Reic Focast Real Estate 2020

อสังหาฯ ปี 63 เจอสารพัดปัจจัย ศขอ.ประเมินขยายตัว -0.2% ถึง 7.3%

อสังหาฯ ปี 63 เจอสารพัดปัจจัย ฉุดตลาดให้ชะลอตัว ศขอ.ประเมินตลาดดีสุดจะเติบโต 7.3% แต่ถ้าแย่สุดมีโอกาสติดลบ 0.2% ชี้ปัญหาไขหวัดโคโรนา ส่งผลให้ลูกค้าจีนไม่โอนกรรมสิทธิ์ 25% จากสัดส่วนลูกค้าจีนทั้งระบบ

 

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (ศขอ.) เปิดเผยถึงแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 ว่า  ยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยต่างๆ ที่มากระทบตลาดมากมาย ได้แก่ ปัจจัยบวกอัตราดอกเบี้ยต่ำและเป็นขาลง มาตรการกระตุ้นอสังหาฯของรัฐบาล การผ่อนปรนเกณฑ์ LTV ของ ธปท. และปัจจัยลบ  ภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัวในหลายกิจกรรมเศรษฐกิจที่สำคัญ การระบาดของไวรัสโคโรนา สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และ จีน

อสังหาฯ ดีสุดโต 7.3% แย่สุดติดลบ 0.2%

ในภาพรวมของตลาดอสังหาฯ ปีนี้ น่าส่งผลให้การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย ทุกประเภททั่วประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 372,500 –400,660 ยูนิต ขยายตัวระหว่าง -0.2% ถึง 7.3% และมีมูลค่าถึง 853,100 – 917,100 ล้านบาท  ขยายตัวระหว่าง -2.5% ถึง 4.8%  และเกิดการปรับตัวในภาคธุรกิจที่อยู่อาศัย เพื่อรองรับกับปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ความนิยมของอสังหาฯ ไทยในชาวต่างชาติ 1

ส่วนการโอนกรรมสิทธิ์   ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลคาดว่าจะมีประมาณ 197,500 – 214,300 ยูนิต ขยายตัวระหว่าง -0.2% ถึง 8.3% และมีมูลค่าถึง 571,200 – 614,000 ล้านบาท  ขยายตัวระหว่าง -0.2% ถึง 7.3%

 

สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั่วประเทศ จะอยู่ที่ประมาณ 117,400 – 126,780 ยูนิต เป็นมูลค่าถึงประมาณ 284,360 –305,700 ล้านบาท โดยกรุงเทพฯและปริมณฑล จะมีหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ คิดเป็นสัดส่วน 73.6% และมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์มีสัดส่วน 78.1% ของการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั่วประเทศ

 

ขณะที่ปัญหาการระบาดไวรัสโคโรนา จะส่งผลกระทบให้ลูกค้าชาวจีน ชะลอการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยลงไปบ้าง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกนี้ น่าจะทำให้ลูกค้าชาวจีนชะลอการโอนกรรมสิทธิ์ ประมาณ 25% ของจำนวนชาวจีนทั้งหมด  ซึ่งสัดส่วนลูกค้าชาวจีนที่โอนกรรมสิทธิ์มีประมาณ 6% ของผู้ซื้อทั้งหมดเท่านั้น

เปิดตัวโครงการใหม่ 114,400- 122,600 ยูนิต

ในปี 2563 มีการประมาณการณ์ จำนวนที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีประมาณ 114,400- 122,600 ยูนิต โดยเป็นคอนโดฯ ประมาณ 55% หรือประมาณ 62,900-67,400 ยูนิต โดยการขอใบอนุญาตจัดสรรทั่วประเทศจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ประมาณ 97,500-100,400 ยูนิต และจะอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 58.4% การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารทั่วประเทศประมาณการว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ประมาณ 292,100-300,900 ยูนิต

Lifestyle Life Condo Rama9 4

โดยมีใบอนุญาตก่อสร้างอาคารชุดประมาณ 27.4% หรือประมาณ 80,000-82,400 ยูนิต และใบอนุญาตก่อสร้างอาคารในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 แต่อาจมากกว่าเล็กน้อยประมาณ 129,000-132,900 ยูนิต โดยมีใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดฯ มีสัดส่วน 51.1% หรือประมาณ 65,900-67,900 ยูนิต ซึ่งหมายความว่า 82% ของคอนโดฯ ที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารทั่วประเทศจะกระจายตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

 

จากการคาดการณ์ตัวเลขในเครื่องชี้หลักต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว อาจสรุปได้ว่า ตลาดอสังหาฯ ในปี 2563 น่าจะมีภาวะที่ค่อนข้างทรงตัวต่อเนื่องจากปี 2562 แต่มีโอกาสที่จะขยายตัวได้สูงถึง 5-7% หากเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศมีการขยายตัวดีขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานและความมั่นใจของผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในการตัดสินใจที่จะซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น

มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ดึงตลาดโต 2.7%

สำหรับสถานการณ์ในปี 2562 ที่รัฐบาลได้ออก 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบด้วยมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้จากการซื้อบ้านและห้องชุด (บ้านหลังแรก) ไม่เกิน 200,000 บาท มาตรการ ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนและลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์เหลือประเภทละ 0.01% สำหรับการซื้อบ้านจัดสรรและห้องชุดราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท (รวมบ้านสร้างใหม่ และบ้านมือสอง) และมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอน และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์เหลือประเภทละ 0.01% สำหรับการซื้อบ้านจัดสรรและห้องชุดราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทที่ซื้อจากผู้ประกอบการ

 

โดยมาตรการต่างๆ ดังกล่าวได้ส่งผลให้สถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศในปี 2562 ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2561 ได้ โดยมียอดจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ถึง 373,365 ยูนิต และมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ถึง 875,189 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวนยูนิตขยายตัวจากปี 2561 ถึง 2.7%   และมีมูลค่าขยายตัว 4.3% ทั้งที่คาดการณ์ว่าจะต้องติดลบถึง 8.4% และ 8.2%

 

จำนวนยูนิตที่ได้รับในอนุญาตจัดสรรทั่วประเทศ มีการขยายตัวในไตรมาส 2 และ 3 และในไตรมาส 4 ปี 2562 มีจำนวนยูนิตการขออนุญาตจัดสรรใกล้เคียงกับปี 2561 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการฯ ได้ปรับแนวการผลิตที่อยู่อาศัยมาสู่แนวราบมากยิ่งขึ้น

 

สำหรับผู้ประกอบการฯในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เห็นได้ว่า เริ่มมีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 และ 2560 แล้ว โดยจำนวนยูนิตที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างทั่วประเทศปี 2562 มีจำนวนลดลงถึง 9.0% โดยจำนวนยูนิตที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดฯ ลดลง 24.0% และหากพิจารณาจำนวนและสัดส่วนของใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดฯ ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 – 2562 ซึ่งเป็นสัญญาณว่า ปริมาณของคอนโดฯ เกิดใหม่ในช่วง 1 – 2 ปีข้างหน้านี้น่าจะมีปริมาณลดลง

CBRE เผยแนวโน้มตลาดอสังหาฯ ปี 60 ยังมีโอกาสอีกมาก

ในส่วนของจำนวนยูนิตที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลปี 2562 มีจำนวนลดลงถึงประมาณ 32.1% โดยจำนวนหน่วยเปิดตัวใหม่ของอาคารชุดลดลง 34.3% และ บ้านจัดสรรลดลง 29.0% ซึ่งทำให้ภาวะที่มีหน่วยเหลือขายมากจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในปี 2561 จะทยอยถูกดูดซับไป

 

ที่ผ่านมา ศขอ. ได้นำข้อมูลที่ใช้เพื่อสนับสนุนภาคอสังหาฯ อย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากรัฐบาลได้ออกมาตรการในการกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ในปีที่ผ่านมา ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น มูลค่าการโอนที่คาดว่าจะติดลบ 8.4% กลับมาเป็น บวกถึง 2.7%

 

ส่วนในปี 2561ที่ ศขอ. ได้นำเสนอข้อมูลสู่สังคมและสาธารณชน รวมถึงผู้ประกอบการอสังหาฯ ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่ายังไม่มีสถานการณ์ของฟองสบู่อสังหาฯ ในประเทศไทยในขณะนั้นแต่อย่างไร และทิศทางในปี 2562 ก็จะไม่มีภาวะฟองสบู่เช่นกัน

 

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด