Tag : Hotel

168 ผลลัพธ์
เปิดกลยุทธ์ธุรกิจโรงแรม UHG แม้โดนพิษโควิดแต่ยังกำไร 300 ล้าน

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจโรงแรม UHG แม้โดนพิษโควิดแต่ยังกำไร 300 ล้าน

ธุรกิจที่ทำรายได้หลักเข้ามาในประเทศปีละมหาศาล  นอกจากการผลิตละส่งออกสินค้าชนิดต่าง ๆ แล้ว ก็มีธุรกิจการท่องเที่ยว ที่นำรายได้มาสู่ประเทศของเรา จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายออกไปจากตลาดการท่องเที่ยวของไทย แน่นอนปีนี้รายได้จากตลาดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ คงเหลือเพียงน้อยนิด เพราะผลจากมาตรการการปิดประเทศป้องกันภัยจากโรคโควิด-19   ตลอดระยะเวลาหลายเดือนนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด โรงแรมหลายแห่งจึงปิดกิจการลง เพราะไม่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการ หากมีก็น้อยนิดไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายในการเปิดดำเนินการ ซึ่งมีทั้งแบบปิดเพียงชั่วคราว และปิดกิจการเลย หลังจากภาครัฐสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ จึงได้ออกมาตรการมาช่วยกระตุ้นตลาด อย่างเช่น เราเที่ยวด้วยกัน ให้สิทธิพิเศษในการเข้าพักโรงแรมด้วยส่วนลดถึง 40% เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ปัจจุบันยังได้ขยายระยะเวลาโครงการเราเที่ยวด้วยกันไปสิ้นสุดในวันที่ 31 มกราคม 2564 จากเดิมสิ้นสุดในปี 2563 และเพิ่มสิทธิพิเศษมากขึ้นด้วย กลุ่มบริษัท เออร์เบิน ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป จำกัด หรือ UHG ผู้พัฒนาโรงแรมภายใต้แบรนด์เดอะ ควอเตอร์ (The Quarter) เดอะเรสซิเดนซ์ (The Residence) อัลท์ โฮเทล นานา (Alt Hotel Nana) เอเวอร์กรีน เพลส สยาม​(Evergreen Place Siam) และ อโศก เรสซิเดนซ์ สุขุมวิท (​Asoke Residence Sukhumvit​) ซึ่งเป็นกลุ่มโรงแรมระดับ 4 ดาว กระจายอยู่ในทำเลต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ  ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้เช่นกัน แต่ในภาพรวมแล้ว UHG ยังถือว่าสามารถผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ โดยไม่ได้ปิดการให้บริการโรงแรม และไม่ได้เลิกจ้างพนักงาน แต่ที่สำคัญยังคงสามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้นในปีนี้ได้ UHG ยังทำกำไร 300 ล้าน นายวุฒิพล ถาวรธวัช กรรมการ ผู้จัดการกลุ่มบริษัท เออร์เบิน ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป จำกัด หรือ UHG เปิดเผยว่า ผลประกอบการในปีนี้ คาดว่าบริษัทจะยังรักษาอัตรากำไรขั้นต้นได้ 300 ล้านบาท ซึ่งปีที่ผ่านมามีกำไรขั้นต้นประมาณ​ 400 ล้านบาท เพราะในปีนี้ได้รับผลกระทบจากจำนวนลูกค้าต่างชาติที่เป็นสัดส่วนหลัก 80% ไม่ได้เข้ามาใช้บริการตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้บริษัทต้องปรับเป้าหมายรายได้ใหม่ โดยปรับลดรายได้ลง 40% จากเป้าหมายเดิมที่คาดว่าจะทำได้ "เราเป็นโรงแรม 4 ดาว ซิตี้ โฮเทล ค่าบริหารจัดการน้อยกว่า โรงแรม 5 ดาว ที่ต้องมีเซฟฝรั่ง สปาหรู ล็อบบี้เปิดแอร์ตลอด โครงสร้างค่าใช้จ่ายน้อยกว่าโรงแรม 5 ดาว  ซึ่งโรงแรม 5 ดาวมีกำไรขั้นต้น 35-40% แต่โรงแรม 4 ดาว มีกำไรขั้นต้น 65%  ที่สำคัญเรามีหนี้น้อย การพัฒนาโรงแรมใช้งบลงทุนน้อย เพราะเป็นที่ดินเช่า ช่วงที่ผ่านมาเจ้าของที่ดินยังมีการปรับลดค่าเช่าที่ดินลง 30% ให้ในช่วงโควิดด้วย และยังมีข้อดีจาก อีโคโนมีออฟสเกล เรามีหลายโรงแรม แต่ฝ่ายจัดการกลุ่มเดียว เพราะต้นทุนหลัก ๆ เป็น ค่าเงินเดือน ค่าเช่าและค่าไฟ"   ปัจจุบันอัตราการเข้าพักในโรงแรมของกลุ่มบริษัท เริ่มปรับตัวดีขึ้นจนใกล้จะเป็นปกติ รวมถึงค่าห้องได้ปรับเพิ่มขึ้นจนใกล้เคียงกับอัตราปกติ จากก่อนหน้าที่บริษัทได้ทำโปรโมชั่นและการจัดรายการส่งเสริมการขายต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าตลาดโรงแรมน่าจะฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปี 2564 แต่ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องวัคซีนที่จะมีออกมาป้องกันไวรัสโควิด-19 ด้วยว่าจะมีออกมาใช้จริงเมื่อไร รวมถึงการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของภาครัฐ จะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมหรือมากขึ้นกว่านี้หรือไม่ อัดงบสื่อออนไลน์ 4 เท่ากระตุ้นยอด แนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทในช่วงไตรมาสสุดท้าย จะต้องติดตามข่าวของภาครัฐ เพื่อปรับแผนการตลาดให้ทันกับมาตรการภาครัฐที่จะเกิดขึ้น และการมุ่งเน้นการให้บริการกับลูกค้า ตอบสนองทุกความต้องการที่ลูกค้าต้องการ เพื่อให้ลูกค้าพอใจ รวมถึงการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ควบคู่ การนำเอาข้อมูลลูกค้ามาวิเคราะห์ เพื่อการโฆษณาและสื่อสารได้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย   หลังจากภาครัฐมีแคมเปญเราเที่ยวด้วยกันออกมา สถานการณ์ดีขึ้นทุกเดือน ถือว่าแคมเปญรัฐบาลมีผลพอสมควร และบริษัทได้เน้นการทำตลาดออนไลน์เจาะในแต่ละโลเกชั่นมากขึ้น แต่ละโลเกชั่นจะมีคีย์เวิร์ด เช่น ทองหล่อไนท์ไลฟ์  ทำคนเริ่มจำแบรนด์ UHG ได้มากขึ้น ปีนี้บริษัทเพิ่มงบในสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น 3-4 เท่า จากปีที่ผ่านมา เพราะในตลาดตอนนี้เหลือแต่คนไทย และคนไทยเล่นเฟสบุ๊คเยอะมาก เดินหน้าลงทุนไม่หยุดเพราะ “โควิด-19”    แม้ว่าปีนี้จะมีปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้รายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ในด้านการลงทุน UHG ยังคงเดินหน้าลงทุนตามแผนที่ได้วางไว้ โดยปีนี้วางแผนเปิดโรงแรมใหม่ 4 โรงแรม ซึ่งเปิดดำเนินการไปแล้ว 3 โรงแรม ยังเหลืออีก 1 โรงแรมที่จะเปิดในย่านสีลม ในวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ขณะที่โครงการมิกซ์ยูสบริเวณถนนรามคำแหง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบ และการยื่นขออีไอเอ ซึ่งตามแผนจะเริ่มก่อสร้างในไตรมาส 2 ปี 2564 บริษัทยังคงเดินหน้าตามแผน​   นอกจากการเปิดโรงแรมแห่งใหม่ตามแผนที่วางไว้แล้ว ปีนี้บริษัทยังได้ทำสัญญาเช่าระยะยาวเป็นเวลา 18 ปี ในการบริหารโรงแรมสิริสาธร  เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยได้ลงทุน 40-50 ล้านบาท ปรับปรุงห้องพักและพื้นที่ส่วนกลางใหม่ พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นโรงแรมสิริสาธร แบงคอก บาย ยูเอชจี  ซึ่งหลังจากการปรับปรุงห้องพัก ด้วยการลดขนาดห้อง 90 ตารางเมตร เหลือขนาดห้อง 45 ตารางเมตรทำให้มีห้องพักเพิ่มเป็น 167 ห้องจากเดิมที่มีจำนวน 104 ห้อง โดยเปิดให้บริการมาตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม “ใจสู้+เงินสด” 2 สิ่งสู้พิษโควิด นายวุฒิพล กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น บริษัทได้เรียนรู้ใน 2 เรื่องสำคัญ คือ 1.ต้องพยายามสู้และปรับตัว เพราะในตลาดมันยังมีโอกาส และ 2.กระแสเงินสดสำคัญที่สุด ต้องหาเงินสดเข้ามาให้ได้ ที่ผ่านมาจึงไม่ได้ปิดให้บริการโรงแรมเลย และยังได้ปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลง เช่น การปรับห้องพักเป็นห้องทำงาน รองรับกับพฤติกรรม Work From Home ซึ่งพนักเลือกมาใช้บริการห้องของโรงแรม เพราะมีความสะดวก มีห้องอาหารเปิดให้บริการ เป็นต้น   นอกจากนี้ เรื่องการบริหารความเสี่ยง ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ต้องนำมาใช้ควบคู่กับกับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งบริษัทมีโครงการที่เป็นลักษณะมิกซ์ยูส มีพื้นที่สำนักงานให้เช่า จึงทำให้สามารถบาลานซ์ความเสี่ยงจากธุรกิจโรงแรมได้ และยังสามารถนำสองธุรกิจดังกล่าวมาทำการตลาดร่วมกันได้ เช่น การบริการห้องประชุม ห้องพัก สำหรับกลุ่มลูกค้าของพื้นที่สำนักงานให้เช่า เป้นต้น  
AWC เปิด 3 ปรากฏการณ์ใหม่ของ “เอเชียทีค” กับแนวคิด Heritage Alive

AWC เปิด 3 ปรากฏการณ์ใหม่ของ “เอเชียทีค” กับแนวคิด Heritage Alive

AWC หรือบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน)  มีแนวคิดในการพัฒนาธุรกิจของ ที่มุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนเพื่อการเติบโตร่วมอย่างแข็งแกร่ง ภายใต้ปรัชญา “สร้างสรรค์อนาคตที่ดีกว่า” ควบคู่กับการส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง   ขณะที่ปัจจุบัน พบว่าพฤติกรรม และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในเรื่องการกินดื่ม ช้อปปิ้ง การท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ  เป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้ AWC ได้ปรับโฉมพร้อมยกระดับโครงการ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปในหลากหลายมิติของลูกค้าทุกกลุ่ม   โดยเอเชียทีคฯ กำลังจะเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภค กับ 3 ประสบการณ์ใหม่ ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ด้วยองค์ประกอบและบรรยากาศที่น่าตื่นตาตื่นใจ  ภายใต้ด้วยแนวคิด “Heritage Alive” ต่อยอดการอนุรักษ์หลักฐานอิงประวัติศาสตร์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยสะท้อนเรื่องราวของพื้นที่ที่ตั้งของเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวอันทรงคุณค่าที่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย เนื่องจากเป็นย่านเก่าแก่บนถนนเจริญกรุง ถนนสายแรกของกรุงเทพฯ เป็นเสมือนชีพจรทางเศรษฐกิจที่เป็นแหล่งรวมวิถีดำเนินธุรกิจและวิถีชีวิตแบบผสมผสานโลกตะวันออกกับตะวันตกที่เชื่อมโยงอดีตตั้งแต่ในช่วงรัชกาลที่ 5 สืบสานมาจนถึงปัจจุบัน 3 องค์ประกอบสร้างปรากฎการณ์ใหม่ 1.“เรือสิริมหรรณพ” แลนด์มาร์คใหม่ริมน้ำเจ้าพระยา เรือสิริมหรรณพ  สร้างขึ้นจากต้นแบบเรือใบสามเสา ในยุคเริ่มต้นการปฏิสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสยามกับโลกตะวันตก ในช่วงรัชกาลที่ 5 เป็นเรือแห่งประวัติศาสตร์  ที่นำพาความรุ่งเรืองจากโพ้นน้ำตะวันตกมาสู่ผืนดินสยาม  เรือใบสามเสานี้เป็นเรือนำขบวนเสด็จประพาสยุโรป  ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป และนำความเจริญรุ่งเรืองกลับมาสู่ผืนดินไทย โดยจะเทียบท่าถาวร ที่เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เพื่อให้ชาวไทยและชาวโลกได้สัมผัสกับลักษณะของเรือแห่งตำนาน   นอกจากนี้เรือสิริมหรรณพยังออกแบบขึ้นเพื่อตอบโจทย์การท่องเที่ยวเชิงไลฟ์สไตล์ ทั้งการกินดื่มและพักผ่อนหย่อนใจ ด้วยห้องอาหาร และบาร์ระดับพรีเมี่ยมที่ให้บริการอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะ ภายใต้การบริหารของโรงแรม แบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค โดยรวบรวมประสบการณ์ที่เป็นศูนย์รวมของคนที่มีความชื่นชอบและความสนใจในเรื่องเดียวกันมาไว้ด้วยกัน 2.Living Museum & Art Festival พิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่มอบประสบการณ์รูปแบบใหม่ในการสัมผัสและเรียนรู้ศิลปะ วัฒนธรรม โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีอินเตอร์แอคทีฟเพื่อสร้างภาพเสมือนจริงแบบ Augmented Reality ในการนำเสนอผ่านเส้นทาง The Memory Lanes ที่มีแหล่งดึงดูดใจสำคัญๆ ทั้ง 36 จุด ที่ให้ผู้เข้าชมได้เพลิดเพลินกับเส้นทางแห่งความทรงจำ ด้วยองค์ประกอบที่สร้างบรรยากาศที่สะท้อนประวัติศาสตร์ทั้งในด้านศิลปะวัฒนธรรม และวิถีชีวิต ของพื้นที่ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางแห่งการค้านานาชาติในอดีต ผ่านประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นใหม่เป็นครั้งแรก   โดยแบ่งออกเป็น 3 โซนหลักได้แก่ โซนสายน้ำแห่งการเชื่อมต่อความสัมพันธ์ โซนจากผืนน้ำสู่ผืนดินแห่งความเจริญรุ่งเรือง และโซนมรดกทางวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดคุณค่าสู่เอกลักษณ์ความเป็นไทย ส่วน Art Festival คือมิติใหม่ของการดื่มด่ำกับศิลปะโดยการสอดแทรกเรื่องราวทางศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิต ลงไปในผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ ในพื้นที่ต่าง ๆ ของโครงการ ทั้งภาพวาด สตรีทอาร์ท ประติมากรรม และอื่น ๆ ซึ่งนอกจะเป็นการนำเสนอประสบการณ์ใหม่ๆ ทางศิลปะวัฒนธรรมยังเป็น Photo Spot ที่ดึงดูดให้คนเข้ามาถ่ายภาพและเช็คอินอีกด้วย 3.New Mega Riverside F&B Destination ศูนย์กลางแห่งการกินดื่มที่ทุกคนต้องนึกถึงและอยากมา ด้วยตัวเลือกอันหลากหลายของกว่า 40 ภัตตาคาร ร้านอาหารนานาชาติ ทั้งไทย จีน ญี่ปุ่น อิตาเลียน คาเฟ่ บาร์แอนด์บิสโทร บาร์บีคิว เบียร์การ์เดนท์ พร้อมการแสดงดนตรีสด เสริมทัพด้วยการจับมือกับ “ครัวคุณต๋อย” แพลตฟอร์มของสื่อด้านอาหารและเครือข่ายร้านอาหารชั้นนำที่มีขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของไทย ร่วมสร้างดินแดนแห่งความอิ่มอร่อยครบรสที่คัดสรรโดยคุณไตรภพ ลิมปพัทธ์ พิธีกรแถวหน้าของเมืองไทย ในการรวมร้านอาหาร ขนม เครื่องดื่มที่เปี่ยมด้วยคุณภาพและความอร่อยของรสชาตินานาชนิดจากร้านเด่นดังทั่วประเทศ ไว้ในโครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เพื่อเป็นสีสันใหม่ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ด้านการกิน ดื่ม ที่มีให้เลือกอย่างหลากหลาย ครบเครื่อง ครบรส ครบทุกสไตล์และความชื่นชอบในที่เดียว นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC เปิดเผยว่า เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ โฉมใหม่ พร้อมให้คนไทยและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้สัมผัสกับจุดหมายปลายทางแห่งคุณค่าของเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์ ทั้งทางด้านอารยธรรม การค้า ศิลปวัฒนธรรม และองค์ประกอบของความแปลกใหม่ล้ำสมัย ชวนตื่นตาตื่นใจ ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2563 นี้เป็นต้นไป    
10 เรื่องน่ารู้โปรเจ็กต์ “เจ้าพระยา เอสเตท” มิกซ์ยูส 3.2 หมื่นล้านกับการพัฒนานาน 10 ปี

10 เรื่องน่ารู้โปรเจ็กต์ “เจ้าพระยา เอสเตท” มิกซ์ยูส 3.2 หมื่นล้านกับการพัฒนานาน 10 ปี

ภายในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า โครงการมิกซ์ยูส “เจ้าพระยา เอสเตท” มูลค่า 32,000 ล้านบาท  ของบริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ CGD ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ก็จะสมบูรณ์แล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการครบทุกพื้นที่ของโครงการ  หลังจากใช้ระยะเวลาการพัฒนาโครงการมานานนับ 10 ปี ถือเป็นโครงการที่ระยะเวลาการพัฒนาที่ยาวนานที่สุดของบริษัท  และมีมูลค่ามากที่สุด   โครงการนี้ มีเรื่องน่าสนใจอะไรบ้าง และมีความสำคัญต่อการเติบโตของ CGD อย่างไร คงดูได้จาก 10 เรื่องไฮไลท์นี้   1.โครงการพัฒนาบนที่ดิน 35-2-68 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ความยาวถึง 350 เมตร เป็นการเช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นระยะเวลา 75 ปี แบ่งเป็นอายุสัญญาณ 25+25+25 ปี โครงการคอนโดมิเนียมจึงเป็นรูปแบบสิทธิการเช่าที่ถือครองกรรมสิทธิ์ ตามช่วงระยะเวลาที่กำหนด หรือ  Leasehold   2.การพัฒนาโครงการใช้ระยะเวลา 10 ปี โดยในช่วงประมาณ 4 ปีแรก เป็นการเตรียมพื้นที่จากผู้เช่าเดิมออก ซึ่งเดิมมีผู้เช่าเป็นองค์การสะพานปลา และบ้านเรือนประชาชนอีก 300 หลังคาเรือน และใช้ระยะเวลาการก่อสร้างและพัฒนาอีก 5 ปีจนถึงปัจจุบัน   3.บริษัทเริ่มเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2558 โดยถือว่าเป็นการพัฒนาโครงการที่มีมูลค่าและขนาดใหญ่ที่สุดของบริษัท ซึ่งมากถึง 32,000 ล้านบาท ประกอบด้วย คอนโดมิเนียม โฟร์ซีซั่นส์ ไพรเวท เรสซิเดนซ์ กรุงเทพฯ โรงแรมโฟร์ซีซันส์ กรุงเทพฯ และโรงแรมคาเพลลา กรุงเทพฯ 4.คอนโด โฟร์ซีซั่นส์ ไพรเวท เรสซิเดนซ์ กรุงเทพฯ ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สุดของกลุ่มโฟร์ซีซั่นส์ที่ได้เข้าบริหาร  มีมูลค่าขายโครงการ 21,000 ล้านบาท  จำนวน 366 ยูนิต แบ่งเป็นห้องขนาด 2 ห้องนอน จำนวน 251 ยูนิต ขนาด 3 ห้องนอน 73 ยูนิต ส่วนที่เหลือเป็นห้องขนาด 4 ห้องนอนและเพ้นส์เฮ้าส์รวม   5.ราคาช่วงเปิดตัวของโครงการคอนโด โฟร์ซีซั่นส์ ไพรเวท เรสซิเดนซ์ กรุงเทพฯ มีราคาสูงที่สุดในขณะนั้น ด้วยราคาขายเฉลี่ย 300,000 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งเพียงปีแรกที่ได้เปิดตัวขาย สามารถทำยอดขายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 30% ปัจจุบันสามารถทำยอดขายได้ 70% และราคาขายเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 320,000 บาทต่อตารางเมตร  ส่วนที่เหลืออีก 30% บริษัทคาดว่าจะปรับราคาขายขึ้นเป็น 360,000 บาทต่อตารางเมตร   6.โครงการคอนโด โฟร์ซีซั่นส์ ไพรเวท เรสซิเดนซ์ กรุงเทพฯ ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ปัจจุบันมีสัดส่วนมากถึง 64% โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าชาวฮ่องกง ที่มีสัดส่วนถึง 26% 7.ปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากการโอนแล้ว 1,000 ล้านบาท และมียอดขายรอรับรู้รายได้อีก 12,000 ล้านบาท ซึ่งรายได้จากการโอนบริษัทจะนำไปชำระหนี้เงินกู้ที่มีอยู่ 11,000 ล้านบาท  ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้กลุ่มลูกค้าต่างชาติ ยังไม่สามารถเข้ามาดำเนินการโอนห้องได้ แต่เชื่อว่าลูกค้ายังคงมีความต้องการ เนื่องจากได้วางเงินดาวน์ถึง 30%   8.โรงแรมคาเพลลา กรุงเทพฯ เป็นโรงแรมระดับซูเปอร์ลักชัวรี่ แห่งแรกในประเทศไทยของกลุ่มคาเพลลา มีขนาด 101 ห้องในรูปแบบวิลล่าและห้องสวีท และเป็นแห่งที่ 6 ของโลก จากก่อนหน้านี้มีการขยายการลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย เยอรมัน สิงคโปร์ และจีน 2 แห่ง ในอนาคตยังมีแผนขยายการลงทุนไปในประเทศเวียดนาม และญี่ปุ่น  ซึ่ง Horst Schulze นักธุรกิจโรงแรมประเทศสิงคโปร์ เป็นเจ้าของแบรนด์  ซึ่งแม้จะเป็นแบรนด์ใหม่ แต่ถือว่าได้รับการยอมรับจากกลุ่มนักเดินทางและท่องเที่ยว ได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย โดยกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2563   9.การพัฒนาโรงแรมของ CGD ทั้ง 2 แห่ง จะเน้นสัดส่วนรายได้จากห้องพัก 50% และรายได้จากการจัดงานอีเวนต์  ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มภายในโรงแรม เห็นได้จากจำนวนห้องพักที่มีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับขนาดของโรงแรมและเม็ดเงินลงทุน  โดยโรงแรม โฟร์ซีซั่นส์ กรุงเทพฯ มีห้องพักจำนวน  299 ห้อง จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2563 นี้   ไฮไลท์ที่จะช่วยผลักดันให้ CGD มีรายได้จากธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการจัดงานอีเวนต์ คือ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาห้องจัดงานเลี้ยงและห้องอาหาร ซึ่งมีขนาดใหญ่ และตั้งในทำเลที่เห็นวิวแม่น้ำได้อย่างชัดเจน การมีห้องอาหารเชฟมิชิลินสตาร์ 3 ดาว การมีห้องอาหารหลากหลายชนิด ทั้งอาหารไทยและอินเตอร์เนชั่นแนล 10.โครงการเจ้าพระยา เอสเตท เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ จะส่งผลให้บริษัทมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง  จะช่วยทำให้ผลประกอบการมีทิศทางที่ดีขึ้น คาดว่าผลประกอบการในปีนี้ จะเทิร์นอะราวด์พลิกกลับมามีกำไร หลังจากปีที่ผ่านมายังประสบภาวะขาดทุนกว่า 489 ล้านบาท รวมถึงในช่วง 6 เดือนแรก ยังขาดทุนกว่า 347 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการขาดทุนในอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน โดย CGD ยังได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่องด้วย   นายเบน เตชะอุบล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ CGD เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ ทำให้ยังไม่มีรายได้กลับเข้ามา จะมีแต่การลงทุน ทำให้งบการเงินยังไม่มีกำไร ซึ่งนับจากนี้บริษัทน่าจะกลับมาสร้างการเติบโตและผลกำไรได้ เห็นได้จากไตรมาส 2 ที่ผ่านมาบริษัทเริ่มทำกำไรได้กว่า 544 ล้านบาท แม้ไตรมาสแรกยังขาดทุนแต่เป็นผลจาก การขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเงิน  
31 บิ๊กอสังหาฯ  โดนพิษโควิด-19 กำไรรวมไตรมาส 2 ลดกว่า 48%

31 บิ๊กอสังหาฯ โดนพิษโควิด-19 กำไรรวมไตรมาส 2 ลดกว่า 48%

แม้ว่าประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจทำให้ยอดขายและรายได้ลดลง ซึ่งบางรายได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการก็มีให้เห็น แต่หลายธุรกิจสามารถปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดได้เป็นอย่างดี  เห็นได้จากผลประกอบการในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ยังสามารถสร้างการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นด้านรายได้หรือกำไร   ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็เป็นหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ ไม่ได้แตกต่างจากหลายธุรกิจ ซึ่งมีทั้งผู้ที่ยังทำกำไรเติบโต ขณะเดียวกันก็มีหลายรายที่ประสบภาวะขาดทุน  ผู้ที่สามารถปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ได้ดี ก็สามารถสร้างผลงานชนิดทุบสถิติรายได้ของตนเอง นับตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจจนมาถึงปัจจุบัน ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้กับตนเอง โดยเฉพาะบริษัทอสังหาฯ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย   จากการรวบรวมข้อมูลบริษัทมหาชน (บมจ.) ซึ่งดำเนินธุรกิจหลักด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวน 31 บริษัท พบว่า ผลประกอบการในช่วงไตรมาส 2 ยังคงทำรายได้รวมจำนวน 73,712.62 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยเพียง 1.66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีจำนวน 74,960.02 ล้านบาท แต่กำไรจากการดำเนินงานของทั้ง 31 บริษัท ลดลงอย่างมากถึง 48.72%   อัตรากำไรที่ลดลงดังกล่าว  เป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจอสังหาฯ ประเภทอื่นๆ อาทิ โรงแรม ศูนย์การค้า สำนักงานให้เช่า ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ปกติ จึงทำให้บริษัทอสังหาฯ ซึ่งไม่ได้ขายแต่บ้านและคอนโดมิเนียม ต้องอัตรากำไรสุทธิลดลง แม้ว่ารายได้เฉพาะที่มาจากการขายบ้านและคอนโด ของทั้ง 31 บริษัท จะยังเติบโตในอัตรา 10.96% ซึ่งมีรายได้ 66,330.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาส 2 ปี 2562 ที่มีรายได้จากการขายอสังหาฯ 59,778.80 ล้านบาทก็ตาม 10 บิ๊กอสังหาฯ กวาดรายได้รวมกว่า 5.6 หมื่นล้าน สำหรับบริษัทที่มีรายได้รวมมากที่สุด 10 อันแรก ยังคงเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่และเป็นผู้นำตลาด โดยมีรายได้รวมทั้ง 10 บริษัท จำนวน  56,424.75 ล้านบาท เติบโต 10.10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีรายได้รวมจำนวน 51,250.03 ล้านบาท 10 อันดับแรกบริษัทอสังหาฯ ทำรายได้รวมสูงสุด ได้แก่ 1.แสนสิริ  มีรายได้รวม 11,305.51 ล้าบาท เติบโต 163.82% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวน 4,285.37 ล้านบาท 2.แลนด์แอนด์เฮ้าส์  มีรายได้รวม 8,298.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.59% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 7,859.46 ล้านบาท 3.เอพี (ไทยแลนด์)  มีรายได้รวม 7,792.00 ล้านบาท เติบโต 62.23%  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีจำนวน 4,803.09 ล้านบาท 4.พฤกษา โฮลดิ้ง  มีรายได้รวม 6,222.81ล้านบาท ลดลง 20.27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 7,805.09 ล้านบาท 5.เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ 4,882.54 ล้านบาท ลดลง 2.95% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี จำนวน 5,031.11 ล้านบาท 6.เอสซีแอสเสท คอร์ปอเรชั่น   มีรายได้รวม 4,568.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.67% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 3,496.42 ล้านบาท 7.ควอลิตี้ เฮ้าส์   มีรายได้รวม 4,341.24 ล้านบาท ลดลง 26.14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี จำนวน 5,878.01 ล้านบาท 8.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้   มีรายได้รวม จำนวน 3,292.37 ล้านบาท ลดลง 1.32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 3,336.49 ล้านบาท 9.ศุภาลัย  มีรายได้รวม จำนวน 3,039.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีจำนวน 4,477.10 ล้านบาท 10.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค  มีรายได้รวม จำนวน 2,680.77 ล้านบาท ลดลง -37.33% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีจำนวน 4,277.89 ล้านบาท 10 บิ๊กอสังหาฯ​ ขายบ้าน-คอนโด สร้างรายได้โต 22.11% อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะผลประกอบการ  ในส่วนที่เป็นรายได้ด้านการขายที่อยู่อาศัย ในกลุ่มบิ๊กอสังหาฯ 10 อันดับแรก พบว่า มีรายได้รวมกันจำนวน 51,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จาการขายอสังหาฯ รวม 42,536.33 ล้านบาท สำหรับ 10 อันดับแรกของบริษัทที่มีรายได้จากการขายอสังหาฯ​ สูงสุด ได้แก่ 1.แสนสิริ  มีรายได้จากการขายอสังหาฯ รวม 10,338.20 ล้านบาท เติบโต 309.41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน  2,525.14 ล้านบาท 2.เอพี (ไทยแลนด์) มีรายได้จากการขายอสังหาฯ รวม 7,582.90 ล้านบาท เติบโต  67.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 4,529.82 ล้านบาท 3.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ มีรายได้จากการขายอสังหาฯ รวม 7,230.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.57% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 6,539.03 ล้านบาท 4.พฤกษา โฮลดิ้ง มีรายได้จากการขายอสังหาฯ รวม 6,165.52 ล้านบาท ลดลง​ 20.76% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 7,780.66 ล้านบาท 5.เอสซีแอสเสท คอร์ปอเรชั่น มีรายได้จากการขายอสังหาฯ รวม 4,360.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน  3,275.08 ล้านบาท 6.เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย)* มีรายได้จากการขายอสังหาฯ รวม 3,880.16 ล้านบาท เติบโต 12.81% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 3,439.54 ล้านบาท 7.ควอลิตี้ เฮ้าส์ มีรายได้จากการขายอสังหาฯ รวม 3,859.15 ล้านบาท ลดลง​ 23.50%  จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 5,044.68 ล้านบาท 8.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ มีรายได้จากการขายอสังหาฯ รวม 3,088.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน  2,825.80 ล้านบาท 9.ศุภาลัย มีรายได้จากการขายอสังหาฯ รวม 2,917.91 ล้านบาท ลดลง​ 32.46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 4,320.04 ล้านบาท 10.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค มีรายได้จากการขายอสังหาฯ รวม 2,517.51ล้านบาท  เติบโต 11.57% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 2,256.54 ล้านบาท หมายเหตุ - * ผลการดำเนินงานของบริษัท เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประจำไตรมาส 3/2563 งวดเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 10 บิ๊กอสังหาฯ กำไรลดกว่า 5% แม้ว่า 10 บริษัทขนาดใหญ่ จะสามารถสร้างรายได้รวม และรายได้จากการขายอสังหาฯ เติบโตจากไตรมาส 2 ของปีที่ผ่านมาได้ แต่ดูเหมือนว่าความสามารถในทำกำไรจะลดลงอย่างมาก ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า เป็นผลจากการลดราคาสินค้า การจัดทำแคมเปญกระตุ้นการขาย และการมีต้นทุนทางการตลาดที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อรวมกับธุรกิจอื่น ๆ ที่บริษัทนั้น ๆ ดำเนินการ ที่รับผลกระทบ เช่น การปิดบริการธุรกิจโรงแรม หรือ ปิดศูนย์การค้า จึงทำให้กำไรโดยรวมลดน้อยลงนั่นเอง   โดยบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ 10 อันดับแรก มีอัตรากำไรรวม 6,478.63 ล้านบาท ลดลง 5.10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 6,826.71 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับภาพรวมทั้งอุตสาหกรรม ยังถือว่าทั้ง 10 บริษัทดังกล่าว ยังมีความสามารถทำกำไรได้ดีกว่า เพราะภาพรวมกำไรลดไปกว่า 48.28% โดย 10 บริษัทแรกที่มีอัตรากำไรสุทธิสูงสุด ได้แก่ 1.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ มีกำไรสุทธิ จำนวน 1,386.28 ล้านบาท  ลดลง 25.24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 1,854.30 ล้านบาท 2.เอพี (ไทยแลนด์) มีกำไรสุทธิ จำนวน 1,214.61ล้านบาท เพิ่มขึ้น 149.35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 487.09 ล้านบาท 3.ควอลิตี้ เฮ้าส์ มีกำไรสุทธิ จำนวน 968.58 ล้านบาท ลดลง 33.77% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 1,462.40 ล้านบาท 4.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ มีกำไรสุทธิ จำนวน 707.07 ล้านบาท ลดลง 4.08% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 737.16 ล้านบาท 5.เอสซีแอสเสท คอร์ปอเรชั่น มีกำไรสุทธิ จำนวน 454.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 279.46 ล้านบาท 6.ศุภาลัย มีกำไรสุทธิ จำนวน 423.30 ล้านบาท ลดลง 45.53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 777.15 ล้านบาท 7.เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย)* มีกำไรสุทธิ จำนวน 398.69 ล้านบาท ลดลง​49.99%จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 797.29 ล้านบาท 8.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ มีกำไรสุทธิ จำนวน 395.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 164.26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 149.79 ล้านบาท 9.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ มีกำไรสุทธิ จำนวน 303.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84.46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 164.47 ล้านบาท 10.เสนา ดีเวลลอปเมนท์ มีกำไรสุทธิ จำนวน 226.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 92.76% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 117.60 ล้านบาท หมายเหตุ - * ผลการดำเนินงานของบริษัท เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประจำไตรมาส 3/2563 งวดเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 11 บริษัทสู้พิษโควิดไม่ไหว ขาดทุนรวม 2,209.58 ล. การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ไม่เพียงแต่ทำให้หลายบริษัทมีกำไรลดลงเท่านั้น แต่ทำให้ผู้ประกอบการบางรายประสบภาวะขาดทุนจากการดำเนินงานเลยทีเดียว ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีถึง 11 บริษัท ที่ประสบภาวะขาดทุนในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยมีผลขาดทุนรวมกัน 2,537.09 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้ที่ทั้ง 11 บริษัทมีกำไรรวม 923.51 ล้านบาท   โดย 11 บริษัทที่ประสบภาวะขาดทุนในไตรมาส 2 ได้แก่ 1.สิงห์ เอสเตท ขาดทุน จำนวน 946.05 ล้านบาท  ลดลง 606.07% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 186.94 ล้านบาท 2.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ขาดทุน จำนวน 544.70 ล้านบาท ลดลง 424.09% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 168.07 ล้านบาท 3.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ขาดทุน จำนวน 470.70 ล้านบาท ลดลง 238.98% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 255.84 ล้านบาท 4.ชาญ อิสระ ขาดทุน จำนวน 158.59 ขาดทุนเพิ่ม 39.04% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 114.06 ล้านบาท 5.ไรมอนด์ แลนด์ ขาดทุน จำนวน 130.44 ล้านบาท ลดลง 309.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 54.73 ล้านบาท 6.นุศาศิริ ขาดทุน จำนวน 128.71 ล้านบาท ลดลง 620.46%  จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 24.73 ล้านบาท 7.เมเจอร์ดีเวลลอปเมนท์ ขาดทุน จำนวน 79.95 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 467.02 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 14.10ล้านบาท 8.มั่นคง เคหะการ ขาดทุน จำนวน 35.22 ล้านบาท  ลดลง 126.83% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 131.25 ล้านบาท 9.เนอวานา ไดอิ ขาดทุน จำนวน 34.47 ล้านบาท ลดลง 268.89% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 20.41 ล้านบาท 10.สัมมากร ขาดทุน จำนวน 4.70 ล้านบาท ลดลง 102.16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 217.70 ล้านบาท 11.ปรีชา กรุ๊ป ขาดทุน จำนวน 3.56 ล้านบาท ขาดทุนลดลง 55.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีขาดทุน 8.00 ล้านบาท สำหรับธุรกิจอสังหาฯ​ ในปีนี้ ถือว่าเป็นปีที่มีความท้าทาย และเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ที่สำคัญเป็นปีที่ดีสำหรับผู้ที่มีกำลังซื้อ และมีความต้องการที่อยู่อาศัยอย่างแท้จริง เพราะผู้ประกอบการต่างจัดโปรโมชั่น การส่งเสริมการขาย เพื่อระบายสต็อกในมือที่มีอยู่  แลกเป็นกระแสเงินสดให้เข้ามาใช้ในการบริหารธุรกิจในภาวะวิกฤตเช่นนี้ ซึ่งผู้ซื้อก็ต้องเลือกพิจารณาโครงการให้รอบครอบ  ราคาก็เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจซื้อ แต่เรื่องของคุณภาพและบริการหลังการขาย  ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเราต้องอยู่กับบ้านที่ซื้อไม่ใช่แค่ปีสองปี แต่คงเป็นระยะเวลานับสิบ ๆปี หากไม่คิดขายก่อนเพื่อเก็งกำไร   แต่สำหรับผู้ประกอบการ เชื่อว่าวิกฤตครั้งนี้ น่าจะเป็นอีกหนึ่งบทเรียนทางธุรกิจสำคัญ ที่จะทำให้นับจากนี้ต้องพิจารณาทิศทางการดำเนินธุรกิจให้รอบครอบ รวมถึงต้องเตรียมแผนสำรอง และการบริหารความเสี่ยงในมุมต่าง ๆ เอาไว้ให้รอบด้านด้วย
แอสคอทท์เปิดตัวโรงแรมแบรนด์ใหม่ “ไลฟ์ สุขุมวิท 8” จับตลาดนักเที่ยวมิลเลนเนียล

แอสคอทท์เปิดตัวโรงแรมแบรนด์ใหม่ “ไลฟ์ สุขุมวิท 8” จับตลาดนักเที่ยวมิลเลนเนียล

แอสคอทท์เปิดตัว “ไลฟ์ สุขุมวิท 8” แบรนด์ใหม่แห่งแรกในประเทศไทย จับตลาดนักเที่ยวมิลเลนเนียล ชู 3 ฟังก์ชั่นหลักห้องพัก “ห้องน้ำ-ห้องนอน-อินเตอร์เน็ต” รับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ไม่ดูทีวี พร้อมเปิดพื้นที่ใช้วิตพบปะเพื่อนใหม่ ทั้ง Co-Living Space – Co kitchen   นายไบรอัน ตัน ผู้จัดการทั่วไป แอสคอมท์ อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเม้นท์ ประจำประเทศไทยและลาว เปิดเผยว่า หลังจากกลุ่มแอสคอทท์ได้เปิดตัวโรงแรมไลฟ์ ฟูนาน สิงคโปร์  เป็นแห่งแรกของโลก เมื่อเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นโรงแรมแบรนด์ใหม่ของกลุ่มแอสคอทท์ ล่าสุด ได้เข้ามาเปิดตัวโรงแรมไลฟ์ สุขุมวิท 8 แบงคอก (lyf Sukhumvit 8 Bangkok) เป็นแห่งที่ 2  และถือเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เนื่องจากต้องกางการจับตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการหาประสบการณ์ใหม่จากการเดินทางท่องเที่ยว โดยโรงแรมภายใต้แบรนด์ไลฟ์ มุ่งเน้นจับตลาดนักท่องเที่ยว ที่เป็นกลุ่มมิลเลนเนียล ซึ่งจากการสำรวจตลาด พบว่าเป็นกลุ่มคนที่ต้องการหาประสบการณ์ใหม่ ๆ จากการท่องเที่ยว ชอบพบปะผู้คน และการเดินทางใช้ชีวิตร่วมกัน ซึ่งการพัฒนาโรงแรมภายใต้แบรนด์ไลฟ์ จากการสำรวจความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยวดังกล่าว พบว่า มี 3 สิ่งสำคัญที่ต้องการ คือ 1. ห้องพักสะอาด ทันสมัย มีที่นอนที่สบาย 2.มีห้องน้ำสะอาดและสะดวกสบาย และ 3. มีอินเตอร์เน็ตไว้คอยบริการ ​ นักท่องเที่ยวกลุ่มมิลเลนเนียล ไม่ต้องการห้องพักที่มีทีวีอีกต่อไป เพราะเป็นกลุ่มที่ใช้มือถือ หรือแท็บเล็ต ที่สามารรถท่องโลกได้ด้วยมือถือขอขงตนเอง นอกจากนี้ โรงแรมยังพัฒนาภายใต้แนวคิด “พักตรงนี้ เล่นตรงนี้ และทานตรงนี้” ด้วยการพัฒนาให้มีการใช้พื้นที่ร่วมกัน บริเวณล็อบบี้พัฒนาให้เป็นพื้นที่ลิฟวิ่งรูม  เพื่อสร้างพื้นที่ให้คนมาทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งโรงแรมจะไม่มีห้องอาหาร แต่จะมีโคคิทเช่นสำหรับการประกอบอาหาร หรือการร่วมกับร้านอาหารรอบโรงแรม  เพื่อให้ส่วนลดกับแขกที่มาพักในโรงแรม เนื่องจากทางโรงแรมต้องการสนับสนุนธุรกิจในชุมชน นายไบรอัน กล่าวว่า แนวทางการทำตลาดของโรงแรมไลฟ์ จะมุ่งเน้นการทำตลาดผ่านสื่อดิจิทัล เนื่องจากเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ กลุ่มสตาร์ทอัพ รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตร ในการจัดอีเวนต์ทุกสัปดาห์ทั้งออฟไลฟ์ และออนไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้ และสร้างแบรนด์ นอกจากนี้ ยังจัดแคมเปญส่งเสริมการตลาดด้วยห้องพักราคาพิเศษ การปรับห้องพักให้เป็นพื้นที่สำหรับการทำงาน หรือ co-working space และการร่วมมือกับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ในปีแรกคาดว่าทางโรงแรมน่าจะมีอัตราเข้าพักเฉลี่ย 50% โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้าย ที่คาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะปรับตัวดีขึ้น และมาตรการ Travel Bubble มีความชัดเจนมากขึ้น และมีการเปิดบริการของสายการบินต่างๆ สำหรับโรงแรมไลฟ์ สุขุวิท 8 แบงคอก เป็น 1 ใน 5 ของอสังหาริมทรัพย์ที่แอสคอทท์ อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด มีความร่วมมือกับ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท มิตซุย ฟูโดะซัน เอเชีย (ไทยแลนด์) จำกัด นอกจากนี้แล้ว แอสคอทท์ ยังเตรียมเปิดเซอร์วิสเรสซิเด้นซ์แห่งใหม่ คือ ซัมเมอร์เซ็ทเมอร์เรท รามา 9 (Sommerset Rama 9 Bangkok) ที่กำหนดเปิดตัวในปีนี้ และแอสคอทท์ แอมบาสซี่ สาธร บางกอก (Ascott Embassy Sathorn Bangkok) และแอสคอสคอทท์ สุขุมวิท ทองหล่อ บางกอก (Ascott Sukhumvit Thaonglor Bangkok) ในปีหน้า รวมถึง ซัมเมอร์เซ็ทบลูโค้สท์ พัทยา (Somerset Blue Coast Pattaya) ในปี 2565   นายไบรอัน กล่าวอีกว่า แผนในอนาคตจะขยายโรงแรมภายใต้แบรนด์ไลฟ์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือหัวเมืองท่องเที่ยวในต่างจังหวัด ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมและโอกาสในการขยายตลาด โดยยังคงเน้นทำเลที่ตั้งในแหล่งชุมชน และการเดินทางที่สะดวก ทั้งนี้ แอสคอทท์วางแผนเพิ่มโรงแรมภายใต้แบรนด์ไลฟ์ อีก 12 แห่ง รวม 2,700 ยูนิต ภายในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ในอีก 6 แห่งใหม่ ในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย, ปังกิ่ง, หางโจว, ซีอาน และเซี่ยงไฮ้ ในประเทศจีน และมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งแอสคอทท์ ลิมิเต็ด มีโรงแรมต่างๆ กระจายอยู่ 170 เมืองใน 30 ประเทศทั่วโลก มีจำนวนห้องพักกว่า 69,000 ห้อง และในอนาคตจะเพิ่มห้องพักอีก 45,000  ห้องด้วย
“ทริปเปิ้ล วายโฮเทล” เปิดแผนครึ่งปีหลังดึงลูกค้าเข้าพักตามเป้า 40%

“ทริปเปิ้ล วายโฮเทล” เปิดแผนครึ่งปีหลังดึงลูกค้าเข้าพักตามเป้า 40%

"ทริปเปิ้ล วายโฮเทล" เปิดแผนครึ่งปีหลัง  ทำการตลาดอัดโปรโมชั่น พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและนอกบริษัท จับตลาดกลุ่มลูกค้าองค์กร ดึงยอดอัตราเข้าพักให้ได้ตามเป้า 40%     การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของคน และการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในธุรกิจที่ถือว่าได้รับผลกระอย่างหนัก คือ ธุรกิจโรงแรม เพราะส่วนใหญ่ต้องปิดกิจการชั่วคราว เนื่องจากไม่มีลูกค้าเข้าพัก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติ  ซึ่งไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้  เพราะธุรกิจโรงแรมจะพึ่งพากลุ่มลูกค้าหลัก คือ กลุ่มนักท่องเที่ยว   ช่วงที่ผ่านมาหลาย ๆ โรงแรม ได้พยายามปรับตัว และหาหนทางในการเปิดดำเนินธุรกิจ เพื่อให้พนักงานยังคงมีการทำงาน และได้รับค่าจ้างตามปกติ แม้ว่าอัตราเข้าพักจะน้อย และบางช่วงเวลาไม่มีลูกค้าเข้าพักเลยก็ตาม  สำหรับโรงแรมทริปเปิ้ล วาย โฮเทล ธุรกิจโรงแรมในของบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ในโครงการสามย่านมิตรทาวน์  ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน นายวิทวัส คุตตะเทพ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานโครงการเชิงพาณิชยกรรม บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของการเปิดให้บริการ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 - มกราคม 2563 ก่อนเกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 โรงแรมมียอดใช้บริการเฉลี่ยกว่า 75% แม้เพียงเป็นการเปิดในปีแรก แต่หลังจากเริ่มมีการล็อคดาวน์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการออกมาตรการเข้มงวดของภาครัฐ ทำให้ยอดผู้ใช้บริการลดลงเหลือเพียง 8%   ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มปรับตัวดีขึ้น โรงแรมมีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 20% โดยคาดว่าภายในสิ้นเดือนอัตราเข้าพักจะเพิ่มขึ้นเป็น 25% ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ อัตราเข้าพักน่าจะมีค่าเฉลี่ยประมาณ 40% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดว่าอัตราเข้าพักจะเป็น 50% ​เนื่องจากยังไม่แน่ใจสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเกิดรอบ 2 หรือไม่ รวมถึงต้องดูสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลัง และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ นายวิทวัส กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาโรงแรมฯ ได้ปรับตัวและปรับรูปแบบการให้บริการหลายส่วน โดยยึดมั่นให้ความสำคัญการประคับประคอง ลูกค้า พนักงาน และพันธมิตรทางการค้า ให้ผ่านพ้นไวรัสโควิด-19 ไปด้วยกัน ซึ่งยังคงเปิดทำการได้อย่างเต็มรูปแบบ ไม่มีการลดหรือปิดส่วนใดของโรงแรมตลอดวิกฤตการณ์  รวมถึงยังจัดทำแคมเปญกระตุ้นตลาด อาทิ ช่วงเดือนมิถุนายน ขาย Voucher ห้องพักแบบ Deluxe ในราคาพิเศษ 999 บาทไม่รวมอาหารเช้า ซึ่งสามารถเข้าพักได้ถึง 31 ตุลาคม 2563   ขณะที่เดือนกรกฎาคม ที่ภาครัฐปลดล็อคเต็มที่มากขึ้น โรงแรมได้จัดโปรโมชั่นต่อเนื่อง  โดยจัดแคมเปญขาย Voucher ห้องพักแบบ Deluxe ในราคา 1,299 บาท ไม่รวมอาหารเช้า พร้อมกับโปรโมชั่นซื้อครบ 5 ใบ แถม 1 ใบฟรี และยังสามารถเข้าพักได้ถึง 31 ตุลาคม 2563   โดยแผนช่วงครึ่งปีหลัง โรงแรมยังวางแผนการทำตลาด ด้วยการจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ อาทิ  วิคเตอร์คลับ (Victor Club) ห้องประชุมของกลุ่มโกลเด้นแลนด์ และสามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ (Samyan Mitrtown Hall) ห้องประชุม และฮอลล์อเนกประสงค์ของสามย่านมิตรทาวน์ ในการทำตลาดร่วมกัน เช่น ผู้ที่มาจัดงานอีเวนต์หรืองานประชุมสัมมนา ให้เข้าพักในโรงแรม การร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในลักษณะเช่นเดียวกัน นอกจากนี้  ทางโรงแรมยังวางแผนเข้าทำตลาดกับกลุ่มเป้าหมายบริษัท และองค์กรที่ต้องการใช้พื้นที่จัดงานประชุม สัมมนา และงานอีเวนต์ต่าง ๆ ให้เข้ามาใช้พื้นที่ของโครงการสามย่านมิตรทาวน์และโรงแรมทริปเปิ้ลวาย รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทย ซึ่งทางโรงแรมเริ่มเข้าไปติดต่อกับโรงพยาบาลใกล้เคียงบ้างแล้ว   นายวิทวัส กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันโรงแรมส่วนใหญ่ยังไม่ได้กลับมาเปิดให้บริการปกติ โดยเฉพาะโรงแรมระดับ 5 ดาว เนื่องจากโรงแรมต้องมีค่าบริหารจัดการจำนวนมาก ทำให้ยังต้องรอให้ตลาดกลับมาฟื้นตัว ส่วนแนวโน้มตลาดโรงแรมน่าจะกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจนภายในปี 2565 เพราะเชื่อว่าปีหน้าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะยังไม่หายไปจากประเทศไทย หรือจนกว่าจะมีการค้นพบวัคซีน  
สิงห์ เอสเตท ปิดไตรมาส1 3 กลุ่มธุรกิจดันกำไรโตขึ้น 14%

สิงห์ เอสเตท ปิดไตรมาส1 3 กลุ่มธุรกิจดันกำไรโตขึ้น 14%

ไตรมาสแรก สิงห์ เอสเตท ยังทำรายได้รวม 2,186 ล้าน ฝ่าปัจจัยลบโควิด-19 มีกำไรเพิ่มขึ้น 14% ใน 3 กลุ่มธุรกิจ กลุ่มคอนโดฯ เริ่มหลังทยอยโอนหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ  ธุรกิจสำนักงานให้เช่า มีรายได้เพิ่มจากการซื้อ อาคารเมโทรโพลิส เข้าพอร์ต ส่วนธุรกิจโรงแรมรายได้เติบโตจากการเปิดโรงแรมใหม่เพิ่ม   นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2563 ว่า บริษัทมีรายได้รวมจาก 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจที่อยู่อาศัย ธุรกิจสำนักงานให้เช่า และธุรกิจโรงแรม มีรายได้รวม 2,186 ล้านบาท โดยธุรกิจที่พักอาศัยมีรายได้มาจากการโอนคอนโดมิเนียมโครงการ ดิ เอส อโศก (THE ESSE ASOKE) และโครงการ ดิ เอส แอท สิงห์ คอมเพล็กซ์ (THE ESSE at SINGHA COMPLEX) มูลค่า 752 ล้านบาท  คิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 34% บริษัทยังมีโครงการที่ก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จในปีนี้ และพร้อมที่จะเริ่มโอนในไตรมาส 4 คือโครงการ ดิ เอส สุขุมวิท 36 (THE ESSE SUKHUMVIT 36) ซึ่งร่วมทุนกับ ฮ่องกง แลนด์  ปัจจุบันมียอดขายแล้วกว่า 60% โดยเป็นโครงการคอนโดมิเนียมระดับ super luxury มีมูลค่าโครงการ  6,500 ล้านบาท   นอกจากนี้บริษัทได้มีการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมระดับ Affordable luxury ในทำเลศักยภาพย่านรางน้ำภายใต้ชื่อโครงการ ดิ เอ็กซ์โทร พญาไท-รางน้ำ (THE EXTRO PHAYATHAI – RANGNAM) มีมูลค่าโครงการกว่า 4,100 ล้านบาท ทำให้ภาพรวมธุรกิจที่พักอาศัยสามารถเติบโตได้ในระดับที่บริษัทคาดการณ์ไว้   โดยที่ผ่านมามีมาตรการปิดเมือง (Lock-down)  ซึ่งส่งผลต่อธุรกิจในระดับหนึ่ง อาทิ ลูกค้าชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางมาตรวจรับมอบอาคารชุดได้ด้วยตนเอง และลูกค้าชาวไทยบางส่วนชะลอการเข้าเยี่ยมชมโครงการ และตรวจรับห้องออกไปจนกว่าสถานการณ์จะคลายตัวลงเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) นอกจากนี้ เพื่อสร้างความปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากการแพร่เชื่อโควิด-19 บริษัทจึงได้เพิ่มช่องทางการตลาดออนไลน์แบบ Virtual Tour 360 องศา ที่ทำให้ลูกค้าสามารถชมห้องตัวอย่างได้เปรียบเสมือนมาอยู่ในสถานที่จริง ด้านธุรกิจอาคารสำนักงานปัจจุบันมีทั้งสิ้น 4 อาคารได้แก่ อาคารซันทาวเวอร์ส, อาคารสิงห์ คอมเพล็กซ์, เดอะ ไลท์เฮ้าส์ และอาคารเมโทรโพลิส พื้นที่รวม 140,000 ตารางเมตร มีอัตราปล่อยเช่าเฉลี่ยราว 87% โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 บริษัทรับรู้รายได้จำนวน 243 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากการเข้าซื้ออาคารเมโทรโพลิส ซึ่งมีพื้นที่ 13,700 ตารางเมตร และมีอัตราปล่อยเช่าสูงถึง 97% มีโอกาสในการเติบโตสูงเพราะตั้งอยู่ในทำเลใกล้รถไฟฟ้าสถานีพร้อมพงษ์ เป็นแหล่งไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่   ขณะที่ธุรกิจโรงแรม จากพอร์ทรวมทั้งหมด 39 แห่ง มีรายได้ 1,144 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 52% โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นมานั้น มาจากการเปิดโครงการ Crossroads และได้ดำเนินการ SAii Lagoon Maldives, Hard Rock Hotel Maldives และ The Marina @ CROSSROADS ตั้งแต่ปลายปีก่อนต่อเนื่องถึงต้นปีนี้   อย่างไรก็ตาม จากการเปิดโครงการ Crossroads  ส่งผลทำให้มีค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้น แต่บริษัทยังมีกำไรเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากการรับรู้รายได้จากส่วนอื่น ได้แก่ กำไรจำนวน 423 ล้านบาท จากการขายเงินลงทุนในเกาะ 3 ที่โครงการ Crossroads โดยการขายเงินลงทุน 50% ให้กับ Wai Eco World Developer Pte. Ltd ตามสัญญาร่วมทุนเพื่อพัฒนาและบริหารงาน High-end lifestyle resorts ด้วยราคาซื้อขายหุ้นมูลค่า 16.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และผลจากมาตรฐานการบัญชี TFRS 9 ทำให้บริษัทสามารถรับรู้กำไรจำนวน 115 ล้านบาทจากส่วนต่างของการ Mark to market อนุพันธ์แฝงจากหุ้นกู้แปลงสภาพ ส่งผลให้กำไรสุทธิของงวดอยู่ที่ 335 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากไตรมาสที่ 1 ปี 2562   จากภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัทตระหนักดีว่าต้องเผชิญกับความท้าท้ายครั้งสำคัญ รวมทั้งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ บริษัทมั่นใจว่าสามารถรักษาการเติบโตแบบยั่งยืนได้ ด้วยสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง จากอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ 0.86 เท่า ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับ covenant ของบริษัทที่ 2.0 เท่า และเพื่อเป็นการคำนึงถึงผลตอบแทนผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นสำคัญ บริษัทจึงคงการจ่ายปันผลระหว่างกาล จากกำไรสุทธิประจำปี 2562 หุ้นละ 0.045 บาท และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563   สำหรับในไตรมาสต่อไปบริษัทมีการปรับแผนกลยุทธ์เพื่อฟื้นฟูธุรกิจเน้นการดำเนินแผนบริหารจัดการต้นทุนที่เคร่งครัด อาทิ การปรับงบประมาณและควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการตลาด  การบริหารกระแสเงินสด รวมถึงการสร้าง synergy ระหว่างพันธมิตรธุรกิจ ที่สำคัญบริษัทยังมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงการที่มีคุณภาพสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกกลุ่มตลอดจนสร้างความยืดหยุ่นให้กับองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับกับการเปลี่ยนแปลงทุกมิติ และเชื่อมั่นว่าบริษัท จะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้อย่างแข็งแกร่ง
แสนสิริ เจอพิษโควิด-19 ทำกำไรลดเหลือแค่ 62 ล้าน เร่งสปีดธุรกิจปั้มยอดขาย  

แสนสิริ เจอพิษโควิด-19 ทำกำไรลดเหลือแค่ 62 ล้าน เร่งสปีดธุรกิจปั้มยอดขาย  

แสนสิริ ยังทำรายได้ขายอสังหาฯ  ไตรมาสแรกกว่า 5,393 ล้าน แต่กำไรลดฮวบเหลือแค่ 62 ล้าน จากช่วงเดียวกันของปีก่อนทำได้กว่า 400 ล้าน เหตุขาดทุนในกิจการโรงแรม แถมค่าบริหารธุรกิจพุ่งสูง จากผลกระทบโควิด-19 เดินหน้าเร่งสปีดธุรกิจ หวังโกยยอดขายเพิ่ม หลังตุนยอดได้กว่า 21,000 ล้าน   นายอภิชาติ  จูตระกูล ประธานอำนวยการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ บริษัทมีรายได้รวม 6,623 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแบ่งเป็นรายได้จากการขาย 5,393 ล้านบาท เติบโตขึ้น 10% จากปีก่อน มาจากการโอนโครงการแนวราบและแนวสูงในสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ 59 : 41 % อาทิ โครงการบุราสิริ พัฒนาการ โครงการบ้านแสนสิริ พัฒนาการ  ไทเกอร์ เลน รวมถึงโครงการคอนโดมิเนียม ที่ได้รับการตอบรับโอนที่ดีจากลูกค้า อาทิ โครงการ เดอะ โมนูเมนต์ ทองหล่อ โครงการดีคอนโด ริน เชียงใหม่ และ ลา กาซิตา หัวหิน เป็นต้น   นอกจากนี้ บริษัทยังมีกำไรจากการลงทุนจากการเพิ่มมูลค่าของ JustCo ที่แสนสิริเข้าไปลงทุนถือหุ้น โดย Daito Trust บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจของ Justco และได้เข้าซื้อส่วนลงทุนของ Justco มูลค่ากว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ Valuation ของ Justco เพิ่มมูลค่าอย่างมาก โดยแสนสิริในฐานะผู้ถือหุ้น สามารถรับรู้กำไรจากการเพิ่มมูลค่าของเงินลงทุนนี้ได้กว่า 703 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ตามมาตรฐานการบัญชีนั้น กำไรจากการเพิ่มมูลค่าของเงินลงทุนนี้จะไม่ปรากฏอยู่ในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ แต่จะถูกบันทึกเป็นกำไรสะสมในงบดุลโดยตรง สำหรับ JustCo นับเป็น Coworking space & Serviced Office รูปแบบใหม่ ที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึง 150% ในแต่ละปี ปัจจุบันประกอบด้วย 42 จัสท์โค เซ็นเทอร์ ใน 8 เมืองใหญ่ต่างประเทศ โดยในประเทศไทยจัสท์โคเปิดตัว 4 แห่ง   อย่างไรก็ตาม จากผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา พบว่า แสนสิริมีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์กว่า 5,382.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ​ 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ทำได้ 4,892.57 ล้านบาท  แม้ว่ารายได้จะเพิ่มขึ้น แต่ความสามารถในการทำกำไรกลับลดต่ำลงอย่างมาก โดยในไตรมาสแรกปีนี้ แสนสิริและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 62 ล้านบาท ซึ่งถือว่าลดต่ำลงอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งทำกำไรไปกว่า 404.30 ล้านบาท  สาเหตุหลักมาจากการลดลงของอัตรากำไรขั้นต้นจากการขายโครงการ รวมถึงการขาดทุนจากธุรกิจการบริหารโรงแรม ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบ กับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการบริหาร   สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของแสนสิริ เพื่อรองรับความแข็งแกร่งควบคู่ไปกับการสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงิน คือ การสานต่อการสร้างแบรนด์แสนสิริให้แข็งแกร่งมากขึ้น  ปัจจุบันแสนสิริมียอดขายล่วงหน้า (Pre-Sale Backlog) โครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ เป็นมูลค่ารวมเกือบ 46,900 ล้านบาท ที่จะทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องใน 1-3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ แสนสิริยังมีแผนขยายการพัฒนาธุรกิจที่อยู่อาศัยใหม่ๆ เพื่อรองรับทุกความต้องการของลูกค้า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง เพื่อรองรับการขยายธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีผลกระทบต่อแผนการลงทุนระยะยาว อันจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนและสถาบันการเงินได้เป็นอย่างดี  รวมถึงบริษัทยังมีสภาพคล่องและ Cash flow หรือกระแสเงินสด อีกถึง 10,000 ล้านบาท ที่มีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจและมีความแข็งแกร่งในทุกสภาวการณ์   ทั้งนี้ ความสำเร็จจากการออกหุ้นกู้ระยะยาวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บริษัทเล็งเห็นศักยภาพในการรักษาการเติบโตได้ จึงมีการพิจารณาแผนความแข็งแกร่งด้านการเงินระยะยาวโดยการเตรียมความพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต ด้วยการออก Perpetual Bond 2,500 ล้านบาท เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับแสนสิริ   ปัจจุบันแสนสิริมียอดขายล่าสุดอยู่ที่ 21,000 ล้านบาท จากการดำเนินธุรกิจ ด้วยกลยุทธ์การตลาดที่แข็งแกร่งนำหน้าคู่แข่งในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ยังทำให้แสนสิริต้องเร่งการขายโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ ให้เร็วกว่าแผนเดิม เพื่อแข่งขันกับสภาพตลาด (Speed to Market)   ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 6/2563 ได้มีมติอนุมัติแผนเตรียมความพร้อมรองรับการเติบโต ในอนาคตของบริษัท โดยการขออนุมัติออกหุ้นสามัญรวมจำนวน 4,600​ ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.07 บาท ส่งผลให้ทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 16,224,125,722.40 บาท มาเป็นทุนจดทะเบียนใหม่ที่ 21,146,125,722.40 บาท   โดยการเตรียมความพร้อมในครั้งนี้ เพื่อรองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Warrant) ที่ออกให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) จำนวน 2,500 ล้านหุ้น โดยมีราคาใช้สิทธิที่ 1.10 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะจัดสรรให้แก่ผู้ลงทุนที่จองซื้อหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อมีการเลิกบริษัท (Perpetual Bond) ที่บริษัทจะออกและเสนอขายโดยมีมูลค่าการเสนอขายรวมไม่เกิน 2,500 ล้านบาท และเพื่อรองรับการใช้สิทธิตามโครงการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท (ESOP#8) ให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท จำนวน 700 ล้านหุ้น โดยมีราคาใช้สิทธิที่ 1.10 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของบริษัท ช่วยเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ผู้บริหารและพนักงานในการปฏิบัติงาน อีกทั้งยังเป็นการจูงใจและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถและมีประสิทธิภาพในการทำงานให้อยู่กับบริษัทต่อไปในระยะยาว อันจะส่งผลดีต่อการปฏิบัติงานและการเติบโตของธุรกิจในอนาคต   นอกจากนี้ จะมีการขออนุมัติกรอบการเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) ไว้จำนวน 1,400 ล้านหุ้น โดยจะมีการดำเนินการขออนุมัติมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 นี้ สำหรับหุ้นสามัญที่จะออกเพิ่มให้กับนักลงทุนสถาบัน ในวงจำกัด (private placement) มีกลุ่มทุนที่ให้ความสนใจ ได้แก่ กองทุนที่ฮ่องกง ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางด้านการเงินและเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับแสนสิริ
“ลิปตภัลลภ” ยุติธุรกิจรับเหมา ดัน PROUD ลุยพัฒนาอสังหาฯ  

“ลิปตภัลลภ” ยุติธุรกิจรับเหมา ดัน PROUD ลุยพัฒนาอสังหาฯ  

ตระกูล “ลิปตภัลลภ” หยุดธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เหตุกำไรต่ำ  หันมาลุยธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ แทน มั่นใจหลังปลดล็อกดาวน์ PROUD จะทำรายได้และยอดขายเติบโต แบบเทิร์นอะราวด์ เตรียมแลนด์แบงก์ 5 ไร่ที่หัวหิน ปั้นโปรเจ็กต์ 2,500 ล้าน   นายไพสิฐ แก่นจันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พราว เรียล เอสเตท จำกัด(มหาชน) หรือ PROUD เปิดเผยว่า ภายหลังกลุ่มลิปตภัลลภ เข้าลงทุนถือหุ้นใหญ่ บริษัทฯ จึงได้ปรับโครงสร้างธุรกิจด้วยการมุ่งเน้นพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และจะยุติธุรกิจเดิมในการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เนื่องจากมีอัตรากำไรค่อนข้างต่ำ   โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีโครงการภายใต้การพัฒนา 2 โครงการ คือ  “Focus Phloenchit” คอนโดมิเนียมเจาะตลาดระดับบน มูลค่าโครงการ 830 ล้านบาท และโครงการ InterContinental Residences Hua Hin ที่พักอาศัยระดับบนใน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มูลค่าโครงการ 3,515 ล้านบาท จำนวน 238 ยูนิต คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในไตรมาส 2 ของ ปี 2563 และจะเริ่มโอนรับรู้เป็นรายได้ปลายปี 2564  โดยเปิดตัวโครงการเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ขณะนี้มียอดขายแล้ว 66 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 1,200 ล้านบาท คาดว่าในปีนี้จะมียอดขายราว 1,500 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีที่ดินในมือรองรับการพัฒนาโครงการในอนาคตอีก 1 แปลง ขนาดพื้นที่ 5 ไร่ ตั้งอยู่ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มูลค่าโครงการ 2,500  ล้านบาท ในปี 2563 จะเป็นปีแห่งการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ  ภาพรวมผลประกอบการจึงอาจยังไม่สะท้อนธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เต็มที่นัก โดยคาดว่าช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จึงจะเริ่มรับรู้รายได้จากการขายในโครงการ Focus เพลินจิตเข้ามา และคาดว่าจะเพียงพอที่จะผลักดันให้ผลประกอบการทั้งปีของ PROUD เทิร์นอะราวด์ได้ ส่วนผลประกอบการงวดไตรมาส 1 ของปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้ 6.5 ล้านบาท มีผลขาดทุน 17.7 ล้านบาท เนื่องจากรับรู้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามปกติ นายไพสิฐ กล่าวทิ้งท้าย ถึงภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 ว่า การซื้อขายอาจชะงักชั่วคราวด้วยวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเดินทาง แต่คาดว่าภายหลังรัฐบาลปลดล็อกดาวน์  กำลังซื้อจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากบริษัทฯเจาะกลุ่มลูกค้าระดับบน ซึ่งเป็นกลุ่มที่แทบไม่ได้รับผลกระทบ และกลับมองว่าสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นตัวกระตุ้นให้คนมองหาที่พักอาศัยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่พักตากอากาศในแหล่งท่องเที่ยว เช่น หัวหิน ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการพัฒนาโครงการของบริษัทฯในปัจจุบัน
โกลเด้นแลนด์ ไม่หวั่นโควิด-19 เตรียมเปิดอีก 8 โปรเจ็กต์ 9,400 ล้าน

โกลเด้นแลนด์ ไม่หวั่นโควิด-19 เตรียมเปิดอีก 8 โปรเจ็กต์ 9,400 ล้าน

โกลเด้นแลนด์ ยังรักษาอัตรากำไรและทำรายได้ช่วง 3 เดือนแรกของปี 63  ใกล้เคียงไตรมาสก่อนหน้า แม้อยู่ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 หลังกลุ่มลูกค้าหันมาให้ความสนใจโครงการแนวราบ ทำงานแบบ Work Form Home และมีรายได้จากโครงการเชิงพาณิชย์หนุน  ครึ่งปีหลังยังเดินหน้าตามแผนเตรียมเปิดอีก 8 โครงการ มูลค่า 9,400 ล้านบาท   นายธนพล ศิริธนชัย ประธานอำนวยการ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้มีการปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในปี 2563 ซึ่งมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการบริหารกระแสเงินสด และการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน ซึ่งตลอดการปรับตัวตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังรักษาผลการดำเนินงานไว้ได้ทำให้พนักงาน คู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจได้รับผลกระทบน้อยที่สุด   โดยโกลเด้นแลนด์ มียอดรับรู้รายได้สำหรับรอบระยะเวลา 3 เดือนแรกของปีนี้  (1 มกราคม 2563 – 31 มีนาคม 2563) จำนวน 3,994 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า (1 ตุลาคม 2562 – 31 ธันวาคม 2562) และมีกำไรสุทธิกว่า 351 ล้านบาท แม้อยู่ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19  ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง  มียอดขายจากโครงการแนวราบ และค่าเช่าจากโครงการเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง สำหรับทิศทางของปี 2563 บริษัทวางแผนเปิดขายโครงการ นีโอโฮม จำนวน 5 โครงการ ทาวน์โฮม จำนวน 7 โครงการ และโครงการในต่างจังหวัด 1 โครงการ มูลค่ารวม 14,000 ล้านบาท และคาดการณ์รายได้จากโครงการเชิงพาณิชย์ 1,000 ล้านบาทจากอาคารสำนักงาน เอฟวายไอ เซ็นเตอร์ และมิตรทาวน์ ออฟฟิศ ทาวเวอร์ ที่ยังคงเปิดให้บริการได้ตามปกติท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 และศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ที่คาดว่าจะกลับมาเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบภายในเดือนมิถุนายน 2563   ส่วนภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จะเกิดความท้าทายจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ซึ่งจะแสดงให้เห็นชัดเจนจากผลการดำเนินงานในรอบเดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 แต่สำหรับบริษัทฯ ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ ยังคงมียอดขายโครงการแนวราบที่ดี เพราะลูกค้าหันมาสนใจโครงการแนวราบมากขึ้น โดยมียอดเข้าชมโครงการเพิ่มขึ้น 40-50% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากลูกค้ามีความจำเป็นต้องใช้จริงจากการปรับรูปแบบทำงานที่บ้าน (Work from home) ที่ต้องการพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัย และทำงาน โดยไม่รบกวนกันของสมาชิกในครอบครัว ต้องการพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น ฟังก์ชั่นของโครงการแนวราบจึงตอบโจทย์มากกว่าสินค้าประเภทอื่น   โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยอดขายกลับมามีแนวโน้มดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ได้ผลกระทบจากมาตรการ LTV ปัจจุบันบริษัทฯ มียอดขายสะสม (Backlog) ที่ 2,900 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้ทั้งหมดภายในปี 2563 โดยในครึ่งปีหลัง (กรกฎาคม – ธันวาคม) ของปี 2563 บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าเปิดโครงการนีโอโฮมอีก 4 โครงการ และโครงการทาวน์โฮมอีก 4 โครงการ มูลค่ารวม 9,400 ล้านบาท สำหรับธุรกิจอาคารสำนักงาน ถึงแม้ว่าหลายบริษัทฯ จะปรับตัวตามมาตรการระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ของภาครัฐ โดยการปรับให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work from Home) มากขึ้น แต่บริษัทฯ ยังเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ รูปแบบการทำงานที่ทำงาน (Work at Office) จะกลับมาเช่นเดียวกัน เพราะยังจำเป็นต้องใช้พื้นที่สำหรับการประชุม และการใช้พื้นที่ร่วมกันของพนักงาน โดยจะมีการปรับความยืดหยุ่นในการทำงาน (Work flexibility) มากขึ้น จึงคาดว่าจะไม่ทำให้ภาพรวมความต้องการพื้นที่สำนักงานลดลงจนเกิดผลกระทบ   ส่วนธุรกิจศูนย์การค้า ทางบริษัทฯ มีความพร้อมเปิดให้บริการสามย่านมิตรทาวน์ หากมีการประกาศจากภาครัฐให้สามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติก็สามารถเปิดให้บริการได้ใน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งระหว่างนี้ได้เตรียมความพร้อมในแนวทางการให้บริการให้เป็นไปตามมาตรการระยะห่างทางสังคม  เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีการคัดกรองผู้ใช้บริการ ตรวจวัดไข้ ทำความสะอาดในจุดสัมผัสต่างๆ เป็นอย่างดีแล้ว   นายธนพล กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าขณะนี้ สถานการณ์ภาวะวิกฤตโควิด-19 ของประเทศไทยจะดีขึ้น แต่คงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด  ความท้าทายกลับอยู่ที่การวางแผนหลังจากวิกฤตคลี่คลาย ในการปรับตัวไปสู่ New Normal เช่น มาตรการรองรับรูปแบบการขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อจัดการคิวจองซื้อบ้านในวันเปิดโครงการ การเปิดศูนย์การค้าอย่างระมัดระวัง และให้ความสำคัญกับมาตรการระยะห่างทางสังคม  เช่นเดียวกัน   บริษัทฯ มีความพร้อม และมั่นใจในการเดินหน้า ปรับตัวสู่ New Normal ที่สามารถรักษาผลการดำเนินงานของบริษัทให้มีความแข็งแกร่งอยู่ในระดับที่ไม่เกิดผลกระทบกับพนักงาน คู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจ  
“แอสเสท เวิรด์” โดนพิษโควิด-19 ทุบกำไร-รายได้ไตรมาสแรกลด

“แอสเสท เวิรด์” โดนพิษโควิด-19 ทุบกำไร-รายได้ไตรมาสแรกลด

แอสเสท เวิรด์ เผยผลประกอบการไตรมาสแรก โดนพิษโควิด-19 ทุบรายได้และกำไรลดลง  เหตุนักท่องเที่ยวหาย ปิดโรงแรม-ศูนย์การค้า  มีกำไรลดลง 55.6% เหลือสุทธิ 108.2 ล้านบาท  และมีรายได้รวม 2,512.9 ล้านบาท ลดลง 30.6% จาก 3,623.0 ล้านบาท  พร้อมเดินหน้าธุรกิจต่อเนื่องด้วยมาตรการควบคุมและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่าย   นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ เป็นช่วงเวลาที่ท้าทายของทุกภาคส่วน ด้วยผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ที่มีแนวโน้มลดลงกว่า 80% (ข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยงต่างชาติที่มาเยือนประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) และมาตรการเข้มงวดจากทางภาครัฐ ในการปิดสถานประกอบการ ซึ่งรวมถึงโครงการศูนย์การค้า เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19   ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลให้ AWC ต้องประกาศมาตรการปิดให้บริการโรงแรม และอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้าต่างๆ ชั่วคราว รวมถึงมีมาตรการอื่นๆ เพื่อดูแลช่วยเหลือผู้เช่า ทำให้ AWC มีกำไรในไตรมาสแรกลดลงลดลง 55.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน หรือมีกำไรสุทธิ 108.2 ล้านบาท   อย่างไรก็ตาม AWC ยังคงได้รับประโยชน์ จากกลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลาย และสมดุลเชิงธุรกิจ (Balanced and Diversified Portfolio) ที่ช่วยกระจายความเสี่ยง ซึ่งเห็นได้ชัดจากธุรกิจอาคารสำนักงาน (Office) ที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานของสินทรัพย์ดำเนินงาน (พอร์ททรัพย์สินที่ดำเนินงานและไม่รวม โรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง และโรงแรมอิมพีเรียล หัวหิน ที่หยุดดำเนินงานเพื่อปรับปรุงโรงแรม ช่วงกลางปี 2562 รวมถึงรายได้จากค่าบริหาร และดอกเบี้ยรับจากบริษัทกลุ่มทีซีซี)   โดยในไตรมาส 1 ของปี 2563 AWC ยังคงมีกำไรจากการดำเนินงานของสินทรัพย์ดำเนินงาน อยู่ที่ 1,184.9 ล้านบาท ซึ่งแบ่งสัดส่วนเป็นธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) 38.8% ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการประกอบกิจการการค้า (Retail) 21.8% และธุรกิจอาคารสำนักงาน (Office) 39.4%   นอกจากนี้ AWC ได้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด (Cost Efficiency Initiatives) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ทำให้ค่าใช้จ่ายการบริหารส่วนกลางในช่วงไตรมาสแรก เท่ากับ 127.0 ล้านบาท ลดลง 37.1% จาก 202.0 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวมเท่ากับ 1,364.0 ล้านบาท ลดลง 22.1% จาก 1,572.1 ล้านบาท ส่งผลให้ AWC มีอัตราส่วนอีบิทดาต่อรายได้ (EBITDA Margin) เท่ากับ 38.8% ลดลงเพียง 0.7% แม้จะมีรายได้ลดลงจากเหตุผลข้างต้น และมีอัตรากำไรสุทธิ 4.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีอัตรากำไรสุทธิ 6.7% สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจต่างๆ กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) มีรายได้จากสินทรัพย์ดำเนินงานอยู่ที่ 1,534.6 ล้านบาท ลดลง 36.2% จาก 2,404.0 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศปรับตัวลดลงตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม รวมทั้งการจัดประชุมสัมมนาและจัดแสดงสินค้าต่างๆ หยุดชะงักตามนโยบายของรัฐบาล   กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail & Commercial) มีรายได้จากสินทรัพย์ดำเนินงาน  อยู่ที่ 1,014.3 ล้านบาท ซึ่งลดลง 10.9% จาก 1,138.5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากมาตรการลดหรือยกเว้นค่าเช่าชั่วคราว เพื่อช่วยเหลือดูแลผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเข้มงวดจากทางภาครัฐในการปิดสถานประกอบการต่างๆ เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19   โดย AWC มีนโยบายที่ต้องการให้พันธมิตรผู้เช่าสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในภาวะที่ยากลำบาก และเป็นพันธมิตรต่อเนื่องร่วมกันไปในระยะยาว อย่างไรก็ตาม กลุ่มอาคารสำนักงานยังคงสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงและต่อเนื่อง และช่วยรักษาระดับรายได้รวมของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ สะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์จากกลยุทธ์หลักของ AWC ที่มุ่งเน้นการลงทุนที่หลากหลายและสมดุลเชิงธุรกิจได้เป็นอย่างดี   นอกจากนี้ AWC ได้เข้าซื้อสินทรัพย์กลุ่ม 3 ณ วันที่ 1 มกราคม 2563 ด้วยมูลค่าลงทุนรวม 25,785.6 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการอสังสหาริมทรัพย์จำนวน 12 โครงการ ตามสัญญาซื้อขายหุ้นสินทรัพย์กลุ่ม 3 ปี 2562 ที่เพิ่มจำนวนห้องพักในโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้วรวม 989 ห้องในทันที และจะเพิ่มห้องพักอีกมากกว่า 2,500 ห้องจากโครงการที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงหรือพัฒนา พร้อมทั้งศักยภาพในการพัฒนาโครงการค้าปลีกในอนาคต ทำให้ AWC มีสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มูลค่า 124,921.4 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14.4% จาก 109,158.0 ล้านบาท เมื่อเทียบกับมูลค่าสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 “ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่มีความแน่นอน AWC จะยังคงดำเนินมาตรการควบคุมและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน และเพิ่มประสิทธิผลให้สอดคล้องไปกับแผนกลยุทธ์หลักทางธุรกิจขององค์กร รวมทั้งการพัฒนากลยุทธ์การตลาดให้ตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับบริษัท พนักงาน นักลงทุน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สู่เป้าหมายการเป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ก้าวหน้าและเติบโตต่อเนื่องอย่างยั่งยืน และผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 นี้ไปด้วยกันได้อย่างดีที่สุด”    
AWC ปิดโรงแรม 5 แห่งในกรุงเทพฯ ออกกฎห้ามพนักงาน 2,000 คนเดินทาง

AWC ปิดโรงแรม 5 แห่งในกรุงเทพฯ ออกกฎห้ามพนักงาน 2,000 คนเดินทาง

AWC เดินหน้ามาตรการลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 ประกาศปิดบริการโรงแรมในเครือ 5 แห่งในกรุงเทพฯ เป็นการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม – 15 เมษายน 63 เพื่อลดการเดินทางของพนักงานจำนวนกว่า 2,000 คน รวมถึงลดการรวมตัวของกลุ่มคนจำนวนมาก   นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เปิดเผยว่า AWC ได้ประกาศปิดการให้บริการโรงแรมในเครือ 5 แห่งในกรุงเทพฯ เป็นการชั่วคราว ประกอบด้วยโรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค โรงแรมดับเบิ้ลทรี บาย ฮิลตัน สุขุมวิท กรุงเทพฯ โรงแรมเลอ เมอริเดียน กรุงเทพฯ โรงแรมดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ และโรงแรมแบงค็อก แมริออท เดอะ สุรวงศ์   เพื่อดูแลพนักงานทั้งหมดของโรงแรมทั้ง 5 แห่งที่ปิดให้บริการชั่วคราว ซึ่งมีจำนวนกว่า 2,000 คนนั้น พนักงานทั้งหมดจะยังคงได้รับค่าจ้าง เงินเดือน และสวัสดิการพนักงานตามปกติในระหว่างการหยุดงาน โดยบริษัทฯ มีข้อกำหนดให้พนักงานทั้งหมดพักอยู่ที่บ้าน เลี่ยงเดินทางเคลื่อนย้ายไปยังจังหวัดอื่นๆ โดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามนโยบายของภาครัฐ พร้อมทั้งมีการจัดแผนปรับปรุง รวมทั้งการทำความสะอาดใหญ่ทั่วทั้งบริเวณ (Big Cleaning) ในทั้ง 5 โรงแรมระหว่างปิดดำเนินการ เพื่อเพิ่มความมั่นใจด้านสุขอนามัยให้กับแขกผู้เข้าพัก พนักงาน ผู้มาติดต่อ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด หลังกลับมาเปิดให้บริการตามปกติอีกครั้ง   “เรามีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ และมีความตั้งใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการการควบคุมลดการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เว้นระยะห่างทางสังคม และลดการเดินทาง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และเพื่อการดูแลพนักงานกว่าหลายพันคนในเครือของ AWC”   ทั้งนี้ AWC จะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมเสมอที่จะกำหนดแนวทาง มาตรการ และนโยบายในการดำเนินการต่าง ๆ โดยให้ความสำคัญสูงสุดกับการดูแล ให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตลอดให้ความร่วมมือกับภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ อย่างเต็มกำลัง เพื่อร่วมฝ่าฟันและผ่านพ้นสถานการณ์ยากลำบากนี้ไปด้วยกันได้อย่างดีที่สุด  
เปิดแผน AWC รับมือโควิด-19  ซื้อประกันแจกพนักงาน-ลดค่าเช่าให้ร้านค้า50%

เปิดแผน AWC รับมือโควิด-19 ซื้อประกันแจกพนักงาน-ลดค่าเช่าให้ร้านค้า50%

AWC ช่วยเหลือลูกค้าและพนักงาน ลดค่าเช่าให้ผู้เช่าทุกโครงการโปรเจ็กต์รีเทล  50% ทุกโครงการรีเทล พร้อมขยายเวลารับส่งมอบงานลูกค้า และจัดทำประกันที่ดีที่สุดให้พนักงานทุกคน รับมือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศไทย   นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทย ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอีกขั้น บริษัทจึงได้ยกระดับมาตรการต่าง ๆ สำหรับการดำเนินงานในกลุ่มธุรกิจทั้งหมดของ AWC ทั้งด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย ความช่วยเหลือในการแบ่งเบาภาระของคู่ค้า ผู้เช่าในโครงการต่าง ๆ การปรับแนวทางในการดำเนินธุรกิจ การเพิ่มสวัสดิการคุ้มครองพนักงานของทั้งบริษัทเองและธุรกิจในกลุ่ม รวมถึงการสื่อสารทั้งระดับภายในและกับภายนอกองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พนักงาน พันธมิตรทางธุรกิจของเราทั้งผู้เช่า คู่ค้า ลูกค้า ชุมชนและสังคมในองค์รวม ผ่านพ้นสถานการณ์ยากลำบากนี้ไปด้วยกันอย่างดีที่สุด   โดยการยกระดับมาตรการรับมือสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ซื้อประกันคุ้มครองพนักงานกว่า 6,000 คน ในด้านทรัพยากรบุคคล   AWC ได้จัดทำประกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยเลือกแผนประกันที่ดีที่สุดให้กับพนักงานทั้งหมดกว่า 6,000 คน ทั้งส่วนของบริษัทเองและพนักงานโรงแรมทั้งหมดในกลุ่ม AWC และพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในโครงการต่าง ๆ ของ AWC เพิ่มเติมจากสวัสดิการปกติ เพื่อดูแลพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งยังกำหนดให้พนักงานปฏิบัติงานจากที่บ้านโดยพิจารณาสถานการณ์เป็นรายสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมจากการคาดการณ์ล่วงหน้าของ AWC   ขอให้พนักงานงดการเดินทางต่างประเทศ หากมีความจำเป็นให้แจ้งผู้บังคับบัญชาพิจารณาเป็นรายกรณี รวมถึงหลีกเลี่ยงการประชุมสัมมนาภายนอกและสถานที่ชุมชนหนาแน่น และงดรับนัดหมายประชุมและการพบปะโดยตรงกับบุคคลภายนอก โดยให้ใช้ช่องทางการสื่อสารผ่านระบบสารสนเทศต่าง ๆ และหากมีอาการป่วยให้รีบพบแพทย์และแจ้งผู้บังคับบัญชาทราบทันที ลดค่าเช่าให้ร้านค้า 50% ผู้เช่าในโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า (Retail and Wholesale)  AWC พิจารณามอบส่วนลดค่าเช่ารายเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 50% ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ให้กับผู้เช่าทุกราย ในทุกโครงการ เพื่อเป็นการดูแลพันธมิตรของเราให้ก้าวข้ามผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน จากมาตรการเข้มงวดเพิ่มเติมจากทางภาครัฐในการปิดสถานบริการ และงดจัดกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากมารวมตัวกันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งนี้ AWC จะพิจารณาแนวทางความช่วยเหลือตามความเหมาะสมของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และจะร่วมยืนหยัดรับมือทุกปัญหาเพื่อให้ผ่านพ้นสถานการณ์ยากลำบากนี้ไปด้วยกันอย่างดีที่สุด ผู้เช่าอาคารสำนักงาน (Office) AWC ยินดีที่จะมอบส่วนลด 20% สำหรับผู้เช่าปัจจุบันและพันธมิตรทางธุรกิจที่มองหาสำนักงานสำรองในโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ของ AWC ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย และมีมาตรการเข้มงวดด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยอย่างต่อเนื่อง พันธมิตรและคู่ค้าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการ AWC ได้ขยายเวลารับส่งมอบงานให้แก่พันธมิตรและคู่ค้าทุกรายที่ได้รับผลกระทบด้านห่วงโซ่อุปทานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดย AWC ยังคงเดินหน้าตามแผนระยะยาวในการสร้างเสริมศักยภาพของโครงการปัจจุบันและพัฒนาโครงการใหม่ ๆ อย่างไม่หยุดนิ่งตามแผนยุทธศาสตร์การเติบโตของ AWC รวมถึงวางแผนรองรับทางธุรกิจ (Business Continuity Plan) รวมถึงการจัดหาสำนักงานสำรองสำหรับตำแหน่งงานที่สำคัญ ให้พร้อมรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ด้วยการติดต่อสื่อสาร ประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตร และคู่ค้า พันธมิตรกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) AWC ร่วมกับพันธมิตรเครือโรงแรมระดับโลกทั้ง 6 รายได้แก่ แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์, ฮิลตัน, อินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ลส์ กรุ๊ป, บันยันทรี, มีเลีย และโอกุระ ดำเนินมาตรการด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อดูแลความปลอดภัยเรื่องสุขอนามัยภายในโครงการ ควบคู่กับสร้างความเชื่อมั่นให้กับแขกผู้เข้าพักและใช้บริการในโรงแรม โดยได้ออกมาตรการที่เหมาะสมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการยกเลิกเข้าพักในโรงแรมและการเลื่อนการจัดประชุมสัมมนา อีกทั้งการจัดแผนโปรแกรมทำความสะอาดใหญ่ทั่วทั้งบริเวณ (Big Cleaning) ในทุกโครงการเพิ่มเติมจากแผนการทำความสะอาดตามปกติ กลุ่มลูกค้า AWC ได้ยกระดับมาตรการด้านสุขอนามัยเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 และสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับพนักงาน พันธมิตรทางธุรกิจ ผู้เช่า ผู้เช่าพื้นที่ ลูกค้า และผู้ที่มาติดต่อกับโรงแรม ร้านค้าปลีก และศูนย์การค้าต่าง ๆ ทั่วประเทศที่อยู่ภายใต้การดูแล   AWC ได้ดำเนินมาตรการทั่วไปภายในอาคาร   โดยทำความสะอาดพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และพ่นสเปรย์น้ำยาฆ่าเชื้อในลิฟต์โดยสารทุก ๆ 30 นาที ติดตั้งเจลทำความสะอาดมือที่บริเวณทางเข้าและในพื้นที่ที่มีการสัญจรคับคั่งของอาคาร แจ้งให้ลูกค้า ผู้มาติดต่อ และพนักงานของหน่วยงานต่าง ๆ ล้างมือบ่อย ๆ บริการเจลทำความสะอาดมือ สบู่ และกระดาษชำระให้พร้อมใช้ในห้องน้ำเสมอ และจัดทำป้ายมาตรการการดูแลและสัญลักษณ์แจ้งจุดที่ให้บริการเจลทำความสะอาดมือได้โดยสะดวก   เพิ่มเติมมาตรการในจัดให้มีการทำความสะอาดครั้งใหญ่ (Big cleaning) ในทุกโครงการ ทุก 30 วัน วัดอุณหภูมิผู้เข้าอาคาร/โครงการทุกคน และจุดคัดกรองในทางเข้าออกของทุกโครงการ รวมทั้งสุ่มขอเปิดเผยข้อมูลเดินทาง การพบปะผู้คนจากเขตติดโรคติดต่ออันตรายกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามประกาศกระทรวง ข้อมูลการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของคนในครอบครัว และข้อมูลการพบปะผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในช่วง 14 วันที่ผ่านมา รวมทั้งประสานและขอความร่วมมือกับผู้เช่าในการกำหนดมาตรการภายในของหน่วยงานของผู้เช่าเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  กลุ่มผู้ถือหุ้น AWC ยังคงเดินหน้าตามกลยุทธ์เพื่อการเติบโตอย่างเต็มที่ มุ่งเน้นการลงทุนที่หลากหลายและสมดุลเชิงธุรกิจ (Balance and Diversified Portfolio) จึงทำให้ AWC สามารถบริหารความเสี่ยงจากการผันผวนและการเปลี่ยนแปลงของตลาดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อการท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรม  โดย AWC ยังคงมีกลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงานที่ไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งสามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง และดำเนินธุรกิจได้ตามแผนงานที่วางไว้อย่างเข้มงวดให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ด้านสังคมและชุมชน AWC จะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ อย่างอย่างเต็มกำลัง เพือกำหนดแนวทาง มาตรการ และนโยบายในการดำเนินการต่าง ๆ ให้ความสำคัญสูงสุดกับการดูแล ให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ไปได้อย่างดีที่สุด AWC ตระหนักดีว่าสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เราพร้อมที่จะดูแลผู้มีส่วนได้เสียของเราในทุกมิติ เพื่อร่วมฝ่าฟันและผ่านพ้นสถานการณ์ยากลำบากนี้ไปด้วยกันได้อย่างดีที่สุด  
ไซมิสฯ วางโรดแมปธุรกิจ ลุยต่างจังหวัด-ต่างประเทศ

ไซมิสฯ วางโรดแมปธุรกิจ ลุยต่างจังหวัด-ต่างประเทศ

ไซมิส แอทเสท วาง 3 กลยุทธ์ พร้อมปั้นธุรกิจใหม่ ต่อยอดแนวคิด Asset of Life ก่อนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เตรียมปั้นโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส 4,000-5,000 ​ล้าน สร้างรายได้ต่อเนื่อง พร้อมวางโรดแมปธุรกิจ 5-10 ปี บุกตลาดต่างจังหวัดและต่างประเทศ   นายขจรศิษฐ์ สิ่งสรรเสริญ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไซมิส แอทเสท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2563 ว่า ได้เตรียมพัฒนาโครงการใหม่ 1 โครงการ มูลค่า 4,000-5,000 ล้านบาท เป็นโครงการมิกซ์ยูสในย่านแฟชั่นไอแลนด์ ภายในโครงาการจะมีประกอบไปด้วย คอนโดมิเนียมเพื่อพักอาศัย 1 อาคาร คอนโดฯ เพื่อให้เช่า 1 อาคาร และโรงแรม 1 อาคาร บนเนื้อที่ 5 ไร่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบโครงการ   นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจา เพื่อร่วมทุนกับเจ้าของที่ดินขนาด 17 ไร่ถนนบางนา-ตราด เพื่อพัฒนาโครงการร่วมกัน ซึ่งหากไม่สามารถเจรจาได้ลงตัว บริษัทยังมีแผนซื้อที่ดินในทำเลใกล้เคียงประมาณ 10 ไร่ เพื่อการพัฒนาโครงการในอนาคตด้วย   สำหรับทิศทางการเติบโตในปีนี้ บริษัทคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถสร้างรายได้ 3,430 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 629 ล้านบาท ซึ่งมีกำไรเติบโตเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังมากกว่า 100% โดยการพัฒนาโครงการภายใจ้แนวคิด Asset of Life สร้างกำไรให้กับการใช้ชีวิต เพิ่ม 3 ธุรกิจต่อยอดสร้างรายได้เพิ่ม นายขจรศิษฐ์  กล่าวว่า ช่วง 10 ปีที่แล้วบริษัทเริ่มต้นธุรกิจด้วยเงินทุนจดทะเบียนเพียง 200 ล้านบาท ปัจจุบันสามารถพัฒนาโครงการจนมีมูลค่าร่วม 47,000 ล้านบาท และเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1,200 ล้านบาท เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเตรียมนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนมาพัฒนาธุรกิจ โดยปัจจุบันแม้บริษัทยังไม่ได้เงินทุนมาพัฒนาโครงการ แต่บริษัทได้เริ่มวางแผนและขยายธุรกิจใหม่เพื่อสร้างการเติบโตแล้ว   สำหรับแนวทางการพัฒนาและขยายธุรกิจ บริษัทได้วาง 3 กลยุทธ์สำคัญ​ คือ 1.พัฒนาโครงการในรูปแบบ Branded Residence เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับโครงการ และสร้างจุดขาย ซึ่งจะร่วมมือกับเครือโรงแรมชั้นนำ ในการเข้ามาบริหารโครงการ อาทิ ไฮแอท บันยันทรี ดุสิต และฮิลล์ตัน เป็นต้น โดยทำราคาให้เหมาะสม เพื่อให้กลุ่มลูกค้าที่ซื้อโครงการของบริษัท สามารถนำเอาห้องชุดไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ทั้งจากการปล่อยเช่าหรือการขายต่อเมื่อมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 2.ขยายธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food and Beverage) โดยในปีที่ผ่านมาได้เปิดร้านอาหาร แบรนด์ โรสแมรี่ 1 สาขา และร้านกาแฟ ภายใต้แบรนด์ Kafeology 2 สาขา นอกจากนี้ ยังเตรียมวางแผนเปิดธุรกิจจัดส่งอาหารเดลิเวอรี่ ภายใต้บริการ Cloud Kitchen ซึ่งจะมีการดึงร้านอาหารที่มีชื่อเสียงมาไว้ด้วยกัน และมีครัวกลางสำหรับการจัดเตรียมอาหาร เพื่อจัดส่งให้กับลูกค้าผ่านบริการจัดส่งผ่านแอปพลิเคชั่น เช่น แกร็บฟูด เป็นต้น โดยวางเป้าหมายภายใน 3-5 ปี จะขยายจุดให้บริการ 100 แห่ง  แต่ละแห่งจะมีร้านอาหารเข้าร่วมประมาณ 6-8 ร้าน เพื่อบริการลูกค้าในรัศมีไม่เกิน 8 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันมีร้านอาหารเข้าร่วมแล้ว 6 ร้าน   นอกจากนี้ การพัฒนาโครงการใหม่ของบริษัททุกโครงการจะมีเลาจ์ เพื่อบริการอาหารและเครื่องดื่มให้กับลูกบ้านและลูกค้าทั่วไป ส่วนบางโครงการจะเปิดพื้นที่ร้านอาหารบนชั้นดานฟ้า (Rooftop Restaurant) เช่น โครงการไซมิส เอ๊กซ์คลูซีพ ควีนส์ (Siamese Exlusive Queens) 3.ขยายสู่ธุรกิจการดูแลสุขภาพ (Wellness) นอกจากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม บริษัทยังขยายไปสู่ธุรกิจการดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ของสังคมไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งบริษัทจะร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขในเชิงการป้องกัน (Preventive Medicine) ซึ่งแพทย์ดังกล่าวมีแพลตฟอร์มด้านการให้บริการ และมีจำนวนผู้ติดตามในสื่อออนไลน์มากกว่า 50,000 คน โดยการให้บริการจะเป็นรูปแบบครบวงจร ซึ่งมีทั้งอาหารสุขภาพ บริการสปา และบริการเสริมความงาม เล็งบุกหัวเมืองท่องเที่ยว-ต่างประเทศ นอกจากการขยายตลาดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว บริษัทยังวางแผนพัฒนาโครงการในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นหัวเมืองหลักด้านารท่องเที่ยว โดยการนำเอาโมเดลธุรกิจการพัฒนาโครงกคอนโดฯ เพื่ออยู่อาศัย และคอนโดฯ เพื่อปล่อยเช่า ไปพัฒนาในต่างจังหวัด รวมถึงการพัฒนาโครงการในตลาดต่างประเทศ ซึ่งมองเมืองเป้าหมาย ได้แก่ มะนิลา จาร์กาต้า และบังคลาเทศ เนื่องจากเป็นเมืองที่มีประชากรจำนวนมาก   โดยบริษัทวางแผนในระยะ 5 ปีนับจานี้จะพัฒนาโครงการตามหัวเมืองใหญ่ด้านการท่องเที่ยว และภายใน 5-10 ปี จะขยายตลาดไปยังต่างประเทศดังล่าว ซึ่งถือว่าทั้ง 2 ตลาดเป็นบลูโอเชียนที่ยังมีคู่แข่งน้อย และที่ผ่านมายังไม่มีผู้ประกอบการคนไทยประสบความสำเร็จ ในการพัฒนาโครงกอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศเลย   เราจะไปหาบลูโอเชี่ยน ไทยยังไม่มีใครซัคเซสในต่างประเทศ เราจะไปให้ได้
สิงห์ เอสเตท ได้ยอดขายบ้านและคอนโดฯ ดันรายได้รวมปี 62 พุ่งกว่า 1.2 หมื่นล้าน

สิงห์ เอสเตท ได้ยอดขายบ้านและคอนโดฯ ดันรายได้รวมปี 62 พุ่งกว่า 1.2 หมื่นล้าน

สิงห์ เอสเตท เผยผลประกอบการปี 62 เติบโตสูงต่อเนื่อง ทำรายได้รวมโต 63% จำนวนกว่า12,275 ล้าน หลังจากยอดขายบ้านและคอนโดฯ สูงขึ้น 104% ขณะที่สร้างกำไรสุทธิราว 1,200 ล้าน   นายนริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ “S” เปิดเผย ถึงผลการดำเนินงานประจำปี 2562 ว่า สิงห์ เอสเตท มีรายได้รวมทั้งสิ้น 12,275 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ประกอบด้วยบ้าน ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดมิเนียมรวม 7,385 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 104% รายได้จากการให้เช่าและบริการ 4,805 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% และรายได้จากการขายสินค้า 85 ล้านบาท ลดลง 32%   โดยรายได้จากการให้เช่าและบริการ ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจโรงแรม 3,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48%จากปีก่อน เนื่องจากการรับรู้รายได้เต็มปีของโรงแรมภายใต้แบรนด์ Outrigger จำนวน 6 แห่ง ที่บริษัทฯ ซื้อกิจการเข้ามาเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 และการเปิดโรงแรมใหม่ 2 แห่งในโครงการ CROSSROADS (ครอสโร้ดส์) ที่มัลดีฟส์  ขณะเดียวกัน รายได้จากการเช่าพื้นที่สำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกเพิ่มขึ้น 13% เป็น 759 ล้านบาท จากการเปิดอาคารสิงห์ คอมเพล็กซ์ ช่วงปลายปี 2561 สิงห์ เอสเตท มีกำไรขั้นต้นจากการดำเนินงาน 5,033 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55% จากปี 2561 และอัตรากำไรขั้นต้นสำหรับปี 2562 เท่ากับ 41% ลดลงจาก 43% ในปี 2561 เป็นผลจากธุรกิจโรงแรมที่อัตรากำไรในช่วงแรกของโรงแรมในโครงการ CROSSROADS ที่มัลดีฟส์ ยังไม่สูงนัก เนื่องจากการเปิดธุรกิจโรงแรมใหม่ซึ่งปกติอัตรากำไรขั้นต้นจะค่อยๆ สูงขึ้นตามลำดับ และใช้เวลาในการดำเนินธุรกิจประมาณ 2-3 ปี จึงจะเห็นอัตรากำไรสำหรับการดำเนินกิจการในระยะยาว   ในขณะที่สิงห์ เอสเตท มีกำไรสุทธิในปี 2562 เท่ากับ 1,209 ล้านบาท ลดลง 16% เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลง ดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากการขยายกิจการและภาษีสูงขึ้นจากการโอนโครงการที่อยู่อาศัยมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR ได้คืนเงินกู้เพื่อซื้อกิจการโรงแรม Outrigger จำนวน 5,357.8 ล้านบาท จากการเพิ่มทุนได้สำเร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ส่งผลให้หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยของบริษัทฯ ลดลง   “ปี 2562 เป็นปีที่ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยของสิงห์ เอสเตท เติบโตมากกว่าเท่าตัว ถึงแม้ว่าสภาวะตลาดอสังหาฯ โดยรวมยังคงเผชิญความท้าทายในหลายๆ ด้าน บริษัทเริ่มโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในโครงการ ดิ เอส แอท สิงห์ คอมเพล็กซ์ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และโอนโครงการ ดิ เอส อโศก และบันยันทรี เรสซิเดนซ์ ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ ที่พัฒนาโดยบริษัทในเครืออย่าง เนอวานา ไดอิ ได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย นอกจากนี้เรายังมี Backlog ที่จะโอนในปี 2563 มากกว่า 6,000 ล้านบาท” ส่วนธุรกิจโรงแรมทั้งหมดของบริษัทอยู่ภายใต้การบริหารงานของ SHR ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของสิงห์ เอสเตท สามารถระดมทุนจากการขายหุ้นเพิ่มทุนให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial public offering) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2562   SHR ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีการลงทุนในโรงแรม 39 แห่ง มีจำนวนห้องพัก 4,647 ห้อง ครอบคลุม 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย มัลดีฟส์ ฟิจิ มอริเชียส และสหราชอาณาจักร โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมที่บริหารเองในปี 2562 เท่ากับ 72% กลุ่มโรงแรม Outrigger 78% โรงแรมในสหราชอาณาจักร 70% และโรงแรมในโครงการ CROSSROADS 34% และรายได้ต่อห้องพักต่อคืน (Revenue per available rooms) ของโรงแรมที่บริหารเองในปี 2562 เท่ากับ 5,591 บาท กลุ่มโรงแรม Outrigger 4,691 บาท โรงแรมในสหราชอาณาจักร 1,851 บาท และโรงแรมในโครงการ CROSSROADS 4,262 บาท   เมื่อปลายปี 2562 SHR ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับบริษัท Wai Eco World Developer Pte Ltd (WEWD)  กลุ่มธุรกิจใหญ่จากประเทศเมียนมาร์ที่ดำเนินธุรกิจหลากหลาย อาทิ อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม อาหารและเครื่องดื่ม และเหมืองแร่ เพื่อพัฒนาไลฟสไตล์รีสอร์ทระดับไฮเอนด์ (High-end Lifestyle Resort) บนเกาะ 3 ในโครงการ CROSSROADS ประเทศมัลดีฟส์ โดยรีสอร์ทแห่งใหม่นี้จะมีห้องพักในรูปแบบวิลล่า 80 ห้อง ระดับราคา 900-1,000 เหรียญสหรัฐต่อคืน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 และเปิดดำเนินการในปี 2565 ทั้งนี้การจำหน่ายหุ้น 50% ของบริษัท Prime Location Management 3 Limited ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนได้แล้วเสร็จไปเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2563 การได้พันธมิตรที่ดีอย่าง WEWD มาเสริมความแข็งแกร่งทั้งในด้านธุรกิจและด้านการเงินในครั้งนี้ ทำให้เรามั่นใจว่าโครงการ CROSSROADS  ประเทศมัลดีฟส์ เกาะ 3 จะประสบความสำเร็จและเปิดดำเนินการตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างแน่นอน   นอกจากนี้ บริษัท ได้รับโอนสิทธิการเช่าที่ดินและเข้าซื้ออาคารสำนักงานเมโทรโพลิส บริเวณใกล้กับสถานี BTS พร้อมพงษ์ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 26,157 ตารางเมตร มูลค่า 1,725 ล้านบาท เมื่อต้นเดือนมกราคม ที่ผ่านมา และมีความประสงค์จะขายสิทธิการเช่าที่ดินและอาคารดังกล่าวให้กองทรัสต์ S Prime Growth Leasehold Real Estate Trust (SPRIME) ในลำดับถัดไป   “ปี 2563 ถือเป็นก้าวสำคัญของสิงห์ เอสเตท ที่จะต่อยอดการเติบโตจากฐานธุรกิจในรูปแบบ Global Holding Company อย่างสมบรูณ์แบบ นอกเหนือจากการลงทุนขยายธุรกิจในทุกมิติอย่างยั่งยืนแล้ว (Sustainable Growth)สิงห์ เอสเตท จะเริ่มพัฒนาธุรกิจใหม่อย่างพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ที่จะเริ่มดำเนินการในปีนี้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในตลาดโลกและสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม”     ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 สิงห์ เอสเตท มีสินทรัพย์รวม 67,681 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,751 ล้านบาท จากสิ้นปี 2561 แบ่งเป็น สินทรัพย์หมุนเวียน 24,087 ล้านบาท และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน 43,594 ล้านบาท ในส่วนของหนี้สินรวม มีมูลค่า 40,085 ล้านบาท โดยมีอัตราหนี้สินทีมีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่เพียง 0.77 เท่า ด้วยอัตราหนี้สินที่ต่ำเช่นนี้ ถือได้ว่าบริษัทมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและพร้อมสำหรับการเติบโตอย่างต่อเนื่อง   ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 2/2562 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 อนุมัติการนำเสนอการจ่ายเงินปันผลในอัตรา 0.045 บาทต่อหุ้น จากกำไรสุทธิของผลประกอบการระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2562 โดยมีกำหนด Record Date วันที่ 7 พฤษภาคม 2563 และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 ซึ่งมติการจ่ายเงินปันผลนี้ จะต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2563 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 27 เมษายน 2563  
ริสแลนด์ ลุยเปิด 4 โปรเจ็กต์กว่า 3 หมื่นล้าน ไม่หวั่นไวรัสโควิด 

ริสแลนด์ ลุยเปิด 4 โปรเจ็กต์กว่า 3 หมื่นล้าน ไม่หวั่นไวรัสโควิด 

ริสแลนด์ ประเทศไทย เดินหน้าปั้น 4 โปรเจ็กต์ใหม่กว่า 30,000 ล้าน ไม่หวั่นปัจจัยลบรอบด้าน มั่นใจเงินทุนหนา สามารถทำตลาดได้ต่อเนื่องจนกว่าไวรัสโควิด-19 จะแก้ไขได้ วางเป้าลุยตลาดไทยสร้างการเติบโตปีละ 50%   นายเนี่ย ซงเชียน  ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการขายและการตลาด ประจำภูมิภาคไทย บริษัท ริสแลนด์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ได้เตรียมเปิดตัวโครงการใหม่ 4 โครงการมูลค่ารวมกว่า 30,400 ล้านบาท แบ่งเป็นคอนโดเนียม 2 โครงการ และโครงการ Mixed use 2 โครงการ โดยมุ่งเน้นเปิดโครงการในทำเลที่มีศักยภาพ การคมนาคมสะดวกสบาย ในระดับราคาที่เอื้อมถึง ตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการอย่างแท้จริง   สำหรับโครงการคอนโดฯ ที่เปิดตัวในปีนี้ ได้แก่ 1. โครงการ คลาวด์ เรสซิเดนซ์ สุขุมวิท 23 มูลค่ากว่า 3,600 ล้านบาท เป็นคอนโดฯ  High Rise ตกแต่งพร้อมอยู่ 1 อาคาร สูง 43 ชั้น มีห้องชุดรวม 372 ยูนิต มีห้องพัก 5 รูปแบบ  ได้แก่  ขนาด 1 ห้องนอนขนาด 29 - 30 ตารางเมตร ขนาด 1 ห้องนอน เอ๊กซ์ตร้าขนาด 41 - 43 ตารางเมตร ขนาด 2 ห้องนอนขนาด 57 - 60 ตารางเมตร ขนาดดับเบิ้ลสเปซขนาด 47 - 95 ตารางเมตร และเพนท์เฮ้าส์ ขนาด 79 - 99 ตารางเมตร โครงการตั้งอยู่ใจในซอยสุขุมวิท 23  ซึ่งจะเปิดขายอย่างเป็นทางการ (FIRST CALL) ในวันที่ 20 – 21 มีนาคม 2563 นี้ นอกจานี้ ยังเตรียมเปิดตัวโครงการคอนโดฯ อีก 1 โครงการในช่วงไตรมาส 3 คือ โครงการ เดอะ ลิฟวิน รามคำแหง (The Livin Ramkhamhaeng) มูลค่า 5,000 ล้านบาท จำนวน 1,938 ยูนิต ส่วนโครงการมิกซ์ยูสที่เตรียมเปิดในปีนี้ ได้แก่ 1.สกาย ไรส์ อเวนิว (Sky Rise Avenue) โครงการคอนโดฯ 7 อาคาร รวม 3,000 ยูนิต และพื้นที่ออฟฟิศให้เช่า 4 ชั้นขนาด 2,000 ตารางเมตร โดยจะแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 เฟส ซึ่งเฟสแรกจะเปิดตัวก่อน 1,000 ยูนิต  ในช่วงไตรมาส 2   ขณะที่ในไตรมาสที่ 4 บริษัทเตรียมเปิดตัวโครงารมิกซ์ยูสอีก 1 โครงการ มูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท  ในจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วยที่พักอาศัยประเภทคอนโดฯ และวิลล่า ซึ่งจะใช้เชนโรงแรมมาบริหาร หรือแบรนด์เด็ดเรสซิเดนซ์ ซึ่งเฟสแรกจะเปิดตัวที่อยู่อาศัยจำนวน 650 ยูนิต  มูลค่า 5,800 ล้านบาท   นายเนี่ย กล่าวอีกว่า สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2563 นี้ ต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายๆด้าน ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจในระดับโลก จากสงครามการค้าที่ส่งผลไปยังหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยค่าเงินบาทที่แข็งตัวอย่างต่อเนื่อง และการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยังซ้ำเติมให้เศรฐกิจยิ่งซบเซา แต่แผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทยังดำเนินอย่างต่อเนื่อง  เพราะมีความมั่นใจในสถานะการเงินของบริษัท  ที่สามารถรองรับสภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยได้นาน  จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย   สำหรับปีผ่านมา ริสแลนด์ ประเทศไทย เปิดตัวโครงการไป 2 โครงการ ได้แก่ คลาวด์ ทองหล่อ-เพชรบุรี ปัจจุบันปิดการขายไปได้แล้วกว่า 50% และโครงการ The LIVIN เพรชเกษม ซึ่งมียอดจองจากการเปิดขาย เฟสแรกมูลค่ารวม 750 ล้านบาท และสามารถขายไปได้มากถึง 700 ล้านบาท ทำให้ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มียอดขายเพิ่มขึ้นจาก 2 โครงการรวมกว่า 2,400 ล้านบาท   ปัจจุบัน ริสแลนด์ มีโครงการอสังหาฯ อยู่ใน 7 ประเทศ รวม 15 โครงการ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ อินเดีย อังกฤษ เวียดนาม และประเทศไทย รวมมูลค่าโครงการทั่วโลกประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยในปี 2563 นี้ ริสแลนด์ตั้งเป้ารายได้จากทั่วโลก เพิ่มขึ้น 50%  โดยใช้กลยุทธ์ "Think Global, Act Local” ดำเนินงานภายใต้แนวคิด “Be the Change, Create the Future” กล้าที่จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะสร้างอนาคตด้วยการลองผิดลองถูก ล้มเร็วลุกเร็ว เรียนรู้จากอดีต และนำมาแก้ไข เพื่อพัฒนาอนาคต   ด้านนางสาวมณีกานต์ อิสรีย์โกศล ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การตลาดและสื่อสารภาพลักษณ์องค์กร ประจำภูมิภาคไทย บริษัท ริสแลนด์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมตลาดคอนโดฯ ในโซนสุขุมวิท  ที่มีราคามากกว่ายูนิตละ 5 ล้านบาท มีการเปิดขายใหม่จำนวน 8,795 ยูนิต ปรับตัวลดลงจากปี 2561 ที่มีการเปิดขายอยู่ที่ 19,691 ยูนิต มียูนิตคงค้างลดลงจากปี 2561 ในอัตรา 3% ในปี 2563 นี้คาดการณ์ว่า ตลาดคอนโดมิฯ ระดับราคายูนิตละ 5 ล้านบาทขึ้นไป จะมีสัดส่วนในตลาดอยู่ที่ 17% เท่ากับปี 2561  แสดงให้เห็นว่าภาพรวมตลาดคอนโดฯ ลักซ์ชัวรี ยังคงไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทำเลอโศก ที่ยังมีอัตราการดูดซับของตลาดกว่า 82% และมีโครงการใหม่ที่เข้ามาในตลาดน้อยลง ทำให้คอนโดฯ ในกลุ่มนี้มีการตอบรับที่ค่อนข้างดี   ส่วนพฤติกรรมผู้บริโภคในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อเพื่อการอยู่อาศัยอย่างแท้จริง แต่การซื้อเพื่อการลงทุนลดลงพอสมควร และในช่วง 1-2 ปีนี้ กลุ่มนักลงทุนนักเก็งกำไรได้หายไปจากตลาดบางส่วน จากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจโลก และนโยบายของภาครัฐที่ส่งผลกระทบทางตรงกับลูกค้ากลุ่มนี้   ขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุในช่วง 25-35 ปี จะมีพฤติกรรมชอบและเลือกซื้อคอนโดฯ ใจกลางเมือง ที่มีการออกแบบที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์การทำงานและการใช้ชีวิต ซึ่งนิยมพักอาศัยอยู่ใจกลางเมือง ส่งผลให้คอนโดฯ ลักซ์ชัวรี ในเขตกลางเมือง กลายเป็นตัวเลือกแรกๆ ในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย   นอกจากนี้ จากการท่องเที่ยวไทยที่มีการขยายตัวสูง ได้รับความนิยมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน ที่หลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้ในช่วง 3 ถึง 5 ปีที่ผ่านมา มียอดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากกว่า 30 ล้านคนต่อปี ทำให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจและซื้อที่อยู่อาศัยในบ้านเราจำนวนไม่น้อย โดยมีเม็ดเงินต่อปีประมาณ 37,561 ล้านบาทในกรุงเทพฯ ซึ่งไม่นับการซื้อเพื่อการลงทุน เก็งกำไร รวมถึงการซื้อเพื่อลงทุนปล่อยเช่าในรูปแบบอื่นๆ  
ออริจิ้น ทรานฟอร์ม แตก 6 บริษัทเพื่อเติบโต

ออริจิ้น ทรานฟอร์ม แตก 6 บริษัทเพื่อเติบโต

“ออริจิ้น” เข้าสู่ยุคทรานฟอร์ม แตก 6 บริษัทย่อยปั้นรายได้ พร้อมเปิดรับพันธมิตรทุกรูปแบบ เตรียมแผนเปิด 14 โครงการใหม่มูลค่า 20,000 ล้าน สร้างยอดขาย 21,500 ล้าน และรายได้ 16,000 ล้าน   นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2563 ว่า ในวาระก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 บริษัทได้วางวิสัยทัศน์ระยะยาวในการปรับเปลี่ยนบริษัทให้กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่สามารถเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน พร้อมรับมือทุกสภาวะความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยในปีนี้วางแนวทางปีนี้จะเป็นทศวรรษแห่งการปฏิรูป (The Decade of Transformation) ปฏิรูปองค์กรสู่ลักษณะกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ปรับเปลี่ยนออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ โดยแตกบริษัทย่อยออกมา 6 กลุ่มบริษัท เพื่อเดินหน้าใน 6 ประเภทธุรกิจ ประกอบด้วย 1.บริษัท ออริจิ้น คอนโดมิเนียม จำกัด  ดำเนินธุรกิจพัฒนาคอนโดมิเนียมกลุ่มสมาร์ทคอนโด มีแบรนด์หลักคือ ดิ ออริจิ้น (The Origin) 2.บริษัท พาร์ค ลักชัวรี่ จำกัด  ดำเนินธุรกิจพัฒนาคอนโดมิเนียมระดับลักชัวรี่ มีแบรนด์หลักคือ ไนท์บริดจ์ (KnightsBridge) และพาร์ค ออริจิ้น (PARK ORIGIN) 3.บริษัท บริทาเนีย จำกัด  ดำเนินธุรกิจพัฒนาบ้านจัดสรร มีแบรนด์หลักคือ บริทาเนีย (Britania) 4.บริษัท ออริจิ้น อีอีซี จำกัด   ดำเนินธุรกิจพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในแถบเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 5.บริษัท วัน ออริจิ้น จำกัด  ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างรายได้ต่อเนื่อง (Recurring Income Business) เช่น โรงแรม พื้นที่ค้าปลีก สำนักงานให้เช่า โครงการมิกซ์ยูส 6.บริษัท พรีโม เซอร์วิส โซลูชั่น จำกัด ดำเนินธุรกิจบริการด้านอสังหาริมทรัพย์สมัยใหม่ครบวงจร วางลยุทธ์ “Open for Growth, Open Platform” การเติบโตในปีนี้ “ออริจิ้น” วางกลยุทธ์ “Open for Growth, Open Platform” เพื่อสร้างการเติบโต ด้วยการเปิดรับพันธมิตรทางธุรกิจในหลากหลายรูปแบบ  เข้ามาร่วมธุรกิจกับบริษัทในทุกกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกรที่สนใจเข้าร่วมทุน (JV Partner) เจ้าของที่ดิน  ผู้พัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการบริการและอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มซัพพลายเออร์ต่างๆ   ล่าสุด บริษัทได้เซ็นต์ MOU ร่วมทุนกับพันธมิตรใหม่จากประเทศเกาหลีใต้ คือ GS E&C (GS Engineering and Construction corporation) เพื่อพัฒนาคอนโดฯ 2 โครงการ ได้แก่ The Origin ลาดพร้าว 111 มูลค่า 1,900 ล้านบาท และ Knightsbridge Space พระราม 4 มูลค่า 2,300 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดตัวได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้   สำหรับแผนธุรกิจในปี 2563 บริษัทจะให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างภายในองค์กร สร้างรากฐานการเติบโตของทุกประเภทธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจัยภายนอก เปิด 14 โปรเจ็กต์รับมือ “ไวรัสโควิค” แผนกการเปิดโครงการใหม่ในปีนี้ เตรียมพัฒนา 14 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท เป็นโครงการคอนโดฯ 4 โครงการ มูลค่า 7,900 ล้านบาท เป็นโครงการสมาร์ทคอนโดฯ แบรนด์ดิ ออริจิ้น 2 โครงการ มูลค่ารวม 4,200 ล้านบาท โครงการลักชัวรี่คอนโดฯ 1 โครงการ มูลค่ารวม 2,300 ล้านบาท และโครงการบ้านจัดสรร 10 โครงการ มูลค่ารวม 12,100 ล้านบาท  ภายใต้แบรนด์บริทาเนีย และอีก 3 แบรนด์ใหม่ คือ แบรนด์แกรนด์บริทาเนีย, ไบรตัน และเบลกราเวีย นอกจานี้ยังมีโครงการกลุ่มอีอีซีอีก 1 โครงการ มูลค่ารวม 1,400 ล้านบาท ภายใต้แบรนด์เดอะ แฮมป์ตัน (The Hampton) ในศรีราชา ถ้าหากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แก้ไขได้เร็ว และสถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้น บริษัทพร้อมเปิดตัวโครงการคอนโดฯ เพิ่มอีก 4 โครงการ ส่วนเป้าหมายรายได้ในปีนี้คาดว่าบริษัทจะทำได้ 16,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมามีรายได้รวม 14,122 ล้านบาท (อ่านข่าวผลประกอบการปี 2562) วางเป้าหมายยอดโอน 14,000 ล้านบาท และตั้งเป้ายอดขาย 21,500 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมา ทำยอดขายได้ 28,942 ล้านบาท ในปีนี้บริษัทวางงบลงทุนไว้ที่ 15,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบซื้อที่ดินและเช่า สำหรับธุรกิจโรงแรมจำนวน 7,000 ล้านบาท และอีก 8,000 ล้านบาท ใช้สำหรับการก่อสร้าง ปัจจุบันรายได้จารขาย ลดลง จากสัดส่วน 90% เหลือ 85% ในอีก 5 ปีข้างหน้า รายได้อื่นๆ  เช่น รายได้จากการเช่า การบริการ โดยรวมน่าจะมีสัดส่วน 30% เหลือรายได้จากกขายสัดส่วน 70%    
ORI สร้างยอดขายปี 2562 เติบโตกว่า 29,000 ล้านบาท

ORI สร้างยอดขายปี 2562 เติบโตกว่า 29,000 ล้านบาท

ออริจิ้น สร้างผลงานปี 62 คว้ากำไรสุทธิ 3,027 ล้านบาท หลังเปิดโครงการไป 20 โครงการ มูลค่ากว่า 24,200 ล้านบาท พร้อมกวาดยอดขายกว่า 29,000 ล้าน สูงกว่าเป้าหมาย ตุนแบ็คล็อกกว่า 41,000 ล้านสร้างรายได้ต่อเนื่องใน 3 ปี    นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI   เปิดเผยว่า แม้ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2562 จะถือเป็นช่วงปรับฐาน แต่บริษัทยังคงความสามารถในการรักษาระดับกำไรและอัตราการทำกำไรไว้ได้ดี โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,027 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนความสามารถในการบริหารต้นทุนขายได้ดี ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 43.5% รวมถึงการบริหารค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น จนสามารถทำอัตรากำไรสุทธิได้ถึง 21.4% ซึ่งถือเป็นอัตรากำไรที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับภาพรวมของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเผชิญมรสุมสงครามราคาในภาวะตลาดอสังหาฯหดตัว   ด้วยความตั้งใจของทีมงาน ผนวกกับการปรับกลยุทธ์และการวางแผนงาน เลือกเจาะตลาดลูกค้าได้ถูกกลุ่ม ทำให้บริษัทสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีราคาขายไม่แพง มีความสามารถสู้กับตลาดในภาวการณ์แข่งขันที่สูง จนทำให้สร้างยอดขายในโครงการที่เปิดใหม่ในปีที่ผ่านมาเฉลี่ยสูงถึงกว่า 76% ขณะเดียวกัน ด้วยคุณภาพของโครงการภายใต้แบรนด์ต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคให้ความไว้วางใจ และยังคงทยอยโอนกรรมสิทธิ์ สร้างทั้งรายได้และกำไรกลับเข้าสู่บริษัทอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผลการขยายธุรกิจใหม่ในส่วนรายได้จากธุรกิจบ้านจัดสรรที่เติบโตจากปี 2561 กว่า 200% ทำให้มี Contribution ในผลประกอบการ ปี 2562 ราว 1,500 ล้านบาท หรือ 11% ของรายได้รวม   รวมถึงการกระจายความเสี่ยงในการสร้างธุรกิจบริการในกลุ่มบริษัท พรีโม ที่เติบโตกว่า 30% และรุกคืบขยายไปสู่ธุรกิจสร้างรายได้ประจำ หรือ Recurring income ที่สามารถสร้างโรงแรมใหม่ ในทำเลทองอย่าง ทองหล่อ และ ศรีราชา เสร็จก่อนกำหนดในปี 2562 ที่ผ่านมา และจะเริ่มเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในไตรมาส 2 ปีนี้   ทั้งนี้ ในปี 2562 บริษัทเปิดตัวโครงการใหม่ไปทั้งสิ้น 20 โครงการ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 24,200 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการบ้าน 4 โครงการ มูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท และโครงการคอนโดมิเนียม 16 โครงการ มูลค่ารวม 18,200 ล้านบาท ขณะเดียวกัน บริษัทมียอดขายในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 28,942 ล้านบาท และมีรายได้รวมอยู่ที่ 14,122 ล้านบาท ตุนแบ็คล็อก 3 ปี 41,000 ล้านสร้างรายได้ นายพีระพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับปี 2563 บริษัทมั่นใจว่าจะยังคงสามารถรักษาประสิทธิภาพของอัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิได้ในระดับเดิม โดยในปี 2563 บริษัทมีโครงการคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่หลายโครงการที่มีแผนรับรู้รายได้ต่อเนื่อง และที่จะทยอยสร้างเสร็จและรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการไนท์บริดจ์ ไพรม์ สาทร มูลค่าโครงการ 3,900 ล้านบาท โครงการไนท์บริดจ์ ไพรม์ รัชโยธิน มูลค่าโครงการ 1,680 ล้านบาท โครงการไนท์บริดจ์ ไพรม์ อ่อนนุช มูลค่าโครงการ 2,600 ล้านบาท โครงการไนท์บริดจ์ คอลลาจ รามคำแหง มูลค่าโครงการกว่า 2,054 ล้านบาท โครงการไนท์บริดจ์ สเปซ รัชโยธิน มูลค่าโครงการกว่า 2,700 ล้านบาท และโครงการไนท์บริดจ์ เกษตรโซไซตี้ มูลค่าโครงการกว่า 1,300 ล้านบาท โดยปัจจุบันบริษัทมีแบ็คล็อกพร้อมทยอยรับรู้รายได้ต่อเนื่องกว่า 3 ปีสูงถึงกว่า 41,000 ล้านบาท   นอกจากนี้ บริษัทจะเริ่มมีการรับรู้รายได้จากธุรกิจโรงแรมที่เปิดให้บริการในปี 2563 จำนวน 2 โรงแรมได้แก่ ได้แก่ โรงแรมสเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก ทองหล่อ และโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ แอนด์ สวีทส์ ศรีราชา แหลมฉบัง รวม 650 ห้องพัก ซึ่งจะช่วยเพิ่มพอร์ตการรับรู้รายได้ให้แก่บริษัท ผนึกพันธมิตรสร้างรายได้และโอกาสทางธุรกิจ ขณะที่ไตรมาส 4 ปี 2562 กลุ่มธุรกิจโรงแรมได้จับมือกับพันธมิตรใหม่ โดย บริษัท วัน ออริจิ้น จำกัด ได้เข้าร่วมทุนกับพันธมิตรรายใหม่ชื่อ CI:Z Limited Liability Partnership ซึ่งเป็นนักลงทุนสัญชาติญี่ปุ่น โดยการขายหุ้น บริษัท วัน สุขุมวิท 59 จำกัด ซึ่งจะพัฒนาโครงการ Intercontinental Bangkok Thonglor ร่วมกันต่อไป   ทั้งนี้บริษัทยังคงมองเห็นโอกาสในการเติบโตจากธุรกิจหลัก รวมทั้งในธุรกิจใหม่ๆ และยังเปิดรับพันธมิตรใหม่ๆ มาร่วมทุนและร่วมขับเคลื่อนแพลทฟอร์มในทุกกลุ่มธุรกิจของบริษัท โดยบริษัทจะเปิดเผยแผนธุรกิจประจำปี 2563 ของทุกกลุ่มบริษัทในเครือในวันที่ 4 มี.ค.นี้   ในปี 2562 บริษัท มีการร่วมทุนกับพันธมิตรเดิม และ พันธมิตรใหม่เพิ่มเติม อันได้แก่  1.บริษัท โนมูระ เรียลเอสเตท ดีเวลล็อปเมนท์ จํากัด เพื่อพัฒนาโครงการ “พาร์ค ออริจิ้น จุฬา-สามย่าน” 2.บริษัท เอสคอน เจแปน (ประเทศไทย) จํากัด เพื่อพัฒนาโครงการ “ไนท์บริดจ์ สุขุมวิท-เทพารักษ์” 3.บริษัท ดุสิตธานี จํากัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาโครงการ “เดอะ แฮมป์ตัน ศรีราชา บาย ออริจิ้น แอนด์ ดุสิต” และ 4.CI:Z Limited Liability Partnership จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาโรงแรมระดับไฮเอนด์ต่อไป ทุกกลุ่มบริษัทในเครือจะยังคงเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทในปีนี้ ทั้งกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมอย่างธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อการขาย ไปจนถึงธุรกิจใหม่ๆ อย่างธุรกิจที่สร้างรายได้ต่อเนื่อง ธุรกิจบริการ เพื่อสร้างความยั่งยืนกลับมาสู่บริษัท   นายพีระพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติเห็นชอบให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญจ่ายปันผลสำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทรอบหกเดือนหลัง ของปี 2562 ในอัตรา 0.29 บาทต่อหุ้น หรือ คิดเป็น Dividend Yield กว่า 9% จากราคาปิดเมื่อวานนี้ เป็นเงินปันผลจ่ายทั้งสิ้นไม่เกิน 711.33 ล้านบาท โดยบริษัทจะจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสด โดยกำหนดในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เป็นวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) และกำหนดจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นภายในวันที่ 29 พฤษภาคม​ 2563  
บทสรุป AWC ปี 62 กำไรพุ่ง109% ชู 5 กลยุทธ์ไปต่อในปี 2020

บทสรุป AWC ปี 62 กำไรพุ่ง109% ชู 5 กลยุทธ์ไปต่อในปี 2020

แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น หรือ AWC ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทยที่มุ่งเน้นตอบสนอง ไลฟ์สไตล์แบบครบวงจร เปิดผลประกอบการประจำปี 2562 มีกำไรสุทธิ 1,040 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 109% และในไตรมาส 4 ปี 2562 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 482 ล้านบาท เติบโต 140% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พร้อมเดินหน้าธุรกิจในปี 2563 ด้วย 5 กลยุทธ์หลัก มุ่งมั่นสร้างสรรค์อนาคตที่ดีกว่าให้กับ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย พร้อมยกระดับเศรษฐกิจของประเทศแบบองค์รวม บทสรุปผลงาน AWC ปี 2562 นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เปิดเผยว่า ในปี  2562 ที่ผ่านมาเป็นปีที่สำคัญของบริษัท นอกจากความสำเร็จจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ผลการดำเนินงานของทุกกลุ่มธุรกิจก็มีอัตรา   การเติบโตที่แข็งแกร่งเป็นที่น่าพอใจ   บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,040 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 109% โดยมีกำไรจากการดำเนินงานของสินทรัพย์ดำเนินงาน  เติบโต 8.4% ซึ่งกำไรจากการดำเนินงานของสินทรัพย์ดำเนินงาน  แบ่งสัดส่วนเป็นโรงแรมและการบริการ (Hospitality) 45% ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการประกอบกิจการการค้า (Retail) 22% และธุรกิจอาคารสำนักงาน (Office)  33% รายได้จากพอร์ทโฟลิโอสินทรัพย์ดำเนินงาน  เติบโต 3.4% (อ่านเพิ่มเติม...แผนพัฒนาอสังหาฯ​ เพื่อการพาณิชย์)   ผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา เกิดจากกลยุทธ์ของบริษัท ที่มุ่งเน้นการเติบโต การปรับปรุงตำแหน่งทางธุรกิจของสินทรัพย์ที่มีอยู่ การพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ และการปรับกลยุทธ์พอร์ทการลงทุนเพื่อเน้นผลตอบแทนให้ได้ตามเป้าหมาย   สำหรับผลการดำเนินงาน ของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ในปี 2562 กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) มีรายได้จากสินทรัพย์ดำเนินงาน เพิ่มขึ้น 1.3% โดยรายได้หลักเพิ่มขึ้นจากโรงแรม กลุ่มไมซ์ที่เพิ่มขึ้น 6.8% โดยโรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค ที่อยู่ในช่วงการดำเนินงานเริ่มต้น (Ramp up) มีรายได้เติบโต 13.9% และมีกำไรจากการดำเนินงานเติบโต 26% ทั้งนี้บริษัท มีรายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPAR) สูงกว่าอุตสาหกรรมโรงแรมโดยรวม โดยมีดัชนีชี้วัด (RGI Index) เท่ากับ 108   กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail & Commercial) มีรายได้จากสินทรัพย์ดำเนินงาน  เพิ่มขึ้น 7.7% จากความสำเร็จในการเปิดตัว 2 โครงการใหม่ ได้แก่ เกทเวย์ แอท บางซื่อ ที่มีรายได้เติบโต 1,037% และกำไรจากการดำเนินงานสูงขึ้น 225%  และ ลาซาล อเวนิว ที่มีรายได้เติบโต 175% และกำไรจากการดำเนินงานสูงขึ้นถึง 9,245% ประกอบกับธุรกิจอาคารสำนักงานมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การให้เช่าพื้นที่ให้รองรับความต้องการของลูกค้าและธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้มีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตรา 6% (ไม่รวมผลการดำเนินงานของสินทรัพย์ที่บริษัทจำหน่ายออกจากกลุ่มในระหว่างปี 2561) และด้วยกลยุทธ์ของบริษัทที่เน้นประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมทั้งการจัดซื้อจำนวนมากส่งผลให้การเติบโตของอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้สำหรับพอร์ตทรัพย์สินดำเนินงาน สูงขึ้นจาก 48 % เป็น 51%   ขณะที่สินทรัพย์รวมของบริษัทเติบโต 17.3% หนี้สินรวมของบริษัทลดลงร้อยละ 50.7% จากการนำเงินจากการเพิ่มทุนบางส่วนมาใช้ในการบริหารสภาพคล่องและจ่ายชำระคืนเงินกู้และเตรียมการลงทุนในทรัพย์สินกลุ่ม 3 (บริษัทได้เข้าซื้อสินทรัพย์กลุ่ม 3 ณ วันที่ 1 มกราคม 2563 ด้วยมูลค่าลงทุนรวม 26,229.5 ล้านบาท) ทำให้บริษัทมีโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่งโดยพิจารณาได้จากอัตราหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงเหลือ 0.4 เท่า 5 กลยุทธ์ “BUILDING A BETTER FUTURE 2020” ด้วยความมุ่งมั่นเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของ AWC บริษัทได้กำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ ได้แก่ การสร้างตอบแทนต่อส่วนทุนที่คุ้มค่า การสร้างความแข็งแกร่งและเติบโตอย่างต่อเนื่องยั่งยืน และการเป็นองค์กรที่น่าชื่นชมและเชื่อถือ โดยดำเนินงานผ่านกลยุทธ์หลัก 5 ข้อ  ของ AWC สำหรับปี 2563 คือ 1.เติบโตก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง (Growth-Led Strategy) มุ่งเน้นให้โครงการใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามแผนการเติบโตของบริษัทมีศักยภาพที่จะสร้างการเติบโตที่ชัดเจนให้บริษัท โดยมีแผนจัดสรรเงินทุนมากกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาทั้งโครงการโรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยวแนวไลฟ์สไตล์มากกว่า 12 โครงการ ซึ่งจะเพิ่มจำนวนห้องพักในโรงแรมเป็น 8,506 ห้อง และเพิ่มพื้นที่เช่าของอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้าเป็น 415,481 ตารางเมตร ภายในปี 2024 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาบริษัท ยังได้ซื้อโรงแรมเข้าในพอร์ตเพิ่มอีก 4 แห่ง ด้วยมูลค่า 26,000 ล้านบาท ทำให้ภายในสิ้นปีนี้AWC มีโรงแรมภายใต้การบริหารงานทั้งสิ้น 17 แห่ง (อ่านข่าว...แผนซื้ออสังหา 12 แห่งเข้าเติมพอร์ต) 2.มุ่งเน้นลูกค้ากลุ่มรายได้ระดับกลางถึงสูง (Middle to High Income Customer Segment) บริษัทมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจน อันได้แก่ ลูกค้าและนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ระดับกลาง ถึงสูง และนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ ที่มีอัตราการเติบโตและอัตราส่วนกำไรต่อรายได้สูง 3.สร้างความแข็งแกร่งร่วมกับพันธมิตรระดับโลก (Global and Unique Partners) เพื่อสร้างและขยายเครือข่ายพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญในสายงานต่างๆ ในการแบ่งปันความชำนาญและมาตรฐานการดำเนินงานให้อยู่ในระดับสากล อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ จากระบบจัดจำหน่ายทั่วโลก (Global Distribution Channel) โปรแกรมสมาชิก (Loyalty Program) กว่า 300 ล้านสมาชิกของผู้บริหารโรงแรม และเพิ่มตัวเลือกแบรนด์ที่หลากหลายให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้ามากขึ้น 4.เป็นผู้นำตลาด สร้างประสบการณ์ใหม่ให้วงการ (New Benchmark) ด้วยการสร้างสรรค์โครงการขนาดใหญ่และมีจุดดึงดูดเพื่อสร้างขีดการแข่งขันและเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้กับประเทศ โดยโครงการของบริษัทมีจุดเด่นที่เป็นบรรทัดฐานใหม่ให้กับวงการหรือจุดหมาย การท่องเที่ยวนั้น ๆ อาทิ การส่งเสริมความแข็งแกร่งและยกระดับอุตสากรรมไมซ์ให้กับ ประเทศไทย การดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านเครือข่ายระดับโลกที่แข็งแกร่ง และการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้จุดหมายปลายทางที่โครงการของ AWC เปิดดำเนินการ 5.พัฒนาและดำเนินธุรกิจเพื่อเติบโตอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อคุณค่าองค์รวม (Synergy & Sustainability) การสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ ด้วยการจัดทำแผนงานเพื่อความยั่งยืนในมิติต่างๆ ทั้งในด้านการรับรองมาตรฐานความยั่งยืนจากหน่วยงานต่างๆ การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนตอบสนองนโยบาย “การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน” ของบริษัทผ่านการดำเนินงานของมูลนิธิแอสเสท เวิรด์  เพื่อการกุศล (Asset World Foundation for Charity) และ The Gallery วิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้คือการเดินหน้าสร้างสรรค์อนาคตที่ดีกว่าให้กับบริษัท นักลงทุน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมยกระดับเศรษฐกิจ และสังคมไทยแบบองค์รวม ปรับโฉม 7 รีเทลสู่ “F&B Destination”   กลุ่มธุรกิจรีเทลของ AWC ในปีนี้ ได้วางแผนปรับปรุง และรีแบรนด์ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีด้วยกัน 7 แห่ง ที่จะถูกรีโพสิชั่นนิ่งใหม่  ได้แก่ ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า 3 แห่ง ได้ก่ สาขางามวงศ์วาน ประตูน้ำ และเชียงใหม่ ศูนย์การค้าเกทเวย์ เอกมัย เกทเวย์ แอท บางซื่อ โครงการตะวันนา บางกะปิ และโครงการที่อยู่ด้านข้างอีก 1 แห่ง   สำหรับโครงการทั้งหมด จะมุ่งเน้นในเรื่องความเป็นไลฟ์สไตล์เพิ่มมากขึ้น ด้วยการเพิ่มพื้นที่อาหารและเครื่องดื่ม (Food and Beverage) ขณะที่จะลดสัดส่วนร้านค้าอื่นลง อย่างเช่น ศูนย์การค้าพันธุ์พลาซ่า ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของสินค้าไอที จะกลายเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งในศูนย์การค้าเท่านั้น เช่น สาขางามวงศ์วาน จะเพิ่มพื้นที่ส่วนของอาหารมากขึ้น โดยวางคอนเซ็ปต์เป็นศูนย์รวมอาหารที่มีชื่อเสียง และร้านสตรีทฟู้ดที่ได้รับความนิยม เป็นต้น   ขณะที่ศูนย์การค้าเกทเวย์ เอกมัย จะทำการปรับโฉมใหม่ เป็นศูนย์กลางสินค้าจากต่างประเทศทั่วโลก ภายใต้แนวคิด “Gate way to the world” เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเลือกซื้อสินค้าของต่างชาติ และยังคงเน้นเรื่องอาหาร เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนในยุคปัจจุบัน ส่วนตะวันนาจะเพิ่มความเป็นไลฟ์สไตล์ และไลฟ์สไตล์เข้าไปเช่นกัน ส่วนที่ดินใกล้กับโครงการตะวันนา จะทำเป็นศูนย์จำหน่ายอาหารสด และมีบริการมี Chief Table ไว้คอยบริการ ลดค่าเช่า 25% ช่วยร้านค้าเอเชียทีค รับมือไวรัสโควิด-19 ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย AWC มีความห่วงใย และได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และได้ออกมาตรการอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลความปลอดภัย เรื่องสุขอนามัยภายในโครงการ โดยได้ร่วมมือกับพันธมิตรโรงแรมชั้นนำต่าง ๆ ในการออกนโยบายยกเว้นค่าธรรมเนียมในการยกเลิกเข้าพักในโรงแรมและการยกเลิกหรือเลื่อนการจัดประชุม โดยพิจารณาความเหมาะสมในช่วงเวลาที่เดินทางและประเทศต้นทาง   ส่วนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า บริษัทจะมอบส่วนลดค่าเช่าตามสถานการณ์ผลกระทบด้านจำนวนลูกค้าและเศรษฐกิจของแต่ละโครงการเดือนต่อเดือน และพิจารณามอบความช่วยเหลือเพิ่มตามความเหมาะสมของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และจะร่วมยืนหยัดรับมือทุกปัญหาเพื่อให้ผ่านพ้นสถานการณ์ยากลำบากนี้ไปด้วยกันอย่างดีที่สุด   โดยบริษัทพิจารณาลดค่าเช่าให้กับผู้เช่าที่ศูนย์การค้าเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ (อ่านเพิ่มเติม...แผนพัฒนาเอเชียทีค สู่เมกะโปรเจ็กต์) ในอัตรา 25% โดยมีผลในเดือนมีนาคมนี้ ส่วนผู้เช่าในศูนย์การค้าอื่นๆ จะพิจารณาตามผลกระทบที่ได้รับ ซึ่งประเมินว่าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จะได้รับการแก้ไขโดยเร็ว  
รีวิวคอนโด หัวหิน “Carapace Huahin-Khaotao” ติดหาดเขาเต่า

รีวิวคอนโด หัวหิน “Carapace Huahin-Khaotao” ติดหาดเขาเต่า

หัวหิน เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมตลอดกาลของบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติที่ต้องการแวะมาพักผ่อนสูดอากาศริมทะเล เดินเล่นบนหาดทรายอันเงียบสงบ ทานอาหารทะเลอร่อยๆ แต่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เดินทางสะดวก จนเชื่อว่าใครหลายคนอยากจะมีคอนโดมิเนียมริมทะเลสักห้อง ซึ่ง "หัวหิน" คือคำตอบของจุดหมายปลายทางนี้ ที่สำคัญคือราคาในแบบมนุษย์เงินเดือนก็สามารถเป็นเจ้าของได้ เพียง 2 ล้านต้นๆ เท่านั้น   ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ถ้าอยากหาสถานที่พักผ่อนริมชายหาดที่ผู้คนไม่พลุ่กพล่านมากนัก ก็คงต้องขับรถออกไปจากตัวเมืองกันสักนิด แต่ยังไม่ไกลจากสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างที่หัวหินก็คงจะชวนให้นึกถึงหาดเขาเต่า ซึ่งเป็นที่ตั้งของ "Carapace Huahin-Khaotao" โครงการติดชายหาดที่เป็นทั้ง Hotel Commercial 1 อาคาร 8 ชั้น อีก 2 อาคาร สูง 7 ชั้น และ Condominium Residential 3 อาคาร สูง 4 ชั้น แยกอาคารฟิตเนสอีก 1 อาคาร โดยจะแบ่งเป็น 2 เฟส แยกอาคารกันชัดเจน จึงไม่ต้องห่วงเรื่องความเป็นส่วนตัว แต่จะยังอยู่ในพื้นที่โครงการเดียวกัน สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ไปจนถึงริมหาดส่วนตัว ดีไซน์สไตล์คอนโด หัวหิน ริมทะเล หน้าตาของอาคารทั้ง 2 เฟส ใช้การออกแบบตามแนวคิด Modern Contemporary Concept มีทั้งความทันสมัยไปพร้อมกับการใช้ Texture และเส้นสายของ Facade ที่โค้งพริ้วรับกับ Landscape รอบอาคารส่งไปถึงริมทะเลอย่างสอดคล้องกัน ประกอบกับการวางตัวอาคารให้เปิดมุมมองเห็นพื้นที่สวนและทะเล แทรก Court ลงตรงพื้นที่กลางโครงการเพิ่มความน่าสนใจได้เป็นอย่างดี Facilities คอนโด หัวหิน เหมาะกับการพาครอบครัวมาพักผ่อน บรรยากาศริมชายหาด Interior คอนโด หัวหินก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ขึ้นชื่อว่าเป็นโครงการริมชายหาดเขาเต่าแห่งเมืองหัวหินอันเลื่องชื่อ บรรยากาศภายในห้องพักก็ต้องให้อารมณ์เหมือนอยู่ริมทะเลด้วยเช่นกัน "Carapace Huahin-Khaotao" จึงได้หยิบเอาเปลือยหอยที่ถูกคลื่นซัดอยู่บนผืนทรายมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบภายในห้องพัก ไม่ว่าจะเป็นพื้นกระเบื้องลายไม้ วัสดุหัวเตียงที่มีลายเปลือกหอยมาเป็น Signature รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้วัสดุและโทนสีออกมาเป็นสไตล์ Sapphire Earth Tone รายละเอียดคอนโด หัวหิน Carapace Huahin-Khaotao โครงการคอนโด หัวหิน อื่นๆ ที่น่าสนใจ อินเตอร์คอนติเนนตัล เรสซิเดนเซส หัวหิน THEW TALAY ESTATE Blu ชะอำ-หัวหิน  
7 ไฮไลท์แผนธุรกิจ PF-GRAND สู่เป้าหมายรายได้ 22,000 ล้าน

7 ไฮไลท์แผนธุรกิจ PF-GRAND สู่เป้าหมายรายได้ 22,000 ล้าน

กลุ่มบริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค แถลงแผนธุรกิจปี 63 เดินหน้าสร้างรายได้และยอดขายกว่า  20,000 ล้าน พร้อมใช้กลยุทธ์ “Product Strategy” ผลักดันสู่เป้าหมาย  ทั้งการเปิดโปรเจ็กต์แนวราบ 12 โครงการ  การออกบ้านแบบใหม่ พัฒนาบ้านป้องกันฝุ่น PM 2.5 และเดินหน้าหั่นหนี้ 10,000 ล้าน หวังลด D/E เหลือ 1.2   นายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ และ นางสาวศิริรัตน์ วงศ์วัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มการเงิน บริษัท พร็อพเพอร์ตี้  เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF​ ร่วมด้วย นายวิทวัส วิภากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ นางสาววิลาวัณย์ เหลืองนาคทองดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงิน บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAND ร่วมกันแถลงถึงแผนธุรกิจของกลุ่มบริษัท ประจำปี 2563 โดยแผนธุรกิจในปี 2563 มี 7 ประเด็นไฮไลท์ สำคัญ คือ 1.วางเป้าหมายรายได้รวมของกลุ่มบริษัท มูลค่า 22,000 ล้านบาท เติบโต 6.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน  แบ่งเป็น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 16,400 ล้านบาท แบ่งเป็น -พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค มูลค่า 15,400 ล้านบาท รวมโครงการในประเทศญี่ปุ่น -แกรนด์ แอสเสทฯ มูลค่า 1,000 ล้านบาท ธุรกิจโรงแรม มูลค่า 3,300 ล้านบาท -โรงแรมในประเทศ 2,000 ล้านบาท -โรงแรมในญี่ปุ่น 1,300 ล้านบาท การขายที่ดินและการลงทุน 2,000 ล้านบาท ธุรกิจให้เช่า 300 ล้านบาท 2.พร็อพเพอร์ตี้ เฟอร์เฟค วางเป้าหมายยอดขาย 18,000 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการแนวราบ 10,000 ล้านบาท โครงการร่วมทุน 1,500 ล้านบาท โครงการคอนโดมิเนียม 6,500 ล้านบาท ในประเทศ 4,500 ล้านบาท และประเทศญี่ปุ่น 2,000 ล้านบาท 3.พร็อพเพอร์ตี้ เฟอร์เฟค  สร้างการเติบโตด้วย Product strategy มี 4 แนวทางสำคัญ  ได้แก่ -การเปิด 12 โครงการแนวราบ มูลค่ารวม 18,560 ล้านบาท แบ่งเป็น บ้านเดี่ยว 10 โครงการ มูลค่า 17,110 ล้านบาท ทาวน์เฮ้าส์ 2 โครงการ มูลค่า 1,450 ล้านบาท -การเพิ่มแบบบ้านใหม่ 26 โมเดล -การเปิดตัวบ้านคอนเซ็ปต์ใหม่ Pure Air Technology หรือ “บ้านป้องกันฝุ่น PM 2.5” -การเป็นองค์สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ด้วยการการปลูกต้นไม้ใหญ่ 5,000 ต้นในโครงการต่างๆ  การติดตั้งแผงโซล่าร์ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้พลังงานสะอาดในสำนักงานและคลับเฮ้าส์ 4.แกรนด์ แอสเสทฯ วางเป้าหมายยอดขาย 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็น -โครงการคอนโดฯ 2,500 ล้านบาท -โครงการวิลล่า ในจ.ระยอง 500 ล้านบาท 5.วางเป้าหมายลดหนี้ 10,000 ล้านบาท เพื่อลดอัตราหนี้สินต่อทุน หรือ D/E ให้ต่ำกว่า 1.5 เท่า จากปัจจุบันมี D/E ที่ 1.7 เท่า ซึ่งหากทำได้ตามแผนที่วางไว้จะมี D/E เหลือ 1.2 เท่า โดยวางแผน -ขายหุ้นโรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน ขั้นต่ำ 40% คิดเป็นมูลค่า  2,500 ล้านบาท จากมูลค่า 6,000 ล้านบาท -การโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียม ยู คิโรโระ ในประเทศญี่ปุ่น สามารถมาลดหนี้ได้ มูลค่า 1,500 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว 1,700 ล้านบาท -ขายหอพักยูนิลอฟท์ และที่ดินใน จ.เชียงใหม่ มูลค่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งวางแผนขายให้กับโรงเรียนนานาชาติ -ขายที่ดินย่านรามอินทรา มูลค่า 2,500 ล้านบาท -ขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก มูลค่า 2,500 ล้านบาท 6.พร็อพเพอร์ตี้ เฟอร์เฟค ไม่มีแผนเปิดโครงการคอนโดฯ โดยจะขายสต็อกเก่าที่มีอยู่ 6,800 ล้านบาทที่สร้างเสร็จแล้ว จะรับรู้รายได้ปีนี้ 4,200 ล้านบนาท โดยมียอดขายรอรับรู้รายได้ หรือ Backlog  ช่วงสิ้นปี 2562 มูลค่า  2,845 ล้านบาท  แบ่งเป็น Backlog จากโครงการคอนโดฯ  1,427 ล้านบาท ซึ่งในปี 2563 จะมีรายได้จากโครงการคอนโดฯ  2 โครงการ ได้แก่ โครงการ ไอ คอนโด กรีนสเปซ พัฒนาการ-ศรีนครินทร์ และโครงการ เมโทร สกาย วุฒากาศ และมี Backlog จากโครงการแนวราบ 1,118 ล้านบาท และเป็น Backlog จากโครงการคอนโดฯ  ยู คิโรโระ 300 ล้านบาท 7.เดินหน้าแผนพัฒนาโครงการร่วมทุนกับ 3 พันธมิตร  -ร่วมทุนกับฮ่องกงแลนด์ เพื่อพัฒนาโครงการ “เลค เลเจ้นด์” บ้านเดี่ยวระดับไฮเอนด์  2 โครงการ มูลค่ารวม 13,500 ล้านบาท -ร่วมมือกับ  ซูมิโตโม ฟอเรสทรี พัฒนาโครงการบ้านเดี่ยวในทำเลราชพฤกษ์ตัดใหม่ 2 โครงการ มูลค่า 3,900 ล้านบาท จากนอกเหนือจากคอนโดมิเนียม ไฮด์ เฮอริเทจ ทองหล่อ มูลค่าโครงการ 6,000 ล้านบาทแล้ว ในปีนี้ยังจะร่วมกัน -ร่วมทุนกับ เซกิซุย เคมิคอล พัฒนาโครงการในเพิ่มอีก 1 ทำเล  มูลค่ารวม 3,100 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมามีการร่วมมือกันใน 4 ทำเล   ภาพรวมการร่วมทุนของกลุ่มบริษัทขณะนี้มีมูลค่าทั้งสิ้น 26,500 ล้านบาท เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มบริษัท ปีที่ผ่านมาบริษัทยังประสบความสำเร็จจากโครงการ “ยู คิโรโระ” คอนโดมิเนียมในประเทศญี่ปุ่น ทำให้มีรายได้เข้ามา 1,700 ล้านบาท ปัจจุบันโครงการมียอดขายแล้ว 2,600 ล้านบาท หรือ 70% ของจำนวนยูนิตทั้งหมด  และคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีต่อเนื่อง สามารถโอนกรรมสิทธิ์ปิดโครงการได้ภายในปีนี้  
โกลเด้นแลนด์ กวาดรายได้และกำไร โตสวนกระแสตลาดชะลอตัว

โกลเด้นแลนด์ กวาดรายได้และกำไร โตสวนกระแสตลาดชะลอตัว

โกลเด้นแลนด์ เผยผลประกอบการปี 2562 ทำรายได้รวม 17,168 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.6% พร้อมทำกำไร  2,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3%  เหตุทุกธุรกิจเติบโตถ้วนหน้า ทั้งที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และศูนย์การค้า ส่วนปี 2563 เดินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ฝ่าวิกฤตตลาดชะลอตัว   นายธนพล ศิริธนชัย ประธานอำนวยการ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ เปิดเผยว่า บริษัทมีรายได้หลักจากการขายอสังหาริมทรัพย์รวม 15,305 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,268 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยประสบความสำเร็จทั้งโครงการใหม่ที่เริ่มเปิดขายและโอนในระหว่างปี 2562 รวมถึง โครงการเดิมที่ยังขาย และโอนได้อย่างต่อเนื่อง โดยยอดขายบ้านนีโอโฮม ราคา 5-8 ล้านบาท มีสัดส่วนสูงขึ้นอย่างชัดเจน รวมถึงยอดขายจากการขยายโครงการไปต่างจังหวัด     ในขณะที่รายได้ค่าเช่าและรายได้อื่นๆ งวด 12 เดือน (1 มกราคม 2562  – 31 ธันวาคม 2562) มีรายได้รวม 1,863 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 89 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการรับรู้รายได้จากการให้เช่าในอาคารสำนักงาน  ที่บริษัทบริหารพื้นที่ มีอัตราการเช่าสูงกว่า 95% ทุกอาคาร และมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจโรงแรม   ส่วนโครงการสามย่านมิตรทาวน์ที่แล้วเสร็จในปีที่ผ่านมา  ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ มีอัตราการเช่าแล้ว 95% ส่วนพื้นที่อาคารสำนักงาน มิตรทาวน์ ออฟฟิศ ทาวเวอร์ มีอัตราการเช่าแล้ว 75% มีผู้เช่าทยอยเข้าตกแต่ง  และส่วนที่พักอาศัย ทริปเปิ้ล วาย เรสซิเด้นซ์ มีอัตราการขายสิทธิการเช่า 75% และทริปเปิ้ล วาย โฮเทล ที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 45%   “จากผลประกอบการรอบ 12 เดือน ปี 2562 ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า เรายังทำได้ดีตามเป้าหมาย ซึ่งเป็นผลจากการเลือกพัฒนาโครงการบนทำเลที่มีความต้องการต่อเนื่อง และราคาสินค้าตอบโจทย์กำลังซื้อของกลุ่มลูกค้า แม้ว่าจะเผชิญความท้าทายจากหลายปัจจัยภายนอกที่กระทบกับตลาดที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะ 6 เดือนสุดท้ายของปี 2562 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมเข้มสินเชื่อ LTV”     ขณะที่ทิศทางของโครงการเชิงพาณิชย์ ตลาดอาคารสำนักงานยังไปได้ดี สะท้อนจากอัตราการเช่าพื้นที่ทุกอาคารของโกลเด้นแลนด์ และอาคารสำนักงานให้เช่าแห่งใหม่ล่าสุดในโครงการสามย่านมิตรทาวน์ มิตรทาวน์ ออฟฟิศ ทาวเวอร์ ที่มียอดผู้เช่าในสัดส่วนที่สูง แม้ว่าอาคารจะเพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ที่ยังคงมีผู้ใช้บริการสูงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา และมีอัตราผู้เช่าสูงตามเป้าหมาย   สำหรับภาพรวมธุรกิจในปี 2563 ในส่วนของธุรกิจที่อยู่อาศัย โกลเด้นแลนด์ได้มีการปรับกลยุทธ์ให้เติบโตอย่างระมัดระวัง ในการฝ่าภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว เช่น การบริหารค่าใช้จ่ายในการขาย รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและใช้ทรัพยากร บริษัทฯ คาดการณ์การแข่งขันในปีนี้จะยังรุนแรงเช่นเดิมโดยเฉพาะตลาดบ้านแนวราบ จากการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายหันมาให้ความสำคัญกับตลาดนี้แทนที่ตลาดคอนโดมิเนียม   ส่วนธุรกิจเชิงพาณิชย์ อาคารสำนักงานที่อยู่ใจกลางเมือง เดินทางสะดวก ติดรถไฟฟ้าจะยังได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้เช่าภาคธุรกิจต่างๆ ส่วนธุรกิจศูนย์การค้าใจกลางเมือง นอกจากร้านค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการแล้ว การจัดอีเวนท์อย่างต่อเนื่องก็จะดึงกลุ่มลูกค้าได้ดี   อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง “สามย่านมิตรทาวน์” เปิดพื้นที่ 24 ชั่วโมง ให้คนกรุงใช้ชีวิตทั้งวันทั้งคืน “กิน ดื่ม ทำงาน และออกกำลังกาย” 19 ร้านคอนเซ็ปต์ “ใหม่” ในสามย่านมิตรทาวน์ [PR News] โกลเด้นแลนด์ เปิดอาณาจักร GOLDEN EMPIRE แจ้งวัฒนะขายหมดภายใน 2 วัน เปิด 5 ไฮไลท์ “MITRTOWN OFFICE TOWER” ออฟฟิศให้เช่า พระราม 4 5 เหตุผล “โกลเด้นแลนด์” ปักหมุดเชียงรายปั้น โกลเด้น เอ็มไพร์ 2,600 ล้าน
สิงห์ เอสเตท ลงทุนกว่า 73,000 ล้าน เดินหน้า 4 ธุรกิจหลัก สร้างรายได้ 30,000 ล้านในปี 2567

สิงห์ เอสเตท ลงทุนกว่า 73,000 ล้าน เดินหน้า 4 ธุรกิจหลัก สร้างรายได้ 30,000 ล้านในปี 2567

"สิงห์ เอสเตท" ดำเนินธุรกิจมาถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 5 ปีแล้ว นับตั้งแต่เปลี่ยนชื่อมาจาก บริษัท รสา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในช่วงปี 2557     โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานในธุรกิจที่อยู่อาศัย อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยพลาดจากเป้าหมายไปประมาณ 30% คาดว่าจะทำรายได้ประมาณ 7,500 ล้านบาท ซึ่งภาพรวมในปี 2562 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้รวมน่าจะทำได้ 16,000 ล้านบาท   สิงห์เอสเตท ตั้งเป้าทำรายได้ 20,000 ล้าน อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 สิงห์ เอสเตท คาดว่าจะกลับสร้างการเติบโต พร้อมกับเป้าหมายการทำรายได้ 20,000 ล้านบาท ซึ่งมีแผนการดำเนินธุรกิจในกลุ่ม คือ   1.แผนการเปิดโครงการใหม่ 6 โครงการ มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการคอนโดมิเนียมจะมีแบรนด์ใหม่ 2 โครงการ และโครงการแนวราบจะมีแบรนด์ใหม่ 3 โครงการ และมีเป้าหมายยอดขาย 8,000 ล้านบาท พร้อมกับรับรู้รายได้จากการโอนโครงการเอส 36 จากแบ็กล็อกที่มีมูลค่า 6,000 ล้านบาท   2.ธุรกิจคอมเมอร์เชียล หรืออาคารสำนักงาน จะเน้นการพัฒนาโครงการในทำเลที่เหมาะสม โดยไม่เน้นทำเลใจกลางเมืองเป็นหลัก ส่วนธุรกิจโรงแรมยังคงขยายอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนใช้เงินลงทุนปีนี้ 5,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาและซื้อกิจการในส่วนอาคารสำนักงานและโรงแรม   3.การรับรู้รายได้จากโครงการในมัลดีฟส์มูลค่า 2,000 ล้านบาท เนื่องจากโรงแรมในโครงการคอรสโร้ดส์ เฟสแรก ได้เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ   4.การขยายธุรกิจใหม่ ที่สร้างความยั่งยืนและช่วยเหลือสังคม ได้แก่ ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Business)   นายนริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปีนี้จะเป็นปีที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายรายได้ 20,000 ล้านบาท หลังจากทำตามเป้าหมาย การพัฒนาบริษัทเป็นโกลบอลคอมปานี ได้สำเร็จมา 3 ปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้นมากมีมูลค่าสินทรัพย์ถึง 67,000 ล้านบาท และตามแผนในระยะ 5 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2567 สินทรัพย์น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ล้านบาท   ส่วนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ มีปัจจัยที่ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ มี 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.ปัญหาไข้หวัดโคโรน่า ซึ่งผลกระทบจะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการแพร่ระบาด แต่คาดว่าจะมีระยะเวลาการแพร่ระบาดไม่นาน และ 2.ปัญหาการเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี จะดำเนินการได้ตามแผนหรือไม่ ส่วนปัจจัยบวกสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ในภาวะ ค่าเงินบาทหากอ่อนค่ากกว่านี้ ในระดับ 35 บาทต่อดอลล่าห์  จะส่งผลบวกต่อตลาดนักท่องเที่ยว ซึ่งจะเข้ามาเพิ่มมากขึ้น แผน 5 ปี “สิงห์เอสเตท” ลงทุนกว่า 73,000 ล้าน 5 ปีข้างหน้า จะมุ่งขยายใน 3 แกนหลัก ได้แก่ ธุรกิจที่อยู่อาศัย ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจคอมเมอร์เชียล ด้วยงบลงทุนรวม 68,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันจะขยายธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจอสังหาฯ ด้วย โดยเป็นธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณการลงทุนประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท รวมงบประมาณการลงทุนทั้ง 4 กลุ่มประมาณ 73,000-74,000 ล้านบาท แบ่งเป็น   1.ธุรกิจที่อยู่อาศัย เตรียมลงทุน 37,500 ล้าบาท เพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย 30 โครงการ   2.ธุรกิจคอมเมอร์เชียล ซึ่งเป็นพื้นที่สำนักงานให้เช่า เตรียมลงทุน 8,500 ล้านบาท เพื่อพัฒนา 4 โครงการ ซึ่งอาจจะซื้อหรือพัฒนาขึ้นใหม่ แต่บริษัทต้องการซื้อโครงการมาพัฒนาต่ำ เนื่องจากได้รับกระแสเงินสดเข้ามาทันที แต่หากพัฒนาขึ้นใหม่ จะมีผลดีในด้านผลตอบแทนที่สูง จากปัจจุบันมีอาคารสำนักงานให้เช่า 3 อาคาร รวม 140,000 ตารางเมตร คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ตารางเมตรในอีก 5 ปีข้างหน้า   3.ธุรกิจโรงแรม เตรียมงบประมาณการลงทุน 22,000 ล้านบาท  เพื่อพัฒนาและซื้อโรงแรมมาพัฒนาต่อ 41 แห่ง ในพื้นที่ด้านการท่องเที่ยว  ตามเป้าหมายจะมีโรงแรมรวม 80 แห่ง มีจำนวนห้อง 8,000 ห้อง ภายในปี 2568 จากปัจจุบันมีโรงแรม 39 แห่ง จำนวน 4,647 ห้อง   4.ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เตรียมงบประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท โดยจะร่วมลงทุนกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงาน โดยร่วมกันพัฒนาธุรกิจและสร้างการเติบโต เช่น ธุรกิจพลังงานจากการกำจัดขยะ  ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนา “สิงห์ เอสเตท” วางเป้าหมายรายได้ 30,000 ล้าน ตามแผนในระยะ 5 ปี บริษัทวางเป้าหมายรายได้ 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจที่อยู่อาศัย 15,000 ล้านบาท ทั้งโครงการแนวราบและคอนโดฯ  ส่วนธุรกิจคอมเมอร์เชียลและโรงแรม วางเป้าหมายรายได้ 15,000 ล้านบาท ส่วนธุรกิจพลังงานหมุนเวียน อาจจะมีรายได้ไม่มากนัก เพราะบริษัทมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ และช่วยเหลือสังคม โดยจะร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนา และสร้างการเติบโต
พาชม “อินเตอร์คอนติเนนตัล เรสซิเดนเซส หัวหิน” Branded Residence แห่งแรก

พาชม “อินเตอร์คอนติเนนตัล เรสซิเดนเซส หัวหิน” Branded Residence แห่งแรก

ถ้านึกถึงเมืองท่องเที่ยวริมทะเล  ที่ชาวไทยและชาวต่างชาติชื่นชอบมาอย่างยาวนาน  ชื่อของ “หัวหิน” จะติดอันดับต้นๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่นึกถึง เพราะมีทั้งความสวยงามของชายหาด มีวัฒนธรรมหลากหลาย มีมุมสงบที่ให้ได้พักผ่อนได้อย่างเต็มที่ แต่ก็ยังหาความสะดวกสบายจากสาธารณูปโภคได้ครบครัน เมืองหัวหินจึงเป็นที่ชื่นชอบของคนส่วนใหญ่ ที่ต้องการมาพักผ่อน ชาร์ตพลังชีวิตได้อย่างเต็มที่ในช่วงวันหยุด     เมื่อเป็นเมืองพักตากอากาศยอดนิยม บรรดาดีเวลลอปเปอร์จึงพากันเข้ามาพัฒนาโครงการสารพัดรูปแบบรองรับ ความต้องการของผู้ที่ต้องการที่พักผ่อนช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์  หรือเป็นที่หมายสุดท้ายยามเกษียณอายุ ไม่ใช่ภาคเอกชนเท่านั้น ที่ให้ความสำคัญกับเมืองหัวหิน ภาครัฐเองก็มองเห็นความสำคัญของเมืองหัวหิน ซึ่งเป็นหนึ่งเมืองด้านการท่องเที่ยวหลัก สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศด้วย พราวฯ เปิดโปรเจ็กต์ “อินเตอร์คอนฯ​ หัวหิน” 3,500 ล้าน บริษัท พราว เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในดีเวลลอปเปอร์หลายราย ที่ให้ความสำคัญกับเมืองหัวหิน โดยเข้ามาพัฒนาโครงการล่าสุด คือ “อินเตอร์คอนติเนนตัล เรสซิเดนเซส หัวหิน (InterContinental Residences Hua Hin)” มูลค่า 3,500 ล้านบาท  ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่พักอาศัยแห่งแรกและแห่งเดียวในไทย ภายใต้แบรนด์ “อินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท” นางสาวพราวพุธ ลิปตพัลลภ กรรมการบริหาร บริษัท พราว เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) เล่าว่า โครงการอินเตอร์คอนติเนนตัล เรสซิเดนเซส หัวหิน ถือเป็นโครงการที่พักอาศัยระดับลักซ์ชัวรี่ ภายใต้แบรนด์ อินเตอร์คอนติเนนตัลแห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทย ตั้งอยู่บนทำเลที่ดีที่สุดของเมืองหัวหิน บนที่ดินริมหาดผืนสุดท้ายใจกลางเมืองหัวหิน บนถนนเพชรเกษม ติดซอยหัวหิน 71  เนื้อที่กว่า 7 ไร่ บนถนนเพชรเกษม  ซึ่งซื้อมาด้วยราคาไร่ละ 150 ล้านบาท ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Colonial with a Modern Twist”   “เมืองหัวหินเป็นเมืองตากอากาศริมทะเลที่มีชื่อเสียง และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน มีศักยภาพด้านการอยู่อาศัย และการท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนแนวทางพัฒนาการท่องเที่ยว ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก หรือ ไทยแลนด์ ริเวียร่า ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทำให้โครงการฯ ของเราเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวางจากทั้งกลุ่มลูกค้าชาวไทยและชาวต่างชาติมากขึ้น”   สำหรับภายในโครงการฯ ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากมรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของเมืองหัวหิน โดยผสมผสานเข้ากับความร่วมสมัย และเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมสไตล์โคโลเนียล การออกแบบอาคารให้สามารถมองเห็นวิวทะเลได้ ตลอดจนมียูนิตที่มีสระว่ายน้ำส่วนตัว อินเตอร์คอนฯ หัวหิน ให้พื้นที่ส่วนกลางกว่า 4 ไร่ ภายในโครงการ ยังมีพื้นที่สีเขียวและส่วนกลางโครงการฯ กว่า 4 ไร่ โดดเด่นด้วยพื้นที่ส่วนกลางที่มีสัดส่วนมากกว่าโครงการทั่วไป โดยจัดสรรพื้นที่กว่า 70% หรือกว่า 7,000 ตารางเมตร เป็นสวนขนาดใหญ่ ชายหาดส่วนตัว พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกส่วนกลางกว่า 20 รายการ ได้แก่ สระว่ายน้ำ 7 สระสำหรับเด็ก ครอบครัว ผู้สูงอายุ และผู้ต้องการออกกำลังกาย รวมถึงสระขอบใสริมหาด ห้องออกกำลังกายที่ซ่อนอยู่ใต้สระว่ายน้ำ (Hidden Gym) ที่มาพร้อมกับห้องสปา ตลอดจนพื้นที่จัดเลี้ยงริมหาด (Beach Pavilion) และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ อีกมากมาย พื้นที่รอบโครงการฯ ล้อมรอบด้วยสวนขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยพรรณไม้นานาชนิด น้ำพุ และพื้นที่สำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง บริเวณอาคารชั้นล่างเน้นดีไซน์ที่ร่วมสมัย เปิดโล่ง และการใช้สีขาวในการตกแต่งเป็นหลัก ขณะที่ชั้นบนของสิ่งปลูกสร้างทั่วทั้งโครงการฯ จะเน้นประดับด้วยบานเกล็ดไม้สไตล์โคโลเนียล เพื่อช่วยบังแดด เพิ่มความเป็นส่วนตัว และขยายพื้นที่พักผ่อนบริเวณระเบียงให้กว้างขวางยิ่งขึ้น อินเตอร์คอนฯ หัวหิน กับ 22 แบบห้องให้เลือก การออกแบบโครงการฯ มุ่งเน้นการเชื่อมโยงสมาชิกครอบครัว 3 เจเนอเรชั่นให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้ และออกแบบให้ระเบียงของห้องให้มีความลึก และกว้างพอที่ทำให้ผู้อาศัยดื่มด่ำกับบรรยากาศริมทะเลได้อย่างเต็มที่  การออกแบบให้ห้องเปิดรับแสงในเวลากลางวัน ตลอดจนการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์สไตล์โคโลเนียลที่มีกลิ่นอายของความโมเดิร์น โดยเฉพาะการใช้หวายและมุมโค้งที่ออกแบบด้วยความประณีต โครงการถูกออกแบบเป็นอาคารโลว์ไรซ์ จำนวน 9 อาคาร จัดสรรเป็น 7 กลุ่ม เพื่อเหมาะกับความต้องการที่หลากหลาย ประกอบด้วยอาคารสูง 7 ชั้น 1 อาคารและอาคารสูง 4 ชั้น 8 อาคาร รวม 238 ยูนิต  แต่ละอาคารมีจำนวนยูนิตต่อ corridor มากที่สุด 8 ยูนิต เพื่อความเป็นส่วนตัวสูงสุด  โดยทุกกลุ่มอาคารมีจุดเด่นของตัวเอง เช่น ระยะใกล้หาด, สระน้ำที่มีความเป็นส่วนตัวมากกว่า, สระน้ำที่มีกิจกรรม หรือระยะใกล้สวนและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ทุกยูนิตให้เฟอร์นิเจอร์ครบ (Fully Furnished) ตามมาตรฐานของอินเตอร์คอนติเนนตัล   จำนวนยูนิตทั้งหมดแบ่งออกเป็นรูปแบบต่างๆ มากถึง 22 ประเภท นับตั้งแต่ประเภท 1 ห้องนอน ไปจนถึง 5 ห้องนอน พื้นที่ตั้งแต่ 45-325 ตารางเมตร  โดยมีจุดเด่นต่างๆ อาทิ ตั้งอยู่ติดสระว่ายน้ำ (Pool Access)  มีสระว่ายน้ำส่วนตัว (Private Pool) มีห้องพักแม่บ้าน ระเบียงกว้างเกือบ 10 ตารางเมตร  พร้อม Day Bed ทุกยูนิตหน้ากว้างกว่า 6 เมตร ให้เต็มอิ่มกับวิวทะเลผ่านประตูกระจกแบบ Full Height โดยกว่า 80% ของโครงการเป็นห้องวิวทะเล (Seaview)   มีห้องประเภท Duplex และ Penthouse   สำหรับห้องเพนท์เฮาส์ มีให้จับจองเพียง 2 ยูนิต พื้นที่ 325 ตารางเมตร  มีห้องมากถึง 5 ห้องนอน แต่ละยูนิตมีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งห้องเพนท์เฮาส์จะมีหน้าติดทะเลกว่า 9 เมตร สามารถมองเห็นวิวทะเลได้ 270 องศา อินเตอร์คอนฯ หัวหิน พร้อมให้บริการระดับลักชัวรี่ จากการใช้แบรนด์อินเตอร์คอนติเนนตัล ของกลุ่มอินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ล กรุ๊ป หรือ IHG มาใช้เป็นแบรนด์บริหารโครงการ ทำให้ผูอยู่อาศัยได้รับการบริการตามมาตรฐานโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล  7 วันต่อสัปดาห์ 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นเคาน์เตอร์ Concierge บริเวณล็อบบี้ ห้องเก็บสัมภาระพร้อมกับพนักงานยกสัมภาระ และรถกอล์ฟรับส่งในบริเวณโครงการฯ รวมไปถึงการให้บริการอื่นๆ เช่น ห้องสปาส่วนตัวพร้อม Therapist และ Beach Pavilion ห้องอเนกประสงค์ริมทะเลที่สามารถใช้เป็นสถานที่จัดเลี้ยงพร้อมกับบริการจัดเลี้ยงจากโรงแรมได้   นอกจากนี้ ผู้อยู่อาศัยในโครงการ ยังได้รับสิทธิพิเศษในการใช้บริการจาก 5,800 โรงแรมในเครืออินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ล กรุ๊ป ทั่วโลก ผ่านการเป็นสมาชิก “ไอเอชจี รีวอร์ด แพลตทินัม อีลีท เมมเบอร์ชิป” (IHG Rewards Platinum Elite Membership) และ เอกสิทธิ์ในด้านไลฟ์สไตล์จากการเป็นสมาชิก “พราวด์ พริวิเลจ (Proud Privileges)” จากธุรกิจในเครือพราวกรุ๊ปและพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วยศูนย์การค้า โรงแรม และแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำมากมาย ตลอดจนสิทธิพิเศษในการเข้าใช้บริการ 111 Social Club คาเฟ่สไตล์โคโลเนียลสุดชิค ริมชายหาดที่ตั้งอยู่ติดกับโครงการอินเตอร์คอนติเนนตัล เรสซิเดนเซส หัวหิน อินเตอร์คอนฯ​ หัวหิน พร้อมโอนปลายปี 64  ความคืบหน้าของโครงการ ปัจจุบันอยู่อยู่ในขั้นตอนการขอรับรองการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยมีแผนจะเริ่มก่อสร้างในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 4 ในปี 2564  และเพื่อให้ลูกค้าได้เห็นภาพรวมของความเป็น อินเตอร์คอนติเนนตัล เรสซิเดนเซส หัวหิน ชัดเจนยิ่งขึ้น  บริษัทจึงได้สร้างห้องตัวอย่าง แบบ 1 ห้องนอน ขนาด 50 ตารางเมตร และแบบ 2 ห้องนอน ขนาด 82 ตารางเมตร ซึ่งได้จำลองทุกบรรยากาศที่เหมือนกับโครงการจริง  ภายใน เซลส์ แกลเลอรี ของโครงการ   โครงการอินเตอร์คอนติเนนตัล เรสซิเดนเซส หัวหิน จะจัดงานรอบ วีไอพี ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคมนี้ ที่ Gaysorn Urban Resort โดยมีโปรโมชั่นพิเศษ ให้กับลูกค้าที่จองภายในงานจะได้รับสิทธิพิเศษสูงสุด 1,000,000 บาท และยังได้รับ IHG Rewards Club Platinum Elite Membership พร้อมแต้มสะสมสูงสุดถึง 500,000 แต้ม โดยสามารถนำแต้มในบัตรไปแลกรับเอกสิทธิ์ระดับโลก อย่างสิทธิในการเข้าพักที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ตามมหานครชั้นนำ อย่างปารีส ลอนดอน และโตเกียวฯลฯ ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิพิเศษ และติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการฯ ได้ที่ www.intercontinentalresidenceshuahin.com   ข่าวที่เกี่ยวข้อง -เพราะ 3 เหตุผลหลักที่ “พราว กรุ๊ป” ยอมทุ่ม 7,000 ล้าน ปักหมุด 2 โปรเจ็กต์ในจังหวัดภูเก็ต -AWC ผนึก IHG ดึงแบรนด์ในเครือ บริหารโรงแรม 1,200 ห้อง