Tag : News

2376 ผลลัพธ์
สิงห์ เอสเตท เจอพิษโควิด-19 ปรับเป้ารายได้ลง 50% เหลือ 9,000 ล้าน

สิงห์ เอสเตท เจอพิษโควิด-19 ปรับเป้ารายได้ลง 50% เหลือ 9,000 ล้าน

สิงห์ เอสเตท หั่นเป้ารายได้ 50% เหลือ 9,000 ล้าน แต่ยังทุ่มงบลงทุน 5,000 ล้าน พร้อมเดินหน้าตามแผนธุรกิจ 5 ปี เพิ่มโรงแรมทั่วโลกแห่ง 80 แห่ง สร้างการเติบโตและมุ่งหน้าสู่ “โกลบอล โฮลดิ้ง คอมปานี”   แม้ว่าปีนี้ประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจที่ทำให้ ต้องหยุดการทำธุรกรรมต่าง ๆ แน่นอนว่าต้องทำให้ยอดขายและรายได้ลดลง แต่อาจจะมีบางธุรกิจหรือบางบริษัทที่ยังคงรักษาการเติบโตและรายได้เอาไว้ได้  หลังจากปรับตัวและปรับกลยุทธ์แสวงหาโอกาสภายใต้วิกฤตที่เกิดขึ้น   สำหรับบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S ก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวเช่นกัน ทำให้จำเป็นต้องปรับเป้าหมายรายได้รวมในปี 2563 ลดลงประมาณ 50% หรือมีมูลค่า 9,000 ล้านบาท จากเป้าหมายที่คาดว่าจะทำได้ 18,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ลดลงมาจากช่วงต้นปี ที่ได้ประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะทำรายได้ 20,000 ล้านบาท     นายนริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตทฯ เปิดเผยว่า สิงห์ เอสเตท ยังคงเดินหน้าลงทุนตามแผนธุรกิจเดิมในระยะเวลา 5 ปี (2563 – 2567) ด้วยงบลงทุน 68,000 ล้านบาท ด้วยกลยุทธ์เติบโตอย่างยั่งยืน  แต่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน จึงได้มีการปรับเป้ารายได้รวมในปีนี้ลดลง ซึ่งคาดว่าสถานการณ์ภาพรวมตลาด จะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้   บริษัทหวังเป็นอย่างยิ่งว่าวิกฤตโควิด-19 จะผ่านพ้นไปโดยเร็ว และภายหลังวิกฤต เราเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนใหม่ๆที่น่าสนใจพร้อมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเราจะพิจารณาลงทุนตามความเหมาะสมและมีเกณฑ์ที่เข้มงวดในการตัดสินใจลงทุน เพื่อให้ได้สินทรัพย์ที่มีคุณภาพและโอกาสเพิ่มมูลค่าในอนาคต โดยแผนการลงทุนระยะ 5 ปี จะมุ่งเน้นใน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจที่พักอาศัย ธุรกิจอาคารสำนักงาน และธุรกิจโรงแรม 1.เดินแผนปั้นโปรเจ็กต์ปีละ 5-7 โครงการ โดยแผนการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในระยะ 5 ปี บริษัทยังพัฒนาโครงการปีละ 5-7 โครงการ และยังมุ่งขยายการพัฒนาโครงการที่พักอาศัย ไปในทำเลรอบเมือง  ภายใต้คอนเซปต์ “New Living and Working” เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงความต้องการของกลุ่มลูกค้าในอนาคต เนื่องจากมองเห็นโอกาสในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ที่จะขยายตัวออกจากเมืองไปยังทำเลใหม่ๆ ตามการขยายตัวของระบบขนส่งมวลชน และโครงข่ายถนน ซึ่งจะเป็นโครงการแนวราบในรูปแบบมิกซ์ยูส อันประกอบไปด้วย บ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม รีเทล ออฟฟิศแนวราบ  ตลอดจนโครงการที่อยู่อาศัยแบบ Wellness จะเป็นสิ่งใหม่ๆ ที่มีโอกาสเกิด 2.เพิ่มพื้นที่สำนักงาน 300,000 ตร.ม. ใน 5 ปี โดยในช่วงไวรัสโควิด-19 ธุรกิจนี้ได้รับผลกระทบไม่มากนัก ซึ่งบริษัทได้ลดค่าเช่าให้กับผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบ และการปรับปรุงคุณภาพด้านสุขอนามัย โดยติดตั้ง Touchless Solution และ UV ในระบบปรับอากาศเพื่อตอบโจทย์ New Normal ให้กับผู้เช่าอาคาร  รวมถึงมองหาผู้เช่าใหม่ๆ ที่อยู่ในธุรกิจที่มีการเติบโตดี เช่น E-commerce, Technology และ Consumer Product   ขณะเดียวกันยังคงเป้าหมายขยายพื้นที่สำนักงาน 300,000 ตารางเมตร ในระยะเวลา 5 ปี  ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตจะยังคงมีความต้องการพื้นที่สำนักงานอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ โดยบริษัทเตรียมนำเสนอพื้นที่สำนักงานรูปแบบใหม่ “Workspace Solution” ซึ่งมีหลายรูปแบบและหลายทำเล ทั้งอาคารขนาดใหญ่ อาคารขนาดกลาง  ออฟฟิศแนวราบ 3.ขยายโรงแรมเป็น 80 แห่ง สำหรับธุรกิจโรงแรมยังตั้งเป้าขยายจำนวนโรงแรมจาก 39 โรงแรมเป็น 80 โรงแรม ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในระยะ 5 ปี โดยมุ่งเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวในระดับบน (Upper Upscale Segment) และมอบประสบการณ์การพักผ่อน ในรูปแบบที่แตกต่างและสร้างสรรค์ให้กับลูกค้า   นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาแบรนด์ใหม่ที่จะเปิดตัวในเร็ว ๆ นี้ เป็นโมเดลธุรกิจในแบบ Asset Light Model หรือการเข้าไปลงทุนในโรงแรมที่มีศักยภาพ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่ใช้แบรนด์ที่บริษัทพัฒนาขึ้นเข้าบริหาร เช่น แบรนด์ซายด์ (SAii) ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ประจำให้มากขึ้น และเพิ่มการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอของบริษัท เดินหน้าแผนธุรกิจครึ่งปีหลัง สำหรับแผนในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจ และสร้างการเติบโตต่อเนื่อง 1.จะทยอยรับรู้รายได้จากโครงการที่อยู่อาศัยที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้แก่ โครงการดิเอส สุขุมวิท 36 (THE ESSE Sukhumvit 36) ซึ่งมีมูลค่าโครงการกว่า 6,500 ล้านบาท ปัจจุบันมียอดขายประมาณ 60% จะเริ่มโอนกรรมสิทธิ์ได้ในไตรมาส 3 ซึ่งคาดว่าน่าจะมียอดรับรู้รายได้ 1,400 ล้านบาท และปัจจุบันบริษัทมียอดขายรอรับรู้รายได้ 5,500 ล้านบาท   2.ทำตลาดโครงการ ดิ เอ็กซ์โทร พญาไท-รางน้ำ (The EXTRO Phayathai-Rangnam) ใหม่อีกครั้ง หลังจากหยุดทำตลาดไปเพราะสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันมียอดขายแล้ว 15% 3.การปรับปรุงอาคารสำนักงาน นำเสนอพื้นที่สำนักงานรูปแบบใหม่ “Workspace Solution” โดยมีหลายรูปแบบและหลายทำเล และ Co-Working Space ในทำเลใหม่ โดยเน้นเชื่อมโยงการทำงานผ่านระบบ IT ให้ลูกค้าในทุกที่ และการขยายธุรกิจโรงแรมต่อเนื่อง ภายใต้งบประมาณรวม 5,000 ล้านบาท   4.เริ่มเดินหน้าธุรกิจพลังงานทางเลือก (Renewable Energy) ในช่วงปลายปี ที่ประเทศมัลดีฟส์ มีขนาด 5 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในธุรกิจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการขยายธุรกิจต่อเนื่องจากธุรกิจอสังหาฯ รวมถึงการสร้างรายได้ประจำเพิ่มขึ้น   ตลาดคอนโดอาจจะอืด ๆ ส่วนตลาดแนวราบ เราก็มอง แต่เราคงทำไม่เหมือนคนอื่น ซึ่งเชื่อว่าโควิด-19 จะผ่านไปในปีนี้ และกลับสู่โหมดเดิมในปีหน้า  คือ การแข่งขันที่รุนแรงเหมือนเดิม ตอกย้ำการเป็น Global Holding Company สิงห์ เอสเตท ยังคงเดินหน้าตามกลยุทธ์การเป็น Global Holding Company ตามแผนที่วางไว้ปี 2020  พร้อมกับการสร้างความเชื่อมั่นแบรนด์ของบริษัท ให้เป็น Most Trusted Brand ซึ่งนอกจากการพัฒนาโครงการให้มีคุณภาพสูงสุดแล้ว ยังต่อยอดความเชี่ยวชาญจากกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน รวมทั้งยกระดับการบริการของกลุ่มธุรกิจทั้งหมดให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านสุขอนามัยและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระดับสากล  
3 ทางรอดอสังหาฯ สู้วิกฤตปี 63-64

3 ทางรอดอสังหาฯ สู้วิกฤตปี 63-64

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  นับว่ามีบทบาทสำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจของไทย เพราะเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล และยังก่อให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากมายตามมา  หากธุรกิจอสังหาฯ เกิดปัญหา ย่อมส่งผลกระทบในวงกว้างและต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ อย่างในอดีตเกิดวิกฤตฟองสบู่ในปี 2540   ในปีนี้ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ และแน่นอนธุรกิจอสังหาฯ ก็โดนไปเต็ม ๆ เช่นกัน เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกรรมต่าง ๆ ต้องหยุดชะงัก ผู้บริโภคต้องหยุดการทำงาน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”   จะว่าไปแล้วธุรกิจอสังหาฯ เริ่มชะลอความร้อนแรงมาตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา จากการออกมาตรการ LTV ทำให้ปีที่ผ่านมาธุรกิจอสังหาฯ เติบโตเพียง 4% แม้ว่าจะมีขนาดธุรกิจคิดเป็นสัดส่วน 3% ของ GDP ก็ตาม โดยธุรกิจอสังหาฯ ชะลอตัวลงต่อเนื่อง ในไตรมาสแรกของปีนี้ มีอัตราการเติบโตเพียง 2% เท่านั้น จึงถึงว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกิจอสังหาฯ อยู่ในภาวะที่ยากลำบาก 15 ประเด็นอสังหาฯ ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ล่าสุด ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ได้ทำการประเมินภาพรวมธุรกิจอสังหาฯ ในปี 2563 พร้อมกับมองแนวโน้มธุรกิจในปี 2564 จากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีบทสรุปสำคัญ ดังนี้   1.ปี 2563 เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มหดตัวอย่างรุนแรง ในอัตรา 8.8% ส่งผลทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก อัตราการจ้างงานลดลง ผู้บริโภคมีรายได้ลดลง จำเป็นต้องเอาเงินออมออกมาใช้จ่าย ทำให้ความสามารถในการซื้อสินค้าขนาดใหญ่ อย่างรถยนต์หรืออสังหาริมทรัพย์ หดตัวลงตาม 2.ยอดพรีเซลล์มีแนวโน้มหดตัวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ในไตรมาส 4 ปี 2562 มียอดพรีเซลล์  20% ไตรมาสแรก ยอดพรีเซลล์ลดลงเหลืออัตรา 15% และไตรมาส 2 ซึ่งได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และมีมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ยอดพรีเซลล์ลดลงมีอัตราเพียง 12% ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องชี้วัดว่าตลาดอสังหาฯ หดตัวอย่างรุนแรง   3.ผลสำรวจจาก Wunderman Thompson พบว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สัดส่วน 80% จะเลื่อนกำหนดการซื้อที่อยู่อาศัยอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากต้องสำรองเงินไว้ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น และยังมองว่าการลงทุนอสังหาฯ ในเวลานี้ให้ผลตอบแทนไม่มากพอ และ 20% จะเลื่อนการซื้ออสังหาฯ ออกไปอย่างน้อย 1 ปี   4.ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยกว่า 40,000 บาทต่อเดือน ต้องสำรองเงินไว้ใช้จ่ายกับสินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภค ส่วนผู้บริโภคที่มีรายได้มากกว่า 40,000 บาทต่อเดือน มองว่าการลงทุนในอสังหาฯ ให้ผลตอบแทนไม่ดีเท่าที่ควร เลยเลื่อนการซื้ออสังหาฯ ออกไปก่อน   5.อสังหาฯ กลุ่ม Economy ซึ่งมีระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท และกลุ่ม Middle ราคา 3-10 ล้านบาท ยอดพรีเซลล์ช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม จะมีอัตราต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 1 ปีคอนข้างมาก เพราะกลุ่มลูกค้าหลักเป็นกลุ่มที่มีระดับรายได้ต่อครัวเรือนต่ำกว่า 100,000 บาท มีความอ่อนไหวต่อสภาพเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นกลุ่มที่มีอาชีพอิสระ และจ้างงานตัวเองค่อนข้างมาก 6.อสังหาฯ กลุ่ม Luxury ระดับราคา 10-20 ล้านบาท และกลุ่ม Super Luxury ราคามากกว่า  20 ล้านบาท  ยอดพรีเซลล์ช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม ยังถือว่ายังดี โดยเฉพาะกลุ่ม Super Luxury สูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 1 ปีด้วย  เพราะกลุ่มลูกค้าหลักเป็นกลุ่มที่มีรายได้เกิน 100,000 บาทต่อครัวเรือนขึ้นไป มีความมั่นคงทางด้านรายได้ และส่วนใหญ่จะมีความมั่นคงทางอาชีพ มีสัดส่วนอาชีพราชการค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงจึงทำให้ การซื้อที่อยู่อาศัยในกลุ่ม Luxury  และกลุ่ม Super Luxury ไม่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เท่าที่ควร   7.แม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลต่อธุรกิจอสังหาฯ แต่มีอสังหาฯ บางประเภทและบางราคาที่ไม่ได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มคอนโด ระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท มีผลตอบรับที่ดี มียอดพรีเซลล์ 35% กลุ่มทาวน์เฮ้าส์ระดับราคา 3-10 ล้านบาท มียอดพรีเซลล์ 40% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะ การเปลี่ยนจากการซื้อคอนโดมาซื้อทาวน์เฮ้าส์แทน เพราะผู้บริโภคต้องการพื้นที่มากขึ้น แต่ระดับราคาเดียวกัน ส่วนกลุ่ม Super Luxury จะพบว่าอสังหาฯ ทุกประเภทยังมียอดพรีเซลล์ที่สูง   8.ความต้องการที่ซื้อลดลง ส่งผลต่อจำนวนที่อยู่อาศัย ทั้งโครงการเปิดตัวแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยโครงการที่เปิดตัวแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จะได้รับผลกระทบเรื่องการขาดเงินทุนในการก่อสร้าง เพราะยอดพรีเซลล์ที่ต่ำทำให้ไม่สามารถได้รับเงินกู้จากสถาบันการเงิน ทำให้ดีเวลลอปเปอร์ต้องใช้เงินทุนของตนเองเข้ามาพัฒนา แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันแนวทางนี้เป็นไปได้ยาก เพราะต้องมีสภาพคล่องเพื่อต่อสู่กับวิกฤตเศรษฐกิจมากกว่า ทำให้แนวทางที่เป็นไปได้ ดีเวลลอปเปอร์จะชะลอการก่อสร้าง 9.ความต้องการซื้อที่ลดลง ยังส่งผลทำให้ดีเวลลอปเปอร์เลื่อนการเปิดตัวโครงการใหม่ โดยแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ในปีนี้ จากการสำรวจดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่ 8 บริษัท ที่วางแผนเปิดตัวโครงการในปีนี้  จะเห็นว่าก่อนเกิดโควิด-19 วางแผนเปิดโครงการใหม่มูลค่า 195,500 ล้านบาท โดยโครงการบ้านแนวราบมีมูลค่า 139,100 ล้านบาท และคอนโดมูลค่า 56,400 ล้านบาท ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์โควิด-19 ในไตรมาส 2 ดีเวลลอปเปอร์ได้ปรับแผน และเลื่อนเปิดโครงการใหม่ออกไป โดยวางแผนเปิดมูลค่า 137,800 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านแนวราบมูลค่า 116,800 ล้านบาท และคอนโด มูลค่า 21,000 ล้านบาท   การเปิดตัวใหม่ในปี 2563 คาดว่าจะมีที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ 72,000 ยูนิต ลดลง 40%  โดยมีแรงกดดันหลักจากการที่ดีเวลลอปเปอร์เลื่อนแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ออกไป เฉพาะ 5 เดือนแรกของปีนี้ ดีเวลลอปเปอร์เปิดตัวใหม่ลดลงแล้ว 54%   10.มูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในปีนี้ คาดว่าจะลดลง 27% มีมูลค่า 420,000 ล้านบาท บ้านจัดสรรมีมูลค่า ลดลง 24% คอนโด ลดลง 30%   11.สต็อกที่อยู่อาศัยเหลือขายสะสมปีนี้ น่าจะเพิ่มขึ้น 5% มีจำนวน 185,000 ยูนิต โดยสต็อกคอนโด กระจายอยู่ในหลายทำเล ขณะที่บ้านจัดสรรจะอยู่ที่ทำเลบางบัวทอง และรังสิต-ปทุมธานี เป็นหลัก 12.คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2564 เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อัตรา 6.1%   13.มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ ที่อยู่อาศัยในปี 2564 น่าจะเติบโต 12% มีมูลค่า 470,000 ล้านบาท   14.ในปี 2564 คาดว่าดีเวลลอปเปอร์จะเปิดตัวโครงการใหม่ จำนวน 85,000 ยูนิต เติบโต 18%   15.โครงการที่อยู่อาศัยเหลือขาย ปี 2564 คาดว่ามีจำนวน 192,000 ยูนิต 3 แนวทางการปรับตัวของดีเวลลอปเปอร์ เพื่อรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุค New Normal   1.การซื้ออสังหาฯ ผ่านออนไลน์ อาจกลายเป็นเรื่องปกติ มีสถิติการเยี่ยมชมเว็บไซต์ของดีเวลลอปเปอร์ชั้นนำ มีจำนวนผู้เข้าชมเพิ่มขึ้น 40% ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ซึ่งเดือนมกราคมมียอดเข้าชมเว็บไซต์ 8,400 ครั้งต่อวันต่อเว็บไซต์ และเพิ่มขึ้นเป็น 11,700 คนต่อวันต่อเว็บไซต์ หรือเพิ่มขึ้น 40% ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งช่วงการแพร่ระบาด หลายดีเวลลอปเปอร์ได้ทำโปรโมชั่น โปรโมทการซื้อขายอสังหาฯ จึงส่งผลให้อัตราเข้าชมเว็บไซต์เพิ่มสูงขึ้นมาก โดนแนวทางการปรับตัวของดีเวลลอปเปอร์ คือ การมีกลยุทธ์และศึกษาพฤติกรรมกลุ่มลูกค้า ว่าทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเข้าชมโครงการผ่านช่องทางออนไลน์ได้ เช่น การโฆษณาผ่านอินฟลูเอนเซอร์ การสร้างความเชื่อมั่นให้ผุ้บริโภค ด้วยการพัฒนาระบบ Virtual Visits ให้กับผู้บริโภคสามารถชมโครงการเสมือนจริง และการยกระดับระบบหลังบ้าน (Back-office) ให้กับผู้บริโภคสามารถชำระเงิน และดำเนินการเรื่องเอกสารผ่านเว็บไซต์ได้เลย 2.ปัจจัยด้านทำเล อาจไม่สำคัญเท่า “ขนาดของที่อยู่อาศัย” เพื่อรองรับการการใช้ชีวิตในที่อยู่อาศัยที่นานขึ้น โดยเฉพาะ Work From Home  ซึ่งแนวทางการปรับตัวของดีเวลลอปเปอร์ คือ พิจารณาความเป็นไปได้ที่จะลดสัดส่วนห้อง Studio และเพิ่มห้อง One Bed+ ของโครงการคอนโดในบางทำเล และหันมาพัฒนาโครงการแนวราบแทนการพัฒนาคอนโด 3.อยากใช้พื้นที่ส่วนกลางแบบมี “พื้นที่ส่วนตัว” ดีเวลลอปเปอร์ ต้อง Re-design พื้นที่ส่วนกลาง และติดตั้งอุปกรณ์ Touchless เพื่อตอบโจทย์ความปลอดภัยของบริโภค เช่น Touchless door, Private Fitness, Touchless life และ Private Working Space ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวสรุปว่า  ตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สำหรับปี 2563 จะถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของ ไวรัสโควิด -19 เป็นอย่างมาก ผ่านสภาพเศรษฐกิจที่หดตัว รายได้ของผู้บริโภคที่หายไป และการ ไม่สามารถเดินทางเข้ามาดูโครงการและโอนกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อต่างชาติในช่วง Lockdown ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าตลาดหดตัว 27%YoY และแม้เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวในปี 2021 แต่กว่าตลาดที่อยู่อาศัยจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 (ปี 2562) ก็อาจต้องใช้เวลาอีก 4-5 ปี (ปี 2567-2568) อย่างไรก็ดี ผู้พัฒนาอสังหาฯ ควรติดตามพฤติกรรมการอยู่อาศัยของผู้บริโภค ที่อาจเปลี่ยนไปหลังเกิดวิกฤติ ไวรัสโควิด -19 เพื่อนำมาปรับปรุงการออกแบบ และพัฒนาที่อยู่อาาศัยให้เหมาะสม    
โควิด-19 ทุบความมั่นใจดีเวลลอปเปอร์ ลดต่ำต่อเนื่อง 5 ไตรมาส

โควิด-19 ทุบความมั่นใจดีเวลลอปเปอร์ ลดต่ำต่อเนื่อง 5 ไตรมาส

ผู้ประกอบการอสังหาฯ ไม่มั่นใจตลาด หลังเจอวิกฤตโควิด-19 ดัชนีความเชื่อมั่นลดลงต่อเนื่อง 5 ไตรมาส ขณะที่แนวโน้มอีก 6 เดือนข้างหน้าผู้ประกอบการมองตลาดบวกเล็กน้อย   ปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์  นอกเหนือจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ กำลังซื้อ และความต้องการของผู้บริโภคแล้ว ทัศนคติและแนวคิดของผู้ประกอบการ ก็นับว่ามีผลสำคัญต่อการสร้างการเติบโตให้กับตลาดอสังหาฯ ไม่น้อย แม้ว่าปัจจัยที่กล่าวมาจะเป็นตัวคาดการณ์ทิศทางของตลาด แต่หากผู้ประกอบการเกิดไม่มั่นใจต่อปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ส่วนของซัพพลายหรือจำนวนที่อยู่อาศัยที่ผู้ประกอบการจะพัฒนาออกมาคงไม่เกิดขึ้น   โดยปกติการที่ผู้ประกอบการ พัฒนาโครงการออกมาทำตลาด มักจะเกิดขึ้นจากการนำเอาข้อมูลทางการตลาด มาวิเคราะห์ร่วมกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวม แล้วจึงพัฒนาโครงการออกมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค นั่นหมายถึงว่า ผู้ประกอบการมีความมั่นใจแล้วว่า ตลาดมีความต้องการ แต่การจะให้การตอบรับกับโครงการนั้น ๆ นั้นหรือไม่ ก็อาจจะมีอีกหลายปัจจัยมาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียงของผู้ประกอบการเอง ทำเลในการเลือกพัฒนา แนวทางการทำตลาด และการจับกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมหรือไม่ เรื่องของความมั่นใจในตลาดอสังหาฯ ของกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้น  ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) หรือ REIC ได้มีการจัดทำออกมาอย่างต่อเนื่อง  โดยล่าสุด ได้เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) ณ ไตรมาส 2 ปี 2563   โดยรายงาน ระบุว่า ดัชนีคามเชื่อมั่นของผู้ประกอบการมีเท่ากับ 42.6   ลดลงต่ำกว่าค่ากลางที่ 50.0 แต่มีสัญญาณดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีค่าดัชนีอยู่ที่ 41.2 ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในภาวะปัจจุบันของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ลดต่ำกว่าค่ากลางที่ 50.0 ติดต่อกัน 5 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2562 ซึ่งมีการประกาศใช้มาตรการ Macroprudential หรือมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยยังมีมุมมองเชิงลบต่อสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการฯ ในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้า สาเหตุจากการที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาตรการผ่อนคลายการล็อคดาวน์ให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ   แต่ทั้งนี้ ดัชนีก็ยังคงต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0  โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทรายกลางและรายย่อยซึ่งไม่ได้จดทะเบียนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในปัจจุบันลดลงอย่างมาก เมื่อแยกกลุ่มผู้ประกอบการฯ ตามประเภทบริษัทพบว่า ความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันของผู้ประกอบการกลุ่ม Listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 45.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีค่าดัชนีอยู่ที่ 41.7 แต่ยังคงต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 ขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 38.0 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีค่าดัชนีอยู่ที่ 40.5 และต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) มีค่าเท่ากับ 51.8 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า  ซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.5  และสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการคาดว่าอีก 6 เดือนข้างหน้าธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แม้ว่าภาคธุรกิจจะกลับมาดำเนินการได้ตามปกติมากขึ้น และรัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจ แต่ผู้ประกอบการยังคงกังวลเกี่ยวกับการระบาดรอบที่สองของเชื้อไวรัสโควิด-19   ผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Listed Companies มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับ 57.0 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 54.8 แต่ผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 44.1 จุด ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 46.4            
เอพี ลุยตลาดอสังหาฯครึ่งปีหลัง เปิด 26 โปรเจ็กต์แนวราบ มูลค่า 26,000 ล้าน

เอพี ลุยตลาดอสังหาฯครึ่งปีหลัง เปิด 26 โปรเจ็กต์แนวราบ มูลค่า 26,000 ล้าน

เอพี ลุย 26 โปรเจ็กต์แนวราบ มูลค่า 26,000 ล้าน ในช่วงครึ่งปีหลัง พร้อมปักหมุด 5 จังหวัดในภูธร ชิมลางทำตลาด ปั้นแบรนด์ใหม่ “อภิทาวน์” มั่นใจทั้งปียังคงทำยอดขาย 33,500 ล้าน และ รายได้ 40,550 ล้าน ตามเป้าหมาย แม้ครึ่งปีแรกมีสถานการณ์โควิด-19 แต่ยังเติบโตสวนกระแส มีลุ้นไตรมาส 2 ทำสถิติสร้างรายได้สูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท   แม้ว่าประเทศไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ที่ทำให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก บางแห่งต้องปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน หรือไม่ก็เปิดกิจการชั่วคราว แต่ดูเหมือนว่าในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปีนี้  ในวิกฤตที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นโอกาสทางการตลาดอย่างที่ผู้ประกอบการหลายรายคาดคิดมาก่อน  เพราะผู้ประกอบการหลายราย แม้ว่าจะได้รับผลกระทบ ต้องปรับแผนธุรกิจและปรับตัวหาหนทางการอยู่รอด แต่ในมุมบวกกลับสามารถทำยอดขายและยอดโอนได้จำนวนมาก มากชนิดที่ทุบสถิติยอดขายและยอดโอนในภาวะสภาพตลาดปกติด้วยซ้ำ ​   หนึ่งในผู้ประกอบการที่สามารถสร้างยอดขายและยอดโอนเติบโตได้ดีนั้น คือ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP ที่สามารถสร้างยอดขายในช่วงครึ่งปีแรกได้มากถึง 15,085 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 45% ของเป้าหมายยอดขายในปีนี้ที่คาดว่าจะทำได้ 33,500 ล้านบาท โดยส่วนรายได้น่าจะทำได้สูงกว่าผลการดำเนินงานในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะไตรมาส 2 ซึ่งปกติจะเป็นไตรมาสที่ทำรายได้ได้ต่ำสุดในรอบปี  แต่ปีนี้คาดว่าจะเป็นไตรมาสที่สร้างรายได้ได้สูงที่สุดกว่าไตรมาส 2 ของทุกปีที่ผ่านมา และอาจจะสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาเกือบ 30 ปีด้วยซ้ำ     นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท  เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า  วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เปรียบเหมือนเป็นซูเปอร์โนวาที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก สร้างผลกระทบที่ใหญ่และรุนแรงกว่าวิกฤตครั้งไหนในอดีต ซึ่งตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาบริษัทดำเนินงานด้วยความระมัดระวัง ควบคู่ไปกับการปรับแผนงานให้สอดรับกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา โดยมี EMPOWER LIVING เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญขององค์กร   โดยแนวโน้มการโอนกรรมสิทธิ์ในไตรมาส 2 ของปีนี้ คาดว่าจะดีกว่าทุกไตรมาส 2 ที่บริษัทเคยทำได้ ซึ่งไตรมาส 2 ที่มียอดโอนกรรมสิทธิ์สูงสุด คือ ปี 2561 มีมูลค่า 10,000 ล้านบาท และน่าจะมียอดโอนกรรมสิทธิ์สูงสุดในประวัติศาสตร์การก่อตั้งบริษัท ซึ่งเคยทำยอดโอนสูงสุดในช่วงไตรมาส 4 ปี 2559 มูลค่า 11,500 ล้านบาท สำหรับความสำเร็จในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา น่าจะเกิดจากการปรับตัวของบริษัท ในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า แม้ว่าจะอยู่ในช่วงโควิด-19 แต่ลูกค้ายังสามารถตรวจห้องผ่านระบบออนไลน์ได้ การชมห้องตัวอย่างหรือโครงการได้ผ่านออนไลน์ รวมถึงการนำเอาเทคโนโลยีมาช่วย  และการจัดโปรโมชั่นเกือบทุกสัปดาห์ มาสร้างความสำเร็จดังกล่าว ​ นายวิทการ กล่าวอีกว่า ในช่วงครึ่งปีแรกบริษัทไม่ได้เปิดตัวคอนโดมิเนียมโครงการใหม่  แต่ขายโครงการเดิมที่มีอยู่ ซึ่งตลาดยังให้การตอบรับที่ดี มียอดขายกว่า 2,200 ล้านบาท ขณะที่บางกอก ซิตี้สมาร์ท (BC) บริษัทในเครือ ยังสามารถทำยอดขายกลุ่มคอนโดได้สูงกว่า 4,200 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงการตอบรับของตลาดคอนโดว่ายังมีต่อเนื่อง และยังคาดว่าภายในสิ้นปีนี้บีซี จะสามารถสร้างยอดขายคอนโดได้ถึง 10,000 ล้านบาทด้วย   ในปีนี้บริษัทจึงมั่นใจว่าจะสามารถรักษาเป้าหมายการเติบโตของบริษัทตามแผนธุรกิจไว้ได้ โดยคาดว่าจะทำยอดขายได้ 33,500 ล้านบาท รายได้ 40,550 ล้านบาท ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทยังเตรียมเปิดตัวโครงการใหม่อีก 26 โครงการ  มูลค่า 26,000 ล้านบาท โดยเป็นโครงการแนวราบทั้งหมด แบ่งเป็นโครงการในเขตกรุงเทพฯ 21 โครงการ  มูลค่า 21,300 ล้านบาท และในพื้นที่ 5 จังหวัด มูลค่า 4,700 ล้านบาท   ครึ่งปีหลังบริษัทยังไม่มีแผนเปิดโครงการคอนโดมิเนียม เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่เหมาะสมในการเปิดตัวโครงการใหม่ แต่มีที่ดิน 4-5 แปลงสำหรับพัฒนาโครงการไว้พร้อมแล้ว  โดยจะพิจารณาตามความเหมาะสมของตลาด แต่คาดว่าน่าจะเลื่อนการเปิดตัวโครงการคอนโดไปในปีหน้าแทน     สำหรับการพัฒนาโครงการในต่างจังหวัด ได้พัฒนาโครงการภายใต้แบรนด์ อภิทาวน์ เป็นโครงการรูปแบบมิกซ์โปรดักส์ ทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮม ระดับราคา 1.5-9 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มต้นพัฒนาโครงการแรกที่จังหวัดนครราชสีมา ในเดือนกันยายน หลังจากนั้นจะเปิดตัวอีก 4 โครงการใน 4 จังหวัด ได้แก่ ระยอง อยุธยา ขอนแก่น และเชียงราย   ครึ่งปีหลังมีอีก 2 โครงการคอนโดที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จ และรับรู้รายได้  ตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้. ได้แก่ LIFE อโศก-พระราม 9 มูลค่า 9,800 ล้านบาท ปัจจุบันมียอดขายแล้ว 94% และ ASPIRE อโศก-รัชดา มูลค่า 2,900 ล้านบาท ปัจจุบันมีขาย 95%   บริษัทมีโครงการคอนโดอยู่ระหว่างการขาย 18 โครงการ มูลค่า 21,000 ล้านบาท  ซึ่ง ณ วันที่ 31 มิถุนายน 2563 บริษัทมีสินค้ารอรับรู้รายได้รวมโครงการร่วมทุน (Backlog) มูลค่า 56,149 ล้านบาท เป็นโครงการแนวราบ มูลค่า 13,234 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะรับรู้ทั้งหมดภายในปีนี้ และคอนโด มูลค่า 42,915 ล้านบาท จะทยอยรับรู้ในปีนี้ประมาณ 15,602 ล้านบาท ส่วนที่เหลือทยอยรับรู้ไปจนถึงปี 2566
MJD ลุยตลาดบ้านซูเปอร์ลักชัวรี่รอบ 20 ปี ปักหมุด 2 ทำเลสุขุมวิท-อารีย์

MJD ลุยตลาดบ้านซูเปอร์ลักชัวรี่รอบ 20 ปี ปักหมุด 2 ทำเลสุขุมวิท-อารีย์

เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ ลุยโปรเจ็กต์แนวราบ รอบ 20 ปี เปิดตัว “Malton Private Residences” จับตลาดซูเปอร์ลักชัวรี่  2 ทำเลใจกลางเมือง  สุขุมวิท และอารีย์ ราคาเริ่มต้น 62 ล้านบาท พร้อมเลื่อน 3 โปรเจ็กต์คอนโดไปปี 64 หนีสถานการณ์ไวรัสโควิด-19   นางสาวเพชรลดา พูลวรลักษณ์ กรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ MJD เปิดเผยว่า แผนธุรกิจในปี 2563 เดิมได้เตรียมเปิดตัวโครงการใหม่ 5 โครงการ มูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการคอนโดมิเนียม 3 โครงการ และโครงการแนวราบ 2 โครงการ แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้บริษัทต้องเลื่อนการเปิดตัวโครงการคอนโดไปในปี 2564 แทน     โดยเป้าหมายรายได้ในปีนี้ บริษัทคาดว่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ซึ่งในปี 2562 บริษัทมีรายได้รวม 6,279.91 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่าปีนี้จะเลื่อนการเปิดตัวโครงการใหม่ออกไปในปีหน้า แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัท เนื่องจากยังมีโครงการอยู่ระหว่างการขายประมาณ​ 11,000 ล้านบาท เป็นโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 3,000 ล้านบาท   คิดว่าโควิด-19 น่าจะอยู่ระยะยาว ปีนี้ทั้งปี เราจะโฟกัส เน้นระบายสต็อกให้ได้มากและเร็วที่สุด เท่าที่จะทำได้   ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการในช่วงไตรมาสที่ 2 คาดว่าจะทำได้ดีกว่าหรือใกล้เคียงกับผลประกอบการในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ที่มีรายได้รวม 2,023.64 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ในอัตรา 40% เนื่องจากมีการจัดแคมเปญการตลาด โดยเฉพาะแคมเปญ Secret Deal โปรลับ!! ดีลพิเศษ ที่สามารถสร้างยอดขายได้กว่า 700 ล้านบาท   นางสาวเพชรลดา กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการเปิดตัวแนวราบ 2 โครงการในปีนี้ ได้เปิดตัวโครงการ “Malton Private Residences” แบรนด์บ้านระดับซูเปอร์ลักชัวรี่  2 ทำเล ได้แก่สุขุมวิทและอารีย์  มูลค่ารวมกว่า 1,150  ล้านบาท  ซึ่งโครงการแรก  คือ โครงการ Malton Private Residences Sukhumvit 31 มูลค่า 550 ล้านบาท ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1-1-98.8 ไร่ ในทำเลใจกลางสุขุมวิทที่มีความเป็นส่วนตัวอย่างซอยสวัสดี ประกอบด้วยบ้านระดับซูเปอร์ลักชัวรี่ 4 ชั้น จำนวนเพียง 7 ยูนิต ขนาดพื้นที่ดิน 52.4-72.3 ตร.ว. ขนาดพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 451-555 ตร.ม. ราคาเริ่มต้น 68 ล้านบาท   ส่วนโครงการที่ 2 ได้แก่ โครงการ Malton Private Residence Ari มูลค่า 600 ล้านบาท ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1-1-97.7 ไร่ ใน ซ.พหลโยธิน 8 (ซอยสายลม) ย่านอารีย์ อีกหนึ่งย่านที่เป็นย่านอยู่อาศัยที่มีลักษณะเฉพาะตัวเพราะเป็นทั้งแหล่งงานและแหล่งไลฟ์สไตล์ ประกอบด้วยบ้านระดับซูเปอร์ลักชัวรี่ 5 ชั้น จำนวนเพียง 8 ยูนิต ขนาดพื้นที่ดิน 50.1-64.0 ตร.ว. ขนาดพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 489-526 ตร.ม. ราคาเริ่มต้น 62 ล้านบาท   สำหรับการเปิดตัวโครงการแนวราบครั้งนี้ ถือว่าเป็นการหันมาพัฒนาโครงการแนวราบในรอบเกือบ 20 ปี และเป็นแบรนด์ที่ 2 ต่อจากแบรนด์แรก คือ โครงการการ์เด้นท์ วิลล์ คสัสเตอร์โฮม ​​ซึ่งในอนาคตบริษัทยังวางแผนพัฒนาโครงการแนวราบอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้บริษัทวางงบประมาณในการซื้อที่ดิน เพื่อพัฒนาโครงการต่อเนื่อง 2,000-3,000 ล้านบาท   น.ส.เพชรลดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดระดับซูเปอร์ลักชัวรี่ ถือเป็นตลาดที่ยังมีความต้องการสูง และเป็นตลาดที่ยังสามารถขับเคลื่อนไปได้ในทุกสภาวะเศรษฐกิจ เพราะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอกค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับตลาดเซ็กเมนท์อื่นๆ ขณะเดียวกัน ยังเป็นตลาดที่ไม่ค่อยมีซัพพลายใหม่ เนื่องจากที่ดินในการพัฒนาโครงการใหม่ค่อนข้างหายาก โดยเฉพาะบ้านจัดสรรที่มีซัพพลายใหม่ค่อนข้างน้อย แต่คุ้มค่ากว่าเพนท์เฮาส์ด้วยพื้นที่ใช้สอยและความเป็นส่วนตัวที่มากกว่า  
เสนา ลุยทำเล ลำลูกกาคลอง 6 ขึ้นโปรเจ็กต์ทาวน์โฮมติดโซลาร์รายแรก

เสนา ลุยทำเล ลำลูกกาคลอง 6 ขึ้นโปรเจ็กต์ทาวน์โฮมติดโซลาร์รายแรก

เสนา ปักหมุดโปรเจ็กต์ ทาวน์โฮมติดโซลาร์ รายแรกของไทย พร้อมลุยตลาดย่านลำลูกกาคลอง 6 โปรเจ็กต์แรกของปีนี้ หลังมองเห็นศักยภาพของทำเล และดีมานด์ยังเพิ่มสูง ตลาดเหลือขายไม่ถึง 1,000 ยูนิต เปิดพรีเซลล์อย่างเป็นทางการ 18-19 ก.ค.นี้ หวังยอดขาย 20 ล้าน   นายประกิต อัครเสรีนนท์ ผู้ช่วย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (SENA)เปิดเผยว่า ได้เตรียมเปิดตัวพรีเซลล์อย่างเป็นทางการ โครงการเสนา วิลล์ ลำลูกกา คลอง 6 มูลค่า 800 ล้านาท ในวันที่ 18-19 กรกฎาคมนี้ ซึ่งว่าจะทำยอดขายได้ประมาณ 20 ล้านบาท จากปัจจุบันมียอดขายโครงการแล้วประมาณ​80 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการทาวน์โฮมติดโซลาร์โครงการแรกของประเทศไทย ในรูปแบบทาวน์โฮมขนาด 2 ชั้น ติดตั้งระบบโซลาร์ขนาด 1.28 กิโลวัตต์ สำหรับโครงการเสนา วิลล์ ลำลูกกา คลอง 6 ถือเป็นโครงการแรกที่เปิดตตัว หลังจากนี้วางแผนจะเปิดตัวโครงการในรูปแบบดังกล่าวอีก 1 โครงการในช่วงปลายปี ภายใต้แบรด์เสนา วีว่า บริเวณพุทธมณฑลสาย 7 ซึ่งเป็นรูปแบบทาวน์โฮมขนาด 2 ชั้น เนื้อที่เริ่มต้น 18 ตารางวา ซึ่งเป็นโครงการทาวน์โฮมติดโซลาร์เช่นกัน   การที่บริษัทหันมาพัฒนาโครงการทาวน์โฮมขนาด 2 ชั้น หลังจากหยุดพัฒนาโครงการขายมานานนับ 10 ปี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการอยู่อาศัยของคนในยุคปัจจุบัน ที่สนใจบ้านแนวราบมากขึ้น เพราะต้องการพื้นที่สำหรับการทำงานที่บ้าน และกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงจึงต้องทำบ้านขนาดเล็ก ขณะที่การเปิดตัวโครงการในย่านลำลูกกาคลอง 6 ซึ่งถือเป็นโครงการเดียวในย่านดังกล่าว ที่เปิดตัวในปีนี้ ส่วนใหญ่โครงการที่เปิดการขาย เป็นโครงการเก่าซึ่งเปิดตัวมาก่อนหน้าแล้วหลายปี เป็นเพราะบริษัทมองว่าเป็นทำเลที่ยังมีศักยภาพ ตลาดยังมีความต้องการ และเป็นทำเลที่มีการเดินทางสะดวกสบาย  ปัจจุบันในทำเลดังกล่าวมีสินค้าเหลือในตลาดประเภทบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมไม่ถึง 1,000 ยูนิต   กลุ่มเป้าหมายที่บริษัทมอง เป็นกลุ่มผู้ทำงานในย่านสายไหม หทัยราษฎร์ และลำลูกกา มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 25,000-30,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าย่านนี้มีอัตราการขายที่ดีต่อเนื่องเฉลี่ย 4-5 ยูนิตต่อเดือน สำหรับแผนที่ในปีนี้ บริษัทจะเปิดโครงการทั้งหมด 10 โครงการ มูลค่า 7,500 ล้านบาท โดยในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 จะเปิด 7 โครงการ ดังนี้  1.เดอะ คิทท์ พลัส พหลโยธิน-คูคต (เฟส 2) 2.เสนา วิลเลจ รังสิต-ติวานนท์ 3.เสนา เวล่า เทพารักษ์-บางบ่อ 4.เสนา คิทท์ เทพารักษ์-บางบ่อ 5.โครงการ ปีติ สมเด็จเจ้าพระยา 6. นิช ไพรด์ บางโพ และ 7. เสนา วีว่า เทพารักษ์  โดยในปีนี้บริษัทยังคงตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 11,500 ล้านบาท และรายได้ 10,600 ล้านบาท ส่วนผลการดำเนินงานในช่วง  6 เดือนแรกของปีนี้ กลุ่มบ้านแนวราม บริษัทมียอดขายแนวราบ 500 ล้านบาท จากที่ตั้งเป้าหมายในปีนี้ไว้ 1,800 ล้านบาท  ซึ่งรายได้จากกลุ่มแนวราบ ปัจจุบันมีสัดส่วน 15-16% จากรายได้รวม ในอนาคตบริษัทจะเพิ่มสัดส่วนแนวราบมากขึ้น ตามแนวโน้มและความต้องการของสภาพตลาด   สำหรับโครงการ เสนา วิลล์ ลำลูกกา คลอง 6 พัฒนาทาวน์โฮม 2 ชั้น หน้ากว้าง 5.5 เมตร ที่ดินเริ่ม 22 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 138 ตารางเมตร 4 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ พร้อมที่จอดรถ 1 คัน ราคาเริ่ม 2.49 ล้านบาท  
“ทริปเปิ้ล วายโฮเทล” เปิดแผนครึ่งปีหลังดึงลูกค้าเข้าพักตามเป้า 40%

“ทริปเปิ้ล วายโฮเทล” เปิดแผนครึ่งปีหลังดึงลูกค้าเข้าพักตามเป้า 40%

"ทริปเปิ้ล วายโฮเทล" เปิดแผนครึ่งปีหลัง  ทำการตลาดอัดโปรโมชั่น พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและนอกบริษัท จับตลาดกลุ่มลูกค้าองค์กร ดึงยอดอัตราเข้าพักให้ได้ตามเป้า 40%     การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของคน และการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในธุรกิจที่ถือว่าได้รับผลกระอย่างหนัก คือ ธุรกิจโรงแรม เพราะส่วนใหญ่ต้องปิดกิจการชั่วคราว เนื่องจากไม่มีลูกค้าเข้าพัก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติ  ซึ่งไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้  เพราะธุรกิจโรงแรมจะพึ่งพากลุ่มลูกค้าหลัก คือ กลุ่มนักท่องเที่ยว   ช่วงที่ผ่านมาหลาย ๆ โรงแรม ได้พยายามปรับตัว และหาหนทางในการเปิดดำเนินธุรกิจ เพื่อให้พนักงานยังคงมีการทำงาน และได้รับค่าจ้างตามปกติ แม้ว่าอัตราเข้าพักจะน้อย และบางช่วงเวลาไม่มีลูกค้าเข้าพักเลยก็ตาม  สำหรับโรงแรมทริปเปิ้ล วาย โฮเทล ธุรกิจโรงแรมในของบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ในโครงการสามย่านมิตรทาวน์  ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน นายวิทวัส คุตตะเทพ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานโครงการเชิงพาณิชยกรรม บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของการเปิดให้บริการ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 - มกราคม 2563 ก่อนเกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 โรงแรมมียอดใช้บริการเฉลี่ยกว่า 75% แม้เพียงเป็นการเปิดในปีแรก แต่หลังจากเริ่มมีการล็อคดาวน์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการออกมาตรการเข้มงวดของภาครัฐ ทำให้ยอดผู้ใช้บริการลดลงเหลือเพียง 8%   ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มปรับตัวดีขึ้น โรงแรมมีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 20% โดยคาดว่าภายในสิ้นเดือนอัตราเข้าพักจะเพิ่มขึ้นเป็น 25% ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ อัตราเข้าพักน่าจะมีค่าเฉลี่ยประมาณ 40% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดว่าอัตราเข้าพักจะเป็น 50% ​เนื่องจากยังไม่แน่ใจสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเกิดรอบ 2 หรือไม่ รวมถึงต้องดูสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลัง และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ นายวิทวัส กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาโรงแรมฯ ได้ปรับตัวและปรับรูปแบบการให้บริการหลายส่วน โดยยึดมั่นให้ความสำคัญการประคับประคอง ลูกค้า พนักงาน และพันธมิตรทางการค้า ให้ผ่านพ้นไวรัสโควิด-19 ไปด้วยกัน ซึ่งยังคงเปิดทำการได้อย่างเต็มรูปแบบ ไม่มีการลดหรือปิดส่วนใดของโรงแรมตลอดวิกฤตการณ์  รวมถึงยังจัดทำแคมเปญกระตุ้นตลาด อาทิ ช่วงเดือนมิถุนายน ขาย Voucher ห้องพักแบบ Deluxe ในราคาพิเศษ 999 บาทไม่รวมอาหารเช้า ซึ่งสามารถเข้าพักได้ถึง 31 ตุลาคม 2563   ขณะที่เดือนกรกฎาคม ที่ภาครัฐปลดล็อคเต็มที่มากขึ้น โรงแรมได้จัดโปรโมชั่นต่อเนื่อง  โดยจัดแคมเปญขาย Voucher ห้องพักแบบ Deluxe ในราคา 1,299 บาท ไม่รวมอาหารเช้า พร้อมกับโปรโมชั่นซื้อครบ 5 ใบ แถม 1 ใบฟรี และยังสามารถเข้าพักได้ถึง 31 ตุลาคม 2563   โดยแผนช่วงครึ่งปีหลัง โรงแรมยังวางแผนการทำตลาด ด้วยการจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ อาทิ  วิคเตอร์คลับ (Victor Club) ห้องประชุมของกลุ่มโกลเด้นแลนด์ และสามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ (Samyan Mitrtown Hall) ห้องประชุม และฮอลล์อเนกประสงค์ของสามย่านมิตรทาวน์ ในการทำตลาดร่วมกัน เช่น ผู้ที่มาจัดงานอีเวนต์หรืองานประชุมสัมมนา ให้เข้าพักในโรงแรม การร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในลักษณะเช่นเดียวกัน นอกจากนี้  ทางโรงแรมยังวางแผนเข้าทำตลาดกับกลุ่มเป้าหมายบริษัท และองค์กรที่ต้องการใช้พื้นที่จัดงานประชุม สัมมนา และงานอีเวนต์ต่าง ๆ ให้เข้ามาใช้พื้นที่ของโครงการสามย่านมิตรทาวน์และโรงแรมทริปเปิ้ลวาย รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทย ซึ่งทางโรงแรมเริ่มเข้าไปติดต่อกับโรงพยาบาลใกล้เคียงบ้างแล้ว   นายวิทวัส กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันโรงแรมส่วนใหญ่ยังไม่ได้กลับมาเปิดให้บริการปกติ โดยเฉพาะโรงแรมระดับ 5 ดาว เนื่องจากโรงแรมต้องมีค่าบริหารจัดการจำนวนมาก ทำให้ยังต้องรอให้ตลาดกลับมาฟื้นตัว ส่วนแนวโน้มตลาดโรงแรมน่าจะกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจนภายในปี 2565 เพราะเชื่อว่าปีหน้าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะยังไม่หายไปจากประเทศไทย หรือจนกว่าจะมีการค้นพบวัคซีน  
โควิด-19 ทุบตลาดอสังหาฯ คอนโด – บ้านจัดสรร ลดราคาขาย 36%

โควิด-19 ทุบตลาดอสังหาฯ คอนโด – บ้านจัดสรร ลดราคาขาย 36%

โควิด-19 ทุบราคาขายคอนโด - บ้านจัดสรร ไตรมาส 2 ลดลงต่อเนื่องสูงถึง 36% แม้แต่คอนโดสร้างเสร็จติดรถไฟฟ้า หลังผู้บริโภคไม่มั่นใจเศรษฐกิจและถูกเลิกจ้าง  หวั่นเกิดสงครามราคา หากดีเวลลอปเปอร์ยังลดราคาต่อเนื่อง   ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจจำนวนมาก หลายธุรกิจต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว แต่ก็มีหลายธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจนถึงขั้นต้องปิดกิจการลงเลยก็มี  ผลกระทบต่อเนื่อง ก็คงเป็นการเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก   การเลิกจ้างแรงงาน ยังส่งผลกระทบต่อเนื่อง ไปยังหลายธุรกิจด้วยกัน หนึ่งในนั้น คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะทำให้กำลังซื้อในตลาดที่อยู่อาศัยลดลง หรือแม้แต่พนักงานที่ไม่ได้ถูกเลิกจ้าง ก็เกิดความกังวลใจในอาชีพและรายได้ในอนาคต  ผู้ที่วางแผนจะซื้อที่อยู่อาศัยจึงชะลอการตัดสินใจซื้อออกไปก่อน ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ  ต้องออกแคมเปญการตลาดมากระตุ้น เพื่อให้มียอดขายและสร้างรายได้ต่อเนื่อง   แคมเปญการตลาดช่วงที่ผ่านมา จึงถือว่าผู้ประกอบการ “จัดหนัก” มากที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา หรือแทบจะเรียกได้ว่า ไม่เคยจัดแคมเปญมากมายขนาดนี้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนให้ก่อน ให้ผู้ซื้อได้อยู่ฟรีมากสุดถึง 5 ปี หรือแม้แต่การลดราคาขาย ซึ่งมากที่สุดก็คือ ลดราคากันไปเลย 50%  ทำให้ราคาขายบ้านและคอนโดมิเนียมช่วงที่ผ่านมา ลดต่ำลงจากก่อนหน้านี้อย่างมาก จากปกติราคาอสังหาฯ จะต้องปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ REIC  เปิดเผยรายงานดัชนีราคาที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขาย ในกรุงเทพฯ - ปริมณฑล ไตรมาส 2 ปี 2563 พบว่า โครงการอาคารชุด มีการลดราคาขายมากที่สุดถึง 36%  โครงการทาวน์เฮ้าส์มีการลดราคาขายมากที่สุดถึง 32% ขณะที่โครงการบ้านเดี่ยวมีการลดราคาขายมากที่สุดถึง 12%   ทั้งนี้ หากสถานการณ์การลดราคาขายที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง จนเกิดสงครามราคา (Price war) อาจส่งผลกระทบต่อตลาดบ้านมือสองที่ต้องลดราคาขายเพื่อแข่งขันกับที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ และจะมีผลต่อมูลค่าทรัพย์สินของสถาบันการเงิน และวงเงินกู้ของผู้ซื้อบ้านที่จะต้องลดลงตามราคาขาย   ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค มีการปิดกิจการและลดการจ้างแรงงานในหลายธุรกิจ ส่งผลต่อกำลังซื้อที่อยู่อาศัยมีการชะลอตัวเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งระบายสต็อกหน่วยสร้างเสร็จเหลือขาย ด้วยการลดราคาขาย   สำหรับในไตรมาส 2 ปี 2563  ดัชนีราคาบ้านจัดสรรใหม่ที่อยู่ระหว่างการขาย ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีค่าดัชนีเท่ากับ 128.3 เพิ่มขึ้น 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน  แต่ลดลง 0.1 % เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ดัชนีราคาบ้านจัดสรรลดลงเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งศูนย์ข้อมูลฯ ได้เริ่มจัดทำดัชนีราคาบ้านจัดสรร   ส่วนดัชนีราคาบ้านเดี่ยวที่อยู่ระหว่างการขาย  มีค่าดัชนีเท่ากับ 126.6 เพิ่มขึ้น 2.3% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ลดลง 0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์ที่อยู่ระหว่างการขาย มีค่าดัชนีเท่ากับ 130.2  เพิ่มขึ้น 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า   ขณะที่ดัชนีราคาคอนโดใหม่ที่อยู่ระหว่างการขาย ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในไตรมาส 2 ปี 2563 มีค่าดัชนีเท่ากับ 153.2 เพิ่มขึ้น 1.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ลดลง 0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งดัชนีราคาคอนโดลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยโครงการคอนโดที่ปรับลดราคาลงมากที่สุด เป็นโครงการคอนโดสร้างเสร็จเหลือขายทำเลปลายสายรถไฟฟ้าสายสีเขียวในจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนทำเลที่โครงการอาคารชุดปรับราคาเพิ่มขึ้น เป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างทำเลแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีส้มที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในขณะนี้    
“แอสเซทไวส์” แบ่งเฟสขาย “โมดิซ ไรห์ม รามคำแหง” รับมือโควิด-19

“แอสเซทไวส์” แบ่งเฟสขาย “โมดิซ ไรห์ม รามคำแหง” รับมือโควิด-19

แอสเซทไวส์ ปรับแผนขาย “โมดิซ ไรห์ม รามคำแหง” รับมือโควิด-19 แบ่งเป็น 2 เฟส พร้อมออกแบบสอดคล้องกับวิถีชีวิต New Normal พร้อมเดินหน้าลุย 2 โปรเจ็กต์ใหม่ ครึ่งปีหลัง ปั้นรายได้สิ้นปี 3,500 ล้าน  ขณะที่แผนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เดินหน้ายื่นไฟลิ่ง   นายกรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภายหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัทได้ปรับแผนการพัฒนาโครงการ “โมดิซ ไรห์ม รามคำแหง” (Modiz Rhyme Ramkhamhaeng) ใหม่ จากเดิมจะพัฒนาเป็นโครงการขนาดสูงเพียง 1 อาคาร มูลค่าประมาณ ​5,000 ล้านบาท และเปิดตัวขายในครั้งเดียว แต่ได้ปรับแผนใหม่ ด้วยการพัฒนาเป็นอาคารสูง 2 อาคาร และแบ่งการขายออกเป็น 2 เฟส แต่ยังคงมีมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท และจำนวนยูนิตใกล้เคียงเดิม โดยเริ่มต้นเปิดการขายโครงการ “โมดิซ ไรห์ม รามคำแหง” เฟสแรกในเดือนกรกฏาคมนี้ ด้วยการขายอาคารด้านหน้า ที่ประกอบด้วยคอนโดมิเนียมไฮไรส์สูง 30 ชั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 2 ไร่ แบ่งเป็นที่พักอาศัย จำนวน 546 ยูนิต และไลฟ์สไตล์ รีเทล จำนวน 9 ยูนิต มูลค่าโครงการรวมกว่า 1,790 ล้านบาท ซึ่งมีราคาเริ่มต้น 1.89 ล้านบาท ในขนาด 23.38 ตารางเมตร โดยอาคารเฟสแรกคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 4 ปี 2565   ส่วนโครงการในเฟสที่ 2 บริษัทจะเปิดการขาย โดยดูจากกระแสตอบรับจากการขายในเฟสแรกก่อน ซึ่งบริษัทคาดว่าภายในระยะเวลา 4-6 เดือนน่าจะมียอดพรีเซลล์ประมาณ 50% แต่กำหนดการก่อสร้างของเฟส 2 ยังเป็นไปตามแผน ซึ่งคาดว่าจะก่อนสร้างแล้วเสร็จในช่วงปี 2567 นอกจากการปรับรูปแบบการพัฒนาโครงการและการขายแล้ว บริษัทยังได้ปรับงานดีไซน์และรูปแบบห้อง ให้มีความเหมาะสมกับการอยู่อาศัยของผู้บริโภคในยุค New Normal ด้วย โดยเน้นใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.Multi-Living Space New Normal  การออกแบบให้พื้นที่ต่าง ๆ สามารถใช้ได้จริง และมีความหลากหลายในการใช้งาน 2.Residence Utilization การเพิ่มพื้นที่ตามความต้องการของผู้อยู่อาศัย  โดยเฉพาะในด้านสุขภาพ จึงมีการเพิ่มพื้นที่ Health Station สำหรับการบริการด้านสุขภาพ 3.Virtual Community การนำแอปพลิเคชั่น หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ  เข้ามาปรับใช้ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายแก่ลูกค้า เช่น การนำ Telemedicine มาบริการภายในโครงการ เป็นต้น   ส่วนแผนธุรกิจของบริษัทในปีนี้ ยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยช่วงครึ่งปีหลัง ยังเตรียมเปิดตัวอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการโมดิช ธรรมศาสตร์ รังสิต มูลค่า 1,200 ล้านบาท และโครงการบ้านภูริปุรี พัฒนาการ มูลค่า 500 ล้านบาท โดยในปีนี้คาดว่าบริษัทจะมีรายได้ 3,500 ล้านบาท โดยช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมายังทำรายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งในช่วงปลายปีจะมีโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ และรับรู้รายได้ในปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปีหน้าอีก 2 โครงการ มีมูลค่าโครงการรวม 3,400 ล้านบาทด้วย สำหรับแผนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ยังคงเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งล่าสุดได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) เรียบร้อย เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา และน่าจะได้รับการพิจารณาภายใน 120 วัน โดยการเข้าระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้ บริษัทต้องการเพิ่มศักยภาพการเติบโตให้บริษัท ซึ่งในแต่ละปีวางแผนเปิดตัวโครงการใหม่ปีละ 4-6 โครงการ มูลค่า 4,000-5,000 ล้านบาท      
ตลาดคอนโด จ.ภูเก็ต ปี 63  ซัพพลายเหลือเพียบ ฉุดตลาดชะลอตัว

ตลาดคอนโด จ.ภูเก็ต ปี 63  ซัพพลายเหลือเพียบ ฉุดตลาดชะลอตัว

บรรดาเมืองท่องเที่ยวชายทะเล ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ  อันดับแรก ๆ ของเมืองไทย  ในการเข้ามาทั้งท่องเที่ยวระยะสั้น และการพักอาศัยอาศัยระยะยาว  คงหนีไม่พ้น จ.ภูเก็ต เพราะถือว่ามีความสวยงามทางธรรมชาติ และความพร้อมด้านสาธารณูปโภคครบ ส่งผลให้จ.ภูเก็ต เกิดการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ หลากหลายรูปแบบ ทั้งโครงการวิลล่า โรงแรม คอนโดมิเนียม หรือบ้านจัดสรรจำนวนมาก เพื่อรองรับกับความต้องการที่เกิดขึ้น   เช็คสต็อกที่อยู่อาศัยจ.ภูเก็ต คอนโดเหลือเพียบ ตัวเลขจากการสำรวจของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ในช่วงครึ่งหลังปี 2562 พบว่า  ที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขาย ในพื้นที่จ.ภูเก็ต  มีจำนวนทั้งสิ้น 133 โครงการ จำนวน 9,291 ยูนิตลดลงจากช่วงครึ่งปีแรก 13.5% แบ่งเป็นคอนโด จำนวน 5,978 ยูนิต บ้านจัดสรร จำนวน 3,313 ยูนิต ได้แก่ บ้านเดี่ยวจำนวน 812 ยูนิต  ทาวน์เฮ้าส์ 1,602 ยูนิต  บ้านแฝด 839 ยูนิต และอาคารพาณิชย์ 60 ยูนิต สัดส่วนการพัฒนาในพื้นที่จ.ภูเก็ต ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ประกอบการ ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะมีเฉพาะประเภททาวน์เฮ้าส์ที่พบว่า บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  เข้ามาพัฒนามากกว่าผู้ประกอบการในท้องถิ่น โดยมีสัดส่วนการพัฒนา 58% ส่วนที่เหลือเป็นบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในท้องถิ่นของจ.ภูเก็ตเป็นหลัก   การพัฒนาโครงการในจ.ภูเก็ตระยะหลัง จะพบว่า ส่วนใหญ่จะพัฒนาโครงการคอนโด มากกว่าบ้านแนวราบเป็นหลัก แต่สัดส่วนไม่ได้แตกต่างกันมากนัก อย่างเช่นในจำนวน 133 โครงการ พบว่าเป็นโครงการคอนโด 69 โครงการ และบ้านแนวราบ 64 โครงการ สาเหตุที่แนวโน้มการพัฒนาโครงการคอนโดมากขึ้น เป็นเพราะที่ดินในจ.ภูเก็ตมีต้นทุนราคาที่สูงมาก โครงการส่วนใหญ่จึงพัฒนาเป็นคอนโด  โดยโครงการที่เปิดขายใหม่ในช่วงครึ่งปีหลังก็ยังคงมีสัดส่วนอาคารชุดเปิดขายใหม่สูงกว่าเช่นกัน ซึ่งจากจำนวนยูนิตเปิดขายใหม่ 1,207 ยูนิต ประกอบด้วยอาคารชุด 868 ยูนิต และบ้านจัดสรร 339 ยูนิต ส่วนปริมาณที่อยู่อาศัยเหลือขายในช่วงครึ่งหลังปี 2562 พบว่า มีจำนวน 7,741 ยูนิต มูลค่า 37,409 ล้านบาท แบ่งเป็นคอนโด จำนวน 4,918 ยูนิต  คิดเป็นสัดส่วสน 77% และบ้านจัดสรร จำนวน 2,823 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน 23% ซึ่งแบ่งเป็น บ้านเดี่ยว จำนวน 709 ยูนิต บ้านแฝด 746 ยูนิต ทาวน์เฮ้าส์ 1.321 ยูนิต และอาคารพาณิชย์ 47 ยูนิต ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 จะพบว่าโครงการคอนโดเหลืออยู่ในตลาดจำนวนมาก ทำให้ REIC มีคำแนะนำผู้ประกอบการให้ลงทุนอย่างระมัดระวัง ในการเปิดตัวใหม่ประเภทคอนโด   เปิดทำเลบ้าน-คอนโด เหลือขายและขายดี ในจ.ภูเก็ต สำหรับทำเลบ้านและคอนโด ใน จ.ภูเก็ต ช่วงครึ่งปีหลัง 2562 ซึ่งเหลือขายจำนวน 7,741 ยูนิต มูลค่า 37,409 ล้านบาทนั้น  พบว่า ทำเลที่เหลือขายมากที่สุด จะเป็นทำเลหาดบางเทา-สุรินทร์ เหลือขาย 1,922 ยูนิต รองลงมาเป็นทำเลเทพกระษัตรี-ศรีสุนทร 1,380 ยูนิต ทำเลหาดในยาง-หาดไม้ขาว 1,148 ยูนิต  ทำเลหาดกมลา 867 ยูนิต และทำเลเกาะแก้ว-รัษฎา 706 ยูนิต   โดยระดับราคาบ้านและคอนโด จ.ภูเก็ต เหลือขายมากที่สุด จะเป็นกลุ่มระดับราคา 3.01-5.00 ล้านบาท เหลือขาย จำนวน 3,002 ยูนิต รองลงมาเป็นราคา 2.01-3.00 ล้านบาท เหลือขาย 1,884 ยูนิต  ราคา 5.01-7.50 ล้านบาท เหลือขาย 1,620 ยูนิต  ราคา 7.51-10.00 ล้านบาท ​เหลือขาย 499 ยูนิต และราคา 1.51-2.00 ล้านบาท  เหลือขาย 327 ยูนิต   อัตราการขายบ้านและคอนโด จ.ภูเก็ต ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 จะพบว่า มีอัตราการดูดซับที่ลดต่ำลงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่มีอัตราดูดซับเฉลี่ย 4.4% โดยมีอัตราการดูดซับเพียง 2.8% เท่านั้น เป็นเพราะปริมาณสินค้าเหลือขายในตลาดจำนวนมาก รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งทำเลที่มีอัตราการขายได้ใหม่นั้น อันดับแรกจะอยู่ในทำเลหาดบางเทา-หาดสุรินทร์ ขายได้จำนวน 365 ยูนิต รองลงมาเป็นทำเลเกาะแก้ว-รัษฎา จำนวน 214 ยูนิต ทำเลหาดราไวย์ จำนวน 183 ยูนิต  ทำเลหาดกมลา จำนวน 171 ยูนิต และทำเลเทพกระษัตรี-ศรีสุนทร จำนวน 127 ยูนิต โดยในช่วงสิ้นปี 2562 พบว่า บ้านและคอนโด จ.ภูเก็ต ซึ่งมีการก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ มีอยู่ในตลาดจำนวน 1,037 ยูนิต มูลค่า 4,645 ล้านบาท แบ่งเป็น คอนโด จำนวน 626 ยูนิต บ้านเดี่ยว 94 ยูนิต บ้านแฝด 85 ยูนิตทาวน์เฮ้าส์ 219 ยูนิต และอาคารพาณิชย์ 13 ยูนิต   ทำเลบ้านและคอนโด จ.ภูเก็ต ที่สร้างเสร็จเหลือขายมากที่สุด อันดับแรกเป็นทำเลเกาะแก้ว-รัษฎา จำนวน 268 ยูนิต  รองลงมาเป็นทำเลหาดในยาง-หาดไม้ขาว จำนวน 221 ยูนิต  ทำเลหาดป่าตอง จำนวน 131 ยูนิต ทำเลเทพกระษัตรี-ศรีสุนทร จำนวน 100 ยูนิต  และทำหาดบางเทา-หาดสุรินทร์ จำนวน 86 ยูนิต  โดยระดับ ราคาบ้านและคอนโด จ.ภูเก็ต สร้างเสร็จเหลือขายมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มระดับราคา 3.01-5.00 ล้านบาท เหลือขาย 436 ยูนิต ราคา 2.01-3.00 ล้านบาท เหลือขาย 273 ยูนิต ราคา 5.01-7.50 ล้านบาท เหลือขาย 121 ยูนิต ราคา 1.51-2.00 ล้านบาท เหลือขาย 69 ยูนิต และราคา 1.01-1.50 ล้านบาท เหลือขาย 41 ยูนิต แนวโน้มตลาดอสังหาฯ จ.ภูเก็ต ปี 63 ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ มองแนวโน้มตลาดอสังหาฯ ในปี 2563 จะมีที่อยู่อาศัยเหลือขายอยู่ในตลาดจำนวน 8,966 ยูนิต ประกอบด้วยคอนโด จำนวน 5,679 ยูนิต ทาวน์เฮ้าส์จำนวน 1,510 ยูนิต บ้านเดี่ยวจำนวน 937 ยูนิต บ้านแฝดจำนวน 786 ยูนิต และอาคารพาณิชย์จำนวน 54 ยูนิต มีโครงการเปิดขายใหม่จำนวน 2,700 ยูนิต ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 2 ปีที่มีการเปิดขายปีละประมาณ 4,800 ยูนิต   คาดว่าในปี 2563 อัตราดูดซับจะลดทุกกลุ่มประเภทที่อยู่อาศัย โดยลดเหลือประมาณ 1.1-1.8%  และที่อยู่อาศัยเหลือขายจะยังคงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มคอนโด  จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน     ส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย  ซึ่งแสดงถึงความต้องการที่แท้จริงคาดการณ์ในปี 2563 ก็จะลดลงมาอยู่ที่ 6,553 ยูนิต ลดลง​18.1%  มีมูลค่าประมาณ 14,401 ล้านบาท ลดลง 40.2% เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่มีมูลค่า 19,157 ล้านบาท ด้วยภาพรวมดังกล่าวผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การเสนอขาย โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยประเภทคอนโด ที่มีอัตราการดูดซับชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากช่วงต้นปี 2562 และคาดว่าจะต่อเนื่องมาถึงปี 2563 ด้วย
5 เหตุผลที่ทำให้ ห้าแยกลาดพร้าว เป็นทำเลศักยภาพของปัจจุบันและอนาคต

5 เหตุผลที่ทำให้ ห้าแยกลาดพร้าว เป็นทำเลศักยภาพของปัจจุบันและอนาคต

ในบรรดาทำเลจุดตัดถนนสำคัญของกรุงเทพฯ สิ่งที่มักเป็นปรากฎการณ์ให้เห็นอย่างชัดเจน คือ ความเจริญเติบโตของการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์บริเวณจุดตัดนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ ศูนย์การค้าและพื้นที่รีเทลจำนวนมาก รวมถึงการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมอย่างหนาแน่น   โดยหนึ่งในจุดตัดถนนสำคัญของกรุงเทพฯ ลำดับต้นๆ ที่มีความเจริญด้านการพัฒนาโครงการอสังหาฯ รูปแบบต่าง ๆ คงต้องยกให้บริเวณห้าแยกลาดพร้าว  เพราะเต็มไปด้วยโครงการจำนวนมาก ทั้งอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และโครงการคอนโดฯ ที่สำคัญยังเป็นจุดเชื่อมต่อระบบคมนาคมสำคัญของเมือง ทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว กับรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินอีกด้วย 5 ปัจจัยผลักดันให้ห้าแยกลาดพร้าวทำเลทอง ข้อมลจากบริษัท บางกอกซิตี้สมาร์ท จำกัด (บีซี) ระบุว่า ทำเลลาดพร้าวปี 2563 นี้ ถือเป็นทำเลแห่งอนาคตของวันนี้อย่างแท้จริง (Ladprao 2020 – The Future is Now) เพราะมี 5 ปัจจัยหลักสำคัญ ที่เข้ามาสนับสนุน ทำให้โซนห้าแยกลาดพร้าว เป็นแม่เหล็กดึงดูดทั้งผู้ประกอบการให้เข้ามาลงทุนจำนวนมาก รวมถึงกระตุ้นความคึกคักตลาดคอนโดฯ ทั้งลูกค้าเรียลดีมานด์ รวมถึงกลุ่มนักลงทุน ที่ยังสามารถเข้ามาสร้างโอกาสได้จากผลตอบแทนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ทำเลห้าแยกลาดพร้าวมีศักยภาพ คงมาจาก 5 ปัจจัย ดังนี้ 1.ศูนย์กลางของการเดินทางและระบบขนส่งมวลชน นอกจากการเป็นจุดเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าสำคัญ 2 สาย คือ รถไฟฟ้าวบีทีเอสสายสีเขียว และรถไฟใต้ดินสายน้ำเงิน  ซึ่งปัจจุบันมีการขยายการเดินรถออกไปเพิ่มมากขึ้น รถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว เปิดเดินรถต่อไปถึงสถานีวัดพระศรีฯ​ ขณะที่รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน สามารถเดินทางเชื่อมต่อไปได้ถึงท่าพระหรือสถานีหลักสอง นอกจากนี้  ในพื้นที่ห้าแยกลาดพร้าว ยังตั้งอยู่ใกล้กับสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์กลางสายรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่กำลังจะสร้างเสร็จและเปิดให้บริการในช่วงต้นปี 2564 นี้อีกด้วย ทำให้พื้นที่โดยรอบของสถานีกลางบางซื่อ เจริญเติบโตเพิ่มขึ้นตามมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นในด้านปริมาณหรือด้านราคาอสังหาฯ   2.ศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่ พื้นที่ห้าแยกลาดพร้าว และพื้นที่โดยรอบ ปัจจุบันมีการพัฒนาขยายตัวของบรรดา อาคารสำนักงานเกรดเอและบีครอบคลุมกว่า 300,000 ตารางเมตร และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสถานีกลางบางซื่อสร้างเสร็จ จะส่งผลให้เกิดพื้นที่อาคารสำนักงานแห่งใหม่อีกกว่า 100,000 ตารางเมตร ซึ่งคาดการณ์ว่าจะส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของพนักงานออฟฟิศทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรวมกว่า 40,000 คน ทำให้มีผู้สนใจลงทุนในย่านนี้จำนวนมาก จึงปฏิเสธ ไม่ได้ว่าพื้นที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว กำลังเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและธุรกิจแห่งใหม่ที่มีความสำคัญ  อีกหนึ่งโซนของพื้นที่กรุงเทพฯ   3.ศูนย์กลางสิ่งอำนวยความสะดวก  บริเวณห้าแยกลาดพร้าว  แม้ว่าจะไม่ใช่พื้นที่ธุรกิจใจกลางเมือง หรือ CBD แต่ถือเป็นย่านที่มีความเจริญและความสะดวกครบถ้วน โดยเฉพาะการมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ อย่างศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ที่มีผู้ใช้บริการมากกว่า 150,000 คนต่อวัน นอกจากนี้ ยังมีศูนย์การค้าอื่นอีก ไม่ว่าจะเป็นยูเนี่ยนมอลล์ หรือเทสโก้ โลตัส ที่สำคัญในโซนห้าแยกลาดพร้าว ใกล้กับแหล่งช้อปปิ้งขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ ที่มีชื่อเสียงดังไปทั่วโลก คือ ตลาดนัดจตุจักร ที่มีการเปิดขายสินค้าหมุนเวียนแทบจะทุกวันตลอดสัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็นประเภทต้นไม้ สัตว์เลี้ยง หรือสินค้าทั่วไป ในพื้นที่ติดตลาดนัดจตุจักร ยังมีศูนย์การค้าเปิดให้บริการอีก 2 แห่ง คือ ศูนย์การค้ามิกซ์​จตุจักร และเจเจมอลล์  นี่ยังไม่นับรวมตลาดนัดเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามพื้นที่สำนักงานใหญ่ๆ ที่อยู่โดยรอบให้ผู้คนได้ช้อปปิ้งกันอีกมากมายด้วย   4.มีพื้นที่สีเขียวที่เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ถึง 3 แห่ง บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ยังใกล้กับปอดขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ  เพราะมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ถึง 3 แห่ง ได้แก่ สวนวชิรเบญจทัศ หรือสวนรถไฟ ขนาด 375 ไร่  สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ขนาด 196 ไร่ และสวนจตุจักร ขนาด 155 ไร่  เมื่อนับพื้นที่รวมกันมีขนาดพื้นที่มากถึง 726 ไร่ หรือ 1.12 ล้านตารางเมตรเลยทีเดียว   5.ตลาดคอนโด เติบโตและมีราคาที่คุ้มค่า   ตลาดคอนโด ในย่านทำเลห้าแยกลาดพร้าว นับว่าเติบโตต่อเนื่อง แม้จะมีปริมาณไม่มาก แต่ก็เพิ่มขึ้นโดยตลาด ที่สำคัญยังมีราคาขายที่สามารถจับต้องได้ และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น จึงเหมาะสำหรับกลุ่มผู้อยู่อาศัยจริง และกลุ่มนักลงทุน สำหรับข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ของบีซีตั้งแต่ช่วงปี 2558-2562  พบการเปิดตัวของโครงการคอนโด ติดถนนหลักเส้นพหลโยธิน ตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินพหลโยธิน-สถานีรถไฟฟ้ารัชโยธิน ทั้งสิ้น 11 โครงการ จำนวน 8,263 ยูนิต ในราคาขายเฉลี่ย 145,000 บาทต่อตารางเมตร  มียอดขายรวมแล้วกว่า 74% โดยหากเจาะข้อมูลดีมานด์ในแต่ละสถานีพบว่า สถานีที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ สถานีบีทีเอสห้าแยกลาดพร้าวที่มีอัตราการตอบรับที่ดีที่สุด ด้วยยอดขายรวมกว่า 82% มียูนิตคงเหลือขายประมาณ 490 ยูนิตเท่านั้น สาเหตุหลักเพราะเป็นทำเลที่ดีที่สุดเปรียบเสมือนศูนย์กลางของย่านนี้   ขณะที่คอนโด ในกลุ่มสินค้ารีเซล ก็พบการปรับตัวของราคาขึ้นมาปีละประมาณ 8% เช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ซื้อที่ต้องการลงทุนในการปล่อยเช่าและขายต่อให้ความสนใจในตลาดโซนนี้ไม่แพ้กัน เพราะผลตอบแทนจากการปล่อยเช่าระยะยาว (Rental Yield) ของคอนโด ในย่านนี้ พบอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 4-5% ซึ่งคอนโด ในทำเลนี้ ยังมีราคาเหมาะสมในการซื้อ ทั้งเพื่ออยู่อาศัยและเพื่อการลงทุนระยะยาว   บิ๊กเนมแห่ปักหมุดผุดโปรเจ็กต์ สำหรับความเคลื่อนไหวการพัฒนาโครงการคอนโดฯ ในย่านห้าแยกลาดพร้าว นับว่ามีมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี เพราะในบริเวณห้าแยกลาดพร้าว เป็นจุดตัดถนนสำคัญถึง 3 เส้น ได้แก่ ถนนพหลโยธิน ถนนลาดพร้าว และถนนวิภาวดี-รังสิต ซึ่งสามารถเดินทางไปยังจุดต่าง ๆ ได้ทั่วกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันยังใกล้กับสถานที่สำคัญ ทั้งหน่วยงานราชการ อาคารสำนักงาน บริษัทเอกชน ศูนย์การค้า หรือแม้แต่การเชื่อมต่อไปยังต่างจังหวัด เพราะใกล้กับสถานีขนส่งหมอชิต ยิ่งแผนการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน ผ่านบริเวณห้าแยกลาดพร้าว ดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่จึงแห่กันมาจับจองที่ดินขึ้นโครงการกันมากมาย   โดยปัจจุบันยังพบว่า มีหลายโครงการที่ยังเปิดการขาย หรือเป็นโครงการพร้อมเข้าอยู่ รวมถึงกำลังก่อสร้าง แต่ยังไม่เปิดการขายหลายโครงการ โดยเฉพาะบนถนนพหลโยธิน  ช่วงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีพหลโยธิน และรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งมีโครงการที่น่าสนใจ ได้แก่   1.โครงการเดอะเครสท์ พาร์ค เรสซิเดนซ์ (The Crest Park Residences) เป็นโครงการภายใต้การร่วมทุนระหว่างบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับ Nishitetsu Group ยักษ์ใหญ่และผู้นำในภูมิภาค คิวชูของประเทศญี่ปุ่น โดยตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน ตรงข้ามห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ใกล้กับห้าแยกลาดพร้าว มีระยะห่างเพียง 75 เมตร ถึง รถไฟฟ้าใต้ดินสถานีพหลโยธิน และใกล้กับบีทีเอสสถานีห้าแยกลาดพร้าว ตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ จำนวน 429 ยูนิต มูลค่าโครงการ 3,500 ล้านบาท ซึ่งราคาขายเฉลี่ยกว่า 2-2.5 แสนบาทต่อตารางเมตร  ซึ่งโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และวางแผนเปิดการขายในปีนี้   2.โครงการไลฟ์ ลาดพร้าว (LIFE LADPRAO) คอนโดพร้อมอยู่ จากบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)หรือ เอพี นับเป็นหนึ่งในไฮไลท์โปรเจคร่วมทุนระหว่างเอพีและพันธมิตรญี่ปุ่น มิตซูบิชิ เอสเตท เรสซิเดนซ์ (บริษัทในเครือมิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป) ตั้งอยู่ใกล้กับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีห้าแยกลาดพร้าว มากที่สุด มีมูลค่าโครงการ 8,000 ล้านบาท จำนวน 1,615 ยูนิต     3.โครงการไลฟ์ ลาดพร้าว แวลลีย์ (Life Ladprao Valley) อีกหนึ่งโครงการของค่ายเอพี ซึ่งตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน ใกล้กับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีห้าแยกลาดพร้าวอีกหนึ่งโครงการ บนพื้นที่โครงการกว่า 5 ไร่ ปัจจุบันงานก่อสร้างโครงสร้างคืบหน้ากว่า 73% มีจำนวนยูนิต 1,140 ห้อง และร้านค้า 1 ร้าน 4.โครงการไลฟ์ ลาดพร้าว สเตชั่น (Life Ladprao Station) เป็นโครงการที่ 3 ของค่ายเอพี ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้าง เป็นโครงการบนพื้นที่กว่า 2 ไร่ ขนาดอาคารสูง 42 ชั้น จำนวน 636 ยูนิต น่าจะมีมูลค่าโครงการประมาณ 2,100 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันยังไม่เปิดการขาย คาดว่าจะเปิดขายได้ภายในช่วงปี 2564 ถือเป็นโครงการล่าสุดที่เข้ามาปักหมุดในทำเลห้าแยกลาดพร้าว 5.โครงการเดอะ ไลน์ พหลโยธิน พาร์ค (The Line Phahonyothin Park) โครงการคอนโดฯ ภายใต้การร่วมทุนระหว่างแสนสิริและบีทีเอส กรุ๊ป เป็นอาคารขนาดสูง 32 ชั้น มีจำนวน 880 ยูนิต มูลค่าโครงการ 4,900 ล้านบาท ในความเป็นจริงแล้ว บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ทุกถนนที่วิ่งตัดผ่าน ต่างมีโครงการคอนโด พัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งติดถนนใหญ่และตามซอยแยกเข้าไปมากมาย เพราะด้วยปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ข้างต้น จึงไม่แปลกใจที่จะส่งผลให้ที่ดินบริเวณนี้มีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บางแปลงพุ่งทะลุไปกว่า 1 ล้านบาทต่อตารางวาก็เคยมีให้เห็นมาแล้ว และเป็นทำเลที่ได้รับความนิยมจากดีเวลลอปเปอร์ไม่แพ้ในโซนใจกลางเมืองเลยทีเดียว เชื่อว่าหลังจากโครงการขนาดใหญ่ อย่างสถานีกลางบางซื่อ ก่อสร้างเสร็จแล้วและเปิดให้บริการ ศักยภาพของทำเลห้าแยกลาดพร้าว คงได้รับอานิสงค์และมีการเติบโตมากขึ้นอีกหลายเท่าตัวอย่างแน่นอน  
3 บิ๊กอสังหาฯ ฝ่าวิกฤตโควิด-19 กับยอดขายครึ่งปีแรกที่ดีเกินคาด !!

3 บิ๊กอสังหาฯ ฝ่าวิกฤตโควิด-19 กับยอดขายครึ่งปีแรกที่ดีเกินคาด !!

เริ่มต้นปี 2563 เชื่อว่าหลายคนคงไม่คาดคิดว่า ปีนี้ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงไปเกือบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องการทำงาน หรือทำธุรกิจ ทุกคนต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงานกันแทบทั้งหมด   ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็เกิดปรากฏการณ์หลายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการขายและการตลาดออนไลน์ เพราะผู้บริโภคไม่ออกจากบ้าน ต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ รูปแบบการขายจึงมุ่งเน้นไปที่การไลฟ์สด การขายผ่านออนไลน์ช่องทางต่าง ๆ ผสมกับแคมเปญการตลาด ลด แลก แจก แถม ที่กระหน่ำใส่กันเข้ามา โดยเฉพาะการหั่นราคาขายหนักสุดเท่าที่เคยมีมาก่อน หรือแม้แต่กลยุทธ์ช่วยผ่อนก่อนมากถึง 5 ปี เพื่อทำให้ลูกค้าที่อยากมีที่อยู่แล้วเกิดลังเล กล้าจะตัดสินใจซื้อ   ช่วงเกิดการแพร่ระบาดช่วงแรก ๆ ดีเวลลอปเปอร์หลายราย วิตกและกังวล กลัวว่าปีนี้ธุรกิจอาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อาจจะย่ำแย่จากปัจจัยที่ไม่ได้คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น แต่ผลจากการทำตลาดอย่างหนัก บวกกับการปรับตัวที่รวดเร็วของดีเวลลอปเปอร์ ในการทำตลาดและรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิด ทำให้ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา หลายบริษัทยังรักษาการเติบโต สามารถกวาดยอดขายมาตุนไว้ในมือ ซึ่งหลายรายทำได้ดีเกินกว่าที่คาดเอาไว้ด้วยซ้ำ ORI โชว์พรีเซลครึ่งปีแรก 11,200 ล้าน นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI  เปิดเผยว่า ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาบริษัทมียอดพรีเซลล์กว่า 6,400 ล้านบาท สูงกว่าในไตรมาสแรกกว่า 32% แบ่งเป็นยอดขายจากกลุ่มบ้านจัดสรร 30% และคอนโดมิเนียม 70% ยอดขายดังกล่าวส่งผลให้ภาพรวมในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทมียอดขายสะสมแล้วกว่า 11,200 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็น บ้านจัดสรร 32% และคอนโดมิเนียม 68%   ยอดขายครึ่งปีแรก คิดเป็นกว่า 52% ของเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ 21,500 ล้านบาท  ทำให้มีโอกาสที่ภาพรวมทั้งปีนี้  จะสามารถทำยอดขายได้มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ สาเหตุสำคัญที่ผลักดันยอดขายของบริษัทให้เติบโตโดดเด่นต่อเนื่อง มาจากการกลยุทธ์การขายที่ตอบสนองกับสถานการณ์ตลาด ควบคู่ไปกับการปรับเดินเกมการตลาดเชิงรุก เพิ่มช่องทางขายสินค้าบุกแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น อาทิ การเปิด Official Store บนแพลตฟอร์ม Shopee และ Lazada รวมทั้งการผลักดันพนักงานให้ก้าวสู่ Micro Influencer ขายสินค้าผ่านช่องทางสื่อสารส่วนบุคคล ภายใต้โปรเจ็คท์ Everyone can sell เพื่อเพิ่มการเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายโดยตรง สำหรับภาพรวมครึ่งปีหลัง  บริษัทจะมีโครงการสร้างเสร็จ  พร้อมทยอยโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มเติมอีก 6 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 10,000 ล้านบาท เริ่มจากไตรมาส 3 จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการไนท์บริดจ์ ไพร์ม อ่อนนุช และ 2.โครงการ ไนท์บริดจ์ คอลลาจ สุขุมวิท 107 และในช่วงไตรมาสสุดท้ายอีก 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการ ดิ ออริจิ้น สุขุมวิท 105, 2.โครงการ เคนซิงตัน ระยอง, 3.โครงการ ไนท์บริดจ์ เกษตร โซไซตี้ และ 4.โครงการ ไนท์บริดจ์ สเปซ รัชโยธิน โดยภาพรวมโครงการต่างๆ มียอดขายเฉลี่ยประมาณ 80-90% คาดว่าหลังก่อสร้างเสร็จแล้ว จะช่วยสร้างทั้งยอดขายใหม่และยอดโอนกรรมสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง แสนสิริ ปรับเป้าใหม่ พร้อมตุนยอดขาย 65% นายอภิชาติ จูตระกูล ประธานอำนวยการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เผยว่า  ช่วงครึ่งปีแรกบริษัทสามารถทำยอดขายได้จำนวน 22,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 63% จากเป้าหมายยอดขาย 35,000 ล้านบาท  โดยเป้าหมายยอดขาย 35,000 ล้านบาท เป็นเป้าหมายยอดขายใหม่ที่บริษัทได้ปรับเพิ่มจากช่วงต้นปี ที่ประกาศว่าจะทำยอดขายได้ 29,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงแต่เป้าหมายยอดขายเท่านั้น แต่ยังปรับเป้ายอดโอนด้วย  โดยวางเป้าหมายยอนในปีนี้ใหม่เป็น 39,000 ล้านบาท จากแผนเดิมวางเป้าหมายยอดโอน 33,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายที่เติบโตสูงกว่าปีที่ผ่านมา 26% ความสำเร็จของแสนสิริดังกล่าว คงมาจากหลายปัจจัย ที่สำคัญคงเป็นเรื่องของกลยุทธ์การทำตลาด ซึ่งทำให้สามารถสร้างยอดขายได้ในท่ามกลางภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (อ่านข่าวประกอบ .. 8 เหตุผลที่แสนสิริ ประกาศปรับเป้าเพิ่มทั้ง “รายได้-ยอดขาย”) “อนันดา” ตุนยอดขาย 7,500 ล้าน สำหรับบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในปีนี้มีแผนเปิดตัวโครงการใหม่เพียง 1 โครงการเท่านั้น ซึ่งเป็นโครงการคอนโด  ไอดีโอ พหล-สะพานควาย (IDEO Phahol-Saphankwai) ซึ่งเป็นโครงการที่ปรับแผนการเปิดตัวมาจากช่วงปี 2562 ส่วยยอดขายและรายได้สำหรับปีนี้ จะมาจากโครงการที่เปิดขายก่อนหน้า และโครงการที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปีนี้   ดร. ชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า  บริษัททำยอดขายช่วง 6 เดือนแรก ได้ประมาณ 7,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบ 50% ของเป้ายอดขายทั้งปีที่ตั้งไว้ 16,600 ล้านบาท ซึ่งแนวโน้มยอดขายไตรมาส 2/2563 ค่อนข้างดีกว่าที่คาด โดยเฉพาะเดือนเมษายน-พฤษภาคม ที่ทำยอดขายสูงถึง 3,000 ล้านบาท ส่วนแนวโน้มรายได้ในครึ่งหลังของปี 2563 คาดว่าจะสูงกว่าครึ่งปีแรก   โดยช่วงครึ่งปีหลังจะมีการโอนคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จใหม่ทั้งหมด 5 โครงการ ในไตรมาส 3 มีจำนวน 4 โครงการ  ประกอบด้วย Ashton  Asoke-Rama 9, Ideo Q Sukhumvit 36 , Ideo Mobi Sukhumvit Eastpoint และ Ideo Ratchada-Sutthisan และไตรมาส 4 จะเริ่มทยอยโอนโครงการ Elio Sathorn-Wutthakat ขณะที่แนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมาก โดยเฉพาะยอดขายและยอดโอน หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลายลง และมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ภาพรวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่สภาวะปกติ โดยสัญญาณดังกล่าวมีแนวโน้มดีขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ที่ยอดการเข้าเยี่ยมชมโครงการของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 300-400 คนต่อวัน จากช่วงก่อนหน้าที่ 100 คนต่อวัน ซึ่งสะท้อนว่ากลุ่มลูกค้ากลับมาให้ความสนใจซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังได้ปรับกลยุทธ์การตลาดและเพิ่มการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี และสามารถสร้างยอดขายได้เป็นอย่างดี  
12 บทสรุปราคาคอนโด ท่ามกลางวิกฤต COVID-19

12 บทสรุปราคาคอนโด ท่ามกลางวิกฤต COVID-19

ปรากฏการณ์ หั่นราคาคอนโด ในช่วงภาวะวิกฤต COVID-19 ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ที่บางรายยอมลดราคามากถึง 50% สะท้อนให้เห็นถึง ความไม่มั่นใจต่อสภาพเศรษฐกิจว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น จากก่อนหน้านี้สภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปก็ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดอสังหาฯ  โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมเอง ก็มีผลกระทบจากมาตรการ LTV ทำให้กำลังซื้อชะลอตัวลงด้วย   การลดราคาของผู้ประกอบการ ก็เพื่อต้องการกระตุ้นตลาด กระตุ้นยอดขายให้กลับฟื้นขึ้นมา ขณะเดียวกันก็เพื่อรักษาสภาพคล่องทางธุรกิจให้ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ จากปัจจัยลบแวดล้อมจำนวนมาก ทำให้ราคาคอนโด ที่เคยปรับตัวสูงขึ้น ต้องมีอัตราการเติบโตที่ลดลง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ล่าสุด ทาง EIC นำเสนอบทความ "เศรษฐกิจทรุด ฉุดราคาคอนโดฯ โตไม่แรงเหมือนเคย" เพื่อฉายภาพของราคาคอนโด ในภาวะที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของ COVID-19    EIC ทำการ web scraping ข้อมูลคอนโดมิเนียมบนเว็บไซต์ Hipflat.co.th เพื่อนำมาวิเคราะห์แนวโน้มราคาคอนโด พบว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ราคาคอนโดเฉลี่ยต่อตารางเมตรที่ประกาศขาย ในภาพรวมเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง อย่างต่อเนื่อง และมีราคาในบางพื้นที่เริ่มปรับลดลงเมื่อเข้าสู่ปี 2563 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาและผลกระทบจาก COVID-19 ข้อมูลคอนโดบนเว็บไซต์ Hipflat.co.th ที่ประกาศขาย มีจำนวนมากกว่า 60,000 โพสต์ จาก 2,416 โครงการ (ข้อมูล ณ วันที่ 27 มิ.ย. 2563) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขายมือสอง โดยกว่า 70% เป็นโครงการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เหลือเป็นโครงการคอนโด ในต่างจังหวัดที่กระจุกตัวในแหล่งท่องเที่ยวเป็นสำคัญ เช่น พัทยา ภูเก็ต เป็นต้น   EIC มองว่า ข้อมูลชุดนี้สามารถบ่งชี้ความต้องการขายจากเจ้าของคอนโด หรือนักลงทุนได้อย่างเป็นปัจจุบันและมีความครอบคลุมในหลายทำเล จึงถือเป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการติดตามภาวะของตลาดคอนโดในไทย และบทควาทที่ทาง EIC นำเสนอนั้น สามารถบทสรุปออกมาได้เป็น 11 ประเด็นสำคัญของราคาคอนโด ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ไตรมาสแรกที่ผ่านมา ดังนี้   1.อัตราการเติบโตของราคาคอนโด ทั้งประเทศเฉลี่ย 3.3% ต่อปี ในช่วงปี 2561-2562 ลดลงจากค่าเฉลี่ย 5 ปี (ปี 2556-2560) ก่อนหน้า ที่ราคาเคยปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.9% ต่อปี   2.ปี 2563 ราคาคอนโด  ต่อตารางเมตรในภาพรวมยังคงมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง ในไตรมาส 1 ราคาชะลอลงมาอยู่ที่ 1.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และซบเซาลงต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 จากราคาที่ปรับลดลงมาที่ 0.02% เทียบจากช่วงเดียวกันขอปีก่อน ซึ่งถือเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2553 และไตรมาส 2 ถือว่าราคาคอนโดในกรุงเทพฯ​ และปริมณฑลเติบโตต่ำสุดในรอบหลายปี 3.ปัจจุบันราคาเฉลี่ยของคอนโดอยู่ที่ประมาณ 97,000 บาทต่อตารางเมตร  แต่โครงการคอนโดในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน พื้นที่เขตปทุมวัน วัฒนา ราชเทวี พญาไท และสาธร  มีราคาเฉลี่ยต่อตารางเมตร อยู่ที่ 140,000 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเพียง 1.3%  แต่ยังถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2552   4.โครงการคอนโดในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอกและปริมณฑล มีแนวโน้มในลักษณะเดียวกัน โดยราคาเฉลี่ยต่อตารางเมตรในไตรมาสที่ 2 ปีนี้อยู่ที่ 89,000 บาท ขยายตัวในระดับต่ำที่ 0.3% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการชะลอตัวมา 4 ไตรมาสติดต่อกัน และเป็นอัตราการเติบโตของราคาของย่านนี้ที่ต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี   5.แนวโน้มราคาที่ชะลอตัวของโครงการคอนโด ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เกิดขึ้นทั้งในโครงการที่ใกล้และไกลสถานีรถไฟฟ้า   6.ในไตรมาสที่ 2 นี้ ราคาคอนโดใกล้สถานีรถไฟฟ้ารัศมีไม่เกิน 500 เมตร ทั้ง BTS MRT หรือ Airport Link (เฉพาะสถานีที่เปิดให้บริการแล้ว) มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 130,000 บาทต่อตารางเมตร  ราคาลดลง 0.1% เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา  นับเป็นการหดตัวครั้งแรกเท่าที่มีข้อมูลนับตั้งแต่ปี 2552   7.สำหรับคอนโดที่อยู่ไกลกว่า 500 เมตร มีราคาเฉลี่ย 90,000 บาทต่อตารางเมตร ราคาเพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่เป็นการขยายตัวที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากในไตรมาสก่อนหน้าและเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2556   8.ราคาคอนโดในต่างจังหวัดติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน สำหรับโครงการคอนโดในต่างจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเมืองท่องเที่ยวเป็นหลัก ได้แก่ ชลบุรี ภูเก็ต และ ประจวบคีรีขันธ์  โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาในทิศทางที่ซบเซากว่าในเขตกรุงเทพฯ โดยในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ราคาคอนโดในต่างจังหวัดมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 73,000 บาทต่อตารางเมตร ลดลงที่ 3.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังเป็นการหดตัวที่เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า  ที่มีอัตราเติบโตลดลง 1.6% ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 4 ปีนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2557   9.ปัจจัยสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้เม็ดเงินจากนักลงทุนชาวจีนในตลาดอสังหาฯ ไทยลดลง สะท้อนจากราคาคอนโด เฉลี่ยต่อตารางเมตรในบริเวณสถานีรถไฟฟ้าพระราม 9 และรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นทำเลยอดนิยมของนักลงทุนชาวจีน มีอัตราการเติบโตของราคาที่ปรับลดลงชัดเจน จากที่เคยเติบโตที่ 7.8% ต่อปี ในช่วงปี 2557-2561 ลดเหลือเพียงเติบโต 1.6% ในปี 2562   โดยมีการหดตัวในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 และยังติดลบต่อเนื่องมายัง 2 ไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งในไตรมาสล่าสุดลดลง 4.6%  ซึ่งปัจจุบันราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 110,000 บาทต่อตารางเมตร 10.ราคาคอนโดในทำเล MRT สายสีม่วงที่ประสบปัญหาซัพพลายล้นเกิน มีการชะลอตัวมาในช่วงหลายปีก่อนหน้าเช่นกัน โดยอัตราการเติบโตของราคาเฉลี่ยรายปีของย่านนี้ปรับลดมาในทุกปีตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา และมีการติดลบในทั้ง 2 ไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งปัจจุบันราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 69,000 บาทต่อตารางเมตร ทั้งนี้จาก 7 ไตรมาสล่าสุด ราคาต่อตารางเมตรในย่านนี้มีการปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า (หรือ ติดลบ %YOY) ไปถึง 6 ไตรมาสด้วยกัน   11.ราคาคอนโด ในเมืองท่องเที่ยวหดตัวลงต่อเนื่อง  เช่น ราคาคอนโดพัทยา ในไตรมาสที่ 1 มีราคาเฉลี่ยต่อตารางเมตรลดลง 3.3% และลดลงต่อเนื่องในอัตรา 4.5% ในไตรมาสที่ 2  เป็นสัญญาณบ่งชี้ของผลกระทบทางเศรษฐกิจของ COVID-19 ที่เริ่มส่งผ่านมายังตลาดคอนโด   12.ตลาดคอนโดมือสอง มีทิศทางของราคาที่ชะลอตัวลง สะท้อนถึงกำลังซื้อและการเก็งกำไรที่ลดลง ทำให้คอนโด ขายยากขึ้น โดยเฉพาะในทำเลที่มีซัพพลายล้นเกิน  นอกจากนี้ ยังมีผลจากการลดราคาคอนโดมือหนึ่ง ของผู้ประกอบการหลายราย เพื่อระบายจำนวนยูนิตเหลือขาย ซึ่งส่งผลทำให้ราคาคอนโดมือสองมีข้อจำกัด ในการปรับเพิ่มราคาขายมากขึ้น หรือกระทั่งต้องลดราคาลง 2 แนวทางทำธุรกิจอสังหาฯ หลัง COVID-19   EIC มองว่า หลายปัจจัยลบกดดันราคาคอนโด มาตั้งแต่ช่วงก่อน COVID-19  ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สงครามการค้า ภาวะซัพพลายล้นเกิน (oversupply) และมาตรการ LTV เป็นปัจจัยลบต่อภาคอสังหาฯ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อน COVID-19 ส่งผลให้แนวโน้มราคาคอนโดไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้รวดเร็วเหมือนในอดีต   ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังเพิ่มแรงกดดันให้กับตลาดคอนโด ที่กำลังซบเซา การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมไปถึงยังมีมาตรการ lockdown และมาตรการควบคุมการระบาดด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวโดยตรง ผลกระทบดังกล่าวจะส่งผลให้ภาวะตลาดคอนโดฯ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่ชะลอตัวมาอยู่แล้วนั้นต้องเผชิญกับแรงกดดันเพิ่มเติม โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ ตามความรุนแรงของผลกระทบในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีแนวโน้มในการฟื้นตัวที่ช้า ดังนั้น EIC จึงมีคำแนะนำ สำหรับผู้ประกอบการอสังหาฯ  ในการทำธุรกิจในภาวะที่ต้องเผชิญกับปัจจัยลบต่างๆ ดังนี้ 1.ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับสภาพคล่อง และเสถียรภาพทางการเงิน EIC มองว่า กำลังซื้อของผู้บริโภค สำหรับตลาดคอนโดมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวช้า ตามภาวะเศรษฐกิจ ภาพรวมที่คาดว่าจะใช้เวลานาน (ฟื้นตัวแบบ U-shape) ประกอบกับในตลาดยังมีซัพพลายส่วนเกินที่ต้องใช้เวลาในการดูดซับ ผู้ประกอบการจึงควรเตรียมตัวสำหรับภาวะความซบเซาดังกล่าว 2.ผู้ประกอบการควรติดตามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคหลัง COVID-19 พฤติกรรมผู้บริโภคภายหลังจาก COVID-19 ที่อาจเป็นภาวะปกติใหม่ หรือ New Normal ซึ่งจะมีผลต่อการซื้ออสังหาฯ เพื่ออยู่อาศัย เช่น แนวโน้มของการทำงานที่บ้าน (work from home) ที่อาจมีมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับลักษณะการใช้งานและพื้นที่ของที่อยู่อาศัยมากขึ้น และให้น้ำหนักกับการเลือกทำเลที่สะดวกเดินทางหรือใกล้ที่ทำงานน้อยลง หรือแนวโน้มความตื่นตัวด้านสุขอนามัยที่ผู้บริโภคอาจเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะในการพิจารณาเลือกที่อยู่อาศัยประเภทคอนโด  ซึ่งเป็นลักษณะการอยู่อาศัยร่วมกันกับคนหมู่มาก เป็นต้น  
สำรวจตลาดอสังหาฯ ชลบุรี ปี 63 “คอนโด-ทาวน์เฮ้าส์” แนวโน้มชะลอตัว

สำรวจตลาดอสังหาฯ ชลบุรี ปี 63 “คอนโด-ทาวน์เฮ้าส์” แนวโน้มชะลอตัว

พื้นที่ภาคตะวันออก นับว่ามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เพราะเป็นพื้นที่สำคัญทั้งด้านการท่องเที่ยว การเกษตร และเมืองอุตสาหกรรม พื้นที่ภาคตะวันออก ยิ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น เมื่อรัฐบาลจัดทำโครงการการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรืออีอีซี (EEC)  ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด  ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง   เมื่อพื้นที่ดังกล่าว ได้ถูกวางให้เป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้พื้นที่ดังกล่าวหนาแน่นไปได้ด้วยจำนวนประชากร  ทั้งที่ย้ายมาเพื่อทำงาน และอยู่อาศัย จึงทำให้เกิดการพัฒนาธุรกิจอื่นๆ ออกมารองรับ หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์  เพื่อการอยู่อาศัย เป็นการสร้างซัพพลายออกมารองรับ กับจำนวนประชากรที่ย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในพื้นที่ดังกล่าว และในบรรดาจังหวัดที่มีโคงการอสังหาฯ เกิดขึ้นอย่างหนาแน่น และเพิ่มจำนวนมาต่อเนื่อง คือ จังหวัดชลบุรี   โดยจากผลการสำรวจล่าสุด ในช่วงครึ่งหลังปี 2562 ในพื้นที่ภาคตะวันออก ของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) พบว่า จังหวัดชลบุรีมีจำนวนที่อยู่อาศัยเสนอขายมากที่สุดในกลุ่มจังหวัด EEC ซึ่งคาดว่าในปี 2563 นี้จะมีที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ จำนวน 6,689 ยูนิต แม้จะลดลงจากช่วงปี 2562 ที่มีเปิดตัวโครงการใหม่ 17,295 ยูนิต  ก็ตาม  โดยจะเป็นการเปิดตัวใหม่ในช่วงครึ่งปีแรก 3,651 ยูนิต และเปิดตัวใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง จำนวน 3,038 ยูนิต ขณะที่ยูนิตเหลือขายทั้งหมดคาดว่าจะมี 88,644 ยูนิต เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมามีจำนวน 85,481 ยูนิต ปี 63 ยอดขาชะลอตัวอัตรดูดซับเหลือ 1.1-1.3% ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า แนวโน้มที่อยู่อาศัยในจังหวัดชลบุรีในปี 2563 จะเหลือขายอยู่ในตลาดจำนวน 44,060 ยูนิต  ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับอัตราดูดซับที่ลดต่ำลงมาอยู่ที่  2.1%  ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 และคาดว่าในปี 2563 อัตราดูดซับจะเหลือประมาณ 1.1-1.3% และคาดการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยก็จะลดลงมาอยู่ที่ 30,141 ยูนิต มูลค่าประมาณ  59,293 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐานซึ่งมีมูลค่า 64,095 ล้านบาท ลดลง 20.0% โดยช่วงครึ่งปีหลังปี 2563 มีที่อยู่อาศัยเหลือขายอยู่ในตลาดจำนวน 44,060 ยูนิต ประกอบด้วย คอนโด  19,348 ยูนิต ทาวน์เฮ้าส์  12,699 ยูนิต บ้านเดี่ยว  5,730 ยูนิต บ้านแฝด  4,979 ยูนิต อาคารพาณิชย์  1,304 ยูนิต ในปี 2563 คาดว่าอัตราดูดซับจะเหลือประมาณ  1.1-1.3%  โดยคาดว่าที่อยู่อาศัยในแต่ละประเภท จะมีอัตราดูดซับในปี 2563 ดังนี้ คอนโด  มีอัตราดูดซับ 1.2% บ้านแฝด  มีอัตราดูดซับ 1.3% ทาวน์เฮ้าส์  มีอัตราดูดซับ 1.3% อาคารพาณิชย์   มีอัตราดูดซับ 1.2% บ้านเดี่ยว  มีอัตราดูดซับ 1.1% อสังหาฯ ชลบุรีโอนกรรมสิทธิ์ลดลง 12.9% การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในปี 2563 คาดว่า จะลดลงมาอยู่ที่ 30,141 ยูนิต หรือลดลง 12.9% จากปี 2562 ที่มีจำนวนการโอนกรรมสิทธิ์ 34,593 ยูนิต  ซึ่งปีนี้การโอนกรรมสิทธิ์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วง 5 ปีตั้งแต่ปี 2558-2562 ที่มีระดับการโอนกรรมสิทธิ์อยู่ที่ 33,812 ยูนิต  ส่วนมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ  59,293 ล้าน  บาท ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐานซึ่งมีมูลค่า 64,095 ล้านบาท ซึ่งลดลง 20.0% จากปี 2562 ที่มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ 74,106 ล้านบาท   ด้วยภาพรวมดังกล่าวผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การเสนอขาย โดยเฉพาะ คอนโด และทาวน์เฮ้าส์ที่มีอัตราการดูดซับชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากช่วงต้นปี 2562 และคาดว่าจะต่อเนื่องมาถึงปี 2563 มองตลาดอสังหาฯ ชลบุรี ครึ่งหลังปี 62 สำหรับผลการสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ช่วงสิ้นปี 2562 มีจำนวนที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างเสนอขายจำนวนทั้งสิ้น 675 โครงการ  แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร 510 โครงการ โครงการคอนโด 165 โครงการ  จำนวนรวม 50,655 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 176,116 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกที่มีจำนวน 49,750 ยูนิต  ในจำนวนที่อยู่อาศัยทั้งหมด แบ่งเป็น คอนโด  21,806 ยูนิต บ้านเดี่ยว  6,534 ยูนิต บ้านแฝด  5,747 ยูนิต ทาวน์เฮ้าส์  15,053 ยูนิต อาคารพาณิชย์  1,515 ยูนิต โดยมีโครงการที่เปิดขายใหม่ในช่วงครึ่งปีหลังเพียง 6,593 ยูนิต แบ่งเป็นอาคารชุด 3,700 ยูนิต และบ้านจัดสรร 2,893 ยูนิต เมื่อพิจารณาจากยูนิตขายได้ใหม่จากการสำรวจพบว่าในช่วงครึ่งหลังปี 2562 มียูนิตขายได้ใหม่จำนวน 6,270 ยูนิต ลดลงจากช่วงครึ่งปีแรก 27.5% ในจำนวนดังกล่าวเป็นการขายคอนโด  2,535 ยูนิต และเป็นบ้านจัดสรร 3,735 ยูนิต และมียูนิตเหลือขายจำนวน 44,385 ยูนิต เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก  8% มูลค่ารวม 155,838 ล้านบาท โดยมียูนิตเหลือขายประเภทโครงการคอนโดจำนวน 19,271 ยูนิต บ้านจัดสรรจำนวน 25,114 ยูนิต   โดยบ้านจัดสรรที่เหลือขาย จำนวน 25,114 ยูนิต ยังแบ่งออกเป็นที่อยู่ประเภทต่างๆ ได้แก่ บ้านเดี่ยว  5,789 ยูนิต บ้านแฝด  5,002 ยูนิต ทาวน์เฮ้าส์  12,923 ยูนิต อาคารพาณิชย์  1,400 ยูนิต จากการที่จำนวนยูนิตขายได้ใหม่มีอัตราการขายได้ลดลงถึงร้อยละ 27.5% จึงส่งผลให้จำนวนที่อยู่อาศัยเหลือขายมีอัตราเพิ่มขึ้น 8% เปิด 5 ทำเลอสังหาฯ ขายดีในจังหวัดชลบุรี สำหรับทำเลที่อยู่อาศัยขายดี ของจังหวัดชลบุรี ได้แก่ 1.ทำเลพัทยา-เขาพระตำหนัก จำนวน 7,185 ยูนิต 2.ทำเลหาดจอมเทียน จำนวน 6,864 ยูนิต 3.ทำเลนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร-บายพาส จำนวน 3,798 ยูนิต 4.ทำเลนิคมอุตสาหกรรมบ่อวิน จำนวน 3,729 ยูนิต 5.ทำเลบางแสน-หนองมน-บางพระ จำนวน 3,306 ยูนิต   ระดับราคาที่เหลือขายมากที่สุด ใน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ระดับราคา 3.01-5.00 ล้านบาท เหลือขาย 13,411 ยูนิต 2.ระดับราค 2.01-3.00 ล้านบาท เหลือขาย 13,352 ยูนิต 3.ระดับราคา 1.51-2.00 ล้านบาท เหลือขาย 8,739 ยูนิต 4.ระดับราคา 5.01-7.50 ล้านบาท เหลือขาย 3,662 ยูนิต 5.ระดับราคา 1.01-1.50 ล้านบาท เหลือขาย 1,801 ยูนิต บทสรุปอสังหาฯ​ ชลบุรี ณ สิ้นปี 62 ส่วนตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดชลบุรี มียูนิตเหลือขายในช่วงสิ้นปี 2562 จำนวน 44,385 ล้านบาท มูลค่า 155,838 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการยังไม่ได้ก่อสร้าง 20,219 ล้านบาท อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 14,639 ล้านบาท และโครงการที่ก่อสร้างเสร็จ 9,527 ล้านบาท  ซึ่งเป็นโครงการพร้อมโอน  หรือเป็น Inventory ในตลาด คิดเป็นมูลค่า 31,501 ล้านบาท  แบ่งเป็น คอนโด  4,608 ยูนิต บ้านเดียว  963 ยูนิต บ้านแฝด   691 ยูนิต ทาวน์เฮ้าส์   2,639 ยูนิต อาคารพาณิชย์  626 ยูนิต สำหรับทำเลที่มียูนิตสร้างเสร็จเหลือขายมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ทำเลหาดจอมเทียน จำนวน 1,496 ยูนิต 2.ทำเลพัทยา-เขาพระตำหนัก จำนวน 1,311 ยูนิต 3.ทำเลศรีราชา-อัสสัมชัญ จำนวน 1,209 ยูนิต 4.ทำเลนิคมอุตสาหกรรมบ่อวิน จำนวน 1,145 ยูนิต 5.ทำเลแหลมฉบัง จำนวน 1,051 ยูนิต   โดยระดับราคาที่อยู่อาศัย ซึ่งเหลือขายมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ระดับราคา 2.01-3.00 ล้านบาท จำนวน 2,958 ยูนิต 2.ระดับราคา 3.01-5.00 ล้านบาท จำนวน 2,377 ยูนิต 3.ระดับราคา 1.51-2.00 ล้านบาท จำนวน 1,779 ยูนิต 4.ระดับราคา 5.01-7.50 ล้านบาท จำนวน 678 ยูนิต 5.ระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท จำนวน 670 ยูนิต   ทำเลขายได้ใหม่สูงสุด 5 อันดับได้แก่ 1.ทำเลหาดจอมเทียน จำนวน 1,037 ยูนิต มีอัตราดูดซับ 2.2% 2.ทำเลพัทยา-เขาพระตำหนัก จำนวน 718 ยูนิต มีอัตราดูดซับ 1.5% 3.ทำเลนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร-บายพาส จำนวน 712 ยูนิต มีอัตราดูดซับ 2.6% 4.ทำเลบางแสน-หนองมน-บางพระ จำนวน 703 ยูนิต มีอัตราดูดซับ 2.9% 5.ทำเลศรีราชา-อัสสัมชัญ จำนวน 581 ยูนิต มีอัตราดูดซับ 2.7%
ส่องตลาดคอนโด ชะอำ-หัวหิน-เขาเต่า 5 เดือนแรกปี 63 ในภาวะโควิด-19

ส่องตลาดคอนโด ชะอำ-หัวหิน-เขาเต่า 5 เดือนแรกปี 63 ในภาวะโควิด-19

ตลาดคอนโด ชะอำ-หัวหิน-เขาเต่า 5 เดือนแรกปี 63 เปิดใหม่น้อย ขายได้แค่ 444 ยูนิต เจอผลกระทบในภาวะโควิด-19 โดยพื้นที่ชะอำพบซัพพลายเหลืออื้อ ผู้ประกอบการชะลอแผนเปิดโครงการใหม่ รอจังหวะตลาดอยู่ในภาวะสมดุล   บริเวณชะอำและหัวหิน ถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับความนิยม จากบรรดานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพราะเดินทางได้สะดวกและใกล้กับกรุงเทพฯ ใช้ระยะเวลาเดินทางไม่นาน แถมพื้นที่ดังกล่าว มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม ทำให้พื้นที่ชะอำและหัวหิน กลายเป็นเมืองพักตากอากาศยอดนิยม และมีโครงการอสังหาริมทรัพย์พัฒนาขึ้นมารองรับจำนวนมาก และหลากหลายรูปแบบ   พื้นที่ชะอำและหัวหิน โครงการอสังหาฯ ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อจับตลาดนักท่องเที่ยว และผู้ต้องการพักอาศัย เป็นบ้านหลังที่ 2 อย่างมากประเภทหนึ่ง คือ โครงการคอนโดมิเนียม ที่มีทั้งผู้ประกอบการจากส่วนกลาง และจากท้องถิ่นเอง เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นโครงงการที่มีระดับราคาขายค่อนข้างสูง แทบไม่แตกต่างจากเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมอื่นๆ ของไทย   แต่ในปีนี้สภาพตลาดคอนโด ในพื้นที่อำเภอชะอำ หิวหิน และเขาเต่า ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการพัฒนาโครงการคอนโด สภาพตลาดเป็นอย่างไรบ้าง ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทางบริษัท  ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด ได้จัดทำรายงานตลาดคอนโดในบริเวณชะอำ-หัวหิน-เขาเต่า ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ โดยระบุว่า  ภาพรวมตลาดคอนโดค่อนข้างชะลอตัว จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19   โดยพบว่าซัพพลายสะสมของคอนโดบริเวณชะอำ-หัวหิน-เขาเต่า ตั้งแต่ปี 2548 ถึง เดือนพฤษภาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 27,459 ยูนิต โดยคอนโดโดยส่วนใหญ่ถึง 54% เป็นคอนโดมิเนียมที่ไม่เห็นวิวทะเล ส่วนคอนโดที่เห็นวิวทะเลมีอยู่ในอัตราส่วน 46% ของซัพพลายทั้งหมด คอนโดชะอำ-หัวหิน ขายได้แค่ 444 ยูนิต โดยพบว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนยูนิตขายได้ใหม่ อยู่ที่ 444 ยูนิต  ซึ่งในช่วงกลางเดือนมีนาคม ถึง กลางเดือนพฤษภาคม พบว่า การขายคอนโดค่อนข้างชะลอตัว  เนื่องจากการที่ทางรัฐบาลกำหนดนโยบายห้ามการเดินทางข้ามพื้นที่ข้ามจังหวัด ทำให้คนไทยที่อยู่กรุงเทพฯ งดเว้นการเดินทางไปยังต่างจังหวัด อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการหลาย ๆ รายต่างพากันทำการขายในช่องทางออนไลน์ และทำโปรโมชั่น ลดแลกแจกแถม เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาจอง  โดยเฉพาะโครงการที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปีนี้ ตลาดคอนโดในพื้นที่ชะอำ หัวหิน และเขาเต่า จากผลการวิจัยของไนท์แฟรงค์  พบว่า ช่วง 5 เดือนแรก ขายไปได้แล้วทั้งสิ้น 23,044 ยูนิต จากจำนวนยูนิตคอนโดที่มีอยู่ในตลาดทั้งสิ้น 27,459 ยูนิต คิดเป็นอัตราการขายที่ 84% โดยอัตราการขายเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีอัตราการขายอยู่ที่ 83% เนื่องมาจากซัพพลายใหม่ที่เข้ามาในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มีเพียง 238 ยูนิต เท่านั้น   โดยโครงการคอนโดที่เปิดขายใหม่ เป็นโครงการที่ทำการบริหารโดยเชนโรงแรมระดับ 5 ดาว จำนวนยูนิตเหลือขายของคอนโดบริเวณชะอำ-หัวหิน-เขาเต่า มีจำนวนยูนิตเหลือขายประมาณ 4,415 ยูนิต ซึ่งคาดว่าหากไม่มีซัพพลายใหม่เกินขึ้น ยูนิตเหลือขายที่เหลือจะใช้เวลาขายอีกประมาณ 3 ปี ขณะที่จำนวนยูนิตขายเฉลี่ยต่อปี ของคอนโดในบริเวณดังกล่าว ในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ขายได้เฉลี่ยปีละประมาณ 1,600 ยูนิต ชะอำคอนโดเหลือขายเพียบ จากผลการสำรวจ ยังพบว่า คอนโดที่เหลือขายอยู่เป็นจำนวนมาก  มีสถานที่ตั้งอยู่บริเวณชะอำ โดยมีจำนวนยูนิตเหลือขายอยู่ที่ 3,119 ยูนิต โดยบริเวณชะอำน่าจะเป็นบริเวณที่มีโครงการใหม่เกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากที่ดินที่อยู่ติดทะเลในบริเวณนี้ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ประกอบการได้ตระหนักถึงซัพพลายคงเหลือ ของคอนโดที่ตั้งอยู่บริเวณชะอำซึ่งมีจำนวนยูนิตเหลือขายเป็นจำนวนมาก ผู้ประกอบการต่าง ๆ จึงชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ในบริเวณชะอำออกไป  จนกว่าซัพพลายคงเหลือจะเข้าสู่ภาวะสมดุล อย่างไรตาม คอนโดที่มีสถานที่ตั้งอยู่ในบริเวณหัวหินและเขาตะเกียบ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากซัพพลายเหลือขายมีจำนวนน้อยมาก ขณะที่สถานที่ตั้งบริเวณหัวหินและเขาตะเกียบ มีความสมบูรณ์รายล้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ร้านค้า ร้านอาหาร โรงพยาบาล และตลาด ความสะดวกสบายดังกล่าวส่งผลให้ผู้ซื้อสนใจซื้อคอนโด ที่มีสถานที่ตั้งอยู่บริเวณหัวหินและเขาตะเกียบมากขึ้น คนกรุงเทพฯ ลูกค้าหลักตลาดคอนโดหัวหิน-ชะอำ กลุ่มผู้ซื้อคอนโดในบริเวณชะอำ หัวหิน และเขาเต่า ส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯ สูงถึง 90% เนื่องจากระยะทางการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังบริเวณดังกล่าวค่อนข้างสั้น นอกจากนี้บริเวณนี้ยังค่อนข้างสมบูรณ์ มีโครงการการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่นห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ร้านอาหาร โรงแรม สวนน้ำ ส่วนชาวต่างชาติมีซื้อบ้างประมาณ 10% ชาวต่างชาติที่นิยมซื้อคอนโดในบริเวณนี้ ส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป ได้แก่ ชาวฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน สวิสเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ ชาวจีนมีบ้างแต่ไม่มากนัก   โดยชาวต่างชาติที่ซื้อคอนโดในหัวหิน ประกอบด้วยชาวต่างชาติที่มีภรรยาเป็นคนไทย และซื้อเพื่ออยู่ประจำ และชาวต่างชาติที่ซื้อคอนโดเพื่อเป็นบ้านหลังที่สอง  เพื่อเข้ามาพักผ่อนในช่วงปลายปี ที่เป็นช่วงไฮซีซั่นโดยเข้ามาพักในระยะเวลาประมาณ 2-4 เดือน ส่วนคนไทยที่ซื้อคอนโด ในบริเวณนี้มักเข้ามาพักผ่อนในช่วงวันหยุด ราคาคอนโดวิวทะเลขยับแค่ 0.3% ราคาเสนอขายเฉลี่ยของคอนโดที่เห็นวิวทะเล ในบริเวณนี้มีระดับราคาเสนอขายเฉลี่ยประมาณ 132,000 บาท ต่อตารางเมตร ราคาขายปรับตัวขึ้นในอัตรา 0.3% จากปลายปี 2562 ส่วนราคาเสนอขายเฉลี่ยของคอนโด ที่ไม่เห็นวิวทะเลในบริเวณนี้มีระดับราคาเสนอขายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 74,000 บาท ต่อ ตารางเมตร ราคาขายปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงอัตรา 0.4% จากปลายปี  2562 ราคาขายค่อนข้างคงที่ เนื่องจากสถานะการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  หลาย ๆ โครงการได้ทำราคาโปรโมชั่นในช่วงนี้   นางสาวริษิณี สาริกบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด  ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มของตลาดคอนโดในบริเวณชะอำ หัวหิน และเขาเต่า ว่า  ตลาดในปีนี้ค่อนข้างชะลอตัว  เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คอนโดที่เหลือขายในบริเวณนี้มักเป็นคอนโดที่ตั้งอยู่บริเวณชะอำ และไม่เห็นวิวทะเล ซึ่งมีซัพพลายหลือขายสูงเกิน 50% ของซัพพลายเหลือขายทั้งหมด ส่วนคอนโดที่ตั้งอยู่บริเวณหัวหิน เขาตะเกียบ และเขาเต่ามีแนวโน้มค่อนข้างดี เนื่องจากซัพพลายเหลือขายมีน้อย ส่งผลให้ระดับราคาขายมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ในช่วง 7 เดือนที่เหลือ คาดว่าจะไม่มีการเปิดตัวคอนโดในบริเวณนี้    
อสังหาฯ จ.พิษณุโลกปี 63 ซัพพลายเหลือเพียบ แนะชะลอเติมสินค้าใหม่เข้าตลาด

อสังหาฯ จ.พิษณุโลกปี 63 ซัพพลายเหลือเพียบ แนะชะลอเติมสินค้าใหม่เข้าตลาด

จังหวัดพิษณุโลก ถือเป็นหนึ่งจังหวัดสำคัญทางภาคเหนือ ที่มีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จากส่วนกลาง ได้เข้าไปปักหมุดพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยกันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนักพัฒนาในท้องถิ่นเอง ก็พัฒนาโครงการขึ้นมารองรับความต้องการภายในจังหวัดด้วย เพราะจังหวัดพิษณุโลกถือเป็นหนึ่งจังหวัดสำคัญด้านเศรษฐกิจ การลงทุน และการค้า รวมถึงศูนย์กลางความเจริญด้านต่าง ๆ ของภาคเหนือในตอนล่าง ไม่แพ้จังหวัดอื่น ๆ   โดยผลการสำรวจของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ REIC ในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 ซึ่งทำการสำรวจตลาดอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เพียงอำเภอเดียวเพราะถือเป็นศูนย์กลางด้านอสังหาฯ ของจังหวัด  ซึ่งผลจากการสำรรวจเป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วงครึ่งหลังปี 2562 จำนวนที่อยู่อาศัยอยู่ระหว่างการขาย มีจำนวนยูนิตลดลงจากช่วงครึ่งแรกของปี 2562  เนื่องจากมีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาดเพียง 180 ยูนิตเท่านั้น     ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งปีหลังปี 2562 จังหวัดพิษณุโลกมีจำนวนที่อยู่อาศัยทั้งหมด 2,595 ยูนิต ลดลงจากครึ่งปีแรก 0.8% จากทั้งหมด 2,615 ยูนิต และมียูนิตเหลือขายในครึ่งปีหลังจำนวน 2,461 ยูนิต แบ่งเป็นคอนโดมิเนียม จำนวน 338 ยูนิต และบ้านจัดสรรจำนวน 2,207 ยูนิต ลดลงจากครึ่งปีแรก 0.2% ที่มีจำนวน 2,466 ยูนิต แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 พบว่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 20.3% โดยมียูนิตเหลือขายรวม 2,829 ยูนิต แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 2,461 ยูนิต และ อาคารชุด 368 ยูนิต เปิด5 ทำเลขายดีในจ.พิษณุโลก สำหรับทำเลที่มีหน่วยเหลือขายมากที่สุด ได้แก่ 1.หัวรอ จำนวน 648 ยูนิต 2.บึงพระ จำนวน 440 ยูนิต 3.ในเมืองพิษณุโลก จำนวน 409 ยูนิต 4.แม่น้ำน่านฝั่งตะวันตก (ทะเลแก้ว) จำนวน 335 ยูนิต 5.ม.นเรศวร จำนวน 293 ยูนิต   ส่วนทำเลขายได้ใหม่สูงสุดของจังหวัดพิษณุโลก ได้แก่ 1.หัวรอ จำนวน 46 ยูนิต มีอัตราดูดซับ 1.1% 2.ในเมืองพิษณุโลก 24 ยูนิต มีอัตราดูดซับ 0.9% 3.แม่น้ำน่านฝั่งตะวันตก (ทะเลแก้ว) จำนวน 18 ยูนิต มีอัตราดูดซับ 0.8% 4.ม.นเรศวร จำนวน 17 ยูนิต มีอัตราดูดซับ 0.9% 5.วัดจันทร์ จำนวน 15 ยูนิต มีอัตราดูดซับ 1.3% อสังหาฯ 63 แนะชะลอเติมซัพพลายใหม่ สำหรับแนวโน้มในปี 2563  ศูนย์ข้อมูลฯ ได้ประมาณการว่า จะมีที่อยู่อาศัยเหลือขาย ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกอยู่ในตลาดจำนวน 2,521 ยูนิต ประกอบด้วย 1.คอนโด จำนวน 362 ยูนิต 2.บ้านเดี่ยว จำนวน 1,254 ยูนิต 3.บ้านแฝด จำนวน 531 ยูนิต 4.ทาวน์เฮ้าส์ จำนวน 212 ยูนิต 5.อาคารพาณิชย์ จำนวน 162 ยูนิต     เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับอัตราดูดซับจะมีอัตราที่ลดต่อลงต่อเนื่องจากปี 2561 โดยในครึ่งหลังปี 2562 อัตราดูดซับปรับลงมาอยู่ที่ 0.9% หากจำนวนที่อยู่อาศัยใหม่เข้ามาในตลาดตามที่ศูนย์ข้อมูลฯ ประมาณการไว้ ภายใต้เงื่อนไขกำลังซื้อที่ลดต่ำลงเช่นในปัจจุบัน คาดว่าในปี 2563 อัตราดูดซับจะเหลือประมาณสูงสุดจะอยู่ในระดับ 1.1%   ด้านการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย คาดการณ์ว่าการโอนกรรมสิทธิ์จะลดลงมาอยู่ที่ 2,085 ยูนิต มูลค่าประมาณ 3,610 ล้านบาท จำนวนยูนิตอาจต่ำกว่าค่าเฉลี่ยแต่ในส่วนของมูลค่ายังสูงกว่าค่าเฉลี่ยซึ่งมีมูลค่า 3,304 ล้านบาท โดยมูลค่าลดลง 9.1% เป็นการปรับตัวลดลงจาก 2561  การโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2563 คาดว่าจะมีประเภทคอนโด 180 ยูนิต สัดส่วน 8.6% คิดเป็นมูลค่า 338 ล้านบาท สัดส่วน 9.4% และบ้านจัดสรรร 1,905 ยูนิต สัดส่วน 91.4% คิดเป็นมูลค่า 3,272 ล้านบาท สัดส่วน 90.6%   สำหรับคำแนะนำในการทำตลาดและพัฒนาโครงการอสังหาฯ ในจังหวัดพิษณุโลกนั้น ศูนย์ข้อมูลเห็นว่า ไม่ควรพัฒนาโครงการใหม่ออกมาเพิ่ม เพราะในตลาดมีซัพพลายจำนวนมาก ต้องรอให้มีการกระตุ้นกำลังซื้อในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้ตลาดโดยรวมเข้าสู่ภาวะสมดุลก่อน เป็นการลดความเสี่ยง     
3 Mega Trends การอยู่อาศัยหลังผ่านวิกฤตโควิด-19

3 Mega Trends การอยู่อาศัยหลังผ่านวิกฤตโควิด-19

LPN Wisdom เผย  3 Mega Trends พลิกโฉมการออกแบบและพัฒนา โครงการอสังหาริมทรัพย์ไทย หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต้องมุ่งเน้นใน 3 ประเด็นหลัก  Wellness, Work-Life Balance และ  Virtual Livable Connect แต่มากกว่านั้น ต้องสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม   การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตคนในยุคปัจจุบัน ให้มุ่งเน้นในการคำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ทุก ๆ ส่วนของสังคม ต้องมุ่งเน้นความปลอดภัย และการอยู่ภายใต้มาตรฐานด้านการสาธารณสุข ทำให้ไม่ว่าชีวิตส่วนตัวหรือชีวิตการทำงาน ต้องปรับเปลี่ยนกันใหม่  ไปสู่วิถีชีวิตแบบ New Normal หรือ วิถีชีวิตปกติใหม่   สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัยของคน อย่างธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นับว่าเป็นธุรกิจที่ต้องปรับตัวอย่างมาก ไม่เพียงแค่ผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้การดำเนินธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนเท่านั้น แต่กลุ่มลูกค้าหลัก คือ ประชาชนทั่วไป ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิต หรือไลฟ์สไตล์ของการอยู่อาศัยไปด้วย เช่น การทำงานจากที่บ้าน หรือ Work From Home เพราะต้องเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) หรือ การหันมาซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น เพราะลดความเสี่ยงจากการได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นต้น   การเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิชีวิต หรือไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบัน จึงส่งผลให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์  ต้องกลับมาตีโจทย์ธุรกิจใหม่ กับการออกแบบและพัฒนาโครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่ง LPN Wisdom หรือ บริษัท ลุมพีนี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด ได้มองว่า การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะถูกให้ความสำคัญใน 3 ประเด็นหลัก หรือ 3 Mega Trends ดังนี้ คือ 1.เรื่องสุขภาพ (Wellness) 2.การออกแบบที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตอย่างสมดุล (Work-Life Balance) และ 3.การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการใช้ชีวิต (Virtual Livable Connect) นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ LPN Wisdom  บริษัทด้านการวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการอยู่อาศัยที่ให้ความสำคัญในเรื่องของสุขอนามัย (Wellness) และรูปแบบการทำงาน ที่ต้องการความสมดุลในการใช้ชีวิต (Work-Life Balance) ปรับเปลี่ยนจากการทำงานที่สำนักงาน ไปสู่การทำงานที่บ้าน (Work From Home)  หรือการทำงานในที่อื่น ๆ ในแบบ Anytime Anywhere   ในขณะที่รูปแบบการทำงาน และการใช้ชีวิตในปัจจุบัน  ผู้บริโภคสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Virtual Livable Connect) มาตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้มากขึ้นผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ  ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตให้กับผู้บริโภค จนกลายเป็นวิถีปกติใหม่ (New Normal) ในการใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน 3 Mega Trends ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย สำหรับรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปด้วย  โดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยสำคัญที่เราเรียกว่า 3 Mega Trends ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย  ซึ่งประกอบด้วย 1.Wellness หรือ การให้ความสำคัญในเรื่องสุขอนามัย การให้ความสำคัญในเรื่องของสุขอนามัย  ซึ่งเป็นเรื่องที่มาพร้อม ๆ กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การออกแบบที่อยู่อาศัยและการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ ต้องคำนึงถึงเรื่องของสภาพแวดล้อมและสุขอนามัยที่ดีต่อผู้อยู่อาศัย ลดการสัมผัส (Touchless) ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทั้งในพื้นที่โครงการที่พักอาศัยและเชิงพาณิชย์ เป็นโจทย์ใหม่ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันและในอนาคต 2.Work-Life Balance หรือ การสร้างสมดุลให้กับการใช้ชีวิต นอกจากเรื่องของสุขอนามัยที่เป็นโจทย์หลักของผู้บริโภคในปัจจุบันแล้ว การออกแบบที่คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยที่สร้างสมดุลให้กับการใช้ชีวิต ในรูปของการทำงานและการใช้ชีวิตที่ต้องดำเนินไปอย่างสมดุล ทำให้การออกแบบที่อยู่อาศัยต้องคำนึงถึงการจัดสรรพื้นที่ที่ลงตัว  ตอบทุกโจทย์ของการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยในแนวราบ หรืออาคารชุดที่มีขนาดเล็ก ต้องมีการจัดฟังก์ชั่นการใช้งานที่มีความหลากหลาย และสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งาน (Multi-Function) เพื่อรองรับกับรูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงานที่บ้านได้   การเว้นระยะห่างในพื้นที่ส่วนกลาง การปรับเปลี่ยนแนวคิดจากสังคมแบ่งปันในรูปแบบของ Co-Working Space มาสู่แนวคิดการใช้พื้นที่ส่วนกลางในรูปแบบของ Co-Separate Space เป็นการใช้พื้นที่ร่วมกันแบบมีระยะห่าง ทำให้การออกแบบการใช้พื้นที่ส่วนกลาง ในโครงการทั้งแนวราบและอาคารชุด ต้องเปลี่ยนแนวคิดในการออกแบบเช่นเดียวกัน 3.Virtual Livable Connect หรือ การนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบโครงการ การนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการออกแบบโครงการ มีเป้าหมายสำคัญเพื่ออำนวยความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต ของผู้อยู่อาศัยในโครงการ  และตอบโจทย์กับแนวคิดการใช้ชีวิตวิถีปกติใหม่ ภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะเทคโนโลยีต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ไม่เพียงแต่อำนวยความสะดวกเท่านั้น แต่ยังมีความปลอดภัยจากการต้องติดต่อหรือสัมผัสกันระหว่างมนุษย์ด้วย มากกว่า Mega Trend ต้องสร้างความยั่งยืน นอกเหนือนจากการออกแบบภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่ ภายหลังไวรัสโควิด-19 ที่อาจจะหยุดการแพร่ระบาด หรือเราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ แต่ไวรัสโควิด-19 ยังคงอยู่กับมนุษย์โดยไม่ได้หายไปไหน แนวทางการออกแบบและพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์  นอกจากจะมีแนวทางที่ต้องตอบโจทย์ Mega Trend ดังกล่าวแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องคิดถึงและจำเป็นต้องนำมาใช้ด้วย คือ แนวคิดในการออกแบบที่เรียกว่า การออกแบบเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Development  Design) แนวคิดดังกล่าว เป็นแนวคิดของการออกแบบ โดยคำนึงถึงการใช้งานอาคารอย่างยั่งยืน ด้วยการออกแบบโดยคำนึงถึงการเลือกใช้วัสดุ การใช้พลังงานและทรัพยากรของอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัย ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก หรือ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)ในอากาศ   รวมถึงเรื่องของการประหยัดพลังงาน การใช้ทรัพยากรน้ำและทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ อย่างประหยัด เพื่อตอบโจทย์กับการสร้างสุขอนามัยที่ดีในการอยู่อาศัยทั้งในรูปแบบของ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) เกณฑ์อาคารเขียวของ US Green Building Council และ TREES (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability ) ของสถาบันอาคารเขียวไทย   ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ประเทศไทยมีอาคารที่ได้รับ LEED Certification จาก US Green Building Council ทั้งสิ้น 171 อาคาร และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 85 อาคาร ในขณะเดียวกันมีอาคารที่ได้รับ TREES Certification จาก สถาบันอาคารเขียวไทย ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ทั้งสิ้น 63 อาคาร และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 55 อาคาร
การเคหะฯ ช่วยลูกค้าโดนพิษโควิด-19 ขยายเวลาลงทะเบียนถึง 30 มิ.ย.63 นี้

การเคหะฯ ช่วยลูกค้าโดนพิษโควิด-19 ขยายเวลาลงทะเบียนถึง 30 มิ.ย.63 นี้

การเคหะแห่งชาติขยายระยะเวลาลงทะเบียนมาตรการช่วยเหลือลูกค้าถึง 30 มิถุนายน 2563 นี้ พร้อมเน้นย้ำ ขอให้ลูกค้าเร่งลงทะเบียนเพื่อรักษาสิทธิก่อนหมดมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว พร้อมร่วมกับกระทรวงแรงงานจัดกิจกรรมนัดพบแรงงานตามพื้นที่ชุมชนต่างๆ ของการเคหะแห่งชาติ       นายวิญญา สิงห์อินทร์ รักษาการผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วประเทศ ปัจจุบันรัฐบาลได้กระจายให้ความช่วยเหลือประชาชนในทุกด้าน รวมทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือมนุษย์ในทุกมิติ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) จึงมอบนโยบายให้การเคหะแห่งชาติออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่เป็นลูกค้าของการเคหะแห่งชาติ เพื่อลดภาระรายจ่ายด้านที่อยู่อาศัยชั่วคราว นายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ จึงได้การประชุมร่วมกับฝ่ายบริหารระดับสูงของการเคหะแห่งชาติเพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และมอบนโยบายให้การเคหะแห่งชาติออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าของการเคหะแห่งชาติเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนช่วยเหลือผู้อยู่อาศัยในด้านสังคมเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในโครงการของการเคหะแห่งชาติมีคุณภาพชีวิตที่ดีในสถานการณ์ปัจจุบัน   สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกค้าของการเคหะแห่งชาติที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มี 4 มาตรการ ได้แก่ 1.พักชำระหนี้ค่าเช่าซื้อ 2.พักชำระเงินดาวน์ 3.ปลอดค่าเช่า 4.ลดค่าเช่า 50% เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 โดยลูกค้าของการเคหะแห่งชาติสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ https://covid.nha.co.th และลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น Line ID : @NHA.THAILAND ได้ถึง 30 มิถุนายน 2563 นี้ พร้อมกันนี้การเคหะแห่งชาติได้ร่วมกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จัดกิจกรรมนัดพบแรงงานตามพื้นที่ต่างๆ ในโครงการของการเคหะแห่งชาติ โดยนำร่องที่โครงการบ้านเอื้ออาทรบ้านหลุมแก้ว 2 จังหวัดปทุมธานี เป็นที่แรก ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบริษัท ห้างร้าน และโรงงานต่างๆ มาเปิดรับสมัครงานในตำแหน่งว่างให้กับผู้อยู่อาศัยในชุมชนที่ถูกเลิกจ้างหรือว่างงานจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เลือกงานที่เหมาะสม ตรงกับถนัด และความต้องการของตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดรายได้เพิ่มขึ้นในครัวเรือน เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับชุมชน และระดับประเทศต่อไป  
เฟรเซอร์ส ตั้ง “ธนพล ศิริธนชัย” บริหารองค์กรแสนล้าน

เฟรเซอร์ส ตั้ง “ธนพล ศิริธนชัย” บริหารองค์กรแสนล้าน

เฟรเซอร์สแต่งตั้ง “นายธนพล ศิริธนชัย” นั่งเก้าอี้ ซีอีโอ นำทัพองค์กร 1 แสนล้าน  สร้างการเติบโตให้กับแพลตฟอร์มใหม่ ที่รวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร   คณะกรรมการบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT มีมติแต่งตั้งนายธนพล ศิริธนชัย ประธานอำนวยการ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ (GOLD) ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Country CEO) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ  FPT  โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป   โดยนายธนพล ศิริธนชัย จะรับภารกิจสำคัญในการเป็นหัวเรือใหญ่ที่จะสร้างการเติบโตให้กับ เฟรเซอร์ส  พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) รวมถึงการเดินหน้าภายใต้นโยบายการลงทุนของบริษัทฯ ในการเพิ่มศักยภาพที่จะเติบโตอย่างสมดุลให้อยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ในการเป็นผู้นำในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความหลากหลาย ครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย (Residential) โครงการเชิงพาณิชย์ (Commercial) และพื้นที่เชิงอุตสาหกรรม (Industrial) จากผู้บริหาร GOLD สู่เก้าอี้ซีอีโอ FPT สำหรับนายธนพล ศิริธนชัย  ถือว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และคร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กว่า 30 ปี โดยก่อนร่วมงานกับเฟรเซอร์ส เคยดำรงตำแหน่งประธานอำนวยการ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ ผู้พลิกฟื้นจากที่บริษัทฯขาดทุน ให้กลับมามีกำไรภายใน 3 ปี และก้าวกลับมาสู่ท็อป 5 ของประเทศไทยภายใน 7 ปี  (อ่านข่าวผลประกอบการ 3 เดือนแรกปี 2563) พร้อมพัฒนาโครงการครอบคลุมทั้งอาคารสำนักงาน เซอร์วิส อพาร์ทเม้นท์ โรงแรม และโครงการแนวราบ เช่น บ้านเดี่ยว และทาวน์โฮม และล่าสุด พัฒนาโครงการมิกซ์ยูสใจกลางเมืองสามย่านมิตรทาวน์  ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี   นอกจากนี้ นายธนพล ยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ของ บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด​ (มหาชน)  ผู้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของโครงการอาคารสำนักงานที่ดีที่สุด ด้วยมาตรฐานการอนุรักษ์พลังงานสูงที่สุดระดับโลก กับโครงการปาร์คเวนเชอร์ ดิ อีโคเพล็กซ์ ออน วิทยุ โดยนายธนพลยังได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อสังคมและการกุศลต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น ประธานโครงการ IMET Mentorship Academy for Excellent Leaders (IMET MAX) โครงการภายใต้มูลนิธิเพื่อสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย และรองผู้อำนวยการอาวุโส สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์   นายธนพล สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจ (MBA) จากมหาวิทยาลัยเทกซัส ออสติน ประเทศสหรัฐอเมริกา และสำเร็จการศึกษาหลักสูตร Advanced Management Program มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา 1+1 เท่ากับสินทรัพย์ 1 แสนล้าน สำหรับ  FPT  เป็นบริษัทในกลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้  ซึ่ง FPT ผู้นำการให้บริการแพลตฟอร์มด้านอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรของประเทศไทย  ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลากหลายประเภท ภายหลังควบรวมกับ  GOLD เป็นบริษัทย่อย ทำให้ภาพรวมการประกอบธุรกิจของ FPT มีสินทรัพย์รวมมากกว่า 100,000 ล้านบาท ก้าวสู่ความเป็นผู้นำในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความหลากหลาย ครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย  พาณิชยกรรมและโรงแรม  และการอุตสาหกรรม   โดยเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 GOLD ได้รับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของบริษัททั้งหมด  จาก FPT เพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ของกิจการ ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  ซึ่งเป็นไปตามแผนของบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) ที่ได้ประกาศเริ่มรับซื้อรอบแรกในเดือนมิถุนายนปี 2562 ที่ผ่านมา เพื่อปรับกลยุทธ์ เพิ่มศักยภาพของการเชื่อมโยง ต่อยอด ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มให้อยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ในการเป็นผู้นำในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความหลากหลาย   ทั้งนี้ การขอเพิกถอนหลักทรัพย์ของ GOLD ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของ GOLD เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 และ วันที่ 19 พฤษภาคม 2563 FPT เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ GOLD จำนวน 2,222,623,901 หุ้น คิดเป็นประมาณ 95.65% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ GOLD โดย FPT จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือทั้งหมดของ GOLD จำนวน 101,096,099 หุ้น คิดเป็นประมาณ 4.35% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ GOLD โดยมีราคาเสนอซื้อ 8.50 บาทต่อหุ้น ระยะเวลารับซื้อรวมทั้งสิ้น 45 วันทำการ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2563 – 23 กรกฎาคม 2563   นายธนพล กล่าวว่า ก้าวต่อไปของโกลเด้นแลนด์ คือการก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร  ที่มีความหลากหลาย ครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย โครงการเชิงพาณิชย์  และพี้นที่เชิงอุตสาหกรรม  แห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้นโยบายการลงทุนของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) ในการเพิ่มศักยภาพที่จะเติบโตอย่างสมดุล และยั่งยืนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย นอกจากนี้ FPT ยังเป็นผู้สนับสนุนและผู้จัดการกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ หรือ FTREIT ซึ่งปัจจุบันเป็นกองทรัสต์ฯ อุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  ซึ่งมุ่งเน้นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ อีกทั้ง FPT ยังเป็นผู้สนับสนุนและผู้จัดการทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์โกลเด้นเวนเจอร์ (GVREIT) ซึ่งมุ่งเน้นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชยกรรม  ซึ่ง FPT, FTREIT และ GVREIT เป็นบริษัทและกองทรัสต์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.    
นิปปอนเพนต์ผนึก 3 พันธมิตรระดับโลก เตรียมรับมือตลาดฟื้นตัวหลังหมดโควิด-19

นิปปอนเพนต์ผนึก 3 พันธมิตรระดับโลก เตรียมรับมือตลาดฟื้นตัวหลังหมดโควิด-19

นิปปอนเพนต์ผนึกกำลัง 3 พันธมิตรระดับโลก “เทอร์ราโก้ – เกรโก้ -  เมอร์กา” ลุยตลาดสีกลุ่ม Professional Series รับทิศทางอุตสหกรรมก่อสร้างฟื้นตัว หลังโดนพิษไวรัสโควิด-19 ทุบตลาดติดลบ 10-15% มั่นใจปี 2564 ตลาดโตอีกครั้ง   นายวัชระ ศิริฤทธิชัย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสีนิปปอนเพนต์ในประเทศไทย  เปิดเผยว่า  ภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างในปีนี้คาดว่าจะลดลง 10-15% จากเดิมที่เคยเติบโต 3-5% ต่อปี  ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา  และยังส่งผลต่อการใช้สีเพื่อการปรับปรุง (Renovation) เกิดการชะลอตัวของการใช้ตามมาด้วย ทำให้ความต้องการใช้สีในช่วงครึ่งปีแรกลดลง 15-20%   แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังพบว่า ยังมีงานก่อสร้างอาคารใหม่บางส่วนที่ยังคงก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง เพราะมีระยะเวลาในการส่งมอบงานที่ชัดเจน โดยประเมินว่าภายหลังจากที่สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายลง  ในปี 2564 ภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างจะกลับมาเติบโตอย่างก้าวกระโดดอีกครั้ง สำหรับทิศทางการดำเนินงานของบริษัทนั้น  ล่าสุดได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ 3 บริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมก่อสร้างระดับโลก เพื่อร่วมกันพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีส่งเสริมการทำงานอย่างมืออาชีพ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์, เจ้าของอาคาร, สถาปนิกและนักออกแบบ, ผู้รับเหมาก่อสร้าง รวมถึงช่างสี เป็นต้น ถือเป็นครั้งแรกของโลกที่บริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น   โดยเริ่มจากการพัฒนานวัตกรรมแรกเพื่อผู้ประกอบการผ่านระบบ  Professional Series by Nippon Paint ด้วยการผนึกกำลังกับ 3 แบรนด์ชั้นนำระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในวงการอุตสาหกรรมก่อสร้าง  ได้แก่ เทอร์ราโก้ (Terraco) จากประเทศสวีเดน เกรโก้ (Graco) จากประเทศสหรัฐอเมริกา และเมอร์กา (Mirka) จากประเทศฟินแลนด์     สำหรับเทอร์ราโก้ (Terraco) ประเทศสวีเดน ถือว่าเป็นผู้นำด้านวัสดุตกแต่งผิว เช่น อะคริลิกฉาบบาง อะคริลิกกันซึม วัสดุอุดโป๊ว ด้วยนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก่อตั้งนานกว่า 40 ปี ด้วยวัตถุดิบและเทคโนโลยีการผลิตที่คัดสรรมาอย่างดี ทำให้ผลิตภัณฑ์ของเทอร์ราโก้มีความทนทานสูงตอบโจทย์การออกแบบการตกแต่งผิวที่มีความหลากหลายซับซ้อนมากขึ้น  และเทอร์ราโก้เป็นผู้ผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและผู้ใช้งานอีกด้วย   ส่วนเกรโก้ (Graco) ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้นำอันดับหนึ่งของโลกในด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องพ่นสี ด้วยยอดขายทั่วโลกกว่า 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี  ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของเกรโก้ผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกา จำหน่ายในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิเช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง การประกอบรถยนต์และซ่อมรถยนต์  อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เกรโก้ทุ่มเทให้กับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้คุณภาพสูงสุดและตอบสนองความคุ้มค่าที่มากที่สุด ปัจจุบันจำหน่ายมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก   ขณะที่เมอร์กา (Mirka) ประเทศฟินแลนด์  ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดาษทรายและผลิตภัณฑ์สำหรับการขัดพื้นผิวที่ไร้ฝุ่น (Net Sanding) รายแรกของโลก  ด้วยนวัตกรรมการสร้างกระบวนการผลิตสารเคลือบผิวที่คิดค้นขึ้นใหม่  อาทิ เครื่องขัดไฟฟ้าไร้ฝุ่น อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ คุณภาพสูง ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดดเด่นเหนือคู่แข่งสามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้ใช้ได้อย่างยอดเยี่ยม โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของเมอร์กากว่า 90%  ถูกส่งออกไปจำหน่ายในกว่า 80 ประเทศทั่วโลก   ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกของโลก ที่ 4 บริษัทชั้นนำจากอุตสาหกรรมก่อสร้างมาร่วมมือ  เพื่อยกระดับการทำงานของมืออาชีพให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งการทำงานที่เร็วขึ้น ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มคุณภาพงาน โดยการร่วมมือกันในครั้งนี้ บริษัทได้พัฒนาระบบสีเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมก่อสร้าง คือ ระบบปิดผิวผนัง โปร-วอลล์ ฟินิช (Pro-Wall Finish) ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อความคุ้มค่า ทั้งการยึดเกาะ ประหยัดค่าใช้จ่าย  ประหยัดเวลา รวมถึงการใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แรกในกลุ่มผลิตภัณฑ์ภายใต้ Professional Series  และในอนาคต นิปปอนเพนต์  มีแผนขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ Professional Series ให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น   นายวัชระ กล่าวในตอนท้ายว่า ภายหลังจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายจะทำให้ทิศทางของอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลังกลับมาคึกคัก จากกลุ่มลูกค้ารีโนเวตที่จะกลับมามากขึ้น      
ส่องตลาดอสังหาฯ​ เชียงใหม่ 63 ซัพพลายสูง-กำลังซื้อต่ำ

ส่องตลาดอสังหาฯ​ เชียงใหม่ 63 ซัพพลายสูง-กำลังซื้อต่ำ

แนวโน้มตลาดอสังหาฯ เชียงใหม่ 63 ขายได้น้อยลง เหตุซัพพลายในตลาดยังมีมาก กำลังซื้อยังต่ำ ศูนย์ข้อมูลฯ​แนะผู้ประกอบการลงทุนอย่างระมัดระวัง ในกลุ่มตลาดระดับราคา 2-5 ล้าน แม้เป็นตลาดขายดีแต่คู่แข่งยังเยอะ   ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIC  เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดบ้าน-คอนโด ในเชียงใหม่ปี 2563 คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 จะมีบ้าน-คอนโดเหลือขายประมาณ ​9,343 ยูนิต ลดลงจากช่วงสิ้นปี 2562 ที่มีอยู่ 9,149 ยูนิต  ซึ่งยังสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2558-2562) ที่อยู่ในระดับ 8,694 ยูนิต   โดยจำนวนบ้านและคอนโดเหลือขายในปี 2563 ประกอบด้วยอาคารชุดจำนวน 2,050 ยูนิต บ้านเดี่ยวจำนวน 4,321 ยูนิตทาวน์เฮ้าส์จำนวน 1,814 ยูนิต บ้านแฝดจำนวน 1,025 ยูนิต และอาคารพาณิชย์จำนวน 133 ยูนิต ซึ่งคาดว่าในปีนี้ จะมีการเปิดตัวโครงการใหม่รวม 1,224 โครงการ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 1,778 โครงการ  แต่ถือว่าเพิ่มขึ้นมากจากปี 2562 ที่มีโครงการเปิดใหม่เพียง 512 โครงการเท่านั้น   สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยปี 2563 ในจังหวัดเชียงใหม่  ศูนย์ข้อมูลฯ ประเมินว่าจะมีจำนวน 12,156 ยูนิต คิดเป็นมูลค่าประมาณ 23,141 ล้านบาท ลดลง 14.6% จากปีก่อนหน้าที่มีจำนวน 13,201 ยูนิต มูลค่า 27,091 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยซึ่งมีมูลค่า 26,817 ล้านบาท ถือว่าทั้งจำนวนยูนิตและมูลค่าการโอน เป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องจาก 2561 ที่ผ่านมา แนะการลงทุนบ้าน-คอนโด จ.เชียงใหม่อย่างระมัดระวัง ขณะที่แนวโน้มการขายบ้าน-คอนโด ในจังหวัดเชียงใหม่ จะมีอัตราการขายได้ลดลง อัตราดูดซับสูงสุดไม่น่าจะเกิน 1.6%  เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงครึ่งปีหลังปี 2562 ซึ่งมีอัตราการดูดซับที่ 3.4%  หากจำนวนที่อยู่อาศัยใหม่เข้ามาในตลาด ตามที่ศูนย์ข้อมูลประมาณการไว้ ภายใต้เงื่อนไขกำลังซื้อที่ลดต่ำลงเช่นในปัจจุบัน   โดยคาดว่าตลาดอสังหาฯ​ เชียงใหม่ ในแต่ละประเภท จะมีอัตราการดูดซับต่อเดือนในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 ดังนี้ คอนโด อัตราดูดซับ 1.5%  ทาวน์เฮ้าส์ อัตราดูดซับ 1.6% บ้านเดี่ยว อัตราดูดซับ 1.1% อาคารพาณิชย์ อัตราดูดซับ 0.6% และ บ้านแฝด อัตราดูดซับ 1.2% ดร.วิชัย เสนอแนะว่า ผู้ประกอบการต้องลงทุนอย่างระมัดระวัง ในการพัฒนาโครงการใหม่ เนื่องจากยังมียูนิตสร้างเสร็จเหลืออยู่ในตลาดจำนวนมาก โดยเฉพาะระดับราคา 2-3 ล้านบาท และ 3-5 ล้านบาท แม้กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มตลาดที่ขายดีก็ตาม   โดยเฉพาะในพื้นที่ทำเลสารภี และหางดง แม้ที่ผ่านมาจะมีอัตราการดูดซับที่สูงขึ้น แต่เป็นเพราะมีสินค้าใหม่เข้าไปในตลาดน้อยมาก   ด้วยภาพรวมดังกล่าวผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การเสนอขาย โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว และอาคารชุดพักอาศัย ที่มีอัตราการดูดซับชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากช่วงต้นปี 2562 และคาดว่าจะต่อเนื่องมาถึงปี 2563 เช็คตลาดอสังหาฯ เชียงใหม่ ปี 2562 จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 มีโครงการอยู่ระหว่างการขายรวมทั้งสิ้น 221 โครงการ รวม 11,465 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 42,820 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 อัตรา  7%  ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นอาคารชุด 2,582 ยูนิต และบ้านจัดสรร 8,883 ยูนิต ซึ่งถือว่าช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 จังหวัดเชียงใหม่มีการเปิดตัวโครงการใหม่น้อยมาก เมื่อพิจารณาจากยูนิตขายได้ใหม่ จากการสำรวจพบว่า ในช่วงครึ่งหลังปี 2562  พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ จำนวน 2,316 ยูนิต เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก 13.3%  แบ่งเป็น ขายห้องชุด 647 ยูนิต  บ้านจัดสรร 1,669 ยูนิต แต่หากเทียบกับช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 ถือว่าขายได้น้อยกว่า 11.8%   หากดูสินค้าเหลือในตลาด จะพบว่า ช่วงครึ่งปีหลังปี 2562 มียูนิตเหลือขายจำนวน 9,149 ยูนิต เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก 5.5%  ยูนิตเหลือขาย แบ่งเป็น ประเภทคอนโดจำนวน 1,935 ยูนิต บ้านจัดสรรจำนวน 7,214 ยูนิต  จำนวนที่อยู่อาศัยเหลือขายทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 35,426 ล้านบาท เปิด 5 ทำเลบ้านและคอนโดขายดีในเชียงใหม่ สำหรับทำเลที่อยู่อาศัยขายดีมากที่สุด 5 อันดับแรก โดยพิจารณาจากยูนิตที่ขายได้ใหม่ ได้แก่ 1.ทำเลสารภี จำนวน 560 ยูนิต  มีอัตราดูดซับ 6.9% 2.ทำเลหางดงตอนบน จำนวน 536 ยูนิต มีอัตราดูดซับ 6.7% 3.ทำเลแม่โจ้ จำนวน 229 ยูนิต มีอัตราดูดซับ 2.4% 4.ทำเลสันทราย จำนวน 208 ยูนิต มีอัตราดูดซับ 2.3% 5.ทำเลสันกำแพง จำนวน 187 ยูนิต มีอัตราดูดซับ 2.5%   ส่วนทำเลที่มีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จเหลือขายมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ทำเลสันทราย จำนวน 448 ยูนิต 2.ทำเลหางดงตอนบน จำนวน 430 ยูนิต 3.ทำเล ม.พายัพ จำนวน 426 ยูนิต 4.ทำเลแม่โจ้ จำนวน 317 ยูนิต 5.ทำเล หางดงตอนล่าง จำนวน 190 ยูนิต มีอัตราดูดซับ   รูปภาพจาก วิกิพีเดีย
12 ปรากฎการณ์ “ราคาอสังหาฯ” ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

12 ปรากฎการณ์ “ราคาอสังหาฯ” ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

จะว่าไปแล้ว ตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม เริ่มได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2562 จากมาตรการ LTV ที่ออกมาบังคับใช้  ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างทำการตลาด แข่งขันกันด้วยแคมเปญการตลาดต่างๆ เพื่อกระตุ้นลูกค้าให้รีบโอนกรรมสิทธิ์  ก่อนมาตรการ LTV  เริ่มใช้อย่างเป็นทางการในไตรมาส 2 ของปีที่ผ่านมา เพราะมาตรการ LTV มีผลทำให้ลูกค้าบางส่วนมีกำลังซื้อลดลง และธนาคารมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น   พอถึงช่วงต้นปี 2563 ตลาดอสังหาฯ ก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลทำให้ตลาดอสังหาฯ ชะลอตัวอย่างมาก ผู้ประกอบการแทบไม่เปิดตัวโครงการใหม่ออกมาทำตลาด แต่มุ่งเน้นการระบายสต็อกสินค้าเก่าในมือ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงจากการลงทุน ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น จึงเกิดการทำตลาดกันอย่างดุเดือด มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะด้านราคา ซึ่งเป็นสิ่งที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างแคมเปญการอยู่ฟรี ที่เห็นทำตลาดมากถึง 5 ปีเลยทีเดียว   ล่าสุด ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ได้เปิดเผยข้อมูล ตลาดอสังหาฯ ที่เผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาส 2 ของปีนี้  ซึ่งพบว่าภาวะราคาของอสังหาฯ ไทย มี 12 ประเด็นสำคัญเกิดขึ้น คือ 1.ไตรมาสแรกของปีนี้ ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวลดลงมาต่อเนื่อง เป็นไตรมาสที่ 5 โดยลดลงในอัตรา 1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 9% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาปรับตัวลดลงมา คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19   2.ก่อนหน้าที่ตลาดอสังหาฯ ไทยจะเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ​ มีดัชนีราคาที่เติบโตเพิ่มขึ้นมากถึง 104% จากราคาเฉลี่ยประมาณ​ 60,000 บาทต่อตารางเมตร ในช่วงปี 2558ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 120,000 บาทต่อตารางเมตร ในปี 2562 ที่ผ่านมา   3.ตลาดคอนโดฯ ค่อนข้างได้รับผลกระทบด้านราคาน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยลดลงเพียง 0.4% แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จะพบว่ามีอัตราการเติบโตลดลงมากถึง 6% ซึ่งเป็นเพราะตลาดคอนโดฯ ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV มาก่อนหน้านี้แล้ว   4.ตลาดบ้านเดี่ยว เป็นกลุ่มสินค้าเดียวที่มีดัชนีราคาปรับเพิ่มขึ้นในอัตรา 2% เมื่อเปรียบเทียบไตรมาสต่อไตรมาส สาเหตุหลักเป็นเพราะ กลุ่มบ้านเดี่ยวเป็นตลาดเรียลดีมานด์ ซึ่งผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง และในปีนี้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ชะลอแผนการพัฒนาโครงการคอนโดฯ และหันมาเน้นตลาดแนวราบเป็นหลัก 5.ตลาดทาวน์เฮ้าส์ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่อยู่อาศัย ที่ดัชนีราคาปรับลดลงมา ในอัตรา 2% ซึ่งสาเหตุหลักเป็นเพราะการแข่งขันด้านราคา และการจัดทำโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย ของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ตลาดทาวน์เฮ้าส์เป็นตลาดแมสที่ระดับราคาอยู่ในช่วง 3-5 ล้านบาท ที่ถือว่ามีการแข่งขันสูง และมีซัพพลายในตลาดจำนวนมาก   6.หากพิจารณาในเรื่องของระดับราคาสินค้า จะพบว่าที่อยู่อาศัยที่ปรับลดลงมากที่สุด คือ ที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 3.5 ล้านบาท ปรับลดลงในอัตรา 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา   7.กลุ่มตลาดที่อยู่อาศัยราคาแพง ในระดับราคา 8.5-15 ล้านบาท มีดัชนีราคาปรับเพิ่มขึ้น 5% และหากมองย้อนไปในช่วงไตรมาส 4 ปี 2559 จะพบว่าบ้านและคอนโดฯ ในกลุ่มระดับราคา 15 ล้านบาทขึ้นไป มีอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 35%   8.พื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่มีดัชนีราคาเติบโตโดดเด่นที่สุด ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา คือ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีราคาที่อยู่อาศัยเฉลี่ยตารางเมตรละ 219,048 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 23% จากช่วงไตรมาส 4 ปี 2562 ถือว่าเป็นเขตที่มีราคาปรับเพิ่มสูงสุด สาเหตุหลักมาจาก การเปิดให้บริการส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง 9.สถานีวัดมังกร เป็นพื้นที่ที่มีราคาของที่อยู่อาศัยแพงมากที่สุด ถึงตารางเมตรละ 200,000 บาท และมีการปรับเพิ่มขึ้นถึง 143% ตั้งแต่ช่วงปี 2560 จนถึงปัจจุบัน   10.แนวโน้มราคาในแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่เพิ่งเปิดให้บริการในไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า ที่อยู่อาศัยในบริเวณสถานีบางอ้อและสถานีบางพลัด มีอัตราการเติบโตของราคาสูงสุดถึง 76% ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี 2559 ถึงปัจจุบัน โดยมีราคาขายเฉลี่ย 85,009 บาทต่อตารางเมตร   11.บริเวณรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงสถานีไฟฉาย ถือว่าเป็นบริเวณที่มีที่อยู่อาศัย ซึ่งมีราคาขายเฉลี่ยสูงที่สุดของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงต่อขยายสถานีเตาปูน-จรัญ 13 โดยมีราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 126,471 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งปรับลดลงเพียง 1% จากช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา  (อ่านเพิ่มเติม...รีวิวคอนโด ส่องทำเลเตาปูน-บางโพ ฉบับอัปเดต 2563) 12.บริเวณรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงสถานีบางขุนนนท์ ถือว่าเป็นบริเวณที่มีราคาของที่อยู่อาศัยถูกที่สุด และอัตราการเติบโตลดลงมากที่สุด ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงต่อขยายสถานีเตาปูน-จรัญ 13 โดยมีราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 53,476 บาทต่อตารางเมตร ปรับลดลงมากถึง 56% จากช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา   หลังจากนี้ หากประเทศสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จนไม่พบการแพร่เชื้อ หรือการเกิดขึ้นของผู้ป่วยรายใหม่  รวมถึง หากมีการค้นพบวัคซีน ที่สามารถใช้ได้ผลจริงกับมนุษย์ เชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆ จะกลับมาเป็นปกติ แม้ว่าในอนาคตทุกคนอาจจะต้องอยู่ภายใต้วิถีปกติรูปแบบใหม่ หรือ New Normal ก็ตาม   โดยเชื่อว่าตลาดอสังหาฯ ของไทยเอง ก็น่าจะกลับมาเติบโตเป็นปกติ และคาดว่าจะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นด้วย เพราะภายใต้สถานการณ์วิกฤต จะเห็นได้ว่าคนไทยเป็นชาติที่ไม่แพ้ใครในโลก สามารถบริหารจัดการการแพร่ระบาดของโลกได้ดี รวมถึงประเทศไทยยังคงเป็นประเทศจุดหมายปลายทางที่ชาวต่างชาติยังต้องการมาท่องเที่ยวและพักอาศัยเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน และอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย      
ครม. ลดภาษี  90% ช่วยเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดนพิษโควิด-19

ครม. ลดภาษี 90% ช่วยเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดนพิษโควิด-19

ครม. เคาะมาตรการช่วย เจ้าของที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง  ลดการจัดเก็บภาษีลง 90% หลังได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 รัฐยอมหั่นรายได้กว่า 3.5 หมื่นล้าน   นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  ซึ่งส่งผลกระทบแก่ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจทั่วประเทศ ซึ่งปีนี้เป็นอีกหนึ่งปีที่จะได้เริ่มการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ) ได้มีการประกาศบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2562 เป็นต้นมา   โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้ดำเนินการจัดเก็บภาษีตาม พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ แล้ว โดยได้ทำการสำรวจ จัดทำบัญชีและประเมินภาษีตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ อปท. มีเวลาดำเนินการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น กระทรวงมหาดไทย (มท.) จึงได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 ขยายระยะเวลาดำเนินการของ อปท. เป็นการทั่วไปเป็นระยะเวลา 4 เดือนสำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปี  2563 จากเดิมที่ต้องชำระภาษีภายในเดือนเมษายนเป็นเดือนสิงหาคม แต่เนื่องจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ระบาดอย่างรุนแรงขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ทำให้ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกและของประเทศไทยหดตัวลงอย่างรุนแรง และรวดเร็วกระทบต่อประชาชนทุกสาขาอาชีพในวงกว้าง จึงสมควรลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จะจัดเก็บตามกฎหมายว่าด้วยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม   ทางกระทรวงการคลัง (กค.) และ มท. จึงได้มีการประชุมหารือและเห็นควรกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบ โดยการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และในการประชุมที่นายวิษณุ เครืองามรองนายกรัฐมนตรี  จัดให้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ได้มีมติเห็นควรเสนอลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตรา 90% เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ ที่กำหนดให้ลดภาษีสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างบางประเภทเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม เหตุการณ์ กิจการ หรือสภาพแห่งท้องที่ ครม.มีมติ ลดภาษีที่ดิน 90% ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้มีมติเห็นชอบตามที่ กค. เสนอดังนี้ 1.เห็นชอบการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตรา 90% ให้แก่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากประกอบเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย และที่ทิ้งไว้รกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ สำหรับปีภาษี พ.ศ. 2563 2.เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ) ที่กำหนดให้ลดภาษีในอัตรา 90% สำหรับปีภาษี พ.ศ. 2563 หลักการลดภาษีและประเภทที่ดิน ลดภาษี 90% ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ตามมาตรา 42 หรือมาตรา 95 แล้วแต่กรณี หรือสำหรับการจัดเก็บภาษี พ.ศ. 2563สำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างดังต่อไปนี้   1.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม 2.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย 3.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจาก ข้อ 1 และ 2 4.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ   สำหรับกการลดภาษีข้างต้นไม่กระทบสิทธิในการบรรเทาภาระภาษีตามมาตรา 96 และมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ ตัวอย่างการคำนวณการลดภาษีในอัตรา 90% 1.กรณีที่ดินประกอบการเกษตร ถ้าเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา บทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ ได้กำหนดให้ 3 ปีแรก (ปี 2563 – 2565) จะได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีแต่ถ้าเจ้าของเป็นนิติบุคคล สำหรับที่ดินมีมูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 10 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราการใช้ประโยชน์ประกอบเกษตรกรรม 0.01% คิดเป็นภาษี 1,000 บาท แต่เมื่อลดภาษีตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ ที่เสนอแล้ว จะชำระภาษีเพียง 100 บาท 2.กรณีที่อยู่อาศัย สำหรับบ้านหลังหลักที่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นบุคคลธรรมดา และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท และ 10 ล้านบาท กรณีเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน สำหรับบ้านหลังอื่น หากมูลค่าประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย 0.02% คิดเป็นค่าภาษี 1,000 บาท แต่เมื่อลดภาษีตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ ที่เสนอแล้ว จะชำระภาษีเพียง 100 บาท 3.กรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ประกอบการพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม มูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 4 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตรารกร้างว่างเปล่า/อัตราการใช้ประโยชน์อื่น 0.3% คิดเป็นค่าภาษี 12,000 บาท แต่เมื่อลดภาษีตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ ที่เสนอแล้ว จะชำระภาษีเพียง 1,200 บาท เป็นต้น รัฐยอมหั่นรายได้กว่า 3.5 หมื่นล้าน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ประมาณการรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับปี 2563 จำนวน 39,420 ล้านบาท และในการเสนอลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตรา 90% ตามร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ 2 กรณี จะสูญเสียรายได้ ดังนี้ กรณีที่ 1 กำหนดลดภาษีเฉพาะในปีภาษี พ.ศ. 2563 จะทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี พ.ศ. 2563 ลดลงประมาณ 35,450 ล้านบาท   กรณีที่ 2 ไม่กำหนดระยะเวลาในการลดภาษี จะทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลดลงปีละประมาณ 35,450 ล้านบาท จนกว่าจะมีการออกกฎหมายยกเลิกร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ   ทั้งนี้ การลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ จะช่วยบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจที่ขาดรายได้ เนื่องจากไม่สามารถประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย   นอกจากนี้ กค. พิจารณาแล้ว เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่ประชาชน และผู้ประกอบการทั่วประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา กค. ได้มีมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น มาตรการเลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษี มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โครงการสินเชื่อเพื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนและผู้ประกอบการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและมีรายได้ดังเช่นปกติ ทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีความสามารถในการชำระภาษีในปีถัดไป ตลอดจนไม่เป็นการส่งผลกระทบต่อฐานะการคลังของ อปท. ในระยะยาวจึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาดังกล่าว    
5 โซลูชั่น “S-E-N-S-E” การออกแบบการพัฒนาเมือง กับวิถีชีวิต The Next Normal

5 โซลูชั่น “S-E-N-S-E” การออกแบบการพัฒนาเมือง กับวิถีชีวิต The Next Normal

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือเป็นปรากฎการณ์ ของการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโลก เพราะมีการแพร่กระจายออกไปทั่วทุกมุมโลก ซึ่งส่งผลทำให้วิถีชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน ต้องปรับเปลี่ยน และเปลี่ยนแปลงไปในหลายเรื่อง เพื่อที่จะป้องกันตนเองไม่ให้ได้รับเชื้อโรค ซึ่งภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยุติลง  เชื่อว่า วิถีชีวิตของคนนับจากนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นวิถีชีวิตปกติในรูปแบบใหม่ หรือ New Normal หรืออีกคำที่มักมีการพูดถึง คือ The Next Normal ซึ่งมีความหมายไม่แตกต่างกันมากนัก   ไม่เพียงแต่วิถีชีวิตประจำวันที่จะเป็นรูปแบบใหม่ และกลายเป็นวิถีชีวิตปกติของคนเราเท่านั้น  แต่วิถีชีวิตของคนในสายงานและสายอาชีพต่างๆ รวมถึงแวดวงธุรกิจ ก็มีทิศทางเปลี่ยนไปแบบใหม่เช่นกัน อย่างในแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เริ่มเห็นความชัดเจน จากการที่ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนวิธีการขาย ด้วยการใช้สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย เข้ามาเป็นเครื่องมือสื่อสารถึงผู้บริโภค โดยลดการสัมผัสหรือมีการเว้นระยะห่างกันให้มากที่สุด เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนี้ คงจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่องแน่นอน   ด้านการออกแบบและการพัฒนาเมืองในอนาคต ก็คงจะไม่แตกต่างกันเท่าไร เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้คือ ปัจจัย 4 ที่มนุษย์ทุกคนต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง และอยู่ร่วมกันแบบสัตว์สังคม ซึ่งตามมุมมองของ นายรติวัฒน์ สุวรรณไตรย์ สถาปนิก ผู้ก่อตั้ง OPENBOX GROUP บริษัทสถาปนิกที่มีผลงานการออกแบบตึกสูง โรงงานไฟฟ้าพลังงานทดแทน รวมถึงที่อยู่อาศัยประเภท Complex Residence ชื่อดังทั้งในและต่างประเทศ ได้อธิบาย The Next Normal ที่อาจจะเกิดขึ้นกับเมืองและชีวิตผู้คน ที่จะมุ่งสู่โซลูชั่นของการพัฒนาเมืองแห่งอนาคต (City of Future) ไว้อย่างน่าสนใจ The Next Normal ของการพัฒนาเมือง โดย โซลูชั่น City of Future นี่เอง จะเป็นเหมือนสูตรสำเร็จ ของการออกแบบการพัฒนาเมืองที่สอดรับกับ The Next Normal ซึ่งไม่เพียงตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคโควิด-19  ที่จะอยู่กับโลกใบนี้ไปอีกนานเท่านั้น แต่ยังตอบโจทย์วิถีการดำเนินชีวิตใหม่ ซึ่งถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยนแปลงจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Digital Disruption) และสอดคล้องกับแนวคิดในกระแสโลกยุคใหม่ คือการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน   “เมืองที่มีความคิดสร้างสรรค์การออกแบบในด้านต่าง ๆ รวมเข้ามาประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ, การออกแบบอาคาร สถานที่ หรือเมืองให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้ในสถานการณ์ที่หลากหลาย, การให้ความสำคัญกับธรรมชาติและพื้นที่สีเขียว และการใช้พลังงานร่วมกันอย่างประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 ปัจจัยที่จะเข้ามาเติมเต็มทำให้เมืองมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ก็คือ การขนส่ง และนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัย” “S-E-N-S-E”  สำหรับเมืองแห่งอนาคตที่ยั่งยืน  นายรติวัฒน์  ได้เสนอแนวคิดการออกแบบการพัฒนาเมือง  ภายใต้แนวคิด “S-E-N-S-E” ที่รวม 5 โซลูชั่น สำหรับ City of the Future เมืองแห่งอนาคตที่ยั่งยืน ที่ประกอบไปด้วย S - Space Efficiency การจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด (Space Efficiency) เป็นแนวคิดการจัดการพื้นที่ที่สามารถตอบโจทย์การอยู่อาศัยรูปแบบใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมให้แก่ผู้อยู่อาศัย โดยหนึ่งในโซลูชั่นที่จะเข้ามาตอบโจทย์แนวคิดนี้ก็คือ อาคารสูง เช่น คอนโดมิเนียม ซึ่งเชื่อว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาการใช้พื้นที่และทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพ กล่าวคือหากเปลี่ยนการใช้พื้นที่ในแนวราบแบบกระจายตัวมารวบเป็นอาคารสูง จะทำให้มีพื้นที่เหลือในการใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะการมีพื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่ในเชิงเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน อาคารสูงยังตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคโควิดที่ผู้อยู่อาศัยจะแยกกันอยู่คนละชั้น ได้รับแสงแดดที่เพียงพอ และไม่มีปัญหาเรื่องการใช้อากาศร่วมกัน ให้ความรู้สึกปลอดภัยห่างไกลโควิดได้มากกว่าบ้านที่เป็นแนวราบ E-Energy Sharing การออกแบบเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Sharing)  โดยปัจจุบันจะพบว่า คอนโดมิเนียม จะมีการใช้พลังงานสูงสุดในช่วงเวลากลางคืน แต่ช่วงกลางวันการใช้พลังงานจะลดลงไป ขณะที่อาคารสำนักงาน จะใช้พลังงานสูงสุดในช่วงเวลากลางวันเท่านั้น แต่จะลดการใช้ลงในช่วงกลางคืน ซึ่งแต่ละอาคารเหล่านั้นจะติดตั้งอุปกรณ์การจัดการพลังงานของตนเอง อุปกรณ์เหล่านั้นจึงทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ มีพลังงานเหลือเกินความต้องการ ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า Energy Blockchain หรือ Digital Energy กรณีมีพลังงานเหลือก็จะนำไปขายให้แก่ตึกที่อยู่ใกล้เคียงและใช้ในแบบเหลื่อมเวลากัน หรืออีกแนวคิดที่เรียกว่า District Cooling ระบบปรับอากาศแบบรวมศูนย์ โดยสามารถส่งความเย็นไปยังสถานที่อื่น ๆ ใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็นบ้าน อาคารสำนักงาน  ห้าง และ คอนโดมิเนียม ถือเป็นแนวคิดการลดใช้พลังงาน ลดการใช้อุปกรณ์ที่เกินความจำเป็น N - Nature & Green การให้ความสำคัญกับธรรมชาติและพื้นที่สีเขียว (Nature & Green) เช่น แนวคิดการขยายพื้นที่สวนสาธารณะขนาดย่อม (pocket park) ให้กระจายตัวมากขึ้นในเขตเมือง และให้เพียงพอกับระยะคนเดิน ซึ่งประเทศญี่ปุ่นถือเป็นเจ้าแห่ง pocket park แห่งหนึ่งของโลก หรือในประเทศสิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ที่นอกจากจะมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่แล้วยังมี pocket park อีกหลายแห่ง ส่วนอีกแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจ คือ park network สวนสาธารณะหลาย ๆ แห่งที่ผู้คนสามารถเดิน วิ่ง หรือขี่จักรยาน เชื่อมถึงกันได้โดยไม่ต้องผ่านหรือใช้ถนน ซึ่งแนวคิดเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการออกแบบทั้งสิ้น S – Synchronization of Multi-Functions การออกแบบอาคาร สถานที่ หรือเมือง ให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้ในสถานการณ์ที่หลากหลาย (Synchronization of Multi-Functions)  สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของเมืองในซีกโลกตะวันออกที่เป็นแบบผสมสาน (Mixed-use) โดยออกแบบให้สามารถปรับเปลี่ยนโหมดของอาคาร สถานที่ หรือเมืองได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ๆอย่างเช่น คอนโดมิเนียมในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อโควิด จะเห็นได้ว่าหลายแห่งจะกำหนดการใช้ลิฟท์แบบจำกัด หรือจำกัดจำนวนของคนใช้ลิฟท์ ซึ่งในอนาคตการออกแบบจะสามารถเข้ามาเพิ่มเติมฟังก์ชั่นต่าง ๆ ให้ทุกชีวิตในยุคโควิดมีความสบายใจมากขึ้น อาทิ ล็อกเกอร์รับ-ส่งอาหาร หรือสิ่งของต่าง ๆ โดยผู้รับและผู้ส่งไม่ต้องเจอหน้ากัน และการออกแบบพื้นที่แบบ space in space ภายในบริเวณพื้นที่ส่วนกลางโดยใช้อุปกรณ์เพื่อแยกความเป็นส่วนตัวให้แก่ผู้อยู่อาศัยมากขึ้น เพื่อไม่เกิดความระแวงในการใช้พื้นที่ส่วนรวม ส่วนในระดับเมือง อาจจะนึกถึงประเทศโมนาโค หรือสิงคโปร์ ที่จะมีการจัดโหมดเมืองสำหรับการแข่งรถ สร้างรายได้ให้กับประเทศได้อีกมาก ขณะที่ประเทศไทยเอง มีโหมดเรื่องการป้องกันน้ำท่วม แต่ยังสามารถออกแบบเมืองให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามโหมดอื่น ๆ เช่น โหมดการเฝ้าระวังเชื้อโควิด หรือโหมดการจัดบิ๊กอีเว้นท์ เช่นวันสงกรานต์ เป็นต้น E - Explorations of Innovations การคิดค้น พัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมการอยู่อาศัยที่จะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน (Explorations of Innovations) โดยการออกแบบบ้าน คอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงาน สามารถดึงนวัตกรรมเหล่านี้เข้ามาเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยตอบโจทย์กับชีวิต New Normal อย่างเช่น ลิฟท์ ปัจจุบันคอนโดมิเนียมหลายแห่งใช้โถงลิฟท์ (private lift) ส่วนตัวเข้ามาใช้มากขึ้น นอกจากจะเป็นโซลูชั่นด้านความปลอดภัยในยุคโควิดแล้ว ยังตอบโจทย์การซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อการลงทุนได้ เพราะลิฟท์ที่แยกออกมาต่างหากนั้น จะไม่เป็นการรบกวนกับเจ้าของห้องจริงที่เป็นผู้อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมนั้น ๆ เลย ปัจจุบันยังพบด้วยว่ามีการคิดค้นลิฟท์ในรูปแบบต่าง ๆ ไว้มากมาย เพื่อรูปแบบการอยู่อาศัยที่หลากหลาย เช่น ลิฟท์ที่เคลื่อนตัวในแนวราบ (double deck lift) เป็นต้น   นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ในยุคโควิดได้เป็นอย่างดี อาทิ ประตูสองชั้น ที่ติดตั้งอุปกรณ์ช่วยในการคัดกรองคนเข้าออก และอุปกรณ์ฆ่าเชื้อ, การออกแบบพื้นที่ในสำนักงาน หรือ โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ ที่ช่วยลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อโรค และ Smog-eating surface สีหรือพื้นผิวที่สามารถดูดซับเชื้อโรค ฝุ่นละลองพิษต่าง ๆ เป็นต้นรวมถึงนวัตกรรมด้าน Transportation หรือการขนส่ง โดยเมืองแห่งอนาคตจะสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นหากมีการจัดการด้านการขนส่งอย่างเหมาะสม ซึ่งการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนั้น ผู้คนยังต้องเดินทาง ต้องติดต่อสื่อสาร และรับ-ส่งสิ่งของระหว่างกัน การออกแบบเมืองจึงสามารถออกแบบให้รองรับกับแนวคิดการขนส่งในรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น Hyperloop, drone transportเป็นต้น ทั้งหมดนี้ คือโซลูชั่นใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาตอบโจทย์สถานการณ์ในปัจจุบัน และเป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่อนาคตนั่นเอง   แนวคิดเหล่านี้เป็นแนวคิดการออกแบบโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นโซลูชั่นที่ต้องการเข้าไปช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คน เป็นคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านสุขภาพและจิตใจ และสำคัญที่สุดคือ เมืองแห่งอนาคตนั้นจะต้องสามารถตอบโจทย์ได้ครบถ้วนทั้งด้านสังคม และเศรษฐกิจ เพื่อให้เป็นเมืองที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง