12 ปรากฎการณ์ “ราคาอสังหาฯ” ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

ติดต่อโครงการ


Price Property Covid Cover

12 ปรากฎการณ์ “ราคาอสังหาฯ” ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

จะว่าไปแล้ว ตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม เริ่มได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2562 จากมาตรการ LTV ที่ออกมาบังคับใช้  ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างทำการตลาด แข่งขันกันด้วยแคมเปญการตลาดต่างๆ เพื่อกระตุ้นลูกค้าให้รีบโอนกรรมสิทธิ์  ก่อนมาตรการ LTV  เริ่มใช้อย่างเป็นทางการในไตรมาส 2 ของปีที่ผ่านมา เพราะมาตรการ LTV มีผลทำให้ลูกค้าบางส่วนมีกำลังซื้อลดลง และธนาคารมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

 

พอถึงช่วงต้นปี 2563 ตลาดอสังหาฯ ก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลทำให้ตลาดอสังหาฯ ชะลอตัวอย่างมาก ผู้ประกอบการแทบไม่เปิดตัวโครงการใหม่ออกมาทำตลาด แต่มุ่งเน้นการระบายสต็อกสินค้าเก่าในมือ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงจากการลงทุน ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น จึงเกิดการทำตลาดกันอย่างดุเดือด มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะด้านราคา ซึ่งเป็นสิ่งที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างแคมเปญการอยู่ฟรี ที่เห็นทำตลาดมากถึง 5 ปีเลยทีเดียว

 

ล่าสุด ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ได้เปิดเผยข้อมูล ตลาดอสังหาฯ ที่เผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาส 2 ของปีนี้  ซึ่งพบว่าภาวะราคาของอสังหาฯ ไทย มี 12 ประเด็นสำคัญเกิดขึ้น คือ

Real Estate Bangkok Condo

1.ไตรมาสแรกของปีนี้ ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวลดลงมาต่อเนื่อง เป็นไตรมาสที่ 5 โดยลดลงในอัตรา 1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 9% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาปรับตัวลดลงมา คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

 

2.ก่อนหน้าที่ตลาดอสังหาฯ ไทยจะเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ​ มีดัชนีราคาที่เติบโตเพิ่มขึ้นมากถึง 104% จากราคาเฉลี่ยประมาณ​ 60,000 บาทต่อตารางเมตร ในช่วงปี 2558ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 120,000 บาทต่อตารางเมตร ในปี 2562 ที่ผ่านมา

 

3.ตลาดคอนโดฯ ค่อนข้างได้รับผลกระทบด้านราคาน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยลดลงเพียง 0.4% แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จะพบว่ามีอัตราการเติบโตลดลงมากถึง 6% ซึ่งเป็นเพราะตลาดคอนโดฯ ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV มาก่อนหน้านี้แล้ว

 

4.ตลาดบ้านเดี่ยว เป็นกลุ่มสินค้าเดียวที่มีดัชนีราคาปรับเพิ่มขึ้นในอัตรา 2% เมื่อเปรียบเทียบไตรมาสต่อไตรมาส สาเหตุหลักเป็นเพราะ กลุ่มบ้านเดี่ยวเป็นตลาดเรียลดีมานด์ ซึ่งผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง และในปีนี้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ชะลอแผนการพัฒนาโครงการคอนโดฯ และหันมาเน้นตลาดแนวราบเป็นหลัก

Price Property Blue Line 1

5.ตลาดทาวน์เฮ้าส์ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่อยู่อาศัย ที่ดัชนีราคาปรับลดลงมา ในอัตรา 2% ซึ่งสาเหตุหลักเป็นเพราะการแข่งขันด้านราคา และการจัดทำโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย ของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ตลาดทาวน์เฮ้าส์เป็นตลาดแมสที่ระดับราคาอยู่ในช่วง 3-5 ล้านบาท ที่ถือว่ามีการแข่งขันสูง และมีซัพพลายในตลาดจำนวนมาก

 

6.หากพิจารณาในเรื่องของระดับราคาสินค้า จะพบว่าที่อยู่อาศัยที่ปรับลดลงมากที่สุด คือ ที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 3.5 ล้านบาท ปรับลดลงในอัตรา 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

 

7.กลุ่มตลาดที่อยู่อาศัยราคาแพง ในระดับราคา 8.5-15 ล้านบาท มีดัชนีราคาปรับเพิ่มขึ้น 5% และหากมองย้อนไปในช่วงไตรมาส 4 ปี 2559 จะพบว่าบ้านและคอนโดฯ ในกลุ่มระดับราคา 15 ล้านบาทขึ้นไป มีอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 35%

 

8.พื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่มีดัชนีราคาเติบโตโดดเด่นที่สุด ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา คือ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีราคาที่อยู่อาศัยเฉลี่ยตารางเมตรละ 219,048 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 23% จากช่วงไตรมาส 4 ปี 2562 ถือว่าเป็นเขตที่มีราคาปรับเพิ่มสูงสุด สาเหตุหลักมาจาก การเปิดให้บริการส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง

Price Property Blue Line 3

9.สถานีวัดมังกร เป็นพื้นที่ที่มีราคาของที่อยู่อาศัยแพงมากที่สุด ถึงตารางเมตรละ 200,000 บาท และมีการปรับเพิ่มขึ้นถึง 143% ตั้งแต่ช่วงปี 2560 จนถึงปัจจุบัน

 

10.แนวโน้มราคาในแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่เพิ่งเปิดให้บริการในไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า ที่อยู่อาศัยในบริเวณสถานีบางอ้อและสถานีบางพลัด มีอัตราการเติบโตของราคาสูงสุดถึง 76% ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี 2559 ถึงปัจจุบัน โดยมีราคาขายเฉลี่ย 85,009 บาทต่อตารางเมตร

 

11.บริเวณรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงสถานีไฟฉาย ถือว่าเป็นบริเวณที่มีที่อยู่อาศัย ซึ่งมีราคาขายเฉลี่ยสูงที่สุดของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงต่อขยายสถานีเตาปูน-จรัญ 13 โดยมีราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 126,471 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งปรับลดลงเพียง 1% จากช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา  (อ่านเพิ่มเติม…รีวิวคอนโด ส่องทำเลเตาปูน-บางโพ ฉบับอัปเดต 2563)

Price Property Blue Line 2

12.บริเวณรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงสถานีบางขุนนนท์ ถือว่าเป็นบริเวณที่มีราคาของที่อยู่อาศัยถูกที่สุด และอัตราการเติบโตลดลงมากที่สุด ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงต่อขยายสถานีเตาปูน-จรัญ 13 โดยมีราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 53,476 บาทต่อตารางเมตร ปรับลดลงมากถึง 56% จากช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา

 

หลังจากนี้ หากประเทศสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จนไม่พบการแพร่เชื้อ หรือการเกิดขึ้นของผู้ป่วยรายใหม่  รวมถึง หากมีการค้นพบวัคซีน ที่สามารถใช้ได้ผลจริงกับมนุษย์ เชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆ จะกลับมาเป็นปกติ แม้ว่าในอนาคตทุกคนอาจจะต้องอยู่ภายใต้วิถีปกติรูปแบบใหม่ หรือ New Normal ก็ตาม

 

โดยเชื่อว่าตลาดอสังหาฯ ของไทยเอง ก็น่าจะกลับมาเติบโตเป็นปกติ และคาดว่าจะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นด้วย เพราะภายใต้สถานการณ์วิกฤต จะเห็นได้ว่าคนไทยเป็นชาติที่ไม่แพ้ใครในโลก สามารถบริหารจัดการการแพร่ระบาดของโลกได้ดี รวมถึงประเทศไทยยังคงเป็นประเทศจุดหมายปลายทางที่ชาวต่างชาติยังต้องการมาท่องเที่ยวและพักอาศัยเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน และอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย

 

 

 

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด