Ap Business Plan 2020

14 คำถามกับ AP เดินกลยุทธ์เติบโตอย่างไร ให้ได้รายได้  40,550 ล้าน

เอพี ไทยแลนด์ กรุ๊ป วางเป้าหมายการเติบโตในปี 2563 ด้านรายได้ 40,550 ล้านบาท กับการเปิดตัวโครงการในปีนี้ 37 โครงการ รวมมูลค่า 47,150 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการแนวราบ 33 โครงการ มูลค่า 35,050 ล้านบา และคอนโดมิเนียม 4 โครงการ มูลค่า 12,100 ล้านบาท ถือเป็นความท้าทาย ท่ามกลางบรรยากาศทางการตลาด ซึ่งล้วนแต่มีปัจจัยฉุดให้ไม่เติบโต และต้องทำงานกันอย่างยากลำบาก

 

นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ เอพี ไทยแลนด์ กรุ๊ป หรือ AP ได้ไขข้อสงสัยและตอบคำถาม 14 ข้อ เพื่อให้เห็นภาพรวมของบริษัทที่จะมุ่งหน้าไป และแนวทางที่จะทำให้บริษัทสามารถเติบโตต่อไปได้

Ap 2020 6

คำถามที่ 1 วิเคราะห์ภาพรวมตลาด อสังหาริมทรัพย์ปี 2020 และการรับมือกับความท้าทาย ?

ปีนี้เป็นปีท้าทายมากๆ ไม่ว่าจะธุรกิจอะไรก็ตาม สำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ เราก็ได้รับผลกระทบจากกวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆ เยอะมาก และเป็นปีที่ทดสอบเราจริงๆ ด้วยวิสัยทัศน์ และด้วยวิธีการปรับปรุงองค์กร ทุกครั้งเมื่อธุรกิจเริ่มจะช้าลง ใช้โอกาสในการปรับปรุงองค์กร การนำเอา AP Value หรือค่านิยมใหม่ๆ เข้ามา  ก็จะเป็นหนึ่งที่ทำให้เราแข็งแรงขึ้น ไม่ใช่ว่าที่ผ่านมาเราอ่อนแอนะ เราแข็งแรงบ้างแล้ว แต่การไปต่อในอนาคตเราต้องปรับปรุงตัวอย่างมาก

 

ธุรกิจแนวราบเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพสูง ในการที่จะทำเราเตรียมตัวเรื่องพวกนี้ค่อนข้างดี การพัฒนาระบบ ECOSYSTEM โคซิสเต็ม ตั้งแต่การนำเอาเทคโนโลยี และการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ เชื่อว่าจะทำให้เราผ่านปีนี้ไปได้

คำถามที่ 2 รายได้รวม ปี 2019 เท่าไหร่ 3 ภาคธุรกิจใหม่ที่เปิดตัวขึ้นมา เมื่อต้นปีที่ผ่านมา (SEAC-CLAYMORE-VARRI) ได้เริ่มสร้างรายได้แล้วหรือยัง ?

ปีที่แล้วเรามีรายได้ 32,452 ล้านบาท จากเป้าหมายที่วางไว้ 35,700 ล้านบาท เราทำไปได้ 91% ของเป้าที่วางไว้ ด้วยความท้าทายปีที่แล้ว   ซึ่งถือว่าเราทำได้ดีมาก 56% เป็นแนวราบ 18,145 ล้านบาท  แนวสูงอีก 40% มูลค่า 12,877 ล้านบาท ที่น่าสนใจคือ เซอร์วิส ไม่ว่าจะเป็น บางกอกซิตี้สมาร์ท ที่ทำเรื่องรีเซล มีมูลค่า 1100 ล้านบาท เซอร์วิสเป็นส่วนหนึ่งเริ่มโชว์ขึ้นมา ปีที่แล้วมีสัดส่วนอยู่ 4% ปีนี้ ของรายได้รวมทั้งหมด และปีต่อไปน่าจะเห็นเพิ่มมากขึ้น

