Awc Hotel Covid

ธุรกิจโรงแรมของ AWC ปรับกลยุทธ์อย่างไร ​ในวันที่โควิดทำรายได้หาย 10,000 ล้าน 

AWC หรือ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  บริษัทภายใต้การบริหารงานของนางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ หนึ่งในทายาทของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่มี 3 พอร์ตธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจอาคารสำนักงาน และธุรกิจรีเทล  ซึ่งตลอดระยะเวลา​ 2 ปีภายหลังจากนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 ต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ที่กระทบธุรกิจอย่างหนัก เพราะต้องอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้ และรายได้หายไปกว่า 10,000 ล้านบาทจากเป้าหมายที่บริษัทตั้งไว้

 

กลยุทธ์การรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของ AWC คือ การให้ความสำคัญกับการบาลาซ์พอร์ตฟอลิโอ โดยปัจจุบัน AWC มีทรัพย์สินในพอร์ตรวมมูลค่ากว่า 130,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วง IPO ที่มีทรัพย์สินมูลค่า 100,000 ล้านบาท  โดยเป็นพอร์ตโรงแรมถึง 50% ​ส่วนที่เหลือเป็นธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งการสร้างการเติบโต AWC จึงยังต้องมีการลงทุนและการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

Awc Wanlapa

นางวัลลภา เล่าว่า ต้องปรับตัวมองทุกอย่างในรูปแบบใหม่ บาลานซ์ซับเซ็กเมนต์ การบริหารความเสี่ยง การดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และวิเคราะห์ประสิทธิภาพการดำเนินงานทั้งหมด มีการคิดโปรแกรมลดค่าใช้จ่าย หรือสร้างคุณค่าเพิ่ม รวมถึงการมองใหม่และเดินหน้า

เราต้องหา New Demand ความต้องการของลูกค้าที่จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ตอบสนองในสิ่งที่​ลูกค้ากำลังมองหาสำหรับการลงทุนและการบริหารความเสี่ยง AWC วางไว้ 3 แนวทาง คือ ​ ​

1.ระยะสั้น (Short-term)

ขยับหรือปรับเวลาให้ตรงกับดีมานด์ เช่น การเปิดตัวโรงแรมบันยันทรี กระบี่ เดิมจะเปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2563 แต่เกิดการล็อกดาวน์เลยขยับเวลามาเปิดช่วงปลายไตรมาส 4 แทน ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายการเปิดบริการ และยังได้อัตราเข้าพักสูงถึง 80% จากการเดินทางท่องเที่ยวช่วงปลายปีด้วย ส่วนปีนี้เตรียมเปิดโรงแรมคอร์ทยาท บายแมริออท วันที่ 2 พ.ย. 2564 และโรงแรมมีเรีย เชียงใหม่ ช่วงกลางเดือนธันวาคม

2.ระยะกลาง (Medium-term)

พิจารณาโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาให้มีระยะเวลาการเปิดดำเนินการให้เหมาะสม อาจจะให้ช้ากว่าปกติ เพื่อรอดีมานด์ที่กำลังจะเข้ามาในอนาคต

3.ระยะยาว (Long-term)

ยังคงพัฒนาโครงการตามแผนงานที่ได้วางไว้ เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพและความแข็งแกร่งด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย ที่มีอยู่มากมาย และสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เมืองไทยยิ่งตอบโจทย์ในด้านความหลากหลาย และตอบโจทย์ New Demand ในกลุ่มที่ต้องการพักอาศัยแบบ Long stay และ Workation เนื่องจากมีโรงแรมคุณภาพไว้บริการมากมาย และมีแพ็กเกจในต้นทุนโดยรวมยังน่าสนใจกว่าหลายเมืองท่องเที่ยงอื่น ๆ ของโลก

Mariott Awc

นอกจากนี้  AWC ยังมีโมเดลธุรกิจที่จับมือกับพันธมิตรระดับโลก Global partner ทำธุรกิจร่วมกัน เนื่องจาก​ AWC มองว่าพันธมิตรเหล่านั้นได้เข้ามาตอบโจทย์ธุรกิจ และสนองตอบความต้องการการของลูกค้าที่เป็น Global demand ได้ จึงได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับเชนโรงแรมระดับโลก เป็นท็อปแบรนด์ระดับโลกที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า พัฒนาธุรกิจ หรือการพัฒนา​ Global Destination หรือ Quality Asset ที่ตอบโจทย์นักเดินทางและ Global Demand ได้อย่างเต็มที่

 

โดย AWC ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับแบรนด์โรงแรมระดับโลก  ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม IHG ซึ่งมีการเปิดตัวแบรนด์ใหม่เดอะ วีนแยทท์ คอลเล็คชั่น (Vignette Collection) แบรนด์ใหม่ในฝั่งคอลเล็คชั่น Luxury & Lifestyle ที่เปิดตัวแห่งแรกของโลก, Hilton, Okura, Banyantree, Maria, Marriott, The ritz-carlton residences ซึ่งเป็นแห่งแรกของกรุงเทพฯ

 

ล่าสุด ยังร่วมมือกับ Nobu Hospitality แบรนด์ไลฟ์สไตล์สุดหรูระดับโลก ที่ก่อตั้งโดยเชฟโนบุ มัตสึฮิสะ, เมียร์ เทเปอร์ และโรเบิร์ต เดอ นิโร ในการร่วมพัฒนาและเปิดตัว Nobu Hotels and Restaurants  ในประเทศไทย โดยในเฟสแรกจะเริ่มด้วยการเปิดร้านอาหาร  Nobu Restaurants แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย บน Rooftop อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์  อาคารสำนักงานมิกซ์ยูส (Mixed-Use) แนวไลฟ์สไตล์ที่ใหญ่สุดในประเทศไทย  ซึ่งตั้งอยู่บนศูนย์กลางธุรกิจชั้นนำของกรุงเทพฯ โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปลายปีนี้ ต่อด้วยการลงทุนสร้างโรงแรม Nobu Hotels อีก 1-2 แห่ง ภายใน 5-6 ปีข้างหน้า โดยจะเป็นการลงทุนของ AWC ทั้งหมด

จับดีมานด์กลับมาเร็วและคุณภาพ

แม้ว่าสถานการณ์ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น รัฐบาลเริ่มเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ วันที่ 1 พ.ย.นี้ แต่สถานการณ์ทุกอย่างล้วนไม่มีความแน่นอน สิ่งที่ AWC วางกลยุทธ์รับมือ คือ การมุ่งจับตลาดดีมานด์ที่กลับมาเร็วและดีมานด์คุณภาพ ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับบน ที่มีกำลังซื้อสูง เพราะภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ยังมีค่าใช้จ่ายพิเศษที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าตรวจเชื้อโควิด-19 รวมถึงอาจจะต้องกักตัวตามระยะเวลาที่กำหนด ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่มากกว่าปกติ ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวที่น่าจะกลับมาได้ช้าสุด คือ กลุ่มตลาดการประชุมและสัมมนา หรือ MICE เพราะต้องมีการจองล่วงหน้าเป็นระยะเวลานาน

Awc Hotel

ดีลซื้อโรงแรม 200 แห่ง

การขยายธุรกิจและสร้างการเติบโต นอกจากการลงทุนและพัฒนาโครงการต่าง ๆ ด้วยตนเองแล้ว AWC ยังมองเรื่องการซื้อกิจการหรือธุรกิจที่สามารถสร้างการเติบโต หรือตอบโจทย์ทางธุรกิจให้กับ AWC ได้ด้วย แม้ว่าปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่สำหรับ AWC แล้วมองว่าในวิกฤติยังมีโอกาส  ในการสร้างโครงการอสังหาฯ รูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการซื้อกิจการโรงแรม ที่ผ่านมามีหลายโรงแรมที่ไม่ดำเนินธุรกิจต่อ ได้เข้ามาเสนอขายให้กับทาง AWC กว่า 200 แห่ง ซึ่งมีเพียงดีลเดียวที่จบลง คือ โครงการที่เมืองพัทยา  ส่วนโครงการอื่น ๆ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา

 

โดย AWC ได้​พัฒนาระบบการพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ หรือ  “Business Analysis” บนเว็บไซต์ด้วยการนำเอาระบบ AI มาช่วยในการวิเคราะห์โอกาส ความเป็นไปได้ทางธุรกิจ และการจัดประเภทธุรกิจว่าอยู่ในกลุ่มใด สำหรับโครงการที่นำมาเสนอทั้งหมด ซึ่งในเบื้องต้นยังไม่มีโครงการที่ตรงกับความต้องการของ AWC

หลายคนบอกว่าในสถานการณ์แบบนี้มีโอกาสมาด้วยเสมอ

 

 

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด