Timeline Feature1

สรุปไทม์ไลน์ 25 ปี มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ จากวิกฤตต้มยำกุ้งถึงพิษโควิด-19 (ตอนที่ 1)

มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงยังเกี่ยวข้องกับหลายธุรกิจ มีคนจำนวนมากในอุตสาหกรรมนี้ คาดว่ามีการจ้างงานรวมกว่า 2.8 ล้านคน ​ซึ่งธุรกิจอสังหาฯ มีหลากหลายประเภทมาก อาทิ ธุรกิจโรงแรม สำนักงานให้เช่า นิคมอุตสาหกรรม ที่พักอาศัย เฟอร์นิเจอร์และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

Timeline Real Estate

ด้วยความที่ธุรกิจอสังหาฯ มีมูลค่าตลาดสูง และเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ทำให้ทุกรัฐบาลต่างก็ให้ความสำคัญ พยายามส่งเสริม และกระตุ้นให้ธุรกิจนี้มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวหรือเกิดภาวะวิกฤต​ รัฐบาลมักจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือ และกระตุ้นให้ธุรกิจอสังหาฯ มีการเติบโตต่อเนื่อง

 

โดยตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ อย่างวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง  จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รัฐบาลได้ออกมาตรการทางด้านภาษี และด้านการเงิน มาช่วยพยุงเศรษฐกิจ รวมถึงธุรกิจอสังหาฯ ที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยรัฐบาลคาดหวังว่าจะช่วยพยุงไม่ให้ธุรกิจต้องชะลอตัวลงมาก และต้องการให้ภาพรวมเศรษฐกิจมีอัตราการเติบ หรืออย่างน้อยไม่ทรุดตัวลงหนัก

 

นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง จนถึงปัจจุบัน  มีระยะเวลายาวนานถึง 25 ปีแล้ว ซึ่งตลอดระยะเวลาทั้งหมด  ธุรกิจอสังหาฯ ต้องเผชิญกับปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ที่ทำให้ธุรกิจต้องได้รับการช่วยเหลือ เพื่อให้ยังเดินหน้า หรือไม่ชะลอตัวลง โดยส่วนใหญ่เมื่อเกิดปัญหาที่มากระทบกับธุรกิจ ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการมาช่วยเหลือเสมอ

 

ส่วนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีมาตรการอะไรบ้าง ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการพยุงเศรษฐกิจและธุรกิจอสังหาฯ  มาดูไทม์ไลน์ตลอดระยะเวลา 25 ปี กับบทสรุปไทม์ไลน์ มาตรการกระตุ้นอสังหา จากวิกฤตต้มยำกุ้งถึงพิษโควิด-19 โดยเนื้อหาจะแบ่งออกเป็น 3 ตอน

Timeline Real Estate 1

ตอนที่ 1  จากต้มยำกุ้งถึง การตั้งศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ

ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ต้องยอมรับว่าธุรกิจอสังหาฯ บูมสุด ๆ โดยเฉพาะในช่วงปี 2537-2538 เรียกได้ว่าเป็นยุคทองคำของตลาดอสังหาฯ แต่ก็เกิดภาวะฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาฯ ช่วงปี 2539 พอถึงปี 2540 ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย ซึ่งส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทย และในช่วงปีนั้นรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ประกาศลดค่าเงินบาท​ ​ทำให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะสถาบันการเงิน และธุรกิจอสังหาฯ  ​

 

โดยวิกฤตต้มยำกุ้งได้ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายปี  ทำให้รัฐบาลต้องมีมาตรการออกมากระตุ้น และพยายามสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจของไทย ส่วนธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งมีซัพพลายเหลือจำนวนมาก รัฐบาลก็มีมาตรการสำคัญ ๆ ออกมาหลายช่วงปีด้วยกัน รวมถึงการศึกษาและจัดตั้งศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ขึ้นมาเพื่อเป็นหน่วยงานสำคัญในการจัดเก็บและบริหารข้อมูลในธุรกิจอสังหาฯ  ส่วนมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ ในแต่ละปีมีดังนี้ ​

ปี 2540

มีการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยดอกเบี้ยต่ำ อัตรา 9% ผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสิน

ปี 2541

ได้มีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองอาคารชุด (คอนโดมิเนียม) ของคนต่างชาติจากเดิมที่ให้สัดส่วน 40% ของพื้นที่ทั้งหมด ของโครงการ  เป็นสัดส่วน 49% เนื่องจากต้องการกำลังซื้อจากชาวต่างชาติเข้ามาช่วยกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ ให้เติบโตมากขึ้น โดยสัดส่วนดังกล่าวใช้มาจนถึงปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ ยังมีการใช้มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจากอัตรา 2% ลดลงเหลือ 0.01% และลดค่าจดทะเบียนการจดจำนองจากอัตรา 1%  เหลือ 0.01% ซึ่งมีระยะเวลาการบังคับใช้สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2542

Real Estate Crisis

ปี 2542

รัฐบาลได้ให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ออกพันธบัตรวงเงิน  46,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธอส. โดยแบ่งเป็นวงเงิน จำนวน 21,000 ล้านบาท  ธอส. ปล่อยให้กับประชาชนเข้ามากู้ ซึ่งสามารถผ่อนชําระได้นานถึง 30 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ทุก 3 หรือ 5 ปี ส่วนวงเงินที่เหลืออีก 25,000 ล้านบาท ให้ ธอส. ปล่อยกู้แก่สถาบันการเงินอื่นเพื่อนําไปปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย

 

นอกจากนี้  บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ยังได้ออกพันธบัตรวงเงิน 4,000 ล้านบาท เพื่อนํามาซื้อ สินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินอื่น ๆ ไปบริหารต่อด้วย และให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) รับซื้อโครงการที่อยู่อาศัยที่ก่อสร้างเกินกว่า 50% แต่ยังพัฒนาไม่เสร็จมาดำเนินการต่อจนแล้วเสร็จ ภายในวงเงินลงทุนไม่เกิน 15,000 ล้านบาท  พร้อมกับขยายระยะเวลามาตรการลดหย่อนค่าจดทะเบียนโอนอสังหาฯ จาก 2% เหลือ 0.01% ของราคาประเมิน ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2543

ปี 2543

จากสภาพเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งภาพรวมยังไม่เติบโตเป็นปกติ รัฐบาลจึงได้ขยายระยะเวลามาตรการ การลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาฯ จาก 2% เหลือ 0.01% ไปสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม​ 2544 และขยายขอบข่ายการลดค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้รวมถึงการโอนที่ดินเปล่า ที่ได้รับอนุญาตจัดสรร และการโอนอาคาร หรือที่ดินโดย กคช. หรือหน่วยงานราชการที่มี อำนาจทำการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายอีกด้วย

 

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคาร ที่อยู่อาศัย เพิ่มเติมจากเดิมที่ยกเว้นภาษีฯ ให้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท เป็นไม่เกิน 50,000 บาท และขยายสิทธิประโยชน์ข้างต้นให้ครอบคลุมถึงการซื้อ หรือเช่าซื้ออาคาร ที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 หลัง รวมถึงดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้ยืมใหม่เพื่อชดใช้เงินกู้ยืมเดิม (Refinance) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543

 

รวมถึงยังมีการใช้มาตรการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับรายรับจากการขายอสังหาฯ ที่เป็นทางการค้าหรือหากำไร ทุกประเภท จาก 3.3%  เหลือ 0.11%  ของรายรับก่อนหักรายจ่าย โดยให้มีผลบังคับใช้ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2544  และการขยายระยะเวลาการถือครองอสังหาฯ ของสถาบันการเงินที่ได้รับโอนมาก่อนวันที่ 1มกราคม​ 2540 ออกไปอีก 5 ปี นับจากวันที่ครบกำหนดต้องจำหน่าย หรือวันที่ครบกำหนดผ่อนผัน และในปีนี้เองรัฐบาลได้ประกาศให้มีการเริ่มดำเนินการโครงการศึกษาเพื่อจัดตั้งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติขึ้น

ปี 2544

รัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านธุรกิจอสังหาฯ ต่อเนื่อง โดยได้มีการอนุมัติให้ธอส.ปล่อยสินเชื่อ100% สำหรับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย รวมถึงยัง​ปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้กับข้าราชการสมาชิกกบข. และยังได้​ขยายระยะเวลามาตรการ การลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาฯ จาก 2% เหลือ 0.01%  และค่าจดทะเบียน การจำนองอสังหาฯ จาก 1%  เหลือ 0.01% โดยไปสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2545

Real Estate Crisis 2

ปี 2545

มีการขยายเวลาการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะที่เรียกเก็บจากการขายอสังหาฯ ในอัตรา  3.3%  ลงเหลือ​ 0.11%  จากเดิมที่สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2546 และขยายเวลาการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมตามประมวลกฎหมาย ที่ดิน และกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ในอัตรา  0.01%  จากเดิมที่สิ้นสุด 31 ธ.ค. 2545 ออกไปอีก 1 ปี และ

 

นอกจากนี้ ยังมีการออกมาตรการ​ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เรียกเก็บจากเงินได้จากการขายอสังหาฯ เพื่อนำรายได้ไป ซื้ออสังหาฯ ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินมูลค่าอสังหาฯ ที่ซื้อใหม่ โดยผู้ขายต้องใช้อสังหาฯ ที่ขายเป็นที่อยู่อาศัย ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันที่ได้ขายอสังหาฯ นั้น และผู้ขายต้องซื้ออสังหาฯ ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยใหม่ก่อนหรือ หลังการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี

ปี 2547

หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 24540 ซึ่งธุรกิจอสังหาฯ มีบ้านและคอนโดเหลือค้างอยู่ในตลาดจำนวนมาก และเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดวิกฤตขึ้น ทำให้รัฐบาลมองเห็นความสำคัญของระบบข้อมูล ที่ควรจะมีเพื่อเป็นเครื่องเตือนผู้ประกอบการ จึงควรจะมีการจัดตั้ง ”ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์” ขึ้นในประเทศไทย เพื่อเป็นหน่วยงานกลางให้ทำหน้าที่หลักในการจัดเก็บรวบรวมข้อมูล​ ที่กระจายอยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ มาประมวลผลเป็นข้อมูลภาพรวมของประเทศ และนำมาเผยแพร่​ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดวิกฤตในอนาคต

 

ในวันที่ 17 สิงหาคม 2547  ครม.จึงมีมติ ภายใต้การนำเสนอของกระทรวงการคลัง​ จัดตั้ง”ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์” ขึ้น โดยเป็นหน่วยงานอิสระระดับสายงานภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารอาคารสงเคราะห์ การดำเนินงานอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขึ้น​  โดยได้เริ่มดำเนินงานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2547

Real Estate Crisis 1

ปี 2548

มีการออกมาตรการภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อส่งเสริมตลาดบ้านมือสอง การลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาฯ จาก​ 2% เหลือ 0.01% และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาฯ จาก 1%  เหลือ 0.01% โดยมีระยะเวลาสิ้นสุดในวันที่ 31ธันวาคม​ 2550

 

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง  เพื่อขึ้นบัญชีรายชื่อบริษัทตัวแทนและนายหน้า ไว้ที่ศูนย์ข้อมูลนายหน้าอสังหาริมทรัพย์  และให้มีการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตัวแทนและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์

 

ติดตามต่อตอนที่ 2  วิกฤตการเมืองไทย สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง

ที่มา – ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส.

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ แนะตลาดบ้าน-คอนโด ต้องต้องเฝ้าระวัง  5 เรื่องนี้

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด