“เสี่ยเจริญ” จัดพอร์ตธุรกิจอสังหาฯ ส่ง AWC เข้าตลาด ลบภาพธุรกิจครอบครัวสู่มาตรฐานมืออาชีพ

ติดต่อโครงการ


“เสี่ยเจริญ” จัดพอร์ตธุรกิจอสังหาฯ ส่ง AWC เข้าตลาด ลบภาพธุรกิจครอบครัวสู่มาตรฐานมืออาชีพ

“เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี” มีธุรกิจในมือมากมายที่สร้างความร่ำรวย และมีมูลค่ามหาศาล  หนึ่งในนั้น คือ กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม  ซึ่งมีทั้งกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์  แต่อีกหนึ่งจิ๊กซอร์สำคัญขนาดใหญ่  ที่มาต่อเติมความมั่งคั่งของตระกูล  คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เรียกได้ว่ามีอยู่ในมือครบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม สำนักงานให้เช่า ศูนย์การค้า นิคมอุตสาหกรรม ศูนย์ประชุม สนามกอล์ฟ และโครงการที่อยู่อาศัยทุกรูปแบบ  ซึ่งกระจายอยู่ทุกมุมเมืองทั่วประเทศ นี่ยังไม่นับที่ดินเปล่าในพอร์ตอีกมหาศาลไม่รู้กี่แสนไร่

 

ทั้งขนาดความใหญ่และจำนวนธุรกิจที่มีมากมายมหาศาลของตระกูลสิริวัฒนภักดี  การสร้างการเติบโตและความยั่งยืน โจทย์สำคัญที่ “เสี่ยเจริญ” มอบหมายให้ทายาทที่ดูแลธุรกิจอสังหาฯ  คือ การสร้างมาตรฐานการบริหารงานแบบมืออาชีพ และไม่ยึดติดกับความเป็นธุรกิจครอบครัว นอกจากนี้ ยังต้องการให้ทายาทแต่ละคนดูแลรับผิดชอบธุรกิจอสังหาฯ ในแต่ละประเภทอย่างชัดเจน โดยไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน  แนวทางหนึ่งที่ถูกหยิบมาใช้ คือ การนำเอาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  และการจัดกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ แต่ละประเภท ให้อยู่ภายใต้การบริหารงานของแต่ละบริษัทอย่างชัดเจน

 

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ  AWC บุตรสาวคนที่ 2 ของเสี่ยเจริญ  เปิดเผยว่า ได้นำบริษัทยื่นแบบไฟลิ่งแก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา เพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เนื่องจากต้องการระดมทุน นำเงินมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจ สร้างการเติบโตให้กับบริษัท  ชำระหนี้ การสร้างคุณค่าให้กับองค์กรและชุมชน

 

“การเข้าตลาดฯ เป็นการสร้างมาตรฐานและความยั่งยืน  ผู้บริหารและพนักงานจะอยู่ในระบบธรรมาภิบาล  ซึ่งดีกว่าอยู่ในระบบครอบครัว เป็นการสร้างมาตรฐานความเป็นมืออาชีพ”

 

สำหรับ AWC จะมุ่งเน้นการพัฒนาและลงทุนในอสังหาฯ ในประเทศไทย เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบครบวงจรแบ่งเป็น 2 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) ซึ่งบริหารงานโดยผู้บริหารโรงแรมที่มีชื่อเสียงภายใต้แบรนด์ชั้นนำที่มีคุณภาพและเป็นที่รู้จักระดับสากล อาทิ แมริออท, อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล, โอกุระ, บันยันทรี, ฮิลตัน และเชอราตัน และกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail and Commercial Building)

 

“คุณเจริญ อยากทำให้ธุรกิจครอบครัวสู่ระบบมาตรฐาน ไม่อยากให้ลูกหลานไปยึดติดกับธุรกิจครอบครัว”

 

นางวัลลภา ยังกล่าวย้ำอีกว่า การยื่นไฟลิ่งของบริษัทครั้งนี้  ถือเป็นการจัดพอร์ตและภาพธุรกิจอสังหาฯ ของ AWC ให้มีความชัดเจน โดยจะเน้นเฉพาะธุรกิจโรงแรมและบริการ  กับธุรกิจอสังหาฯ เพื่อการพาณิชย์​  โดยไม่มีธุรกิจอสังหาฯ เพื่ออยู่อาศัย (Residential) ส่วนบริษัทอสังหาฯ ในกลุ่มทีซีซี ใครมีความรับผิดชอบในส่วนไหนก็ดูแลธุรกิจนั้นไป ถือเป็นการสร้างความชัดเจนในพอร์ตธุรกิจอสังหาฯ

 

ขนอสังหาฯ ทำเงินเข้าพอร์ต

โครงการอสังหาฯ ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของ AWC ถูกคัดสรรและพิจารณาว่าเป็นโครงการคุณภาพ สามารถสร้างรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งปัจจุบันและในอนาคต โดยกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ มีแบรนด์ที่บริหารอยู่ 15 แบรนด์  อาทิ แมริออท,อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล, โอกุระ, บันยันทรี, ฮิลตัน และเชอราตัน ซึ่งมีโรงแรมดำเนินการอยู่ปัจจุบัน 10 แห่ง จำนวน 3,432 ห้อง อยู่ระหว่างการปรับปรุงและพัฒนาอีก 5 แห่ง จำนวน 1,528 ห้อง นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการทำสัญญาซื้อกิจการโรงแรมใหม่อีก 12 แห่ง เป็นโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 4 แห่ง และอยู่ระหว่างการพัฒนาหรือมีแผนพัฒนาอีก 8 แห่ง ซึ่งจะทำให้ภายในระยะ 5 ปี AWC จะมีโรงแรมบริหารรวม 8,000 ห้อง จากปัจจุบันมีอยู่ 4,960 ห้อง

 

ส่วนโรงแรมทั้ง 12 แห่งที่คาดว่าจะเข้ามาอยู่ในพอร์ตธุรกิจ ได้แก่ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ เอ็กซ์เพรส กรุงเทพ สาทร, โรงแรม แบงค็อกแมริออท เดอะ สุรวงศ์, โรงแรม ภูเก็ต แมริออท รีสอร์ท แอนด์ สปา, ในยางบีช, แกรนด์โซเล่, โครงการหัวหิน บีชฟรอนท์, อิมพีเรียลแม่ปิง, โรงแรมบันยันทรี จอมเทียน พัทยา, พัทยา มิกซ์ยูส รีเทล แอนด์ โฮเทล ดีเวลล็อปเมนต์, โรงแรมเจริญกรุง 93, โรงแรม อีสต์ เอเชีย และ พรพิงค์ ทาวเวอร์

 

สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักของธุรกิจโรงแรมที่ AWC จะมีด้วยกัน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มตลาด MICE กลุ่มพักผ่อน กลุ่มครอบครัว และกลุ่มนักธุรกิจ โดยมีกลยุทธ์สำคัญ คือ การใช้เครือข่ายพันธมิตรโรงแรมภายใต้แบรนด์โรงแรมชั้นนำ ที่ช่วยทำให้ AWC   ออกแบบและพัฒนาโครงการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ และการมีเครือข่ายสมาชิกกว่า 300 ล้านคนทั่วโลก

 

ส่วนกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ เพื่อการพาณิชย์ มี 2 กลุ่มบริหารงานอยู่ ได้แก่

1.อสังหาฯ เพื่อประกอบกิจการการค้า (Retail and Wholesale) ได้แก่ สถานที่ท่องเที่ยวแนวไลฟ์สไตล์ คอมมูนิตี้ชอปปิงมอลล์ คอมมูนิตี้ มาร์เก็ต และอสังหาฯ เพื่อประกอบกิจการการค้าส่ง โดยอสังหาฯ เพื่อประกอบกิจการการค้ามีโครงการที่มีชื่อเสียงคือ โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ โครงการเกทเวย์ แอท บางซื่อ โครงการพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ และโครงการตะวันนา บางกะปิ

 

ปัจจุบันบริษัทมีโครงการเปิดำเนินการแล้ว 8 แห่ง และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 2 แห่ง ได้แก่ โครงการคอมมูนิตี้มาร์เก็ตบางกะปิ และโครงการเออีซี เทรด เซ็นเตอร์ ซึ่งโครงการทั้งหมดมีพื้นที่เช่ารวมกว่า 3.4 แสนตารางเมตร

2.อาคารสำนักงาน (Office) ที่บริษัทเป็นเจ้าของอยู่อีก 4 แห่ง ได้แก่ อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ อาคารแอทธินี ทาวเวอร์ อาคาร 208 วายเลสโร้ด  และอาคารอินเตอร์ลิงค์ ทาวเวอร์  โดยมีพื้นที่เช่ารวมกว่า 2.7 แสนตารางเมตร

 

3ปี รายได้โตเฉลี่ย 15%

สำหรับผลประกอบการของ  AWC มีรายได้รวมในปี 2561 มูลค่า 12,415.64 ล้านบาท (เฉพาะธุรกิจหลักมีรายได้กว่า 10,998.64 ล้านบาท)  โดยสัดส่วน 60% รายได้จากธุรกิจโรงแรมและบริการ ส่วนอีก 40% เป็นรายได้จากกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ เพื่อการพาณิชย์ มีกำไรสุทธิเท่ากับ 489.04 ล้านบาท   ส่วนปี 2560 มีรายได้รวม 11,207.55 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1,372.07 ล้านบาท และปี 2559 มีรายได้รวม 9,411.25 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,890.73 ล้านบาท ซึ่งหากมองย้อนหลังกลับไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้ของ AWC มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 15%

 

ขณะที่แนวทางสร้างการเติบโตของ AWC จะใช้กลยุทธ์หลัก ได้แก่

-การขยายความเป็นผู้นำในโครงการหลักที่ดำเนินการอยู่ ด้วยการจับตลาดกลุ่มกลางถึงบนเป็นทั้งในและต่างประเทศ

-การสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน ด้วยโครงการไพร์มโลเกชั่น และโครงการในลักษณะฟรีโฮล์

-โครงการที่พัฒนาต้องสามารถแข่งขันได้ระดับโลกได้

-การสร้างทีมงานและบุคลากรให้แข็งแกร่ง

 

ส่วนแผนการลงทุนภายหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น  บริษัทยังไม่มีแผนที่ชัดเจน แต่ยังคงวางนโยบายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่เหมือนกับที่ผ่านมา ขณะเดียวกันยังเตรียมคัดโครงการอสังหาฯ ในตระกูลสิริวัฒนภักดี ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มทีซีซี โดยจะเลือกโครงการมีคุณภาพและสามารถสร้างการเติบโตได้เข้ามาในพอร์ตเพิ่มมากขึ้น และเป็นโครงการประเภทโรงแรมหรืออสังหาฯ เพื่อการพาณิชย์

 

“เราลงทุนขนาดใหญ่และจะลงทุนขนาดใหญ่ต่อเนื่อง  เพราะประเทศไทยยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ภาคการท่องเที่ยวยังคงเติบโต  ในอนาคตจะคัดอสังหาฯ ที่อยู่ในไพร์มโลเกชั่นเข้ามา หรือโครงการในกลุ่มทีซีซีที่พร้อมให้ผลตอบแทนเข้ามาในพอร์ต”

 

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด