที่สวนกระแสในสภาวะตลาดซบเซาจากวิกฤติไวรัส Covid-19  ระบาด ถือว่า LPN มาถูกทางกับตลาดบ้านในราคาที่ลูกค้าเอื้อมถึง ที่คุ้มค่าทั้งราคา ทำเล การบริหารหลังการขายภายใต้กลยุทธ์ “ชุมชนน่าอยู่” รวมถึงการพัฒนาดีไซน์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค นอกจากนี้ จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ในการอยู่อาศัยที่เรียกว่า New Normal หลังสถานการณ์ Covid-19 เริ่มคลี่คลายและสังคมเข้าสู่สภาวะปกติ ผู้คนในสังคมจะยังคงใช้ชีวิตแบบมีระยะห่าง หรือ Social Distancing เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด Covid-19 ระลอกใหม่ ดังนั้นการเลือกซื้อบ้านในยุคปัจจุบันจึงต้องตอบโจทย์ผู้บริโภค ด้วยการเน้นความเป็นพื้นที่ส่วนตัว  ไม่ต้องสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคลอื่น มีพื้นที่ใช้สอยอย่างกว้างขวาง รองรับการใช้ชีวิตตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งการพักอาศัยในบ้านก็รองรับการทำงานแบบ Work from Home  ที่สามารถเปลี่ยนวิถีใหม่ในการดำเนินชีวิต   สำหรับโครงการลุมพินี ทาวน์วิลล์ พหลโยธิน-สะพานใหม่  เป็นทาวน์โฮมดีไซน์ใหม่ ภายใต้การออกแบบตามคอนเซ็ปต์ “Modern Casual” ได้รับแรงบันดาลใจจากสีสัน และลวดลายในโลกแฟชั่น มาผสมผสานกับความเรียบง่าย  เป็นโครงการทาวน์โฮม 2 ชั้น หน้ากว้าง 5 และ 5.5 เมตร พื้นที่โครงการกว่า 21 ไร่ จำนวนบ้าน 262 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 755 ล้านบาท มีแบบบ้านให้เลือก 2 แบบ ได้แก่ TYPE A  ทาวน์โฮม 2 ชั้น หน้ากว้าง 5.5 เมตร และ TYPE B ทาวน์โฮม 2 ชั้น หน้ากว้าง 5 เมตร ที่ดินเริ่มต้น 16.8 ตร.ว.ขึ้นไป พื้นที่ใช้สอย เริ่มต้น 110-126.5 ตารางเมตร ขนาด 2 ห้องนอน 2-3 ห้องน้ำ 1 ห้องอเนกประสงค์ พร้อมที่จอดรถ 2 คัน ภายในโครงการยังมีพื้นที่ส่วนกลางจัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวกไว้อย่างครบครัน ทั้งสโมสร ห้องออกกำลังกาย สระว่ายน้ำระบบเกลือ พร้อมสระเด็ก สนามเด็กเล่น สวนพักผ่อน และระบบรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชม.ในราคาเริ่มต้น 2.30-2.50 ล้านบาท ยอดขายปัจจุบันกว่า 60% ของจำนวนหลังที่เปิดขาย หรือ กว่า 30% ของทั้งโครงการ โดยปัจจุบันมีโปรโมชั่นฟรีปั๊มน้ำ, แท็งค์น้ำ, เครื่องปรับอากาศ, ค่าส่วนกลาง  2 ปีและค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ ​
สิงห์ เอสเตท ปิดไตรมาส1 3 กลุ่มธุรกิจดันกำไรโตขึ้น 14%

สิงห์ เอสเตท ปิดไตรมาส1 3 กลุ่มธุรกิจดันกำไรโตขึ้น 14%

ไตรมาสแรก สิงห์ เอสเตท ยังทำรายได้รวม 2,186 ล้าน ฝ่าปัจจัยลบโควิด-19 มีกำไรเพิ่มขึ้น 14% ใน 3 กลุ่มธุรกิจ กลุ่มคอนโดฯ เริ่มหลังทยอยโอนหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ  ธุรกิจสำนักงานให้เช่า มีรายได้เพิ่มจากการซื้อ อาคารเมโทรโพลิส เข้าพอร์ต ส่วนธุรกิจโรงแรมรายได้เติบโตจากการเปิดโรงแรมใหม่เพิ่ม   นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2563 ว่า บริษัทมีรายได้รวมจาก 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจที่อยู่อาศัย ธุรกิจสำนักงานให้เช่า และธุรกิจโรงแรม มีรายได้รวม 2,186 ล้านบาท โดยธุรกิจที่พักอาศัยมีรายได้มาจากการโอนคอนโดมิเนียมโครงการ ดิ เอส อโศก (THE ESSE ASOKE) และโครงการ ดิ เอส แอท สิงห์ คอมเพล็กซ์ (THE ESSE at SINGHA COMPLEX) มูลค่า 752 ล้านบาท  คิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 34% บริษัทยังมีโครงการที่ก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จในปีนี้ และพร้อมที่จะเริ่มโอนในไตรมาส 4 คือโครงการ ดิ เอส สุขุมวิท 36 (THE ESSE SUKHUMVIT 36) ซึ่งร่วมทุนกับ ฮ่องกง แลนด์  ปัจจุบันมียอดขายแล้วกว่า 60% โดยเป็นโครงการคอนโดมิเนียมระดับ super luxury มีมูลค่าโครงการ  6,500 ล้านบาท   นอกจากนี้บริษัทได้มีการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมระดับ Affordable luxury ในทำเลศักยภาพย่านรางน้ำภายใต้ชื่อโครงการ ดิ เอ็กซ์โทร พญาไท-รางน้ำ (THE EXTRO PHAYATHAI – RANGNAM) มีมูลค่าโครงการกว่า 4,100 ล้านบาท ทำให้ภาพรวมธุรกิจที่พักอาศัยสามารถเติบโตได้ในระดับที่บริษัทคาดการณ์ไว้   โดยที่ผ่านมามีมาตรการปิดเมือง (Lock-down)  ซึ่งส่งผลต่อธุรกิจในระดับหนึ่ง อาทิ ลูกค้าชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางมาตรวจรับมอบอาคารชุดได้ด้วยตนเอง และลูกค้าชาวไทยบางส่วนชะลอการเข้าเยี่ยมชมโครงการ และตรวจรับห้องออกไปจนกว่าสถานการณ์จะคลายตัวลงเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) นอกจากนี้ เพื่อสร้างความปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากการแพร่เชื่อโควิด-19 บริษัทจึงได้เพิ่มช่องทางการตลาดออนไลน์แบบ Virtual Tour 360 องศา ที่ทำให้ลูกค้าสามารถชมห้องตัวอย่างได้เปรียบเสมือนมาอยู่ในสถานที่จริง ด้านธุรกิจอาคารสำนักงานปัจจุบันมีทั้งสิ้น 4 อาคารได้แก่ อาคารซันทาวเวอร์ส, อาคารสิงห์ คอมเพล็กซ์, เดอะ ไลท์เฮ้าส์ และอาคารเมโทรโพลิส พื้นที่รวม 140,000 ตารางเมตร มีอัตราปล่อยเช่าเฉลี่ยราว 87% โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 บริษัทรับรู้รายได้จำนวน 243 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากการเข้าซื้ออาคารเมโทรโพลิส ซึ่งมีพื้นที่ 13,700 ตารางเมตร และมีอัตราปล่อยเช่าสูงถึง 97% มีโอกาสในการเติบโตสูงเพราะตั้งอยู่ในทำเลใกล้รถไฟฟ้าสถานีพร้อมพงษ์ เป็นแหล่งไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่   ขณะที่ธุรกิจโรงแรม จากพอร์ทรวมทั้งหมด 39 แห่ง มีรายได้ 1,144 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 52% โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นมานั้น มาจากการเปิดโครงการ Crossroads และได้ดำเนินการ SAii Lagoon Maldives, Hard Rock Hotel Maldives และ The Marina @ CROSSROADS ตั้งแต่ปลายปีก่อนต่อเนื่องถึงต้นปีนี้   อย่างไรก็ตาม จากการเปิดโครงการ Crossroads  ส่งผลทำให้มีค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้น แต่บริษัทยังมีกำไรเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากการรับรู้รายได้จากส่วนอื่น ได้แก่ กำไรจำนวน 423 ล้านบาท จากการขายเงินลงทุนในเกาะ 3 ที่โครงการ Crossroads โดยการขายเงินลงทุน 50% ให้กับ Wai Eco World Developer Pte. Ltd ตามสัญญาร่วมทุนเพื่อพัฒนาและบริหารงาน High-end lifestyle resorts ด้วยราคาซื้อขายหุ้นมูลค่า 16.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และผลจากมาตรฐานการบัญชี TFRS 9 ทำให้บริษัทสามารถรับรู้กำไรจำนวน 115 ล้านบาทจากส่วนต่างของการ Mark to market อนุพันธ์แฝงจากหุ้นกู้แปลงสภาพ ส่งผลให้กำไรสุทธิของงวดอยู่ที่ 335 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากไตรมาสที่ 1 ปี 2562   จากภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัทตระหนักดีว่าต้องเผชิญกับความท้าท้ายครั้งสำคัญ รวมทั้งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ บริษัทมั่นใจว่าสามารถรักษาการเติบโตแบบยั่งยืนได้ ด้วยสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง จากอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ 0.86 เท่า ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับ covenant ของบริษัทที่ 2.0 เท่า และเพื่อเป็นการคำนึงถึงผลตอบแทนผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นสำคัญ บริษัทจึงคงการจ่ายปันผลระหว่างกาล จากกำไรสุทธิประจำปี 2562 หุ้นละ 0.045 บาท และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563   สำหรับในไตรมาสต่อไปบริษัทมีการปรับแผนกลยุทธ์เพื่อฟื้นฟูธุรกิจเน้นการดำเนินแผนบริหารจัดการต้นทุนที่เคร่งครัด อาทิ การปรับงบประมาณและควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการตลาด  การบริหารกระแสเงินสด รวมถึงการสร้าง synergy ระหว่างพันธมิตรธุรกิจ ที่สำคัญบริษัทยังมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงการที่มีคุณภาพสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกกลุ่มตลอดจนสร้างความยืดหยุ่นให้กับองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับกับการเปลี่ยนแปลงทุกมิติ และเชื่อมั่นว่าบริษัท จะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้อย่างแข็งแกร่ง
ก้าวต่อไปของ อิเกีย บุกตลาดออนไลน์ หลังโควิด-19 ทุบยอดขายหาย 40%

ก้าวต่อไปของ อิเกีย บุกตลาดออนไลน์ หลังโควิด-19 ทุบยอดขายหาย 40%

นับเป็นข่าวดีในรอบหลายเดือน เมื่อรัฐบาลประกาศคลาดล็อกดาวน์  ให้บรรดาห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่างๆ เริ่มกลับมาเปิดบริการให้กับประชาชนได้ แต่ต้องมีมาตรการรักษาความสะอาด การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม  รวมถึงการขยายระยะเวลาเคอร์ฟิว  ออกไปเพิ่มมากขึ้น เป็นช่วงเวลา 23.00 – 04.00 น. ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา   ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป  ออกการแฮปปี้กับการผ่อนปรนมาตรการดังกล่าว เพราะทำให้ประชาชนทั่วไป สามารถกลับมาใช้ชีวิตเหมือนที่ผ่านๆ มาได้มากขึ้น แม้จะมีข้อจำกัดหลายอย่าง ที่ต้องปฎิบัติตามวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal และยังต้องเคร่งครัดกับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ตาม ขณะที่ผู้ประกอบการ ก็จะได้มีเงินกลับเข้ามาหล่อเลี้ยงธุรกิจ หลังหยุดกิจการชั่วคราว หรือต้องปรับรูปแบบธุรกิจไปสู่การตลาดออนไลน์  เป็นเวลานานกว่า 2 เดือนก็ตาม   นอกจาก ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหารต่างๆ ที่เห็นภาพประชาชนจำนวนมาก  ต่อแถวเข้าไปใช้บริการในวันแรกที่รัฐบาลคลายล็อกดาวน์แล้ว หนึ่งในสถานที่มีคนไปใช้บริการจำนวนมากไม่น้อยหน้า คือ ร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ สัญชาติ “สวีเดน” อย่าง “อิเกีย” ที่มีประชาชนแห่ไปใช้บริการจนแน่น ที่สาขาบางนา ทำให้ในวันแรกของการกลับมาเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 ต้องมีการหยุดรับคนเข้าใช้บริการภายในสโตร์ชั่วคราว เพราะปริมาณลูกค้ามีจำนวนมากเกินไป วางมาตรฐานความปลอดภัยสู้โควิด-19 อย่างไรก็ตาม อิเกีย ได้วางแนวทาง และเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดให้บริการกับประชาชนทั่วไป  โดยได้วางมาตการด้านรักษาความปลอดภัย ได้แก่ -รักษาระยะห่างทางสังคม ช้อปได้อย่างอุ่นใจ เมื่อมีการเว้นระยะห่างกันอย่างน้อยหนึ่งเมตรทุกพื้นที่ในสโตร์   -ตรวจอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าสโตร์ ทั้งพนักงานและลูกค้าที่เข้ามาในสโตร์ต้องมีอุณหภูมิร่างกายไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส   -บริการเจลล้างมือในจุดต่าง ๆ ทั่วทั้งสโตร์อิเกีย   -สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในสโตร์ ลูกค้าต้องสวมใส่หน้ากากขณะที่อยู่ในสโตร์ของเรา ขณะที่พนักงานอิเกียจะสวมหน้ากากอนามัยคู่กับหน้ากากป้องกันใบหน้าหรือ Face Shield ตลอดเวลา   -จำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการ เพื่อเป็นการป้องกันและดูแลรักษาระยะห่างอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉลี่ยผู้ใช้บริการหนึ่งท่านต่อพื้นที่ประมาณ 8 ตารางเมตร   -ปิดให้บริการสมอลล์แลนด์ เพื่อรักษาความปลอดภัยและสุขภาพของลูกค้าตัวน้อยของเรา   จะเห็นได้ว่า การหยุดรับลูกค้าของ “อิเกีย” สาขาบางนา เป็นหนึ่งในมาตรการรักษาความปลอดภัย ที่กำหนดจำนวนลูกค้า 1 คน ต่อพื้นที่ 8 ตารางเมตร เช่นเดียวกับสาขาบางใหญ่ โดยสาขาบางใหญ่ในภาวะปกติ สามารถรองรับลูกค้าได้มากสุดถึง 5,000 คน แต่ภายใต้มาตรการดังกล่าว ทำให้ต้องบริการลูกค้าได้สูงสุดไม่เกิน 3,600 คน ขณะที่พื้นที่บริหารร้านอาหาร ได้ลดจำนวนลง 50% เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการเว้นระยะทางสังคมเช่นกัน อีก 6 เดือน อิเกียจะมียอดขายออนไลน์ 25% ในด้านธุรกิจ อิเกีย ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะต้องปิดการให้บริการที่สาขาไปนานกว่า 2 เดือน และหันไปเน้นการให้บริการผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซแทน ซึ่งถือว่ายอดขายผ่านช่องทางออนไลน์ เติบโตได้มากกว่า 320% ขณะที่ยอดขายช่องทางปกติ ยอดขายหายไปมากถึง 40% ทำให้ทิศทางต่อไปนับจากนี้ อิเกีย คงจะหันกลับมาให้น้ำหนักและเพิ่มการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ให้มากขึ้น เพราะวางเป้าหมายไว้ว่าภายในระยะ 6 เดือนนับจากนี้  สัดส่วนยอดขายทางช่องทางออนไลน์จะเพิ่มสัดส่วนขึ้นเป็น 25% จากปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 10-12% เพราะเชื่อว่าหลังจากนี้ไป วิถีชีวิตใหม่ของคนไทย จะหันมาเน้นการช้อปปิ้งออนไลน์กันมากขึ้น   ในช่วงที่ผ่านมา อิเกียได้เพิ่มบริการใหม่ๆ เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์การช้อปปิ้งให้ลูกค้า ได้แก่ บริการออกแบบออนไลน์ ให้ลูกค้ารับคำแนะนำการออกแบบเฟอร์นิเจอร์จัดเก็บ ตู้เสื้อผ้า PAX/พักซ์ และชุดครัวอิเกีย  ได้โดยไม่ต้องมาที่สโตร์ ยังมีบริการ Click & Collect สั่งซื้อออนไลน์และมารับสินค้าด้วยตนเองที่สโตร์ บริการจัดส่ง และบริการประกอบสินค้า ซึ่งได้รับการปรับให้เป็นบริการแบบไร้สัมผัส เพื่อให้ลูกค้าอุ่นใจได้ยิ่งขึ้น นายทอม ซูเทอร์ ผู้จัดการสโตร์ อิเกีย บางใหญ่ เปิดเผยว่า แนวโน้มยอดขายของอิเกีย น่าจะมียอดขายลดลง 8.4% จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลให้ภาพรวมของอิเกีย ที่เดิมคาดว่าจะมีรายได้เติบโต 3.5% ลดลงเหลือยอดขายติดลบ 5% และปีต่อไปยังคงติดลบต่อเนื่องอีก 3%  แนวโน้มยอดขายของอิเกีย น่าจะกลับมาเป็นบวกได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาวการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการมีวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวด้วย   อย่างไรก็ตาม นับจากนี้ อิเกีย จะเน้นการทำตลาดออนไลน์ให้เพิ่มมากขึ้น และการทำตลาดอื่นๆ เช่น การออกสินค้าใหม่ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ การมีสิค้าคอลเลคชั่นร่วมกับแบรนด์เกรฮาวน์ การจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าลง 3% และการยกเว้นค่าหยิบสินค้า 200 บาท วันนี้ - 31 สิงหาคม 2563 ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา สโตร์อิเกียออนไลน์มีผู้เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรามากกว่า 4 ล้านคน ยอดสั่งซื้อออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 320% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้  มาตรการดูแลความปลอดภัยของอิเกีย  https://youtu.be/F2lOj9XrpWY                      
แสนสิริ เจอพิษโควิด-19 ทำกำไรลดเหลือแค่ 62 ล้าน เร่งสปีดธุรกิจปั้มยอดขาย  