 

3 ธุรกิจที่เปิดตัวขึ้นมา มีรายได้แล้วสำหรับแต่ละธุรกิจ แต่รายได้ยังไม่กลับเข้ามาที่เอพี เพราะยังขาดทุนอยู่ เรื่องอินโนเวชั่น ต้องใช้เวลา SEAC ปีนี้เริ่มเข้าสู่โหมดไม่ขาดทุนแล้ว และอีก 2 ปีข้างหน้าจะเป็นรายได้กลับเข้ามาหาเอพี ส่วน CLAYMORE น่าจะเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เริ่มเอาออกสู่ตลาด แต่ปีแรกยังคงไม่มีกำไร ยังขาดทุนอยู่ แต่อีกสัก 2 ปีข้างหน้าจะมีรายได้กลับมาหาเอพี

 

SEAC เราทำขึ้นมาได้รับความสนใจจากองค์กรหลายองค์กร ไม่ใช่องค์กรที่อยากเข้ามาเรียนรู้ หลายองค์กรอยากเป็น Share Holder ด้วยซ้ำ

คำถามที่ 3 ปัจจุบัน เอพีมี Backlog เท่าไหร่ แบ่งการรับรู้อย่างไร ?

เรามี Backlog อยู่ 51987 ล้าน ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นแนวราบ 8,300 ล้านบาท รับรู้รายได้หมด เทียบยอดรับรู้รายได้ทั้งหมดของแนวราบ 21,000 ล้านบาท ประมาณ​ 40% ที่เหลือเป็นการเปิดโครงการใหม่ ส่วนแนวสูง เรามี Backlog โอนปีนี้  16560 ล้านบาท  เทียบรายได้ที่ตั้งใจ 18,000 เรามีพร้อมโอนแล้ว 90% แนวสูงก็พร้อมจะโอน แต่อาจจะมียกเลิก ซึ่งมีแค่ 15% แต่เราก็มีโครงการที่พร้อมขายพร้อมโอน เรื่องนี้เราไม่ค่อยห่วงเท่าไร

คำถามที่ 4 ปีนี้ Developer ส่วนใหญ่ ปรับแผนบุกตลาดแนวราบ เอพีมีแผนรับมืออย่างไร ?

ปีนี้เป็นปีแห่งแนวราบ ทุกคนเข้ามา สิ่งที่เราจะรับมือกับคู่แข่งที่จะเข้ามาในตลาดมากขึ้น ประสบการณ์ที่ทำมา 2 ปี ได้ลองผิดลองถูกมา แม้ว่าเราจะทำแนวราบมานาน  แต่วิธีการทำสมัยใหม่ เรามีการปรับเปลี่ยนวิธีคิด และได้ทดลองมา 2 ปี เราเชื่อว่าวันนี้ มิกซ์องค์ประกอบ ที่ทำให้ลูกค้ามาซื้อบ้านเอพีได้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสเปซ​ ที่อยู่อาศัย การทำเรื่องราคา การพัฒนาคุณภาพ และการมีเซอร์วิส การเอาบางกอกซิตี้สมาร์ท เข้าไปจับ หรือการเอาอินโนเวชั่นไปจับ ทุกวันนี้ถูกเอาไปใช้ในโครงการแนวราบทุกโครงการ

 

และจะเป็นปีแรกที่เราไปทดสอบตลาดต่างจังหวัด เพราะมีหลายจังหวัดมีศักยภาพ เมื่อ 5 ปีที่แล้วไปแนวสูง ปีนี้ไปแนวราบ ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์  บ้านแฝด จังหวัดแรกที่ไป คือ  นครศรีธรรมราช เหมือนเป็นเมืองรองแต่มีศักยภาพมาก มีเศรษฐีเยอะ

Ap 2020 4

คำถามที่ 5 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เอพีได้เปิดตัวไปแล้วกี่โครงการ ผลตอบรับเป็นอย่างไร ?

เราเปิดบ้านเดี่ยวไป 4 โครงการ ทาวน์เฮ้าส์ไป 7 ช่วง 8 สัปดาห์ บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ มียอดขายเฉลี่ยต่อสัปดาห์ 200-300 ล้านบาท ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์  2563 มียอดขายแล้ว 4,230 ล้านบาท เป็นแนวราบ 3,493 ล้านบาท ถ้าเทียบกับปีที่แล้วก็ยังสูสี ทั้งๆ ที่สถานการณ์ปีนี้เลวร้ายมาก ปีที่แล้วลูกค้าอยากซื้อก็ต้องรีบโอน แต่ปีนี้ไม่ใช่ แม้กระทั้งคอนโดฯ  ไม่ได้โครงการเปิดใหม่ แต่เรายังขายได้  737 ล้านบาน  ในช่วง 8 สัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยสถานการณ์แบบนี้ ไม่มีโครงการใหม่เปิด ขายสัปดาห์ละ 70-80 ล้านบาท ถือว่าไม่น้อยทีเดียว ถ้าเราทำโปรดักส์ ถูก ราคาถูก การทำตลาดได้ถูกต้อง ยังถือว่าได้ผลลัพท์ที่ดี  ยังมีดีมานด์ในตลาด

คำถามที่ 6 ปีนี้เอพีเปิดตัวคอนโดลดลงหรือไม่ ทางพันธมิตรญี่ปุ่น Concern เรื่องการลงทุนในประเทศไทยหรือไม่ ?

คอนโดฯ เราเปิดปีละ 4-6 โครงการอยู่แล้ว ปีนี้เราเปิด 4 โครงการ ถ้าถามเรื่องการคอนเซิร์นของพันธมิตรญี่ปุ่น เราต้องมองว่า พันธมิตรเรา บริษัทมิตซูบิชิ เอเตท กรุ๊ป (MEC)  เป็นมืออาชีพในการพัฒนาอสังหาฯ​ ในญี่ปุ่น เขามีความเข้าใจในการทำธุรกิจอสังหาฯ​ มันมีขึ้นมีลง เขาคุยเสมอว่าเขาเข้าใจ ว่าอะไรบ้างมีผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯ แต่ความมั่นใจของเขา ไม่ได้อยู่ที่สภาพแวดล้อม หรือเรื่องเศรษฐกิจที่ทำให้ลดตัวลง แต่มันอยู่ที่การบริหารจัดการภายใน

 

ตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ทำงานมา เราทำให้เขาเห็นถึงความมั่นใจ การทำงานของเรา ไม่ว่าจะเรื่องระบบ ความเชื่อถือเชื่อมั่น และที่สำคัญ คือ แผนงานของเรา แผนการเปิดตัวคอนโดฯ มีการผ่อนหนักผ่อนเบา โอกาสมาก็เปิดเยอะ โอกาสน้อยก็เปิดน้อย แล้วจะเห็นว่าการได้มาซึ่งการรับรู้รายได้ มันต้องบาลานซ์ให้คงที่อยู่ตลอด อาจจะมีลดบ้างเพิ่มบ้าง แต่เรามีการทำให้มีการรับรู้รายได้อยู่ตลอดเวลา  อย่างปีที่แล้วก็เริ่มมีการรับรู้รายได้ของโครงการที่สร้างเสร็จ ปีนี้ก็จะมีอีก แล้วปีนี้จะเปิดตัวถึง 4 โครงการ ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ แต่การเปิดโครงการเป็นการรับรู้รายได้ อีก 2-3 ปีข้างหน้า เรามีระยะเวลาการขาย

 

เราไม่ได้มองว่าเปิดมาแล้วต้องขายหมด เช่น เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมามีการเปิดตัว เราก็ได้รับผลประโยชน์ในปีนี้ ด้วยแผนการ วิธีการการทำงาน ความเชื่อมั่นที่เราปฏิบัติกับเขา  เราไม่มีการหมกเม็ด เราเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด เขาอยากรู้อะไร เราตอบเขาหมด เรามีการพบปะผู้บริหารอยู่ตลอดเวลา ทำให้ญี่ปุ่นมีความมั่นใจในศักยภาพของตลาดเมืองไทย เพราะอย่างไรก็ตามมันมีวงจรของการขายไม่คงที แต่การรับรู้รายได้มีอย่างต่อเนื่อง

Ap 2020 1

คำถามที่ 7 งบซื้อที่ดินปี 2020 เท่าไหร่ ใช้ไปแล้วเท่าไหร่ และโครงการต่างจังหวัด มีที่ดินครบแล้วหรือยัง ?

ปีนี้ เรามีงบซื้อที่ดิน 8,500 ล้านบาท สำหรับการซื้อที่ดิน เราใช้ไป 700 ล้านบาท เป็นการพัฒนาแนวราบเสียเยอะ ส่วนต่างจังหัดที่จบไป คือ ที่นครศรีธรรมราช ส่วนที่เหลือ ก็อยู่ระหว่างการจัดซื้อ และการตัดสินใจ ว่าเราจะไปจังหวัดไหนต่อ

คำถามที่ 8 AP มี Stock สินค้า พร้อมขายพร้อมอยู่กี่โครงการ และมีแผนการขายอย่างไร ท่ามกลางกำลังซื้อหดตัว ?

องค์รวมยอดขายหดตัวอยู่แล้ว แต่มาดูรายเซ็กเมนต์แนวราบยังไปได้ แต่เรายังเห็นการเติบโตอยู่ ส่วนเรื่องสต็อก แนวราบแทบไม่มีสต็อกเลย ซื้อมาโอนไป ส่วนแนวสูง มีสต็อกเหลืออยู่ โครงการพร้อมขาย พร้อมโอน 3,200 ล้านบาท ถ้าเทียบจากอัตราการขาย 70-80 ล้านต่อสัปดาห์ ถ้าไม่มีอะไรที่เลวร้ายไปกว่านี้ สต็อกนี้ไม่เป็นปัญหาในการที่เราจะเคลียร์ได้

Life Asoke

คำถามที่ 9สถานการณ์ลูกค้าต่างประเทศ เป็นอย่างไร มีปัญหาเรื่องการโอนคอนโดหรือไม่ ?

ถ้าบอกลูกค้าต่างประเทศไม่มีปัญหา มันคงไม่ใช่ เป็นปัญหาแน่ๆ แต่เราอยู่ที่การบริหารจัดการมากกว่า ปีที่แล้ว ไลฟ์ วิทยุ ที่มีลูกค้าต่างชาติเข้ามา เราโอนไปได้ 180 ยูนิต เกือบ 200 ยูนิตในเดือนเดียว มันมีองค์ประกอบหลายอย่าง ที่จะบริหารลูกค้าต่างชาติ ประการแร  เริ่มจากการขาย เรามีการบริหารจัดการขาย ผ่านบางกอกซิตี้สมาร์ท 2. กระบวนการจะส่งมอบ อย่างไลฟ์ วิทยุ เราตั้งเป้าให้ลูกค้าโอนเร็วที่สุด เพราะลูกค้าอาจจะเปลี่ยนใจได้ จึงทำเรื่อง Zero defect  ซึ่งเราทำได้ถึง 90% ลูกค้าเข้ามาตรวจ ถ้าต้องการแก้งาน เราแก้งานให้จบในวันนั้นแล้วโอนเลย มันเป็นสิ่งที่กระบวนการจัดการการโอน เพื่อส่งมอบสินค้าอย่างมีคุณภาพ ส่งผลให้การโอนไลฟ์วิทยุ ภายในเดือนธันวาคมเราทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้  และ 3.การกลับไปบางกอกซิตี้สมาร์ท การบริหารลูกค้า ติดตามลูกค้า การปรับเอาห้องของลูกค้าไปขายต่อ ซึ่งก็ขายได้ดี มันอยู่ที่องค์ประกอบในการแก้ไขปัญหา มันมีปัญหาแหละ ขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวมาอย่างดี

คำถามที่ 10 งบประมาณในการลงทุนเรื่อง BIM และ BIM ช่วยลดต้นทุนการก่อสร้างได้เท่าไหร่ มีผลต่อราคาขายหรือไม่ ?

BIM ลงทุนไปเกือบ 20 ล้านบาท ทั้งในเรื่องของการพัฒนากระบวนการ การยอมรับของคน การพัฒนาศักยภาพของคน รวมถึงการซื้อซอฟท์แวร์ต่างๆ แน่นอนว่า เรามองเป้าหมายใหญ่กว่านั้น เป็นการส่งมอบคุณภาพของสินค้าให้กับลูกค้า และในมุมของดีเวลลอปเปอร์ นอกจากเรื่องคุณภาพแล้ว ยังมองเรื่องการบริหารจัดการเรื่องราคาขาย ที่ผ่านมา ที่ดินก็ราคาขึ้น ค่าก่อสร้างก็ราคาขึ้น ทำไมเรายังทำราคาขายให้อยู่ในการแข่งขันที่ดี

 

เราพยายามเมนเทนราคาของเราไม่ให้เกิน 200,000 บาทต่อตารางเมตร อยู่แสนต้นๆ ถึงแสนปลายๆ เราก็ทำได้ไม่ว่าราคาที่ดินจะเป็นเท่าไร แน่นอนว่า ราคาที่ดินไม่สูงเกินไป หรือในอดีตที่ดินราคา 200,000-300,000 บาท มาวันนี้ 600,000-700,000 บาท เราก็ต้องทำราคาให้ได้ให้อยู่ในราคานี้  ราคาที่ดินและค่าก่อสร้างมันขึ้นมาก แต่รายได้ของคนไม่ได้ขึ้นไปตามนั้น BIM มีส่วนช่วย ทำให้ลูกค้าได้ราคาที่ดี ลูกค้าสามารถได้ของมีคุณภาพ สิ่งที่เราเอาบินมาลดต้นทุน เราเอากลับไปให้ลูกค้า ในเชิงรูปแบบของราคา เราลดต้นทุน คือ Crack detection  เราต้องไปแก้งาน ยกตัวอย่าง ไลฟ์พระราม 9 เราลดต้นทุนไปได้ 70-80 ล้านบาท จากการไม่ต้องไปทุบคาน ไม่ต้องแก้คาน การเดินงานใหม่ เป็นต้นทุนที่ซ่อนอยู่ ที่เราจ่ายออกไปง่ายมาก ในการแก้งาน แต่การแก้ในซอฟแวร์ต้นทุนไม่มี และเป็นการประหยัดเวลาด้วย การลด Crack detection การลดเวลาการก่อสร้างลง เป็นการประหยัดต้นทุน

 

การก่อสร้างถ้าโอนเร็วขึ้นสักเดือน เราสามารถประหยัดไปได้เกือบ 10 ล้านบาท เพราะเป็นต้นทุนทางด้านไฟแนนซ์ เรื่องการกู้ แต่พวกนี้เรามีประสบการณ์มากขึ้น เราลดต้นทุนได้ ก็จะถูกส่งกลับไปให้ลูกค้าในเชิงราคา มันสร้าง Competitiveness ให้กับ เอพี ลูกค้าก็ได้ราคาที่ดี คุณภาพที่ดี เทคโนโลยีที่ Implement ทุกวันนี้มันต้องทำให้ดีขึ้น  แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นยาก การเปลี่ยนแปลงให้คนมาทำ BIM ไม่ง่าย เราใช้เวลามา 2 ปีแล้ว  การประสบความสำเร็จของเราที่ทำได้ขนาดนี้  อาจจะทำได้แค่ 50% เหลืออีก 50% ที่เราต้องทำงานต่อไป

คำถามที่ 11 ธุรกิจการศึกษา ปีที่ผ่านมา ผลตอบรับเป็นยังไง ทำไมถึงพัฒนาหลักสูตรสำหรับเด็ก

ธุรกิจการศึกษา ปีที่แล้วเป็นปีแรกที่เราเข้ามาทำจริงจัง แล้วมีการเปิดตัว YOUR NET U  เราจะเห็นว่า เราได้รับการตอบรับจากองค์กรดีมาก องค์กรใหญ่ๆ มีการมุ่งมันพัฒนาศักยภาพของคนในองค์กรของตัวเอง เพราะทุกคนรู้ว่าตัวเองต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับ Digital disrupt ที่เกิดขึ้น การพัฒนาศักยภาพของคนวันนี้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่ Functional skill แต่เป็น Soft skill เป็น เรื่องของ Mindset เรื่องของความคิด เราจะเห็นว่าทุกองค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก

 

เราทำ YOUR NET U  จะเห็นว่าคนที่ได้รับผลกระทบจาก Digital disrupt  คือ กลุ่มสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี คนเหล่านี้หันมาสนใจการศึกษา การเพิ่มพูนความรู้ การปรับเปลี่ยนวิธีคิดของตนเองมาก พนักงานในองค์กรยังไม่เห็นความจำเป็นของเรื่องพวกนี้มาก เพราะยังใช้ชีวิตสะดวกสบาย ทำงานไป ได้เงินเดือน มีโบนัส ​แต่ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป จะมีผลกระทบกับพนักงานแรงๆ จะเห็นการปิดตัว ของหลายบริษัท การลดคนงาน  คนจะอยู่ในโหมด Survival จะเกิดขึ้นทันที การเอาตัวรอด ซึ่ง คือ การเรียนรู้ ธุรกิจการศึกษาเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพมากๆ

 

ส่วนทำไมเราถึงพัฒนาสำหรับเด็ก ต้องยอมรับว่า เราเห็น gap ของการทำงาน ของเด็กจบใหม่ก็เยอะ เด็กจบใหม่ตกงานก็เยอะ บริษัทอยากได้คนทำงานก็เยอะ แต่สองอันนี้ไม่ชนกัน สิ่งหนึ่งที่เห็นคือ คนไม่ได้มี passion ในสิ่งที่ตนเองเรียนมา และไม่สามารถเอาความรู้เหล่านั้นมาใช้เต็มศักยภาพที่เป็น แต่ถ้ามองถอยหลังกลับไป มันเกิดจากตอนเอ็นซ์ฯ ก่อนสอบเข้ามหาลัย คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ตัว จะเอ็นซ์ฯ ไปตามเทรนด์ที่เกิดขึ้น เด็กผู้ชายต้องเอ็นซ์ฯ วิศวะ สิ่งเหล่านี้ ถ้าเราจะพัฒนาระบบการศึกษา หรือพัฒนาคน ต้องพัฒนาตั้งแต่ก่อนเอ็นซ์ฯ เราเลยหลักสูตรขึ้นมา เป็นการพัฒนาวิธีคิด พัฒนา mindset ให้พร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

คำถามที่ 12 ปัจจุบัน Platform ’SMART WORLD’ มีผู้ใช้จำนวนเท่าไร มีโครงการนอกเครือเอพีหรือไม่ คิดเป็นสัดส่วนเท่าไร ได้รับผลตอบรับจากผู้ใช้อย่างไรบ้าง ?

บางกอกซิตี้ สมาร์ท  เราดูแลลูกบ้าน 58,000 ครอบครัว วันนี้ มีคนดาวน์โหลดไปแล้ว 40,000 เราเชื่อว่าต้องทำให้ครบ ให้คนมีโอกาสใช้งาน สิ่งที่ต้องทำมากขึ้น คือ engagement กับแอพพลิเคชั่น ยังต่ำ 10-15%  เป้าหมายของเราทำอย่างไรให้คน ใช้แอพทุกวันเหมือนเปิดเฟสบุ๊ค ไลน์​เป็นความท้าทายของคนทำ SMART WORLD แต่เรายังเชื่อมั่นว่า เราจะทำได้ ถ้าเราใส่องค์ประกอบที่ถูกต้องลงไป

คำถามที่ 13 ทำไมทาง Claymore ถึงโฟกัสเรื่อง Health และ Ageing

เป็นการศึกษาของเรา เทรนด์ของโลกนี้ เป็น Health และ Ageing กลับไปมองที่คน คนแก่มากขึ้น เด็กน้อยลง และคนให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากเรามีมลภาวะ ทางอากาศ การกิน เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้ว และเป็นเทรนด์ในอนาคต  เรื่อง Ageing เราพัฒนาเพื่อบริการคน 70-80 ปี ก็จริง แต่เราไม่ได้มองว่าจะเซอร์วิสคนเหล่านี้ เราหาอินไซด์ เราจะไปหาจากคนก่อนเกษียณ  เพราะคนเหล่านี้ จะใช้เซอร์วิสเราจริงๆ ในอนาคต คนปัจจุบันส่วนใหญ่ยังเป็น Gen baby boomer บ้าง Gen X บ้าง ซึ่งยังมีครอบครัว แต่วันนี้สิ่งที่เราพบ Ageing ไปอยู่คนเดียวเยอะมาก เราเป็นลูกหลาน Gen X Gen Y อยากดูแลพ่อแม่ แต่เป็นความอยากหรือแค่ความฝัน เพราะลำพัง แค่เอาตัวเองให้รอดไปวันๆ ก็ลำบากจะแย่อยู่แล้ว สิ่งที่เรากลับไปคิดว่ามีอะไรบ้างจะช่วงเรื่องพวกนี้บ้าง

 

ส่วนเรื่อง Health  ทุกคนมีความฝันเรื่องการมีสุขภาพดี ทุกคนมีความฝันว่าตัวเองมีซิคแพก รู้สึกว่าตัวเองมีแคลอรี่ไม่เกิน แต่พอไปตรวจร่างกายแล้วจะรู้สึกว่าฉันต้องออกกำลังกายทุกที แต่พอผ่านไปสักเดือนก็เลิกแล้ว มันเป็นไซเคิล เพราะอุปสรรคมันเยอะเหลือเกิน เราจะเข้าไปแก้ไขทำอย่างไรให้ตรงนี้มันง่ายขึ้น ให้เขามีสุขภาพดีได้ง่ายขึ้น

คำถามที่  14 ความคาดหวังของพันธกิจ EMPOWER LIVING คืออะไร ?

นวัตกรรมวันนี้มันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พอพูดถึงนวัตกรรม ไม่ใช่แค่รีโมทเปิดไฟได้ เรื่องพวกนี้มันธรรมดาไปแล้ว แต่ในอนาคตจะทำอย่างไร บ้านวันนี้มีวิธีคิดใหม่ เราก็ไม่รู้ในอนาคตจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ อะไรออกมาบ้าง  แต่เราจะทำอย่างไร ให้บ้านมันถูกปรับแต่งได้ง่ายขึ้น มันถูกเอาไปใช้ปลั๊กอินได้มากขึ้น ถ้าทำให้บ้านมีระบบปลั๊กอิน  เพราะเราคงไม่สามารถไปรื้อบ้านสร้างใหม่ได้ตลอดเวลา  ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยที่เป็นมันน่าจะตอบโจทย์ลูกบ้านมากเลย

 

 

 

 

 

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด