Lo Feature 250220 610x336

5 ปัจจัยหนุนทำเลเตาปูน สู่ย่านใจกลางธุรกิจแห่งใหม่

ถ้าพูดถึงทำเลที่มีการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมหนาแน่น  นอกจากทำเลพื้นที่ย่านใจกลางเมือง หรือ ย่านใจกลางธุรกิจ อีกทำเลที่มีการพัฒนาคอนโดฯ​ อย่างหนาแน่น ก็คงเป็นทำเลตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ทั้งเส้นทางรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้ว และกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต  เพราะคนจะเลือกที่อยู่ทำเลไหน การเดินทางต้องมีความสะดวกสบายด้วย ซึ่งเรื่องของความสะดวกในการเดินทาง ถือเป็นตัวตัดสินใจอันดับแรกๆ ในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยเลยก็ว่าได้

 

สำหรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งมีการพัฒนาโครงการคอนโดฯ หนาแน่นแห่งหนึ่ง คงเป็นทำเลเตาปูน บริเวณรถไฟฟ้าสถานีเตาปูน อินเตอร์เชนจ์ ต่อเนื่องไปถึงสถานีบางโพ ยิ่งเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย จากสถานีเตาปูน-ท่าพระ ได้เริ่มทดลองวิ่งแล้ว ทำเลนี้น่าสนใจและเป็นที่จับตามอง ดีเวลลอปเปอร์หลายราย มองว่าทำเลนี้ในอนาคตจะถูกพัฒนาและกลายเป็นย่านใจกลางธุรกิจแห่งใหม่ จากปัจจัยบวกหลายประการ

 

หากพิจารณาถึงเหตุผลตอกย้ำทำเลเตาปูน คือ ย่านใจกลางธุรกิจแห่งใหม่ในอนาคตนั้น  คงจะมาจากเหตุผลสำคัญ 5 ประการ คือ

1.การพัฒนาโครงการ “สถานีกลางบางซื่อ”

Bangsue Station

สถานีกลางบางซื่อ เป็นโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีเป้าหมายสำคัญเพื่อใช้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟ และรถไฟฟ้า ซึ่งมีการริเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2553 โดยขณะนั้นสถานีกลางบางซื่อ ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ซึ่งเดิมกำหนดให้มีโครงสร้างสถานีจำนวน 2 ชั้น ได้แก่ ชั้นรถไฟทางไกล และชั้นสำหรับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิส่วนต่อขยาย

 

ต่อมาในปี  2557 รัฐบาล คสช. และกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินโครงการต่อมา จากก่อนหน้าโครงการล่าช้าเพราะมีการปรับแบบก่อสร้างมาโดยตลอดเวลา  ซึ่งแบบสถานีกลางบางซื่อใหม่ที่ถูกปรับขึ้น ล่าสุด จะประกอบด้วย ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่สำหรับห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร ชั้นที่ 2 เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟที่ใช้รางขนาด 1.000 เมตร ประกอบด้วยรถไฟทางไกล 8 ชานชาลา และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 4 ชานชาลา และชั้นที่ 3 เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟที่ใช้รางขนาด 1.435 เมตร ประกอบด้วย รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  (Airport Rail Link) และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 4 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือ และรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายใต้ จำนวนสายละ 2 ชานชาลา รวมทั้งสิ้น 10 ชานชาลา (ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย)

 

ความสำคัญของสถานีกลางบางซื่อ คือ การเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งระบบรางที่เชื่อมโยงการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง จากกรุงเทพฯ สู่ภูมิภาค และภายในเขตกรุงเทพฯ​ และปริมณฑลเอง  ซึ่งมีขนาดใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถานีกลางบางซื่อจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักให้พื้นโดยรอบกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ ที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการอยู่อาศัย เพราะคาดว่าสถานีกลางบางซื่อจะมีผู้ใช้บริการ หมุนเวียนต่อวันมากถึง 200,000 คนเลยทีเดียว

2.จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสี “น้ำเงิน-ม่วง”

Buleline

นับตั้งแต่รถไฟฟ้าสายสีม่วง เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ในช่วงปี 2560 ทำเลเตาปูน ก็ได้รับความสนใจจากบรรดาดีเวลลอปเปอร์อย่างต่อเนื่อง หลายรายเข้ามาปักหมุดขึ้นโครงการ  นับตั้งแต่รู้ข่าวว่าจะมีเส้นทางรถไฟฟ้าด้วยซ้ำ และเมื่อมีการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง มาเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บริเวณสถานีเตาปูน อินเตอร์เชนจ์ ทำเลเตาปูน จึงกลายเป็นจุดเชื่อมต่อของเส้นทางรถไฟฟ้า ทั้งสองสีอย่างมีนัยสำคัญต่อการเดินทางของคนในกรุงเทพฯ และจังหวัดนนทบุรี

 

ที่สำคัญ การเริ่มเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน-ท่าพระ ตั้งแต่ปลายปี 2562 แม้จะเป็นช่วงเวลา 10.00-16.00 น. ก่อนจะขยายระยะเวลาให้บริการเป็น 06.00-24.00 น. ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะยังไม่ได้จัดเก็บค่าโดยสาร และจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารและเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการวันที่ 30 มีนาคม 2563 นี้  ทำเลเตาปูนจึงถือเป็นจุดเชื่อมต่อของการเดินทาง  ซึ่งทำให้คนมีความสะดวก ไม่ว่าจะไปทางทิศตะวันออก หรือไปทางทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ

3.การเดินทางครบเชื่อมโยงทั้งระบบ “ราง-รถ-เรือ”

นอกจากย่านเตาปูน จะเป็นจุดเชื่อมต่อของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงแล้ว ในอนาคต ยังมีการพัฒนาระบบคมนาคม เชื่อมโยงระหว่างกันทั้งระบบราง รถ และเรือ  ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้ทำเลเตาปูน  จะกลายเป็นทำเลย่านใจกลางธุรกิจแห่งใหม่ในอนาคตได้ไม่ยาก ซึ่งแผนการพัฒนาระบบคมนาคม ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่

-การพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เส้นทาง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ

นอกจากเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ (สถานีคลองบางไผ่) ซึ่งเชื่อมโยงคนจากจังหวัดนนทบุรีเข้าสู่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ได้สะดวกสบายแล้วรถไฟฟ้าสายสีม่วง ยังมีแผนพัฒนาเส้นทางต่อเนื่องจากสถานีเตาปูน อินเตอร์เชนจ์ คือ เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร เงินลงทุน 101,112 ล้านบาท

 

แนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน–ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เริ่มต้นจากจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า สถานีเตาปูน อินเตอร์เชนจ์ เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนทหารผ่านแยกเกียกกาย ผ่านแยกบางกระบือ, แยกศรีย่าน เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน โครงข่ายในเมือง ช่วงบางบำหรุ–มักกะสันเข้าสู่ถนนสามเสนผ่านอาคารรัฐสภาใหม่ โรงเรียนราชินีบน กรมชลประทาน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ คลองบางลำพู เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระสุเมรุ ถนนราชดำเนินกลาง เลียบคลองรอบกรุงไปเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้มที่สถานีผ่านฟ้าลีลาศ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า เข้าสู่ถนนประชาธิปก ผ่านสี่แยกบ้านแขก เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้มช่วงหัวลำโพง–มหาชัยที่สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ และรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม ที่สถานีวงเวียนใหญ่ ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ลอดใต้แยกมไหสวรรย์ จากนั้นแนวเส้นทางจะเปลี่ยนยกระดับวิ่งไปตามกลางถนนสุขสวัสดิ์ ข้ามสะพานข้ามแยกพระราม 2 ผ่านสามแยกพระประแดงและสิ้นสุดที่ครุใน

 

-การพัฒนาท่าเรือบางโพ โฉมใหม่

Port Bangpoo

Port Bangpoo 1

เดิมบริเวณบางโพ มีท่าเรือบางโพคอยให้บริการอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ได้หยุดการใช้งานไป เพราะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน  หลังจากเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ทางกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ผู้ดูแลและรับผิดชอบโดยตรง จึงวางแผนปรับปรุงท่าเรือให้สอดรับกับระบบรถไฟฟ้า  และบริการประชาชนให้สามารถเดินทางเชื่อมต่อได้แบบครบวงจร  ทั้งทางถนน ระบบราง และทางเรือ

 

โดยกรมเจ้าท่าได้เตรียมขอจัดสรรงบประมาณปี 2564- 2565 ปรับปรุงท่าเรือบางโพ  ประกอบด้วยงาน 3 ส่วน คือการปรับปรุงและก่อสร้างท่าเทียบเรือ พร้อมโป๊ะเทียบเรือ ขนาด 6×12 เมตร จำนวน 2 ตัว การก่อสร้างอาคารพักผู้โดยสารรูปแบบไทยประยุกต์ 1 หลัง และลานหลังท่าเรือขนาด 200 ตารางเมตร  ซึ่งคาดว่าน่าจะดำเนินการก่อสร้างและแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการได้ในเดือนมิถุนายนปี 2565  ท่าเรือบางโพจึงถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ผลักดันให้ทำเลเตาปูนได้รับความสนใจมากขึ้น

-การพัฒนาถนน เพิ่มช่องทางการเดินรถ

ในช่วงปี 2565 บริเวณใกล้เคียงกับทำเลเตาปูน ยังจะมีการขยายถนนช่วงสามเสน-ประชาราษฎร์สาย 1 ขยายถนนทหาร เป็น 8  ช่องจารจร การสร้างถนนใหม่ ขนานกับถนนสามเสนเดิม ต่อเนื่องจากถนนกรุงเทพ-นนทบุรี บริเวณแยกเตาปูนไปบรรจบกับถนนพิชัย ซึ่งเป็นแนวเส้นทางเดียวกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ซึ่งจะทำให้ในอนาคตทำเลเตาปูน มีโครงข่ายของถนนเชื่อมโยงไปยังทำเลหรือพื้นที่อื่นๆ ได้มากมาย เป็นการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้กับคนในพื้นที่ หรือผู้ที่ต้องเดินทางเข้ามาในทำเลเตาปูน

4.แหล่งงาน สำคัญทั้งรัฐและเอกชน

New Praliament

ทำเลเตาปูน ที่ผ่านมา อาจจะไม่ใช่ย่านใจกลางธุรกิจหนาแน่น เมื่อเปรียบเทียบกับย่านธุรกิจในทำเลอื่นๆ เพราะทำเลนี้ เป็นทำเลของการพักอาศัย ที่มีบ้านเรือนของคนกระจายอยู่ทั่วไป และเป็นแหล่งการค้าเก่าแก่ อย่างตลาดไม้บางโพ แหล่งค้าไม้และอุปกรณ์ ซึ่งอยู่มาอย่างยาวนาน  แต่ขณะเดียวกันย่านเตาปูน ก็มีสำนักงานเก่าแก่ ซึ่งก่อตั้งบริษัทมานานนับ 100 ปี อย่างเครือซีเมนต์ไทย  สำนักงานใหญ่ ซึ่งมีพนักงานจำนวนมาก ถือได้ว่าเป็นแหล่งงานสำคัญ ใกล้กับย่านเตาปูนเลยก็ว่าได้

 

ในอนาคตย่านเตาปูน จะกลายเป็นทำเลใกล้กับแหล่งงานขนาดใหญ่ ทั้งภาครัฐและเอกชน  เพราะปัจจุบันมีโครงการและหน่วยงาน ที่เปิดให้บริการและกำลังจะเปิดบริการในอนาคต  ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภาแห่งใหม่  สถานีกลางบางซื่อ  ศูนย์การค้าเกตเวย์ แอท บางซื่อ และสำนักงานเขตบางซื่อ นี่ยังไม่นับรวมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลต่างๆ ที่ตั้งอยู่โดยรอบของทำเลเตาปูนอีกมากมายด้วย

5.ชุมชนเก่าสู่โลกการค้ายุคใหม่

Gateway Bangsue

ย่านเตาปูน มีตลาดเก่าแก่ที่อยู่ในพื้นที่ คือ ถนนสายไม้ ซึ่งอยู่ในซอยประชานฤมิตร  แหล่งรวมของสินค้าประเภทไม้ เฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์  ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป หากนึกถึงหรือต้องการจะซื้อสินค้าประเภทไม้  มักจะต้องเดินทางมาที่ซอยประชานฤมิตร  บรรดาร้านค้าไม้และสินค้าประเภทไม้ ในซอยประชานฤมิตร คาดว่าจะอยู่คู่กับทำเลเตาปูนมายาวนานมากว่า 50 ปี

 

แต่จากการพัฒนาของระบบคมนาคม โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งทำให้การเดินทางสะดวกสบาย เกิดแหล่งชุมชนที่พักอาศัยใหม่เพิ่มขึ้น  ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกออกมารองรับ  อย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ ศูนย์การค้า หรือช้อปปิ้งมอลล์ เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ของคนอยู่ในทำเลนั้น ต้องใช้บริการเพื่อซื้อสินค้าใช้หรือบริโภค

 

ตอนนี้ทำเลเตาปูนมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่เกิดขึ้นแล้ว คือ ศูนย์การค้าเกตเวย์ แอท บางซื่อ (Gateway at Bangsue) ที่บริษัท แอสเสท เวิรด์ รีเทล จำกัด ในเครือของ แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น ได้ลงทุน 4,000 ล้านบาท พัฒนาโครการขึ้นมาบนเนื้อที่กว่า 10 ไร่ รองรับการมาของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง จุดเชื่อมต่อสำคัญของทำเลเตาปูน ซึ่งศูนย์การค้าเกตเวย์ แอท บางซื่อเปิดให้บริการมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561

 

อนาคตไม่นานจากนี้ คนที่อยู่ในทำเลเตาปูน ยังจะมีแหล่งช้อปปิ้งใหม่ ซึ่งอยู่ในบริเวณสถานีกลางบางซื่อ เพราะภายในโครงการนอกจากจะเป็นจุดเชื่อมต่อของเส้นทางคมนาคมต่างๆ แล้ว ยังมีพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะมีร้านค้าต่างๆ เปิดให้บริการด้วย ส่วนจะมีร้านค้าอะไรบ้างนั้น อดใจรออีกไม่นานคงได้เห็นกัน

 

และนี่คงเป็น 5 ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ทำเลเตาปูน มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ในอนาคต หากโครงการต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชนพัฒนาออกมาแล้วเสร็จ  โฉมหน้าของย่านเตาปูน รวมถึงทำเลใกล้เคียงคงเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันอย่างมาก

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด