Reic Focast Re64

REIC มองตลาดอสังหาฯ 64 เปิดตัวใหม่เพิ่มแต่การโอนยังลด

จากภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP มีการปรับลดลง 6.1% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 22 ปี

 

ภาพรวมดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์  โดยจากการจัดเก็บข้อมูลตลอดปี 2563 ที่ผ่านมาของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIC พบความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ รวมถึงแนวโน้มของตลาดอสังหาฯ ที่จะเกิดขึ้นในรอบปี 2564

ปี 64 หลายปัจจัยบวกและลบ

แม้ว่าความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ของไทย จะทำได้ดีกว่าในหลายประเทศทั่วโลก แต่ยังถือว่ามีความล่าช้า โดยเฉพาะยังมีความไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีน และยังมีการล็อกดาวน์ในธุรกิจบางประเภทด้วย จึงถือว่าเป็นปัจจัยลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และภาพรวมของธุรกิจอสังหาฯ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่ยังเพิ่มขึ้น ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ ต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้  ส่งผลต่อตลาดคอนโดมิเนียมอย่างชัดเจน

 

แต่อย่างไรก็ตาม ในหลากหลายปัจจัยลบต่าง ๆ ยังคงพอมีมุมมองในเชิงบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจและตลาดอสังหาฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ การต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียม จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอีก 1 ปี การลดภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสิ่งสร้างเหลือ 10% การเลื่อนประกาศใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่ไปในปี 2565 การเริ่มทยอยฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในหลาย ๆ ประเทศ ราคาอสังหาฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง เพราะผู้ประกอบการยังคงจัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่อง

เปิดตัวใหม่เริ่มฟื้นตัวแต่การโอนยังลด

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 ว่า พบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการปรับตัวของผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาฯ ​โดยมีการลดจำนวนโครงการใหม่เข้าสู่ตลาด  เพื่อให้ที่อยู่อาศัยที่เปิดการขายก่อนหน้านี้ ได้ถูกดูดซับออกไปจากระบบ คาดว่าปี 2564 จะมีการเปิดตัวใหม่ในกรุงเทพฯ​ และปริมณฑล จำนวน 82,594 ยูนิต เพิ่มขึ้น 32.7% จากปี 2563 ที่เปิดตัว 62,227 ยูนิต

Reic New Project

โดยการเปิดตัวใหม่จะเห็นชัดเจนได้ในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปี 2564 และคาดว่าผู้ประกอบการยังจะลงทุนในบ้านจัดสรรมากกว่าคอนโด  ซึ่งคาดว่าบ้านจัดสรรจะเปิดตัวใหม่ในปี 2564 เพิ่มขึ้น 22.5% จากปี 2563 หรือมีจำนวนยูนิตประมาณ 43,732 ยูนิต ส่วนโครงการคอนโดเปิดตัวใหม่ ปี 2564 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 46.5% จากปี 2563  สัดส่วนอาจจะดูเพิ่มขึ้นมากแต่เป็นการเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำมากจากปี 2563 หรือมีจำนวนยูนิตประมาณ 38,862 ยูนิต

 

สถานการณ์ที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ ปี 2563 ถือว่าผู้ประกอบการเปิดตัวอยู่อาศัยใหม่ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี โดยสัดส่วนการเปิดตัวใหม่เริ่มเปลี่ยนไปจากเดิมที่คอนโดจะมากกว่าบ้านจัดสรร แต่ในปี 2563 สัดส่วนเปิดตัวใหม่บ้านจัดรรมากกว่าคอนโด เท่ากับ 57.4 ต่อ 42.6

ด้านการเปิดตัวโครงการใหม่จากการสำรวจพบว่า จำนวนยูนิตที่เปิดขายใหม่ (ไม่นับรวมบ้านมือสอง) เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ปี 2563 ลดลง 36.7% จากปี 2562  โดยมีการเปิดตัวใหม่ จำนวน 62,227 ยูนิต ประกอบด้วยโครงการบ้านจัดสรรเปิดตัวใหม่ 35,702 ยูนิต ลดลง 17.9% จากปี 2562  และโครงการคอนโดเปิดตัวใหม่ 26,525 ยูนิต ลดลง 51.6% จากปี 2562

โอนบ้าน-คอนโด ยังลดลงต่อเนื่อง

REIC ประเมินสถานการณ์โดยรวมว่าปี 2564 จากการเกิดขึ้นของโควิด-19 ระรอกใหม่ ทำให้มียูนิตโอนกรรมสิทธิ์ประมาณ 353,236 ยูนิต จะลดลง 1.5% จากปี 2563  ซึ่งการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบจะลดลงเพียงเล็กน้อยหรือประมาณ 0.1% ในขณะที่คอนโดจะลดลง 4.2%

Reic Unit Tranfer Reic Value Tranfer

ปี 2563 ที่ผ่านมาการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศมีจำนวน 358,496 ยูนิตลดลง 8.5% จากปี 2562  เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่ยู่อาศัยแนวราบจำนวน 236,158 ยูนิต ลดลง 10.0% จากปี 2562 และเป็นการโอนกรรมสิทธิ์โครงการคอนโด 122,338 ยูนิต ลดลง 5.5% จากปี 2562

 

ด้านมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์คาดว่าปี 2564 จะมีมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ประมาณ 876,121 ล้านบาท ลดลง 5.6% จากปี 2563  โดยมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบจะลดลง 7.7% ขณะที่คาดว่ามูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดจะลดลง 1.4%

 

ส่วนมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2563 มีมูลค่า 928,376 ล้านบาท ลดลง 0.3% จากปี 2562  โดยเป็นการลดลงของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์คอนโด 4.7% ขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 2.2%

หวังเศรษฐกิจฟื้นดันยอดสินเชื่อโต 7%

ขณะที่สถานการณ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยในปี 2564 คาดว่าจะมีมูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยประมาณ 595,141 ล้านบาท ลดลงต่อเนื่อง 2.8% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่หากสถานการเศรษฐกิจในปีนี้กลับมาฟื้นตัวได้ในภายหลัง อาจจะทำให้สินเชื่อปล่อยใหม่กลับมาเติบโตเพิ่มขึ้น 7.0% หรือมียอดสินเชื่อ 654,655 ล้านบาท

Reic Property Loan

โดยในปี 2563 มูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั่วประเทศ มีมูลค่า  612,084 ล้านบาท ลดลง 4.4% จากปี 2562 ซึ่งเป็นผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ระรอกแรก ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2563 และต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 2 แม้ว่าช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 สถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้น และมีมาตรการออกมากระตุ้น แต่ผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ส่งผลในวงกว้างทำให้ในภาพรวมของปี 2563 การปล่อยสินเชื่อยังลดลง

ใช้มาตการรัฐกระตุ้นตลาดบ้าน3-7ล.

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาพรวมของธุรกิจอสังหาฯ ยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่อง ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ จึงเห็นว่าภาครัฐควรกระตุ้นตลาด ด้วยการขยายเพดานาราคาของที่อยู่อาศัย ให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการภาครัฐที่ออกมาก่อนหน้า โดยเฉพาะกลุ่มตลาดบ้านระดับราคา 3-7 ล้านบาท เพราะเป็นตลาดหลักและครอบคลุมตลาดอสังหาฯ ได้มากถึง 80% เมื่อรวมกับกลุ่มบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท ที่ภาครัฐได้ออกมาตรการมาช่วยเหลือก่อนหน้านี้แล้ว

 

นอกจากนี้ เห็นว่ามาตรการที่จะให้สิทธิประโยชน์กับกลุ่มบ้านมือ 2 ด้วย เพราะปัจจุบันมาตรการด้านภาษีและค่าธรรมเนียมที่ออกมา บ้านใหม่เท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ การให้สิทธิประโยชน์กับกลุ่มบ้านมือ 2 จะส่งผลดีที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งระบบ เพราะเจ้าของบ้านที่ขายบ้านเก่าไปแล้ว ก็จะต้องหาซื้อบ้านใหม่ที่ใหญ่ขึ้น หรือในทำเลใหม่ ทำให้เกิดสภาพคล่องของตลาดอสังหาฯ

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด