Tag : Office

144 ผลลัพธ์
เอสซีจี ลุย 2 ธุรกิจ “ให้คำปรึกษา-งานระบบอาคารแบบครบวงจร” รับเทรนด์ Well-being

เอสซีจี ลุย 2 ธุรกิจ “ให้คำปรึกษา-งานระบบอาคารแบบครบวงจร” รับเทรนด์ Well-being

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน  ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในปัจจุบัน ให้เข้ามาอยู่ภายใต้ความปกติใหม่ หรือ New Normal ที่ให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพและอนามัยของตนเองในด้านต่าง ๆ  ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในปัจจุบันเท่านั้น แต่เชื่อว่าผู้คนในยุคปัจจุบันยังจะให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและอนามัยของตนเองต่อไปในอนาคตด้วย   การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ไม่ได้ส่งผลเฉพาะพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคนทั่วไปเท่านั้น แต่ยังส่งผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์อีกมากมาย ที่เห็นชัดเจนในช่วงที่ผ่านมา คือ การซื้อขายออนไลน์ที่เติบโตอย่างมากมาย เพราะคนไม่ออกจากบ้านไปซื้อสินค้า แต่เลือกจะช้อปปิ้งผ่านออนไลน์เป็นหลัก คนยุคปัจจุบันจึงเรียนรู้และยอมรับกับการซื้อออนไลน์มากขึ้น และคงเป็นเรื่องปกติต่อไปในนาคตแน่นอน   แม้แต่การใช้งานในพื้นที่ต่าง ๆ ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า สถานที่ราชการ  อาคาร สำนักงานต่าง ๆ ฯลฯ ต่างก็มีการสร้างมาตรฐานใหม่ของการใช้พื้นที่ออกมารองรับ   ที่ต้องมีระบบมาตรฐานความปลอดภัยทางสาธารณสุข  ไม่ว่าการเช็คอินผ่านแอพพลิเคชั่น การวัดอุณหภูมิ การล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ เป็นต้น แม้ว่าในอนาคตจะมีการคิดค้นวัคซีนได้ และถูกนำมาใช้กับมนุษย์อย่างได้ผลจริง ก็เชื่อว่าหลายมาตรการจะยังคงอยู่ และกลายเป็นวิถีชีวิตปกติใหม่ของคนในยุคหลังโควิด-19   นายวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Living Solution Business ในธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เปิดเผยว่า  หลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ที่ผ่านมา พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนไป พบว่าเกิดการเร่งในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่ก้าวเข้าสู่ Digital Transformation เร็วมากขึ้น และที่เห็นได้ชัด คือการตื่นตัวกับกระแส Health and Wellness โดยคนส่วนใหญ่ได้หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพและสุขอนามัยมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้สินค้าและบริการด้านสุขภาพ และความปลอดภัยเติบโตขึ้นหลายเท่าตัว   การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ยังส่งผลต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย จากเดิมที่ให้ความสำคัญต่อการออกแบบอาคารแล้ว ยังคำนึงถึงอาคารที่ให้สุขอนามัยที่ดี ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการดูแล "คน” ในพื้นที่ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงาน พื้นที่พาณิชย์ หรือที่อยู่อาศัย จะถูกให้ความสำคัญมากขึ้นควบคู่กับเรื่องความยั่งยืนซึ่งมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จุดเปลี่ยนสำคัญของรูปแบบการออกแบบและพัฒนาโครงการทั่วโลก จะคำนึงถึงสุขภาวะ (Well-being) เพื่อให้คนใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ได้อย่างแข็งแรงและมีความสุข   สำหรับกลุ่มเอสซีจี ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับวัสดุก่อสร้าง และงานระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาคาร และการอยู่อาศัยของคน ได้มองเห็นการเปลี่ยนแปลง และต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง  โดยได้เริ่มดำเนิน 2 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาด้านสิ่งปลูกสร้างโดยผู้เชี่ยวชาญ (SCG Building & Living Care Consulting) และ 2. ธุรกิจผู้ให้บริการโซลูชั่นงานระบบวิศวกรรมอาคารแบบครบวงจร (Smart Building Solution) มาตั้งแต่ช่วง 9 ปีที่ผ่านมา และในปีนี้ได้รุกตลาดเพิ่มมากขึ้น จากเทรนด์ของการอายู่อาศัยที่มุ่งเน้นในเรื่องของสุขภาวะทีดี่มากขึ้น  เพื่อตอบรับกับการความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทรนด์การพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ซึ่งเข้ามาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน และดีต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว   SCG Living Solution Business มีแนวคิดในด้านการบริหารและพัฒนาธุรกิจใหม่ เพื่อยกระดับการให้บริการ และส่งมอบโซลูชั่น เกี่ยวกับ "Living" หรือการใช้ชีวิตทั้งผู้อยู่อาศัย อาคารสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบอย่างเป็น Eco-system โดยมีแนวทางการทำงานในรูปแบบสตาร์ทอัพ โฟกัสธุรกิจเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า โดยมุ่งมั่นในการริเริ่มพัฒนาแนวคิดและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการให้คำปรึกษาด้านการออกแบบและรับรองมาตรฐานอาคารอย่างเชี่ยวชาญด้วยประสบการณ์ทำงานอย่างมืออาชีพ เพื่อการอยู่อาศัยอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในสังคม 4 บริการ SCG Building & Living Care Consulting SCG Building & Living Care Consulting เป็นธุรกิจบริการให้คำปรึกษาด้านสิ่งปลูกสร้างโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อยกระดับมาตรฐานการก่อสร้าง ไปสู่อาคารที่ลดการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติในขั้นตอนการก่อสร้างและการใช้งาน รวมไปถึงอาคารที่มีการคำนึงถึงการมีสุขภาวะที่ดี แข็งแรง ส่งผลถึงคนที่อยู่อาศัยในอาคารและชุมชนโดยรอบ และเหมาะสมกับการอยู่อาศัยเพื่อคนทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่จะเป็นกลุ่มประชากรหลักของประเทศ ด้วยบริการให้คำปรึกษาสำหรับการพัฒนาและปรับปรุงแนวทางการก่อสร้างอาคารตามมาตรฐาน ต่าง ๆ โดยมี 4 บริการหลัก ได้แก่ 1.บริการให้คำปรึกษาเพื่อขอรับรองมาตรฐานอาคารเขียว (Green Building) ตามมาตรฐาน LEED / DGNB / TREES และ BEC  โดยให้ความสำคัญกับการออกแบบอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ อาทิ มีพื้นที่สีเขียวมากกว่าอาคารทั่วไป วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า 2.บริการให้คำปรึกษาเพื่อขอรับรองมาตรฐานอาคารเพื่อการมีสุขภาวะที่ดี (Well-Being Building) ตามมาตรฐาน fitwel และ WELL ให้ความสำคัญกับการออกแบบอาคารเพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้ใช้อาคาร เพิ่ม Productivity ในการทำงานและลดค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของคนในอาคาร 3.บริการให้คำปรึกษาเพื่อทำอาคารประหยัดพลังงาน ที่มีการวิเคราะห์และปรับปรุงประสิทธิภาพด้านพลังงาน (Energy Management Service) เพื่อประโยชน์สูงสุดในการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพให้กับอาคาร ด้วยการมีระบบการควบคุมการใช้พลังงานและทรัพยากรต่างๆ ที่เพิ่มความคุ้มค่าและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน รวมถึงรักษาและยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์และระบบต่าง ๆ 4.บริการออกแบบและปรึกษาอาคารเพื่อผู้สูงอายุและคนทุกวัย (Universal Design) โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีองค์ความรู้เฉพาะทาง และมีหลักการของงานวิจัยมารองรับ ทำให้ได้โครงการที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้ใช้อาคารโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ตอบโจทย์งานอาคารด้วยเทคโนโลยี ด้านธุรกิจ Smart Building Solution เป็นธุรกิจผู้ให้บริการโซลูชั่นงานระบบวิศวกรรมอาคารแบบครบวงจร รูปแบบ System Integrator ส่งมอบโซลูชั่นด้วยเทคโนโลยีตามที่เจ้าของอาคารต้องการ และเชื่อมต่อการทำงานต่าง ๆ ตั้งแต่การให้บริการออกแบบติดตั้งเทคโนโลยีในหมวดพลังงานในอาคาร ปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคาร (Indoor Air Quality) รวมทั้งเทคโนโลยีเพื่ออาคารอัจฉริยะ (Smart Building) ด้วยอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) โดยเฉพาะเทคโนโลยีในส่วนของระบบปรับอากาศและระบายอากาศ (HVAC: Heating, Ventilation, and Air Conditioning) โดย ธุรกิจ Smart Building Solution มีโซลูชั่นที่ให้บริการ ดังนี้ 1.Energy WELL Series  ระบบที่ช่วยลดพลังงานในการปรับอากาศและปรับปรุงสภาพอากาศในเวลาเดียวกัน ด้วยวิธีการดักจับก๊าซ CO2 และ indoor pollutant มากกว่า 30 ชนิด หมุนเวียนให้อากาศสะอาดเทียบเท่าหรือดีกว่าอากาศภายนอก ซึ่งถือเป็น Game Changer ของวงการ HVAC ที่ได้รางวัล ASHRAE Innovation award product of the year ในปี 2019 2.Energy CARE Series การใช้เทคโนโลยี Digital และ IoT แบบไร้สาย มาช่วยควบคุมเครื่องปรับอากาศภายในอาคาร 3.INTELL Series การใช้เทคโนโลยี Sensor และ IoT แบบไร้สายกำลังส่งสูง รับส่งสัญญาณ Wireless sensors ในรูปแบบ Real-time เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ บริหารอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ 4.HYGIENE Series การปรับปรุงและยกระดับคุณภาพอากาศภายในอาคารให้สะอาดจากเชื้อโรค โดยการใช้เทคโนโลยี Bi-polar Ionization System เข้ามาจัดการคุณภาพอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพ ลดเชื้อโรคในอากาศ ทั้งไวรัส แบคทีเรีย หรือฝุ่น PM 2.5 เพื่อคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของผู้ใช้งานภายในอาคาร ผลงาน 130 อาคารใช้บริการ สำหรับกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการของเอสซีจี มีอาคารต่าง ๆ มากกว่า 130 อาคาร และทุกประเภทอาคาร ขณะที่ผลงานที่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจลูกค้าได้อย่างดี ล่าสุด คือการให้คำปรึกษาด้านอาคารเพื่อยื่นขอการรับรองมาตรฐาน fitwel อาคารเพื่อสุขภาวะที่ดี กับทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเอสซีจีได้นำมาบุกเบิกในประเทศไทยและยังทำหน้าที่ในฐานะ Asia’s Advisory Council เป็นรายแรกในไทย โดยได้ผลักดันตลาดหลักทรัพย์ฯ จนสามารถได้รับรองมาตรฐาน fitwel V2.1 ระดับ 3 ดาว หมวด Single-Tenant Building และรางวัล Best in Building Health 2020 จาก Center for Active Design (CfAD) ซึ่งเป็นผู้ออกมาตรฐาน fitwel อีกด้วย   นอกจากนี้ ด้านธุรกิจ Smart Building Solution ได้ให้บริการติดตั้งระบบ Energy CARE series ให้กับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นการอัพเกรดอาคารเพื่อบริหารห้องเรียน และพลังงานสำหรับระบบปรับอากาศอย่างยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพระบบปรับอากาศในห้องเรียนและลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ด้วยการควบคุมผ่านระบบออนไลน์  
10 บิ๊กอสังหาฯ ทำกำไรได้สูงสุด ในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19

10 บิ๊กอสังหาฯ ทำกำไรได้สูงสุด ในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19

แม้ว่าในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ จะสามารถสร้างผลงาน ให้ยังมีรายได้กลับเข้ามา ในภาวะวิกฤตที่ต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ดูเหมือนว่าผู้ประกอบการ ต้องลงแรงทำงานกันหนักมากขึ้นกว่าปกติ    เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเกิดความต้องการซื้อบ้านและคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะการลดราคาสินค้า จัดโปรโมชั่นอยู่ฟรี ส่งผลให้ตัวเลขค่าใช้จ่ายทางการตลาดหลายบริษัทเพิ่มมากขึ้น เมื่อบวกลบคูณหารกับตัวเลขรายได้ในธุรกิจอื่น ๆ หรือค่าใช้จ่ายด้านอื่นด้วย อัตรากำไรของหลายบริษัทจึงลดน้อยลงอย่างปฎิเสธไม่ได้   จากการรวบรวมข้อมูลบริษัทมหาชน (บมจ.) ซึ่งดำเนินธุรกิจหลักด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 31 บริษัท พบว่า มีกำไรจากการดำเนินงานของทั้ง 31 บริษัท ลดลงอย่างมากถึง 48.72% โดยกำไรสุทธิที่ทำได้ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้มีจำนวน 5,025.19 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามีกำไรสุทธิ 9,715.31 ล้านบาท กำไรส่วนหนึ่งที่ลดลง เป็นผลจากมี 11 บริษัทประสบภาวะขาดทุนในช่วงไตรมาสที่ 2 10 บิ๊กอสังหาฯ กำไรลดกว่า 5% สำหรับบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ 10 อันดับแรก ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มีอัตรากำไรรวม 6,478.63 ล้านบาท ลดลง 5.10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 6,826.71 ล้านบาท โดย 10 บริษัทแรกที่มีอัตรากำไรสุทธิสูงสุด ได้แก่ 1.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ มีกำไรสุทธิ จำนวน 1,386.28 ล้านบาท  ลดลง 25.24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 1,854.30 ล้านบาท   สำหรับสาเหตุที่กำไรลดลง เกิดจาก -บริษัทมีรายได้จากการขายเท่ากับ 7,230.22 ล้านบาท ในขณะที่งวดเดียวกันของปีก่อนมีรายได้จากการขายเท่ากับ 6,539.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 691.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.57%   - บริษัทฯ มีอัตรากำไรขั้นต้นจากการขายเท่ากับ  31.00%  ในขณะที่งวดเดียวกันของปีก่อน มีอัตรากำไรขั้นต้น จากการเขายเท่ากับ 31.94% อัตราขั้นต้นลดลง​ 0.94% เป็นผลมาจากการแข่งขันที่สูงขึ้น และสถานการณ์ไวรัสโควิด-19   -นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับผลกระทบจาก กำไรขั้นต้นจากรายได้ค่าเช่า และค่าบริการที่ลดลงจานวน 504.48 ล้านบาทจาก การให้บริการของกิจการโรงแรมในเครือเป็นการชั่วคราวด้วย 2.เอพี (ไทยแลนด์) มีกำไรสุทธิ จำนวน 1,214.61ล้านบาท เพิ่มขึ้น 149.35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 487.09 ล้านบาท สาเหตุสำคัญที่ทำให้ เอพี (ไทยแลนด์) รักษาอัตรากำไรให้เติบโตได้ เป็นผลมาจาก -การทำรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโครงการแนวราบ ซึ่งเติบโตทําสถิติสูงสุดถึง​ 6,732 ล้านบาท ​เพิ่มขึ้น 107.9% จากปีก่อน  โดยเป็นสัดส่วนรายได้ที่ใกล้เคียงกัน ระหว่าง ทาวเฮาส์และบ้านเดี่ยว   -การให้ความสำคัญกับการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขาย และ​บริหาร ​โดยในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา บริษัทค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารอยู่ที่ 1,516 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 19.5% ของรายได้ (ไม่รวมโครงการร่วมทุน) โดยลดลง 4.4% จากปีก่อน เนื่องจากค่าใช้จ่ายใน การขายและบริหารครอบคลุมการดําเนินงานของโครงการร่วมทุน เมื่อคิดรวมรายได้​ 51% จาก โครงการร่วมทุนอตัราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ณ ไตรมาส 2 จะลดลงไปอยู่ 16.4% (ลดลง 5.8% จากปีก่อน) 3.ควอลิตี้ เฮ้าส์ มีกำไรสุทธิ จำนวน 968.58 ล้านบาท ลดลง 33.77% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 1,462.40 ล้านบาท   สาเหตุหลักที่ทำให้ ควอลิตี้ เฮ้าส์ มีกำไรลดลง ทั้ง ๆ ที่รายได้จากการขายเพิ่มขึ้น เป็นเพราะบริษัท มีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม ลดลง และกำไรขั้นต้นจากธุรกิจโรงแรมลดลงจำนวน 112 ล้านบาท   รวมถึงผลกระทบจากรายได้ในธุรกิจอื่น ๆ เช่น ธุรกิจโรงแรม ศูนย์การค้า ลดลงด้วย 4.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ มีกำไรสุทธิ จำนวน 707.07 ล้านบาท ลดลง 4.08% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 737.16 ล้านบาท   บริษัทยังคงรักษาอัตรากำไรได้ใกล้เคียงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้มีปัญหาไวรัสโควิด-19  เนื่องจากมีการรับรู้กำไรจากโครงการร่วมทุน  กับบริษัท โนมูระ เรียลเอสเตท ดีเวลล็อปเมนท์ จํากัด ต่อเนื่องจากไตรมาสแรกของปีนี้  รวมทั้งบริษัทยังคงให้ความสําคัญกับการบริหารและควบคุมค่าใช้จ่ายให้เกิดประสิทธิภาพ​ 5.เอสซีแอสเสท คอร์ปอเรชั่น มีกำไรสุทธิ จำนวน 454.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 279.46 ล้านบาท   เหตุผลสำคัญที่ทำให้ เอสซีแอสเสท คอร์ปอเรชั่น มีอัตรากำไรสุทธิพิ่มขึ้น มาจากรายได้จากขายที่เพิ่มมากขึ้น เพราะลูกค้ามีความต้องการบ้านเพิ่มขึ้น  ทำสถิติยอดขายรายไตรมาสสูงสุดในช่วงไตรมาส 2/63  โดยมียอดขายรวม 6,220 ล้านบาท เติบโต 47% (YoY) ทั้งนี้มาจากยอดขายแนวราบ 5,652 ล้านบาท เติบโตพุ่งถึง 116% (YoY) 6.ศุภาลัย มีกำไรสุทธิ จำนวน 423.30 ล้านบาท ลดลง 45.53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 777.15 ล้านบาท   กำไรที่ลดลงมาจาก รายได้จากการโอนกรรมสิทธิในช่วงไตรมาส 2 ลดลง 32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 7.เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) มีกำไรสุทธิ จำนวน 398.69 ล้านบาท ลดลง​49.99%จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 797.29 ล้านบาท   เหตุผลสำคัญเกิดจาก บริษัทมีค่าใช้จ่ายรวมจำนวน 4,421.54 ล้านาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 13.1%  เป็นจำนวน 510.28 ล้านบาท จากสาเหตุ -ต้นทุนขายอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้นเป็นจานวนเงิน 536.51 ล้านบาท พรือเพิ่มขึ้น 23.9% เพิ่มมากกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้จาการขายอสังหาริมทรัพย์เนื่องจากการปรับลดราคาและการส่งเสริมการขาย   -ค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้นเป็นจานวนเงิน 65.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.6% เป็นผลจากรับรู้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 106 ล้านบาท แต่ในไตรมาสนี้ กลุ่มบริษัท ได้รับส่วนลดภาษีที่ดิน 90% คิดเป็น จำนวนเงิน 26.76 ล้านบาท   อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิในส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท  ในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 จำนวน 384.54 ล้านบาทนั้น เพิ่มขึ้น จากช่วงเวลาเดียวกันจำนวน 110.28 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 40.2% จากการรวมผลการดำเนินงานของบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ GOLD ในงวดปีนี้ 8.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ มีกำไรสุทธิ จำนวน 395.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 164.26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 149.79 ล้านบาท   สาเหตุสำคัญของบริษัทที่มีกำไรเพิ่มขึ้น เกิดจาก -รายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น จากรายได้  864.93  ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 1,301.08 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามแผนการวางกลยุทธ์ธุรกิจ  การวางแผนด้านการขายและการตลาดได้ดี   -กำไรจากการถูกเวนคืน  ในไตรมาส 2 ปี 2563 บริษัทมีการบันทึกกำไรที่เกิดจากการที่มีโคงการขายของบริษัทถูกเวนคืน ซึ่งมีกำไรก่อนภาษีเงินได้ ทั้งสิ้น 155.66 ล้านบาท ค่าใช่จ่ายในการขาย และบริหาร ปรับเพิ่มขึ้นต่ำกว่า รายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้นสูงมาก ซึ่งค่าใช้จ่ายจากการขายและบริหารเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 5.57% แต่รายได้เพิ่มขึ้น 50.43%   -ค่าใช้จ่ายทางด้านการเงินที่ลดลง  ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มีค่าใช้จ่ายด้านการเงินเท่ากับ  3.75 ล้านบาท ลดลง จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี   5.62 ล้านบาท 9.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ มีกำไรสุทธิ จำนวน 303.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84.46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 164.47 ล้านบาท   สาเหตุสำคัญ คือ การโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ที่มีจำนวนมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้อัตรากำไรเพิ่มสูงขึ้น 10.เสนา ดีเวลลอปเมนท์ มีกำไรสุทธิ จำนวน 226.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 92.76% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 117.60 ล้านบาท   สาเหตุที่ทำให้อัตรากำไรสุทธิของเสนา ดีเวลลอปเมนท์ เพิ่มขึ้น เป็นเพราะการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในกิจการร่วมค้า ที่มียอดโอนของโครงการร่วมทุนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2562 ได้แก่ โครงการ นิชโมโน สุขุมวิท-แบริ่ง และในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มีการโอนโครงการ นิช ไพรด์ เตาปูน อินเตอร์เชนจ์ ทำให้บริษัทรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นอีก 6.7 ล้านบาท   นอกจากนี้  บริษัทยังได้จัดทำแผนรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายใต้มาตรการ SENA Zero COVID มีการบริหารปรับลดค่าใช้จ่ายนการขายและบริหาร ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง 16.5% จากจำนวน 218.3 ล้านบาทในปีที่ผ่านมาเหลือ 170.0 ล้านบาทในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้   แม้ว่าจะมีบางบริษัทที่อัตรากำไรลดลง แต่ยังถือว่าในภาพรวมสามารถสร้างผลกำไรได้ดี ในภาวะที่ประเทศเผชิญกับปัจจัยลบเช่นนี้  กำไรอาจจะลดลงบ้างแต่ยังดีที่มีกำไร ซึ่งคงต้องมาลุ้นกันต่อไปสำหรับช่วงเวลาที่เหลือ ว่าดีเวลลอปเปอร์จะยังคงรักษาฝีมือในการดำเนินธุรกิจได้ดีต่อไปแค่ไหน
ส่องทิศทางอสังหาฯ ไทย หลังผ่านวิกฤตโควิด-19

ส่องทิศทางอสังหาฯ ไทย หลังผ่านวิกฤตโควิด-19

ตลาดอสังหาฯ คาดซึมยาว 2-3 ปี หลังโดนผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ธุรกิจโรงแรมโดนหนักสุด เหตุนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ คาดทั้งปีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 8-10 ล้านคน  ขณะที่ศูนย์การค้าโดนกระทบไม่ต่างกัน ส่วนออฟฟิศให้เช่าปรับตัวได้ดี แนวโน้มราคาลดลงเล็กน้อย ด้านตลาดคอนโด​ดีเวลลอปเปอร์หั่นราคา พร้อมอัดโปรอยู่ฟรี กระตุ้นยอดขาย   ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นหนึ่งธุรกิจสำคัญที่มีส่วนผลักดัน ให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจอื่น ๆ และยังมีธุรกิจต่อเนื่องอีกมากมาย ซึ่งธุรกิจอสังหาฯ​ ไม่ได้มีเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัยเท่านั้น  แต่ยังมีธุรกิจโรงแรม ศูนย์การค้า และสำนักงานให้เช่า ซึ่งล้วนแต่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่แทบทั้งสิ้น   นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันธุรกิจอสังหาฯ หลายประเภทยังไม่กลับมาฟื้นตัวเป็นปกติ แม้ว่าระบบสาธารณสุขไทยจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ตาม เพราะยังมีหลายปัจจัยที่ยังไม่ได้กลับมาเป็นปกติ เหมือนก่อนเกิดการแพร่ระบาด โรงแรมโดนพิษโควิดหนักสุด อัตราเข้าพักแค่ 10% นางสุพินท์ มีชูชีพ ประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัลพร็อพเพอร์ตี้กูรู ไทยแลนด์ พร็อพเพอร์ตี้ อวอร์ดส์  และกรรมการผู้จัดการ  บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ธุรกิจโรงแรมถือว่าได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากการท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะที่ผ่านมามีมาตรการล็อกดาวน์ ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา  จึงส่งผลให้ตลาดโรงแรมได้รับผลกระทบตั้งแต่ไตรมาสแรก แต่ในช่วงไตรมาส 2 มีผลกระทบรุนแรงมากที่สุดเพราะมีอัตราการเข้าพักต่ำแม้ว่าภาครัฐจะไม่ได้สั่งปิดโรงแรม  ทำให้การเปิดบริการไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายในการบริหาร จึงไม่สามารถเปิดให้บริการได้ปกติ โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมระดับ 5-6 ดาว ที่มีต้นทุนการเปิดดำเนินการค่อนข้างสูง   อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อตลาดโรงแรมยังคงมีอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมีการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศได้  แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะควบคุมได้ดี และมีความผ่อนคลายมากขึ้นขึ้น แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้มีข้อจำกัดเรื่องการจัดประชุม สัมมนาขนาดใหญ่ได้   โดยในปีนี้  คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประมาณ​ 8-10 ล้านคน จากเดิมที่ตั้งเป้าว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา 40 ล้านคน จำนวนนักท่องเที่ยวดังกล่าว ประกอบกับอัตราการเข้าพักที่อยู่ระดับ 10% จึงทำให้ตลาดโรงแรมยังได้รับผลกระทบ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการตั้งเป้าหมายว่าอัตราเข้าพักในโรงแรมต่างๆ ของปีนี้จะมีอัตราเฉลี่ย 75-80% และในช่วงไฮซีซั่นคาดว่าจะมีอัตราเข้าพัก 80-90%   แม้ว่าปีนี้รัฐบาลจะพยายามส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ แต่เชื่อว่าไม่สามารถกระตุ้นตลาดให้กลับมาเหมือนช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดได้ ออฟฟิศให้เช่าหดตัว10-15% สำหรับตลาดศูนย์การค้า เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์  เพราะถูกสั่งให้ปิดบริการ จึงได้รับผลกระทบจากการที่ลูกค้าไม่สามารถเดินทางมาซื้อสินค้าได้ รวมถึงศูนย์การค้าที่จับกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยว ยังได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไปด้วย ซึ่งหลังจากนี้ยังเชื่อว่าธุรกิจศูนย์การค้า จะยังไม่กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว เพราะยังมีผลกระทบจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง และธุรกิจอื่น ๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ธุรกิจศูนย์การค้ายังต้องเผชิญความท้าทายในช่วงเวลาที่เหลือ   ส่วนตลาดสำนักงานให้เช่า  สามารถรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ได้ดี​ แม้ว่าจะมีการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) หรือผู้เช่าจะขอเว้นระยะการจ่ายค่าเช่าจากผู้ให้บริการพื้นที่บ้างก็ตาม แต่ตลาดสำนักงานให้เช่า ถือว่าได้รับผลกระทบน้อยสุด  โดยแนวโน้มการใช้พื้นที่สำนักงานให้เช่า คาดว่าจะมีความต้องการลดลงเล็กน้อยประมาณ 10-15% แต่ทั้งนี้ คงต้องพิจารณาสถานการณ์และผลกระทบของเศรษฐกิจ จะได้รับผลกระทบแตกต่างกันอย่างไร  ซึ่งความต้องการตลาดสำนักงานให้เช่ามีแนวโน้มลดลงแน่นอน   ตลาดออฟฟิศไทยยังมีปริมาณจำกัด จึงน่าจะรองรับความต้องการได้ และราคาไม่น่าจะปรับเพิ่มขึ้น หรืออาจะจะลดลงเล็กน้อยภายในระยะ  6-12 เดือน จากเดิมที่คาดว่าราคาจะปรับเพิ่มขึ้น หยุดเปิดโปรเจ็กต์คอนโด 2 ปี สำหรับตลาดคอนโดมิเนียม ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 น้อย โดยเฉพาะกลุ่มตลาดลักชัวรี่ ในพื้นที่ย่านใจกลางเมือง ทำเลสุขุมวิท สีลม เพลินจิต เป็นต้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีซัพพลายน้อย เมื่อเทียบกับภาพรวมของตลาด ส่งผลให้ได้รับผลกระทบไม่มากนัก แต่จากความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ดีเวลลอปเปอร์มีแพคเกจต่าง ๆ ออกมากระตุ้นการตัดสินใจซื้อ รวมถึงการลดราคาคอนโดลง  แต่สำหรับการเปิดตัวโครงการใหม่ เชื่อว่าจะยังมีน้อยหรืออาจจะไม่มีการเปิดตัวภายในระยะ 2 ปีข้างหน้า และหากมีการเปิดตัวโครงการใหม่ เชื่อว่าราคาจะไม่ต่ำกว่าในช่วงที่ผ่านมาแน่นอน วัคซีนป้องกันโควิดไม่รู้จะมาเมื่อไร ทำให้เกิดความไม่มั่นใจ และความกังวลต่อโควิดยังมีอยู่  และนักลงทุนยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้ ส่งผลกระทบต่อการลงทุนขนาดใหญ่ เพราะเข้ามาดูสินค้าไม่ได้ ทำให้การตัดสินใจล่าช้าออกไป นางสุพินท์ กล่าวอีกว่า  ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตหลายครั้ง นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง ประท้วงทางการเมือง วิกฤตแฮมเบอเกอร์  แต่ตลาดอสังหาฯ ​ไทยมีแรงต้านทานวิกฤตมาก แม้จะต้องใช้ระยะเวลาปรับตัวสู้กับวิกฤตก็ตาม  ซึ่งในภาวะวิกฤตโควิดครั้งนี้  คาดว่าอาจจะต้องใช้ระยะเวลา 2-3 ปี เพื่อให้ตลาดกลับมาฟื้นตัว ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีข้อดี ที่สามารถควบคุมโควิดได้ดีในอันดับต้น ๆ ของโลก  ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้นักลงทุนเข้ามาในประเทศ   ตลาดท่องเที่ยวหากยังไม่ฟื้นตัวเหมือนเดิม จะทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นตัวตาม เพราะธุรกิจการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 15-20% ของจีดีพีไทย ดีเวลลอปเปอร์หั่นราคาอัดโปรกระตุ้นตลาดคอนโด ด้านนางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดี พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า ราคาอสังหาฯ​ ในช่วงไตรมาส 2 ปรับลดลง 4% จากไตรมาสแรกของปี  ซึ่งถือว่าเป็นผลดีที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้ออสังหาฯ ได้ง่ายขึ้น  โดยราคาคอนโดลดลง 9% ส่วนบ้านเดี่ยวราคาปรับเพิ่มขึ้น 3% ทาวน์โฮมปรับเพิ่มขึ้น 2% เนื่องจากความต้องการโครงการแนวราบมีเพิ่มมากขึ้น นอกจากการปรับตัวเรื่องราคาอสังหาฯ แล้ว ยังพบว่าลูกค้ามีวิธีการเลือกซื้ออสังหาฯ  เปลี่ยนไป เช่น ต้องการห้องลิฟวิ่งรูมขนาดใหญ่ และอินเตอร์เน็ต มาพร้อมกับบ้าน ต้องการใช้พื้นที่ส่วนกลาง  แต่ต้องมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น  ทำเลที่ตั้งยังคงมีความสำคัญ ซึ่งอดีตคนอยากอยู่ในเมือง ซึ่งส่งผลให้ราคาคอนโดแพงขึ้น แต่ปัจจุบันสามารถทำงานจากที่บ้านได้  ทำให้คนส่วนใหญ๋ไม่จำเป็นต้องการซื้อทั้อยู่ในเมือง  สามารถซื้อที่อยู่ไกลออกไปได้ แต่ยังต้องเดินทางสะดวก จึงเลือกที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า แม้สถานีไกลออกไป  และเลือกบ้านแนวราบมากขึ้น   ซัพพลายที่อยู่อาศัยลดลง 15% จากการปรับราคาลดลง ของดีเวลลอปเปอร์ รวมถึงการออกโปรโมชั่นอยู่ฟรี 2-5 ปี  ซึ่งนักลงทุนประมาณ 15% ยังซื้อคอนโด  เพราะเห็นว่าราคาน่าซื้อ แต่รูปแบบการซื้อและโลเคชั่นแตกต่างกันไปแต่ลูกค้าในภาพรวมยังพิจารณามากขึ้น ดูความสามารถในการผ่อนในอนาคต    
โกลเด้นแลนด์ ยังทำรายได้และกำไร 6 เดือนแม้เจอวิกฤตโควิด-19

โกลเด้นแลนด์ ยังทำรายได้และกำไร 6 เดือนแม้เจอวิกฤตโควิด-19

เน้นคุมค่าใช้จ่าย รักษากระแสเงินสด ท่ามกลางโควิด-19 เตรียมออกจากการเทรดหุ้นในตลาด วันที่ 11 สิงหาคมนี้ หลังเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ เสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดแล้ว    โกลเด้นแลนด์ (GOLD) หรือ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เผยผลประกอบการสำหรับรอบระยะเวลา 6 เดือน (1 มกราคม 2563 – 30 มิถุนายน 2563) สามารถทำรายได้รวมจำนวน 8,308 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิจำนวน 830 ล้านบาท ใกล้เคียงกันจากงวดเดียวกันของปีก่อน จากการเปิดตัวโครงการครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ และการเน้นรักษากระแสเงินสด   อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะกระทบกับการรับรู้รายได้ของบริษัท เนื่องจากลูกค้าพิจารณานานขึ้น แต่บริษัทยังคงมั่นใจจะสามารถรับรู้รายได้  ในระดับที่ประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ดังกล่าวไปได้  เนื่องจากผู้บริโภคยังคงให้ความสนใจอสังหาริมทรัพย์แนวราบ ซึ่งบริษัทยังเดินหน้าเปิดโครงการใหม่ และทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง อาทิ อยู่ฟรี 3 ปี เมื่อพิจารณาเฉพาะรายได้หลักจากการขายอสังหาฯ งวด 6 เดือน  บริษัทมีรายได้ส่วนนี้รวม 7,438 ล้านบาท ใกล้เคียงกันจากงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากยังคงสามารถรับรู้รายได้จากโครงการที่เปิดขายตั้งแต่ปี 2562 อย่างต่อเนื่อง   ในขณะที่รายได้ค่าเช่าและอื่น ๆ งวด 6 เดือน บริษัทมีรายได้ส่วนนี้รวม 757ล้านบาท ใกล้เคียงจากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่าสามารถทำรายได้เพิ่มสูงขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน แต่ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบตรงจากวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 จึงมีรายได้ลดลง ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้อนุมัติให้บริษัทเพิกถอนออกจากสถานะการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2563 โดยหุ้นสามัญของ GOLD จะซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นวันสุดท้ายในวันที่ 10 สิงหาคม 2563   โดยเป็นไปตามกระบวนการเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการ เพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ของกิจการออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (“FPT”) เป็นผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ได้ดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว โดยผลของการทำคำเสนอซื้อทำให้ FPT เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ GOLD มากกว่า 99% สำหรับกระบวนการนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เพื่อเพิ่มศักยภาพธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มให้อยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ก้าวเป็นผู้นำในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความหลากหลาย ครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย (Residential) โครงการเชิงพาณิชย์ (Commercial) และพื้นที่เชิงอุตสาหกรรม (Industrial) ภายใต้บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
สิงห์ เอสเตท เจอพิษโควิด-19 ปรับเป้ารายได้ลง 50% เหลือ 9,000 ล้าน

สิงห์ เอสเตท เจอพิษโควิด-19 ปรับเป้ารายได้ลง 50% เหลือ 9,000 ล้าน

สิงห์ เอสเตท หั่นเป้ารายได้ 50% เหลือ 9,000 ล้าน แต่ยังทุ่มงบลงทุน 5,000 ล้าน พร้อมเดินหน้าตามแผนธุรกิจ 5 ปี เพิ่มโรงแรมทั่วโลกแห่ง 80 แห่ง สร้างการเติบโตและมุ่งหน้าสู่ “โกลบอล โฮลดิ้ง คอมปานี”   แม้ว่าปีนี้ประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจที่ทำให้ ต้องหยุดการทำธุรกรรมต่าง ๆ แน่นอนว่าต้องทำให้ยอดขายและรายได้ลดลง แต่อาจจะมีบางธุรกิจหรือบางบริษัทที่ยังคงรักษาการเติบโตและรายได้เอาไว้ได้  หลังจากปรับตัวและปรับกลยุทธ์แสวงหาโอกาสภายใต้วิกฤตที่เกิดขึ้น   สำหรับบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S ก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวเช่นกัน ทำให้จำเป็นต้องปรับเป้าหมายรายได้รวมในปี 2563 ลดลงประมาณ 50% หรือมีมูลค่า 9,000 ล้านบาท จากเป้าหมายที่คาดว่าจะทำได้ 18,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ลดลงมาจากช่วงต้นปี ที่ได้ประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะทำรายได้ 20,000 ล้านบาท     นายนริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตทฯ เปิดเผยว่า สิงห์ เอสเตท ยังคงเดินหน้าลงทุนตามแผนธุรกิจเดิมในระยะเวลา 5 ปี (2563 – 2567) ด้วยงบลงทุน 68,000 ล้านบาท ด้วยกลยุทธ์เติบโตอย่างยั่งยืน  แต่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน จึงได้มีการปรับเป้ารายได้รวมในปีนี้ลดลง ซึ่งคาดว่าสถานการณ์ภาพรวมตลาด จะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้   บริษัทหวังเป็นอย่างยิ่งว่าวิกฤตโควิด-19 จะผ่านพ้นไปโดยเร็ว และภายหลังวิกฤต เราเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนใหม่ๆที่น่าสนใจพร้อมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเราจะพิจารณาลงทุนตามความเหมาะสมและมีเกณฑ์ที่เข้มงวดในการตัดสินใจลงทุน เพื่อให้ได้สินทรัพย์ที่มีคุณภาพและโอกาสเพิ่มมูลค่าในอนาคต โดยแผนการลงทุนระยะ 5 ปี จะมุ่งเน้นใน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจที่พักอาศัย ธุรกิจอาคารสำนักงาน และธุรกิจโรงแรม 1.เดินแผนปั้นโปรเจ็กต์ปีละ 5-7 โครงการ โดยแผนการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในระยะ 5 ปี บริษัทยังพัฒนาโครงการปีละ 5-7 โครงการ และยังมุ่งขยายการพัฒนาโครงการที่พักอาศัย ไปในทำเลรอบเมือง  ภายใต้คอนเซปต์ “New Living and Working” เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงความต้องการของกลุ่มลูกค้าในอนาคต เนื่องจากมองเห็นโอกาสในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ที่จะขยายตัวออกจากเมืองไปยังทำเลใหม่ๆ ตามการขยายตัวของระบบขนส่งมวลชน และโครงข่ายถนน ซึ่งจะเป็นโครงการแนวราบในรูปแบบมิกซ์ยูส อันประกอบไปด้วย บ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม รีเทล ออฟฟิศแนวราบ  ตลอดจนโครงการที่อยู่อาศัยแบบ Wellness จะเป็นสิ่งใหม่ๆ ที่มีโอกาสเกิด 2.เพิ่มพื้นที่สำนักงาน 300,000 ตร.ม. ใน 5 ปี โดยในช่วงไวรัสโควิด-19 ธุรกิจนี้ได้รับผลกระทบไม่มากนัก ซึ่งบริษัทได้ลดค่าเช่าให้กับผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบ และการปรับปรุงคุณภาพด้านสุขอนามัย โดยติดตั้ง Touchless Solution และ UV ในระบบปรับอากาศเพื่อตอบโจทย์ New Normal ให้กับผู้เช่าอาคาร  รวมถึงมองหาผู้เช่าใหม่ๆ ที่อยู่ในธุรกิจที่มีการเติบโตดี เช่น E-commerce, Technology และ Consumer Product   ขณะเดียวกันยังคงเป้าหมายขยายพื้นที่สำนักงาน 300,000 ตารางเมตร ในระยะเวลา 5 ปี  ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตจะยังคงมีความต้องการพื้นที่สำนักงานอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ โดยบริษัทเตรียมนำเสนอพื้นที่สำนักงานรูปแบบใหม่ “Workspace Solution” ซึ่งมีหลายรูปแบบและหลายทำเล ทั้งอาคารขนาดใหญ่ อาคารขนาดกลาง  ออฟฟิศแนวราบ 3.ขยายโรงแรมเป็น 80 แห่ง สำหรับธุรกิจโรงแรมยังตั้งเป้าขยายจำนวนโรงแรมจาก 39 โรงแรมเป็น 80 โรงแรม ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในระยะ 5 ปี โดยมุ่งเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวในระดับบน (Upper Upscale Segment) และมอบประสบการณ์การพักผ่อน ในรูปแบบที่แตกต่างและสร้างสรรค์ให้กับลูกค้า   นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาแบรนด์ใหม่ที่จะเปิดตัวในเร็ว ๆ นี้ เป็นโมเดลธุรกิจในแบบ Asset Light Model หรือการเข้าไปลงทุนในโรงแรมที่มีศักยภาพ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่ใช้แบรนด์ที่บริษัทพัฒนาขึ้นเข้าบริหาร เช่น แบรนด์ซายด์ (SAii) ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ประจำให้มากขึ้น และเพิ่มการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอของบริษัท เดินหน้าแผนธุรกิจครึ่งปีหลัง สำหรับแผนในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจ และสร้างการเติบโตต่อเนื่อง 1.จะทยอยรับรู้รายได้จากโครงการที่อยู่อาศัยที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้แก่ โครงการดิเอส สุขุมวิท 36 (THE ESSE Sukhumvit 36) ซึ่งมีมูลค่าโครงการกว่า 6,500 ล้านบาท ปัจจุบันมียอดขายประมาณ 60% จะเริ่มโอนกรรมสิทธิ์ได้ในไตรมาส 3 ซึ่งคาดว่าน่าจะมียอดรับรู้รายได้ 1,400 ล้านบาท และปัจจุบันบริษัทมียอดขายรอรับรู้รายได้ 5,500 ล้านบาท   2.ทำตลาดโครงการ ดิ เอ็กซ์โทร พญาไท-รางน้ำ (The EXTRO Phayathai-Rangnam) ใหม่อีกครั้ง หลังจากหยุดทำตลาดไปเพราะสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันมียอดขายแล้ว 15% 3.การปรับปรุงอาคารสำนักงาน นำเสนอพื้นที่สำนักงานรูปแบบใหม่ “Workspace Solution” โดยมีหลายรูปแบบและหลายทำเล และ Co-Working Space ในทำเลใหม่ โดยเน้นเชื่อมโยงการทำงานผ่านระบบ IT ให้ลูกค้าในทุกที่ และการขยายธุรกิจโรงแรมต่อเนื่อง ภายใต้งบประมาณรวม 5,000 ล้านบาท   4.เริ่มเดินหน้าธุรกิจพลังงานทางเลือก (Renewable Energy) ในช่วงปลายปี ที่ประเทศมัลดีฟส์ มีขนาด 5 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในธุรกิจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการขยายธุรกิจต่อเนื่องจากธุรกิจอสังหาฯ รวมถึงการสร้างรายได้ประจำเพิ่มขึ้น   ตลาดคอนโดอาจจะอืด ๆ ส่วนตลาดแนวราบ เราก็มอง แต่เราคงทำไม่เหมือนคนอื่น ซึ่งเชื่อว่าโควิด-19 จะผ่านไปในปีนี้ และกลับสู่โหมดเดิมในปีหน้า  คือ การแข่งขันที่รุนแรงเหมือนเดิม ตอกย้ำการเป็น Global Holding Company สิงห์ เอสเตท ยังคงเดินหน้าตามกลยุทธ์การเป็น Global Holding Company ตามแผนที่วางไว้ปี 2020  พร้อมกับการสร้างความเชื่อมั่นแบรนด์ของบริษัท ให้เป็น Most Trusted Brand ซึ่งนอกจากการพัฒนาโครงการให้มีคุณภาพสูงสุดแล้ว ยังต่อยอดความเชี่ยวชาญจากกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน รวมทั้งยกระดับการบริการของกลุ่มธุรกิจทั้งหมดให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านสุขอนามัยและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระดับสากล  
5 เหตุผลที่ทำให้ ห้าแยกลาดพร้าว เป็นทำเลศักยภาพของปัจจุบันและอนาคต

5 เหตุผลที่ทำให้ ห้าแยกลาดพร้าว เป็นทำเลศักยภาพของปัจจุบันและอนาคต

ในบรรดาทำเลจุดตัดถนนสำคัญของกรุงเทพฯ สิ่งที่มักเป็นปรากฎการณ์ให้เห็นอย่างชัดเจน คือ ความเจริญเติบโตของการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์บริเวณจุดตัดนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ ศูนย์การค้าและพื้นที่รีเทลจำนวนมาก รวมถึงการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมอย่างหนาแน่น   โดยหนึ่งในจุดตัดถนนสำคัญของกรุงเทพฯ ลำดับต้นๆ ที่มีความเจริญด้านการพัฒนาโครงการอสังหาฯ รูปแบบต่าง ๆ คงต้องยกให้บริเวณห้าแยกลาดพร้าว  เพราะเต็มไปด้วยโครงการจำนวนมาก ทั้งอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และโครงการคอนโดฯ ที่สำคัญยังเป็นจุดเชื่อมต่อระบบคมนาคมสำคัญของเมือง ทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว กับรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินอีกด้วย 5 ปัจจัยผลักดันให้ห้าแยกลาดพร้าวทำเลทอง ข้อมลจากบริษัท บางกอกซิตี้สมาร์ท จำกัด (บีซี) ระบุว่า ทำเลลาดพร้าวปี 2563 นี้ ถือเป็นทำเลแห่งอนาคตของวันนี้อย่างแท้จริง (Ladprao 2020 – The Future is Now) เพราะมี 5 ปัจจัยหลักสำคัญ ที่เข้ามาสนับสนุน ทำให้โซนห้าแยกลาดพร้าว เป็นแม่เหล็กดึงดูดทั้งผู้ประกอบการให้เข้ามาลงทุนจำนวนมาก รวมถึงกระตุ้นความคึกคักตลาดคอนโดฯ ทั้งลูกค้าเรียลดีมานด์ รวมถึงกลุ่มนักลงทุน ที่ยังสามารถเข้ามาสร้างโอกาสได้จากผลตอบแทนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ทำเลห้าแยกลาดพร้าวมีศักยภาพ คงมาจาก 5 ปัจจัย ดังนี้ 1.ศูนย์กลางของการเดินทางและระบบขนส่งมวลชน นอกจากการเป็นจุดเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าสำคัญ 2 สาย คือ รถไฟฟ้าวบีทีเอสสายสีเขียว และรถไฟใต้ดินสายน้ำเงิน  ซึ่งปัจจุบันมีการขยายการเดินรถออกไปเพิ่มมากขึ้น รถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว เปิดเดินรถต่อไปถึงสถานีวัดพระศรีฯ​ ขณะที่รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน สามารถเดินทางเชื่อมต่อไปได้ถึงท่าพระหรือสถานีหลักสอง นอกจากนี้  ในพื้นที่ห้าแยกลาดพร้าว ยังตั้งอยู่ใกล้กับสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์กลางสายรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่กำลังจะสร้างเสร็จและเปิดให้บริการในช่วงต้นปี 2564 นี้อีกด้วย ทำให้พื้นที่โดยรอบของสถานีกลางบางซื่อ เจริญเติบโตเพิ่มขึ้นตามมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นในด้านปริมาณหรือด้านราคาอสังหาฯ   2.ศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่ พื้นที่ห้าแยกลาดพร้าว และพื้นที่โดยรอบ ปัจจุบันมีการพัฒนาขยายตัวของบรรดา อาคารสำนักงานเกรดเอและบีครอบคลุมกว่า 300,000 ตารางเมตร และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสถานีกลางบางซื่อสร้างเสร็จ จะส่งผลให้เกิดพื้นที่อาคารสำนักงานแห่งใหม่อีกกว่า 100,000 ตารางเมตร ซึ่งคาดการณ์ว่าจะส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของพนักงานออฟฟิศทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรวมกว่า 40,000 คน ทำให้มีผู้สนใจลงทุนในย่านนี้จำนวนมาก จึงปฏิเสธ ไม่ได้ว่าพื้นที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว กำลังเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและธุรกิจแห่งใหม่ที่มีความสำคัญ  อีกหนึ่งโซนของพื้นที่กรุงเทพฯ   3.ศูนย์กลางสิ่งอำนวยความสะดวก  บริเวณห้าแยกลาดพร้าว  แม้ว่าจะไม่ใช่พื้นที่ธุรกิจใจกลางเมือง หรือ CBD แต่ถือเป็นย่านที่มีความเจริญและความสะดวกครบถ้วน โดยเฉพาะการมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ อย่างศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ที่มีผู้ใช้บริการมากกว่า 150,000 คนต่อวัน นอกจากนี้ ยังมีศูนย์การค้าอื่นอีก ไม่ว่าจะเป็นยูเนี่ยนมอลล์ หรือเทสโก้ โลตัส ที่สำคัญในโซนห้าแยกลาดพร้าว ใกล้กับแหล่งช้อปปิ้งขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ ที่มีชื่อเสียงดังไปทั่วโลก คือ ตลาดนัดจตุจักร ที่มีการเปิดขายสินค้าหมุนเวียนแทบจะทุกวันตลอดสัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็นประเภทต้นไม้ สัตว์เลี้ยง หรือสินค้าทั่วไป ในพื้นที่ติดตลาดนัดจตุจักร ยังมีศูนย์การค้าเปิดให้บริการอีก 2 แห่ง คือ ศูนย์การค้ามิกซ์​จตุจักร และเจเจมอลล์  นี่ยังไม่นับรวมตลาดนัดเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามพื้นที่สำนักงานใหญ่ๆ ที่อยู่โดยรอบให้ผู้คนได้ช้อปปิ้งกันอีกมากมายด้วย   4.มีพื้นที่สีเขียวที่เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ถึง 3 แห่ง บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ยังใกล้กับปอดขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ  เพราะมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ถึง 3 แห่ง ได้แก่ สวนวชิรเบญจทัศ หรือสวนรถไฟ ขนาด 375 ไร่  สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ขนาด 196 ไร่ และสวนจตุจักร ขนาด 155 ไร่  เมื่อนับพื้นที่รวมกันมีขนาดพื้นที่มากถึง 726 ไร่ หรือ 1.12 ล้านตารางเมตรเลยทีเดียว   5.ตลาดคอนโด เติบโตและมีราคาที่คุ้มค่า   ตลาดคอนโด ในย่านทำเลห้าแยกลาดพร้าว นับว่าเติบโตต่อเนื่อง แม้จะมีปริมาณไม่มาก แต่ก็เพิ่มขึ้นโดยตลาด ที่สำคัญยังมีราคาขายที่สามารถจับต้องได้ และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น จึงเหมาะสำหรับกลุ่มผู้อยู่อาศัยจริง และกลุ่มนักลงทุน สำหรับข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ของบีซีตั้งแต่ช่วงปี 2558-2562  พบการเปิดตัวของโครงการคอนโด ติดถนนหลักเส้นพหลโยธิน ตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินพหลโยธิน-สถานีรถไฟฟ้ารัชโยธิน ทั้งสิ้น 11 โครงการ จำนวน 8,263 ยูนิต ในราคาขายเฉลี่ย 145,000 บาทต่อตารางเมตร  มียอดขายรวมแล้วกว่า 74% โดยหากเจาะข้อมูลดีมานด์ในแต่ละสถานีพบว่า สถานีที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ สถานีบีทีเอสห้าแยกลาดพร้าวที่มีอัตราการตอบรับที่ดีที่สุด ด้วยยอดขายรวมกว่า 82% มียูนิตคงเหลือขายประมาณ 490 ยูนิตเท่านั้น สาเหตุหลักเพราะเป็นทำเลที่ดีที่สุดเปรียบเสมือนศูนย์กลางของย่านนี้   ขณะที่คอนโด ในกลุ่มสินค้ารีเซล ก็พบการปรับตัวของราคาขึ้นมาปีละประมาณ 8% เช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ซื้อที่ต้องการลงทุนในการปล่อยเช่าและขายต่อให้ความสนใจในตลาดโซนนี้ไม่แพ้กัน เพราะผลตอบแทนจากการปล่อยเช่าระยะยาว (Rental Yield) ของคอนโด ในย่านนี้ พบอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 4-5% ซึ่งคอนโด ในทำเลนี้ ยังมีราคาเหมาะสมในการซื้อ ทั้งเพื่ออยู่อาศัยและเพื่อการลงทุนระยะยาว   บิ๊กเนมแห่ปักหมุดผุดโปรเจ็กต์ สำหรับความเคลื่อนไหวการพัฒนาโครงการคอนโดฯ ในย่านห้าแยกลาดพร้าว นับว่ามีมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี เพราะในบริเวณห้าแยกลาดพร้าว เป็นจุดตัดถนนสำคัญถึง 3 เส้น ได้แก่ ถนนพหลโยธิน ถนนลาดพร้าว และถนนวิภาวดี-รังสิต ซึ่งสามารถเดินทางไปยังจุดต่าง ๆ ได้ทั่วกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันยังใกล้กับสถานที่สำคัญ ทั้งหน่วยงานราชการ อาคารสำนักงาน บริษัทเอกชน ศูนย์การค้า หรือแม้แต่การเชื่อมต่อไปยังต่างจังหวัด เพราะใกล้กับสถานีขนส่งหมอชิต ยิ่งแผนการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน ผ่านบริเวณห้าแยกลาดพร้าว ดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่จึงแห่กันมาจับจองที่ดินขึ้นโครงการกันมากมาย   โดยปัจจุบันยังพบว่า มีหลายโครงการที่ยังเปิดการขาย หรือเป็นโครงการพร้อมเข้าอยู่ รวมถึงกำลังก่อสร้าง แต่ยังไม่เปิดการขายหลายโครงการ โดยเฉพาะบนถนนพหลโยธิน  ช่วงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีพหลโยธิน และรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งมีโครงการที่น่าสนใจ ได้แก่   1.โครงการเดอะเครสท์ พาร์ค เรสซิเดนซ์ (The Crest Park Residences) เป็นโครงการภายใต้การร่วมทุนระหว่างบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับ Nishitetsu Group ยักษ์ใหญ่และผู้นำในภูมิภาค คิวชูของประเทศญี่ปุ่น โดยตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน ตรงข้ามห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ใกล้กับห้าแยกลาดพร้าว มีระยะห่างเพียง 75 เมตร ถึง รถไฟฟ้าใต้ดินสถานีพหลโยธิน และใกล้กับบีทีเอสสถานีห้าแยกลาดพร้าว ตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ จำนวน 429 ยูนิต มูลค่าโครงการ 3,500 ล้านบาท ซึ่งราคาขายเฉลี่ยกว่า 2-2.5 แสนบาทต่อตารางเมตร  ซึ่งโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และวางแผนเปิดการขายในปีนี้   2.โครงการไลฟ์ ลาดพร้าว (LIFE LADPRAO) คอนโดพร้อมอยู่ จากบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)หรือ เอพี นับเป็นหนึ่งในไฮไลท์โปรเจคร่วมทุนระหว่างเอพีและพันธมิตรญี่ปุ่น มิตซูบิชิ เอสเตท เรสซิเดนซ์ (บริษัทในเครือมิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป) ตั้งอยู่ใกล้กับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีห้าแยกลาดพร้าว มากที่สุด มีมูลค่าโครงการ 8,000 ล้านบาท จำนวน 1,615 ยูนิต     3.โครงการไลฟ์ ลาดพร้าว แวลลีย์ (Life Ladprao Valley) อีกหนึ่งโครงการของค่ายเอพี ซึ่งตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน ใกล้กับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีห้าแยกลาดพร้าวอีกหนึ่งโครงการ บนพื้นที่โครงการกว่า 5 ไร่ ปัจจุบันงานก่อสร้างโครงสร้างคืบหน้ากว่า 73% มีจำนวนยูนิต 1,140 ห้อง และร้านค้า 1 ร้าน 4.โครงการไลฟ์ ลาดพร้าว สเตชั่น (Life Ladprao Station) เป็นโครงการที่ 3 ของค่ายเอพี ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้าง เป็นโครงการบนพื้นที่กว่า 2 ไร่ ขนาดอาคารสูง 42 ชั้น จำนวน 636 ยูนิต น่าจะมีมูลค่าโครงการประมาณ 2,100 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันยังไม่เปิดการขาย คาดว่าจะเปิดขายได้ภายในช่วงปี 2564 ถือเป็นโครงการล่าสุดที่เข้ามาปักหมุดในทำเลห้าแยกลาดพร้าว 5.โครงการเดอะ ไลน์ พหลโยธิน พาร์ค (The Line Phahonyothin Park) โครงการคอนโดฯ ภายใต้การร่วมทุนระหว่างแสนสิริและบีทีเอส กรุ๊ป เป็นอาคารขนาดสูง 32 ชั้น มีจำนวน 880 ยูนิต มูลค่าโครงการ 4,900 ล้านบาท ในความเป็นจริงแล้ว บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ทุกถนนที่วิ่งตัดผ่าน ต่างมีโครงการคอนโด พัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งติดถนนใหญ่และตามซอยแยกเข้าไปมากมาย เพราะด้วยปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ข้างต้น จึงไม่แปลกใจที่จะส่งผลให้ที่ดินบริเวณนี้มีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บางแปลงพุ่งทะลุไปกว่า 1 ล้านบาทต่อตารางวาก็เคยมีให้เห็นมาแล้ว และเป็นทำเลที่ได้รับความนิยมจากดีเวลลอปเปอร์ไม่แพ้ในโซนใจกลางเมืองเลยทีเดียว เชื่อว่าหลังจากโครงการขนาดใหญ่ อย่างสถานีกลางบางซื่อ ก่อสร้างเสร็จแล้วและเปิดให้บริการ ศักยภาพของทำเลห้าแยกลาดพร้าว คงได้รับอานิสงค์และมีการเติบโตมากขึ้นอีกหลายเท่าตัวอย่างแน่นอน  
เฟรเซอร์ส ตั้ง “ธนพล ศิริธนชัย” บริหารองค์กรแสนล้าน

เฟรเซอร์ส ตั้ง “ธนพล ศิริธนชัย” บริหารองค์กรแสนล้าน

เฟรเซอร์สแต่งตั้ง “นายธนพล ศิริธนชัย” นั่งเก้าอี้ ซีอีโอ นำทัพองค์กร 1 แสนล้าน  สร้างการเติบโตให้กับแพลตฟอร์มใหม่ ที่รวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร   คณะกรรมการบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT มีมติแต่งตั้งนายธนพล ศิริธนชัย ประธานอำนวยการ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ (GOLD) ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Country CEO) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ  FPT  โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป   โดยนายธนพล ศิริธนชัย จะรับภารกิจสำคัญในการเป็นหัวเรือใหญ่ที่จะสร้างการเติบโตให้กับ เฟรเซอร์ส  พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) รวมถึงการเดินหน้าภายใต้นโยบายการลงทุนของบริษัทฯ ในการเพิ่มศักยภาพที่จะเติบโตอย่างสมดุลให้อยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ในการเป็นผู้นำในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความหลากหลาย ครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย (Residential) โครงการเชิงพาณิชย์ (Commercial) และพื้นที่เชิงอุตสาหกรรม (Industrial) จากผู้บริหาร GOLD สู่เก้าอี้ซีอีโอ FPT สำหรับนายธนพล ศิริธนชัย  ถือว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และคร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กว่า 30 ปี โดยก่อนร่วมงานกับเฟรเซอร์ส เคยดำรงตำแหน่งประธานอำนวยการ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ ผู้พลิกฟื้นจากที่บริษัทฯขาดทุน ให้กลับมามีกำไรภายใน 3 ปี และก้าวกลับมาสู่ท็อป 5 ของประเทศไทยภายใน 7 ปี  (อ่านข่าวผลประกอบการ 3 เดือนแรกปี 2563) พร้อมพัฒนาโครงการครอบคลุมทั้งอาคารสำนักงาน เซอร์วิส อพาร์ทเม้นท์ โรงแรม และโครงการแนวราบ เช่น บ้านเดี่ยว และทาวน์โฮม และล่าสุด พัฒนาโครงการมิกซ์ยูสใจกลางเมืองสามย่านมิตรทาวน์  ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี   นอกจากนี้ นายธนพล ยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ของ บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด​ (มหาชน)  ผู้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของโครงการอาคารสำนักงานที่ดีที่สุด ด้วยมาตรฐานการอนุรักษ์พลังงานสูงที่สุดระดับโลก กับโครงการปาร์คเวนเชอร์ ดิ อีโคเพล็กซ์ ออน วิทยุ โดยนายธนพลยังได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อสังคมและการกุศลต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น ประธานโครงการ IMET Mentorship Academy for Excellent Leaders (IMET MAX) โครงการภายใต้มูลนิธิเพื่อสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย และรองผู้อำนวยการอาวุโส สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์   นายธนพล สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจ (MBA) จากมหาวิทยาลัยเทกซัส ออสติน ประเทศสหรัฐอเมริกา และสำเร็จการศึกษาหลักสูตร Advanced Management Program มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา 1+1 เท่ากับสินทรัพย์ 1 แสนล้าน สำหรับ  FPT  เป็นบริษัทในกลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้  ซึ่ง FPT ผู้นำการให้บริการแพลตฟอร์มด้านอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรของประเทศไทย  ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลากหลายประเภท ภายหลังควบรวมกับ  GOLD เป็นบริษัทย่อย ทำให้ภาพรวมการประกอบธุรกิจของ FPT มีสินทรัพย์รวมมากกว่า 100,000 ล้านบาท ก้าวสู่ความเป็นผู้นำในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความหลากหลาย ครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย  พาณิชยกรรมและโรงแรม  และการอุตสาหกรรม   โดยเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 GOLD ได้รับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของบริษัททั้งหมด  จาก FPT เพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ของกิจการ ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  ซึ่งเป็นไปตามแผนของบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) ที่ได้ประกาศเริ่มรับซื้อรอบแรกในเดือนมิถุนายนปี 2562 ที่ผ่านมา เพื่อปรับกลยุทธ์ เพิ่มศักยภาพของการเชื่อมโยง ต่อยอด ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มให้อยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ในการเป็นผู้นำในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความหลากหลาย   ทั้งนี้ การขอเพิกถอนหลักทรัพย์ของ GOLD ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของ GOLD เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 และ วันที่ 19 พฤษภาคม 2563 FPT เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ GOLD จำนวน 2,222,623,901 หุ้น คิดเป็นประมาณ 95.65% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ GOLD โดย FPT จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือทั้งหมดของ GOLD จำนวน 101,096,099 หุ้น คิดเป็นประมาณ 4.35% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ GOLD โดยมีราคาเสนอซื้อ 8.50 บาทต่อหุ้น ระยะเวลารับซื้อรวมทั้งสิ้น 45 วันทำการ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2563 – 23 กรกฎาคม 2563   นายธนพล กล่าวว่า ก้าวต่อไปของโกลเด้นแลนด์ คือการก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร  ที่มีความหลากหลาย ครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย โครงการเชิงพาณิชย์  และพี้นที่เชิงอุตสาหกรรม  แห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้นโยบายการลงทุนของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) ในการเพิ่มศักยภาพที่จะเติบโตอย่างสมดุล และยั่งยืนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย นอกจากนี้ FPT ยังเป็นผู้สนับสนุนและผู้จัดการกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ หรือ FTREIT ซึ่งปัจจุบันเป็นกองทรัสต์ฯ อุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  ซึ่งมุ่งเน้นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ อีกทั้ง FPT ยังเป็นผู้สนับสนุนและผู้จัดการทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์โกลเด้นเวนเจอร์ (GVREIT) ซึ่งมุ่งเน้นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชยกรรม  ซึ่ง FPT, FTREIT และ GVREIT เป็นบริษัทและกองทรัสต์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.    
5 โซลูชั่น “S-E-N-S-E” การออกแบบการพัฒนาเมือง กับวิถีชีวิต The Next Normal

5 โซลูชั่น “S-E-N-S-E” การออกแบบการพัฒนาเมือง กับวิถีชีวิต The Next Normal

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือเป็นปรากฎการณ์ ของการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโลก เพราะมีการแพร่กระจายออกไปทั่วทุกมุมโลก ซึ่งส่งผลทำให้วิถีชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน ต้องปรับเปลี่ยน และเปลี่ยนแปลงไปในหลายเรื่อง เพื่อที่จะป้องกันตนเองไม่ให้ได้รับเชื้อโรค ซึ่งภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยุติลง  เชื่อว่า วิถีชีวิตของคนนับจากนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นวิถีชีวิตปกติในรูปแบบใหม่ หรือ New Normal หรืออีกคำที่มักมีการพูดถึง คือ The Next Normal ซึ่งมีความหมายไม่แตกต่างกันมากนัก   ไม่เพียงแต่วิถีชีวิตประจำวันที่จะเป็นรูปแบบใหม่ และกลายเป็นวิถีชีวิตปกติของคนเราเท่านั้น  แต่วิถีชีวิตของคนในสายงานและสายอาชีพต่างๆ รวมถึงแวดวงธุรกิจ ก็มีทิศทางเปลี่ยนไปแบบใหม่เช่นกัน อย่างในแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เริ่มเห็นความชัดเจน จากการที่ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนวิธีการขาย ด้วยการใช้สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย เข้ามาเป็นเครื่องมือสื่อสารถึงผู้บริโภค โดยลดการสัมผัสหรือมีการเว้นระยะห่างกันให้มากที่สุด เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนี้ คงจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่องแน่นอน   ด้านการออกแบบและการพัฒนาเมืองในอนาคต ก็คงจะไม่แตกต่างกันเท่าไร เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้คือ ปัจจัย 4 ที่มนุษย์ทุกคนต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง และอยู่ร่วมกันแบบสัตว์สังคม ซึ่งตามมุมมองของ นายรติวัฒน์ สุวรรณไตรย์ สถาปนิก ผู้ก่อตั้ง OPENBOX GROUP บริษัทสถาปนิกที่มีผลงานการออกแบบตึกสูง โรงงานไฟฟ้าพลังงานทดแทน รวมถึงที่อยู่อาศัยประเภท Complex Residence ชื่อดังทั้งในและต่างประเทศ ได้อธิบาย The Next Normal ที่อาจจะเกิดขึ้นกับเมืองและชีวิตผู้คน ที่จะมุ่งสู่โซลูชั่นของการพัฒนาเมืองแห่งอนาคต (City of Future) ไว้อย่างน่าสนใจ The Next Normal ของการพัฒนาเมือง โดย โซลูชั่น City of Future นี่เอง จะเป็นเหมือนสูตรสำเร็จ ของการออกแบบการพัฒนาเมืองที่สอดรับกับ The Next Normal ซึ่งไม่เพียงตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคโควิด-19  ที่จะอยู่กับโลกใบนี้ไปอีกนานเท่านั้น แต่ยังตอบโจทย์วิถีการดำเนินชีวิตใหม่ ซึ่งถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยนแปลงจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Digital Disruption) และสอดคล้องกับแนวคิดในกระแสโลกยุคใหม่ คือการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน   “เมืองที่มีความคิดสร้างสรรค์การออกแบบในด้านต่าง ๆ รวมเข้ามาประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ, การออกแบบอาคาร สถานที่ หรือเมืองให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้ในสถานการณ์ที่หลากหลาย, การให้ความสำคัญกับธรรมชาติและพื้นที่สีเขียว และการใช้พลังงานร่วมกันอย่างประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 ปัจจัยที่จะเข้ามาเติมเต็มทำให้เมืองมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ก็คือ การขนส่ง และนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัย” “S-E-N-S-E”  สำหรับเมืองแห่งอนาคตที่ยั่งยืน  นายรติวัฒน์  ได้เสนอแนวคิดการออกแบบการพัฒนาเมือง  ภายใต้แนวคิด “S-E-N-S-E” ที่รวม 5 โซลูชั่น สำหรับ City of the Future เมืองแห่งอนาคตที่ยั่งยืน ที่ประกอบไปด้วย S - Space Efficiency การจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด (Space Efficiency) เป็นแนวคิดการจัดการพื้นที่ที่สามารถตอบโจทย์การอยู่อาศัยรูปแบบใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมให้แก่ผู้อยู่อาศัย โดยหนึ่งในโซลูชั่นที่จะเข้ามาตอบโจทย์แนวคิดนี้ก็คือ อาคารสูง เช่น คอนโดมิเนียม ซึ่งเชื่อว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาการใช้พื้นที่และทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพ กล่าวคือหากเปลี่ยนการใช้พื้นที่ในแนวราบแบบกระจายตัวมารวบเป็นอาคารสูง จะทำให้มีพื้นที่เหลือในการใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะการมีพื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่ในเชิงเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน อาคารสูงยังตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคโควิดที่ผู้อยู่อาศัยจะแยกกันอยู่คนละชั้น ได้รับแสงแดดที่เพียงพอ และไม่มีปัญหาเรื่องการใช้อากาศร่วมกัน ให้ความรู้สึกปลอดภัยห่างไกลโควิดได้มากกว่าบ้านที่เป็นแนวราบ E-Energy Sharing การออกแบบเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Sharing)  โดยปัจจุบันจะพบว่า คอนโดมิเนียม จะมีการใช้พลังงานสูงสุดในช่วงเวลากลางคืน แต่ช่วงกลางวันการใช้พลังงานจะลดลงไป ขณะที่อาคารสำนักงาน จะใช้พลังงานสูงสุดในช่วงเวลากลางวันเท่านั้น แต่จะลดการใช้ลงในช่วงกลางคืน ซึ่งแต่ละอาคารเหล่านั้นจะติดตั้งอุปกรณ์การจัดการพลังงานของตนเอง อุปกรณ์เหล่านั้นจึงทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ มีพลังงานเหลือเกินความต้องการ ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า Energy Blockchain หรือ Digital Energy กรณีมีพลังงานเหลือก็จะนำไปขายให้แก่ตึกที่อยู่ใกล้เคียงและใช้ในแบบเหลื่อมเวลากัน หรืออีกแนวคิดที่เรียกว่า District Cooling ระบบปรับอากาศแบบรวมศูนย์ โดยสามารถส่งความเย็นไปยังสถานที่อื่น ๆ ใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็นบ้าน อาคารสำนักงาน  ห้าง และ คอนโดมิเนียม ถือเป็นแนวคิดการลดใช้พลังงาน ลดการใช้อุปกรณ์ที่เกินความจำเป็น N - Nature & Green การให้ความสำคัญกับธรรมชาติและพื้นที่สีเขียว (Nature & Green) เช่น แนวคิดการขยายพื้นที่สวนสาธารณะขนาดย่อม (pocket park) ให้กระจายตัวมากขึ้นในเขตเมือง และให้เพียงพอกับระยะคนเดิน ซึ่งประเทศญี่ปุ่นถือเป็นเจ้าแห่ง pocket park แห่งหนึ่งของโลก หรือในประเทศสิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ที่นอกจากจะมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่แล้วยังมี pocket park อีกหลายแห่ง ส่วนอีกแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจ คือ park network สวนสาธารณะหลาย ๆ แห่งที่ผู้คนสามารถเดิน วิ่ง หรือขี่จักรยาน เชื่อมถึงกันได้โดยไม่ต้องผ่านหรือใช้ถนน ซึ่งแนวคิดเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการออกแบบทั้งสิ้น S – Synchronization of Multi-Functions การออกแบบอาคาร สถานที่ หรือเมือง ให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้ในสถานการณ์ที่หลากหลาย (Synchronization of Multi-Functions)  สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของเมืองในซีกโลกตะวันออกที่เป็นแบบผสมสาน (Mixed-use) โดยออกแบบให้สามารถปรับเปลี่ยนโหมดของอาคาร สถานที่ หรือเมืองได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ๆอย่างเช่น คอนโดมิเนียมในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อโควิด จะเห็นได้ว่าหลายแห่งจะกำหนดการใช้ลิฟท์แบบจำกัด หรือจำกัดจำนวนของคนใช้ลิฟท์ ซึ่งในอนาคตการออกแบบจะสามารถเข้ามาเพิ่มเติมฟังก์ชั่นต่าง ๆ ให้ทุกชีวิตในยุคโควิดมีความสบายใจมากขึ้น อาทิ ล็อกเกอร์รับ-ส่งอาหาร หรือสิ่งของต่าง ๆ โดยผู้รับและผู้ส่งไม่ต้องเจอหน้ากัน และการออกแบบพื้นที่แบบ space in space ภายในบริเวณพื้นที่ส่วนกลางโดยใช้อุปกรณ์เพื่อแยกความเป็นส่วนตัวให้แก่ผู้อยู่อาศัยมากขึ้น เพื่อไม่เกิดความระแวงในการใช้พื้นที่ส่วนรวม ส่วนในระดับเมือง อาจจะนึกถึงประเทศโมนาโค หรือสิงคโปร์ ที่จะมีการจัดโหมดเมืองสำหรับการแข่งรถ สร้างรายได้ให้กับประเทศได้อีกมาก ขณะที่ประเทศไทยเอง มีโหมดเรื่องการป้องกันน้ำท่วม แต่ยังสามารถออกแบบเมืองให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามโหมดอื่น ๆ เช่น โหมดการเฝ้าระวังเชื้อโควิด หรือโหมดการจัดบิ๊กอีเว้นท์ เช่นวันสงกรานต์ เป็นต้น E - Explorations of Innovations การคิดค้น พัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมการอยู่อาศัยที่จะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน (Explorations of Innovations) โดยการออกแบบบ้าน คอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงาน สามารถดึงนวัตกรรมเหล่านี้เข้ามาเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยตอบโจทย์กับชีวิต New Normal อย่างเช่น ลิฟท์ ปัจจุบันคอนโดมิเนียมหลายแห่งใช้โถงลิฟท์ (private lift) ส่วนตัวเข้ามาใช้มากขึ้น นอกจากจะเป็นโซลูชั่นด้านความปลอดภัยในยุคโควิดแล้ว ยังตอบโจทย์การซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อการลงทุนได้ เพราะลิฟท์ที่แยกออกมาต่างหากนั้น จะไม่เป็นการรบกวนกับเจ้าของห้องจริงที่เป็นผู้อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมนั้น ๆ เลย ปัจจุบันยังพบด้วยว่ามีการคิดค้นลิฟท์ในรูปแบบต่าง ๆ ไว้มากมาย เพื่อรูปแบบการอยู่อาศัยที่หลากหลาย เช่น ลิฟท์ที่เคลื่อนตัวในแนวราบ (double deck lift) เป็นต้น   นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ในยุคโควิดได้เป็นอย่างดี อาทิ ประตูสองชั้น ที่ติดตั้งอุปกรณ์ช่วยในการคัดกรองคนเข้าออก และอุปกรณ์ฆ่าเชื้อ, การออกแบบพื้นที่ในสำนักงาน หรือ โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ ที่ช่วยลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อโรค และ Smog-eating surface สีหรือพื้นผิวที่สามารถดูดซับเชื้อโรค ฝุ่นละลองพิษต่าง ๆ เป็นต้นรวมถึงนวัตกรรมด้าน Transportation หรือการขนส่ง โดยเมืองแห่งอนาคตจะสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นหากมีการจัดการด้านการขนส่งอย่างเหมาะสม ซึ่งการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนั้น ผู้คนยังต้องเดินทาง ต้องติดต่อสื่อสาร และรับ-ส่งสิ่งของระหว่างกัน การออกแบบเมืองจึงสามารถออกแบบให้รองรับกับแนวคิดการขนส่งในรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น Hyperloop, drone transportเป็นต้น ทั้งหมดนี้ คือโซลูชั่นใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาตอบโจทย์สถานการณ์ในปัจจุบัน และเป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่อนาคตนั่นเอง   แนวคิดเหล่านี้เป็นแนวคิดการออกแบบโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นโซลูชั่นที่ต้องการเข้าไปช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คน เป็นคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านสุขภาพและจิตใจ และสำคัญที่สุดคือ เมืองแห่งอนาคตนั้นจะต้องสามารถตอบโจทย์ได้ครบถ้วนทั้งด้านสังคม และเศรษฐกิจ เพื่อให้เป็นเมืองที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
สิงห์ เอสเตท ปิดไตรมาส1 3 กลุ่มธุรกิจดันกำไรโตขึ้น 14%

สิงห์ เอสเตท ปิดไตรมาส1 3 กลุ่มธุรกิจดันกำไรโตขึ้น 14%

ไตรมาสแรก สิงห์ เอสเตท ยังทำรายได้รวม 2,186 ล้าน ฝ่าปัจจัยลบโควิด-19 มีกำไรเพิ่มขึ้น 14% ใน 3 กลุ่มธุรกิจ กลุ่มคอนโดฯ เริ่มหลังทยอยโอนหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ  ธุรกิจสำนักงานให้เช่า มีรายได้เพิ่มจากการซื้อ อาคารเมโทรโพลิส เข้าพอร์ต ส่วนธุรกิจโรงแรมรายได้เติบโตจากการเปิดโรงแรมใหม่เพิ่ม   นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2563 ว่า บริษัทมีรายได้รวมจาก 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจที่อยู่อาศัย ธุรกิจสำนักงานให้เช่า และธุรกิจโรงแรม มีรายได้รวม 2,186 ล้านบาท โดยธุรกิจที่พักอาศัยมีรายได้มาจากการโอนคอนโดมิเนียมโครงการ ดิ เอส อโศก (THE ESSE ASOKE) และโครงการ ดิ เอส แอท สิงห์ คอมเพล็กซ์ (THE ESSE at SINGHA COMPLEX) มูลค่า 752 ล้านบาท  คิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 34% บริษัทยังมีโครงการที่ก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จในปีนี้ และพร้อมที่จะเริ่มโอนในไตรมาส 4 คือโครงการ ดิ เอส สุขุมวิท 36 (THE ESSE SUKHUMVIT 36) ซึ่งร่วมทุนกับ ฮ่องกง แลนด์  ปัจจุบันมียอดขายแล้วกว่า 60% โดยเป็นโครงการคอนโดมิเนียมระดับ super luxury มีมูลค่าโครงการ  6,500 ล้านบาท   นอกจากนี้บริษัทได้มีการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมระดับ Affordable luxury ในทำเลศักยภาพย่านรางน้ำภายใต้ชื่อโครงการ ดิ เอ็กซ์โทร พญาไท-รางน้ำ (THE EXTRO PHAYATHAI – RANGNAM) มีมูลค่าโครงการกว่า 4,100 ล้านบาท ทำให้ภาพรวมธุรกิจที่พักอาศัยสามารถเติบโตได้ในระดับที่บริษัทคาดการณ์ไว้   โดยที่ผ่านมามีมาตรการปิดเมือง (Lock-down)  ซึ่งส่งผลต่อธุรกิจในระดับหนึ่ง อาทิ ลูกค้าชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางมาตรวจรับมอบอาคารชุดได้ด้วยตนเอง และลูกค้าชาวไทยบางส่วนชะลอการเข้าเยี่ยมชมโครงการ และตรวจรับห้องออกไปจนกว่าสถานการณ์จะคลายตัวลงเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) นอกจากนี้ เพื่อสร้างความปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากการแพร่เชื่อโควิด-19 บริษัทจึงได้เพิ่มช่องทางการตลาดออนไลน์แบบ Virtual Tour 360 องศา ที่ทำให้ลูกค้าสามารถชมห้องตัวอย่างได้เปรียบเสมือนมาอยู่ในสถานที่จริง ด้านธุรกิจอาคารสำนักงานปัจจุบันมีทั้งสิ้น 4 อาคารได้แก่ อาคารซันทาวเวอร์ส, อาคารสิงห์ คอมเพล็กซ์, เดอะ ไลท์เฮ้าส์ และอาคารเมโทรโพลิส พื้นที่รวม 140,000 ตารางเมตร มีอัตราปล่อยเช่าเฉลี่ยราว 87% โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 บริษัทรับรู้รายได้จำนวน 243 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากการเข้าซื้ออาคารเมโทรโพลิส ซึ่งมีพื้นที่ 13,700 ตารางเมตร และมีอัตราปล่อยเช่าสูงถึง 97% มีโอกาสในการเติบโตสูงเพราะตั้งอยู่ในทำเลใกล้รถไฟฟ้าสถานีพร้อมพงษ์ เป็นแหล่งไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่   ขณะที่ธุรกิจโรงแรม จากพอร์ทรวมทั้งหมด 39 แห่ง มีรายได้ 1,144 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 52% โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นมานั้น มาจากการเปิดโครงการ Crossroads และได้ดำเนินการ SAii Lagoon Maldives, Hard Rock Hotel Maldives และ The Marina @ CROSSROADS ตั้งแต่ปลายปีก่อนต่อเนื่องถึงต้นปีนี้   อย่างไรก็ตาม จากการเปิดโครงการ Crossroads  ส่งผลทำให้มีค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้น แต่บริษัทยังมีกำไรเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากการรับรู้รายได้จากส่วนอื่น ได้แก่ กำไรจำนวน 423 ล้านบาท จากการขายเงินลงทุนในเกาะ 3 ที่โครงการ Crossroads โดยการขายเงินลงทุน 50% ให้กับ Wai Eco World Developer Pte. Ltd ตามสัญญาร่วมทุนเพื่อพัฒนาและบริหารงาน High-end lifestyle resorts ด้วยราคาซื้อขายหุ้นมูลค่า 16.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และผลจากมาตรฐานการบัญชี TFRS 9 ทำให้บริษัทสามารถรับรู้กำไรจำนวน 115 ล้านบาทจากส่วนต่างของการ Mark to market อนุพันธ์แฝงจากหุ้นกู้แปลงสภาพ ส่งผลให้กำไรสุทธิของงวดอยู่ที่ 335 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากไตรมาสที่ 1 ปี 2562   จากภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัทตระหนักดีว่าต้องเผชิญกับความท้าท้ายครั้งสำคัญ รวมทั้งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ บริษัทมั่นใจว่าสามารถรักษาการเติบโตแบบยั่งยืนได้ ด้วยสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง จากอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ 0.86 เท่า ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับ covenant ของบริษัทที่ 2.0 เท่า และเพื่อเป็นการคำนึงถึงผลตอบแทนผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นสำคัญ บริษัทจึงคงการจ่ายปันผลระหว่างกาล จากกำไรสุทธิประจำปี 2562 หุ้นละ 0.045 บาท และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563   สำหรับในไตรมาสต่อไปบริษัทมีการปรับแผนกลยุทธ์เพื่อฟื้นฟูธุรกิจเน้นการดำเนินแผนบริหารจัดการต้นทุนที่เคร่งครัด อาทิ การปรับงบประมาณและควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการตลาด  การบริหารกระแสเงินสด รวมถึงการสร้าง synergy ระหว่างพันธมิตรธุรกิจ ที่สำคัญบริษัทยังมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงการที่มีคุณภาพสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกกลุ่มตลอดจนสร้างความยืดหยุ่นให้กับองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับกับการเปลี่ยนแปลงทุกมิติ และเชื่อมั่นว่าบริษัท จะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้อย่างแข็งแกร่ง
แสนสิริ เจอพิษโควิด-19 ทำกำไรลดเหลือแค่ 62 ล้าน เร่งสปีดธุรกิจปั้มยอดขาย  

แสนสิริ เจอพิษโควิด-19 ทำกำไรลดเหลือแค่ 62 ล้าน เร่งสปีดธุรกิจปั้มยอดขาย  

แสนสิริ ยังทำรายได้ขายอสังหาฯ  ไตรมาสแรกกว่า 5,393 ล้าน แต่กำไรลดฮวบเหลือแค่ 62 ล้าน จากช่วงเดียวกันของปีก่อนทำได้กว่า 400 ล้าน เหตุขาดทุนในกิจการโรงแรม แถมค่าบริหารธุรกิจพุ่งสูง จากผลกระทบโควิด-19 เดินหน้าเร่งสปีดธุรกิจ หวังโกยยอดขายเพิ่ม หลังตุนยอดได้กว่า 21,000 ล้าน   นายอภิชาติ  จูตระกูล ประธานอำนวยการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ บริษัทมีรายได้รวม 6,623 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแบ่งเป็นรายได้จากการขาย 5,393 ล้านบาท เติบโตขึ้น 10% จากปีก่อน มาจากการโอนโครงการแนวราบและแนวสูงในสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ 59 : 41 % อาทิ โครงการบุราสิริ พัฒนาการ โครงการบ้านแสนสิริ พัฒนาการ  ไทเกอร์ เลน รวมถึงโครงการคอนโดมิเนียม ที่ได้รับการตอบรับโอนที่ดีจากลูกค้า อาทิ โครงการ เดอะ โมนูเมนต์ ทองหล่อ โครงการดีคอนโด ริน เชียงใหม่ และ ลา กาซิตา หัวหิน เป็นต้น   นอกจากนี้ บริษัทยังมีกำไรจากการลงทุนจากการเพิ่มมูลค่าของ JustCo ที่แสนสิริเข้าไปลงทุนถือหุ้น โดย Daito Trust บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจของ Justco และได้เข้าซื้อส่วนลงทุนของ Justco มูลค่ากว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ Valuation ของ Justco เพิ่มมูลค่าอย่างมาก โดยแสนสิริในฐานะผู้ถือหุ้น สามารถรับรู้กำไรจากการเพิ่มมูลค่าของเงินลงทุนนี้ได้กว่า 703 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ตามมาตรฐานการบัญชีนั้น กำไรจากการเพิ่มมูลค่าของเงินลงทุนนี้จะไม่ปรากฏอยู่ในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ แต่จะถูกบันทึกเป็นกำไรสะสมในงบดุลโดยตรง สำหรับ JustCo นับเป็น Coworking space & Serviced Office รูปแบบใหม่ ที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึง 150% ในแต่ละปี ปัจจุบันประกอบด้วย 42 จัสท์โค เซ็นเทอร์ ใน 8 เมืองใหญ่ต่างประเทศ โดยในประเทศไทยจัสท์โคเปิดตัว 4 แห่ง   อย่างไรก็ตาม จากผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา พบว่า แสนสิริมีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์กว่า 5,382.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ​ 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ทำได้ 4,892.57 ล้านบาท  แม้ว่ารายได้จะเพิ่มขึ้น แต่ความสามารถในการทำกำไรกลับลดต่ำลงอย่างมาก โดยในไตรมาสแรกปีนี้ แสนสิริและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 62 ล้านบาท ซึ่งถือว่าลดต่ำลงอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งทำกำไรไปกว่า 404.30 ล้านบาท  สาเหตุหลักมาจากการลดลงของอัตรากำไรขั้นต้นจากการขายโครงการ รวมถึงการขาดทุนจากธุรกิจการบริหารโรงแรม ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบ กับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการบริหาร   สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของแสนสิริ เพื่อรองรับความแข็งแกร่งควบคู่ไปกับการสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงิน คือ การสานต่อการสร้างแบรนด์แสนสิริให้แข็งแกร่งมากขึ้น  ปัจจุบันแสนสิริมียอดขายล่วงหน้า (Pre-Sale Backlog) โครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ เป็นมูลค่ารวมเกือบ 46,900 ล้านบาท ที่จะทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องใน 1-3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ แสนสิริยังมีแผนขยายการพัฒนาธุรกิจที่อยู่อาศัยใหม่ๆ เพื่อรองรับทุกความต้องการของลูกค้า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง เพื่อรองรับการขยายธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีผลกระทบต่อแผนการลงทุนระยะยาว อันจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนและสถาบันการเงินได้เป็นอย่างดี  รวมถึงบริษัทยังมีสภาพคล่องและ Cash flow หรือกระแสเงินสด อีกถึง 10,000 ล้านบาท ที่มีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจและมีความแข็งแกร่งในทุกสภาวการณ์   ทั้งนี้ ความสำเร็จจากการออกหุ้นกู้ระยะยาวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บริษัทเล็งเห็นศักยภาพในการรักษาการเติบโตได้ จึงมีการพิจารณาแผนความแข็งแกร่งด้านการเงินระยะยาวโดยการเตรียมความพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต ด้วยการออก Perpetual Bond 2,500 ล้านบาท เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับแสนสิริ   ปัจจุบันแสนสิริมียอดขายล่าสุดอยู่ที่ 21,000 ล้านบาท จากการดำเนินธุรกิจ ด้วยกลยุทธ์การตลาดที่แข็งแกร่งนำหน้าคู่แข่งในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ยังทำให้แสนสิริต้องเร่งการขายโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ ให้เร็วกว่าแผนเดิม เพื่อแข่งขันกับสภาพตลาด (Speed to Market)   ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 6/2563 ได้มีมติอนุมัติแผนเตรียมความพร้อมรองรับการเติบโต ในอนาคตของบริษัท โดยการขออนุมัติออกหุ้นสามัญรวมจำนวน 4,600​ ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.07 บาท ส่งผลให้ทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 16,224,125,722.40 บาท มาเป็นทุนจดทะเบียนใหม่ที่ 21,146,125,722.40 บาท   โดยการเตรียมความพร้อมในครั้งนี้ เพื่อรองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Warrant) ที่ออกให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) จำนวน 2,500 ล้านหุ้น โดยมีราคาใช้สิทธิที่ 1.10 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะจัดสรรให้แก่ผู้ลงทุนที่จองซื้อหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อมีการเลิกบริษัท (Perpetual Bond) ที่บริษัทจะออกและเสนอขายโดยมีมูลค่าการเสนอขายรวมไม่เกิน 2,500 ล้านบาท และเพื่อรองรับการใช้สิทธิตามโครงการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท (ESOP#8) ให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท จำนวน 700 ล้านหุ้น โดยมีราคาใช้สิทธิที่ 1.10 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของบริษัท ช่วยเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ผู้บริหารและพนักงานในการปฏิบัติงาน อีกทั้งยังเป็นการจูงใจและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถและมีประสิทธิภาพในการทำงานให้อยู่กับบริษัทต่อไปในระยะยาว อันจะส่งผลดีต่อการปฏิบัติงานและการเติบโตของธุรกิจในอนาคต   นอกจากนี้ จะมีการขออนุมัติกรอบการเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) ไว้จำนวน 1,400 ล้านหุ้น โดยจะมีการดำเนินการขออนุมัติมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 นี้ สำหรับหุ้นสามัญที่จะออกเพิ่มให้กับนักลงทุนสถาบัน ในวงจำกัด (private placement) มีกลุ่มทุนที่ให้ความสนใจ ได้แก่ กองทุนที่ฮ่องกง ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางด้านการเงินและเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับแสนสิริ
“ออริจิ้น” ใช้ตลาดเชิงรุก สร้างผลงานไตรมาสแรก ทำกำไรกว่า 595 ล้าน

“ออริจิ้น” ใช้ตลาดเชิงรุก สร้างผลงานไตรมาสแรก ทำกำไรกว่า 595 ล้าน

“ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้” เปิดผลประกอบการไตรมาสแรก  กวาดกำไรกว่า 595 ล้าน​ หลังรับรู้กำไรจากส่วนแบ่งโครงการร่วมทุน ที่สร้างเสร็จใหม่ 2 โครงการ ทำยอดโอนไปกว่า 1,441 ล้านบาท รับรู้กำไรกิจการร่วมค้ากว่า 141 ล้านบาท (ตามสัดส่วนถือหุ้น 51%) ซึ่ง ชี้ครึ่งปีหลังมีโครงการสร้างเสร็จใหม่พร้อมทยอยโอนเพิ่มอีกกว่า 17,000 ล้าน หนุนระดับรายได้-กำไรในปีแห่งความท้าทาย   นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 2,408 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 595 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเพียง 17% เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้ธุรกรรมต่างๆ ชะลอตัว แต่ภาพรวมสามารถทำได้ดีกว่าตลาดที่คาดว่าจะติดลบ 30-40 %   อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงสามารถรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นไว้ได้ที่ 39.9% และเริ่มรับรู้กำไรจากโครงการคอนโดมิเนียมร่วมทุน (Joint Venture) กับบริษัท โนมูระเรียลเอสเตท ที่ก่อสร้างเสร็จใหม่ 2 โครงการเป็นครั้งแรก ได้แก่ โครงการไนท์บริดจ์ ไพร์ม รัชโยธิน และโครงการไนท์บริดจ์ คอลลาจ รามคำแหง ที่มียอดขายมากกว่า 93% จากมูลค่าโครงการรวมกว่า 3,700 ล้านบาท ซึ่งทำยอดโอนไปกว่า 1,441 ล้านบาท รับรู้กำไรกิจการร่วมค้ากว่า 141 ล้านบาท (ตามสัดส่วนถือหุ้น 51%) ซึ่งหากนับรวมรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดนี้ บริษัทสามารถทำได้ถึง 3,394 ล้านบาท เติบโตขึ้น 13.1%  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 2.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อสหน้า ทั้งนี้ บริษัทยังสามารถผลักดันยอดขายได้ดีจากการปรับกลยุทธ์การตลาดเชิงรุก และสร้างทีม Everyone Can Sell ที่แม้ว่าในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 ที่ผ่านมา มีความท้าทายกับสถานการณ์ COVID-19  สามารทำยอดขายอยู่ที่ 4,852 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 23% ของเป้ายอดขายทั้งปี โดยเป็นยอดขายที่มาจากกลุ่มโครงการบ้าน ประมาณ 1,682 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าไตรมาส 1/2562 อยู่ 775 ล้านบาท คิดเป็น 86% ซึ่งเป็นไปตามแผนที่กลุ่มบริษัทมีการขยายสัดส่วนโครงการบ้านจัดสรร เนื่องจากการขยายตัวของเครือข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าไปยังทำเลเมืองรอบนอกมากขึ้น อีกทั้งลูกค้ากลุ่มนี้มีวัตถุประสงค์การซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง และยังมีความผันผวนของความต้องการที่ต่ำกว่าอาคารชุด จึงถือเป็นการกระจายความเสี่ยงจากการเพิ่มช่องทางของรายได้   โดยการเปิดตัวโครงการใหม่ทั้ง 2 โครงการในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม ได้แก่ โครงการแกรนด์ บริทาเนีย วงแหวน-รามอินทรา และโครงการบริทาเนีย สายไหม ได้รับการตอบรับที่ดีโดยในไตรมาส 1/2563 ทำยอดขายได้กว่า 220 ล้านบาท และยอดขายโครงการคอนโดมิเนียมอีกราว 3,170 ล้านบาท โดยทั้งนี้คิดเป็นโครงการพร้อมอยู่ (Ready to move) ประมาณ 3,733 ล้านบาท จากที่ไตรมาส 1/2563 บริษัทเน้นการขายในโครงการพร้อมอยู่ ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ภายในปีนี้   ในปี 2563 บริษัทมีการปรับรูปแบบการดำเนินงานให้เข้ากับสถานการณ์ด้วยกลยุทธ์การตลาดเชิงรุก แพลทฟอร์มออนไลน์ การขับเคลื่อนทั้งการขายการโอน การดูแลผู้บริโภคและพนักงานได้แบบ Zero-COVID เราจะรักษามาตรฐานและปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถผ่านปีที่ท้าทายนี้ไปได้อย่างมั่นคง   นอกจากนี้ บริษัทยังมีพาร์ทเนอร์ใหม่ คือ บริษัท จีเอส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น (GS E&C) จากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในแวดวงธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก มาร่วมพัฒนาโครงการคอนโดนิเนียมใหม่ 2 โครงการที่จะเปิดตัวในปีนี้ ได้แก่ 1.โครงการดิ ออริจิ้น ลาดพร้าว 111 (The Origin Ladprao 111) และ 2.โครงการไนท์บริดจ์ สเปซ พระราม 4 (KnightsBridge Space Rama 4) นายพีระพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับไตรมาส 2/2563 บริษัทมุ่งเน้นแผนการตลาดไปที่กลุ่ม Ready to Move และสินค้ารอขาย (Inventory) ด้วยหลากหลายแคมเปญ อาทิ แคมเปญ Keep Your Distance เว้นระยะผ่อน ให้ผู้ซื้ออยู่ฟรีนานสูงสุด 3 ปี ช่วยลดภาระให้ผู้ซื้อได้ในสถานการณ์ COVID-19 พร้อมสิทธิประโยชน์อื่นๆ กับ 23 โครงการในเครือ แคมเปญ Always Online ใช้ 3 แพลทฟอร์ม ทั้ง LINE OA, Lazada, Shopee อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคในทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ทั้งการหาข้อมูล การจอง การตรวจห้อง ไปจนถึงการโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งบริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องสุขอนามัย โดยการจัดให้มี Private Visit อำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่จำเป็นต้องเข้าไปเยี่ยมชมโครงการ   ทั้งนี้ บริษัทจะเฝ้าติดตามสถานการณ์ COVID-19 อย่างใกล้ชิด และปรับรูปแบบการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ และสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าสถานการณ์ภาพรวมในช่วงครึ่งปีหลังจะสดใสกว่าช่วงครึ่งปีแรก โดยบริษัทมีโครงการรอเปิดตัวในช่วงครึ่งปีหลังอีก 12 โครงการ แบ่งเป็นคอนโดมิเนียม 4 โครงการ และบ้านจัดสรรอีก 8 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 16,700 ล้านบาท   ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีแบ็คล็อคขนาดใหญ่ที่จะเปลี่ยนเป็นยอดรับรู้รายได้ จากโครงการคอนโดมิเนียมและบ้านที่จะทยอยสร้างเสร็จในช่วงครึ่งหลังของปีอีก 12 โครงการ มูลค่าโครงการรวมกว่า 17,000 ล้านบาท (รวมโครงการร่วมทุนมูลค่า 5,300 ล้านบาท) ส่งผลให้บริษัทจะมีโอกาสสร้างทั้งยอดขาย รายได้ และกำไรเข้ามาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติเห็นชอบให้เสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 27 สิงหาคม 2563 จ่ายปันผลสำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทรอบหกเดือนหลัง ของปี 2562 ในอัตรา 0.29 บาทต่อหุ้น เป็นเงินปันผลจ่ายทั้งสิ้นไม่เกิน 711.33 ล้านบาท ทั้งนี้ในปี 2562 บริษัทได้มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลตามมติคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 8/2562 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562 สำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2562 เป็นเงินสดในอัตราหุ้นละ 0.205 บาท หรือคิดเป็นเงินจำนวนไม่เกิน 502.06 ทั้งนี้คิดเป็น Dividend Yield ทั้งปีกว่า 11% จากราคาปิดเมื่อวานนี้ โดยบริษัทจะจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสด ซึ่งจะกำหนดขึ้น XD ในวันที่ 1 กันยายน 2563 และวันที่ 2 กันยายน 2563 เป็นวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) โดยกำหนดจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นภายในวันที่ 25 กันยายน 2563    
โกลเด้นแลนด์ ไม่หวั่นโควิด-19 เตรียมเปิดอีก 8 โปรเจ็กต์ 9,400 ล้าน

โกลเด้นแลนด์ ไม่หวั่นโควิด-19 เตรียมเปิดอีก 8 โปรเจ็กต์ 9,400 ล้าน

โกลเด้นแลนด์ ยังรักษาอัตรากำไรและทำรายได้ช่วง 3 เดือนแรกของปี 63  ใกล้เคียงไตรมาสก่อนหน้า แม้อยู่ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 หลังกลุ่มลูกค้าหันมาให้ความสนใจโครงการแนวราบ ทำงานแบบ Work Form Home และมีรายได้จากโครงการเชิงพาณิชย์หนุน  ครึ่งปีหลังยังเดินหน้าตามแผนเตรียมเปิดอีก 8 โครงการ มูลค่า 9,400 ล้านบาท   นายธนพล ศิริธนชัย ประธานอำนวยการ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้มีการปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในปี 2563 ซึ่งมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการบริหารกระแสเงินสด และการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน ซึ่งตลอดการปรับตัวตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังรักษาผลการดำเนินงานไว้ได้ทำให้พนักงาน คู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจได้รับผลกระทบน้อยที่สุด   โดยโกลเด้นแลนด์ มียอดรับรู้รายได้สำหรับรอบระยะเวลา 3 เดือนแรกของปีนี้  (1 มกราคม 2563 – 31 มีนาคม 2563) จำนวน 3,994 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า (1 ตุลาคม 2562 – 31 ธันวาคม 2562) และมีกำไรสุทธิกว่า 351 ล้านบาท แม้อยู่ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19  ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง  มียอดขายจากโครงการแนวราบ และค่าเช่าจากโครงการเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง สำหรับทิศทางของปี 2563 บริษัทวางแผนเปิดขายโครงการ นีโอโฮม จำนวน 5 โครงการ ทาวน์โฮม จำนวน 7 โครงการ และโครงการในต่างจังหวัด 1 โครงการ มูลค่ารวม 14,000 ล้านบาท และคาดการณ์รายได้จากโครงการเชิงพาณิชย์ 1,000 ล้านบาทจากอาคารสำนักงาน เอฟวายไอ เซ็นเตอร์ และมิตรทาวน์ ออฟฟิศ ทาวเวอร์ ที่ยังคงเปิดให้บริการได้ตามปกติท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 และศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ที่คาดว่าจะกลับมาเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบภายในเดือนมิถุนายน 2563   ส่วนภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จะเกิดความท้าทายจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ซึ่งจะแสดงให้เห็นชัดเจนจากผลการดำเนินงานในรอบเดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 แต่สำหรับบริษัทฯ ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ ยังคงมียอดขายโครงการแนวราบที่ดี เพราะลูกค้าหันมาสนใจโครงการแนวราบมากขึ้น โดยมียอดเข้าชมโครงการเพิ่มขึ้น 40-50% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากลูกค้ามีความจำเป็นต้องใช้จริงจากการปรับรูปแบบทำงานที่บ้าน (Work from home) ที่ต้องการพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัย และทำงาน โดยไม่รบกวนกันของสมาชิกในครอบครัว ต้องการพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น ฟังก์ชั่นของโครงการแนวราบจึงตอบโจทย์มากกว่าสินค้าประเภทอื่น   โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยอดขายกลับมามีแนวโน้มดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ได้ผลกระทบจากมาตรการ LTV ปัจจุบันบริษัทฯ มียอดขายสะสม (Backlog) ที่ 2,900 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้ทั้งหมดภายในปี 2563 โดยในครึ่งปีหลัง (กรกฎาคม – ธันวาคม) ของปี 2563 บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าเปิดโครงการนีโอโฮมอีก 4 โครงการ และโครงการทาวน์โฮมอีก 4 โครงการ มูลค่ารวม 9,400 ล้านบาท สำหรับธุรกิจอาคารสำนักงาน ถึงแม้ว่าหลายบริษัทฯ จะปรับตัวตามมาตรการระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ของภาครัฐ โดยการปรับให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work from Home) มากขึ้น แต่บริษัทฯ ยังเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ รูปแบบการทำงานที่ทำงาน (Work at Office) จะกลับมาเช่นเดียวกัน เพราะยังจำเป็นต้องใช้พื้นที่สำหรับการประชุม และการใช้พื้นที่ร่วมกันของพนักงาน โดยจะมีการปรับความยืดหยุ่นในการทำงาน (Work flexibility) มากขึ้น จึงคาดว่าจะไม่ทำให้ภาพรวมความต้องการพื้นที่สำนักงานลดลงจนเกิดผลกระทบ   ส่วนธุรกิจศูนย์การค้า ทางบริษัทฯ มีความพร้อมเปิดให้บริการสามย่านมิตรทาวน์ หากมีการประกาศจากภาครัฐให้สามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติก็สามารถเปิดให้บริการได้ใน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งระหว่างนี้ได้เตรียมความพร้อมในแนวทางการให้บริการให้เป็นไปตามมาตรการระยะห่างทางสังคม  เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีการคัดกรองผู้ใช้บริการ ตรวจวัดไข้ ทำความสะอาดในจุดสัมผัสต่างๆ เป็นอย่างดีแล้ว   นายธนพล กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าขณะนี้ สถานการณ์ภาวะวิกฤตโควิด-19 ของประเทศไทยจะดีขึ้น แต่คงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด  ความท้าทายกลับอยู่ที่การวางแผนหลังจากวิกฤตคลี่คลาย ในการปรับตัวไปสู่ New Normal เช่น มาตรการรองรับรูปแบบการขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อจัดการคิวจองซื้อบ้านในวันเปิดโครงการ การเปิดศูนย์การค้าอย่างระมัดระวัง และให้ความสำคัญกับมาตรการระยะห่างทางสังคม  เช่นเดียวกัน   บริษัทฯ มีความพร้อม และมั่นใจในการเดินหน้า ปรับตัวสู่ New Normal ที่สามารถรักษาผลการดำเนินงานของบริษัทให้มีความแข็งแกร่งอยู่ในระดับที่ไม่เกิดผลกระทบกับพนักงาน คู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจ  
“แอสเสท เวิรด์” โดนพิษโควิด-19 ทุบกำไร-รายได้ไตรมาสแรกลด

“แอสเสท เวิรด์” โดนพิษโควิด-19 ทุบกำไร-รายได้ไตรมาสแรกลด

แอสเสท เวิรด์ เผยผลประกอบการไตรมาสแรก โดนพิษโควิด-19 ทุบรายได้และกำไรลดลง  เหตุนักท่องเที่ยวหาย ปิดโรงแรม-ศูนย์การค้า  มีกำไรลดลง 55.6% เหลือสุทธิ 108.2 ล้านบาท  และมีรายได้รวม 2,512.9 ล้านบาท ลดลง 30.6% จาก 3,623.0 ล้านบาท  พร้อมเดินหน้าธุรกิจต่อเนื่องด้วยมาตรการควบคุมและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่าย   นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ เป็นช่วงเวลาที่ท้าทายของทุกภาคส่วน ด้วยผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ที่มีแนวโน้มลดลงกว่า 80% (ข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยงต่างชาติที่มาเยือนประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) และมาตรการเข้มงวดจากทางภาครัฐ ในการปิดสถานประกอบการ ซึ่งรวมถึงโครงการศูนย์การค้า เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19   ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลให้ AWC ต้องประกาศมาตรการปิดให้บริการโรงแรม และอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้าต่างๆ ชั่วคราว รวมถึงมีมาตรการอื่นๆ เพื่อดูแลช่วยเหลือผู้เช่า ทำให้ AWC มีกำไรในไตรมาสแรกลดลงลดลง 55.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน หรือมีกำไรสุทธิ 108.2 ล้านบาท   อย่างไรก็ตาม AWC ยังคงได้รับประโยชน์ จากกลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลาย และสมดุลเชิงธุรกิจ (Balanced and Diversified Portfolio) ที่ช่วยกระจายความเสี่ยง ซึ่งเห็นได้ชัดจากธุรกิจอาคารสำนักงาน (Office) ที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานของสินทรัพย์ดำเนินงาน (พอร์ททรัพย์สินที่ดำเนินงานและไม่รวม โรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง และโรงแรมอิมพีเรียล หัวหิน ที่หยุดดำเนินงานเพื่อปรับปรุงโรงแรม ช่วงกลางปี 2562 รวมถึงรายได้จากค่าบริหาร และดอกเบี้ยรับจากบริษัทกลุ่มทีซีซี)   โดยในไตรมาส 1 ของปี 2563 AWC ยังคงมีกำไรจากการดำเนินงานของสินทรัพย์ดำเนินงาน อยู่ที่ 1,184.9 ล้านบาท ซึ่งแบ่งสัดส่วนเป็นธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) 38.8% ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการประกอบกิจการการค้า (Retail) 21.8% และธุรกิจอาคารสำนักงาน (Office) 39.4%   นอกจากนี้ AWC ได้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด (Cost Efficiency Initiatives) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ทำให้ค่าใช้จ่ายการบริหารส่วนกลางในช่วงไตรมาสแรก เท่ากับ 127.0 ล้านบาท ลดลง 37.1% จาก 202.0 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวมเท่ากับ 1,364.0 ล้านบาท ลดลง 22.1% จาก 1,572.1 ล้านบาท ส่งผลให้ AWC มีอัตราส่วนอีบิทดาต่อรายได้ (EBITDA Margin) เท่ากับ 38.8% ลดลงเพียง 0.7% แม้จะมีรายได้ลดลงจากเหตุผลข้างต้น และมีอัตรากำไรสุทธิ 4.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีอัตรากำไรสุทธิ 6.7% สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจต่างๆ กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) มีรายได้จากสินทรัพย์ดำเนินงานอยู่ที่ 1,534.6 ล้านบาท ลดลง 36.2% จาก 2,404.0 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศปรับตัวลดลงตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม รวมทั้งการจัดประชุมสัมมนาและจัดแสดงสินค้าต่างๆ หยุดชะงักตามนโยบายของรัฐบาล   กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail & Commercial) มีรายได้จากสินทรัพย์ดำเนินงาน  อยู่ที่ 1,014.3 ล้านบาท ซึ่งลดลง 10.9% จาก 1,138.5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากมาตรการลดหรือยกเว้นค่าเช่าชั่วคราว เพื่อช่วยเหลือดูแลผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเข้มงวดจากทางภาครัฐในการปิดสถานประกอบการต่างๆ เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19   โดย AWC มีนโยบายที่ต้องการให้พันธมิตรผู้เช่าสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในภาวะที่ยากลำบาก และเป็นพันธมิตรต่อเนื่องร่วมกันไปในระยะยาว อย่างไรก็ตาม กลุ่มอาคารสำนักงานยังคงสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงและต่อเนื่อง และช่วยรักษาระดับรายได้รวมของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ สะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์จากกลยุทธ์หลักของ AWC ที่มุ่งเน้นการลงทุนที่หลากหลายและสมดุลเชิงธุรกิจได้เป็นอย่างดี   นอกจากนี้ AWC ได้เข้าซื้อสินทรัพย์กลุ่ม 3 ณ วันที่ 1 มกราคม 2563 ด้วยมูลค่าลงทุนรวม 25,785.6 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการอสังสหาริมทรัพย์จำนวน 12 โครงการ ตามสัญญาซื้อขายหุ้นสินทรัพย์กลุ่ม 3 ปี 2562 ที่เพิ่มจำนวนห้องพักในโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้วรวม 989 ห้องในทันที และจะเพิ่มห้องพักอีกมากกว่า 2,500 ห้องจากโครงการที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงหรือพัฒนา พร้อมทั้งศักยภาพในการพัฒนาโครงการค้าปลีกในอนาคต ทำให้ AWC มีสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มูลค่า 124,921.4 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14.4% จาก 109,158.0 ล้านบาท เมื่อเทียบกับมูลค่าสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 “ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่มีความแน่นอน AWC จะยังคงดำเนินมาตรการควบคุมและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน และเพิ่มประสิทธิผลให้สอดคล้องไปกับแผนกลยุทธ์หลักทางธุรกิจขององค์กร รวมทั้งการพัฒนากลยุทธ์การตลาดให้ตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับบริษัท พนักงาน นักลงทุน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สู่เป้าหมายการเป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ก้าวหน้าและเติบโตต่อเนื่องอย่างยั่งยืน และผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 นี้ไปด้วยกันได้อย่างดีที่สุด”    
แสนสิริ ผนึก พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ฝ่าวิกฤติ COVID-19

แสนสิริ ผนึก พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ฝ่าวิกฤติ COVID-19

“แสนสิริ” จับมือ “พลัส พร็อพเพอร์ตี้” เดินหน้าฝ่าวิกฤติ COVID-19 ประกาศนโยบาย “Sansiri Care…เพราะเราห่วงใย” ดูแลลูกบ้าน พันธมิตร และพนักงานกว่า 100,000 ครอบครัว ทั้งมาตาการเชิงรับและเชิงรุก     นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า  แสนสิริ ได้ร่วมมือกับ พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ประกาศนโยบาย “Sansiri Care…เพราะเราห่วงใย” ครอบคลุมภาพรวมวงจรการดำเนินธุรกิจ (Business Ecosystem) ด้วยการนำแนวคิดวิธีการบริหารงานอย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Plan – BCP) มาปรับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมยกระดับมาตรการทั้งแผนเชิงรุกและเชิงรับเพื่อรับมือสถานการณ์แพร่การระบาดที่เพิ่มขึ้นของเชื้อไวรัส COVID-19 ด้วยมาตรการเพื่อความปลอดภัยและอุ่นใจแบบเต็มขั้นแก่ครอบครัวแสนสิริ ผู้มีส่วนร่วมกับองค์กรในทุกระดับตั้งแต่ลูกบ้าน ลูกค้า พันธมิตร ตลอดจนคนงานก่อสร้าง แม่บ้าน และพนักงานรักษาความปลอดภัย แสนสิริและพลัส พร็อพเพอร์ตี้ เรากำลังดูแลลูกบ้านจนถึงพนักงานรักษาความปลอดภัยกว่าแสนครอบครัว  เพื่อให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตการอยู่อาศัยที่สะดวกสบาย  และปลอดภัยมากที่สุด ด้วย 3 มาตรการสูงสุดในการป้องกัน ดูแล และรับมือ ที่ครอบคลุมด้านความสะอาด การอำนวยความสะดวก และการเตรียมความพร้อม 3 มาตรการตั้งมือรับโควิด-19 สำหรับแผนเชิงรับ 3 มาตรการดูแลลูกค้า รับมือสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัส COVID- 19 ประกอบด้วย 1.มาตรการป้องกัน ยกระดับมาตรการทำความสะอาดและความปลอดภภัยแบบเต็มขึ้นสูงสุด โดยจัดทำแนวทางการปฏิบัติงาน (protocal) เพื่อควบคุมมาตรฐานและกำกับดูแลในทุกหน่วยงานและพื้นที่ปฏิบัติงาน -โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ร่วมมือกับพันธมิตรดูแลทั้งวิศวกรโครงการ คนงานก่อสร้าง ตั้งจุดคัดกรองวัดไข้ สวมหน้ากากตลอดเวลาปฏิบัติงาน พร้อมจัดเจลแอลกอฮอล์ -โครงการที่สร้างเสร็จพร้อมส่งมอบและโอนแก่ลูกค้า เช็ดและทำความสะอาดห้องและบ้านด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้ง อบโอโซนฆ่าเชื้อก่อนการตรวจรับมอบที่อยู่อาศัย พร้อมป้ายรับรองผ่านการฆ่าเชื้อเรียบร้อย  เพื่อมั่นใจ ปลอดภัยและอุ่นใจสูงสุด -โครงการที่มีลูกบ้านพักอาศัย ภายใต้การบริหารของพลัส พร็อพเพอร์ตี้ สำนักงานขายทั่วประเทศ และ SIRI CAMPUS สำนักงานใหญ่ คัดกรองวัดไข้วัดอุณหภูมิลูกบ้านและพนักงานที่ให้บริการทุกคนเพื่อคัดกรองผู้ป่วย แจกหน้ากากอนามัย สวมหน้ากากตลอดเวลาที่ปฏิบัติงานและล้างมือก่อนการให้บริการทุกครั้ง พร้อมจัดเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ทั้งในโครงการ -สำนักงานขาย พื้นที่ส่วนกลาง ทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลาง ทุก 1-2 ชั่วโมง ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อและอบโอโซนในโครงการ ตลอดจนป้อมรปภ. ห้องพักแม่บ้าน ห้องและบ้านตัวอย่าง พื้นที่ส่วนกลาง สำนักงานนิติ สำนักงานช่าง นอกจากนี้ สำหรับสำนักงานขาย ทำความสะอาดพื้นที่ตลอดชุดโต๊ะเก้าอี้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้งที่มีลูกค้าเยี่ยมชมโครงการ เพื่อเตรียมรับลูกค้าใหม่ เสริฟน้ำขวดส่วนตัว และจัดแอลกอฮอลล์พกพาสำหรับพนักงานขาย เมื่อพาลูกค้าเยี่ยมชมโครงการ 2.มาตรการดูแล อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตแก่ลูกบ้านกับ Sansiri Privilege ยกระดับการให้บริการตั้งแต่ บริการทำความสะอาด การดูแลสุขภาพ และความสะดวกในการสั่งสินค้า Delivery ของ Sansiri Family ใน Home Service Application Virtual Hospital บริการปรึกษาแพทย์แบบออนไลน์ฟรี จากโรงพยาบาลสมิติเวช พร้อมบริการส่งยาฟรีและส่วนลดค่ายา 20% ตลอดจนบริการฉีดพ่นฆ่าเชื้อในที่พักอาศัยพร้อมส่วนลด 5% และการจัดเตรียมตู้จำหน่ายสินค้าประจำแต่ละโครงการจำหน่ายเฉพาะสินค้าและของใช้จำเป็น เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวสาร เจลล้างมือ ปลากระป๋อง นม เป็นต้น 3.มาตรการรับมือ จัดมาตรการดูแลลูกค้าที่ต้องกักตัว 14 วันในที่พักอาศัยให้ใช้ชีวิตได้สะดวกปลอดภัย โดยไม่ต้องออกมาภายนอกที่พักอาศัยตลอดระยะเวลา เช่น จัดทำคู่มือ QR code  การดูแลตัวเองแก่ลูกบ้าน การอำนวยความสะดวกจัดส่งอาหาร การซื้อของจากซูเปอร์ หรือจัดส่งของอื่นๆไปยังหน้าห้องลูกบ้านแบบ Contactless Delivery 2 ช่วงเวลา เช้าและเย็น การจัดการเก็บขยะ วันละ 2 รอบ ให้กับลูกบ้านเพื่อลดอัตราความเสี่ยง   รวมถึง แจ้งเตือนลูกบ้านให้เข้ารับการตรวจหาเชื้ออีกครั้งหลังจากผ่านช่วงระยะเวลากักตัว 14 วัน อำนวยความสะดวกในทุกขั้นตอนหากต้องการพบแพทย์ ตั้งแต่การจัดการลิฟท์ และทำความสะอาดลิฟท์ทันทีหลังจากลูกบ้านใช้บริการ ตลอดจนอำนวยความสะดวกขนย้ายผู้ป่วยหากพบการติดเชื้อ 4 แผนเชิงรุกมาตรการดูแลลูกค้า นอกจากมาตรการเชิงรับ ที่แสนสิริและพลัส พร็อพเพอร์ตี้ ได้วางมาตรการร่วมกันแล้ว ยังได้วางมาตรการเชิงรุกด้วยกลยุทธ์การตลาดแบบ Omni-Channel ครบวงจร ตอบโจทย์ลูกค้าคนรุ่นใหม่ รวมถึงตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้สื่อบนหลากหลายแพลตฟอร์ม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าเรียลดีมานด์รายใหม่ที่ยังรองรับในช่วงสภาวการณ์ COVID-19 รวมถึงช่วยเหลือลูกค้าให้ลูกค้ามีบ้านได้ง่ายขึ้นอีกด้วย บริษัทฯ ยังเตรียมความพร้อมให้แก่ลูกค้าด้วยมาตรการความปลอดภัยสุงสุดแก่ลูกค้าที่เข้าเยี่ยมชมโครงการและการขายที่สำนักงานขายในทุกวัน ด้วยมาตรการ Private Tour เยี่ยมชมโครงการ ไม่ปะปนกับลูกค้ารายอื่นโดยมีเว้นระยะห่างตามหลัก Social Distancing” สำหรับ 4 มาตรการเชิงรุกรับมือไวรัสโควิด -19  ได้แก่ 1.Multi-channel and Online Booking ซื้อขายครบในทุกช่องทาง ผ่าน Virtual Sales ช่องทางในการค้นหาข้อมูล ติดต่อสอบถามและเยี่ยมชมโครงการเสมือนลูกค้าได้ไปชมโครงการจริง อาทิ Sansiri LINE Official Account, Facebook @Sansiri PLC, เว็บไซต์ www.sansiri.com, และในช่องทางใหม่ “24 Hrs. Online Booking” พรีเซลแบบออนไลน์เรียลไทม์ 100%  ครั้งแรกในไทย 2.แสนสิริ ผ่อนให้ 24 เดือน  เพื่อช่วยให้ลูกค้ามีบ้านง่าย ไม่มีภาระค่าใช้จ่ายในการผ่อนที่อยู่อาศัยได้นานตลอดระเวลา 2 ปี เพราะแสนสิริผ่อนให้ ทั้งต้น ทั้งดอก นานสูงสุด 24 เดือน (ตั้งแต่ 3   เม.ย. – 30 มิ.ย. 63) ครอบคลุมถึง 62 โครงการพร้อมอยู่ ทั่วประเทศ พร้อมฟรีค่าโอนและค่าจดจำนอง ฟรีค่าส่วนกลาง พร้อมโปรโมชั่นในทุกโครงการ อาทิ ฟรีค่าส่วนกลางนานสูงสุด 1 ปี พร้อมรับ Gift Voucher สูงสุด 100,000 บาท สำหรับโครงการบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮม และฟรีค่าส่วนกลางนาน 2 ปี สำหรับคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ 3.กู้ง่าย ได้บ้าน ผนึกพันธมิตรทางการเงินชั้นนำ ให้บริการคำปรึกษาด้านการเงิน  เพื่อให้ลูกค้ามีบ้านได้เป็นของตัวเองง่ายขึ้น ตลอดจนวางแผนทางการเงินในการซื้อบ้านและที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการจากแสนสิริ ตั้งแต่การเตรียมข้อมูลเคล็ดลับด้านการเงิน ที่ครบทุกด้านการตัดสินใจ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเตรียมตัวได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง ที่รวบรวมเอาอินไซต์ข้อมูลต่างๆ มาพัฒนาเพื่อดูแลอยู่เคียงข้างลูกค้าตั้งแต่วันแรกไปจนกระทั่งได้รับการอนุมัติการกู้จากธนาคาร 4.Private Tour มาตรการล่าสุดด้านความปลอดภัย สำหรับลูกค้าเข้าเยี่ยมชมโครงการแบบ By Appointment เยี่ยมชมโครงการที่สำนักงานขายดดยนัดหมายล่วงหน้า ยกระดับให้รัดกุมมากยิ่งขึ้นเพื่อความอุ่นใจและปลอดภัยสูงสุด โดยมีเว้นระยะห่างตามหลัก Social Distancing   ด้านการดูแลพนักงานของแสนสิริ และ พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ที่ SIRI CAMPUS สำนักงานใหญ่ ได้มีการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อและอบโอโซน จุดคัดกรองวัดไข้ สวมหน้ากากตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน Work from Home หรือ Work from Site ใกล้บ้าน สำหรับพนักงานที่มีความเสี่ยงจากการเดินทางสาธารณะ แบ่งช่วงเวลาการรับประมานอาหารเพื่อลดความหนาแน่น ตลอดจนช้อนและภาชนะแยกชุด   การจัดตั้งทีมงานเฉพาะกิจ (COVID-Info) เพื่อรับมือและให้คำปรึกษากับพนักงาน และพันธมิตรที่มีความกังวลอย่างทันท่วงที ตลอดจนการตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจากโรงพยาบาลชั้นนำ พร้อมดูแลรักษาค่าพยาบาลให้ทั้งหมดหากพบพนักงานติดเชื้อ ให้กับพนักงานที่มีความเสี่ยง  และการจัดตั้ง Sansiri Care Relief Fund โดยเงินบริจาคจากคณะผู้บริหารเริ่มต้นที่ 5 ล้านบาท เพื่อการดูแลครอบครัวของพนักงานผู้ได้ผลกระทบจากการติดเชื้อไวรัส COVID-19 หรือตกงานเพราะผลกระทบจากเศรษฐกิจ  
อสังหาฯ ไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร?  หลังวิกฤตโควิด-19

อสังหาฯ ไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร? หลังวิกฤตโควิด-19

เน็กซัส ชี้โควิด-19 สร้าง Covid Shock จุดเปลี่ยนอสังหาฯ พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแบบพลิกฝ่ามือ ทุกคนถูก Fast Forward เข้าสู่โลกอนาคตเพียงพริบตา ปีนี้ซัพพลายเก่าจะถูกเร่งขาย ในขณะที่ซัพพลายใหม่  จะเข้าสู่ตลาดไม่เกิน 30,000 ยูนิต   ถือเป็นโอกาสทองของคนเงินเย็นที่พร้อมช้อนซื้อสินค้าดีราคาประหยัด  ส่งสัญญาณไปยังภาครัฐช่วยพิจารณามาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ทั้งมาตรการการโอน ผ่อนปรนภาษีธุรกิจเฉพาะ และ LTV พร้อมเสนอผ่อนปรนกฎการถือครองกรรมสิทธิ์ ชาวต่างชาติเพื่อช่วยดีเวลลอปเปอร์ไทย   นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด  ประเมินสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์หลังวิกฤตโควิด-19  ว่า ในช่วงปีนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการระบายสต๊อกเก่า ข้อมูลจากเน็กซัสพบว่าซัพพลายของคอนโดมิเนียมคงค้างในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปลายปี 2562 มีประมาณ 60,000 ยูนิต คาดว่าในปีนี้ตลาดจะสามารถดูดซับไปได้ประมาณ 80% โดยเราจะเริ่มเห็นการลดราคาจากดีเวลลอปเปอร์ ซึ่งราคาที่ลดลงจะอยู่ในเรทเหมาะสมและค่อนข้างดี เป็นระดับราคาที่ดีเวลลอปเปอร์ยอมรับได้และคุ้มค่าที่จะซื้อในฝั่งผู้บริโภค   คาดการณ์ว่ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่จะกลับมาได้รับความสนใจเร็วที่สุดหลังวิกฤติโควิด-19 คือ คอนโดฯ​ ราคาไม่เกิน 4 ล้านบาท เพราะเป็นระดับราคาที่คนกรุงเทพฯ​ ส่วนใหญ่รับได้ และเป็นเรียลดีมานด์ที่ต้องการอยู่อาศัยเลย ส่วนอีกตลาดที่จะฟื้นตัวเร็ว คือ สินค้าในระดับลักซ์ชัวรี ที่ถึงแม้คนส่วนใหญ่จะมีเงินลดลง แต่ยังมีกำลังซื้อมากพอที่จะจ่ายได้ โดยตัวผู้บริโภคเองจะเลือกซื้อสินค้าที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ใหม่ของตัวเอง และมีฟังก์ชั่นที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ เช่น การปรับให้มีห้องทำงานที่เหมาะกับการทำงานที่บ้านได้ เป็นต้น อสังหาฯ ไทยหลังวิกฤตโควิด-19     หากประเมินภาพเชิงลบที่สุด คือ หากวิกฤติโควิด-19 ยังดำเนินต่อไปและไม่สามารถลดปริมาณผู้ติดเชื้อได้ ผู้ประกอบการภาคเอกชนจะอยู่ได้ยาวที่สุดอีกเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น และจะเป็นงานหนักสำหรับดีเวลลอปเปอร์ เพราะเมื่อภาคธุรกิจขาดสภาพคล่อง จะเริ่มเห็นแนวโน้มการปิดตัวลงของผู้ประกอบการจำนวนมาก ทำให้เม็ดเงิน ในกระเป๋าของผู้บริโภคลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจชะลอการซื้อ จะกระทบต่อตลาด อสังหาริมทรัพย์มากขึ้นตามไปด้วย   หากประเมินในภาพบวกเพิ่มขึ้น คือ หากเราสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้  และจำนวนผู้ติดเชื้อค่อยๆ ลดลงจนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ประเมินว่าในช่วงไตรมาส 2 นี้ ตลาดก็อาจจะ ยังไม่สดใสนัก แต่จะเห็นแนวโน้มที่จะค่อยๆ ดีขึ้นตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มปรับตัว กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้บ้าง แต่จะเห็นว่าทุกอย่างจะกลับมาดีขึ้นอย่างจริงจังในไตรมาส 3 โดยผู้ประกอบการ หลายรายจะเริ่มกลับมามีกิจกรรมทางการตลาด เพราะอย่างไรก็ตามธุรกิจต้องดำเนินไป   ไตรมาสที่4 จะดีที่สุด และคาดว่าจะเป็นไตรมาสที่รัฐบาลหันกลับมาพิจารณาให้ความสำคัญกับภาคอสังหาฯ โดยมีมาตรการช่วยเหลือ และผ่อนปรนต่างๆ ออกมาเพื่อสนับสนุนให้อสังหาฯ ยังคงเดินต่อไปได้ ในไตรมาส 4 หากภาครัฐออกมาตรการเพื่อสนับสนุนภาคอสังหาฯ  จะเห็นตลาดรีบาวด์กลับมาอย่างชัดเจน  ไม่ว่าจะเป็น มาตรการลดค่าโอน ที่ขยายให้ครอบคลุมทั้งตลาดอสังหาฯ การยืดหยุ่นภาษีธุรกิจเฉพาะ การผ่อนปรนมาตรการ LTV รวมถึงการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินของชาวต่างชาติ โดยอาจปรับให้สามารถซื้อที่ดินหรือบ้านในโครงการจัดสรรที่พัฒนาเพื่อที่อยู่อาศัยได้ ซึ่งกำลังซื้อจากต่างชาติจะช่วยให้ตลาดอสังหาฯ ไทยกลับมาได้เร็วมากยิ่งขึ้น เทรนด์การอยู่อาศัยในปี 2564   เนื่องจากปีนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งระบายสต๊อกเก่า ดังนั้นจะส่งผลให้ซัพพลายใหม่ที่จะออกมา น่าจะไม่เกิน 30,000 ยูนิต จากปกติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดคอนโดฯ ในกรุงเทพฯ จะมีซัพพลายใหม่ออกมาเฉลี่ยปีละ 52,000 ยูนิต และเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11%ทุกปี ซึ่งผลจาก Covid Shock ในครั้งนี้ส่งผลให้ยอดสะสมของคอนโดฯ จะลดลง ถือเป็นการปรับฐานใหม่อีกครั้งสำหรับอสังหาฯ ในกรุงเทพฯ   การปรับฐานในครั้งนี้  ไม่เพียงแค่เรื่องจำนวนคอนโดฯ เท่านั้น แต่ยังปรับไปถึงเรื่องการเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งานในคอนโดฯ หรือบ้านด้วย เพราะการใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนไป ทำให้การออกแบบที่อยู่อาศัยต้องตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ใหม่ อาทิ การเริ่มคุ้นชินกับการทำงานที่บ้าน ดังนั้นดีเวลลอปเปอร์จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเรื่องฟังก์ชั่นภายในบ้านหรือคอนโดฯ เช่น ให้ความสำคัญกับห้องทำงานมากพอกับห้องนอน เป็นต้น   ในส่วนกลางที่เคยให้ความสำคัญกับการมี Co-working space หรือ Co-kitchen แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนเรามีระยะห่างมากขึ้น มีความนิ่ง อยู่กับตัวเอง และรักความสะอาดมากกว่าเดิม ดังนั้นสินค้าใหม่ของดีเวลลอปเปอร์ที่จะผลิตออกมา จะชูจุดขายเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว เช่น ห้องครัว หรือห้องทำงาน แบบรองรับคนเพียงคนเดียวจะเป็นรูปแบบที่ถูกได้รับความสำคัญมากอย่างยิ่ง เพราะคนใช้ชีวิตกับตัวเองมากขึ้น รวมถึงการให้น้ำหนักไปกับ Living Room หรือห้องทำงานมากกว่าห้องนอน เพราะเมื่อคนทำงานอยู่ที่บ้าน มักใช้เวลาในห้องเหล่านี้มากกว่าห้องนอน โดยคาดว่าจะเห็นสินค้าใหม่ๆ รูปแบบนี้ออกมาจากดีเวลลอปเปอร์ในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ตลาดรีเทล-อาคารสำนักงานกระทบหนัก กลุ่มรีเทลเป็นอีกกลุ่มสำคัญที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ผู้เช่าที่เคยเช่าพื้นที่ขายของในห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน หรือแม้แต่คอมมูนิตี้มอลล์ต่างๆ จะเริ่มคุ้นชินกับการขายของผ่านออนไลน์ ดังนั้น ต่อจากนี้ไปหน้าร้านจะถูกลดบทบาทความสำคัญลง ผู้เช่าคุ้นชินกับการขายของผ่านโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น มีทักษะด้านออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การมีหน้าร้านหรือการเช่าพื้นที่ขนาดใหญ่จะถูกลดทอนขนาดการเช่าลง แต่เน้นเรื่องการให้บริการออนไลน์ และการส่งเดลิเวอรี่หรือให้ลูกค้าไปรับสินค้าที่หน้าร้านแทนมากยิ่งขึ้น   ทำให้กลุ่มธุรกิจส่วนนี้ ต้องวางแผนการปรับตัวอย่างมากเพื่อให้พื้นที่เช่ายังคงเป็นที่ต้องการอยู่ ร้านค้าจะเป็นดิสเพลย์ที่ให้ประสบการณ์หลังจากศึกษาข้อมูลออนไลน์ หรือเข้ามาเพื่อรับบริการหลังการขายต่างๆ มากกว่า การตกแต่งภายในของพื้นที่อาจมีความจำเป็นน้อยลง นอกจากนี้พื้นที่ค้าปลีกอาจมี Stand alone เพื่อบริการเดลิเวอรี่มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้างสรรพสินค้าใหญ่อีกต่อไป   สำหรับตลาดอาคารสำนักงานนั้น เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากปีที่ผ่านมาและอีก 2 ปีข้างหน้า ตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ จะมีซัพพลายใหม่ออกมาอีกนับเป็นล้านตารางเมตร จากอาคารที่กำลังก่อสร้าง กว่า 40 อาคาร พื้นที่ประมาณ 1.61 ล้านตารางเมตร และจะแล้วเสร็จพร้อมกันในปี 2564 - 2566 แต่พฤติกรรมของคนได้ถูกปรับเปลี่ยนไปแล้ว เพราะการทำงานที่บ้านเริ่มได้รับการยอมรับ และมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดเทรนด์ต่อไป แม้ว่าเหตุการณ์โควิดจะผ่านไปแล้วก็ตาม ส่งผลให้บริษัทต้องการพื้นที่ออฟฟิศลดลง ทั้งจำนวนที่นั่ง โต๊ะทำงาน และห้องประชุม และจะส่งผลกระทบต่อเจ้าของอาคารอย่างชัดเจน เทรนด์ที่เปลี่ยนไปเหล่านี้ล้วนเป็นไลฟ์สไตล์ใหม่  เทรนด์ใหม่ที่ออกมาท้าทายโลกของเราอย่าง Fast Forward แบบที่เราเองก็ไม่นึกมาก่อน ผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมที่จะรับมือและต้องปรับตัว อาทิเช่น 1.Facilities ปรับปรุงระบบ Facilities ของอาคารให้สามารถสนับสนุนการทำงาน  ข้ามไปข้ามมาระหว่างที่อาคารสำนักงาน (Head Office) กับการทำงานนอกสถานที่ (Home) โดย Facilities ที่สำคัญ ได้แก่ ระบบทางด้าน IT ที่จะต้องมีความพร้อมในขั้นสูงสุด และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนระบบให้ได้อย่างรวดเร็วตามกระแสการใช้งาน 2.Flexibility เนื่องจากเทรนด์สมัยใหม่ ผู้เช่าหลายๆ รายต้องการความยืดหยุ่นในการใช้พื้นที่ ปรับลด-เพิ่ม ได้ตามความต้องการ ผู้ประกอบการที่เข้าใจในรูปแบบของผู้เช่า อาจจะต้องปรับรูปแบบของสัญญาเช่าและพื้นที่เช่าให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น 3.Fair Price จากการที่ Supply & Demand กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ ในขณะที่ Supply กำลังจะมีคู่แข่งเข้ามาในตลาดที่มากขึ้น ทางด้าน Demand ก็กำลังจะเปลี่ยนรูปแบบของความต้องการ แน่นอนเลยคือตลาด จะพบกับการแข่งขันที่ดุเดือด สิ่งที่จะเห็นได้คือ สงครามราคา ดังนั้นผู้ประกอบการที่ปรับตัวและพร้อมที่จะแข่งขัน ในเรื่องราคาและบริการได้ก่อนผู้ประกอบการรายอื่น ก็จะสามารถผ่านช่วงเวลาท้าทายช่วงนี้ไปได้อย่างไม่ลำบาก  
โกลเด้นแลนด์ กระจายความเสี่ยงธุรกิจ ฝ่าวิกฤตโควิด-19 กวาดรายได้กว่า 3,500 ล้านบาท

โกลเด้นแลนด์ กระจายความเสี่ยงธุรกิจ ฝ่าวิกฤตโควิด-19 กวาดรายได้กว่า 3,500 ล้านบาท

โกลเด้นแลนด์ ปิดยอดธุรกิจในช่วง 3 เดือนแรก ยังทำได้ 3,500 ล้านบาท  ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา  จากการปรับกลยุทธ์รับมือสถานการณ์โควิด-19 ทั้งเปลี่ยนรูปแบบการขายไปสู่ออนไลน์ และเพิ่มมาตรการดูแลลูกค้า คู่ค้า พันธมิตร และการกระจายความเสี่ยงธุรกิจ ทั้งพอร์ตที่อยู่อาศัยและรีเทล    นายธนพล ศิริธนชัย ประธานอำนวยการ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ว่า สามารถทำยอดรับรู้รายได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 – 31 มีนาคม 2563 เป็นจำนวน 3,500 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากการปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19  รวมถึงการกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ   “บริษัทฯ มีการกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ โดยแบ่งรายได้ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ โครงการแนวราบ มีโครงการทาวน์โฮม นีโอโฮม และบ้านเดี่ยว ซึ่งเป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนระยะสั้น สร้างรายได้ทันที และโครงการเชิงพาณิชย์ ซึ่งมีรายได้จากค่าเช่า ได้แก่ อาคารสำนักงาน  และรีเทล เป็นการลงทุนเพื่อผลตอบแทนระยะยาว ส่งผลให้บริษัทฯ มีความยืดหยุ่นของรายได้ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงกับธุรกิจแทบทุกด้าน"   สำหรับกลยุทธ์การสร้างพอร์ตธุรกิจหลากหลายรูปแบบ การกระจายความเสี่ยงพิสูจน์แล้วว่า ช่วยให้องค์กรผ่านพ้นในทุกวิกฤตได้  ซึ่งในสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน บริษัทฯ ยังได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินงานในแต่ละด้านเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้ กลยุทธ์ด้านโครงการแนวราบ เนื่องจากความเข้มข้นของสถานการณ์ทำให้ลูกค้าเข้าชมโครงการได้ลำบากมากขึ้น ทางบริษัทฯ จึงได้ปรับรูปแบบการขายไปสู่ออนไลน์มากขึ้นเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น อีกทั้งยังลดขั้นตอนเอกสาร และอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าไม่ต้องเข้ามาที่โครงการ สำหรับการก่อสร้างยังคงดำเนินการต่อ เนื่องจากบริษัทฯ มี Backlog รอโอนที่สะสมมาตั้งแต่ปี 2562 และนับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่โครงการจะได้ปรับปรุงบ้านของลูกบ้าน และส่วนกลางของโครงการให้มีสภาพที่ดียิ่งขึ้น สิ่งที่น่าสนใจท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ คือ ลูกค้ามีความสนใจโครงการแนวราบมากขึ้น สังเกตจากปริมาณลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาที่โครงการยังมีอย่างต่อเนื่อง และเป็นลูกค้าที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยจริง กลยุทธ์ด้านโครงการเชิงพาณิชย์ สำหรับศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ บริษัทฯ มีมาตรการในการช่วยเหลือผู้เช่า โดยการไม่เก็บค่าเช่า และค่าส่วนกลาง 100% สำหรับร้านค้าที่ต้องปิดให้บริการตามคำสั่งภาครัฐ และลดค่าเช่า 50% สำหรับร้านค้าที่ยังเปิดให้บริการ นอกจากนี้ยังช่วยเหลือผู้เช่าส่วนอาคารสำนักงานทั้งอาคารปาร์คเวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ สาทรสแควร์  เอฟวายไอ เซ็นเตอร์ และมิตรทาวน์ออฟฟิศทาวเวอร์ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อเป็นส่วนช่วยให้พันธมิตร ร้านค้า และผู้เช่า ทุกรายสามารถผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน กลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการ การบริหารค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม และการจัดการกระแสเงินสดอย่างรอบคอบ เป็นหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการในขณะนี้ และทำให้เรามั่นใจว่า บริษัทฯ สามารถดำเนินธุรกิจผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปได้ สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือ การดูแลพนักงานไม่ให้ได้รับผลกระทบทางด้านการเงิน  และดูแลความปลอดภัยของพนักงานเป็นสำคัญ อาทิ การแจกหน้ากากอนามัย และผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ ฯลฯ พร้อมยกระดับระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ด้วยนโยบายการทำงานจากบ้าน (Work from home) โดยทางบริษัทฯ ได้สนับสนุนด้านอุปกรณ์ และเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ และยังกระตุ้นให้พนักงานฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาตัวเองทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง”   “วิกฤติโควิด-19 นี้เราต้องมีสติในการรับมือกับปัญหา ในทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ เป็นโอกาสให้ได้เรียนรู้ วิกฤตครั้งนี้ไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าจะจบลงเมื่อไร เราต้องดูแลพนักงาน และพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้ธุรกิจของเราผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ อย่าปล่อยให้วิกฤตผ่านไปโดยไร้ค่า เรียนรู้ จดจำ และทุกคนต้องเชื่อมั่น และร่วมมือกันปรับตัวให้ทัน โกลเด้นแลนด์ขอเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายผ่านพ้นวิกฤติได้ในที่สุด”
มั่นคง เดินแผนธุรกิจ 5 ปี รักษาธุรกิจให้โตในภาวะผลกระทบ  Covid-19

มั่นคง เดินแผนธุรกิจ 5 ปี รักษาธุรกิจให้โตในภาวะผลกระทบ Covid-19

มั่นคงเคหะการ เดินหน้าตามแผนธุรกิจ 5 ปี เน้นปรับตัวและรูปแบบการดำเนินงาน รับมือผลกระทบ ไวรัสโควิด-19  ดึงเทคโนโลยีออนไลน์ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคปัจจุบัน   แจงไตรมาสแรกของปี 2563 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย สามารถทำยอดขายได้กว่า 500 ล้านบาท ในขณะที่ยอดจอง Pre-Approve และ Backlog เพิ่มขึ้นถึง 80% ด้านธุรกิจเพื่อเช่าและการบริการ ยังคงมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง  สิ้นปี 2562  รายได้เพิ่มขึ้น 30% เตรียมขายทรัพย์สินกว่า 2,000 ล้านบาท เข้ากองทรัสต์ เพื่อการบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงิน นายวรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มั่นคงเคหะการจำกัด (มหาชน)  หรือ MK  เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของทุกภาคธุรกิจ ในส่วนของบริษัทได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่มากนัก  เนื่องจากได้เตรียมพร้อมรับมือ และปรับเปลี่ยนแผนงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การปรับการทำงานของทีมงาน​ การปรับการขายที่ดึงเอาเทคโนโลยี  Virtual Tour 360 องศา มาใช้  ให้ลูกค้าชมบ้านเสมือนจริงแม้ไม่ได้เดินทางมาที่โครงการ  และยังสามารถเลือกเป็นเจ้าของผ่านช่องทาง Line ได้อีกด้วย   นอกจากนี้ กลุ่มลูกค้าของบริษัท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง และกว่า 70% เป็นลูกค้าไม่ติดภาระสัญญากู้เงินที่อยู่อาศัย ประกอบกับสินค้าของบริษัทอยู่ในระดับราคา 3-5 ล้านบาท จึงทำให้ได้รับผลกระทบ   ไม่มากหนัก ยิ่งไปกว่านั้นยังออกโปรโมชั่นต่างๆ ที่ช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น ทำให้บริษัทฯ ยังสามารถ   ทำยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง   "ในไตรมาสแรกของปีนี้บริษัทสามารถสร้างยอดขายได้กว่า 500 ล้านบาท ซึ่งหากนับรวมยอดจอง Pre-Approve และ Backlog แล้ว สามารถทำยอดขายคิดเป็น 35% ของเป้าตลอดทั้งปี 2563 และช่วง 2 เดือนแรกที่ผ่านมา บริษัทมียอดจอง Pre-Approve และ Backlog  ประมาณ  90 ล้านบาทต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 80%" ส่วนภาพรวมธุรกิจเพื่อเช่าและการบริการในปี 2562 มีรายได้รวม 530 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปี 2561 เป็นผลจากความแข็งแกร่งของแผนธุรกิจ 5 ปี  ที่มุ่งสร้างสมดุลรายได้เพื่อความมั่นคง  นับว่าเป็นแผนการดำเนินงานของบริษัทซึ่งดำเนินมาถูกทางแล้ว  แม้ในภาพรวมของการขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย  จะชะลอตัวไปบ้างด้วยปัจจัยต่างๆ แต่ด้วยแผนธุรกิจของบริษัท ทำให้เรามีรายได้จากธุรกิจเพื่อเช่าและการบริการ หรือธุรกิจรายได้ประจำเข้ามาเสริมและช่วยรักษาสมดุล   สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าให้เช่า โครงการบางกอกฟรีเทรดโซน ที่บริหารงานโดย บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด  ยังคงทำผลงานได้ดี ในปี 2562 ที่ผ่านมามีผู้เช่าแล้วกว่า 90% ของพื้นที่เช่า, ธุรกิจโครงการ พาร์ค คอร์ท (Park Court) สุขุมวิท 77 คอนโดมิเนียมและอพาร์ตเมนต์ระดับลักซ์ชัวรี่ไฮเอนด์ให้เช่า ยังสามารถรักษาอัตราเช่าให้อยู่ที่ 80% ของจำนวนห้องเช่าทั้งหมด, ธุรกิจสนามกอล์ฟ ฟลอร่า วิลล์ กอล์ฟ แอนด์ คันทรีคลับ, ธุรกิจบริการด้านดูแลจัดการบริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์ โดย บริษัท ยัวร์ส พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด รวมไปถึงธุรกิจโครงการสถานพยาบาล สถานฟื้นฟู และเวชศาสตร์ชะลอวัย (Wellness Center) ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโต และมีแผนจะเปิดตัวช่วงปลายปี 2563   ในส่วนของหุ้นกู้และตั๋วแลกเงินที่จะครบกำหนดในช่วงปีนี้ บริษัทได้มีการเตรียมแผนการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยในช่วงปลายปีที่ผ่านมาบริษัทได้ระดมออกหุ้นกู้ 3 ปี 11 เดือน เป็นจำนวนเงิน 1,565 ล้านบาท  อีกทั้งได้มีการขายทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในแผนพัฒนาในอนาคตอันใกล้เป็นจำนวนเงินกว่า 2,600 ล้านบาทในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากนี้ยังมีทรัพย์สินที่ไม่มีภาระผูกพันอีกมากกว่า 2,500 ล้านบาท ทำให้บริษัทฯ มีความยืดหยุ่นเพื่อใช้เป็นช่องทางในการเสริมสภาพคล่อง สำหรับปีนี้ได้เตรียมที่จะขายทรัพย์สินในส่วนของโรงงานและคลังสินค้าให้เช่ากว่า 130,000 ตารางเมตร มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท เข้ากองทรัสต์ เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์  โดยทาง กลต.ได้อนุมัติให้จัดตั้งบริษัทจัดการกองทรัสต์ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว และคาดว่ากองทรัสต์จะเสนอขายต่อประชาชนได้ในไตรมาส 3 นี้  ทั้งนี้เมื่อปีที่ผ่านมาบริษัทสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน (Interest bearing debt ratio) ให้ยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดย ณ สิ้นปี มีสัดส่วนเท่ากับ 1.3 เท่า ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม   ในปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ท้าทายด้วยปัจจัยหลายๆ ด้าน ทั้งปัจจัยจากไวรัสโควิด-19 และสภาวะเศษฐกิจทั้งหลาย แต่บริษัทยังคงเดินหน้าสานต่อนโยบายสร้างความสมดุลของรายได้  ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายและธุรกิจที่สร้างรายได้  อย่างสม่ำเสมอทั้งเช่าและการบริการ และมุ่งมองหาโอกาสในการพัฒนาโครงการที่มีศักยภาพ เพื่อขยายในส่วนของธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ ตามแผนการดำเนินธุรกิจ 5 ปี พร้อมขยับสัดส่วนกำไรของทั้ง 2 ฝั่งให้อยู่ที่  50:50 ภายใน ปี 2564 เพื่อเป็นการเพิ่มความมั่นคงให้บริษัทฯ ตามแผนที่วางไว้
5 ไอเดียจัดพื้นที่ทำงาน Work From Home สไตล์ “อิเกีย”

5 ไอเดียจัดพื้นที่ทำงาน Work From Home สไตล์ “อิเกีย”

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่หลายๆ คน ปรับเข้าสู่โหมด Work From Home รวมถึงการรณรงค์ให้ Stay At Home และ Social Distancing เพื่อความปลอดภัย และลดความเสี่ยงจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ยิ่งตอนนี้  มีประกาศเคอร์ฟิวด้วย อาจจะทำให้หลายบริษัทและออฟฟิศหลายแห่ง คงให้พนักงานอยู่บ้าน เพื่อทำงานจากที่บ้านกันมากขึ้น   แต่การทำงานที่บ้าน หลายคนอาจจะขาดแรงจูงใจ หรือไม่ค่อยมีสมาธิในการทำงาน เพราะอยู่บ้านจะมีสิ่งยั่วใจให้ต้องเสียสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นที่นอนนุ่มๆ อาหารอร่อยๆ ที่สั่งมาตุนไว้ หรืออาจจะเป็นซีรีย์เรื่องโปรด ที่เฝ้ารอดู   เพื่อให้การทำงานที่บ้าน หรือ Work Form Home มีประสิทธิภาพเหมือนกับทำงงานที่ออฟฟิศ  ทาง “อิเกีย”  ได้นำเสนอไอเดียการจัดพื้นที่ในบ้าน ให้เป็นมุมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ตามสไตล์และพื้นที่ในบ้าน เพื่อจะได้ Work From Home กันอย่างมีความสุข และมีประสิทธิภาพ   สิ่งที่สำคัญในการทำงานที่บ้านอย่างมีประสิทธิภาพและดีต่อสุขภาพของเราในระยะยาวนั้น เริ่มจาก 1.การจัดตำแหน่งและลักษณะท่านั่งในการทำงานที่เหมาะสม เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงการเกิด office syndrome ซึ่งคำแนะนำในการจัดวางโต๊ะทำงานที่ถูกต้องมีดังนี้ -ตำแหน่งการวางแขนและพนักพิงหลังมีส่วนสำคัญในการรองรับสรีระขณะนั่งทำงาน จึงควรปรับพนักเก้าอี้ทำงานให้ตรง เลือกเก้าอี้ที่นั่งแล้วสบายและรองรับกระดูกสันหลัง โดยให้ที่วางแขนอยู่ในระนาบเดียวกับขอบโต๊ะ หรือใกล้เคียงมากที่สุด เพื่อให้สามารถวางมือและข้อมือลงไปตรงๆ โดยไม่รู้สึกเมื่อยช่วงไหล่ -เมื่อนั่งลงแล้วต้นขาควรจะขนานกับพื้นและวางเท้าบนพื้นได้พอดี หากความสูงของเก้าอี้ไม่ได้ระดับและเท้าลอย ควรใช้ที่วางเท้ามาช่วยรองรับ -หน้าจอคอมพิวเตอร์ควรอยู่ห่างจากตัวหนึ่งช่วงแขน ขอบบนของหน้าจอควรอยู่ระดับสายตาพอดีหรือต่ำกว่าระดับสายตาเล็กน้อย และวางคีย์บอร์ดให้ตรงกับหน้าจอ   เมื่อรู้หลักการจัดวางเฟอร์นิเจอร์และคอมพิวเตอร์แล้ว มาพบกับไอเดียเนรมิตมุมทำงานในฝันให้มีความสุขกับการทำงานยิ่งขึ้นกว่าเดิม   2.เลือกโทนสี Monochrome เรื่องของสีใครว่าไม่มีผลต่ออารมณ์และความรู้สึก สีมีส่วนสำคัญอย่างมาก เพราะสีแต่ละสีต่างให้ผู้ที่พบเห็น มีอารมณ์และความรู้สึกแตกต่างกันไป  หากนำเอาสีมาใช้เป็นกับมุมทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ หรือสิ่งต่างๆ รอบตัว หากเลือกได้ถูกต้อง ก็จะช่วยเสริมทำให้การทำงานได้อย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย   ตัวอย่างเช่น สีขาวและดำ ยังคงเป็นโทนสีคลาสสิก ที่ทำให้มุมทำงานมีความเป็นมืออาชีพ และให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับที่สำนักงาน และยังเป็นระเบียบสะอาดตาอีกด้วย หรือหากตกแต่งห้องในโทนสีเย็นๆ สีหม่นที่ให้ความรู้สึกสบายตา จะช่วยให้มีสมาธิในการทำงานยิ่งขึ้นได้เช่นกัน  3.จัดระเบียบมุมทำงาน การมีโต๊ะทำงาน ที่เป็นระเบียบ ช่วยทำให้การทำงานมีสมาธิ และยังสามารถหาสิ่งของ อุปกรณ์สำนักงานต่างๆ ที่ต้องใช้ได้ง่าย การทำให้โต๊ะทำงานมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยจึงเป็นสิ่งจำเป็น  หากมีอุปกรณ์สำนักงานเยอะ หรือกองเอกสารจำนวนมาก  ลองจัดหาอุปกรณ์จัดเก็บ เข้ามาช่วยจัดการให้ทุกอย่างเป็นระเบียบ ประเภทกล่องเก็บของ หรือชั้นจัดเก็บสิ่งของแบบติดผนัง ช่วยให้มุมทำงานมีความเรียบร้อย เติมความคิดสร้างสรรค์ในการตกแต่งมุมทำงาน   การตกแต่งหรือเลือกใช้อุปกรณ์ช่วยจัดระเบียบ  ยังสามารถบ่งบอกความเป็นตัวตน หรือบอกสไตล์ของคนทำงานได้ด้วย เพราะเดี๋ยวนี้อุปกรณ์ต่างๆ มีให้เลือกหลากหลาย ทั้งวัสดุที่นำมาใช้ รวมถึงสีสันต่างๆ ก็มีให้เลือกมากมาย   ตัวอย่าง ห้องทำงานพนักงานสายไอที สำหรับคนทำงานในสายงานที่ต้องใช้อุปกรณ์หลายอย่าง เช่น งานสายช่างภาพ นักออกแบบ ควรมีพื้นที่ให้กับอุปกรณ์ต่างๆ และไม่วางของตกแต่งอื่นๆ มาปะปนกัน ลองหาโต๊ะหน้ากว้างเพื่อจัดวางอุปกรณ์หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ต้องใช้เพิ่มเติม และควรจัดมุมเสียบปลั๊กอุปกรณ์ต่างๆ ให้เป็นระเบียบ    4.มุมสร้างแรงบันดาลใจ สำหรับสายงานที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์เป็นพิเศษ  ลองนำสิ่งต่างๆ รอบตัวที่เป็นแรงบันดาลใจ หรือสิ่งที่เห็นแล้วมีความสุขมาใส่กรอบแล้วตกแต่งผนัง อาจเติมโคมไฟเพื่อกระตุ้นความคิด รวมถึงอาจเลือกใช้โต๊ะไม้เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย ก็เป็นไอเดียที่ทำได้ไม่ยาก   หรือแม้พนักงานสายอาชีพทั่วไป ก็สามารถหาของที่ชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นของสะสม หรือของที่เห็นแล้วมีความสุขนำมาตกแต่ง ประดับโต๊ะทำงาน เพื่อให้หลังจากเคร่งเครียดอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์  หรือกองเอกสารต่างๆ จำนวนมากแล้ว หันไปมองหรือเห็นสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ นอกจากจะเป็นการพักสายตาแล้ว ยังช่วยให้เกิดความสุขกับสิ่งของที่รักได้อีกด้วย  5.เลือกวิวที่เหมาะ เวลาทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ หรือการต้องอ่านเอกสารกองโต เราจำเป็นต้องพักสายตา เพื่อดูแลสุขภาพดวงตา และยังทำให้ไม่เหนื่อยล้าจากการทำงานด้วย  ดังนั้น การเลือกมุมทำงาน หากเป็นไปได้ควรเลือกอยู่ในมุมที่ใกล้กับวิวนอกห้องบ้าง เพื่อให้เห็นบรรยากาศของภายนอก อาจจะมองเห็นต้นไม้สีเขียว หรือวิวเมืองทั่วไป   การจัดโต๊ะทำงานใกล้หน้าต่างที่เห็นทิวทัศน์ภายนอก จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยหรือมองข้าม แต่ก็ต้องมั่นใจว่าแสงแดดช่วงเที่ยงและบ่ายจะไม่กระทบสายตาของคุณโดยตรง ควรเลือกมุมที่หันหลังหรือหันข้างให้แสง หรือหากอยู่ในคอนโดฯ ลองเลือกจัดมุมทำงานที่ข้างหน้าต่างหรือใกล้ระเบียงห้อง ให้ความรู้สึกที่ปลอดโปร่งความคิดแล่นเร็วสามารถทอดสายตาออกไปนอกหน้าต่างได้ เพราะจะดีทั้งสุขภาพดวงตา และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มากขึ้น   อีกสิ่งที่ไม่ควรละเลย คือ การใกล้ชิดธรรมชาติด้วยสีเขียว การตกแต่งมุมทำงานด้วยไม้ประดับที่ดูแลง่าย และเป็นเครื่องกรองอากาศแบบธรรมชาติไปในตัว อาทิ ลิ้นมังกร พลูด่าง ว่านหางจระเข้ เดหลี สับปะรดสี กล้วยไม้ จั๋ง และเฟิร์น เป็นต้น ทั้งยังเอาไว้พักสายตามามองสีเขียว เมื่อเริ่มรู้สึกตึงเครียดจากการทำงาน นี่คงเป็น 5 Tips ง่ายๆ ทำได้ไม่ยาก แถมยังสร้างบรรยากาศ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับพนักงานออฟฟิศ และผู้ที่ต้อง Work From Home ในช่วงบรรยากาศเคอร์ฟิว และโลกภายนอกยังเต็มไปด้วยไวรัสโควิด-19 เป็นกำลังใจให้กับทุกคนผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เราจะรอดไปด้วยกัน    
ดีเวลลอปเปอร์ ต้องรอด!! ออกมาตรการสู้ไวรัสโควิด-19

ดีเวลลอปเปอร์ ต้องรอด!! ออกมาตรการสู้ไวรัสโควิด-19

ตอนนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขยายวงกว้างมากขึ้น แถมจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ไม่รุนแรงเหมือนหลายประเทศ แต่ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะจบลง และไม่รู้จะจบเมื่อไรด้วย   ไม่เพียงแต่ไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยทั่วไป แต่ยังได้กระทบไปถึงธุรกิจต่างๆ แทบจะทุกธุรกิจไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม ทำให้เจ้าของกิจการพยายามหาหนทาง เพื่อที่จะอยู่รอดให้ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน   สำหรับแวดวงอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการโดนผลกระทบมาต่อเนื่อง จากมาตรการ LTV ปัญหาค่าเงินบาท ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อหดหาย ซ้ำร้ายปีนี้มาเจอกับไวรัสโควิด-19 เป็นแรงหนุนเพิ่มปัญหาให้หนักเข้าไปอีก แต่ผู้ประกอบการต่างพยายามดิ้นรน หาหนทางรอดเพื่อสู้กับปัญหา หลายรายยังมองว่าทุกวิกฤติมีโอกาส หากมีกำลังใจและต่อสู้กับปัญหาอย่างเต็มที่ มาดูกันว่าตอนนี้ผู้ประกอบการอสังหาฯ  ใช้อะไรในการสู้กับวิกฤตครั้งนี้บ้าง เพอร์เฟค จับมือ วิริยะ มอบประกันโควิด-19    พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค มอบประกันคุ้มครองไวรัสโคโรนา โดย วิริยะประกันภัย สำหรับลูกค้าที่ซื้อบ้านและทาวน์โฮม รวมถึง ลูกค้าที่เข้าเยี่ยมชมทุกโครงการ ภายในเดือนเมษายนนี้ นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) มอบความคุ้มครองให้แก่ลูกค้าของ พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ด้วยแผนประกันโควิดชีลด์  ติดปุ๊ปรับปั๊ป เมื่อตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 รับเงินก้อนทันที 100,000 บาท หากนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลจากโควิด-19 มีค่าชดเชยรายวัน วันละ 300 บาท สูงสุด 14 วัน พร้อมคุ้มครองการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุอีก 100,000 บาท   โดยลูกค้าที่ซื้อบ้านและทาวน์โฮมที่โอนกรรมสิทธิ์ภายในเดือนเมษายนนี้ จะได้รับความคุ้มครองดังกล่าว เป็นระยะเวลา 1 ปี  เพื่อให้ความอุ่นใจในช่วงที่โควิด-19 มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว  นอกจากนี้ ลูกค้าที่เข้าเยี่ยมชมโครงการของพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ทุกโครงการ ภายในเดือนเมษายนนี้ จะได้รับสิทธิ์ความคุ้มครองนาน 30 วัน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หากตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 รับทันที 30,000 บาท พร้อมค่าชดเชยรายวันกรณีนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและประกันชีวิตด้วยเช่นกัน เป็นการส่งมอบความห่วงใยแก่ลูกค้าที่มีความกังวลเรื่องการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ LPN ให้พนักงาน Work from Home LPN ออกนโยบาย Work from Home ลดความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังพบอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะที่ผ่านมา เตรียมแผนรับมือและจัดตั้งทีมเฉพาะกิจ ให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้านได้อย่างราบรื่น เน้นย้ำเรื่องการสื่อสารในภาวะวิกฤต ต้องรวดเร็วและถูกต้อง   นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) เปิดเผยว่า  จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดทั่วโลกและมีอัตราการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศไทยในระยะเวลาที่ผ่านมา LPN ได้ติดตามและเฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด และเตรียมมาตรการ Work from Home เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้าน เป็นการลดความแออัดและลดโอกาสในการแพร่เชื้อ   โดยบริษัทได้ประกาศคิกออฟมาตรการดังกล่าว เริ่มต้นวันแรกในวันที่ 17 มีนาคม 2563 ซึ่งได้ลดสัดส่วนจำนวนพนักงานประจำสำนักงานใหญ่ให้เหลือ 50% สลับกับพนักงานที่ทำงานที่บ้าน โดยบริษัทได้เตรียมพร้อมในแง่ระบบการทำงาน มีการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความคล่องตัวในการสื่อสารและการประชุมร่วมกัน รวมถึงสนับสนุนอุปกรณ์การทำงาน เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในส่วนของสำนักงานขายและนิติบุคคลตามโครงการต่างๆ ยังปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ โดยมีแผนรองรับหากเกิดภาวะฉุกเฉิน   มาตรการ Work from Home 50% ในครั้งนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมของบริษัท หากประเทศไทยเข้าสู่ภาวะติดเชื้อโควิด-19 ระยะ 3 และจำเป็นต้องปิดสำนักงานทั้งหมด เพื่อให้ลูกค้าสามารถมั่นใจได้ว่า LPN จะยังคงดำเนินงานได้แบบไม่มีสะดุด จะยังคงให้บริการลูกค้าอย่างสมบูรณ์ที่สุด   ในส่วนของการดูแลพนักงานนั้น นอกเหนือจากนโยบาย Work from Home ที่ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของพนักงานแล้ว LPN ยังได้ยกเลิกระบบสแกนนิ้วที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ รวมถึงได้ทำการพ่นยาฆ่าเชื้อที่สำนักงานใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีระบบเฝ้าระวังและติดตามพร้อมให้การดูแลหากพนักงานติดเชื้อโควิด-19 และมีการซื้อประกันโควิด-19 ให้กับกลุ่มพนักงานผู้ปฏิบัติงานประจำโครงการต่างๆ อีกด้วย   ที่ผ่านมา บริษัทได้เชิญวิทยากรจากกรมคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข มาจัดอบรมแก่พนักงานและบริษัทในเครือ ในการดูแลตัวเอง และแนวทางการปฏิบัติหากเกิดกรณีพนักงานหรือเจ้าของร่วมในโครงการต่างๆ ติดเชื้อโควิด-19 จึงถือว่า LPN มีการเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ต่อสถานการณ์ขณะนี้ แสนสิริ ขายคอนโดฯ ออนไลน์ รับดีมานด์ลูกค้าช่วง COVID-19 แสนสิริ เปิดขายคอนโดฯ ออนไลน์ ผ่าน “Sansiri 24 Online Booking” รับไลฟ์สไตล์ลูกค้าในยุคดิจิทัล และดีมานด์ลูกค้าไม่ออกจากบ้านช่วง COVID-19 ขน 10 โปรเจ็กต์ 70 ยูนิตจัดราคาพิเศษ   นายปิติ จารุกำจร รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมและบริหารกลยุทธ์โครงการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้รุกตลาดผ่านกลยุทธ์การขายและบริการออนไลน์ “Sansiri 24 Online Booking” เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ลูกค้าในยุคดิจิทัล ตอบโจทย์ดีมานด์ในตลาดที่ยังมีอยู่สูง ซึ่งต้องการซื้อที่อยู่อาศัยพร้อมเข้าอยู่ได้ทันที ผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์ที่อำนวยความสะสวกให้กับลูกค้าได้ซื้อคอนโดฯพร้อมอยู่ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องออกจากบ้าน   รวมถึงเพิ่มโอกาสรองรับดีมานด์ลูกค้าช่วง COVID-19 อีกด้วย ซึ่งบริษัทยังจัดโปรโมชั่นราคาพิเศษ  ให้ลูกค้าเลือกซื้อยูนิตที่ชอบ และชมโครงการได้เสมือนกับมาที่โครงการ โดยมีเจ้าหน้าฝ่ายขายติดต่อกลับทันที เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกหลังการจอง โดยมีโครงการของแสนสิริเข้ารวม 10 โครงการ จำนวน 70 ยูนิตพิเศษ ซึ่งลูกค้าสามารถซื้อคอนโดฯ ได้ง่าย ทุกที่ตลอด 24 ชั่วโมง   “แสนสิริ ยังมีบริการ Sansiri Service เพื่อมอบประสบการณ์ดีที่แตกต่างแก่ลูกค้า โดยพร้อมดูแลตลอดทุกช่วงการอยู่อาศัย ที่ทำให้บ้านได้มากกว่าบ้าน ตั้งแต่บริการโอน ดูแลบริหารโครงการโดยพลัส พร็อพเพอร์ตี้ อุ่นใจมากกว่าด้วยบริการ LIV-24 ปลอดภัย 24 ชม. บริการ Move-In Experience เตรียมความพร้อมก่อนการเข้าอยู่อาศัยอย่างครบวงจรผ่าน และไลฟ์สไตล์พริวิเล็จมากมายจากแสนสิริ แฟมิลี่”  “อัลติจูด แจกประกันลูกค้าเยี่ยมชมโครงการ  “อัลติจูด ดีเวลลอปเม้นท์” รับมือไวรัสโควิด-19 เตรียมแจกประกันภัย สำหรับผู้เข้าชมโครงการ   นายชยพล หรรรุ่งโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัลติจูด ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ภายใต้แบรนด์ ‘ALTITUDE’ เปิดเผยว่า ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้แม้จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัว และจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กระทบกับทั้งประเทศไทยและทั่วโลก บริษัทฯ ได้ตระหนักและคำนึงถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมีการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา   โดยให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน จึงได้ซื้อประกันภัยโควิด-19 มอบให้กับพนักงาน และผู้เข้าเยี่ยมชมโครงการของอัลติจูด ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยผู้ต้องการเข้าชมโครงการต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ของบริษัท www.altiude.co.th เค.อี. เน้นความสะอาดสูงสุด รับมือโควิด-19 เค.อี.แลนด์ เน้นความสะอาดสูงสุด รับมือไวรัสโควิด-19 พร้อมออก 7 มาตรการให้พนักงานปฎิบัติ พร้อมเฝ้าระวัง-ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด    นางศุภานวิต เอี่ยมสกุลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เค.อี. และผู้บริหารกองทรัสต์ BKER เปิดเผยว่า บริษัทได้เตรียมมาตรการรับมือไวรัสโควิด-19 เพื่อสุขภาพและความปลอดภัย ของร้านค้า ผู้เช่า ลูกค้าที่มาใช้บริการศูนย์การค้า คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ (ซีดีซี)  เดอะ คริสตัล (เอกมัย-รามอินทรา, ราชพฤกษ์, ชัยพฤกษ์) เพลินนารี่ มอลล์, เดอะซีน (ทาวน์อินทาวน์)  อมอรินี่, แอมพาร์ค (จุฬา)  สัมมากร (รามคำแหง, ราชพฤกษ์, รังสิต) และพนักงานทุกคน   โดยออกประกาศมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยกำชับทุกหน่วยงานให้เข้มงวดและดำเนินมาตรการป้องกันสูงสุด ทั้งการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุม ตามที่กระทรวงสาธารณสุขและราชกิจจานุเบกษา ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 : COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตราย   สำหรับมาตรการการดูแลความสะอาดของสถานที่อย่างต่อเนื่อง มีดังนี้ 1.การฉีดพ่นทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อและการเช็ดทำความสะอาดบริเวณพื้นที่ส่วนกลาง 2.ให้บริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือในจุดต่างๆ บริเวณทางเข้า-ออกหน้าลิฟท์ บันไดเลื่อน ห้องน้ำ โดยเติมแอลกอฮอล์ไม่ให้ขาด 3.เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดจุดสัมผัสต่างๆ ในพื้นที่ที่ใช้ร่วมกัน เช่น ปุ่มลิฟท์โดยสาร ราวบันไดเลื่อน 4.ทำความสะอาดห้องน้ำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น ก๊อกน้ำ ชักโครก สายฉีดชำระ ทุกครึ่งชั่วโมง 5.จัดเตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดภายในห้องน้ำส่วนกลางให้มีเพียงพอ 6.กำหนดให้พนักงาน ร้านค้าผู้เช่า สวมหน้ากากอนามัย และหากพบมีอาการป่วย ไอ เป็นไข้ ให้หยุดปฏิบัติงานทันที โดยให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรักษาจนกว่าจะหาย หรือกรณีเดินทางกลับจากต่างประเทศจะให้หยุดงานเพื่อเฝ้าระวัง 14 วัน 7.กรณีฉุกเฉินหรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 นอกจากนี้ ยังมีการรณรงค์และขอความร่วมมือจากร้านค้าผู้เช่า โดยการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันเชื้อไวรัสดังกล่าว โดยร่วมกับทุกร้านค้าทำความสะอาดพื้นที่ภายในร้าน (Big Cleaning) เพื่อสร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ และพนักงานของร้านค้าผู้เช่าด้วย   ทั้งนี้ บริษัทฯ จะติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมในการเสริมมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับร้านค้าผู้เช่า ลูกค้าที่มาใช้บริการ และพนักงานทุกคนอย่างดีที่สุด เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปพร้อมกัน
เปิดแผน AWC รับมือโควิด-19  ซื้อประกันแจกพนักงาน-ลดค่าเช่าให้ร้านค้า50%

เปิดแผน AWC รับมือโควิด-19 ซื้อประกันแจกพนักงาน-ลดค่าเช่าให้ร้านค้า50%

AWC ช่วยเหลือลูกค้าและพนักงาน ลดค่าเช่าให้ผู้เช่าทุกโครงการโปรเจ็กต์รีเทล  50% ทุกโครงการรีเทล พร้อมขยายเวลารับส่งมอบงานลูกค้า และจัดทำประกันที่ดีที่สุดให้พนักงานทุกคน รับมือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศไทย   นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทย ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอีกขั้น บริษัทจึงได้ยกระดับมาตรการต่าง ๆ สำหรับการดำเนินงานในกลุ่มธุรกิจทั้งหมดของ AWC ทั้งด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย ความช่วยเหลือในการแบ่งเบาภาระของคู่ค้า ผู้เช่าในโครงการต่าง ๆ การปรับแนวทางในการดำเนินธุรกิจ การเพิ่มสวัสดิการคุ้มครองพนักงานของทั้งบริษัทเองและธุรกิจในกลุ่ม รวมถึงการสื่อสารทั้งระดับภายในและกับภายนอกองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พนักงาน พันธมิตรทางธุรกิจของเราทั้งผู้เช่า คู่ค้า ลูกค้า ชุมชนและสังคมในองค์รวม ผ่านพ้นสถานการณ์ยากลำบากนี้ไปด้วยกันอย่างดีที่สุด   โดยการยกระดับมาตรการรับมือสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ซื้อประกันคุ้มครองพนักงานกว่า 6,000 คน ในด้านทรัพยากรบุคคล   AWC ได้จัดทำประกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยเลือกแผนประกันที่ดีที่สุดให้กับพนักงานทั้งหมดกว่า 6,000 คน ทั้งส่วนของบริษัทเองและพนักงานโรงแรมทั้งหมดในกลุ่ม AWC และพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในโครงการต่าง ๆ ของ AWC เพิ่มเติมจากสวัสดิการปกติ เพื่อดูแลพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งยังกำหนดให้พนักงานปฏิบัติงานจากที่บ้านโดยพิจารณาสถานการณ์เป็นรายสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมจากการคาดการณ์ล่วงหน้าของ AWC   ขอให้พนักงานงดการเดินทางต่างประเทศ หากมีความจำเป็นให้แจ้งผู้บังคับบัญชาพิจารณาเป็นรายกรณี รวมถึงหลีกเลี่ยงการประชุมสัมมนาภายนอกและสถานที่ชุมชนหนาแน่น และงดรับนัดหมายประชุมและการพบปะโดยตรงกับบุคคลภายนอก โดยให้ใช้ช่องทางการสื่อสารผ่านระบบสารสนเทศต่าง ๆ และหากมีอาการป่วยให้รีบพบแพทย์และแจ้งผู้บังคับบัญชาทราบทันที ลดค่าเช่าให้ร้านค้า 50% ผู้เช่าในโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า (Retail and Wholesale)  AWC พิจารณามอบส่วนลดค่าเช่ารายเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 50% ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ให้กับผู้เช่าทุกราย ในทุกโครงการ เพื่อเป็นการดูแลพันธมิตรของเราให้ก้าวข้ามผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน จากมาตรการเข้มงวดเพิ่มเติมจากทางภาครัฐในการปิดสถานบริการ และงดจัดกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากมารวมตัวกันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งนี้ AWC จะพิจารณาแนวทางความช่วยเหลือตามความเหมาะสมของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และจะร่วมยืนหยัดรับมือทุกปัญหาเพื่อให้ผ่านพ้นสถานการณ์ยากลำบากนี้ไปด้วยกันอย่างดีที่สุด ผู้เช่าอาคารสำนักงาน (Office) AWC ยินดีที่จะมอบส่วนลด 20% สำหรับผู้เช่าปัจจุบันและพันธมิตรทางธุรกิจที่มองหาสำนักงานสำรองในโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ของ AWC ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย และมีมาตรการเข้มงวดด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยอย่างต่อเนื่อง พันธมิตรและคู่ค้าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการ AWC ได้ขยายเวลารับส่งมอบงานให้แก่พันธมิตรและคู่ค้าทุกรายที่ได้รับผลกระทบด้านห่วงโซ่อุปทานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดย AWC ยังคงเดินหน้าตามแผนระยะยาวในการสร้างเสริมศักยภาพของโครงการปัจจุบันและพัฒนาโครงการใหม่ ๆ อย่างไม่หยุดนิ่งตามแผนยุทธศาสตร์การเติบโตของ AWC รวมถึงวางแผนรองรับทางธุรกิจ (Business Continuity Plan) รวมถึงการจัดหาสำนักงานสำรองสำหรับตำแหน่งงานที่สำคัญ ให้พร้อมรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ด้วยการติดต่อสื่อสาร ประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตร และคู่ค้า พันธมิตรกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) AWC ร่วมกับพันธมิตรเครือโรงแรมระดับโลกทั้ง 6 รายได้แก่ แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์, ฮิลตัน, อินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ลส์ กรุ๊ป, บันยันทรี, มีเลีย และโอกุระ ดำเนินมาตรการด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อดูแลความปลอดภัยเรื่องสุขอนามัยภายในโครงการ ควบคู่กับสร้างความเชื่อมั่นให้กับแขกผู้เข้าพักและใช้บริการในโรงแรม โดยได้ออกมาตรการที่เหมาะสมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการยกเลิกเข้าพักในโรงแรมและการเลื่อนการจัดประชุมสัมมนา อีกทั้งการจัดแผนโปรแกรมทำความสะอาดใหญ่ทั่วทั้งบริเวณ (Big Cleaning) ในทุกโครงการเพิ่มเติมจากแผนการทำความสะอาดตามปกติ กลุ่มลูกค้า AWC ได้ยกระดับมาตรการด้านสุขอนามัยเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 และสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับพนักงาน พันธมิตรทางธุรกิจ ผู้เช่า ผู้เช่าพื้นที่ ลูกค้า และผู้ที่มาติดต่อกับโรงแรม ร้านค้าปลีก และศูนย์การค้าต่าง ๆ ทั่วประเทศที่อยู่ภายใต้การดูแล   AWC ได้ดำเนินมาตรการทั่วไปภายในอาคาร   โดยทำความสะอาดพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และพ่นสเปรย์น้ำยาฆ่าเชื้อในลิฟต์โดยสารทุก ๆ 30 นาที ติดตั้งเจลทำความสะอาดมือที่บริเวณทางเข้าและในพื้นที่ที่มีการสัญจรคับคั่งของอาคาร แจ้งให้ลูกค้า ผู้มาติดต่อ และพนักงานของหน่วยงานต่าง ๆ ล้างมือบ่อย ๆ บริการเจลทำความสะอาดมือ สบู่ และกระดาษชำระให้พร้อมใช้ในห้องน้ำเสมอ และจัดทำป้ายมาตรการการดูแลและสัญลักษณ์แจ้งจุดที่ให้บริการเจลทำความสะอาดมือได้โดยสะดวก   เพิ่มเติมมาตรการในจัดให้มีการทำความสะอาดครั้งใหญ่ (Big cleaning) ในทุกโครงการ ทุก 30 วัน วัดอุณหภูมิผู้เข้าอาคาร/โครงการทุกคน และจุดคัดกรองในทางเข้าออกของทุกโครงการ รวมทั้งสุ่มขอเปิดเผยข้อมูลเดินทาง การพบปะผู้คนจากเขตติดโรคติดต่ออันตรายกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามประกาศกระทรวง ข้อมูลการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของคนในครอบครัว และข้อมูลการพบปะผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในช่วง 14 วันที่ผ่านมา รวมทั้งประสานและขอความร่วมมือกับผู้เช่าในการกำหนดมาตรการภายในของหน่วยงานของผู้เช่าเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  กลุ่มผู้ถือหุ้น AWC ยังคงเดินหน้าตามกลยุทธ์เพื่อการเติบโตอย่างเต็มที่ มุ่งเน้นการลงทุนที่หลากหลายและสมดุลเชิงธุรกิจ (Balance and Diversified Portfolio) จึงทำให้ AWC สามารถบริหารความเสี่ยงจากการผันผวนและการเปลี่ยนแปลงของตลาดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อการท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรม  โดย AWC ยังคงมีกลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงานที่ไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งสามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง และดำเนินธุรกิจได้ตามแผนงานที่วางไว้อย่างเข้มงวดให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ด้านสังคมและชุมชน AWC จะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ อย่างอย่างเต็มกำลัง เพือกำหนดแนวทาง มาตรการ และนโยบายในการดำเนินการต่าง ๆ ให้ความสำคัญสูงสุดกับการดูแล ให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ไปได้อย่างดีที่สุด AWC ตระหนักดีว่าสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เราพร้อมที่จะดูแลผู้มีส่วนได้เสียของเราในทุกมิติ เพื่อร่วมฝ่าฟันและผ่านพ้นสถานการณ์ยากลำบากนี้ไปด้วยกันได้อย่างดีที่สุด  
5 ปัจจัยหนุนทำเลเตาปูน สู่ย่านใจกลางธุรกิจแห่งใหม่

5 ปัจจัยหนุนทำเลเตาปูน สู่ย่านใจกลางธุรกิจแห่งใหม่

ถ้าพูดถึงทำเลที่มีการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมหนาแน่น  นอกจากทำเลพื้นที่ย่านใจกลางเมือง หรือ ย่านใจกลางธุรกิจ อีกทำเลที่มีการพัฒนาคอนโดฯ​ อย่างหนาแน่น ก็คงเป็นทำเลตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ทั้งเส้นทางรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้ว และกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต  เพราะคนจะเลือกที่อยู่ทำเลไหน การเดินทางต้องมีความสะดวกสบายด้วย ซึ่งเรื่องของความสะดวกในการเดินทาง ถือเป็นตัวตัดสินใจอันดับแรกๆ ในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยเลยก็ว่าได้   สำหรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งมีการพัฒนาโครงการคอนโดฯ หนาแน่นแห่งหนึ่ง คงเป็นทำเลเตาปูน บริเวณรถไฟฟ้าสถานีเตาปูน อินเตอร์เชนจ์ ต่อเนื่องไปถึงสถานีบางโพ ยิ่งเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย จากสถานีเตาปูน-ท่าพระ ได้เริ่มทดลองวิ่งแล้ว ทำเลนี้น่าสนใจและเป็นที่จับตามอง ดีเวลลอปเปอร์หลายราย มองว่าทำเลนี้ในอนาคตจะถูกพัฒนาและกลายเป็นย่านใจกลางธุรกิจแห่งใหม่ จากปัจจัยบวกหลายประการ   หากพิจารณาถึงเหตุผลตอกย้ำทำเลเตาปูน คือ ย่านใจกลางธุรกิจแห่งใหม่ในอนาคตนั้น  คงจะมาจากเหตุผลสำคัญ 5 ประการ คือ 1.การพัฒนาโครงการ “สถานีกลางบางซื่อ” สถานีกลางบางซื่อ เป็นโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีเป้าหมายสำคัญเพื่อใช้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟ และรถไฟฟ้า ซึ่งมีการริเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2553 โดยขณะนั้นสถานีกลางบางซื่อ ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ซึ่งเดิมกำหนดให้มีโครงสร้างสถานีจำนวน 2 ชั้น ได้แก่ ชั้นรถไฟทางไกล และชั้นสำหรับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิส่วนต่อขยาย   ต่อมาในปี  2557 รัฐบาล คสช. และกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินโครงการต่อมา จากก่อนหน้าโครงการล่าช้าเพราะมีการปรับแบบก่อสร้างมาโดยตลอดเวลา  ซึ่งแบบสถานีกลางบางซื่อใหม่ที่ถูกปรับขึ้น ล่าสุด จะประกอบด้วย ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่สำหรับห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร ชั้นที่ 2 เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟที่ใช้รางขนาด 1.000 เมตร ประกอบด้วยรถไฟทางไกล 8 ชานชาลา และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 4 ชานชาลา และชั้นที่ 3 เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟที่ใช้รางขนาด 1.435 เมตร ประกอบด้วย รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  (Airport Rail Link) และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 4 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือ และรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายใต้ จำนวนสายละ 2 ชานชาลา รวมทั้งสิ้น 10 ชานชาลา (ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย)   ความสำคัญของสถานีกลางบางซื่อ คือ การเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งระบบรางที่เชื่อมโยงการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง จากกรุงเทพฯ สู่ภูมิภาค และภายในเขตกรุงเทพฯ​ และปริมณฑลเอง  ซึ่งมีขนาดใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถานีกลางบางซื่อจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักให้พื้นโดยรอบกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ ที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการอยู่อาศัย เพราะคาดว่าสถานีกลางบางซื่อจะมีผู้ใช้บริการ หมุนเวียนต่อวันมากถึง 200,000 คนเลยทีเดียว 2.จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสี “น้ำเงิน-ม่วง” นับตั้งแต่รถไฟฟ้าสายสีม่วง เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ในช่วงปี 2560 ทำเลเตาปูน ก็ได้รับความสนใจจากบรรดาดีเวลลอปเปอร์อย่างต่อเนื่อง หลายรายเข้ามาปักหมุดขึ้นโครงการ  นับตั้งแต่รู้ข่าวว่าจะมีเส้นทางรถไฟฟ้าด้วยซ้ำ และเมื่อมีการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง มาเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บริเวณสถานีเตาปูน อินเตอร์เชนจ์ ทำเลเตาปูน จึงกลายเป็นจุดเชื่อมต่อของเส้นทางรถไฟฟ้า ทั้งสองสีอย่างมีนัยสำคัญต่อการเดินทางของคนในกรุงเทพฯ และจังหวัดนนทบุรี   ที่สำคัญ การเริ่มเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน-ท่าพระ ตั้งแต่ปลายปี 2562 แม้จะเป็นช่วงเวลา 10.00-16.00 น. ก่อนจะขยายระยะเวลาให้บริการเป็น 06.00-24.00 น. ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะยังไม่ได้จัดเก็บค่าโดยสาร และจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารและเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการวันที่ 30 มีนาคม 2563 นี้  ทำเลเตาปูนจึงถือเป็นจุดเชื่อมต่อของการเดินทาง  ซึ่งทำให้คนมีความสะดวก ไม่ว่าจะไปทางทิศตะวันออก หรือไปทางทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ 3.การเดินทางครบเชื่อมโยงทั้งระบบ “ราง-รถ-เรือ” นอกจากย่านเตาปูน จะเป็นจุดเชื่อมต่อของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงแล้ว ในอนาคต ยังมีการพัฒนาระบบคมนาคม เชื่อมโยงระหว่างกันทั้งระบบราง รถ และเรือ  ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้ทำเลเตาปูน  จะกลายเป็นทำเลย่านใจกลางธุรกิจแห่งใหม่ในอนาคตได้ไม่ยาก ซึ่งแผนการพัฒนาระบบคมนาคม ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ -การพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เส้นทาง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ นอกจากเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ (สถานีคลองบางไผ่) ซึ่งเชื่อมโยงคนจากจังหวัดนนทบุรีเข้าสู่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ได้สะดวกสบายแล้วรถไฟฟ้าสายสีม่วง ยังมีแผนพัฒนาเส้นทางต่อเนื่องจากสถานีเตาปูน อินเตอร์เชนจ์ คือ เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร เงินลงทุน 101,112 ล้านบาท   แนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน–ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เริ่มต้นจากจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า สถานีเตาปูน อินเตอร์เชนจ์ เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนทหารผ่านแยกเกียกกาย ผ่านแยกบางกระบือ, แยกศรีย่าน เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน โครงข่ายในเมือง ช่วงบางบำหรุ–มักกะสันเข้าสู่ถนนสามเสนผ่านอาคารรัฐสภาใหม่ โรงเรียนราชินีบน กรมชลประทาน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ คลองบางลำพู เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระสุเมรุ ถนนราชดำเนินกลาง เลียบคลองรอบกรุงไปเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้มที่สถานีผ่านฟ้าลีลาศ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า เข้าสู่ถนนประชาธิปก ผ่านสี่แยกบ้านแขก เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้มช่วงหัวลำโพง–มหาชัยที่สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ และรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม ที่สถานีวงเวียนใหญ่ ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ลอดใต้แยกมไหสวรรย์ จากนั้นแนวเส้นทางจะเปลี่ยนยกระดับวิ่งไปตามกลางถนนสุขสวัสดิ์ ข้ามสะพานข้ามแยกพระราม 2 ผ่านสามแยกพระประแดงและสิ้นสุดที่ครุใน   -การพัฒนาท่าเรือบางโพ โฉมใหม่ เดิมบริเวณบางโพ มีท่าเรือบางโพคอยให้บริการอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ได้หยุดการใช้งานไป เพราะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน  หลังจากเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ทางกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ผู้ดูแลและรับผิดชอบโดยตรง จึงวางแผนปรับปรุงท่าเรือให้สอดรับกับระบบรถไฟฟ้า  และบริการประชาชนให้สามารถเดินทางเชื่อมต่อได้แบบครบวงจร  ทั้งทางถนน ระบบราง และทางเรือ   โดยกรมเจ้าท่าได้เตรียมขอจัดสรรงบประมาณปี 2564- 2565 ปรับปรุงท่าเรือบางโพ  ประกอบด้วยงาน 3 ส่วน คือการปรับปรุงและก่อสร้างท่าเทียบเรือ พร้อมโป๊ะเทียบเรือ ขนาด 6x12 เมตร จำนวน 2 ตัว การก่อสร้างอาคารพักผู้โดยสารรูปแบบไทยประยุกต์ 1 หลัง และลานหลังท่าเรือขนาด 200 ตารางเมตร  ซึ่งคาดว่าน่าจะดำเนินการก่อสร้างและแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการได้ในเดือนมิถุนายนปี 2565  ท่าเรือบางโพจึงถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ผลักดันให้ทำเลเตาปูนได้รับความสนใจมากขึ้น -การพัฒนาถนน เพิ่มช่องทางการเดินรถ ในช่วงปี 2565 บริเวณใกล้เคียงกับทำเลเตาปูน ยังจะมีการขยายถนนช่วงสามเสน-ประชาราษฎร์สาย 1 ขยายถนนทหาร เป็น 8  ช่องจารจร การสร้างถนนใหม่ ขนานกับถนนสามเสนเดิม ต่อเนื่องจากถนนกรุงเทพ-นนทบุรี บริเวณแยกเตาปูนไปบรรจบกับถนนพิชัย ซึ่งเป็นแนวเส้นทางเดียวกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ซึ่งจะทำให้ในอนาคตทำเลเตาปูน มีโครงข่ายของถนนเชื่อมโยงไปยังทำเลหรือพื้นที่อื่นๆ ได้มากมาย เป็นการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้กับคนในพื้นที่ หรือผู้ที่ต้องเดินทางเข้ามาในทำเลเตาปูน 4.แหล่งงาน สำคัญทั้งรัฐและเอกชน ทำเลเตาปูน ที่ผ่านมา อาจจะไม่ใช่ย่านใจกลางธุรกิจหนาแน่น เมื่อเปรียบเทียบกับย่านธุรกิจในทำเลอื่นๆ เพราะทำเลนี้ เป็นทำเลของการพักอาศัย ที่มีบ้านเรือนของคนกระจายอยู่ทั่วไป และเป็นแหล่งการค้าเก่าแก่ อย่างตลาดไม้บางโพ แหล่งค้าไม้และอุปกรณ์ ซึ่งอยู่มาอย่างยาวนาน  แต่ขณะเดียวกันย่านเตาปูน ก็มีสำนักงานเก่าแก่ ซึ่งก่อตั้งบริษัทมานานนับ 100 ปี อย่างเครือซีเมนต์ไทย  สำนักงานใหญ่ ซึ่งมีพนักงานจำนวนมาก ถือได้ว่าเป็นแหล่งงานสำคัญ ใกล้กับย่านเตาปูนเลยก็ว่าได้   ในอนาคตย่านเตาปูน จะกลายเป็นทำเลใกล้กับแหล่งงานขนาดใหญ่ ทั้งภาครัฐและเอกชน  เพราะปัจจุบันมีโครงการและหน่วยงาน ที่เปิดให้บริการและกำลังจะเปิดบริการในอนาคต  ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภาแห่งใหม่  สถานีกลางบางซื่อ  ศูนย์การค้าเกตเวย์ แอท บางซื่อ และสำนักงานเขตบางซื่อ นี่ยังไม่นับรวมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลต่างๆ ที่ตั้งอยู่โดยรอบของทำเลเตาปูนอีกมากมายด้วย 5.ชุมชนเก่าสู่โลกการค้ายุคใหม่ ย่านเตาปูน มีตลาดเก่าแก่ที่อยู่ในพื้นที่ คือ ถนนสายไม้ ซึ่งอยู่ในซอยประชานฤมิตร  แหล่งรวมของสินค้าประเภทไม้ เฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์  ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป หากนึกถึงหรือต้องการจะซื้อสินค้าประเภทไม้  มักจะต้องเดินทางมาที่ซอยประชานฤมิตร  บรรดาร้านค้าไม้และสินค้าประเภทไม้ ในซอยประชานฤมิตร คาดว่าจะอยู่คู่กับทำเลเตาปูนมายาวนานมากว่า 50 ปี   แต่จากการพัฒนาของระบบคมนาคม โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งทำให้การเดินทางสะดวกสบาย เกิดแหล่งชุมชนที่พักอาศัยใหม่เพิ่มขึ้น  ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกออกมารองรับ  อย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ ศูนย์การค้า หรือช้อปปิ้งมอลล์ เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ของคนอยู่ในทำเลนั้น ต้องใช้บริการเพื่อซื้อสินค้าใช้หรือบริโภค   ตอนนี้ทำเลเตาปูนมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่เกิดขึ้นแล้ว คือ ศูนย์การค้าเกตเวย์ แอท บางซื่อ (Gateway at Bangsue) ที่บริษัท แอสเสท เวิรด์ รีเทล จำกัด ในเครือของ แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น ได้ลงทุน 4,000 ล้านบาท พัฒนาโครการขึ้นมาบนเนื้อที่กว่า 10 ไร่ รองรับการมาของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง จุดเชื่อมต่อสำคัญของทำเลเตาปูน ซึ่งศูนย์การค้าเกตเวย์ แอท บางซื่อเปิดให้บริการมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561   อนาคตไม่นานจากนี้ คนที่อยู่ในทำเลเตาปูน ยังจะมีแหล่งช้อปปิ้งใหม่ ซึ่งอยู่ในบริเวณสถานีกลางบางซื่อ เพราะภายในโครงการนอกจากจะเป็นจุดเชื่อมต่อของเส้นทางคมนาคมต่างๆ แล้ว ยังมีพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะมีร้านค้าต่างๆ เปิดให้บริการด้วย ส่วนจะมีร้านค้าอะไรบ้างนั้น อดใจรออีกไม่นานคงได้เห็นกัน   และนี่คงเป็น 5 ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ทำเลเตาปูน มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ในอนาคต หากโครงการต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชนพัฒนาออกมาแล้วเสร็จ  โฉมหน้าของย่านเตาปูน รวมถึงทำเลใกล้เคียงคงเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันอย่างมาก
สิงห์ เอสเตท ได้ยอดขายบ้านและคอนโดฯ ดันรายได้รวมปี 62 พุ่งกว่า 1.2 หมื่นล้าน

สิงห์ เอสเตท ได้ยอดขายบ้านและคอนโดฯ ดันรายได้รวมปี 62 พุ่งกว่า 1.2 หมื่นล้าน

สิงห์ เอสเตท เผยผลประกอบการปี 62 เติบโตสูงต่อเนื่อง ทำรายได้รวมโต 63% จำนวนกว่า12,275 ล้าน หลังจากยอดขายบ้านและคอนโดฯ สูงขึ้น 104% ขณะที่สร้างกำไรสุทธิราว 1,200 ล้าน   นายนริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ “S” เปิดเผย ถึงผลการดำเนินงานประจำปี 2562 ว่า สิงห์ เอสเตท มีรายได้รวมทั้งสิ้น 12,275 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ประกอบด้วยบ้าน ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดมิเนียมรวม 7,385 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 104% รายได้จากการให้เช่าและบริการ 4,805 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% และรายได้จากการขายสินค้า 85 ล้านบาท ลดลง 32%   โดยรายได้จากการให้เช่าและบริการ ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจโรงแรม 3,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48%จากปีก่อน เนื่องจากการรับรู้รายได้เต็มปีของโรงแรมภายใต้แบรนด์ Outrigger จำนวน 6 แห่ง ที่บริษัทฯ ซื้อกิจการเข้ามาเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 และการเปิดโรงแรมใหม่ 2 แห่งในโครงการ CROSSROADS (ครอสโร้ดส์) ที่มัลดีฟส์  ขณะเดียวกัน รายได้จากการเช่าพื้นที่สำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกเพิ่มขึ้น 13% เป็น 759 ล้านบาท จากการเปิดอาคารสิงห์ คอมเพล็กซ์ ช่วงปลายปี 2561 สิงห์ เอสเตท มีกำไรขั้นต้นจากการดำเนินงาน 5,033 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55% จากปี 2561 และอัตรากำไรขั้นต้นสำหรับปี 2562 เท่ากับ 41% ลดลงจาก 43% ในปี 2561 เป็นผลจากธุรกิจโรงแรมที่อัตรากำไรในช่วงแรกของโรงแรมในโครงการ CROSSROADS ที่มัลดีฟส์ ยังไม่สูงนัก เนื่องจากการเปิดธุรกิจโรงแรมใหม่ซึ่งปกติอัตรากำไรขั้นต้นจะค่อยๆ สูงขึ้นตามลำดับ และใช้เวลาในการดำเนินธุรกิจประมาณ 2-3 ปี จึงจะเห็นอัตรากำไรสำหรับการดำเนินกิจการในระยะยาว   ในขณะที่สิงห์ เอสเตท มีกำไรสุทธิในปี 2562 เท่ากับ 1,209 ล้านบาท ลดลง 16% เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลง ดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากการขยายกิจการและภาษีสูงขึ้นจากการโอนโครงการที่อยู่อาศัยมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR ได้คืนเงินกู้เพื่อซื้อกิจการโรงแรม Outrigger จำนวน 5,357.8 ล้านบาท จากการเพิ่มทุนได้สำเร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ส่งผลให้หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยของบริษัทฯ ลดลง   “ปี 2562 เป็นปีที่ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยของสิงห์ เอสเตท เติบโตมากกว่าเท่าตัว ถึงแม้ว่าสภาวะตลาดอสังหาฯ โดยรวมยังคงเผชิญความท้าทายในหลายๆ ด้าน บริษัทเริ่มโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในโครงการ ดิ เอส แอท สิงห์ คอมเพล็กซ์ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และโอนโครงการ ดิ เอส อโศก และบันยันทรี เรสซิเดนซ์ ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ ที่พัฒนาโดยบริษัทในเครืออย่าง เนอวานา ไดอิ ได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย นอกจากนี้เรายังมี Backlog ที่จะโอนในปี 2563 มากกว่า 6,000 ล้านบาท” ส่วนธุรกิจโรงแรมทั้งหมดของบริษัทอยู่ภายใต้การบริหารงานของ SHR ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของสิงห์ เอสเตท สามารถระดมทุนจากการขายหุ้นเพิ่มทุนให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial public offering) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2562   SHR ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีการลงทุนในโรงแรม 39 แห่ง มีจำนวนห้องพัก 4,647 ห้อง ครอบคลุม 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย มัลดีฟส์ ฟิจิ มอริเชียส และสหราชอาณาจักร โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมที่บริหารเองในปี 2562 เท่ากับ 72% กลุ่มโรงแรม Outrigger 78% โรงแรมในสหราชอาณาจักร 70% และโรงแรมในโครงการ CROSSROADS 34% และรายได้ต่อห้องพักต่อคืน (Revenue per available rooms) ของโรงแรมที่บริหารเองในปี 2562 เท่ากับ 5,591 บาท กลุ่มโรงแรม Outrigger 4,691 บาท โรงแรมในสหราชอาณาจักร 1,851 บาท และโรงแรมในโครงการ CROSSROADS 4,262 บาท   เมื่อปลายปี 2562 SHR ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับบริษัท Wai Eco World Developer Pte Ltd (WEWD)  กลุ่มธุรกิจใหญ่จากประเทศเมียนมาร์ที่ดำเนินธุรกิจหลากหลาย อาทิ อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม อาหารและเครื่องดื่ม และเหมืองแร่ เพื่อพัฒนาไลฟสไตล์รีสอร์ทระดับไฮเอนด์ (High-end Lifestyle Resort) บนเกาะ 3 ในโครงการ CROSSROADS ประเทศมัลดีฟส์ โดยรีสอร์ทแห่งใหม่นี้จะมีห้องพักในรูปแบบวิลล่า 80 ห้อง ระดับราคา 900-1,000 เหรียญสหรัฐต่อคืน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 และเปิดดำเนินการในปี 2565 ทั้งนี้การจำหน่ายหุ้น 50% ของบริษัท Prime Location Management 3 Limited ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนได้แล้วเสร็จไปเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2563 การได้พันธมิตรที่ดีอย่าง WEWD มาเสริมความแข็งแกร่งทั้งในด้านธุรกิจและด้านการเงินในครั้งนี้ ทำให้เรามั่นใจว่าโครงการ CROSSROADS  ประเทศมัลดีฟส์ เกาะ 3 จะประสบความสำเร็จและเปิดดำเนินการตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างแน่นอน   นอกจากนี้ บริษัท ได้รับโอนสิทธิการเช่าที่ดินและเข้าซื้ออาคารสำนักงานเมโทรโพลิส บริเวณใกล้กับสถานี BTS พร้อมพงษ์ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 26,157 ตารางเมตร มูลค่า 1,725 ล้านบาท เมื่อต้นเดือนมกราคม ที่ผ่านมา และมีความประสงค์จะขายสิทธิการเช่าที่ดินและอาคารดังกล่าวให้กองทรัสต์ S Prime Growth Leasehold Real Estate Trust (SPRIME) ในลำดับถัดไป   “ปี 2563 ถือเป็นก้าวสำคัญของสิงห์ เอสเตท ที่จะต่อยอดการเติบโตจากฐานธุรกิจในรูปแบบ Global Holding Company อย่างสมบรูณ์แบบ นอกเหนือจากการลงทุนขยายธุรกิจในทุกมิติอย่างยั่งยืนแล้ว (Sustainable Growth)สิงห์ เอสเตท จะเริ่มพัฒนาธุรกิจใหม่อย่างพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ที่จะเริ่มดำเนินการในปีนี้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในตลาดโลกและสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม”     ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 สิงห์ เอสเตท มีสินทรัพย์รวม 67,681 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,751 ล้านบาท จากสิ้นปี 2561 แบ่งเป็น สินทรัพย์หมุนเวียน 24,087 ล้านบาท และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน 43,594 ล้านบาท ในส่วนของหนี้สินรวม มีมูลค่า 40,085 ล้านบาท โดยมีอัตราหนี้สินทีมีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่เพียง 0.77 เท่า ด้วยอัตราหนี้สินที่ต่ำเช่นนี้ ถือได้ว่าบริษัทมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและพร้อมสำหรับการเติบโตอย่างต่อเนื่อง   ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 2/2562 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 อนุมัติการนำเสนอการจ่ายเงินปันผลในอัตรา 0.045 บาทต่อหุ้น จากกำไรสุทธิของผลประกอบการระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2562 โดยมีกำหนด Record Date วันที่ 7 พฤษภาคม 2563 และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 ซึ่งมติการจ่ายเงินปันผลนี้ จะต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2563 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 27 เมษายน 2563  
ORI สร้างยอดขายปี 2562 เติบโตกว่า 29,000 ล้านบาท

ORI สร้างยอดขายปี 2562 เติบโตกว่า 29,000 ล้านบาท

ออริจิ้น สร้างผลงานปี 62 คว้ากำไรสุทธิ 3,027 ล้านบาท หลังเปิดโครงการไป 20 โครงการ มูลค่ากว่า 24,200 ล้านบาท พร้อมกวาดยอดขายกว่า 29,000 ล้าน สูงกว่าเป้าหมาย ตุนแบ็คล็อกกว่า 41,000 ล้านสร้างรายได้ต่อเนื่องใน 3 ปี    นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI   เปิดเผยว่า แม้ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2562 จะถือเป็นช่วงปรับฐาน แต่บริษัทยังคงความสามารถในการรักษาระดับกำไรและอัตราการทำกำไรไว้ได้ดี โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,027 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนความสามารถในการบริหารต้นทุนขายได้ดี ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 43.5% รวมถึงการบริหารค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น จนสามารถทำอัตรากำไรสุทธิได้ถึง 21.4% ซึ่งถือเป็นอัตรากำไรที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับภาพรวมของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเผชิญมรสุมสงครามราคาในภาวะตลาดอสังหาฯหดตัว   ด้วยความตั้งใจของทีมงาน ผนวกกับการปรับกลยุทธ์และการวางแผนงาน เลือกเจาะตลาดลูกค้าได้ถูกกลุ่ม ทำให้บริษัทสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีราคาขายไม่แพง มีความสามารถสู้กับตลาดในภาวการณ์แข่งขันที่สูง จนทำให้สร้างยอดขายในโครงการที่เปิดใหม่ในปีที่ผ่านมาเฉลี่ยสูงถึงกว่า 76% ขณะเดียวกัน ด้วยคุณภาพของโครงการภายใต้แบรนด์ต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคให้ความไว้วางใจ และยังคงทยอยโอนกรรมสิทธิ์ สร้างทั้งรายได้และกำไรกลับเข้าสู่บริษัทอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผลการขยายธุรกิจใหม่ในส่วนรายได้จากธุรกิจบ้านจัดสรรที่เติบโตจากปี 2561 กว่า 200% ทำให้มี Contribution ในผลประกอบการ ปี 2562 ราว 1,500 ล้านบาท หรือ 11% ของรายได้รวม   รวมถึงการกระจายความเสี่ยงในการสร้างธุรกิจบริการในกลุ่มบริษัท พรีโม ที่เติบโตกว่า 30% และรุกคืบขยายไปสู่ธุรกิจสร้างรายได้ประจำ หรือ Recurring income ที่สามารถสร้างโรงแรมใหม่ ในทำเลทองอย่าง ทองหล่อ และ ศรีราชา เสร็จก่อนกำหนดในปี 2562 ที่ผ่านมา และจะเริ่มเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในไตรมาส 2 ปีนี้   ทั้งนี้ ในปี 2562 บริษัทเปิดตัวโครงการใหม่ไปทั้งสิ้น 20 โครงการ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 24,200 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการบ้าน 4 โครงการ มูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท และโครงการคอนโดมิเนียม 16 โครงการ มูลค่ารวม 18,200 ล้านบาท ขณะเดียวกัน บริษัทมียอดขายในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 28,942 ล้านบาท และมีรายได้รวมอยู่ที่ 14,122 ล้านบาท ตุนแบ็คล็อก 3 ปี 41,000 ล้านสร้างรายได้ นายพีระพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับปี 2563 บริษัทมั่นใจว่าจะยังคงสามารถรักษาประสิทธิภาพของอัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิได้ในระดับเดิม โดยในปี 2563 บริษัทมีโครงการคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่หลายโครงการที่มีแผนรับรู้รายได้ต่อเนื่อง และที่จะทยอยสร้างเสร็จและรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการไนท์บริดจ์ ไพรม์ สาทร มูลค่าโครงการ 3,900 ล้านบาท โครงการไนท์บริดจ์ ไพรม์ รัชโยธิน มูลค่าโครงการ 1,680 ล้านบาท โครงการไนท์บริดจ์ ไพรม์ อ่อนนุช มูลค่าโครงการ 2,600 ล้านบาท โครงการไนท์บริดจ์ คอลลาจ รามคำแหง มูลค่าโครงการกว่า 2,054 ล้านบาท โครงการไนท์บริดจ์ สเปซ รัชโยธิน มูลค่าโครงการกว่า 2,700 ล้านบาท และโครงการไนท์บริดจ์ เกษตรโซไซตี้ มูลค่าโครงการกว่า 1,300 ล้านบาท โดยปัจจุบันบริษัทมีแบ็คล็อกพร้อมทยอยรับรู้รายได้ต่อเนื่องกว่า 3 ปีสูงถึงกว่า 41,000 ล้านบาท   นอกจากนี้ บริษัทจะเริ่มมีการรับรู้รายได้จากธุรกิจโรงแรมที่เปิดให้บริการในปี 2563 จำนวน 2 โรงแรมได้แก่ ได้แก่ โรงแรมสเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก ทองหล่อ และโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ แอนด์ สวีทส์ ศรีราชา แหลมฉบัง รวม 650 ห้องพัก ซึ่งจะช่วยเพิ่มพอร์ตการรับรู้รายได้ให้แก่บริษัท ผนึกพันธมิตรสร้างรายได้และโอกาสทางธุรกิจ ขณะที่ไตรมาส 4 ปี 2562 กลุ่มธุรกิจโรงแรมได้จับมือกับพันธมิตรใหม่ โดย บริษัท วัน ออริจิ้น จำกัด ได้เข้าร่วมทุนกับพันธมิตรรายใหม่ชื่อ CI:Z Limited Liability Partnership ซึ่งเป็นนักลงทุนสัญชาติญี่ปุ่น โดยการขายหุ้น บริษัท วัน สุขุมวิท 59 จำกัด ซึ่งจะพัฒนาโครงการ Intercontinental Bangkok Thonglor ร่วมกันต่อไป   ทั้งนี้บริษัทยังคงมองเห็นโอกาสในการเติบโตจากธุรกิจหลัก รวมทั้งในธุรกิจใหม่ๆ และยังเปิดรับพันธมิตรใหม่ๆ มาร่วมทุนและร่วมขับเคลื่อนแพลทฟอร์มในทุกกลุ่มธุรกิจของบริษัท โดยบริษัทจะเปิดเผยแผนธุรกิจประจำปี 2563 ของทุกกลุ่มบริษัทในเครือในวันที่ 4 มี.ค.นี้   ในปี 2562 บริษัท มีการร่วมทุนกับพันธมิตรเดิม และ พันธมิตรใหม่เพิ่มเติม อันได้แก่  1.บริษัท โนมูระ เรียลเอสเตท ดีเวลล็อปเมนท์ จํากัด เพื่อพัฒนาโครงการ “พาร์ค ออริจิ้น จุฬา-สามย่าน” 2.บริษัท เอสคอน เจแปน (ประเทศไทย) จํากัด เพื่อพัฒนาโครงการ “ไนท์บริดจ์ สุขุมวิท-เทพารักษ์” 3.บริษัท ดุสิตธานี จํากัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาโครงการ “เดอะ แฮมป์ตัน ศรีราชา บาย ออริจิ้น แอนด์ ดุสิต” และ 4.CI:Z Limited Liability Partnership จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาโรงแรมระดับไฮเอนด์ต่อไป ทุกกลุ่มบริษัทในเครือจะยังคงเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทในปีนี้ ทั้งกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมอย่างธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อการขาย ไปจนถึงธุรกิจใหม่ๆ อย่างธุรกิจที่สร้างรายได้ต่อเนื่อง ธุรกิจบริการ เพื่อสร้างความยั่งยืนกลับมาสู่บริษัท   นายพีระพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติเห็นชอบให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญจ่ายปันผลสำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทรอบหกเดือนหลัง ของปี 2562 ในอัตรา 0.29 บาทต่อหุ้น หรือ คิดเป็น Dividend Yield กว่า 9% จากราคาปิดเมื่อวานนี้ เป็นเงินปันผลจ่ายทั้งสิ้นไม่เกิน 711.33 ล้านบาท โดยบริษัทจะจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสด โดยกำหนดในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เป็นวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) และกำหนดจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นภายในวันที่ 29 พฤษภาคม​ 2563  
โกลเด้นแลนด์ กวาดรายได้และกำไร โตสวนกระแสตลาดชะลอตัว

โกลเด้นแลนด์ กวาดรายได้และกำไร โตสวนกระแสตลาดชะลอตัว

โกลเด้นแลนด์ เผยผลประกอบการปี 2562 ทำรายได้รวม 17,168 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.6% พร้อมทำกำไร  2,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3%  เหตุทุกธุรกิจเติบโตถ้วนหน้า ทั้งที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และศูนย์การค้า ส่วนปี 2563 เดินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ฝ่าวิกฤตตลาดชะลอตัว   นายธนพล ศิริธนชัย ประธานอำนวยการ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ เปิดเผยว่า บริษัทมีรายได้หลักจากการขายอสังหาริมทรัพย์รวม 15,305 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,268 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยประสบความสำเร็จทั้งโครงการใหม่ที่เริ่มเปิดขายและโอนในระหว่างปี 2562 รวมถึง โครงการเดิมที่ยังขาย และโอนได้อย่างต่อเนื่อง โดยยอดขายบ้านนีโอโฮม ราคา 5-8 ล้านบาท มีสัดส่วนสูงขึ้นอย่างชัดเจน รวมถึงยอดขายจากการขยายโครงการไปต่างจังหวัด     ในขณะที่รายได้ค่าเช่าและรายได้อื่นๆ งวด 12 เดือน (1 มกราคม 2562  – 31 ธันวาคม 2562) มีรายได้รวม 1,863 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 89 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการรับรู้รายได้จากการให้เช่าในอาคารสำนักงาน  ที่บริษัทบริหารพื้นที่ มีอัตราการเช่าสูงกว่า 95% ทุกอาคาร และมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจโรงแรม   ส่วนโครงการสามย่านมิตรทาวน์ที่แล้วเสร็จในปีที่ผ่านมา  ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ มีอัตราการเช่าแล้ว 95% ส่วนพื้นที่อาคารสำนักงาน มิตรทาวน์ ออฟฟิศ ทาวเวอร์ มีอัตราการเช่าแล้ว 75% มีผู้เช่าทยอยเข้าตกแต่ง  และส่วนที่พักอาศัย ทริปเปิ้ล วาย เรสซิเด้นซ์ มีอัตราการขายสิทธิการเช่า 75% และทริปเปิ้ล วาย โฮเทล ที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 45%   “จากผลประกอบการรอบ 12 เดือน ปี 2562 ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า เรายังทำได้ดีตามเป้าหมาย ซึ่งเป็นผลจากการเลือกพัฒนาโครงการบนทำเลที่มีความต้องการต่อเนื่อง และราคาสินค้าตอบโจทย์กำลังซื้อของกลุ่มลูกค้า แม้ว่าจะเผชิญความท้าทายจากหลายปัจจัยภายนอกที่กระทบกับตลาดที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะ 6 เดือนสุดท้ายของปี 2562 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมเข้มสินเชื่อ LTV”     ขณะที่ทิศทางของโครงการเชิงพาณิชย์ ตลาดอาคารสำนักงานยังไปได้ดี สะท้อนจากอัตราการเช่าพื้นที่ทุกอาคารของโกลเด้นแลนด์ และอาคารสำนักงานให้เช่าแห่งใหม่ล่าสุดในโครงการสามย่านมิตรทาวน์ มิตรทาวน์ ออฟฟิศ ทาวเวอร์ ที่มียอดผู้เช่าในสัดส่วนที่สูง แม้ว่าอาคารจะเพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ที่ยังคงมีผู้ใช้บริการสูงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา และมีอัตราผู้เช่าสูงตามเป้าหมาย   สำหรับภาพรวมธุรกิจในปี 2563 ในส่วนของธุรกิจที่อยู่อาศัย โกลเด้นแลนด์ได้มีการปรับกลยุทธ์ให้เติบโตอย่างระมัดระวัง ในการฝ่าภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว เช่น การบริหารค่าใช้จ่ายในการขาย รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและใช้ทรัพยากร บริษัทฯ คาดการณ์การแข่งขันในปีนี้จะยังรุนแรงเช่นเดิมโดยเฉพาะตลาดบ้านแนวราบ จากการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายหันมาให้ความสำคัญกับตลาดนี้แทนที่ตลาดคอนโดมิเนียม   ส่วนธุรกิจเชิงพาณิชย์ อาคารสำนักงานที่อยู่ใจกลางเมือง เดินทางสะดวก ติดรถไฟฟ้าจะยังได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้เช่าภาคธุรกิจต่างๆ ส่วนธุรกิจศูนย์การค้าใจกลางเมือง นอกจากร้านค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการแล้ว การจัดอีเวนท์อย่างต่อเนื่องก็จะดึงกลุ่มลูกค้าได้ดี   อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง “สามย่านมิตรทาวน์” เปิดพื้นที่ 24 ชั่วโมง ให้คนกรุงใช้ชีวิตทั้งวันทั้งคืน “กิน ดื่ม ทำงาน และออกกำลังกาย” 19 ร้านคอนเซ็ปต์ “ใหม่” ในสามย่านมิตรทาวน์ [PR News] โกลเด้นแลนด์ เปิดอาณาจักร GOLDEN EMPIRE แจ้งวัฒนะขายหมดภายใน 2 วัน เปิด 5 ไฮไลท์ “MITRTOWN OFFICE TOWER” ออฟฟิศให้เช่า พระราม 4 5 เหตุผล “โกลเด้นแลนด์” ปักหมุดเชียงรายปั้น โกลเด้น เอ็มไพร์ 2,600 ล้าน