Fd Feature 6

ทำไมต้อง IPO ทำไปเพื่ออะไร? – เข้าใจการระดมทุนใน SET ด้วย IPO [VDO]

Categories : Life+Style
Tags : , , ,

ทำไมต้อง IPO ทำไปเพื่ออะไร? – เข้าใจการระดมทุนใน SET ด้วย IPO

IPO คืออะไร? หลายคนคงเคยได้ยินมาบ้าง โดยเฉพาะคนที่สนใจในด้านการลงทุน หรือด้านการเงิน ซึ่งตามความหมายแล้ว

 

IPO หรือ Initial Public Offering คือ การที่บริษัทหนึ่งเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้กับนักลงทุนหรือประชาชนโดยทั่วไป โดยเป็นไปตามกระบวนการและหลักเกณฑ์เงื่อนไขต่าง ๆ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) กำหนดไว้ โดยจะมีผลทำให้บริษัทที่เสนอขายหุ้นนั้นแปลงสภาพจากบริษัทเอกชน (บจ.) ปกติ กลายเป็นบริษัทมหาชน (บมจ.) ซึ่งถือว่า IPO เป็นกระบวนการหนึ่งในการระดมทุนให้กับบริษัท

 

 

การระดมทุนด้วยวิธีการ IPO

แล้วการระดมทุนด้วยวิธีการ IPO คืออะไร? วันนี้จะขออธิบายด้วยการยกตัวอย่าง เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ดังนี้

 

มี Founder คนหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการก่อตั้งบริษัทเพียงคนเดียว โดยถือหุ้น 100% ซึ่งมีรายละเอียดการถือหุ้นดังนี้

 

Founder กำหนดให้มีจำนวนหุ้นทั้งหมด 1.5 ล้านหุ้น และมีราคาพาร์ (Par value) เท่ากับ 1 บาท ดังนั้น เงินลงทุนทั้งหมดที่ Founder คนนี้นำมาลงทุนในบริษัท จะเท่ากับ 1.5 ล้านบาท

 

ต่อมา บริษัทดำเนินธุรกิจไปได้ด้วยดี Founder ก็เห็นโอกาสทางธุรกิจที่กำลังเข้ามา แต่ว่าโอกาสทางธุรกิจต้องการเงินลงทุนเพิ่มเติม แล้วทาง Founder ก็ไม่มีเงินลงทุนเพิ่มเติมเพียงพอ Founder ทาง Founder ก็คิดจะเพิ่มเงินลงทุนด้วยการ IPO

 

สำหรับการเพิ่มทุนด้วยการ IPO บริษัทจะออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวนหนึ่ง เพื่อมาเสนอขายให้กับ IPO Investors เพราะฉะนั้นแล้ว หลังจากการขายหุ้นเสร็จสิ้น ผู้ถือหุ้นของบริษัท จะประกอบไปด้วยตัว Founder ตัว IPO Investors จะเห็นว่า ตัว Founder ไม่ได้เป็นเจ้าของเพียงคนเดียวอีกต่อไป

 

ลองมาดูตัวเลขการเพิ่มทุนครั้งนี้ จากข้อมูล IPO ครั้งนี้จะเห็นว่า จำนวนหุ้นเพิ่มทุนด้วยวิธีการ IPO จะมีจำนวนเท่ากับ 500,000 หุ้น ส่วนราคาพาร์​ เท่ากับ 1 บาท เหมือนเดิม เนื่องจากราคาพาร์ เป็นราคาหุ้นเมื่อเริ่มต้นทำธุรกิจ ซึ่งแน่นอน IPO Investors เข้ามาลงทุนทีหลัง ก็จะเป็นการไม่เหมาะสม ถ้า IPO Investors ซื้อหุ้นได้ในราคาเท่ากับ Founder คือ ราคาพาร์ในตอนแรก เนื่องจากตัวบริษัทมีการดำเนินธุรกิจ และประสบความสำเร็จทางธุรกิจมาในระดับหนึ่ง ทำให้ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่ำลงกว่าตอนแรกที่ Founderก่อตั้งบริษัทขึ้นมาเพียงคนเดียว

 

เพราะฉะนั้น โดยปกติเวลา IPO ทาง IPO Investors จะต้องซื้อหุ้นในราคาที่แพงกว่าราคาพาร์ โดยจะมีการประเมินราคาโดย Investment Banker หรือวาณิชธนกิจ เข้ามาประเมินมูลค่าหุ้นที่เหมาะสม สำหรับการเพิ่มทุนด้วยวิธีการ IPO ซึ่งจากตัวอย่าง ราคา IPO จะอยู่ที่ 20 บาท ต่อหุ้น โดยเมื่อคำนวณออกมาแล้ว จะได้การระดมทุนโดยการ IPO ครั้งนี้ บริษัทจะได้เงินทุนมาทั้งหมด 10 ล้านบาท โดยคำนวณจากจำนวนหุ้นเพิ่มทุนที่ออกมา 500,000 หุ้น คูณกับราคา IPO หุ้นละ 20 บาท และถ้านำตัว IPO Price มาคูณ กับจำนวนหุ้นที่ Founder ถืออยู่จะเห็นว่าตอนนี้ Founder มีมูลค่าหุ้นครอบครองอยู่ 30 ล้านบาท และหลังจาก IPO เสร็จสิ้น Founder ก็จะเป็นเจ้าของอยู่ 75% ในขณะที่ IPO Investors รวมกันแล้ว จะเป็นเจ้าของบริษัทอยู่ 25%

 

ทำความรู้จักกลไกลตลาดทุนหลัง IPO

กลไกลของตลาดทุน หลังจากบริษัท IPO ทาง Founder และ IPO Investors จะสามารถทำการซื้อหุ้นของบริษัทได้อย่างไร รวมถึงการที่ Investors รายใหม่จะเข้ามาถือหุ้นของบริษัทด้วย

จากแผนภาพการระดมทุนด้วย IPO ตัวบริษัท จะออกหุ้นเพิ่มทุนอันใหม่นำไปขายต่อให้กับ IPO Investors ส่วน IPO Investors จะทำการชำระหุ้นด้วยการนำเงิน หรือตัว Funding มาใส่ในตัวบริษัท ซึ่งลักษณะการระดมทุนแบบนี้ จะเรียกว่า Primary Market หรือ IPO

การที่บริษัทจะทำการ IPO ได้จะต้องมีทางกลต. เข้ามากำกับดูแล หลังการ IPO เสร็จสิ้น ตัวหุ้นทางบริษัท จะถูกนำมา Listed ที่ตลาดหลักทรัพย์ หรือเรียกว่านำมาจดทะเบียนนั่นเอง

โดยหุ้นของบริษัทถูกจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หมายความว่า ตอนนี้ Founderหรือ IPO Investors ก็สามารถเทรด นำหุ้นของบริษัทมาขายในตลาดนี้ หรือจะซื้อเพิ่มก็ได้ เช่นเดียวกับ Investors รายใหม่ ก็สามารถเข้ามาซื้อหุ้นของบริษัท ผ่านทางตลาดหลักทรัพย์ได้เช่นเดียวกัน

โดยลักษณะการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จะเห็นว่า ตัวบริษัทจะไม่ได้เงินทุนเพิ่มเติม จะเป็นการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้น ระหว่างผู้ซื้อผู้ขายเท่านั้น ซึ่งลักษณะตลาดนี้จะเรียกว่า Secondary Market หรือว่าตลาดรองนั่นเอง

 

SET.OR.TH แหล่งเช็คข้อมูล IPO

ถ้าเราอยากรู้ว่า ตอนนี้มีหุ้นของบริษัทอะไรบ้างที่กำลังจะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เราก็สามารถดูได้ที่เว็บไซต์ www.set.or.th  จากหน้าเว็บก็จะมีการแบ่งประเภทหุ้นที่กำลังจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้ง SET, Mai, REIT หรือ Infrastructure Fund โดยจากข้อมูลจะมีการบอกอักษรย่อ ชื่อของบริษัท รวมถึงประเภทการทำธุรกิจ บริเวณด้านล่างเว็บไซต์จะมีการพูดถึงราคา IPO มีการระบุราคาพาร์ ไว้ด้วย

 

ถ้าเราอยากทราบข้อมูลเชิงลึกของบริษัท  เราสามารถเข้าไปดูได้ 2 ที่ ดังนี้

ส่วนที่ 1 ดูจากข้อมูล Filling ซึ่งจะมีแค่ภาษาไทยเท่านั้น

ส่วนที่ 2 ดูได้จากเว็บไซต์ของทางบริษัท

 

ในส่วนของ Filling จะมีข้อมูล Filling Version แรก รวมถึง Filling อัพเดท ล่าสุด โดยที่ข้อมูลที่ระบุใน Filling จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการวิเคราะห์ในส่วนของธุรกิจ และผลประกอบการของบริษัท โดยสามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้ ด้วยการคลิ๊กหัวข้อที่เราต้องการ ซึ่งจะมีรายละเอียดข้อมูลต่าง ๆ

 

และทั้งหมดนี้ ก็คือ เรื่องราวของ IPO ที่ถือว่าเป็นการระดมทุนให้กับบริษัทได้ช่องทางหนึ่ง ซึ่งหลายบริษัทนิยมใช้ เพราะสามารถนำเงินมาลงทุนขยายธุรกิจ และยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับหุ้นของบริษัทได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่มีผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทความ Life+Style ล่าสุด