เสนาฯ รับมือแผ่นดินไหว มองหาโอกาส เสริมเกราะธุรกิจอสังหาฯ อย่างยั่งยืน
หลังจากที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกลุ่มอาคารแนวสูงที่ถูกตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัยในวงกว้าง ท่ามกลางสถานการณ์นี้ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ถึงความคิดเห็นต่อสถานการณ์อสังหาฯ ต่อจากนี้ รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่ทางเสนาฯ ได้มีการวางแผนไว้ ทั้งในด้านการให้ความช่วยเหลือกับลูกบ้าน ภาพรวมของตลาด และปรับตัวในอนาคต
หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมาทางฯ เสนา เร่งดำเนินมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูความเชื่อมั่นของลูกบ้านในโครงการฯ อย่างเป็นระบบ โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 3 เฟสหลัก ได้แก่
Phase 1: “สร้างความมั่นใจ”
เร่งตรวจสอบความปลอดภัยของโครงสร้างอาคารอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จะได้รับการตรวจสอบโดยทีมวิศวกรของเสนาฯ ร่วมกับ ผู้เชี่ยวชาญอิสระ (Third Party) เพื่อความโปร่งใสและน่าเชื่อถือ
ส่วนอาคารแนวสูงและแนวราบที่มีผู้อยู่อาศัยแล้ว พบว่าไม่มีความเสียหายรุนแรง ลูกบ้านสามารถเข้าอยู่อาศัยได้ตามปกติ ซึ่งในเฟสนี้ทาง เสนาฯ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 100%
Phase 2: “ตรวจสอบ”
เน้นการ เก็บข้อมูลและปัญหาอย่างละเอียด เป็นการตรวจสอบเชิงลึกจากลูกบ้านแต่ละราย โดยได้มีการอำนวยความสะดวกให้แจ้งผ่าน “แอปพลิเคชัน SEN PROP” ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการรับเรื่องและวิเคราะห์ปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพื่อการรวบรวมข้อมูลสำหรับงานประกันและซ่อมแซมทำได้รวดเร็วขึ้น
Phase 3: “การแก้ไข”
ทาง เสนาฯ มีการร่วมมือกับพันธมิตรและผู้เชี่ยวชาญ ในการเข้าดำเนินการแก้ไขจุดที่ได้รับผลกระทบให้ตรงจุด เพื่อให้โครงการกลับสู่สภาพที่สมบูรณ์ที่สุด
จากแนวทางการทำงานที่แบ่งเป็นระยะและมีความต่อเนื่องนี้ ทำให้เห็นได้ชัดว่า เสนาฯ ไม่เพียงมองแค่การซ่อมแซมทางกายภาพ แต่ยังมุ่งมั่นสร้างความมั่นใจในจิตใจของลูกบ้านอย่างจริงจัง ซึ่งถือเป็นการสื่อสารเชิงบวกที่มีน้ำหนักมากในภาวะที่สถานการณ์ต่างๆ ยังคงสร้างความกังวลให้กับลูกบ้าน โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการสื่อสารกับลูกบ้านเป็นวงกว้าง อย่างแอปพลิเคชัน SEN PROP เพื่อรับฟังเสียงของลูกบ้าน
นอกจากนี้ ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ยังได้สะท้อนมุมมองว่า วิกฤตในครั้งนี้ทำให้บริษัทมองเห็นโอกาสได้ชัดเจนมากขึ้น ในการนำเสนอเทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัยแบบยั่งยื่น (Sustainable) จากที่ผ่านมา เสนาฯ เคยนำเสนอ “บ้านพลังงานแสงอาทิตย์” หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ก็เป็นหนึ่งในแนวคิดที่ได้รับความนิยมสูงมาก จึงเหมือนเป็นการตอกย้ำว่า เหตุจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลกระทบส่วนหนึ่งจากปัญหาภาวะโลกร้อน และส่งผลกระทบในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น เสนาฯ จึงเล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวคิดใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับธรรมชาติและลดความกังวลกับภัยธรรมชาติ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก
หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา เสนาฯ ได้นำแนวคิด ‘จีโอ ฟิต’ (Geo fit+) องค์ความรู้ในการพัฒนาโครงการอสังหาฯ ตามมาตรฐานญี่ปุ่น จาก Hankyu Hanshin Properties Corp. ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมทุนบริษัทฯ มาอย่างยาวนาน กลับมาทบทวนอีกครั้งเพื่อปรับใช้กับทุกโครงการต่อจากนี้ เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยให้เทียบเท่าสากลมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ “Geo Mamoru” ที่เป็นแผนการรับมือเมื่อมีเหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้น ซึ่งประเทศญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้เป็นอย่างดี นอกจากการ “แจกคู่มือป้องกันภัยพิบัติ” ที่ทางเสนาฯ ตั้งใจจะทำเป็นอันดับแรกแล้ว ต่อจากนี้ยังจะพิจารณาในการนำแนวทางการป้องกันและรับมือในหัวข้อนี้ มาปรับใช้ให้เข้ากับโครงการมากขึ้นด้วย
ส่วนในด้านความเชื่อมั่นของลูกบ้านเสนาฯ ผศ.ดร.เกษรา กล่าวว่า กว่า 80% ของลูกบ้านเสนาฯ ให้ความมั่นใจคืนกลับมาแล้ว ด้วยทุกอาคารที่ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2564 ถูกออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหวอยู่แล้ว ดังนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงถือว่าอยู่ใน เกณฑ์ที่ยอมรับได้ บวกรวมกับประสิทธิภาพของการสื่อสารและการลงมือแก้ไขอย่างรวมเร็วของทีมเสนาฯ ด้วย
ผศ.ดร.เกษรา ได้พูดถึงภาพรวมของอสังหาฯ ไทยต่อจากนี้ เชื่อว่าในไตรมาส 2-3 ดีเวลลอปเปอร์จะเริ่ม “ชะลอ” การเปิดคอนโด High Rise ใหม่เพื่อปรับให้สอดคล้องกับดีมานด์ เนื่องด้วยผลกระทบในความเชื่อมั่นโครงการ High Rise จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา ส่วนโครงการแนวราบคงจะได้รับความสนใจมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็เชื่อว่า “ทำเล” เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจเลือกที่อยู่อาศัย ด้วยพฤติกรรมของคนจะ“ติดทำเล” มากกว่า โดยเฉพาะทำเลที่คุ้นเคย เดินทางสะดวก ใกล้ที่ทำงานหรือครอบครัว ทั้งนี้ผู้พัฒนาโครงการ (Developer) คงจะต้องมีการปรับตัว พัฒนาสินค้า รวมถึงวางแผนเพื่อรับมือกับแรงกดดันรอบด้าน ทั้งด้านการเงิน การตลาด และการดึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมา
เพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนและความเสี่ยงรอบด้าน เสนาฯ ได้วางแผนฟื้นฟูอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะการ จัดการกระแสเงินสดและหนี้สินอย่างมีระบบ พร้อมตั้งเป้า ลดสัดส่วนการพึ่งพาหุ้นกู้ และสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภครุ่นใหม่ นอกจากนี้ เสนาฯ ยังให้ความสำคัญกับการเลือกพันธมิตรธุรกิจร่วมทุน (JV) ที่เหมาะสม เพื่อช่วยเสริม ศักยภาพด้านเงินทุนและการวิจัยพัฒนาโครงการใหม่ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ต้นทุนสูงและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนยากขึ้น
ทางเสนาฯ เห็นโอกาสในสถานการ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน จากปัญหาหนี้ครัวเรือนทำให้กระทบต่อสภาพคล่อง จึงพัฒนาโมเดล “SENA LivNex” (เช่าออมบ้าน) เพื่อมาตอบโจทย์กลุ่มคนที่อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง แต่ยัง ไม่พร้อมกู้ธนาคารในตอนนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อแฝงให้เข้าสู่ระบบ ไปพร้อมกับการเพิ่มยอดขายจากโครงการที่มีอยู่ในมืออีกทาง
ซึ่ง SENA LivNex เป็นโปรแกรมที่คัดกรองและประเมินศักยภาพของผู้ซื้อจริงในอีก 3 ปีข้างหน้า ผู้ที่เข้าร่วมโปรแกรมจะทำสัญญาเช่า แบบมีเงื่อนไข “เงินที่จ่ายทุกเดือน = เงินออม” เป็นระยะเวลา 36 เดือน โดยมีค่าผ่อนต่อเดือนเฉลี่ย 5,500 บาท/ล้านบาท เมื่อครบกำหนดแล้วก็สามารถนำเงินที่จ่ายไปทั้งหมด มาหักเป็นเงินต้นในการขอสินเชื่อได้ โดยปัจจุบันมีลูกค้าได้รับการตอบรับเข้าร่วมแล้วกว่า 1,000 ยูนิต และยังคงมีกลุ่มที่ให้ความสนใจเพื่อเข้าร่วมโปรแกรมอีกราว 100 ราย
SENA LivNex ไม่ใช่แค่โมเดลเช่า-ซื้อ ที่ทางเสนาฯ พยายามหาแนวทางเพื่อมาตอบโจทย์หนี้ครัวเรือนของคนไทย แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในความต้องการของตลาดที่อยู่อาศัย ที่จะมาช่วยให้คนกลุ่มนี้ “เข้าถึงการเป็นเจ้าของบ้าน” ได้จริง และนับเป็นกลยุทธในการปรับตัวที่ไม่ใช่แค่ทำเพื่ออยู่รอด แต่อาจจะเป็นหมัดเด็ดที่จะนำให้ เสนาฯ เป็นผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ที่โดดเด่นต่างจากรายอื่นๆ ในปัจจุบัน
สามารถดาวน์โหลดและอ่าน “คู่มือป้องกันภัยพิบัติ” ผ่านแอปพลิเคชันได้ที่ลิงก์นี้ : https://bit.ly/3XJjMUj