แสนสิริ เจอพิษโควิด-19 ทำกำไรลดเหลือแค่ 62 ล้าน เร่งสปีดธุรกิจปั้มยอดขาย  

แสนสิริ ยังทำรายได้ขายอสังหาฯ  ไตรมาสแรกกว่า 5,393 ล้าน แต่กำไรลดฮวบเหลือแค่ 62 ล้าน จากช่วงเดียวกันของปีก่อนทำได้กว่า 400 ล้าน เหตุขาดทุนในกิจการโรงแรม แถมค่าบริหารธุรกิจพุ่งสูง จากผลกระทบโควิด-19 เดินหน้าเร่งสปีดธุรกิจ หวังโกยยอดขายเพิ่ม หลังตุนยอดได้กว่า 21,000 ล้าน   นายอภิชาติ  จูตระกูล ประธานอำนวยการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ บริษัทมีรายได้รวม 6,623 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแบ่งเป็นรายได้จากการขาย 5,393 ล้านบาท เติบโตขึ้น 10% จากปีก่อน มาจากการโอนโครงการแนวราบและแนวสูงในสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ 59 : 41 % อาทิ โครงการบุราสิริ พัฒนาการ โครงการบ้านแสนสิริ พัฒนาการ  ไทเกอร์ เลน รวมถึงโครงการคอนโดมิเนียม ที่ได้รับการตอบรับโอนที่ดีจากลูกค้า อาทิ โครงการ เดอะ โมนูเมนต์ ทองหล่อ โครงการดีคอนโด ริน เชียงใหม่ และ ลา กาซิตา หัวหิน เป็นต้น   นอกจากนี้ บริษัทยังมีกำไรจากการลงทุนจากการเพิ่มมูลค่าของ JustCo ที่แสนสิริเข้าไปลงทุนถือหุ้น โดย Daito Trust บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจของ Justco และได้เข้าซื้อส่วนลงทุนของ Justco มูลค่ากว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ Valuation ของ Justco เพิ่มมูลค่าอย่างมาก โดยแสนสิริในฐานะผู้ถือหุ้น สามารถรับรู้กำไรจากการเพิ่มมูลค่าของเงินลงทุนนี้ได้กว่า 703 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ตามมาตรฐานการบัญชีนั้น กำไรจากการเพิ่มมูลค่าของเงินลงทุนนี้จะไม่ปรากฏอยู่ในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ แต่จะถูกบันทึกเป็นกำไรสะสมในงบดุลโดยตรง สำหรับ JustCo นับเป็น Coworking space & Serviced Office รูปแบบใหม่ ที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึง 150% ในแต่ละปี ปัจจุบันประกอบด้วย 42 จัสท์โค เซ็นเทอร์ ใน 8 เมืองใหญ่ต่างประเทศ โดยในประเทศไทยจัสท์โคเปิดตัว 4 แห่ง   อย่างไรก็ตาม จากผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา พบว่า แสนสิริมีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์กว่า 5,382.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ​ 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ทำได้ 4,892.57 ล้านบาท  แม้ว่ารายได้จะเพิ่มขึ้น แต่ความสามารถในการทำกำไรกลับลดต่ำลงอย่างมาก โดยในไตรมาสแรกปีนี้ แสนสิริและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 62 ล้านบาท ซึ่งถือว่าลดต่ำลงอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งทำกำไรไปกว่า 404.30 ล้านบาท  สาเหตุหลักมาจากการลดลงของอัตรากำไรขั้นต้นจากการขายโครงการ รวมถึงการขาดทุนจากธุรกิจการบริหารโรงแรม ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบ กับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการบริหาร   สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของแสนสิริ เพื่อรองรับความแข็งแกร่งควบคู่ไปกับการสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงิน คือ การสานต่อการสร้างแบรนด์แสนสิริให้แข็งแกร่งมากขึ้น  ปัจจุบันแสนสิริมียอดขายล่วงหน้า (Pre-Sale Backlog) โครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ เป็นมูลค่ารวมเกือบ 46,900 ล้านบาท ที่จะทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องใน 1-3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ แสนสิริยังมีแผนขยายการพัฒนาธุรกิจที่อยู่อาศัยใหม่ๆ เพื่อรองรับทุกความต้องการของลูกค้า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง เพื่อรองรับการขยายธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีผลกระทบต่อแผนการลงทุนระยะยาว อันจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนและสถาบันการเงินได้เป็นอย่างดี  รวมถึงบริษัทยังมีสภาพคล่องและ Cash flow หรือกระแสเงินสด อีกถึง 10,000 ล้านบาท ที่มีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจและมีความแข็งแกร่งในทุกสภาวการณ์   ทั้งนี้ ความสำเร็จจากการออกหุ้นกู้ระยะยาวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บริษัทเล็งเห็นศักยภาพในการรักษาการเติบโตได้ จึงมีการพิจารณาแผนความแข็งแกร่งด้านการเงินระยะยาวโดยการเตรียมความพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต ด้วยการออก Perpetual Bond 2,500 ล้านบาท เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับแสนสิริ   ปัจจุบันแสนสิริมียอดขายล่าสุดอยู่ที่ 21,000 ล้านบาท จากการดำเนินธุรกิจ ด้วยกลยุทธ์การตลาดที่แข็งแกร่งนำหน้าคู่แข่งในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ยังทำให้แสนสิริต้องเร่งการขายโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ ให้เร็วกว่าแผนเดิม เพื่อแข่งขันกับสภาพตลาด (Speed to Market)   ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 6/2563 ได้มีมติอนุมัติแผนเตรียมความพร้อมรองรับการเติบโต ในอนาคตของบริษัท โดยการขออนุมัติออกหุ้นสามัญรวมจำนวน 4,600​ ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.07 บาท ส่งผลให้ทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 16,224,125,722.40 บาท มาเป็นทุนจดทะเบียนใหม่ที่ 21,146,125,722.40 บาท   โดยการเตรียมความพร้อมในครั้งนี้ เพื่อรองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Warrant) ที่ออกให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) จำนวน 2,500 ล้านหุ้น โดยมีราคาใช้สิทธิที่ 1.10 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะจัดสรรให้แก่ผู้ลงทุนที่จองซื้อหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อมีการเลิกบริษัท (Perpetual Bond) ที่บริษัทจะออกและเสนอขายโดยมีมูลค่าการเสนอขายรวมไม่เกิน 2,500 ล้านบาท และเพื่อรองรับการใช้สิทธิตามโครงการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท (ESOP#8) ให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท จำนวน 700 ล้านหุ้น โดยมีราคาใช้สิทธิที่ 1.10 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของบริษัท ช่วยเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ผู้บริหารและพนักงานในการปฏิบัติงาน อีกทั้งยังเป็นการจูงใจและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถและมีประสิทธิภาพในการทำงานให้อยู่กับบริษัทต่อไปในระยะยาว อันจะส่งผลดีต่อการปฏิบัติงานและการเติบโตของธุรกิจในอนาคต   นอกจากนี้ จะมีการขออนุมัติกรอบการเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) ไว้จำนวน 1,400 ล้านหุ้น โดยจะมีการดำเนินการขออนุมัติมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 นี้ สำหรับหุ้นสามัญที่จะออกเพิ่มให้กับนักลงทุนสถาบัน ในวงจำกัด (private placement) มีกลุ่มทุนที่ให้ความสนใจ ได้แก่ กองทุนที่ฮ่องกง ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางด้านการเงินและเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับแสนสิริ
ถอดบทเรียนอสังหาฯ ไทย-อาเซียน หลังเผชิญปัญหาโควิด-19

ถอดบทเรียนอสังหาฯ ไทย-อาเซียน หลังเผชิญปัญหาโควิด-19

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันส่งผลกระทบไปทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียนด้วย โดยแต่ละประเทศต่างก็มีมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้    ในขณะเดียวกันอีกหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนก็เริ่มผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดลดน้อยลง เปิดโอกาสให้หลายธุรกิจกลับมาเปิดกิจการได้ตามปกติ แม้จะยังมีความกังวลหลังจากบทเรียนจากบางประเทศที่มีการกลับมาระบาดของโรคซ้ำสองหลังมีมาตรการผ่อนปรน   จากรายงานของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ระบุว่า การท่องเที่ยว ค้าปลีก และธุรกิจบริการต่าง ๆ จะได้รับผลกระทบหนักสุด เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ประกาศใช้ ทำให้การดำเนินธุรกิจหยุดชะงัก ทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) การจ้างงานและอาชีพพื้นฐานที่มีความเสี่ยงต่าง ๆ ในขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง   การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังตอกย้ำถึงโอกาสฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ที่ยังคงชะลอตัวทั่วโลก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยรายงานจากหลายๆ แหล่ง ได้คาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ในช่วงเริ่มแรกของการระบาดอาจส่งผลเล็กน้อยต่อเศรษฐกิจทั่วโลก แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดที่รวดเร็วของไวรัสที่กระจายตัวทั่วโลก ยิ่งตอกย้ำภาพรวมเศรษฐกิจที่จะเติบโตลดลงอย่างต่อเนื่อง ราคาอสังหาฯ ไทยดิ่งติดลบ 9% ทั้งนี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นอีกหนึ่งภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคอาเซียนมีการปรับตัว เพื่อตอบรับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ โดย DDproperty.com ได้จัดทำรายงานและวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวเพื่อเป็นแนวทางให้ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการได้พิจารณาในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  ตลาดอสังหาฯ ไทยเปิดโครงการใหม่ลดลง 3% จากรายงาน DDproperty Thailand Property Market Index Q2 2563 พบว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยในปี 2563 มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยมีสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่ราคาและอุปทานลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยท้าทายหลายด้านทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และยิ่งเห็นได้ชัดเมื่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19    โดยดัชนีราคาในไตรมาสแรกของปี 2563 ลดลง 1% จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลงถึง 9% ในรอบ 1 ปี ส่วนดัชนีอุปทานแม้จะยังทรงตัว แต่ก็ลดลง 3% ในรอบ 1 ปี   อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวิกฤติโควิด-19 จะทำให้ตลาดอสังหาฯ ชะลอตัว แต่จะเห็นได้ว่าราคาคอนโดมิเนียม และทาวน์เฮ้าส์ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับโปรโมชันลด แลก แจก แถมต่าง ๆ ของผู้ประกอบการอสังหาฯ หลายราย เพื่อเร่งระบายสินค้าคงค้าง จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ซื้อที่มีความพร้อม ที่จะได้สินค้าในราคาที่เหมือนกับช่วงเปิดตัวโครงการ นอกจากจะเป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองแล้ว ยังเหมาะกับการซื้อเพื่อลงทุน เนื่องจากราคาอสังหาฯ มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอีกเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ โดยเฉพาะสินค้าระดับกลาง-บน ที่มีการเติบโตของระดับราคาเป็นอย่างมาก อสังหาฯ สิงคโปร์ แห่ลดราคาสู้โควิด-19 ผู้ประกอบการอสังหาฯ จำนวนมากมีแนวโน้มที่จะลดราคาอสังหาฯ ลงอีกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 หากสถานการณ์ชัตดาวน์ประเทศสิงคโปร์ยังยืดเยื้อ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากความเชื่อมั่นและการคาดการณ์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ที่ลดลง จากรายงาน PropertyGuru Singapore Property Market Index ฉบับล่าสุด พบว่า ดัชนีราคาลดลง 1.1% ในไตรมาสแรกของปี 2563 สอดคล้องกับข้อมูลจาก Urban Redevelopment Authority ที่ระบุว่าราคาอสังหาฯ ที่ไม่ใช่ที่ดินและคอนโดมิเนียมจะปรับตัวลดลง 1% ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ จำเป็นต้องลดราคาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ด้านผู้ประกอบการอสังหาฯ ในประเทศยังคงมองตลาดอสังหาฯ เป็นบวกและเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด   อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจในประเทศส่วนใหญ่ไม่หวั่นวิตกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดมากนัก เนื่องจากเชื่อมั่นในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมทั้งความแข็งแกร่งของภาคอสังหาฯ ที่มีการออกมาตรการคุมภาระหนี้ต่อรายได้ (TDSR) และ มาตรการกำกับควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ตลาดอสังหาฯ มาเลเซีย ราคาเพิ่มสวนกระแสไควิด-19 จากการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในมาเลเซียตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จนภาครัฐต้องใช้มาตรการชัตดาวน์ประเทศ ทำให้ภาคธุรกิจหยุดชะงัก ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ยังคงรักษาการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องมาจากไตรมาสแรกของปี 2563 โดยวัดได้จากดัชนีราคาที่เพิ่มขึ้น   สอดคล้องกับรายงาน PropertyGuru Malaysia Property Market Index ฉบับล่าสุด ที่พบว่า  ดัชนีราคาในไตรมาสแรกของปี 2563 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย หรือเพิ่มขึ้น 0.63% แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมองอสังหาฯ ว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดหากต้องการสร้างความมั่นคง สวนทางกับจำนวนอุปทานใหม่ที่ลดลงถึง 10.47% ซึ่งลดลงมากสุดในรอบ 3 ปี   อย่างไรก็ตาม จากการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคา จำนวนอุปทาน รวมถึงมูลค่าการทำธุรกรรมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาจส่งผลกระทบต่อการกำหนดราคาในตลาด ซึ่งเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ รักษาระดับราคาอสังหาฯ ในพื้นที่สำคัญ ๆ ให้คงที่หรือเพิ่มราคาได้อีก อสังหาฯ อินโดนีเซีย แห่แข่งราคา รับดีมานด์ ตามรายงานของธนาคารแห่งประเทศอินโดนีเซียคาดการณ์ว่า ภาคอสังหาฯ ของประเทศในปีนี้จะเติบโตขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับรายงาน Rumah.com Indonesia Property Market Index ฉบับล่าสุด ที่ชี้ให้เห็นว่า ปี 2563 จะเป็นปีแห่งการฟื้นฟูภาคอสังหาฯ เนื่องจากการสนับสนุนของภาครัฐฯ ที่ออกนโยบายผ่อนปรนมาตรการ LTV สำหรับผู้ซื้อบ้านหลังที่สอง ซึ่งเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการอสังหาฯ นักลงทุน และภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น   อย่างไรก็ดี จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ทางด้านภาคอสังหาฯ ในไตรมาสแรกของปี 2563 พบว่า มีจำนวนอุปทานใหม่ลดลง สวนทางการเติบโตของความต้องการซื้อ ทำให้ผู้ที่ขับเคลื่อนตลาดอสังหาฯ ของอินโดนีเซียในไตรมาสที่ผ่านมาเป็นกลุ่มผู้บริโภค   นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับราคาอสังหาฯ มากกว่าโปรโมชันส่วนลดหรือของแถมอื่น ๆ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแข่งขันด้านราคากันอย่างรุนแรง โดยผู้ประกอบการอสังหาฯ รายใดที่นำเสนอราคาได้ถูกกว่า ก็มีโอกาสขายได้   นอกจากนี้ยังจะได้เห็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจและการให้บริการของภาคอสังหาฯ​ ในอาเซียนที่หันมาสร้าง “New Norm” ให้เกิดขึ้น ถือเป็นการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ โดยใช้โอกาสนี้เข้าถึงลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ และการเข้าถึงผู้บริโภคด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ ถอดบทเรียนจากโควิด-19  นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ในเครือพร็อพเพอร์ตี้กูรู กรุ๊ป กล่าวว่า ธุรกิจอสังหาฯ ทั่วอาเซียนต้องเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ภาครัฐต้องออกมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ หลายราย ต้องพับแผนในการเปิดตัวโครงการใหม่ การก่อสร้างหยุดชะงัก งานแสดงบ้านระดับบิ๊กอีเวนท์ที่โกยรายได้มากมายในแต่ละปีก็ไม่สามารถจัดขึ้นได้ เนื่องจากการ Social Distancing    อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการในอาเซียนต่างเห็นตรงกันว่า กุญแจสำคัญสำหรับการรอดพ้นในช่วงวิกฤติ คือ การวางแผนการเงินสำรองฉุกเฉิน การทำแผนตลาดให้มีความยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกินความคาดหมาย ยกระดับการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีเพื่อต่อเกมธุรกิจ สร้างประสบการณ์ดิจิทัลแก่พนักงานและลูกค้าได้ต่อเนื่องแม้ทุกอย่างจะหยุดชะงัก ซึ่งอาจจะมีอีกหลากหลายคำตอบที่ใช้เอาชนะความท้าทายต่าง ๆ ได้ เพียงแค่ต้องบริหารจัดการให้เหมาะสม บทเรียนที่วิกฤติโควิด-19 ได้ฝากไว้คือ ภายใต้สถานการณ์ที่ทุกอย่างหยุดชะงัก ผู้บริโภคได้เรียนรู้ที่จะปรับและค้นหาวิธีการใหม่ ๆ ในการจัดการชีวิต การทำงาน รวมทั้งการค้นหาบ้าน แม้จะอยู่ในช่วงวิกฤติโควิด-19 แต่ผู้บริโภคยังคงให้ความสนใจอสังหาฯ อย่างต่อเนื่อง ยืนยันได้ด้วยจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ DDproperty.com พบว่า จำนวนการเข้าชมและทำการค้นหาต่อบนเว็บไซต์ เพิ่มสูงขึ้นถึง 8% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเคอร์ฟิว   ดังนั้น ผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่ปรับตัวได้ก่อน อาทิ การใช้ช่องทางออนไลน์แบบครบวงจร หรือใช้เทคโนโลยี Virtual Tour ในการรีวิวโครงการ แทนการเข้าชมจริง ก็จะสามารถประคองธุรกิจ หรือก้าวไปข้างหน้าได้แม้จะอยู่ในสถานการณ์นี้   ด้านผู้บริโภค ยังยืนยันว่าช่วงนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ซื้อที่มีความพร้อม ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในทำเลดี ที่ราคาไม่สูง พร้อมโปรโมชันมากมาย ทั้งเพื่ออยู่เอง รวมทั้งการขยายพอร์ตการลงทุนสำหรับผู้ที่มองหาช่องทางการลงทุนที่ดีหลังจากผ่านวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากอสังหาฯ ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต      
พฤกษา พอใจผลงานไตรมาสแรก  เดินหน้าใช้การตลาดดิจิทัลรับไลฟ์สไตล์ New Normal

พฤกษา พอใจผลงานไตรมาสแรก เดินหน้าใช้การตลาดดิจิทัลรับไลฟ์สไตล์ New Normal

พฤกษา เผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2563 ดีกว่าที่คาดการณ์ ทำรายได้ 7,143 ล้านบาท ยอดขาย 6,069 ล้านบาท กำไรสุทธิ 922 ล้านบาท เชื่อผู้บริโภคยังมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยต่อเนื่อง เล็งปรับกลยุทธ์ธุรกิจรับ New Normal  ในทุกมิติ ชูช่องทางขายผ่านดิจิทัล อัดโปรโมชั่นชิงส่วนแบ่งตลาด   นางสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน)  เผยถึงผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 ว่า  แม้บริษัทฯ จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  แต่โดยภาพรวมผลการดำเนินธุรกิจยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากบริษัทฯ สามารถบริหารจัดการความเสี่ยง และปรับตัวรับมือต่อผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้บริษัทฯ มีรายได้ 7,143 ล้านบาท ยอดขาย 6,069 ล้านบาท กำไรสุทธิ 922 ล้านบาท  และมียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) อยู่ 26,810 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ 9,000 ล้านบาท พร้อมยังคงสภาวะทางการเงินที่แข็งแกร่งจากการบริหารสภาพคล่องของกระแสเงินสด (Cash Flow) อย่างมีประสิทธิภาพ   โดยสัดส่วนรายได้ในไตรมาส 1 ราว 66% หรือ 4,699 ล้านบาท มาจากกลุ่มสินค้าทาวน์เฮาส์และบ้านเดี่ยว และมีรายได้จากกลุ่มสินค้าคอนโดมิเนียมประมาณ 34% หรือ 2,435 ล้านบาท ด้านสัดส่วนยอดขาย แบ่งเป็นยอดขายมาจาก ทาวน์เฮาส์ 2,808  ล้านบาท  คอนโดมิเนียม 2,081 ล้านบาท และบ้านเดี่ยว 1,180 ล้านบาท ยังคงอัตราการทำกำไรในระดับที่ดี เห็นได้จากอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ที่ 35.9% สูงขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน   ในช่วงไตรมาสแรกบริษัทได้เปิดโครงการใหม่ 5 โครงการ เป็นทาวน์เฮาส์ 3 โครงการ มูลค่า 1,930 ล้านบาท และ คอนโดมิเนียม 2 โครงการ มูลค่า 3,250 ล้านบาท ได้แก่  เดอะทรี วิคทอรี่ โมนูเมนต์ และเดอะ ทรี สุขุมวิท พระรามสี่  มีอัตรายอดขาย (Take Up Rate) ของโครงการเปิดใหม่ที่ 25% สูงกว่าตลาดที่มีอัตรายอดขายอยู่ที่ 16%     สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในช่วงต่อไป จะเน้นการบริหารค่าใช้จ่ายทุกประเภทภายในองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด  รักษาสภาพคล่อง เร่งแปรสินค้าสต็อก (Inventory) ให้เป็นรายได้ พร้อมออกแคมเปญส่งเสริมการขายด้วยข้อเสนอพิเศษสุด สำหรับลูกค้าที่จองและโอนกรรมสิทธิ์โครงการต่างๆ ของพฤกษาที่เข้าร่วม จำนวนถึง 167 โครงการ ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 2563 พฤกษาผ่อนให้นานสูงสุด 2  ปี พร้อมรับส่วนลดสูงสุดถึง 1 ล้านบาท ฟรีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อาทิ ฟรีค่าใช้จ่ายวันโอน  ฟรีส่วนกลาง 3 ปี ฟรีค่ามิเตอร์น้ำ-ไฟ และเพิ่มเติมสำหรับทาวน์เฮาส์ รับทองคำสูงสุด 1 บาทหรือเลือกรับส่วนลดมูลค่า 25,000 บาท โดยโปรโมชั่นมีเงื่อนไขตามที่แต่ละโครงการกำหนด   นอกจากนี้ หลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ที่จำกัดการออกจากบ้านของผู้บริโภค เป็นตัวเร่งให้สังคมเข้าสู่จุดที่ทุกคนทุกวัยเชื่อมต่อสู่โลกออนไลน์เร็วขึ้นและเพิ่มขึ้น  ผู้ประกอบการทุกรายจึงต้องปรับกลยุทธ์ด้วยการนำเอาสินค้าของตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกดิจิทัลตลอดทุกช่วงของ Customer Journey ให้ได้มากที่สุด     เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้า  พฤกษาจึงเตรียมยกระดับการพัฒนาสินค้า นวัตกรรม และการบริการ แบบบูรณาการในทุกมิติ พร้อมทั้งปรับกลยุทธ์การตลาดและการขาย โดยได้ปรับการขายผ่าน Digital Platform ตั้งแต่ระยะต้น อาทิ Facebook Live พาเยี่ยมชมโครงการ ซื้อสินค้าผ่านทางไลน์แชท (Line Chat) ชมโครงการผ่าน VDO 360 องศา และ VDO Call  การคัดเลือกบ้านยูนิตพิเศษ (Hot Deals)  พร้อมราคาและเงื่อนไขสุดพิเศษ ซึ่งได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี   สำหรับภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลัง จากแนวโน้มสถานการณ์ผู้ติดเชื้อลดลงในขณะที่คนไทยมีการปรับตัวในการดำเนินชีวิตแบบเว้นระยะห่างทางสังคม  ด้วยแล้ว มองว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น หลังจากความกังวลลดลง คาดว่าลูกค้าที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยจะกลับมาตัดสินใจซื้อเพิ่มขึ้น        
มั่นคงฯ เจอผลกระทบโควิด-19 ไตรมาสแรกรายได้วูบ 18%

มั่นคงฯ เจอผลกระทบโควิด-19 ไตรมาสแรกรายได้วูบ 18%

มั่นคงเคหะการ  โดยพิษไวรัสโควิด-19 รายได้อสังหาฯ ไตรมาสแรกลด 18% แต่ได้อานิสงค์ธุรกิจเช่าและการบริการ หนุนรายได้ ครึ่งปีหลังเตรียมเปิดตัวโครงการแนวราบอีก 2 โครงการ และธุรกิจเวลเนสส์เซ็นเตอร์    นายวรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) หรือ MK เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2563 ว่า บริษัทและบริษัทย่อยสามารถทำรายได้รวมจากการขายและบริการได้ 640.92 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายอยู่ที่  496.93  ล้านบาท ส่วนธุรกิจเพื่อเช่าและการบริการมีรายได้เติบโตขึ้นเป็นจำนวนถึง 143.99 ล้านบาท เติบโตเพิ่ม 23% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา   ทั้งนี้ จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีอัตราชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่ปี 2562 ผนวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคบางกลุ่ม  ทำให้มีการชะลอการตัดสินใจซื้อ รวมถึงมีความสามารถในการซื้อที่ลดลง ในไตรมาสแรกของปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายอสังหาฯ ลดลงประมาณ 18% เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อไตรมาส ภายหลังมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยเริ่มมีผลบังคับใช้ในปีที่ผ่านมา   อย่างไรก็ตาม แม้จะอยู่ท่ามกลางวิกฤต แต่บริษัทฯ ก็ยังสามารถสร้างรายได้จากธุรกิจเช่าและบริการ (Recurring Income) ถึง 143.99 ล้านบาท เติบโต  23% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา  โดยรายได้หลักมาจากโครงการ บางกอก ฟรีเทรด โซน ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด จำนวน 92.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 29.31 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึง 46.12% จากผลการดำเนินงานภาพรวมของ บมจ.มั่นคงเคหะการ จะเห็นได้ว่าธุรกิจให้เช่าและธุรกิจบริการ มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นให้กับกลุ่มบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นไปตามแผน  การปรับโครงสร้างรายได้ของกลุ่มบริษัท เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ และสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอ ในระยะยาว โดยสัดส่วนกำไรขั้นต้นของธุรกิจให้เช่าและธุรกิจบริการเมื่อเปรียบเทียบกับกำไรขั้นต้นทั้งหมด ไม่รวมการขายที่ดินเปล่าในไตรมาสนี้ปรับเพิ่มขึ้น 34% จากเดิม 19.5%   นายวรสิทธิ์ กล่าวอีกว่า จะเห็นได้ว่าแผนธุรกิจ 5 ปีของกลุ่มบริษัท ที่มุ่งเน้นสร้างสมดุลรายได้ที่มั่นคง ได้ช่วยลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ได้เป็นอย่างดี  รวมถึงกลุ่มบริษัทยังสามารถควบคุมต้นทุน และค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และยังสามารถดำเนินงานตามแผนธุรกิจที่วางไว้ได้อย่างต่อเนื่อง   สำหรับแผนการดำเนินงานต่อไป โดยมีแผนเปิดตัวโครงการแนวราบอีก 2 โครงการ และธุรกิจโครงการสถานพยาบาล สถานฟื้นฟูและเวชศาสตร์ชะลอวัย (Wellness Center) ที่มีแผนจะเปิดตัวช่วงปลายปี 2563 นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีแผนในการจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาฯ เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลัง  เพื่อให้เป็นตามแผนโครงสร้างรายได้ 5 ปี ปรับสัดส่วนกำไรของทั้ง 2 ฝั่งอยู่ที่ 50/50 ภายในปี 2564
“ออริจิ้น” ใช้ตลาดเชิงรุก สร้างผลงานไตรมาสแรก ทำกำไรกว่า 595 ล้าน

“ออริจิ้น” ใช้ตลาดเชิงรุก สร้างผลงานไตรมาสแรก ทำกำไรกว่า 595 ล้าน

“ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้” เปิดผลประกอบการไตรมาสแรก  กวาดกำไรกว่า 595 ล้าน​ หลังรับรู้กำไรจากส่วนแบ่งโครงการร่วมทุน ที่สร้างเสร็จใหม่ 2 โครงการ ทำยอดโอนไปกว่า 1,441 ล้านบาท รับรู้กำไรกิจการร่วมค้ากว่า 141 ล้านบาท (ตามสัดส่วนถือหุ้น 51%) ซึ่ง ชี้ครึ่งปีหลังมีโครงการสร้างเสร็จใหม่พร้อมทยอยโอนเพิ่มอีกกว่า 17,000 ล้าน หนุนระดับรายได้-กำไรในปีแห่งความท้าทาย   นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 2,408 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 595 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเพียง 17% เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้ธุรกรรมต่างๆ ชะลอตัว แต่ภาพรวมสามารถทำได้ดีกว่าตลาดที่คาดว่าจะติดลบ 30-40 %   อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงสามารถรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นไว้ได้ที่ 39.9% และเริ่มรับรู้กำไรจากโครงการคอนโดมิเนียมร่วมทุน (Joint Venture) กับบริษัท โนมูระเรียลเอสเตท ที่ก่อสร้างเสร็จใหม่ 2 โครงการเป็นครั้งแรก ได้แก่ โครงการไนท์บริดจ์ ไพร์ม รัชโยธิน และโครงการไนท์บริดจ์ คอลลาจ รามคำแหง ที่มียอดขายมากกว่า 93% จากมูลค่าโครงการรวมกว่า 3,700 ล้านบาท ซึ่งทำยอดโอนไปกว่า 1,441 ล้านบาท รับรู้กำไรกิจการร่วมค้ากว่า 141 ล้านบาท (ตามสัดส่วนถือหุ้น 51%) ซึ่งหากนับรวมรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดนี้ บริษัทสามารถทำได้ถึง 3,394 ล้านบาท เติบโตขึ้น 13.1%  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 2.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อสหน้า ทั้งนี้ บริษัทยังสามารถผลักดันยอดขายได้ดีจากการปรับกลยุทธ์การตลาดเชิงรุก และสร้างทีม Everyone Can Sell ที่แม้ว่าในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 ที่ผ่านมา มีความท้าทายกับสถานการณ์ COVID-19  สามารทำยอดขายอยู่ที่ 4,852 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 23% ของเป้ายอดขายทั้งปี โดยเป็นยอดขายที่มาจากกลุ่มโครงการบ้าน ประมาณ 1,682 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าไตรมาส 1/2562 อยู่ 775 ล้านบาท คิดเป็น 86% ซึ่งเป็นไปตามแผนที่กลุ่มบริษัทมีการขยายสัดส่วนโครงการบ้านจัดสรร เนื่องจากการขยายตัวของเครือข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าไปยังทำเลเมืองรอบนอกมากขึ้น อีกทั้งลูกค้ากลุ่มนี้มีวัตถุประสงค์การซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง และยังมีความผันผวนของความต้องการที่ต่ำกว่าอาคารชุด จึงถือเป็นการกระจายความเสี่ยงจากการเพิ่มช่องทางของรายได้   โดยการเปิดตัวโครงการใหม่ทั้ง 2 โครงการในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม ได้แก่ โครงการแกรนด์ บริทาเนีย วงแหวน-รามอินทรา และโครงการบริทาเนีย สายไหม ได้รับการตอบรับที่ดีโดยในไตรมาส 1/2563 ทำยอดขายได้กว่า 220 ล้านบาท และยอดขายโครงการคอนโดมิเนียมอีกราว 3,170 ล้านบาท โดยทั้งนี้คิดเป็นโครงการพร้อมอยู่ (Ready to move) ประมาณ 3,733 ล้านบาท จากที่ไตรมาส 1/2563 บริษัทเน้นการขายในโครงการพร้อมอยู่ ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ภายในปีนี้   ในปี 2563 บริษัทมีการปรับรูปแบบการดำเนินงานให้เข้ากับสถานการณ์ด้วยกลยุทธ์การตลาดเชิงรุก แพลทฟอร์มออนไลน์ การขับเคลื่อนทั้งการขายการโอน การดูแลผู้บริโภคและพนักงานได้แบบ Zero-COVID เราจะรักษามาตรฐานและปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถผ่านปีที่ท้าทายนี้ไปได้อย่างมั่นคง   นอกจากนี้ บริษัทยังมีพาร์ทเนอร์ใหม่ คือ บริษัท จีเอส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น (GS E&C) จากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในแวดวงธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก มาร่วมพัฒนาโครงการคอนโดนิเนียมใหม่ 2 โครงการที่จะเปิดตัวในปีนี้ ได้แก่ 1.โครงการดิ ออริจิ้น ลาดพร้าว 111 (The Origin Ladprao 111) และ 2.โครงการไนท์บริดจ์ สเปซ พระราม 4 (KnightsBridge Space Rama 4) นายพีระพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับไตรมาส 2/2563 บริษัทมุ่งเน้นแผนการตลาดไปที่กลุ่ม Ready to Move และสินค้ารอขาย (Inventory) ด้วยหลากหลายแคมเปญ อาทิ แคมเปญ Keep Your Distance เว้นระยะผ่อน ให้ผู้ซื้ออยู่ฟรีนานสูงสุด 3 ปี ช่วยลดภาระให้ผู้ซื้อได้ในสถานการณ์ COVID-19 พร้อมสิทธิประโยชน์อื่นๆ กับ 23 โครงการในเครือ แคมเปญ Always Online ใช้ 3 แพลทฟอร์ม ทั้ง LINE OA, Lazada, Shopee อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคในทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ทั้งการหาข้อมูล การจอง การตรวจห้อง ไปจนถึงการโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งบริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องสุขอนามัย โดยการจัดให้มี Private Visit อำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่จำเป็นต้องเข้าไปเยี่ยมชมโครงการ   ทั้งนี้ บริษัทจะเฝ้าติดตามสถานการณ์ COVID-19 อย่างใกล้ชิด และปรับรูปแบบการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ และสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าสถานการณ์ภาพรวมในช่วงครึ่งปีหลังจะสดใสกว่าช่วงครึ่งปีแรก โดยบริษัทมีโครงการรอเปิดตัวในช่วงครึ่งปีหลังอีก 12 โครงการ แบ่งเป็นคอนโดมิเนียม 4 โครงการ และบ้านจัดสรรอีก 8 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 16,700 ล้านบาท   ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีแบ็คล็อคขนาดใหญ่ที่จะเปลี่ยนเป็นยอดรับรู้รายได้ จากโครงการคอนโดมิเนียมและบ้านที่จะทยอยสร้างเสร็จในช่วงครึ่งหลังของปีอีก 12 โครงการ มูลค่าโครงการรวมกว่า 17,000 ล้านบาท (รวมโครงการร่วมทุนมูลค่า 5,300 ล้านบาท) ส่งผลให้บริษัทจะมีโอกาสสร้างทั้งยอดขาย รายได้ และกำไรเข้ามาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติเห็นชอบให้เสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 27 สิงหาคม 2563 จ่ายปันผลสำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทรอบหกเดือนหลัง ของปี 2562 ในอัตรา 0.29 บาทต่อหุ้น เป็นเงินปันผลจ่ายทั้งสิ้นไม่เกิน 711.33 ล้านบาท ทั้งนี้ในปี 2562 บริษัทได้มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลตามมติคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 8/2562 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562 สำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2562 เป็นเงินสดในอัตราหุ้นละ 0.205 บาท หรือคิดเป็นเงินจำนวนไม่เกิน 502.06 ทั้งนี้คิดเป็น Dividend Yield ทั้งปีกว่า 11% จากราคาปิดเมื่อวานนี้ โดยบริษัทจะจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสด ซึ่งจะกำหนดขึ้น XD ในวันที่ 1 กันยายน 2563 และวันที่ 2 กันยายน 2563 เป็นวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) โดยกำหนดจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นภายในวันที่ 25 กันยายน 2563    
เอสซีฯ​ รุกตลาดแนวราบ เปิดเดือนเดียว 4 โปรเจ็กต์ มูลค่า 5,000 ล้าน

เอสซีฯ​ รุกตลาดแนวราบ เปิดเดือนเดียว 4 โปรเจ็กต์ มูลค่า 5,000 ล้าน

เอสซีฯ รุกตลาดแนวราบไตรมาส 3 เปิดใหม่เดือนเดียว 4 โปรเจ็กต์  มูลค่ารวม 5,000  ล้าน หลังปรับกลยุทธ์ทำตลาดออนไลน์ได้กระแสตอบรับดี ขณะที่ไตรมาสแรก ยังโชว์ผลงานทำรายได้รวมโต 4% กวาดกำไรกว่า​ 300 ล้าน   นายอรรถพล สฤษฎิพันธาวาทย์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านสนับสนุนองค์กร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทได้ปรับกลยุทธ์ทางการตลาด ด้วยการทำตลาดออนไลน์ในโครงบ้านแนวราบ ซึ่งประสบความสำเร็จและได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี  ในไตรมาส 2 นี้ จึงวางแผนเปิดโครงการบ้านเดี่ยวเพิ่มอีก 4 โครงการ มูลค่ารวม 5,000  ล้านบาท เป็นกลุ่มบ้านระดับราคา 5-50 ล้านบาท   โดย 2 โครงการแรกจะเปิด Pre-sale ในวันที่ 16-17 พฤษภาคมนี้ ได้แก่  1. บางกอก บูเลอวาร์ด วิภาวดี บ้านขนาด 2 ชั้น พื้นที่ 10-2-7.5 ไร่ มูลค่าโครงการ 730 ล้านบาท จำนวน  37 ยูนิต ราคา 13.99 - 26 ล้านบาท  ทำเลถนนวิภาวดีรังสิต ใกล้ทางด่วนศรีรัช (งามวงศ์วาน) เพียง 3.7 กม.  และ 2. บางกอก บูเลอวาร์ด พระราม5 บ้านขนาด 2 ชั้น 3 แบบ พื้นที่ 44 ไร่ มูลค่าโครงการ 2,100 ล้านบาท จำนวน 189 ยูนิต ราคา 8.99-15 ล้านบาทในทำเลใกล้ด่วนศรีรัช นอกจากนี้  ในวันที่ 23-24 พฤษภาคม ยังเตรียมเปิดอีก 2 โครงการใหม่ คือ  โครงการเดอะ เจนริ วิภาวดี วิลล่า 3 ชั้น ขนาด 5 ห้องนอน 6 ห้องน้ำ 4 ที่จอดรถ พร้อมสระส่วนตัวและลิฟท์ส่วนตัว มีจำนวนเพียง 10 ยูนิต ราคาเริ่มต้น 27-50 ล้านบาท  โครงการมีพื้นที่  4-2-19 ไร่ มูลค่าโครงการ 400 ล้านบาท ​และ โครงการ​ เวนิว โฟลว์ แจ้งวัฒนะ บ้านเดี่ยว 2 ชั้น 3 แบบ พื้นที่โครงการ 68-1-59 ไร่ มูลค่าโครงการ 1,710 ล้านบาท  จำนวน 254 ยูนิต ราคาเริ่ม 5-10 ล้านบาท   สำหรับการเปิดตัวโครงการใหม่  บริษัทได้เตรียมแคมเปญโปรโมชั่นผ่อนหนักให้เป็นฟรี “SC Super Free”เมื่อจองโครงการตั้งแต่วันนี้ – 31 พฤษภาคมนี้  และโอนกรรมสิทธิ์ภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ นายอรรถพล กล่าวยังได้กล่าวถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2563 นี้ว่า บริษัทมีรายได้รวม 3,313 ล้านบาท เติบโต 4% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเป็นรายได้จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย 3,071 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 93% ของรายได้รวม  ซึ่งแบ่งเป็นรายได้จากโครงการแนวราบ 1,829 ล้านบาท และรายได้จากโครงการคอนโดมิเนียม 1,243 ล้านบาท   ส่วนสัดส่วนอีก 7% เป็นรายได้จากการให้เช่าและบริการ  มีกำไรสุทธิ 301 ล้านบาท โดยมียอดขายรวม 1,982 ล้านบาท  ณ 31มีนาคม 2563 บริษัทและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์และหนี้สินรวม 47,035 ล้านบาท และ 29,142 ล้านบาทตามลำดับ ปัจจุบันมีโครงการที่เปิดขายต่อเนื่อง จำนวน 52 โครงการ มูลค่าคงเหลือเพื่อขายรวมกว่า 41,600 ล้านบาท แบ่งเป็นแนวราบ 44 โครงการ และคอนโด 8 โครงการ ทั้งนี้ บริษัทมีกำหนดจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ในอัตราหุ้นละ  0.19 บาท ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 3/2563 ที่มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล  
“ลิปตภัลลภ” ยุติธุรกิจรับเหมา ดัน PROUD ลุยพัฒนาอสังหาฯ  

“ลิปตภัลลภ” ยุติธุรกิจรับเหมา ดัน PROUD ลุยพัฒนาอสังหาฯ  

ตระกูล “ลิปตภัลลภ” หยุดธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เหตุกำไรต่ำ  หันมาลุยธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ แทน มั่นใจหลังปลดล็อกดาวน์ PROUD จะทำรายได้และยอดขายเติบโต แบบเทิร์นอะราวด์ เตรียมแลนด์แบงก์ 5 ไร่ที่หัวหิน ปั้นโปรเจ็กต์ 2,500 ล้าน   นายไพสิฐ แก่นจันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พราว เรียล เอสเตท จำกัด(มหาชน) หรือ PROUD เปิดเผยว่า ภายหลังกลุ่มลิปตภัลลภ เข้าลงทุนถือหุ้นใหญ่ บริษัทฯ จึงได้ปรับโครงสร้างธุรกิจด้วยการมุ่งเน้นพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และจะยุติธุรกิจเดิมในการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เนื่องจากมีอัตรากำไรค่อนข้างต่ำ   โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีโครงการภายใต้การพัฒนา 2 โครงการ คือ  “Focus Phloenchit” คอนโดมิเนียมเจาะตลาดระดับบน มูลค่าโครงการ 830 ล้านบาท และโครงการ InterContinental Residences Hua Hin ที่พักอาศัยระดับบนใน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มูลค่าโครงการ 3,515 ล้านบาท จำนวน 238 ยูนิต คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในไตรมาส 2 ของ ปี 2563 และจะเริ่มโอนรับรู้เป็นรายได้ปลายปี 2564  โดยเปิดตัวโครงการเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ขณะนี้มียอดขายแล้ว 66 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 1,200 ล้านบาท คาดว่าในปีนี้จะมียอดขายราว 1,500 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีที่ดินในมือรองรับการพัฒนาโครงการในอนาคตอีก 1 แปลง ขนาดพื้นที่ 5 ไร่ ตั้งอยู่ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มูลค่าโครงการ 2,500  ล้านบาท ในปี 2563 จะเป็นปีแห่งการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ  ภาพรวมผลประกอบการจึงอาจยังไม่สะท้อนธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เต็มที่นัก โดยคาดว่าช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จึงจะเริ่มรับรู้รายได้จากการขายในโครงการ Focus เพลินจิตเข้ามา และคาดว่าจะเพียงพอที่จะผลักดันให้ผลประกอบการทั้งปีของ PROUD เทิร์นอะราวด์ได้ ส่วนผลประกอบการงวดไตรมาส 1 ของปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้ 6.5 ล้านบาท มีผลขาดทุน 17.7 ล้านบาท เนื่องจากรับรู้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามปกติ นายไพสิฐ กล่าวทิ้งท้าย ถึงภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 ว่า การซื้อขายอาจชะงักชั่วคราวด้วยวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเดินทาง แต่คาดว่าภายหลังรัฐบาลปลดล็อกดาวน์  กำลังซื้อจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากบริษัทฯเจาะกลุ่มลูกค้าระดับบน ซึ่งเป็นกลุ่มที่แทบไม่ได้รับผลกระทบ และกลับมองว่าสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นตัวกระตุ้นให้คนมองหาที่พักอาศัยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่พักตากอากาศในแหล่งท่องเที่ยว เช่น หัวหิน ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการพัฒนาโครงการของบริษัทฯในปัจจุบัน
SENA ส่ง “ทาวน์โฮมติดโซลาร์” 1 กิโลวัตต์ รับกระแส Work Form Home

SENA ส่ง “ทาวน์โฮมติดโซลาร์” 1 กิโลวัตต์ รับกระแส Work Form Home

“SENA” รุกตลาดแนวราบชิงเปิด “ทาวน์โฮมติดโซลาร์” รายแรกในวงการอสังหาฯ ไทย เตรียมขาย มิ.ย.นี้ ชี้จุดเปลี่ยนหลังโควิดป่วน มาตรการ Work From Home กลายเป็น New Normal แต่โซลาร์จะเป็น Next New Normal ที่ช่วยตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คอนซูมเมอร์ได้ระยะยาว 25 ปี     ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA เปิดเผยว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้คำว่า Work From Home มีการพูดถึงกันมาก จนกลายเป็นความเคยชินของผู้คนทั่วโลกไปโดยปริยาย แนวโน้มการทำงานแบบไม่ต้องเข้าออฟฟิศเป็นสิ่งที่หลายบริษัทหันมาให้ความสนใจมากขึ้น แต่เรื่องค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นช่วงกลางวันก็จะยังเป็นปัญหาสำหรับคนทำงานที่บ้าน เพื่อเป็นการต่อยอดมาตราการ SENA Zero Covid เสนาจึงพัฒนานิวโปรดักส์ “ทาวน์โฮมติดโซลาร์”  รองรับความต้องการในการลดค่าใช้จ่ายระยะยาวให้กลุ่มลูกค้าที่สนใจสินค้าประเภทนี้ เพิ่มเติมจากเดิมที่ติดตั้งโซลาร์ที่บ้านเดี่ยวทุกหลังและส่วนกลางของคอนโดทุกโครงการ   เสนาดีเวลลอปเม้นท์ นับเป็นดีเวลลอปเปอร์รายแรกและรายเดียวที่มุ่งมั่นติดตั้ง Solar Rooftop ทุกโครงการ พร้อมด้วยบริการหลังการขายครบวงจร โดยเริ่มดำเนินการมาประมาณ 5 ปีแล้ว ช่วงวิกฤติโควิด-19 บริษัทฯ เตรียมพร้อมมาตรการที่จะดูแลลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดประกาศมาตรการ SENA Zero Covid #2 ตอบรับกระแส New Normal คือการทำงานที่บ้าน (Work From Home) จากค่าไฟฟ้าเพิ่ม ในขณะที่บางคนมีรายได้ที่ลดลง จากการที่บางบริษัทมีการปรับลดเงินเดือน หรือแม้กระทั่งเลิกจ้าง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่สูงมาก ยิ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก การติดตั้งโซลาร์สามารถตอบโจทย์วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป Next New Normal ที่จะช่วยลูกค้าประหยัด และลดค่าใช้จ่าย ระยะยาว 25 ปี   บริษัทพัฒนารูปแบบสินค้าใหม่และเตรียมเปิดตัวตามแผนงานที่วางไว้ในปี 2563 รุกตลาด “ทาวน์โฮม” ติดโซลาร์รายแรกของวงการอสังหาฯไทย เน้นกลุ่มคอนซูมเมอร์ระดับกลาง - ล่าง ขนาดติดตั้งโซลาร์ 1 กิโลวัตต์ ซึ่งเท่ากับการเปิดแอร์ และคอมพิวเตอร์ทำงาน ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าไฟเพิ่ม ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายสำหรับคนกลุ่มนี้  ภายใต้ชื่อโครงการ “เสนา วิลล์ ลำลูกกา คลอง 6” ทาวน์โฮม 2 ชั้น หน้ากว้าง 5.5 เมตร ที่ดินเริ่ม 22 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 138 ตารางเมตร 4 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ พร้อมที่จอดรถ 1 คัน ราคาเริ่ม 2 ล้านบาท กำหนดเปิดขายเดือนมิถุนายน 2563 ผศ.ดร.เกษรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันติดตั้งโซลาร์ทุกหลังทุกโครงการของเสนาฯ ถือเป็นมาตรฐานสินค้า หรือ Standard Product และไม่ใช่เพียงแค่ติดที่หลังคาบ้าน แต่ติดตั้งในพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้านและคอนโดมิเนียม มากกว่า 400 ครัวเรือน  1,000 กิโลวัตต์   อนึ่ง ทางเสนาดีเวลลอปเม้นท์ มีบริษัทในเครือ คือ บริษัท เสนา โซลาร์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ และเป็นผู้ให้บริการติดตั้งแบบครบวงจร (อีพีซี ) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการติดตั้งและการเจรจาสัญญา Private PPA : Private Power Purchase Agreement (สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างหน่วยงานเอกชนกับเอกชน)กลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรม  ประกอบด้วย BMW Millennium Auto Ladprao ,CJ supermarket 3 สาขา, สนามกอล์ฟ ริเวอร์เดล ,The nine พระราม 9 สนามกอล์ฟ ริเวอร์เดล MBK HO (มาบุญครอง) เป็นต้น
โกลเด้นแลนด์ ไม่หวั่นโควิด-19 เตรียมเปิดอีก 8 โปรเจ็กต์ 9,400 ล้าน

โกลเด้นแลนด์ ไม่หวั่นโควิด-19 เตรียมเปิดอีก 8 โปรเจ็กต์ 9,400 ล้าน

โกลเด้นแลนด์ ยังรักษาอัตรากำไรและทำรายได้ช่วง 3 เดือนแรกของปี 63  ใกล้เคียงไตรมาสก่อนหน้า แม้อยู่ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 หลังกลุ่มลูกค้าหันมาให้ความสนใจโครงการแนวราบ ทำงานแบบ Work Form Home และมีรายได้จากโครงการเชิงพาณิชย์หนุน  ครึ่งปีหลังยังเดินหน้าตามแผนเตรียมเปิดอีก 8 โครงการ มูลค่า 9,400 ล้านบาท   นายธนพล ศิริธนชัย ประธานอำนวยการ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้มีการปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในปี 2563 ซึ่งมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการบริหารกระแสเงินสด และการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน ซึ่งตลอดการปรับตัวตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังรักษาผลการดำเนินงานไว้ได้ทำให้พนักงาน คู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจได้รับผลกระทบน้อยที่สุด   โดยโกลเด้นแลนด์ มียอดรับรู้รายได้สำหรับรอบระยะเวลา 3 เดือนแรกของปีนี้  (1 มกราคม 2563 – 31 มีนาคม 2563) จำนวน 3,994 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า (1 ตุลาคม 2562 – 31 ธันวาคม 2562) และมีกำไรสุทธิกว่า 351 ล้านบาท แม้อยู่ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19  ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง  มียอดขายจากโครงการแนวราบ และค่าเช่าจากโครงการเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง สำหรับทิศทางของปี 2563 บริษัทวางแผนเปิดขายโครงการ นีโอโฮม จำนวน 5 โครงการ ทาวน์โฮม จำนวน 7 โครงการ และโครงการในต่างจังหวัด 1 โครงการ มูลค่ารวม 14,000 ล้านบาท และคาดการณ์รายได้จากโครงการเชิงพาณิชย์ 1,000 ล้านบาทจากอาคารสำนักงาน เอฟวายไอ เซ็นเตอร์ และมิตรทาวน์ ออฟฟิศ ทาวเวอร์ ที่ยังคงเปิดให้บริการได้ตามปกติท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 และศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ที่คาดว่าจะกลับมาเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบภายในเดือนมิถุนายน 2563   ส่วนภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จะเกิดความท้าทายจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ซึ่งจะแสดงให้เห็นชัดเจนจากผลการดำเนินงานในรอบเดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 แต่สำหรับบริษัทฯ ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ ยังคงมียอดขายโครงการแนวราบที่ดี เพราะลูกค้าหันมาสนใจโครงการแนวราบมากขึ้น โดยมียอดเข้าชมโครงการเพิ่มขึ้น 40-50% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากลูกค้ามีความจำเป็นต้องใช้จริงจากการปรับรูปแบบทำงานที่บ้าน (Work from home) ที่ต้องการพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัย และทำงาน โดยไม่รบกวนกันของสมาชิกในครอบครัว ต้องการพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น ฟังก์ชั่นของโครงการแนวราบจึงตอบโจทย์มากกว่าสินค้าประเภทอื่น   โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยอดขายกลับมามีแนวโน้มดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ได้ผลกระทบจากมาตรการ LTV ปัจจุบันบริษัทฯ มียอดขายสะสม (Backlog) ที่ 2,900 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้ทั้งหมดภายในปี 2563 โดยในครึ่งปีหลัง (กรกฎาคม – ธันวาคม) ของปี 2563 บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าเปิดโครงการนีโอโฮมอีก 4 โครงการ และโครงการทาวน์โฮมอีก 4 โครงการ มูลค่ารวม 9,400 ล้านบาท สำหรับธุรกิจอาคารสำนักงาน ถึงแม้ว่าหลายบริษัทฯ จะปรับตัวตามมาตรการระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ของภาครัฐ โดยการปรับให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work from Home) มากขึ้น แต่บริษัทฯ ยังเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ รูปแบบการทำงานที่ทำงาน (Work at Office) จะกลับมาเช่นเดียวกัน เพราะยังจำเป็นต้องใช้พื้นที่สำหรับการประชุม และการใช้พื้นที่ร่วมกันของพนักงาน โดยจะมีการปรับความยืดหยุ่นในการทำงาน (Work flexibility) มากขึ้น จึงคาดว่าจะไม่ทำให้ภาพรวมความต้องการพื้นที่สำนักงานลดลงจนเกิดผลกระทบ   ส่วนธุรกิจศูนย์การค้า ทางบริษัทฯ มีความพร้อมเปิดให้บริการสามย่านมิตรทาวน์ หากมีการประกาศจากภาครัฐให้สามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติก็สามารถเปิดให้บริการได้ใน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งระหว่างนี้ได้เตรียมความพร้อมในแนวทางการให้บริการให้เป็นไปตามมาตรการระยะห่างทางสังคม  เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีการคัดกรองผู้ใช้บริการ ตรวจวัดไข้ ทำความสะอาดในจุดสัมผัสต่างๆ เป็นอย่างดีแล้ว   นายธนพล กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าขณะนี้ สถานการณ์ภาวะวิกฤตโควิด-19 ของประเทศไทยจะดีขึ้น แต่คงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด  ความท้าทายกลับอยู่ที่การวางแผนหลังจากวิกฤตคลี่คลาย ในการปรับตัวไปสู่ New Normal เช่น มาตรการรองรับรูปแบบการขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อจัดการคิวจองซื้อบ้านในวันเปิดโครงการ การเปิดศูนย์การค้าอย่างระมัดระวัง และให้ความสำคัญกับมาตรการระยะห่างทางสังคม  เช่นเดียวกัน   บริษัทฯ มีความพร้อม และมั่นใจในการเดินหน้า ปรับตัวสู่ New Normal ที่สามารถรักษาผลการดำเนินงานของบริษัทให้มีความแข็งแกร่งอยู่ในระดับที่ไม่เกิดผลกระทบกับพนักงาน คู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจ  
EVER  โชว์ผลงานไตรมาสแรก  ยังเติบโตทั้งรายได้และกำไร หลังปรับการขายผ่านออนไลน์

EVER  โชว์ผลงานไตรมาสแรก  ยังเติบโตทั้งรายได้และกำไร หลังปรับการขายผ่านออนไลน์

EVER ฝ่ากระแสโควิด-19 ไตรมาสแรกปีนี้กวาดรายได้ 450 ล้าน  กำไรสุทธิ 16 ล้าน หลังได้อานิสงส์ทยอยโอนอสังหาฯ ในมือ ทั้งแนวสูง-แนวราบ  และการปรับกลยุทธ์ขายผ่านช่องทางออนไลน์ ไตรมาส 2 เตรียมเปิดโปรเจ็กต์ใหม่สร้างยอดขายต่อเนื่อง     นายสวิจักร์ โลจายะ ประธานกรรมการ บริษัท เอเวอร์แลนด์ จำกัด (มหาชน) (EVER) เปิดเผยว่า ผลประกอบการงวดไตรมาส1 ปี 2563  ของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ยังเติบโตทั้งด้านรายได้และผลกำไรสุทธิ โดย มีรายได้รวม 448 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 19.87 ล้านบาท ซึ่งเป็นกำไรในส่วนของที่เป็นบริษัทใหญ่ แม้จะปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19  ทำให้จำนวนของยอดผู้เข้าชมโครงการลดน้อยลง   โดยรายได้ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา  มาจากโครงการ เดอะโพลิแทน รีฟ เฟส 1 ซึ่งเป็นโครงการแนวสูงย่านสนามบินน้ำ ทยอยโอนรับรู้รายได้ในสัดส่วนกว่า 50 %  จากมูลค่าโครงการ 6,000 ล้านบาท และมาจากโครงการแนวราบ ได้แก่ โครงการทาวน์โฮม แบรนด์ “เอเวอร์ ซิตี้” จำนวน 3 โครงการที่ทยอยเปิดขายตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562 รวมทั้ง ยังมีการรับรู้รายได้จากการขายโครงการบ้านเดี่ยว แบรนด์  “มายโฮม อเวนิวและมายโฮมซิลเวอร์เลค ฯลฯ เข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม   ทั้งนี้ สถานการณ์วิกฤติไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ยอดผู้เข้าชมโครงการ (Walk in) ลดน้อยลง บริษัทฯจึงได้มีการปรับวิธีการขายด้วยการผ่านช่องทางออนไลน์ และการทำ Re-Marketing เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจให้กับลูกค้า ส่วนในแง่ของการขายเราก็มีการจัดเป็น Conference Call ลูกค้าคุยกับเซลล์ เพื่อดูวิวทิวทัศน์หรือดูบ้านพัก ผ่าน Video call เพื่อง่ายต่อการตัดสินใจของลูกค้า และยังมีภาพวิดีโอการขายแบบ 360 องศาให้ลูกค้าสามารถเก็บไว้ดูได้และเมื่อมีลูกค้าที่สนใจก็สามารถจองและชำระเงินผ่าน E-payment ได้เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว อีกทั้งเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐในเรื่อง Social D   ในส่วนไตรมาส 2 บริษัทเตรียมเปิดตัวโครงการบ้านเดี่ยว “ซิลเวอร์เลค พาร์ค” เฟส 2  บนถนนสุวินทวงศ์-ฉลองกรุง มูลค่าโครงการ 400 กว่าล้านบาท ราคาขาย 5 - 9 ล้านบาท ที่มีเพียง 67 หลังเท่านั้น  ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการพิจารณาเปิดตัวโครงการแนวราบ “ ทาวน์เฮ้าส์ “เอเวอร์ซิตี้ สุขสวัสดิ์ – พุทธบูชา 30  เฟส 2 เพิ่มเติมด้วย   สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ ในช่วงที่เหลือของปีนี้  คาดว่าน่าจะเติบโตได้ เนื่องจากมียอดขายรอโอน (Backlog) ณ สิ้นมีนาคมปี 2563  ประมาณ 5,000 ล้านบาท โครงการในมือ และโครงการใหม่ ๆ ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างเพื่อเปิดขายจะมีการทยอยโอนให้ลูกค้า และยังมีสินค้ารอขายอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท   บริษัทฯ คาดหวังว่าภาพรวมตลาดอสังหาฯ หลังผ่านวิกฤติไวรัสโควิด-19 มีโอกาสเกิดภาวะการปรับสู่จุดสมดุลมากขึ้น ทยอยฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง  ตลาดทาวน์เฮาส์ราคาไม่เกิน 4 ล้านบาท และตลาดบ้านเดี่ยว ยังเป็นตลาดของผู้ที่มีกำลังซื้อและเป็นตลาด Real Demand   ส่วนการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ก็น่าเริ่มกลับมาแบบค่อยๆเป็นค่อยๆไปมากกว่า เนื่องจากยังมีปัจจัยลบของเศรษฐกิจและการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ดังนั้นผู้ประกอบพยายามระบายสต็อกที่มีอยู่ และบริษัทฯให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการใหม่อย่างรอบคอบที่สุด     ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่​ 11 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมามีมติอนุมัติให้บริษัทย่อยเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยอนุมัติให้บริษัท บางกอก ริว่า ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (“BANGKOK RIVA”) เพิ่มทุนจดทะเบียนอีกจำนวน 500 ล้านบาท จากเดิมที่มีทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่ภายหลังการเพิ่มทุนจำนวน 1,000 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญจำนวน 50 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท เพื่อรองรับการลงทุนในธุรกิจการอสังหาฯ  และอนุมัติให้บริษัท เอเวอร์แลนด์ จำกัด (มหาชน) (“EVER”) เข้าเพิ่มทุนในบริษัท บางกอก ริว่า ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (“BANGKOKRIVA”) จำนวน 50 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท มูลค่ารวม 500 ล้านบาท  
DRT โชว์ผลงาน Q1 ยังทำกำไร แม้รายได้ลดลงกว่า 7%

DRT โชว์ผลงาน Q1 ยังทำกำไร แม้รายได้ลดลงกว่า 7%

DRT ใช้กลยุทธ์ Product Mix และบริหารต้นทุนสินค้า ฝ่าวิกฤกต COVID-19 ทำกำไรสุทธิไตรมาสแรกได้กว่า  168.20 ล้านบาท  แม้รายได้จะลดลงกว่า 7%  ขณะที่ไตรมาส 2 ลุ้นรัฐผ่อนคลายล็อกดาวน์ ร้านค้าวัสดุกลับมาเปิดบริการอีกครั้ง     นายสาธิต สุดบรรทัด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) หรือ DRT  ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตราสินค้า "ตราเพชร" เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2563 ที่ผ่านมาว่า บริษัทฯ ทำกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน 168.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่มีกำไร 165.62 ล้านบาท (ไม่รวมกำไรจากการขายที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์)   แม้ว่าในปีนี้จะมีปัจจัยลบจาก COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมให้ชะลอตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้รายได้จากการขายสินค้าและบริการในไตรมาสนี้อยู่ที่ 1,233.51 ล้านบาท ลดลง 7.20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีรายได้จากการขายและการบริการ 1,329.18 ล้านบาท ทั้งนี้ กำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น มาจากการบริหารต้นทุนการผลิตสินค้าต่อหน่วยอยู่ในระดับต่ำ โดยสามารถรักษาอัตราการเดินเครื่องจักรผลิตสินค้าเฉลี่ยมากกว่า 90% ของกำลังการผลิตรวม และบริหาร Product Mix หรือสัดส่วนการขายสินค้าได้ดี  ช่วยสนับสนุนอัตราการทำกำไรขั้นต้นได้ตามแผนงาน ประกอบกับ DRT มีจุดแข็งด้านช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย โดยร้านค้าตัวแทนจำหน่ายรายย่อยและตลาดส่งออก ที่มีสัดส่วนรวมกัน 70% ของรายได้ทั้งหมด ยังทำยอดขายไตรมาสแรกที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจ แม้ไตรมาสแรกปีนี้มีวิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง แต่เรายังสามารถผลักดันการเติบโตของกำไรสุทธิได้ เนื่องจากจุดแข็งของ DRT ที่มีการผลิตด้วยต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำ การบริหารสัดส่วนการขายสินค้าแต่ละประเภทได้ดีช่วยสนับสนุนการทำกำไรขั้นต้นได้ตามเป้า    ส่วนภาพรวมการดำเนินงานไตรมาส 2  ต้องติดตามสถานการณ์กำลังซื้อ  และบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด หากภาครัฐควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ดี และเริ่มผ่อนคลายการล็อกดาวน์ ธุรกิจบางประเภทเริ่มทยอยกลับมาเปิดดำเนินการได้บางส่วน โดยเฉพาะการเปิดบริการห้างค้าปลีกวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ จะส่งผลดีต่อยอดขายจากช่องทางจำหน่ายดังกล่าวฟื้นตัว ซึ่ง DRT ได้เตรียมสต็อกสินค้าไว้รองรับอย่างเพียงพอ ขณะที่ช่องทางขายผ่านร้านค้าตัวแทนจำหน่ายรายย่อย และตลาดส่งออกในไตรมาสนี้ ยังมีแนวโน้มทำยอดขายอยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อเนื่อง จากความต้องการใช้วัสดุก่อสร้าง เพื่อการปรับปรุงและซ่อมแซ่มบ้าน รวมถึงดีมานด์จากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่เริ่มฟื้นตัว ยกเว้นช่องทางลูกค้าโครงการที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน  
“แอสเสท เวิรด์” โดนพิษโควิด-19 ทุบกำไร-รายได้ไตรมาสแรกลด

“แอสเสท เวิรด์” โดนพิษโควิด-19 ทุบกำไร-รายได้ไตรมาสแรกลด

แอสเสท เวิรด์ เผยผลประกอบการไตรมาสแรก โดนพิษโควิด-19 ทุบรายได้และกำไรลดลง  เหตุนักท่องเที่ยวหาย ปิดโรงแรม-ศูนย์การค้า  มีกำไรลดลง 55.6% เหลือสุทธิ 108.2 ล้านบาท  และมีรายได้รวม 2,512.9 ล้านบาท ลดลง 30.6% จาก 3,623.0 ล้านบาท  พร้อมเดินหน้าธุรกิจต่อเนื่องด้วยมาตรการควบคุมและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่าย   นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ เป็นช่วงเวลาที่ท้าทายของทุกภาคส่วน ด้วยผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ที่มีแนวโน้มลดลงกว่า 80% (ข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยงต่างชาติที่มาเยือนประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) และมาตรการเข้มงวดจากทางภาครัฐ ในการปิดสถานประกอบการ ซึ่งรวมถึงโครงการศูนย์การค้า เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19   ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลให้ AWC ต้องประกาศมาตรการปิดให้บริการโรงแรม และอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้าต่างๆ ชั่วคราว รวมถึงมีมาตรการอื่นๆ เพื่อดูแลช่วยเหลือผู้เช่า ทำให้ AWC มีกำไรในไตรมาสแรกลดลงลดลง 55.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน หรือมีกำไรสุทธิ 108.2 ล้านบาท   อย่างไรก็ตาม AWC ยังคงได้รับประโยชน์ จากกลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลาย และสมดุลเชิงธุรกิจ (Balanced and Diversified Portfolio) ที่ช่วยกระจายความเสี่ยง ซึ่งเห็นได้ชัดจากธุรกิจอาคารสำนักงาน (Office) ที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานของสินทรัพย์ดำเนินงาน (พอร์ททรัพย์สินที่ดำเนินงานและไม่รวม โรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง และโรงแรมอิมพีเรียล หัวหิน ที่หยุดดำเนินงานเพื่อปรับปรุงโรงแรม ช่วงกลางปี 2562 รวมถึงรายได้จากค่าบริหาร และดอกเบี้ยรับจากบริษัทกลุ่มทีซีซี)   โดยในไตรมาส 1 ของปี 2563 AWC ยังคงมีกำไรจากการดำเนินงานของสินทรัพย์ดำเนินงาน อยู่ที่ 1,184.9 ล้านบาท ซึ่งแบ่งสัดส่วนเป็นธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) 38.8% ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการประกอบกิจการการค้า (Retail) 21.8% และธุรกิจอาคารสำนักงาน (Office) 39.4%   นอกจากนี้ AWC ได้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด (Cost Efficiency Initiatives) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ทำให้ค่าใช้จ่ายการบริหารส่วนกลางในช่วงไตรมาสแรก เท่ากับ 127.0 ล้านบาท ลดลง 37.1% จาก 202.0 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวมเท่ากับ 1,364.0 ล้านบาท ลดลง 22.1% จาก 1,572.1 ล้านบาท ส่งผลให้ AWC มีอัตราส่วนอีบิทดาต่อรายได้ (EBITDA Margin) เท่ากับ 38.8% ลดลงเพียง 0.7% แม้จะมีรายได้ลดลงจากเหตุผลข้างต้น และมีอัตรากำไรสุทธิ 4.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีอัตรากำไรสุทธิ 6.7% สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจต่างๆ กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) มีรายได้จากสินทรัพย์ดำเนินงานอยู่ที่ 1,534.6 ล้านบาท ลดลง 36.2% จาก 2,404.0 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศปรับตัวลดลงตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม รวมทั้งการจัดประชุมสัมมนาและจัดแสดงสินค้าต่างๆ หยุดชะงักตามนโยบายของรัฐบาล   กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail & Commercial) มีรายได้จากสินทรัพย์ดำเนินงาน  อยู่ที่ 1,014.3 ล้านบาท ซึ่งลดลง 10.9% จาก 1,138.5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากมาตรการลดหรือยกเว้นค่าเช่าชั่วคราว เพื่อช่วยเหลือดูแลผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเข้มงวดจากทางภาครัฐในการปิดสถานประกอบการต่างๆ เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19   โดย AWC มีนโยบายที่ต้องการให้พันธมิตรผู้เช่าสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในภาวะที่ยากลำบาก และเป็นพันธมิตรต่อเนื่องร่วมกันไปในระยะยาว อย่างไรก็ตาม กลุ่มอาคารสำนักงานยังคงสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงและต่อเนื่อง และช่วยรักษาระดับรายได้รวมของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ สะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์จากกลยุทธ์หลักของ AWC ที่มุ่งเน้นการลงทุนที่หลากหลายและสมดุลเชิงธุรกิจได้เป็นอย่างดี   นอกจากนี้ AWC ได้เข้าซื้อสินทรัพย์กลุ่ม 3 ณ วันที่ 1 มกราคม 2563 ด้วยมูลค่าลงทุนรวม 25,785.6 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการอสังสหาริมทรัพย์จำนวน 12 โครงการ ตามสัญญาซื้อขายหุ้นสินทรัพย์กลุ่ม 3 ปี 2562 ที่เพิ่มจำนวนห้องพักในโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้วรวม 989 ห้องในทันที และจะเพิ่มห้องพักอีกมากกว่า 2,500 ห้องจากโครงการที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงหรือพัฒนา พร้อมทั้งศักยภาพในการพัฒนาโครงการค้าปลีกในอนาคต ทำให้ AWC มีสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มูลค่า 124,921.4 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14.4% จาก 109,158.0 ล้านบาท เมื่อเทียบกับมูลค่าสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 “ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่มีความแน่นอน AWC จะยังคงดำเนินมาตรการควบคุมและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน และเพิ่มประสิทธิผลให้สอดคล้องไปกับแผนกลยุทธ์หลักทางธุรกิจขององค์กร รวมทั้งการพัฒนากลยุทธ์การตลาดให้ตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับบริษัท พนักงาน นักลงทุน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สู่เป้าหมายการเป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ก้าวหน้าและเติบโตต่อเนื่องอย่างยั่งยืน และผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 นี้ไปด้วยกันได้อย่างดีที่สุด”    
ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ชี้พิษโควิด-19 ทุบอสังหาฯ รายเล็ก เสี่ยงปิดตัว-ถูกเทคโอเวอร์

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ชี้พิษโควิด-19 ทุบอสังหาฯ รายเล็ก เสี่ยงปิดตัว-ถูกเทคโอเวอร์

ดีดี พร็อพเพอร์ตี้ ประเมินตลาดอสังหาฯ  โดนผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทุบราคาดิ่ง  ดีเวลลอปเปอร์เร่งระบายสต็อกของเก่า ลดเปิดโปรเจ็กต์ใหม่ ราย เล็ก น่าห่วงอาจปิดตัวหรือโดนเทคโอเวอร์ ชี้หลังผ่านพ้นวิกฤต บ้าน-คอนโดฯ ต้องปรับรูปแบบสอดคล้องกับ New Normal ผู้บริโภค   นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เปิดเผยว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2563 จะเป็นปีของการระบายสินค้าคงค้าง ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากจะส่งผลให้ราคาและจำนวนของอสังหาฯ ลดลงแล้ว ยังจะสร้างจุดเปลี่ยนของทั้งพฤติกรรมการขายของผู้ประกอบการ และพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค รวมไปถึงความต้องการที่อยู่อาศัยและสินค้าของตลาดอสังหาฯ ด้วย​ เนื่องจากผลกระทบทั้งโควิด-19 ผนวกกับสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ผู้บริโภคหันไปมองตัวเลือกที่ตรงกับความต้องการ  และความเป็นจริงมากที่สุด โดยเมื่อประเมินสถานการณ์อสังหาฯ หากวิกฤติโควิด-19 ยังดำเนินต่อไป จะเป็นงานหนักสำหรับดีเวลลอปเปอร์ โดยเฉพาะรายเล็ก และเมื่อภาคธุรกิจขาดสภาพคล่อง จะเริ่มเห็นแนวโน้มการปิดตัวลงของ ดีเวลลอปเปอร์รายเล็ก รวมถึงการเทคโอเวอร์จากดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่ด้วย ในส่วนของผู้บริโภค  จากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้เม็ดเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคลดลง ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ชะลอการตัดสินใจซื้ออสังหาฯ  และจะกระทบต่อตลาด อสังหาฯ มากขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม หากสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้ และจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงจนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ประเมินว่าจะเห็นแนวโน้มที่แต่ก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นตั้งแต่ในไตรมาส 2 เป็นต้นไป แม้ว่าสภาพตลาดโดยรวมจะไม่สดใสมากนัก   เนื่องจากผู้บริโภคปรับตัวให้รับกับสถานการณ์ แต่จะเห็นว่าทุกอย่างจะกลับมาดีขึ้นอย่างชัดเจนในไตรมาส 3 โดยผู้ประกอบการหลายรายจะดำเนินกิจกรรมทางการตลาด เพื่อกระตุ้นตลาดและธุรกิจ และคาดว่าจะดีที่สุดในไตรมาส 4 เพราะภาครัฐน่าจะหันกลับมาพิจารณาให้ความสำคัญกับภาคอสังหาฯ โดยมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมและผ่อนปรนต่าง ๆ ออกมาเพื่อสนับสนุนให้อสังหาฯ ยังคงเดินต่อไปได้ โควิด-19 ต้นเหตุซัพพลายใหม่-ราคาลด จากการระบายสต๊อกคงค้างที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ผนวกกับสถานการณ์โควิด-19 ช็อคทำให้ซัพพลายใหม่ที่จะออกสู่ตลาดลดลงจากเฉลี่ยปีละกว่า 50,000 ยูนิต เหลือเพียงไม่เกิน 30,000 ยูนิต ส่งผลให้ยอดสะสมของคอนโดมิเนียมลดลง ถือเป็นการปรับฐานใหม่อีกครั้งสำหรับอสังหาฯ ในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังทำให้ราคาอสังหาฯ ปรับตัวลดลงอย่างมากด้วย   สอดคล้องกับรายงาน DDproperty Thailand Property Market Index ฉบับล่าสุด ที่พบว่า ในไตรมาสแรกของปี 2563 ตลาดอสังหาฯ ของไทยชะลอตัวลงทั้งด้านราคาและปริมาณ โดยดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับตัวลดลง 9% ในขณะที่ดัชนีปริมาณลดลง 3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน   คาดว่าในไตรมาส 2 ผู้ประกอบการอสังหาฯ จะยังคงชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ โดยเฉพาะรายกลางและรายเล็ก เพื่อเร่งระบายสินค้าที่มีอยู่ในตลาดก่อน โดยเฉพาะสินค้าระดับราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งมีอยู่ในตลาดถึง 75% ของปริมาณสินค้าทั้งหมด สินค้าใหม่เน้นความเป็นส่วนตัวและตอบโจทย์ WFH นอกจากจำนวนซัพพลายที่ลดลงแล้ว ยังจะทำให้เกิด New Normal หรือสภาวะปกติรูปแบบใหม่ ในภาคอสังหาฯ ด้วย คือการใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น มีการทำงานที่บ้านหรือ Work From Home ทำให้เห็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งานของที่อยู่อาศัย ไปจนถึงการออกแบบที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ใหม่ไปด้วย   ภาพที่จะเห็นในอนาคตคือ การพัฒนาและปรับเปลี่ยนเรื่องฟังก์ชันภายในที่พักอาศัย เช่น ให้ความสำคัญกับห้องทำงานมากพอกับห้องนอน หรือพื้นที่ส่วนกลางของคอนโดฯ ที่ก่อนหน้านี้ให้ความสำคัญกับ Co-working space หรือ Co-kitchen แต่โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภครักษาระยะห่างมากขึ้นและใส่ใจเรื่องความสะอาดมากกว่าเดิม   สินค้าใหม่ของดีเวลลอปเปอร์ที่จะผลิตออกมา จะชูจุดขายเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว เช่น ห้องครัว หรือห้องทำงาน แบบรองรับคนเพียงคนเดียว จะเป็นรูปแบบที่ถูกได้รับความสำคัญมากอย่างยิ่ง รวมถึงการให้น้ำหนักไปกับ Living Room หรือห้องทำงานมากกว่าห้องนอน เพราะเมื่อคนทำงานอยู่ที่บ้าน มักใช้เวลาในห้องเหล่านี้มากกว่าห้องนอน    
“ออริจิ้น” เผยความำกลยุทธ์ Online-Merge-Offline กวาดยอดขาย 1,700 ล้าน

“ออริจิ้น” เผยความำกลยุทธ์ Online-Merge-Offline กวาดยอดขาย 1,700 ล้าน

“ออริจิ้น” เผยความสำเร็จกลยุทธ์ Online-Merge-Offline ขายบ้าน-คอนโด ผ่านสื่อออนไลน์ สร้างยอดขายเดือนเมษายนกว่า 1,700 ล้านบาท สูงสุดของเดือนเมษายนในทุกปีที่ผ่านมา  พร้อมเดินหน้าสร้าง Full Services of Online Journey ต่อเนื่องในไตรมาส 2    นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI  เปิดเผยว่า ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทสามารถสร้างยอดขายได้กว่า 1,700 ล้านบาท  ซึ่งถือว่าเป็นยอดขายที่สูงที่สุดของเดือนเมษายนของปีที่ผ่านๆ มา  โดยยอดขายดังกล่าวแบ่งเป็น ยอดขายจากโครงการในกลุ่มธุรกิจคอนโดมิเนียมกว่า 1,100 ล้านบาท และยอดขายจากกลุ่มธุรกิจบ้านจัดสรรกว่า 600 ล้านบาท   “ตามปกติแล้ว เดือน เม.ย.จะเป็นเดือนที่ผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาฯ ไม่ค่อยคาดหวังมากนัก เนื่องจากเป็นเดือนที่มีวันหยุดค่อนข้างมาก ผู้บริโภคนิยมนำเงินไปใช้จ่ายกับเรื่องอื่นๆ ผู้ประกอบการเองก็ไม่สามารถจัดอีเวนท์กระตุ้นการขายได้มากนัก แต่สถานการณ์ COVID-19 ในปีนี้ ทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้จ่ายกับสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตมากขึ้น ยอดขายที่ออกมาสูงเป็นประวัติการณ์ในครั้งนี้ สะท้อนว่าผู้บริโภคยังคงเลือกใช้จ่ายกับที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นปัจจัย 4 และเราสามารถปรับตัวได้ค่อนข้างเร็วในการช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น” ทั้งนี้ ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ออริจิ้นได้หันมาใช้กลยุทธ์ Online-Merge-Offline (OMO) นำการขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์มาเชื่อมโยงกันแบบไร้รอยต่อ นำโครงการที่อยู่อาศัยของออริจิ้นมาวางจำหน่ายบนแพลทฟอร์มออนไลน์ อาทิ LINE Official Account (LINE OA) ภายใต้ชื่อ @Origin Property และ @PARK LUXURY, Lazada, Shopee พร้อมทั้งจัดแคมเปญ “Always Online” ให้ผู้บริโภคสามารถจองโครงการคอนโดมิเนียมในเครือ 15 โครงการ ในราคาเพียง 1,999 บาท ขณะเดียวกัน ยังเชื่อมโยงทุกประสบการณ์ทั้งการหาข้อมูล การจอง การทำสัญญา การตรวจห้อง การโอนกรรมสิทธิ์ ให้มาทำผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์   นายพีระพงศ์ กล่าวอีกว่า ในไตรมาส 2 นี้ บริษัทจะยังคงมุ่งมั่นกับการพัฒนาบริการบนช่องทางออนไลน์แบบครบวงจร เพื่อให้เกิด Full Services of Online Journey ตอบโจทย์พฤติกรรมที่เป็นความปกติแบบใหม่ หรือ New Normal ของผู้บริโภค และติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้พร้อมรับมือได้ทุกสถานการณ์ สร้างทั้งความสุข ความปลอดภัย และความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค   ที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์ COVID-19 ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ได้ออกมาตรการทั้งเชิงรุกและเชิงรับ เพื่อช่วยเหลือสังคมและลูกบ้านออริจิ้นกว่า 20,000 ครอบครัว อาทิ การบริจาคเงินและอุปกรณ์ทางการแพทย์รวมมูลค่ากว่า 1 ล้านบาทให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ การออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในพื้นที่โครงการ การจับมือกับโรงพยาบาลสมิติเวช เชื่อมโยงระบบ Samitivej Virtual Hospital เข้ากับแอปพลิเคชั่นสำหรับลูกบ้าน Origin Connect เพื่อให้ลูกบ้านสามารถปรึกษาแพทย์ผ่านทางออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมง การจับมือกับเชนร้านอาหารชื่อดังตระเวนไปให้บริการแก่ลูกบ้านตามโครงการต่างๆ การบริการฉีดพ่นฆ่าเชื้อไวรัส COVID-19 ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีมาตรการดูแลบุคคลที่สนใจจะมาเป็นลูกบ้านออริจิ้น ทั้งการเพิ่มแพลทฟอร์มออนไลน์ให้ทำธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างครบวงจร การจัดระบบ Private Visit อำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่จำเป็นต้องเข้ามาที่สำนักงานขายโครงการ  
พฤกษา ขน 167 โครงการ จัดแคมเปญอยู่ ฟรี 24 เดือน

พฤกษา ขน 167 โครงการ จัดแคมเปญอยู่ ฟรี 24 เดือน

พฤกษา ขนทาวน์โฮม บ้านเดี่ยว คอนโด 167 โครงการ จัดแคมเปญอยู่ฟรี 24 เดือน พร้อมรับส่วนลดกว่าล้าน และฟรีทุกค่าใช้จ่าย กระตุ้นยอดขายช่วงไวรัสโควิด-19   นางสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ พบว่า ความต้องการที่อยู่อาศัยในตลาดยังมีสูง  พฤกษาจึงต้องการช่วยแบ่งเบาความกังวลใจของลูกค้าในการซื้อที่อยู่อาศัย จึงได้จัดแคมเปญพิเศษ สำหรับลูกค้าที่จองและโอนกรรมสิทธิ์โครงการทาวน์โฮม บ้านเดี่ยว และคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ของพฤกษา จำนวน 167 โครงการ ที่เข้าร่วมแคมเปญ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2563 จะได้โปรโมชั่นฟรีทุกค่าใช้จ่าย โดยหากลูกค้าจองทาวน์โฮมแบรนด์บ้านพฤกษา พฤกษาวิลล์ เดอะคอนเนค และพาทิโอ จำนวน 98 โครงการที่เข้าร่วมรายการ  รับสิทธิ์ พฤกษาผ่อนให้นานสูงสุด 24 เดือน รับส่วนลดเพิ่มสูงสุดกว่า 1 ล้านบาท ฟรีทองคำหนัก 1 บาท ฟรีทุกค่าใช้จ่ายวันโอนกรรมสิทธิ์   หากจองบ้านเดี่ยวแบรนด์เดอะแพลนท์ เนเชอร่า ดีไลท์ ภัสสร  และเดอะปาล์ม และคอนโดมิเนียมแบรนด์ พลัมคอนโด เดอะทรี เดอะไพรเวซี่ แชปเตอร์วัน และเดอะรีเซิร์ฟ จำนวน 69 โครงการที่เข้าร่วมรายการ รับสิทธิ์ พฤกษาผ่อนให้ 24 เดือน รับส่วนลดเพิ่มสูงสุดกว่า 1 ล้านบาท และฟรีทุกค่าใช้จ่ายวันโอนกรรมสิทธิ์ โดยโปรโมชั่นจะเป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละโครงการกำหนด  ทั้งนี้ พฤกษามีโครงการที่อยู่อาศัยที่เข้าร่วมโครงการหลายระดับราคา และมีทำเลที่ครอบคลุมทั่วเขตกรุงเทพและปริมณฑล สำหรับลูกค้าที่มีความกังวลไม่อยากออกจากบ้านในช่วงนี้ ทางบริษัทฯ ได้พัฒนาแพลตฟอร์มทางออนไลน์โดยสามารถเยี่ยมชมโครงการ จอง และชำระเงินทางออนไลน์เสมือนมาที่โครงการได้ หรือหากลูกค้าต้องการชมบ้านตัวอย่างและชมบรรยากาศโครงการจริง สามารถนัดหมายเข้าชมโครงการได้ ทั้งนี้ มุ่งหวังให้คนไทยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์แบบนี้ จึงได้ออกแคมเปญช่วยให้ลูกค้าสามารถมีบ้านได้ง่ายขึ้นแบบไร้กังวล
แสนสิริ ผ่อนให้ 24 เดือน ดันยอดขายรวม 4 เดือนพุ่ง 17,300 ล้าน

แสนสิริ ผ่อนให้ 24 เดือน ดันยอดขายรวม 4 เดือนพุ่ง 17,300 ล้าน

แสนสิริ ผ่อนให้ 24 เดือน ออกฤทธิ์ ดันยอดขายเดือนเมษายนทะลุ 6,300 ล้านบาท เติบโตสวนกระแสตลาด  คาดครึ่งปีแรกทำยอดขายได้ตามเป้าหมาย 23,000 ล้าน หลัง 4 เดือนแรกตุนยอดไว้แล้วกว่า 17,300 ล้าน  พร้อมเดินหน้าเปิด 7 โปรเจ็กต์ใหม่ 6,000 ล้าน     นายอุทัย  อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เปิดเผยว่า แสนสิริสามารถสร้างยอดขายจากโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ ในเดือนเมษายน 2563 ได้สูงถึง 6,300 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นยอดขายที่สูงกว่าระดับปกติ ที่เคยทำได้ในระยะเวลาหนึ่งเดือน รวมทั้ง ยังโตสวนสภาวะตลาดที่มีความผันผวนสูง ในสถานการณ์ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด – 19  ส่งผลให้แสนสิริมียอดขายพรีเซลล์รวมล่าสุดอยู่ที่ 17,300 ล้านบาท ในระยะเวลาเพียง 4 เดือน  ใกล้กับเป้ายอดขายครึ่งปีแรกที่วางไว้ 23,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เติบโตขึ้นกว่า 100% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา   ทั้งนี้ จากการประเมินความสำเร็จที่เกิดขึ้น มาจากการความเชื่อมั่นในแบรนด์ แสนสิริ ที่มุ่งมั่นพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง รวมทั้ง การการส่งมอบแคมเปญที่เข้าใจใน Customer Insight จากสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์  กลุ่มลูกค้ายังคงมีความต้องการที่อยู่อาศัยต่อเนื่อง และมีการตัดสินใจซื้อมากขึ้น   โดยสถานการณ์ โควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต บริษัทจึงได้จัดแคมเปญ “แสนสิริผ่อนให้ 24 เดือน” ที่ถือว่าสามารถตอบรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด เพราะลูกค้าจองซื้อที่อยู่อาศัยแล้ว ไม่ต้องจ่ายทั้งต้นทั้งดอกเป็นเวลา 2 ปี ลูกค้านำเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่นตามต้องการได้ ไม่ต้องกังวลกับสภาพเศรษฐกิจ ส่งผลให้ลูกค้าให้การตอบรับสูงและรวดเร็ว ล่าสุด บริษัทยังได้ปิดการขายอีก 7 โครงการต่อเนื่อง ทั้งแนวราบและแนวสูง มูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท  แบ่งเป็น 5 โครงการแนวราบ ได้แก่ บ้านเดี่ยวในโครงการบุราสิริ ราชพฤกษ์ – 345 ทาวน์โฮมแบรนด์สิริเพลส โครงการ สิริ เพลส ราชพฤกษ์ – รัตนาธิเบศร์, สิริ เพลส ติวานนท์ และสิริ เพลส กัลปพฤกษ์ – สาทร รวมถึง ช้อปเฮาส์ในโครงการสิริ อเวนิว เพชรเกษม 81   นอกจากนี้ ยังปิดการขาย 2 คอนโดมิเนียม แบรนด์ดีคอนโด ได้แก่ ดีคอนโด แคมปัส รีสอร์ท กู้กู ภูเก็ต และโครงการดีคอนโด กำแพงแสน  ตั้งอยู่ใกล้ ม.เกษตร กำแพงแสน ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้า  โดยมีสัดส่วนกลุ่มลูกค้าที่ซื้อเพื่อลงทุนสูงถึง 80%  ซึ่งอัตราผลตอบแทนต่อการปล่อยเช่า หรือ Yield คาดว่าจะมีประมาณ 5 – 6.4% ในราคาขายเฉลี่ยเพียง 58,000 บาทต่อตารางเมตร แสนสิริยังเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าซื้อบ้านได้สะดวกที่สุด ในช่วงล็อคดาวน์ โดยทุ่มทำ digital marketing พร้อม Virtual Sales Gallery ดูบ้านตัวอย่างได้ทาง YouTube โดยลูกค้าสามารถ chat ผ่าน Line และ Facebook เพื่อคุยกับเจ้าหน้าที่ และซื้อผ่าน online booking ได้ทันที พร้อมยังมีการยกระดับความสะอาดและความปลอดภัยเพื่อให้ลูกค้าเข้าชมโครงการด้วยความมั่นใจ คุมเข้มด้วยมาตรการ “Sansiri Care for All… เพราะเราห่วงใย” พร้อมบริการ Private Tour เพื่อให้ไม่ต้องปะปนกับผู้อื่น
ESTAR เปิด 5 โครงการ 6,000 ล้าน ชู “ควินทารา” เรือธงปั๊มรายได้

ESTAR เปิด 5 โครงการ 6,000 ล้าน ชู “ควินทารา” เรือธงปั๊มรายได้

ESTAR ปี 2563 เปิดตัวโครงการใหม่ 5 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท ทั้งกรุงเทพฯ​ และต่างจังหวัด พร้อมปั้นแบรนด์ “ควินทารา” เรือธงหลักสร้างรายได้ เตรียมปรับแผนรับรู้รายได้ใหม่หลังเจอพิษไวรัสโควิด-19   ดร.ต่อศักดิ์ เลิศศรีสกุลรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ ESTAR เปิดเผยถึงแผนธุรกิจในปี 2563 ว่า บริษัทฯ วางแผนเปิดตัวโครงการใหม่ ประมาณ 4-5 โครงการ มูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน  2-3 โครงการ  เป็นการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมภายใต้แบรนด์ “ควินทารา” (QUINTARA) อาทิ ควินทารา คีเนท รัชดา 12 และ ควินทารา ภูม สุขุมวิท 39  ซึ่งตั้งอยู่บนทำเลแนวเส้นทางรถไฟฟ้าทั้ง BTS และ MRT มีระดับราคา 3-7 ล้านบาท จับกลุ่มเป้าหมายกลาง-บน   นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาโครงการแนวราบ ภายใต้แบรนด์ควินทารา อีก 2 โครงการ ในพื้นที่อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยองด้วย  ซึ่งบริษัทฯ วางเป้าหมายที่จะใช้แบรนด์ควินทารา เป็นแบรนด์ที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัทฯ ในปีนี้   ส่วนเป้าหมายรายได้ในปี 2563 เดิมบริษัทตั้งเป้าหมายรายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์โครงการประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาท และยอดขายราว 1,500-2,000 ล้นบาท แต่จากผลกระทบของวิกฤตไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้บริษัทฯ อาจจะต้องมาปรับแผนรับรู้รายได้และยอดขายใหม่อีกครั้งอีกครั้ง เบื้องต้นคาดว่าหลังไตรมาส 2 ของปีนี้ น่าจะเห็นความชัดเจนอีกครั้ง   โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มียอดขายประมาณ 1,500 ล้านบาท และมียอดรับรู้รายได้รวม 1,300 ล้านบาท ขณะที่มียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) กว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยโอนกรรมสิทธิ์และรับรู้รายได้ภายในปีนี้มูลค่า 1,500 ล้านบาท  ส่วนที่เหลือจะรับรู้รายได้ในปีต่อไป   ปัจจุบันบริษัทมีโครงการอยู่ระหว่างการขาย อาทิ  โครงการควินทารา อาเท่ สุขุมวิท 52 คอนโดฯ Low Rise สูง 8 ชั้น 1 อาคาร จำนวน 154 ยูนิต ประกอบด้วยห้องชุดแบบ Fully Furnished ขนาด 1 ห้องนอน พื้นที่ตั้งแต่ 28.00-51 ตารางเมตร และขนาด 2 ห้องนอน พื้นที่ 56.00 ตารางเมตร มูลค่าโครงการประมาณ 600 ล้านบาท ปัจจุบันมียอดขาย 80% และแบรนด์เอสทารา จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการเอสทารา เฮเว่น พัฒนาการ 20 เป็นบ้านแฝด 3 ชั้น และทาวน์โฮม 3.5 ชั้น พื้นที่โครงการ 21 ไร่ ขนาดพื้นที่ใช้สอย 200-220 ตารางเมตรต่อหลัง จำนวน 152 ยูนิต ราคาขายเริ่มต้น 7.89 ล้านบาท มูลค่าโครงการกว่า 1,500 ล้านบาท  ปัจจุบันมียอดขายแล้ว 50%   ดร.ต่อศักดิ์ กล่าวอีกว่า บริษัทฯ กำลังก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 4 ปีนี้จึงได้เตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างรูปแบบการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายครบวงจร และตอบโจทย์ความต้องการของผู้อยู่อาศัย จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ อาทิ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการบริการอาหารและเครื่องดื่มผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ 7-11 และบริษัท บ๊อก 24 จำกัด ในการนำระบบ Smart Locker ที่ให้บริการทั้งการส่งซักรีด ส่งพัสดุ สั่งสินค้าจากซุปเปอร์มาร์เก็ตและการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ  โดยปัจจุบันได้มีการให้บริการกับลูกบ้านของโครงการควินทารา ทรีเฮ้าส์ สุขุทวิท 42   นอกจากนี้ ภายในปีนี้บริษัทจะเริ่มนำระบบ Car Sharing หรือระบบการเช่ารถใช้เดินทางไปกลับโดยคิดค่าใช้จ่ายเป็นรายวันหรือรายชั่วโมงเพื่อลดความจำเป็นในการมีรถส่วนตัวโดยจอดไว้บริเวณหน้าโครงการเพื่อความสะดวกของลูกบ้านผู้พักอาศัย  ซึ่งเป็นความร่วมมือกับบริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด รวมถึงการร่วมมือกับบริษัท ทเวนตี้โฟร์ ฟิกซ์ จำกัด ในการเข้ามาเป็นพันธมิตรการช่วยดูแล ซ่อมแซม และบำรุงรักษาบ้านหรือห้องชุดให้กับลูกค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมดของบริษัทอย่างครบวงจรโดยสามารถเรียกใช้งานผ่าน Application ตลอด 24 ชม. ส่วนแนวทางการทำตลาดในปีนี้  บริษัทได้เพิ่มช่องทางขายแบบ 24 Hrs. online booking พรีเซลแบบออนไลน์ 100 % เพื่อเปิดขายทางช่องทางออนไลน์ 24 ชม. และมีการทำ VR360 องศา (Virtual Reality) ของห้องตัวอย่างเหมือนจริง ส่งให้ลูกค้าชมห้องตัวอย่างที่บ้านได้ง่าย โดยไม่ต้องเดินทางมาเซลล์ออฟฟิศ เพื่อเป็นการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ ไวรัส โควิด-19 ด้วย   ดร.ต่อศักดิ์ กล่าวให้มุมมองต่อทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ว่า เป็นปีที่ผู้ประกอบการ ต้องปรับตัวอย่างมากเพราะนอกจากสภาพเศรษฐกิจที่ค่อนข้างซึมเซา ยังมีปัจจัยลบที่ค่อนข้างรุนแรงคือไวรัส โควิด-19 ตั้งแต่ต้น ปีที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย และอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมไปถึงการลงทุนในตลาดคอนโดฯ ของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนที่หดตัว รวมทั้งความหวาดกลัวต่อสถานการณ์ของลูกค้าชาวไทยเอง   อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าปีนี้จะมีปัจจัยบวกอยู่บ้าง อาทิ การผ่อนปรนมาตรการ LTV , อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำค่อนข้างมาก และมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% สำหรับบ้านในตลาดเรียลดีมานด์ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท แต่ภาพรวมปีนี้ผู้ประกอบการยังต้องทำงานหนักขึ้น เพราะต้องแข่งขันกับจำนวนยูนิตที่คงค้างอยู่ในตลาด และบรรยากาศความกังวลของลูกค้าโดยทั่วไป   ปีนี้ เป็นโอกาสทองของผู้บริโภคและนักลงทุน  ที่สามารถซื้อที่อยู่อาศัย ในหลายทำเล ที่มีศักยภาพได้ในราคาไม่แพง