ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ประกาศแผนธุรกิจปี 2566 เปิดโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง 10 – 12 โครงการ มูลค่ารวม 7,000 – 8,000 ล้าน พร้อมตั้งเป้ายอดขายที่ 8,600 ล้าน และยอดรับรู้รายได้ที่ 6,850 ล้านบาท ขยายตัว 10% เน้น 2 คาถาความสำเร็จ ทำธุรกิจต้องมีกำไร-รักษาสภาพคล่อง
นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (LALIN) ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มากว่า 30 ปี เปิดเผยว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ที่ผ่านมาว่า เป็นปีที่ความเสี่ยงจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ค่อยๆ คลี่คลาย จากการที่คนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน ติดเชื้อ จนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ การติดเชื้อมักมีอาการที่ไม่รุนแรง ทำให้หลายประเทศเริ่มทยอยดำเนินนโยบายผ่อนคลายต่าง ๆ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาดำเนินได้ตามปกติ
ปี 2565 ที่ผ่านมา โลกต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การแย่งชิงความเป็นผู้นำโลกของประเทศมหาอำนาจ ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เริ่มมาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี
นอกจากนี้ยังเป็นปีที่เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นทั่วโลก ซึ่งสูงที่สุดในรอบหลายสิบปี จนทำให้หลายประเทศต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดย FED ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 7 ครั้ง รวม 4.25% มาอยู่ที่ระดับ 4.25%-4.50% ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งเป็นการขึ้นที่เร็วและแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน รวมถึงธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศ ต้องดำเนินนโยบายในรูปแบบเดียวกัน เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ อันนำไปสู่ความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นที่ทั่วโลกจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession
ในแง่ของเศรษฐกิจไทย ในปี 2565 ได้รับแรงส่งจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวภายหลังการเปิดประเทศช่วงกลางปี การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนส่วนหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นต่างๆ ของภาครัฐ และการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งแรกของปี ก่อนเริ่มชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง สำหรับในปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมของไทยจะขยายตัวได้ราว 3.6 – 4.0%
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง ทั้งความไม่แน่นอนภายในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงที่จะเกิด Recession ของเศรษฐกิจยุโรป และสหรัฐฯ ความเสี่ยงที่เกิดจากเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ในขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศที่ยังอ่อนแอ ภาระหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นความท้าทายในการดำเนินธุรกิจในปี 2566 นี้
สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์มีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าธรรมเนียมจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ถึงสิ้นปี 2566 รวมถึงการฟื้นตัวของลูกค้าที่ทำงานในกลุ่มท่องเที่ยว ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกจำกัดการเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์
สำหรับแผนการตลาด ในปี 2566 นี้ จะใช้กลยุทธ์ที่มุ่งเน้น Customer Centric ผ่านกลยุทธ์ทั้ง Lifestyle Marketing และ Experience Marketing โดยต่อยอดการทำตลาดผ่านช่องทาง Digital ที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ตรงกลุ่มมากขึ้น และมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น โดยนำ Big Data มาใช้ในการวิเคราะห์หา Customer Insights
ทั้งนี้บริษัท ยังคงให้ความสำคัญกับตลาดที่อยู่อาศัยในกลุ่มที่เป็น Real Demand โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในรูปแบบของ New Design และ Smart Function ของตัวบ้าน โดยช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทเป็นรายแรกที่นำรูปแบบความงดงามของสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสที่เรียบหรู มาออกแบบบ้านสไตล์ฝรั่งเศสแบบ French Colonial Style บนทำเลศักยภาพ ในราคาที่คุ้มค่า และจับต้องได้
ขณะที่แผนการเปิดโครงการใหม่ ในปีนี้วางแผน 10-12 โครงการ มูลค่า 7,000-8,000 ล้านบาท เป็นบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ระดับราคา 2-9 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงมองหาโอกาสในการขยายไปยังพื้นที่มีศักยภาพ เช่น พื้นที่เขต EEC ในจังหวัดชลบุรีและระยอง เมื่อภาวะเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ภาวะการท่องเที่ยวเติบโตเพิ่มมากขึ้น
โดยปัจจุบันบริษัทมีที่ดินรองรับกับการพัฒนาโครงการใหม่แล้ว 60% ซึ่งจะพัฒนาโครงการได้ถึงเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคมนี้ และยังวางงบประมาณในการซื้อที่ดิน เพื่อนำมาพัฒนาโครงการในอนาคตอีก 1,500-1,600 ล้านบาท
โดยลลิล พร็อพเพอร์ตี้ มีแนวคิดการดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน มีการบริหารงานที่คำนึงถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) รวมถึงการมุ่งเน้นไปสู่การเป็น Digital Organization อย่างเต็มรูปแบบ ควบคู่ไปกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง ให้เป็นองค์กรที่รู้รอบแบบเจาะลึก มุ่งสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ เสริมสร้างศักยภาพให้ทุกคนในองค์กร ให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ รู้กว้าง คิดไกล อยู่กันด้วยความเข้าใจ เพื่อสร้างความแข็งแรงจากภายใน มุ่งสู่การเป็น National Property Company ตามเป้าหมายที่ได้วางร่วมกัน
ขณะที่ทิศทางการเติบโตของผลการดำเนินงาน ในปีนี้ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ วางเป้าหมายการเติบโตไว้ 10% ซึ่งตั้งเป้ายอดขาย 8,600 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ 6,850 ล้านบาท ปัจจุบันมียอดขายรอรับรู้รายได้แล้ว 1,000 ล้านบาท
คาถาสำหรับปีนี้ มี 2 เรื่อง คือ ธุรกิจต้องการมีกำไร และต้องรักษาสภาพคล่องเอาไว้ให้ได้ เราพยายามเติบโต 10% จากปี 2565
ในส่วนของสถานะการเงิน บริษัทมีความแข็งแกร่งอย่างมาก โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) เพียง 0.55 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ 1.4 – 1.5 เท่า ส่วนภาพรวมธุรกิจอสังหาฯ ในนี้คาดว่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะตลาดอสังหาฯ แนวราบ จากการเปิดตัวของผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งคาดว่าภาพรวมธุรกิจอสังหาฯ จะเติบโตประมาณ 5%
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
–ลลิล กวดยอดขาย 10 เดือน 6,300 ล้าน พร้อมปรับโฉม “บ้านลลิล The Prestige”