Tag : Money

360 ผลลัพธ์
ข้อควรรู้ เมื่อถูกขอให้เป็นผู้กู้ร่วม

ข้อควรรู้ เมื่อถูกขอให้เป็นผู้กู้ร่วม

การกู้ร่วมอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหนึ่งที่มักพบเจอบ่อยๆ ก็คือ รายได้ของผู้กู้หลักเมื่อหักภาระหนี้ผ่อนแล้ว เหลือไม่พอที่จะผ่อนบ้านหลังใหม่ หรือความสามารถในการชำระหนี้ไม่เพียงพอตามหลักเกณฑ์ของธนาคาร จึงต้องหาคนมากู้ร่วม เพื่อให้มีความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มขึ้นนั่นเอง และไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม หากเรากำลังถูกขอให้ไปเป็นผู้กู้ร่วม เช่น กู้ร่วมกับพี่ชาย กู้ร่วมกับน้องสาว ก็ควรรู้ว่าการกู้ร่วมจะมีผลกระทบอะไรกับเราบ้าง เราจึงได้รวบรวมข้อควรรู้ ก่อนที่จะตัดสินใจไปกู้ร่วมมาฝากครับ ภาระหนี้ผ่อนในเครดิตบูโรหารเฉลี่ย เมื่อเราตกลงที่จะกู้ร่วมต้องไม่ลืมว่า ภาระหนี้บ้านหลังนี้จะกลายเป็นภาระหนี้ของเราด้วย ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงการกู้ร่วมครั้งนี้ เราจะไม่ได้ไปช่วยผู้กู้หลักผ่อนชำระก็ตาม โดยภาระหนี้จะแสดงในเครดิตบูโรทั้งของผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วม ซึ่งการรับภาระผ่อนจะหารเฉลี่ยกับจำนวนผู้กู้ เช่น ผ่อนบ้านเดือนละ 14,000 บาท กู้ร่วม 2 คน เท่ากับว่าผู้กู้แต่ละคนจะรับภาระผ่อนคนละ 7,000 บาท หากในอนาคตผู้กู้ร่วมต้องการขอสินเชื่อครั้งใหม่ เช่น กู้ซื้อบ้าน กู้ซื้อรถ ภาระผ่อนจากการกู้ร่วม จะถูกนำไปพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ด้วย หรือก็คือทำให้ความสามารถในการผ่อนสินเชื่อครั้งใหม่จะลดลงไป 7,000 บาทนั่นเอง มีประวัติผ่อนชำระเช่นเดียวกับผู้กู้หลัก แน่นอนว่าเมื่อเรากู้ร่วมไปแล้ว ความรับผิดชอบในภาระหนี้จะเหมือนกับผู้กู้หลัก หากผู้กู้หลักสามารถผ่อนชำระหนี้ได้เป็นปกติ หรือมีประวัติผ่อนชำระที่ดี ผู้กู้ร่วมก็จะมีประวัติผ่อนชำระที่ดีไปด้วย แต่ในทางกลับกันหากผู้กู้หลักไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้อย่างปกติ ผ่อนตรงกำหนดบ้าง ไม่ตรงกำหนดบ้าง ประวัติการผ่อนต่างๆ เหล่านี้ก็จะแสดงในเครดิตบูโรของผู้กู้ร่วมด้วย และหากผู้กู้หลักไม่สามารถชำระหนี้ได้เลย จนมีหนี้ค้างชำระ ผู้กู้ร่วมก็จะต้องรับประวัติเสียนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็จะส่งผลต่อการขอสินเชื่อของผู้กู้ร่วม ทำให้ไม่สามารถขอสินเชื่อครั้งใหม่ได้เนื่องจากมียอดหนี้ที่ยังค้างชำระอยู่ กรรมสิทธิ์ในหลักประกันมีสิทธิ์ร่วม ผู้กู้ร่วมบางคนอาจคิดว่าตนเองไม่สามารถเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหลักประกันได้ ต้องบอกว่า ในการกู้ร่วมเจ้าของกรรมสิทธิ์หลักประกันสามารถมีได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นของผู้กู้หลักคนเดียว หรือจะเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างผู้กู้หลักกับผู้กู้ร่วม อย่างไรก็ตามหากเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมแล้ว ในอนาคตต้องการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ของบ้านที่เป็นหลักประกัน เช่น ขายบ้าน ก็จะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ทุกคนเสียก่อน จึงทำให้บางครั้งผู้กู้หลักเลือกที่จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหลักประกันเพียงคนเดียวมากกว่าเป็นกรรมสิทธิ์ร่วม ดอกเบี้ยบ้านมีสิทธิใช้ลดหย่อนภาษี ดอกเบี้ยบ้านจากการกู้ร่วมสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ด้วยการหารเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้ร่วม โดยสามารถลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท เช่น กู้ร่วม 2 คน ดอกเบี้ยบ้านทั้งปีอยู่ที่ 90,000 บาท จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้คนละ 45,000 บาท แต่หากดอกเบี้ยบ้านจ่ายจริงเกิน 100,000 บาท เช่น ดอกเบี้ยบ้านกู้ร่วมทั้งปีอยู่ที่ 110,000 บาท ดอกเบี้ยบ้านที่สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้จะอยู่ที่ 100,000 บาท หากกู้ร่วม 2 คน ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านได้คนละ 50,000 บาท   ขอขอบคุณข้อมูลจาก K-Expert
ซื้อบ้านหลังแรกช่วยลดภาษีได้อย่างไร?

ซื้อบ้านหลังแรกช่วยลดภาษีได้อย่างไร?

ข่าวดีสำหรับคนที่เพิ่งซื้อบ้านไปเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว หรือมีแพลนจะซื้อบ้านในปีนี้ ถ้าไม่เคยซื้อบ้านหรือมีชื่อเป็นเจ้าของบ้านมาก่อน สามารถนำเงินค่าซื้อบ้านมาลดหย่อนภาษีได้นะครับ ซึ่งรายละเอียด เงื่อนไขเป็นอย่างไรนั้น เรามีข้อมูลมาฝากครับ บ้านแบบไหนลดหย่อนภาษีได้ บ้านที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีกรณีบ้านหลังแรกได้นั้น ต้องเป็นบ้านพร้อมที่ดิน หรือเป็นคอนโดฯ จะเป็นมือ 1 หรือมือ 2 ก็ได้ แต่ต้องมีราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาท และจะซื้อด้วยเงินสด หรือเงินผ่อนก็ได้ แต่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในช่วง 13 ตุลาคม 2558 - 31 ธันวาคม 2559  ดังนั้น ถ้าโอนกรรมสิทธิ์ไม่ทันช่วงเวลานี้ ก็อดหมดสิทธิลดหย่อนภาษีจากบ้านหลังแรกนะครับ รวมถึงถ้ามีที่ดินอยู่แล้ว จะปลูกสร้างบ้านหรือที่อยู่อาศัยบนที่ดินนั้น แม้ไม่เคยเป็นเจ้าของบ้านมาก่อน ก็ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบ้านหลังแรกได้เช่นกันครับ ลดหย่อนภาษีได้เท่าไร ผู้ที่ซื้อบ้านหรือคอนโดฯ โดยที่ตัวเองไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในบ้านหรืออสังหาฯ เพื่อที่อยู่อาศัยใดๆ มาก่อน ถ้ามีรายได้อยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษี จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากบ้านหลังแรกได้ โดยสามารถนำ 20% ของราคาบ้านมาเฉลี่ยลดหย่อนภาษีได้เป็นเวลา 5 ปี หรือก็คือ ลดหย่อนภาษีได้ปีละ 4% ของราคาบ้านเป็นเวลา 5 ปีนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น ซื้อบ้านหรือคอนโดฯ หลังแรกราคา 3 ล้านบาท จะสามารถลดหย่อนภาษีได้เป็นเวลา 5 ปี ปีละ 120,000 บาท โดยบ้านที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในช่วง 13 ตุลาคม 2558 - 31 ธันวาคม 2558 จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับเงินได้ของปี 2558-2562 ส่วนบ้านที่โอนกรรมสิทธิ์ในปี 2559 จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับเงินได้ของปี 2559-2563 แล้วตอนที่ยื่นภาษีเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนบ้านหลังแรกรอบนี้ จะกรอกเป็นค่าลดหย่อนในช่อง “เงินได้ที่จ่ายเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์” ซึ่งต่างจากมาตรการบ้านหลังแรกที่ออกมาในช่วงปี 2554-2555 ที่ตอนยื่นภาษีจะกรอกในช่อง “ภาษีเงินได้ที่ได้รับยกเว้นจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์” นะครับ ร่วมกันซื้อบ้าน ลดหย่อนภาษีอย่างไร ถ้าหลายคนซื้อบ้านหรือคอนโดฯ ร่วมกัน จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ทุกคน โดยหารเฉลี่ยเท่ากัน แต่เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 20% ของราคาบ้านหรือคอนโดฯ นั้น เช่น ซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาท โดยกู้ร่วมกัน 3 คน จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากบ้านหลังแรกได้คนละ 40,000 บาทต่อปี รวมกันแล้วอยู่ที่ 120,000 บาท ซึ่งไม่เกิน 20% ของราคาบ้าน 3 ล้านบาท แต่ในกรณีที่เป็นสามีภรรยากู้ร่วมกันซื้อบ้าน การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากบ้านหลังแรกจะต้องดูรายได้ของแต่ละฝ่ายก่อนนะครับ ถ้าสามีหรือภรรยามีรายได้แค่ฝ่ายเดียว ให้ฝ่ายที่มีรายได้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวน แต่ถ้ามีรายได้ทั้ง 2 ฝ่าย การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องดูว่ายื่นภาษีแบบไหนครับ - ถ้าต่างฝ่ายต่างแยกยื่นรายได้ของตัวเอง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยื่นเฉพาะเงินเดือน (รายได้ตามมาตรา 40(1)) แล้วนำรายได้อื่นไปยื่นรวมกับอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ละฝ่ายจะใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละครึ่ง เช่น สามีภรรยาซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาทร่วมกัน จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้คนละ 60,000 บาทต่อปีครับ - ถ้าสามีภรรยายื่นภาษีร่วมกัน ให้ฝ่ายที่ยื่นแบบได้ใช้สิทธิลดหย่อนบ้านหลังแรกของตนเอง และใช้สิทธิในส่วนของสามีหรือภรรยาด้วย เช่น สามีภรรยาซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาทร่วมกัน ถ้ายื่นภาษีร่วมกัน ผู้ที่ยื่นแบบจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้รวมเท่ากับ 120,000 บาทต่อปีครับ ใช้หลักฐานอะไรบ้างในการลดหย่อนภาษี ผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษีบ้านหลังแรก อย่าลืมเตรียมหลักฐานต่างๆ เพื่อใช้ยื่นภาษีให้พร้อมจะได้ไม่พลาดสิทธิดีๆ นะครับ มีอะไรบ้างมาดูกันครับ 1. หนังสือรับรองจำนวนเงินที่ชำระค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ (สามารถดูแบบฟอร์มของกรมสรรพากร) 2. หนังสือรับรองการซื้ออสังหาริมทรัพย์ว่าเป็นที่อยู่อาศัยหลังแรก (สามารถดูแบบฟอร์มของกรมสรรพากร) 3. สำเนาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ 4. สำเนาสัญญากู้ยืมเงิน (กรณีขอสินเชื่อจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน) อยากขายบ้านที่ใช้สิทธิบ้านหลังแรกทำได้หรือไม่ สำหรับผู้ที่ใช้สิทธิลดหย่อนบ้านหลังแรก จะต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านที่ซื้อไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ จึงจะขายบ้านได้โดยไม่ผิดเงื่อนไข แต่ถ้ามีการทำผิดเงื่อนไข เช่น ขายบ้านก่อนถือครองครบ 5 ปี จะทำให้หมดสิทธิการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี แถมยังต้องคืนภาษีที่ได้ลดหย่อนจากบ้านหลังแรก พร้อมเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือนของจำนวนเงินภาษีที่ได้ลดหย่อนไป นับตั้งแต่เดือนเมษายนของปีที่ผู้ซื้อบ้านยื่นขอลดหย่อนภาษีจนถึงเดือนที่มีการยื่นคืนเงินภาษี   ขอขอบคุณข้อมูลจาก K-Expert
ช่วยกิจการครอบครัวไม่ต้องกลัวเรื่องกู้บ้าน

ช่วยกิจการครอบครัวไม่ต้องกลัวเรื่องกู้บ้าน

มีหลายคนเมื่อเรียนจบแล้ว เลือกที่จะทำงานดูแลกิจการของครอบครัว แต่ด้วยความเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในครอบครัว การจ่ายค่าจ้างหรือเงินเดือน ก็อาจไม่ได้ชัดเจนเหมือนพนักงานทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นวิธีการจ่าย จำนวนเงินเดือน หรือตำแหน่งงานที่รับผิดชอบ จึงทำให้หลายคนที่เลือกทำงานกับครอบครัวประสบปัญหาในการยื่นกู้ซื้อบ้าน แล้วความชัดเจนในการทำงานกับครอบครัวจะพิสูจน์ให้ธนาคารรู้ได้อย่างไร เรามีคำตอบครับ รายได้ต้องเข้าระบบบัญชีเงินเดือน ถึงแม้จะทำงานกับครอบครัว แต่หากรับรายได้จากครอบครัวเป็นแบบค่าจ้างหรือเงินเดือน ก็ถือว่าเราเป็นพนักงานคนหนึ่งของกิจการครับ และเมื่อมีรายได้เป็นแบบเงินเดือน การรับเงินจึงควรรับผ่านระบบบัญชีเงินเดือน หรือที่เรียกกันว่า Payroll เหมือนกับพนักงานประจำทั่วไปครับ โดยลักษณะการรับเงินผ่านระบบ Payroll นายจ้างจะจ่ายเงินเดือนให้ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากที่ลูกจ้างหรือพนักงานเปิดไว้กับธนาคาร เพื่อรองรับเงินเดือนนั่นเอง ที่สำคัญการรับเงินเดือนผ่านระบบ Payroll ในสมุดบัญชีเงินฝากจะต้องแสดงรหัส (Code) เป็นรหัสเฉพาะของ Payroll ตามที่ธนาคารกำหนด ซึ่งจะไม่เหมือนกับรหัสการโอนเงินเข้าบัญชีแบบทั่วๆ ไป ดังนั้นหากเรามีการรับเงินเดือนผ่านระบบ Payroll แล้ว ในสมุดบัญชีเงินฝากจะแสดงยอดจำนวนเงินเดือนและมีรหัสที่แสดงว่ามีการรับเงินผ่านระบบ Payroll เราก็สามารถใช้รายการเดินบัญชีย้อนหลัง (Statement) จากบัญชีนี้ เป็นหลักฐานในการยื่นกู้ซื้อบ้าน ซึ่งช่วยยืนยันรายได้และการทำงานของเราได้ครับ ทำงานจริงต้องมีเอกสารยืนยัน สำหรับเอกสารที่ใช้ในการยื่นกู้ซื้อบ้าน เพื่อแสดงรายได้และยืนยันการทำงานกับกิจการของครอบครัว จะใช้เอกสารเช่นเดียวกับการยื่นกู้ซื้อบ้านกรณีเป็นพนักงานประจำครับ ซึ่งเอกสารที่ต้องเตรียมให้กับธนาคาร ได้แก่ - สลิปเงินเดือนหรือหนังสือรับรองเงินเดือน - เอกสารการเสียภาษี เช่น หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) - รายการเดินบัญชีย้อนหลัง โดยต้องเป็นบัญชีเงินฝากที่ใช้รับเงินเดือน เอกสารต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้ธนาคารรู้ว่า การทำงานกับกิจการของครอบครัวของเรานั้น  ทำงานในตำแหน่งอะไร  มีรายได้จากเงินเดือนเท่าไร และทำมานานแค่ไหนครับ การพิสูจน์ให้ธนาคารเห็นว่า เรามีการทำงานกับครอบครัวจริงๆ และมีรายได้ประจำจากเงินเดือนอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการมีเอกสารที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือ ก็จะช่วยให้เพิ่มโอกาสในการยื่นกู้ซื้อบ้านให้ผ่านได้ครับ   ขอขอบคุณข้อมูลจาก K-Expert
อยากเพิ่มกรรมสิทธิ์คู่ชีวิต คิดค่าใช้จ่ายอย่างไร

อยากเพิ่มกรรมสิทธิ์คู่ชีวิต คิดค่าใช้จ่ายอย่างไร

การเพิ่มชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านอาจเกิดขึ้นได้ด้วยหลายๆ เหตุผลครับ แต่เหตุผลที่มักพบบ่อยๆ ก็คือต้องการเพิ่มชื่อคู่สมรส อาจเป็นเพราะในช่วงที่ซื้อบ้านตอนนั้นยังโสด หรือกู้ซื้อบ้านแบบกู้เดี่ยว เนื่องจากรายได้คนเดียวก็เพียงพอในการกู้ซื้อบ้านแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกู้ร่วมกับคู่สมรสอีก แต่หากภายหลังเปลี่ยนใจอยากจะให้คู่สมรสมีชื่อกรรมสิทธิ์ในบ้านร่วมกัน หรือต้องการเปลี่ยนจากการกู้คนเดียวมาเป็นการกู้ร่วมกับคู่สมรสกับธนาคารเดิมหรือรีไฟแนนซ์ไปธนาคารอื่น จึงทำให้ต้องเพิ่มเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหลักประกันอีกหนึ่งคน ซึ่งการเพิ่มชื่อกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดินจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไรนั้น เรารวบรวมมาฝากดังนี้ครับ ซื้อบ้านตอนยังโสด หากตอนที่เราซื้อบ้านไม่ว่าจะเป็นการซื้อด้วยเงินสด หรือกู้ซื้อบ้านกับธนาคาร ขณะนั้นยังเป็นโสด ถือว่าบ้านหลังนี้เป็นสินส่วนตัว คือได้ทรัพย์สินมาก่อนที่จะจดทะเบียนสมรสกัน  หากภายหลังได้มีการจดทะเบียนสมรสกันแล้วต้องการเพิ่มชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการให้ 0.5% ของราคาประเมิน ภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร เนื่องจากการเพิ่มชื่อถือว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ ผู้ให้เปรียบเสมือนเป็นผู้ขาย จึงต้องนำเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเฉพาะในส่วนที่ให้คู่สมรส เช่น บ้านมูลค่า 4 ล้านบาทแบ่งกันคนละครึ่ง 2 ล้านบาท ก็จะต้องนำ 2 ล้านบาทไปคำนวณภาษี โดยกรมที่ดินจะใช้ราคาประเมินจากกรมธนารักษ์ในการคำนวณมูลค่าหลักทรัพย์ ซึ่งจะนำไปหักค่าใช้จ่ายตามจำนวนปีที่ถือครอง หลังจากนั้นหารด้วยจำนวนปีที่ถือครอง แล้วนำไปคำนวณภาษีตามฐานภาษี อากรแสตมป์ 0.5% ของราคาประเมินหรือราคาซื้อขายแล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่า โดยมีการถือครองกรรมสิทธิ์มา 5 ปี หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านมา 1 ปีแล้วแต่หากถือครองกรรมสิทธิ์น้อยกว่า 5 ปี และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านน้อยกว่า 1 ปี ก็จะเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ของราคาประเมินหรือราคาซื้อขายแล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่าแทนอากรแสตมป์ ซื้อบ้านหลังจดทะเบียนสมรส สำหรับในกรณีที่เป็นการเพิ่มชื่อคู่สมรส โดยมีการจดทะเบียนสมรสกันก่อนที่จะกู้ซื้อบ้านหรือได้ทรัพย์สินนี้มาหลังจดทะเบียนสมรส จะถือว่าเป็นสินสมรสครับ การเพิ่มชื่อคู่สมรสเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านอีกคน จะเสียค่าธรรมเนียมอยู่ที่ประมาณ 75 บาทเท่านั้น การเพิ่มชื่อคู่สมรสที่เกิดขึ้นในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนจากการกู้เดี่ยวมาเป็นการกู้ร่วมนั้น อย่าลืมว่าธนาคารจะต้องนำรายได้และภาระหนี้ของคู่สมรสที่กู้ร่วมมาพิจารณาด้วย หากคู่สมรสมีภาระหนี้สูงเกินไปก็อาจทำให้กู้ร่วมไม่ผ่าน ดังนั้นอาจจำเป็นต้องรอให้ปิดภาระหนี้ลดลงก่อน และไม่ควรก่อหนี้เพิ่มครับ   ขอขอบคุณข้อมูลจาก  k-expert.askkbank.com
ดินเปล่าแบบไหน กู้ซื้อกับธนาคารได้

ดินเปล่าแบบไหน กู้ซื้อกับธนาคารได้

การกู้ซื้อที่ดินเปล่าๆ โดยที่ยังไม่ก่อสร้างบ้านอาจจะดูเป็นเรื่องยากสักหน่อยครับ เพราะปกติแล้วการกู้ซื้อที่ดินเปล่ากับธนาคารจะต้องกู้ซื้อพร้อมกับการปลูกสร้างบ้านบนที่ดินแปลงนั้น แต่การกู้ซื้อที่ดินเปล่าก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เลย เนื่องจากมีบางกรณีที่เราสามารถยื่นกู้ซื้อที่ดินเปล่าได้ สำหรับใครที่กำลังมองหาอยากได้ที่ดินเปล่าไว้เป็นทรัพย์สิน ลองมาดูกันว่ามีกรณีไหนบ้าง เรามีคำตอบครับ ซื้อที่ดินเปล่าขยายพื้นที่จากบ้านเดิม เป็นกรณีที่เราต้องการซื้อที่ดินเปล่าเพิ่ม เพื่อขยายที่อยู่อาศัยเดิมให้กว้างขวางขึ้น โดยที่ดินเปล่าจะต้องมีเนื้อที่ติดกับพื้นที่บ้านซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้กู้ ขอยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย ๆ เช่น การซื้อที่ดินเปล่าจากเพื่อนบ้านที่มีเนื้อที่ดินติดกับบ้านของเรา กรณีนี้สามารถนำที่ดินแปลงดังกล่าวยื่นกู้ซื้อกับธนาคารได้ครับ ทั้งนี้ธนาคารอาจมีการกำหนดเงื่อนไขในการกู้ที่ไม่ได้เหมือนกับการกู้ซื้อบ้านปกติ เพราะจะกู้ได้วงเงินน้อยกว่า ระยะเวลาผ่อนสั้นกว่า เช่น ให้กู้ได้ไม่เกิน 70% ของราคาประเมินที่ดิน ผ่อนสูงสุดไม่เกิน 10 ปี หากใครมีแผนที่จะซื้อที่ดินเปล่าจากเพื่อนบ้าน ก็อย่าลืมเตรียมเงินส่วนต่างที่กู้ธนาคารได้ไม่เต็ม เพื่อจ่ายให้กับผู้ขายครับ ซื้อที่ดินเปล่าจากลูกหนี้ธนาคาร สำหรับผู้ที่สนใจต้องการกู้ซื้อที่ดินเปล่า หลักประกันของลูกหนี้ธนาคารเป็นอีกทางเลือกหนึ่งครับ โดยที่ดินเปล่าที่สามารถยื่นกู้ซื้อได้ มีกรณีต่อไปนี้ - ซื้อที่ดินเปล่าจากการประมูลขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี หากเป็นทรัพย์ที่ติดจำนองอยู่กับธนาคาร ก็สามารถยื่นกู้ได้กับธนาคารนั้นเลยครับ - ซื้อที่ดินเปล่าจากทรัพย์สินรอการขายของธนาคาร  โดยสามารถเข้าไปดูได้ในเว็บไซต์ทรัพย์สินรอการขายของธนาคารที่สนใจ เพื่อเสนอราคาซื้อทรัพย์สิน หากธนาคารแจ้งผลว่าเราได้รับอนุมัติการเสนอซื้อ ก็สามารถยื่นกู้ซื้อที่ดินเปล่าดังกล่าวกับธนาคารได้ครับ หลายคนอาจสงสัยว่าธนาคารมีหลักประกันเป็นที่ดินเปล่าจากลูกหนี้ได้อย่างไร ต้องบอกว่าหลักประกันที่เป็นที่ดินเปล่าส่วนใหญ่ จะมาจากลูกหนี้ที่ขอกู้เงินประเภทสินเชื่อธุรกิจครับ เพราะที่ดินเปล่าถึงแม้จะไม่สามารถกู้ซื้อได้ แต่สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อธุรกิจได้ เช่น วงเงินเบิกเกินบัญชี หรือ O/D ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไปหากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้เลย ก็จะเข้าสู่กระบวนการต่างๆ ตามลำดับตั้งแต่การเจรจาแก้ไขหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้  ไปจนถึง ยึดหลักทรัพย์ ประมูลขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี เพื่อขายหลักประกันนำเงินไปชำระหนี้ครับ อย่างไรก็ตาม การกู้ซื้อที่ดินเปล่าจะไม่ได้ระยะเวลาผ่อนยาวเหมือนกับการกู้ซื้อบ้าน เช่น อาจจะผ่อนได้ไม่เกิน 10 ปี ทำให้ยอดผ่อนต่อเดือนค่อนข้างสูงกว่าการผ่อนกู้ซื้อบ้านปกติ หากใครที่กำลังวางแผนจะกู้ซื้อที่ดินเปล่า ก็ไม่ควรก่อหนี้เพิ่ม หรือลดภาระหนี้ที่ผ่อนอยู่ให้น้อยลงก่อนนะครับ เพื่อให้มีความสามารถเพียงพอในการชำระหนี้ โดยปกติควรมีภาระหนี้ผ่อนทั้งหมดต่อเดือนไม่เกิน 40% ของรายได้ครับ   ขอขอบคุณข้อมูลจาก K-Expert
กู้ซื้อบ้านมือสองต้องทำอย่างไร?

กู้ซื้อบ้านมือสองต้องทำอย่างไร?

เวลาที่เราซื้อบ้านมือหนึ่งกับโครงการเปิดใหม่ การยื่นกู้ซื้อบ้านกับธนาคารอาจดูไม่ใช่เรื่องยากมากนัก เพราะจะมีเจ้าหน้าที่โครงการช่วยอำนวยความสะดวกให้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำเอกสารสัญญาจะซื้อจะขาย รวมทั้งติดต่อยื่นกู้กับธนาคารให้เรา โดยที่ผู้ซื้อเองแทบไม่ต้องเดินทางไปที่ธนาคาร เพื่อทำเรื่องยื่นกู้ซื้อบ้านเลย แต่สำหรับใครที่กำลังมีแผนจะซื้อบ้านมือสองด้วยการกู้เงินกับธนาคาร ก็ไม่ต้องกังวลใจไปครับ ถึงแม้การซื้อบ้านมือสองจะไม่ได้มีเจ้าหน้าที่โครงการช่วยอำนวยความสะดวกให้เหมือนกับการซื้อบ้านมือหนึ่ง แต่ผู้ซื้อเองก็สามารถดำเนินการในเรื่องต่างๆ ได้ไม่ยากครับ ส่วนจะต้องทำอย่างไรบ้างนั้น เรามีคำแนะนำมาฝากครับ   ตกลงราคากับผู้ขาย เพื่อทำสัญญา เมื่อเราเลือกบ้านมือสองที่ถูกใจได้แล้ว ก็จะต้องดำเนินการติดต่อกับผู้ขาย เพื่อทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านมือสองหลังนั้นครับ ในสัญญาจะซื้อจะขายต้องมีการระบุราคาที่ได้ตกลงซื้อขายกัน การจ่ายเงินมัดจำ และเงินส่วนที่เหลือจะชำระเมื่อไร โดยผู้ขายมักจะกำหนดระยะเวลาการชำระเงินส่วนที่เหลือ ซึ่งหากผู้ซื้อไม่สามารถชำระเงินส่วนที่เหลือได้ภายในกำหนดผู้ขายก็จะมีสิทธิ์ยึดเงินมัดจำ ส่วนสัญญาจะซื้อจะขายเราสามารถทำขึ้นมาเอง หรือใช้แบบฟอร์มมาตรฐานที่มีอยู่ โดยดาวน์โหลดได้ตามเว็บไซต์ หรือจะซื้อจากร้านเครื่องเขียนก็ได้ และเมื่อทำสัญญาจะซื้อจะขายเรียบร้อยแล้วผู้ขายจะต้องให้สำเนาโฉนดที่ดิน เพื่อใช้เป็นเอกสารในการยื่นกู้ครับ   ติดต่อธนาคาร เพื่อยื่นกู้ การยื่นกู้ซื้อบ้านมือสองกับธนาคาร ผู้ซื้อหรือผู้กู้จะต้องเตรียมเอกสารแสดงตนและเอกสารทางการเงินที่แสดงแหล่งที่มาของรายได้ เช่น สลิปเงินเดือน รายการเดินบัญชีย้อนหลัง เป็นต้น พร้อมทั้งจะต้องนำสัญญาจะซื้อจะขายและสำเนาโฉนดที่ดินที่ได้มาจากผู้ขาย ยื่นกับธนาคารเพื่อให้ประเมินราคาทรัพย์สิน ซึ่งปกติแล้วธนาคารก็จะให้วงเงินกู้ไม่เกิน 80% ของราคาซื้อขายหรือราคาประเมิน โดยเลือกราคาที่ต่ำกว่า ดังนั้นผู้ซื้อควรจะต้องเตรียมเงินไว้อย่างน้อย 20% ของราคาซื้อขาย เพื่อจ่ายให้กับผู้ขายด้วยครับ   นัดจำนองกรมที่ดิน เพื่อโอนบ้าน หลังจากผ่านการอนุมัติวงเงินกู้ซื้อบ้านกับธนาคารแล้ว ผู้ซื้อจะต้องแจ้งกับผู้ขาย เพื่อนัดวันไปโอนบ้านที่กรมที่ดิน พร้อมจำนองบ้านหลังนั้นต่อให้กับธนาคาร เพื่อใช้เป็นหลักประกันในการกู้เงิน ผู้ขายเองก็จะได้รับเงินจากการขายบ้านทั้งหมดในวันนั้น ซึ่งเท่ากับว่าจะต้องมากรมที่ดินพร้อมกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ซื้อ ผู้ขาย และธนาคาร เพื่อทำการโอนบ้านและจำนองให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียวกัน โดยในวันนั้นจะมีการชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ  เกี่ยวกับการซื้อขายบ้าน การโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินมาเป็นของผู้ซื้อ การจำนองทรัพย์สินให้กับธนาคาร ได้แก่ ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะหรือค่าอากรแสตมป์ ค่าโอน ค่าจำนอง ซึ่งจะชำระให้กับกรมที่ดิน ค่าใช้จ่ายต่างๆ ส่วนนี้ ผู้ซื้อและผู้ขายควรมีการตกลงกันตั้งแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขายว่า ใครจะเป็นคนจ่ายค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง หรือตกลงแบ่งจ่ายกันอย่างไร เช่น ค่าใช้จ่ายทั้งหมดแบ่งจ่ายกันคนละครึ่ง เป็นต้นครับ   ถึงแม้ว่าการซื้อบ้านมือสองจะไม่ได้มีเจ้าหน้าที่โครงการช่วยอำนวยความสะดวกให้  แต่หากเราต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการยื่นกู้ซื้อบ้านมือสอง ก็ยังสามารถสอบถามหรือขอคำแนะนำกับเจ้าหน้าที่ธนาคารได้ครับ   ขอขอบคุณข้อมูลจาก K-Expert      
13 ทางรอด เมื่อผ่อนบ้านไม่ไหว!!

13 ทางรอด เมื่อผ่อนบ้านไม่ไหว!!

เศรษฐกิจแบบนี้ หลายคนอาจเจอปัญหาขาดส่งบ้าน หรือไม่ก็ผิดนัด จ่ายช้า ฯลฯ ถ้าเป็นแบบนี้ ที่ถูกต้องคือ รีบเจรจากับธนาคาร ให้เร็วที่สุด  อย่าทำเฉยเป็นอันขาด ไม่งั้นปัญหาจะยิ่งลุกลาม เพราะเหตุการณ์เหล่านี้ มีทางแก้ทั้งมากมายถึง 13 แนวทาง ลองเลือกดูว่าจะใช้แบบไหนได้บ้าง 1. ผ่อนผันชำระหนี้ค้าง เป็นการขอเลื่อนเวลาชำระหนี้ที่ค้างชำระออกไป ในลักษณะขอเฉลี่ยคืนให้เป็นรายเดือน ซึ่งการขอผ่อนชำระคืนลักษณะนี้ สามารถขอผ่อนจ่ายได้สูงสุดได้ถึง 36 เดือนเลยทีเดียว 2. ขยายเวลาชำระหนี้ ขอขยายระยะเวลากู้เงินต่อไปอีกจนถึง 30 ปีนับจากปัจจุบัน เพื่อลดเงินผ่อนคืนรายงวดให้น้อยลง ทั้งนี้ อายุของผู้กู้เมื่อรวมกับระยะเวลาที่ขอขยายแล้วจะต้องไม่เกิน 70 ปี 3. กู้เพิ่มเพื่อชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระ ในกรณีที่ลูกหนี้อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ทั้งหมด อาจใช้วิธีเจรจาขอกู้เพิ่มเพื่อมาชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระ พร้อมๆ กับขอขยายระยะเวลากู้เงิน 4. ชำระแต่ดอกเบี้ยประจำเดือน เจรจาขอชำระเฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ยในแต่ละเดือนเท่านั้น ปกติวิธีนี้ ธนาคารมักยอมให้ทำได้ไม่เกิน 12 เดือน และพิจารณาให้เฉพาะกับลูกหนี้มีประวัติการชำระคืนดีเท่านั้น 5. ชำระต่ำกว่าเงินงวดปกติ วิธีนี้เงินที่ชำระต่ำกว่าเงินงวดปกติจะต้องสูงกว่าดอกเบี้ยประจำเดือนอย่างน้อย 500 บาทและปกติธนาคารมักยอมให้ผ่อนผันได้ไม่เกิน 2 ปี และขอดำเนินการได้ครั้งเดียว 6. ลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ ในกรณีที่ถูกปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้นจากอัตราปกติ ลูกหนี้อาจเจรจาขอลดอัตราดอกเบี้ยในวันที่ชำระเงินได้ หากได้ชำระเงินตามเงื่อนไข 7. โอนบ้านให้กับธนาคารชั่วคราว แล้วซื้อคืนภายหลัง ระหว่างที่โอนให้ธนาคารจะทำสัญญาเช่าไปพลางๆ ก่อน ปกติวิธีนี้ ธนาคารจะรับโอนหลักประกันโดยหักกลบลบหนี้ในจำนวนไม่เกิน 90% ของมูลค่าหลักประกัน โดยจะคิดค่าเช่าในอัตราเดือนละ 0.4 - 0.6 ของมูลค่าหลักประกัน 8. ให้ธนาคารชะลอการฟ้อง สำหรับคนที่กำลังถูกฟ้องร้อง อาจเจรจาขอชำระหนี้ที่ค้าง 6 เดือนที่ผ่านมาและขอชำระหนี้ต่อตามสัญญา เพื่อแลกกับการให้แบงค์ชะลอฟ้อง ก็ได้ 9. ให้ธนาคารถอนฟ้อง ในกรณีที่เลวร้ายมาก ถูกธนาคารฟ้องร้องแล้ว ในทางปฏิบัติ ก็ยังสามารถเจรจาขอให้ธนาคารถอนฟ้องได้เหมือนกัน แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขคือ ต้องเข้าไปติดต่อขอชำระหนี้ทันงวดและไม่มีดอกเบี้ยค้าง พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมศาลและค่าใช้จ่ายครบถ้วน 10. ชะลอการขายทอดตลาด แม้ถูกยึดทรัพย์รอการขายทอดตลาด ลูกหนี้ก็มีสิทธิเจรจาขอให้ชะลอการขายไว้ก่อนได้ แต่เงื่อนไขคือ ต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชั้นฟ้องคดีและบังคับคดีรวมทั้งค่าพาหนะใน การเดินทางของทนายความไปเลื่อนการขายตามที่จ่ายจริงให้ครบถ้วน แล้วให้ลูกหนี้ชำระหนี้ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 งวด โดยหนี้ที่เหลือต้องไม่เกินร้อยละ 80 ของราคาประเมินหลักประกันใหม่ แล้วให้ลูกหนี้ทำสัญญากู้ใหม่ 11. ยอมความกับธนาคาร ลูกหนี้ที่ถูกฟ้องคดีแล้ว อาจขอยอมความกับสถาบันการเงินได้ โดยจะต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี และค่าทนายความให้ครบถ้วน และชำระหนี้ทั้งหมดและไถ่ถอนจำนองภายในระยะเวลาที่ กำหนด 12. ชะลอการยึดทรัพย์ ลูกหนี้ที่ถูกศาลพิพากษาแล้ว อาจขอให้ชะลอการยึดทรัพย์ได้ แต่จะต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ค่าทนายความ รวมถึงค่าพาหนะในการเดินทางของทนาย รวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการบังคับคดีให้ครบถ้วน โดยชำระหนี้ทั้งหมดและไถ่ถอนจำนองภายในเวลาไม่เกิน 3 เดือน 13. เปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามสัญญากู้ใหม่ กู้เพิ่ม หรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญา ปกติเงื่อนไขสำคัญของการเจรจาแบบนี้ ก็คือลูกหนี้จะต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชั้นฟ้องคดีและชั้นบังคับคดีให้หมดเสียก่อน และลูกหนี้เดิมจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่ได้ขอประนอมหนี้ไว้ จากนั้นจึงค่อยให้ผู้กู้รายเดิมหรือผู้กู้รายใหม่ยื่นคำขอกู้ต่อไป   ขอขอบคุณข้อมูลจาก  home.co.th
การเตรียมงบประมาณเพื่อปรับปรุงบ้าน

การเตรียมงบประมาณเพื่อปรับปรุงบ้าน

การปรับปรุงซ่อมแซมบ้านที่มีความยุ่งยากซับซ้อนและต้องอาศัยการดำเนินงานหลายขั้นตอนนั้น นอกจากจะพิจารณาเรื่องสภาพบ้านกับการใช้งานแล้ว ยังมีปัจจัยเรื่อง การจัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินงานที่เหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าของบ้านไม่ควรมองข้าม หากจะกล่าวถึงงบประมาณในการปรับปรุงบ้าน หรือแม้กระทั่งการซ่อมแซมบ้านครั้งยิ่งใหญ่นั้น  ย่อมมีปัจจัยหลากหลายตามแต่ละกรณีแตกต่างกันไป ซึ่งล้วนมีผลต่อปริมาณค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น แต่หากเจ้าของบ้านต้องการกะงบประมาณคร่าวๆ เพื่อที่จะวางแผนด้านการเงินอาจพิจารณา ดังนี้ งบประมาณค่าก่อสร้าง (ค่าวัสดุ+ค่าแรง) หากเทียบกับกรณีสร้างบ้านเองหลังใหม่  ซึ่งมี งบประมาณค่าก่อสร้างโดยคร่าวๆ ประมาณ 15,000-20,000 ต่อตารางเมตร (ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน) โดยแบ่งได้เป็น งานโครงสร้าง  30-35% ของค่าก่อสร้าง งานระบบ ไฟฟ้า ประปา ระบายน้ำ 10-15% ของค่าก่อสร้าง งานสถาปัตย์และตกแต่งภายใน 50-60% ของค่าก่อสร้าง โดยงบประมาณส่วนนี้มักจะยืดหยุ่นมากที่สุด ขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุที่เลือกใช้ สำหรับกรณีปรับปรุงบ้านอาจประมาณราคาที่ร้อยละ 60-70 ของงบประมาณสร้างบ้านใหม่ดังกล่าว  โดยขึ้นอยู่กับขอบเขตงานที่จะปรับปรุง อย่างบางงานอาจมีการปรับปรุงเฉพาะส่วนงานสถาปัตย์ฯ และตกแต่งภายใน หรือในหลายกรณีที่ไม่มีการยุ่งเกี่ยวกับโครงสร้าง ก็จะไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เป็นต้น Tips : กรณีเป็นงานปรับปรุงเล็กน้อย อย่างเช่น  ปรับปรุงห้องน้ำห้องเดียว หรือทาสีห้องเพียงห้องเดียว เป็นต้น ผู้รับเหมามักจะคิดค่าใช้จ่ายเทียบต่อตารางเมตรค่อนข้างสูง จึงนับเป็นราคาพิเศษที่อาจไม่สามารถใช้หลักเกณฑ์ดังที่แนะนำไปข้างต้นได้ ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม             เป็นค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากส่วนก่อสร้าง มักประกอบไปด้วย ค่ารื้อถอน ประกอบด้วยค่าแรงในการรื้อถอนและขนย้ายเศษวัสดุต่างๆ ไปทิ้ง ในบางครั้งชิ้นส่วนที่รื้อถอนอาจนำไปขายต่อได้ เช่น  ประตูเหล็ก วงกบอลูมิเนียม เฟอร์นิเจอร์เก่า เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้อาจมีการเพิ่มเติมค่าดำเนินงานขนส่งของเพื่อการขายด้วยเช่นกัน ค่าเช่าสถานที่ชั่วคราว การปรับปรุงบ้านย่อมมีการรื้อถอนก่อสร้าง ทำให้ต้องขนย้ายข้าวของไปไว้พื้นที่อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีปรับปรุงเป็นบริเวณกว้างหรือต้องรื้อถอนโครงสร้าง มักไม่สะดวกต่อการอยู่อาศัย  อาจทำให้ต้องหันมาเช่าที่อยู่อาศัย หรือที่เก็บของชั่วคราวจนกว่าการก่อสร้างจะเสร็จเรียบร้อย ซึ่งนับเป็นอีกส่วนที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเช่นกัน ค่าจ้างนักออกแบบ และวิศวกร หากต้องการปรับปรุงบ้านให้สวยงาม เหมาะสมกับฟังก์ชั่นการใช้งานอย่างแท้จริง อาจต้องพึ่งนักออแบบช่วยในส่วนนี้ และสำหรับกรณีที่โครงสร้างจะต้องรับน้ำหนักมากขึ้น (เช่น เปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาที่ต่างไปจากเดิม) หรือมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง จำเป็นต้องใช้บริการวิศวกรช่วยตรวจสอบในเรื่องนี้ เพื่อความปลอดภัย ซึ่งจะต้องเตรียมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วย ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก  www.scgbuildingmaterials.com
5 วิธีกู้ให้ผ่านสำหรับฟรีแล๊นซ์

5 วิธีกู้ให้ผ่านสำหรับฟรีแล๊นซ์

ในปัจจุบันคนประกอบอาชีพอิสระหรือประเภทฟรีแล๊นซ์กันมากขึ้น แต่อาชีพอิสระหรือฟรีแล๊นซ์นั้น จะไม่ขึ้นกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เพราะจะทำงานตามว่าจ้างตามที่ตกลงกันไว้ ดังนั้นรายได้ของคนกลุ่มนี้จึงไม่แน่นอน และที่สำคัญคือคนที่ประกอบอาชีพอิสระมักจะไม่มีเอกสารแสดงรายได้ที่ชัดเจน จึงทำให้เป็นปัญหาสำหรับการขอกู้สำหรับคนกลุ่มนี้ เพราะมักจะถูกปฏิเสธการขอสินเชื่อสูง เราจึงมีข้อแนะนำวิธีการขอกู้ให้ผ่านสำหรับฟรีแล๊นซ์มาแนะนำ ดังนี้ 1. การจดทะเบียนพาณิชย์ จะเหมือนกับการจดทะเบียนเป็นเจ้าของกิจการ และเมื่อจดทะเบียนแล้ว อาชีพที่ทำอยู่จะเป็นที่รับรู้และถูกรับรองตามกฏหมายขึ้นมาทันที รายรับรายจ่ายแต่ละเดือนก็จะมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ธนาคารจะยอมพิจารณาสินเชื่อได้ง่ายขึ้น แต่การจดทะเบียนพาณิชย์ลักษณะนี้ ทำให้ต้องเสียภาษีเพิ่ม จึงเป็นผลทำให้ฟรีแล๊นซ์หลายคนไม่อยากทำ แต่เมื่อแลกกับความคุ้มค่าเพื่อให้ขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ก็น่าทำเลยทีเดียว 2. ต้องมีเงินในบัญชีมากกว่าวงเงินที่ขอกู้ (ในกรณีที่ไม่อยากซื้อด้วยเงินสดที่มีอยู่) จะทำให้ทางธนาคารยอมพิจารณาสินเชื่อให้ฟรีแล๊นซ์ง่ายขึ้น เพราะมีบัญชีเงินฝากเป็นหลักค้ำประกัน 3. เปิดบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงิน เพราะธนาคารจะพิจารณาให้สินเชื่อกับลูกค้าที่มีเงินฝากประจำจำนวนหนึ่งอย่างสม่ำเสมอและไม่ผิดสัญญา เพราะแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ที่รายได้แน่นอนและมากพอที่จะชำระหนี้ได้ ข้อดีของการทำแบบนี้นอกจากจะได้สินเชื่อแล้ว ยังได้ดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินออมก้อนใหญ่ในบัญชีด้วย 4. ยื่นเสียภาษี ข้อนี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบอาชีพฟรีแล๊นซ์หลายคนไม่ได้นึกถึง เพราะถ้าไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการ การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) จะเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าเป็นผู้มีรายได้จริงๆ และควรแนบใบนี้ไปด้วยในการขอสินเชื่อ 5. มีเงินฝากประจำครบ 1 ปี หรือมียอดเงินเข้าออกในบัญชีแต่ละเดือนสม่ำเสมอ หรือรับค่าจ้างโดยผ่านสถาบันการเงินให้มากที่สุด เพื่อเดินบัญชีให้ครบ 1 ปี   ขอบคุณข้อมูลจาก home.co.th
กู้ซื้อบ้าน จำเป็นต้องทำประกันหรือไม่?

กู้ซื้อบ้าน จำเป็นต้องทำประกันหรือไม่?

หลายๆ คนอาจมีคำถามว่า เวลากู้ซื้อบ้าน ทำไมธนาคารต้องให้เราทำประกันด้วย ถ้าไม่ทำ ได้หรือไม่ คำตอบคือ มีประกันอยู่ 2 ประเภทที่ธนาคารให้ผู้ขอสินเชื่อบ้านทำ โดยมีทั้ง “ประกันที่ต้องทำ” และ “ประกันที่ควรทำ” ประกันที่ต้องทำ - ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย โดยทั่วไปธนาคารจะให้ผู้ขอสินเชื่อบ้านมีการทำประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย เพราะว่าผู้ขอสินเชื่อบ้านต้องนำบ้านที่ซื้อมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน - ความคุ้มครองที่ได้รับ: คุ้มครองความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับบ้านและทรัพย์สินต่างๆ ภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า ภัยระเบิด ภัยจากการถูกชนโดยยานพาหนะหรืออากาศยาน ภัยเนื่องจากน้ำ แล้วเรายังสามารถซื้อความคุ้มครองในส่วนภัยพิบัติ (ภัยน้ำท่วม ลมพายุ และแผ่นดินไหว) เพิ่มเติมได้ - ทุนประกันที่ควรทำ: ควรทำทุนประกันหรือวงเงินคุ้มครองไม่น้อยกว่า 70% ของมูลค่าบ้านและทรัพย์สิน เพราะถ้าเกิดความเสียหายเพียงบางส่วน ก็ยังได้รับเงินชดเชยเหมือนทำประกันไว้เต็มมูลค่า - ค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่าย: อยู่ที่ประมาณ 1,000-3,000 บาท ต่อทุนประกัน 1 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับลักษณะบ้านหรือสิ่งปลูกสร้าง ถ้าเป็นบ้านผนังคอนกรีตล้วน ค่าเบี้ยประกันจะต่ำกว่าบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ และค่าเบี้ยประกันมักจ่ายเป็นแบบปีต่อปี แต่เราสามารถซื้อเป็นแบบราย 2 ปี หรือ 3 ปี ซึ่งจะมีส่วนลดค่าเบี้ยประกันให้ด้วย Tip: จริงๆ แล้ว ไม่ว่าบ้านของเรากำลังผ่อนอยู่หรือไม่ ก็ควรทำประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย เพราะถ้ามีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับบ้าน อย่างน้อยก็มีประกันที่ช่วยชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายเพียงหลักพันถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความคุ้มครองที่ได้รับ ประกันที่ควรทำ - ประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองหนี้สินบ้าน เวลาที่ขอสินเชื่อบ้าน ธนาคารมักแนะนำให้ผู้ขอสินเชื่อทำประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองหนี้สินบ้าน ซึ่งผู้ขอสินเชื่อจะทำหรือไม่ก็ได้ และถ้าไม่ทำ ก็ไม่ได้ส่งผลต่อการอนุมัติสินเชื่อ แต่แนะนำว่า ผู้ขอสินเชื่อบ้านควรทำประกันประเภทนี้ - ความคุ้มครองที่ได้รับ: คุ้มครองผู้ทำประกันกรณีเสียชีวิตและกรณีทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร โดยจะได้รับเงินชดเชยเท่ากับทุนประกันหรือความคุ้มครองที่คงเหลืออยู่ - ทุนประกันที่ควรทำ: ควรทำประกันให้มีระยะเวลาความคุ้มครองและทุนประกันสอดคล้องกับระยะเวลาในการผ่อนชำระและวงเงินสินเชื่อ โดยทุนประกันหรือความคุ้มครองจะลดลงเรื่อยๆ ตามยอดหนี้สินที่ลดลง - ค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่าย: ขึ้นอยู่กับเพศ อายุของผู้ขอสินเชื่อ ทุนประกัน และระยะเวลาความคุ้มครอง การจ่ายค่าเบี้ยประกันมักจ่ายเพียงครั้งเดียว หรือบางธนาคารให้ผู้ขอสินเชื่อสามารถผ่อนชำระค่าเบี้ยได้ โดยให้เป็นวงเงินสินเชื่อ Tip: ผู้ที่กำลังผ่อนบ้านควรทำประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองหนี้สินบ้าน เพราะถ้ามีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับผู้ขอสินเชื่อ ครอบครัวหรือคนที่เรารักจะได้ไม่ต้องแบกรับภาระในการผ่อนชำระหนี้สิน นอกจากนี้ เบี้ยประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองหนี้สินบ้านที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 100,000 บาท สรุปได้ว่า การทำประกันไม่ได้อยู่ที่ธนาคารเป็นผู้กำหนด แต่อยู่ที่ตัวเราเป็นผู้ตัดสินใจ ถ้าอยากให้บ้านและคนที่เรารักได้รับความคุ้มครอง เมื่อตัดสินใจซื้อบ้าน ก็อย่ามองข้ามการทำประกัน   ขอขอบคุณข้อมูลจาก K-Expert
อยากเพิ่มหรือลดผู้กู้ร่วม ต้องทำยังไง

อยากเพิ่มหรือลดผู้กู้ร่วม ต้องทำยังไง

สำหรับผู้ที่ผ่อนชำระสินเชื่อบ้านไปสักระยะหนึ่ง คงรู้จักกับคำว่า “รีไฟแนนซ์” ซึ่งเป็นการขอสินเชื่อกับอีกธนาคารหนึ่งโดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าธนาคารเดิม เพื่อช่วยในการประหยัดดอกเบี้ย แต่รู้หรือไม่ว่า ในการรีไฟแนนซ์เรายังสามารถขอเพิ่มหรือลดจำนวนผู้กู้ร่วมซื้อบ้านได้อีกด้วย จะมีขั้นตอนอย่างไรบ้างนั้นเรามีคำตอบครับ เพิ่มผู้กู้ร่วมซื้อบ้าน การเพิ่มจำนวนผู้กู้ร่วมซื้อบ้านมักจะเจอในกรณีของสามีภรรยา เช่น เดิมสามีเป็นผู้กู้ซื้อบ้านเพียงคนเดียว แต่อยากให้ภรรยามีกรรมสิทธิ์ในบ้านด้วย เมื่อตัดสินใจรีไฟแนนซ์จึงแจ้งธนาคารเพื่อขอเพิ่มชื่อภรรยาในสัญญา และเพิ่มกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดินด้วย แต่การเพิ่มชื่อคู่สมรสเข้ามา จะมีค่าใช้จ่ายด้วยนะคะ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนครับ ส่วนแรก คือ ค่าใช้จ่ายในการให้ หากบ้านหลังนั้นเป็นสินส่วนตัวจะมีค่าใช้จ่ายในการให้ 0.5% ของราคาประเมิน แต่ถ้าเป็นสินสมรสจะเสียค่าธรรมเนียมเพียง 75 บาทเท่านั้นครับ ส่วนที่สอง คือ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากการขายบ้าน การให้คู่สมรสมีกรรมสิทธิ์ร่วมในบ้านเปรียบเสมือนการให้ (ขาย) บ้านอีกครึ่งหลังให้กับคู่สมรส ดังนั้นคู่สมรสที่เป็นผู้กู้ซื้อบ้านฝ่ายเดียวในตอนแรกจะต้องเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายโดยคำนวณจากราคาบ้านครึ่งหนึ่ง เช่น บ้านมูลค่า 3 ล้านบาท แบ่งให้คู่สมรสครึ่งหนึ่ง ดังนั้นจะต้องนำ 1.5 ล้านบาทมาคำนวณยอดเงินเพื่อเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายด้วยครับ ส่วนที่สาม คือ ภาษีธุรกิจเฉพาะหรืออากรแสตมป์ ซึ่งเลือกเสียอย่างใดอย่างหนึ่ง หากมีชื่อในทะเบียนบ้านเกิน 1 ปี หรือถือครองเกิน 5 ปีปฏิทินจะเสียเฉพาะอากรแสตมป์ 0.5% (อัตรา 1 บาท ต่อราคาประเมินทุนทรัพย์ทุก 200 บาท)  ของราคาซื้อขายหรือราคาประเมิน โดยใช้ราคาที่สูงกว่า แต่ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขข้างต้น จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ของราคาซื้อขายหรือราคาประเมิน โดยใช้ราคาที่สูงกว่าครับ ลดจำนวนผู้กู้ซื้อบ้าน เมื่อตัดสินใจที่จะรีไฟแนนซ์ เรายังสามารถขอลดจำนวนผู้กู้ซื้อบ้านได้อีกด้วย เช่น พี่อยากกู้ซื้อบ้าน แต่ต้องกู้ร่วมกับน้อง เพราะรายได้ของพี่เพียงคนเดียวไม่เพียงพอสำหรับขอสินเชื่อ ผ่านไประยะหนึ่งรายได้ของพี่สูงขึ้นจนเพียงพอที่จะผ่อนบ้านคนเดียวได้ จึงต้องการลดจำนวนผู้กู้เหลือเพียงคนเดียว สำหรับขั้นตอนในการขอลดจำนวนผู้กู้ซื้อบ้านก็คล้ายกับการเพิ่มจำนวนผู้กู้ซื้อบ้าน โดยต้องทำเรื่องเปลี่ยนแปลงสัญญากับธนาคารและเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดินด้วยครับ เบื้องต้นธนาคารจะพิจารณาว่า ผู้กู้ที่เหลืออยู่ มีความสามารถในการผ่อนชำระหรือไม่ ซึ่งโดยปกติแล้วยอดผ่อนชำระจะต้องไม่เกิน 40-50% ของรายได้ในแต่ละเดือนครับ ในส่วนของการขอเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดินนั้น จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นเช่นกันครับ โดยกรมที่ดินจะมองว่า การขอเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ครั้งนี้เสมือนมีการซื้อขายเกิดขึ้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการโอน 2% ของราคาประเมิน นอกจากนี้ยังมีการคิดภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากการขายบ้านกับคนที่ออกจากการกู้บ้าน จากตัวอย่างข้างต้น ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจะคิดจากผู้ที่เป็นน้อง เพราะกรมที่ดินมองว่า ผู้เป็นพี่ได้รับกรรมสิทธิ์บ้านเพิ่มจากน้อง เสมือนว่าน้องมีการขายบ้านครึ่งหลังที่มีอยู่เดิมให้กับพี่ และยังมีการคิดภาษีธุรกิจเฉพาะหรืออากรแสตมป์เหมือนกับกรณีขอเพิ่มจำนวนผู้กู้ร่วมซื้อบ้านด้วยครับ แม้ว่าการรีไฟแนนซ์จะช่วยให้ประหยัดดอกเบี้ยในการกู้ซื้อบ้าน และสามารถเปลี่ยนแปลงผู้กู้ซื้อบ้านได้ แต่ก่อนตัดสินใจควรศึกษาถึงเงื่อนไขในการรีไฟแนนซ์ของสินเชื่อบ้านเดิม และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้การรีไฟแนนซ์ครั้งนี้คุ้มค่าที่สุดครับ   ขอขอบคุณข้อมูลจาก home.co.th
กำจัด 10 จุดอ่อน แก้ไขปัญหากู้ซื้อบ้าน ไม่ผ่าน

กำจัด 10 จุดอ่อน แก้ไขปัญหากู้ซื้อบ้าน ไม่ผ่าน

ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้รายได้หรือกำลังซื้อบางส่วนลดลง ขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งเหตุผลหลักที่แบงก์ปฏิเสธการให้สินเชื่อก็เนื่องมาจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ลดลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมีภาระผ่อนรถยนต์คันแรก, การมีบัตรเครดิตหลายใบ, การผ่อนชำระสินค้ากับบัตรต่างๆ ตลอดจนรายได้ที่ลดลงในบางอาชีพอันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจ เป็นต้น ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงในการยื่นขอกู้ซื้อบ้านแล้วไม่ผ่าน จึงมีคำแนะนำให้กำจัด 10 จุดอ่อน ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินดังนี้ 1.บัตรเครดิตหลายใบมีไว้ทำไม ไม่รู้หรือว่ามีผลทำให้กำลังซื้อบ้านลดลง ในการพิจารณาวงเงินที่จะให้สินเชื่อซื้อบ้าน แบงก์จะนำวงเงินจากบัตรเครดิตทุกใบที่มีอยู่คิดรวมเป็นภาระหนี้สิน (แม้จะยังไม่ได้รูดจ่ายก็ตาม) ส่งผลให้กู้ได้น้อยลงหรือกู้ไม่ผ่านในที่สุด หากภาระหนี้สินที่มีทั้งหมดเกินกว่า 40% ของรายได้รวมทั้งหมด 2.ผ่อนสินค้าผ่านบัตรต่างๆ ต้องรีบเคลียร์ให้หมด ปัจจุบันนอกเหนือจากบัตรเครดิตแล้วยังมีบัตรสำหรับผ่อนชำระสินค้าอื่นๆ ซึ่งควรรีบเคลียร์ให้หมด มิฉะนั้นก็จะถูกนำมาพิจารณาเวลาให้สินเชื่อด้วยเช่นกัน 3.จะยื่นกู้ซื้อบ้านควรเช็คเครดิตบูโรก่อน บางคนมีหนี้หรือค้างชำระหนี้โดยไม่รู้ตัว เมื่อยื่นขอกู้แบงก์จะตรวจสอบข้อมูลมานังเครดิตบูโรซึ่งเครดิตบูโรจะเก็บรวบรวมข้อมูลการชำระสินเชื่อหรือบัตรเครดิต อันประกอบด้วยข้อมูลส่วนบุคคลและประวัติการชำระสินเชื่อ ทั้งวงเงินยอดค้างและประวัติการผิดนัดชำระหนี้ในแต่ละสิ้นเดือนย้านหลังไม่เกิน 36 เดือน หากผู้ขอสินเชื่อมีประวัติการชำระสินเชื่อที่ไม่ดี มีการค้างชำระหรือผิดนัดชำระ หรือแม้กระทั่งไม่เคยมีประวัติสินเชื่อกับสถาบันการเงินใดเลย โอกาสที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินก็จะมีน้อยลง หรือถึงขั้นไม่อนุมัติสินเชื่อให้ก็เป็นได้ 4.ผ่อนรถยนต์คันแรกอยู่ต้องคิดให้ดีก่อนจะกู้ซื้อบ้าน สาเหตุหลักอย่างหนึ่งที่แบงก์ปฏิเสธการให้สินเชื่อก็เนื่องจากผู้กู้มีภาระ ติดผ่อนชำระรถยนต์จากโครงการรถคันแรก ดังนั้นก่อนจะซื้อบ้านต้องคิดให้ดีหรือลองทำ Pre-approve กับสถาบันการเงิน เพื่อดูความสามารถในการชำระหนี้ว่ายังผ่อนบ้านเพิ่มได้อีกหรือไม่ 5.อย่าค้ำประกันใครง่ายๆ เพราะสถาบันการเงินจะนำมาพิจารณารวมเป็นภาระหนี้ของคุณด้วย ทำให้ความสามารถในการกู้ลดลง เช่นเดียวกับบัตรเครดิตหรือบัตรผ่อนสินค้าอื่นๆ 6.ก่อนคิดจะกู้ลองสร้างเครดิตดีๆให้ตัวเองกันไหม หากไม่มั่นใจในรายได้หรืออาชีพของตนเองว่าแบงก์จะปล่อยกู้หรือไม่ ลองสร้างเครดิตที่ดีให้กับตัวเองโดยการเปิดบัญชีออมเงินสักระยะหนึ่งอาจจะ 1-2 ปี ซึ่งนอกจากเงินออมนี้จะกลายเป็นเครดิตว่าคุณมีวินัยทางการเงินได้อีกทางหนึ่งด้วย 7.หาผู้กู้ร่วมที่มีเครดิตดี การมีผู้กู้ร่วมที่มีอาชีพมั่นคง มีรายได้ประจำ เช่น ข้าราชการ, พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือประกอบวิชาชีพพิเศษ เช่น แพทย์, อัยการ เป็นต้น อาจทำให้มีโอกาสที่จะได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินมากขึ้น 8.เลือกซื้อที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและสอดคล้องกับกำลังซื้อ ในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยขอให้คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้เป็นหลัก ไม่ใช่เพราะความต้องการอยากได้ เพราะหากผ่อนไม่ไหวจะกลายเป็นภาระที่หนักอึ้ง หรือต้องยอมให้แบงก์ยึดไปอย่างน่าเสียดาย นกน้อยต้องทำรังแต่พอตัว 9.เลือกระยะเวลาผ่อนชำระยาวๆ ไว้ก่อน แนะนำให้เลือกระยะเวลาการผ่อนชำระบ้านที่นานๆ ไว้ก่อน เช่น 25-30 ปี เพื่อให้วงเงินที่ผ่อนชำระต่อเดือนน้อยๆ หากรายได้ลดลงก็ไม่กระทบกับการผ่อน ในทางกลับกันถ้ามีรายได้เพิ่มขึ้นก็สามารถโปะได้ หรือไม่ต้องผ่อนนานตามที่กำหนดไว้ได้ แต่ถ้าเลือกผ่อนระยะสั้นไปแล้วจะขอขยายเวลาออกไปต้องเสียเวลาไปยื่นเรื่องใหม่ๆ และอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก 10.ถ้ายังไม่พร้อมก็อย่าเพิ่งคิดเป็นหนี้ เนื่องจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะผูกพันเป็นภาระหนี้ในระยะยาวเป็น 10 ปี 25 ปีขึ้นไป ฉะนั้นต้องมั่นใจในกำลังผ่อนของตัวเองเสียก่อนจึงคิดจะมีบ้าน หากสามารถกำจัด 10 จุดอ่อนเหล่านี้ ซึ่งจะมีผลต่อการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินลงได้แล้วล่ะก็ เชื่อว่าคุณจะมีบ้านได้อย่างใจฝันแน่นอน     ขอขอบคุณข้อมูลจาก  home.co.th
8 วิธีประเมินกำลังซื้อที่อยู่อาศัย

8 วิธีประเมินกำลังซื้อที่อยู่อาศัย

หากต้องการจะเป็นเจ้าของบ้านหรือคอนโดฯสักแห่ง จะสามารถทราบได้อย่างไร ว่ารายได้ที่มีจะสามารถผ่อนบ้านไหว การประเมินกำลังซื้อและความสามารถในการผ่อนบ้าน คอนโดฯ ก่อนตัดสินใจซื้อจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น นอกจากนั้น การประเมินถึงความเป็นไปได้ยังส่งผลให้ผ่านการกู้ด้วย ซึ่งรายได้กับราคาบ้านต้องสอดคล้องกัน ไม่มีหนี้สินมากเกินไป วันนี้เรามี 8 วิธีที่จะสามารถประเมินกำลังซื้อ ความสามารถในการผ่อนบ้าน คอนโดฯ มาให้ได้อ่านกัน 1. วงเงินกู้ 30-50 เท่าของรายได้สุทธิ ตามปกติธนาคารจะอนุมัติวงเงินกู้ 30-50 เท่าของรายได้สุทธิ แต่ก็ขึ้นอยู่กับอาชีพและฐานรายได้ของผู้กู้ด้วย 2. 1 ใน 3 ส่วนของรายได้สุทธิ ธนาคารให้ผู้กู้ผ่อนบ้านได้เพียง 1 ใน 3 ส่วนของรายได้สุทธิ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวงเงินกู้ด้วย โดยอ้างอิงจากความสามารถในการผ่อน ยกตัวอย่าง มีรายได้เดือนละ 20,000 บาท ผ่อนบ้านได้เต็มที่ประมาณ 6,000 – 7,000 บาท 3. 20,000 บาท รายได้ขั้นต่ำ รายได้ขั้นต่ำที่จะสามารถซื้อบ้านหรือคอนโดฯราคา 1 ล้านบาทได้อย่างสบายๆ อยู่ที่ 20,000 บาท 4. เงินงวดผ่อนต่อเดือนอยู่ที่ 7,000 บาท การกู้เงิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันคือ 7-8 % จำนวนเงินงวดผ่อนจะตกเดือนละ 7,000 บาท ระยะกู้ 20-30 ปี 5. หนี้บัตรเครดิตถูกนำมาคิด 10% ของภาระหนี้สิน หลายคนที่มีปัญหากู้ไม่ผ่านเพราะมีหนี้สินมากเกินไป ทั่วไปการคำนวณภาระหนี้ส่วนของบัตรเครดิตจะอยู่ที่ 10% จากยอดหนี้ ซึ่งก็คือการชำระขั้นต่ำ 6. 90% ของราคาประเมินคือวงเงินกู้ซื้อคอนโด วงเงินกู้สูงสุดที่จะได้รับในกรณีขอกู้ซื้อคอนโดฯใหม่ อยู่ที่ 90% 7. 95% ของราคาประเมินคือวงเงินกู้ซื้อบ้าน วงเงินกู้สูงสุดที่จะได้รับในกรณีขอกู้ซื้อบ้านจัดสรร อยู่ที่ 95% 8. 70-80% ของราคาคือวงเงินกู้ซื้อบ้าน คอนโดฯ มือสอง วงเงินกู้สูงสุดที่จะได้รับในกรณีขอซื้อบ้าน คอนโดฯ มือสอง อยู่ที่ 70-80% แต่หากเป็นสินทรัพย์ของธนาคารนั้น อาจได้วงเงินกู้สูงกว่าทั่วไป จาก 8 ข้อข้างต้น เราสามารถนำมาเป็นเกณฑ์พิจารณากำลังการซื้อของเราได้อย่างคร่าวๆ โดยเปรียบเทียบจากรายได้สุทธิ และหนี้สินที่มี ตรงส่วนนี้ก็สามารถบ่งบอกได้แล้วว่า หากยื่นเรื่องขอกู้สินเชื่อเพื่อซื้อบ้านหรือคอนโดฯ โอกาสที่จะได้รับการอนุมัติมีมากน้อยเท่าใด ลองศึกษาและคำนวณกันดูนะครับ   ขอขอบคุณข้อมูลจาก home.co.th
วิธียื่นภาษีคอนโดมิเนียมให้เช่า

วิธียื่นภาษีคอนโดมิเนียมให้เช่า

ปัจจุบันรูปแบบการลงทุนมีอย่างหลากหลาย และผู้ลงทุนก็มีทางเลือกสำหรับการลงทุนอย่างมากมาย แต่หนึ่งในการลงทุนที่มีผู้สนใจมากทั้งในอดีตและปัจจุบัน คือการลงทุนในคอนโดมิเนียม เพราะนอกจากจะใช้อยู่อาศัยเองแล้ว ยังสามารถปล่อยเช่าเพื่อให้มีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ หรือขายเมื่อมีราคาสูงขึ้นได้อีกด้วย สำหรับรายได้จากการให้เช่าคอนโดมิเนียมในกรณีที่เราเป็นบุคคลธรรมดานั้นเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(5) สามารถคำนวณภาษีได้ 2 แบบ ดังต่อไปนี้ ค่าใช้จ่ายแบบเหมา สำหรับวิธีการคำนวณภาษีแบบเหมาๆ นั้น คำนวณได้ง่ายๆ โดยใช้อัตราเหมาจ่าย 30% ไม่ว่าเราจะมีค่าใช้จ่าย หรือต้นทุนมากน้อยเท่าไร ทางสรรพากรจะไม่ดูเอกสารหรือใบเสร็จที่เป็นต้นทุนว่ามีเท่าไรบ้าง วิธีการนี้ง่ายต่อการคำนวณและไม่ยุ่งยากในเรื่องเอกสาร อย่างเช่นในปีภาษี 2557 มีรายได้จากค่าเช่าทั้งปีรวม 1,200,000 บาท หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 30% เท่ากับ 360,000 บาท หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท คงเหลือเงินได้สุทธิจำนวน 810,000 บาท คำนวณภาษีตามอัตราก้าวหน้า รวมเสียภาษีจำนวน 77,000 บาท ค่าใช้จ่ายตามจริง วิธีนี้เหมาะกับปีที่มีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในปีแรกๆ ที่มีค่าใช้จ่ายในการตกแต่ง หรือบางปีที่มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม หากเป็นแบบนี้จะต้องมีเอกสารที่พิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงๆ นอกจากนี้ยังสามารถนำภาษีโรงเรือนที่ได้ชำระไปมารวมเป็นค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย อย่างเช่นในปีภาษี 2557 มีรายได้จากค่าเช่าทั้งปีรวม 1,200,000 บาท มีค่าใช้จ่ายจากการตกแต่งจำนวน 300,000 บาท มีภาษีโรงเรือน 12.5% เท่ากับ 150,000 บาท รวมค่าใช้จ่าย 450,000 บาท หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท คงเหลือเงินได้สุทธิจำนวน 720,000 บาท บาท คำนวณภาษีตามอัตราก้าวหน้า รวมเสียภาษีจำนวน 60,500 บาท สำหรับการคำนวณภาษีในแต่ละปีนั้น สามารถเลือกได้ว่าปีภาษีนี้เลือกแบบตามจริง ปีภาษีหน้าเลือกแบบเหมา ขึ้นอยู่กับว่ามีเอกสารแสดงค่าใช้จ่ายครบไหม หรือการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาคุ้มกว่าก็เลือกแบบนั้น นอกจากนี้ การยื่นภาษีรายได้ค่าเช่าจะต้องยื่นปีละ 2 ครั้ง สำหรับช่วงกลางปีสามารถยื่นได้ภายในวันที่ 30 กันยายน โดยยื่นแบบภงด.94 จากรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ส่วนภาษีเต็มปี สามารถยื่นแบบภงด.90 ภายใน 31 มีนาคมปีถัดไป โดยยื่นรายได้ที่เกิดขึ้นทั้งปีภาษี และหักภาษีที่ได้จ่ายชำระในช่วงครึ่งปีออกไป   ขอขอบคุณข้อมูลจาก K-Expert
ภาษีจากการขายอสังหาริมทรัพย์สำหรับบุคคลธรรมดา

ภาษีจากการขายอสังหาริมทรัพย์สำหรับบุคคลธรรมดา

การขายอสังหาริมทรัพย์ หากใครไม่เคยขายจะไม่รู้ว่ามีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าพยาน ค่าคำขอ ค่าจดทะเบียน ฯลฯ แล้วยังมีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายอีกด้วย ดังนั้น หากมีความจำเป็นต้องขายอสังหาริมทรัพย์ เรามารู้จักค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นก่อนว่ามีอะไรบ้าง ภาษีธุรกิจเฉพาะ จะเกิดขึ้นในกรณีที่มีการขายอสังหาริมทรัพย์ภายใน 5 ปีตั้งแต่วันที่ได้มา หรือมีชื่อในทะเบียนบ้านหลังที่ขายน้อยกว่า 1 ปี อย่างเช่นเราขายบ้านที่ซื้อมาเมื่อ 3 ปีก่อน เราจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราร้อยละ 3 ของราคาขายหรือราคาประเมินแล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า นอกจากนี้ยังต้องเสียภาษีรายได้ส่วนท้องถิ่นอีกร้อยละ 10 ของภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือรวมแล้วจะเท่ากับร้อยละ 3.3 อากรแสตมป์ ถ้ามีการถือครองอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป จะไม่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่จะเสียอากรแสตมป์ในอัตราร้อยละ 0.5 ของราคาขายหรือราคาประเมินแล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่า อย่างเช่นเราขายบ้านที่อยู่มาแล้ว 7 ปี ก็จะเข้าข่ายเสียอากรแสตมป์ ในกรณีนี้ก็จะช่วยประหยัดค่าภาษีธุรกิจเฉพาะไปได้เป็นต้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งการคิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายจะหักค่าใช้จ่ายตามจำนวนปีที่ถือครองซึ่งสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตั้งแต่ร้อยละ 92 จนถึงร้อยละ 50 ในกรณีขายบ้านที่ได้รับมาโดยมรดกจะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 50 จากนั้นคงเหลือเงินได้สุทธิเท่าไร ก็นำมาคำนวณตามฐานภาษี ดังนี้ 0 – 300,000 เสียร้อยละ 5 300,000 – 500,000 เสียร้อยละ 10 500,000 – 750,000 เสียร้อยละ 15 750,000 – 1,000,000 เสียร้อยละ 20 1,000,000 – 2,000,000 เสียร้อยละ 25 2,000,000 – 4,000,000 เสียร้อยละ 30 มากกว่า 4,000,000 เสียร้อยละ 35 ซึ่งฐานภาษีนี้จะแตกต่างจากฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในส่วนของเงินได้สุทธิช่วง 300,000 บาทแรก จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ซึ่งแตกต่างจากการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั่วไปที่มีเงินได้สุทธิ 0 – 150,000 บาทแรกจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี นอกจากค่าใช้จ่ายข้างต้นแล้ว ยังมีค่าธรรมเนียมการโอนอีก 2% ของราคาขาย ซึ่งขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายว่าใครจะเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ดังนั้น ก่อนการขายอสังหาริมทรัพย์ควรพิจารณาค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นว่าเป็นเท่าไหร่ สามารถลดลงได้หรือไม่ โดยเฉพาะภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ขายประหยัดภาษีได้ถึงร้อยละ 3.3 นอกจากนี้ การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากเรามีรายได้จากการทำงานอื่นๆ อยู่แล้วไม่ควรนำภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ไปรวมคำนวณ เพราะจะทำให้ฐานภาษีสูงขึ้น   ขอขอบคุณข้อมูลจาก K-Expert
ผ่อนบ้านอย่างไรให้หมดเร็ว

ผ่อนบ้านอย่างไรให้หมดเร็ว

เดี๋ยวนี้การเป็นเจ้าของบ้านสักหลังหนึ่งไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ต้องรอเก็บเงินก้อนใหญ่ ก็สามารถซื้อบ้านได้ โดยการขอสินเชื่อ ขอเพียงมีรายได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ อาชีพการงานที่มั่นคง มีความสามารถในการชำระหนี้ หรือมีประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาดี ก็มีโอกาสได้รับพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ แต่เมื่อซื้อบ้านด้วยการขอสินเชื่อ สิ่งที่ตามมา ก็คือ ดอกเบี้ย ซึ่งรู้หรือไม่ว่า กว่าเราจะผ่อนบ้านหมดสักหลังหนึ่ง ต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็นเงินเท่าไร แล้วถ้าไม่อยากต้องจ่ายดอกเบี้ยเยอะๆ หรืออยากให้ภาระหนี้ก้อนนี้หมดเร็วๆ จะทำอย่างไรได้บ้าง เรามีคำแนะนำมาฝาก สมมติเรากู้ซื้อบ้าน 3 ล้านบาท ถ้าเลือกผ่อนสัก 10 ปี จะจ่ายดอกเบี้ยประมาณ 9 แสนบาท แล้วถ้าเลือกผ่อนนานขึ้นเป็น 20 ปี คิดเป็นดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมดประมาณ 2.5 ล้านบาท จะเห็นได้ว่า ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในการกู้ซื้อบ้านหลังหนึ่ง เทียบได้กับราคารถยนต์คันหนึ่ง หรือสามารถซื้อบ้านได้อีกหลังหนึ่งเลยทีเดียว แต่เราสามารถประหยัดดอกเบี้ยจากการผ่อนบ้านได้ด้วย 3 เคล็ดลับที่นำมาฝากดังนี้ เคล็ดลับที่ 1 เพิ่มยอดผ่อนในแต่ละงวด แทนที่จะผ่อนบ้านตามยอดผ่อนปกติ ก็เพิ่มเงินผ่อนแต่ละงวดให้มากขึ้นอีกสักหน่อย ก็ช่วยให้หนี้หมดไวขึ้น จากตัวอย่าง กู้ซื้อบ้าน 3 ล้านบาท ถ้าผ่อน 20 ปี จะผ่อนเดือนละ 22,300 บาท และคิดเป็นดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมดประมาณ 2.5 ล้านบาท ถ้าเราเพิ่มเงินผ่อนอีกเดือนละ 10% หรือ 2,230 บาท ระยะเวลาผ่อนบ้านจาก 20 ปีจะเหลือ 17 ปี และจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมดประมาณ 1.9 ล้านบาท ประหยัดดอกเบี้ยได้เกือบ 6 แสนบาท แต่ถ้าเราเพิ่มเงินผ่อนอีกเดือนละ 30% หรือ 6,690 บาท ระยะเวลาผ่อนบ้านจาก 20 ปีจะเหลือ 12.5 ปี และจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมดประมาณ 1.4 ล้านบาท ประหยัดดอกเบี้ยได้ถึง 1.1 ล้านบาท จะเห็นได้ว่า เพิ่มเงินผ่อนบ้านเพียงหลักพันในแต่ละเดือนช่วยให้ประหยัดดอกเบี้ยได้หลักแสนถึงหลักล้าน และหมดหนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งการที่เราจะมีเงินมาผ่อนบ้านในแต่ละเดือนมากขึ้นได้นั้น เพียงแค่ลดค่าสังสรรค์ ค่าชอปปิ้ง เพียงเดือนละไม่กี่พัน ก็จะช่วยให้ผ่อนบ้านหมดไวขึ้น เคล็ดลับที่ 2 โปะบ้านด้วยเงินก้อน เมื่อได้รับเงินก้อน เช่น เงินโบนัส อย่าเพิ่งเอาไปเที่ยว ชอปปิ้ง จนหมด แบ่งมาสร้างอิสรภาพทางการเงินให้ตัวเอง ด้วยการโปะบ้านเพื่อให้ยอดหนี้ลดลง จากตัวอย่างเดิม กู้ซื้อบ้าน 3 ล้านบาท ถ้าผ่อน 20 ปี จะจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมด 2.5 ล้านบาท สมมติเงินเดือนของเราอยู่ที่ 50,000 บาท ได้รับโบนัส 3 เดือน เท่ากับ 150,000 บาท ถ้าแบ่งมาโปะบ้าน 1 แสนบาท โดยโปะเมื่อผ่อนบ้านไปแล้ว 1 ปี และโปะเพียงครั้งเดียว คิดเป็นดอกเบี้ยที่ประหยัดได้ตลอดระยะเวลาที่เหลือเกือบ 3 แสนบาท และระยะเวลาผ่อนบ้านลดลงเกือบ 1.5 ปี จะเห็นได้ว่า โปะบ้านเพียงครั้งเดียวด้วยเงิน 1 แสนบาท ยังประหยัดดอกเบี้ยได้หลายแสน แล้วถ้าโปะบ้านทุกครั้งที่มีเงินก้อนหรือได้เงินโบนัส จะประหยัดดอกเบี้ยได้มากขนาดไหน เมื่อพูดถึงการโปะบ้าน หลายคนอาจสงสัยว่า ถ้ามีเงินก้อนควรเอาไปโปะบ้านหรือเอาไปลงทุนดีกว่ากัน ... ขอแนะนำว่า ถ้าสามารถลงทุนได้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยบ้านที่จ่ายอยู่ ก็คุ้มที่จะนำเงินก้อนไปลงทุน แต่โดยทั่วไปดอกเบี้ยบ้านเฉลี่ยอยู่ที่ 6-7% ต่อปี ซึ่งการลงทุนที่สามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่านี้ มักเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยง เช่น หุ้น โดยมีโอกาสขาดทุนที่สูงได้ ดังนั้น ถ้าไม่มั่นใจเรื่องผลตอบแทนที่จะได้รับ การนำเงินก้อนไปโปะบ้านก็จะคุ้มค่ากว่า เคล็ดลับที่ 3 รีไฟแนนซ์เพื่อลดดอกเบี้ย การรีไฟแนนซ์เป็นการย้ายสถาบันการเงิน หรือขอปรับลดดอกเบี้ยกับสถาบันการเงินที่เราผ่อนบ้านอยู่ โดยทั่วไปจะทำให้เราจ่ายดอกเบี้ยลดลงจากอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายอยู่ในปัจจุบัน แต่ถ้ารีไฟแนนซ์โดยการย้ายสถาบันการเงิน อย่าลืมเปรียบเทียบดอกเบี้ยที่ประหยัดได้ กับค่าใช้จ่ายที่ตามมาจากการรีไฟแนนซ์ ซึ่งได้แก่ 1. ค่าธรรมเนียมในการจำนอง (จ่ายกรมที่ดิน) 1% ของวงเงินกู้ใหม่ 2. ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ใหม่ 3. ค่าประเมินหลักประกัน 2,700 บาท (ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร) ยกตัวอย่างเช่น วงเงินกู้ใหม่ 3 ล้านบาท จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 + 1,500 + 2,700 = 34,200 บาท สมมติ เดิมผ่อนบ้านที่อัตราดอกเบี้ย 7.1% ต่อปี คิดเป็นดอกเบี้ยจ่ายในช่วง 3 ปี ประมาณ 6 แสนบาท แต่ถ้ารีไฟแนนซ์โดยอัตราดอกเบี้ยใหม่อยู่ที่ 5.5% ต่อปี ดอกเบี้ยจ่ายในช่วง 3 ปี รวมกับค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ จะอยู่ที่ประมาณ 5 แสนบาท เห็นได้ว่า การรีไฟแนนซ์ช่วยประหยัดเงินได้ถึงหลักแสน ทั้งนี้ โดยทั่วไปเราสามารถรีไฟแนนซ์ได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับเมื่อผ่อนบ้านไปแล้วอย่างน้อย 3 ปีนับตั้งแต่วันที่เริ่มกู้ ซึ่งค่าธรรมเนียมในการรีไฟแนนซ์ก่อนกำหนดอยู่ที่ 2-3% ของวงเงินกู้ครั้งแรกหรือวงเงินกู้คงเหลือ ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร ดังนั้น ควรดูเงื่อนไขในสัญญาให้ดีก่อนรีไฟแนนซ์ เชื่อว่า ถ้าทุกๆ ท่านที่ผ่อนบ้านอยู่ทำตามเคล็ดลับ 3 ข้อที่แนะนำข้างต้น จะสามารถประหยัดเงินในกระเป๋าที่ต้องจ่ายไปในส่วนของดอกเบี้ยได้เป็นหลักแสนหรือหลักล้าน ที่สำคัญระยะเวลาที่เป็นหนี้ก็ลดลง ทำให้เราได้เป็นเจ้าของบ้านอย่างเต็มตัวเร็วขึ้น   ขอขอบคุณข้อมูลจาก  K-Expert
เรื่องที่มักเข้าใจผิด เมื่อคิดจะโปะบ้าน

เรื่องที่มักเข้าใจผิด เมื่อคิดจะโปะบ้าน

อย่างที่รู้ๆ กันว่าเงินที่เราจ่ายเป็นค่าผ่อนบ้านในแต่ละเดือนนั้น ส่วนหนึ่งต้องนำไปหักดอกเบี้ยจ่ายก่อนส่วนที่เหลือถึงค่อยนำไปหักเงินต้น หากใครที่คิดว่าจะผ่อนแบบปกติตามที่ธนาคารกำหนด โดยไม่มีการโปะหนี้บ้านเลย ก็อาจต้องเสียดอกเบี้ยจ่ายสูงเกือบเท่ากับวงเงินกู้เลยทีเดียว ดังนั้นการเลือกที่จะโปะหนี้บ้านในเวลาที่เรามีเงินก้อน จึงถือว่าเป็นการช่วยประหยัดดอกเบี้ยจ่ายได้มากมาย แล้วเพราะเหตุใดหลายๆ คนที่มีโอกาสได้รับเงินก้อน เช่น ได้โบนัส คอมมิชชั่น ถึงไม่นำเงินก้อนเหล่านี้ไปโปะหนี้บ้าน โปะบ้านแล้วเสียค่าธรรมเนียม หลายคนมักเข้าใจผิด โดยคิดว่าเมื่อกู้บ้านกับธนาคารแล้วจะต้องผ่อนชำระในแต่ละเดือนตามจำนวนเงินที่ธนาคารกำหนดไว้ในสัญญาเงินกู้บ้านเท่านั้น และหากโปะหรือปิดบ้านต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่ในความเป็นจริงแล้วเราสามารถจ่ายค่าผ่อนบ้านในแต่ละเดือน ได้มากกว่าที่ธนาคารกำหนด เช่น จ่ายเพิ่มทุกเดือน เดือนละ 2,000 บาท หรือจ่ายเงินก้อนในบางเดือน เช่น จ่ายเพิ่ม 50,000 บาท และการโปะหรือปิดหนี้ด้วยเงินของเราเองปกติแล้วจะไม่เสียค่าธรรมเนียม ส่วนการปิดหนี้ที่เสียค่าธรรมเนียมโดยปกติแล้วจะเป็นลักษณะของการย้ายวงเงินกู้ไปกู้เงินกับธนาคารแห่งใหม่ หรือที่เรียกกันว่า “รีไฟแนนซ์” อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะตัดสินใจ โปะ ปิดหนี้ หรือรีไฟแนนซ์ เพื่อความมั่นใจว่าจะไม่ทำผิดเงื่อนไขการจ่ายชำระหนี้ของธนาคาร แนะนำให้ตรวจสอบในสัญญาเงินกู้บ้าน หรือสอบถามโดยตรงกับธนาคาร เนื่องจากเงื่อนไขของแต่ละธนาคารมีความแตกต่างกันครับ นำเงินไปลงทุนได้ผลตอบแทนดีกว่าดอกเบี้ยบ้าน หากใครยังลังเลว่าจะนำเงินก้อนไปโปะบ้านดี หรือนำเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินกู้บ้านดี ต้องบอกว่าการลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยบ้านนั้น หากอัตราดอกเบี้ยจ่ายที่ได้รับอยู่ในช่วงที่เป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว เช่น  6-7% ต่อปี การที่จะลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงกว่า 6-7% ต่อปี ก็ต้องเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเช่น หุ้นหรือกองทุนหุ้น ซึ่งการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงก็มีโอกาสที่จะกำไรหรือขาดทุนได้เช่นกันครับ ต่างกับการเลือกนำเงินก้อนไปโปะบ้านเพราะไม่มีความเสี่ยง และช่วยประหยัดดอกเบี้ยจ่ายได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้การนำเงินก้อนไปโปะบ้านถึงแม้จะช่วยให้เราประหยัดดอกเบี้ยจ่ายได้ก็จริง แต่ต้องไม่ลืมที่จะสำรวจตัวเองก่อนครับ ว่ามีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเพียงพอแล้วหรือยัง เพราะหากนำเงินไปโปะบ้านจนหมดไม่มีเงินสำรองไว้อย่างเพียงพอ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันจำเป็นต้องใช้เงินขึ้นมา อาจไม่มีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่ายทำให้เกิดความเดือดร้อน หรือต้องไปกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าดอกเบี้ยบ้านก็เป็นได้ ดังนั้นก่อนนำเงินก้อนไปโปะบ้านแนะนำว่าควรเก็บเงินไว้เป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินก่อนอยู่ที่ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เช่น มีค่าใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท ควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน 120,000 บาท เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินต้องใช้เงินในยามจำเป็นขึ้นมา จะได้นำเงินส่วนนี้มาใช้จ่ายได้ทันทีครับ   ขอขอบคุณข้อมูลจาก K-Expert
เตรียมกู้บ้านให้ผ่าน แบบเจ้าของกิจการ

เตรียมกู้บ้านให้ผ่าน แบบเจ้าของกิจการ

“เวลาเป็นเงินเป็นทอง” คำพูดนี้น่าจะเหมาะกับคนที่เป็นเจ้าของกิจการ เพราะวันไหนหยุด หรือปิดร้าน วันนั้นก็จะไม่มีรายได้เข้ามา และสำหรับกิจการเจ้าของคนเดียวที่ต้องทำทุกอย่างเองหมด ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของมาขาย เปิด ปิดร้าน ทำให้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการหารายได้ จนบางครั้งเผลอหรือลืมที่จะเก็บเอกสารทางการค้าเอาไว้ หรือไม่มีเวลาพอที่จะนำเงินไปเข้าบัญชีธนาคาร สาเหตุเหล่านี้ทำให้เจ้าของกิจการหลายรายประสบปัญหาในการกู้ซื้อบ้าน เนื่องจากเอกสารต่างๆ ไม่พร้อม แล้วจะทำอย่างไรให้พร้อมยื่นกู้ เรามีคำแนะนำสำหรับเจ้าของกิจการที่กำลังมีแผนยื่นกู้ซื้อบ้านดังนี้ครับ     บอกให้ได้ว่ากิจการทำอะไร    เอกสารสำคัญที่เจ้าของกิจการจะต้องเตรียมให้กับธนาคารสำหรับการยื่นกู้ เพื่อให้ธนาคารทราบว่าประกอบกิจการอะไรนั้น ได้แก่ - ทะเบียนการค้าหรือทะเบียนพาณิชย์ ของกิจการที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งรายละเอียดในทะเบียนการค้าจะระบุว่ากิจการที่ทำอยู่นั้นคืออะไร และวันที่จดทะเบียนจะสะท้อนให้เห็นว่าประกอบกิจการมานานแค่ไหน สำหรับเจ้าของกิจการรายใหม่ที่กำลังจะมีแผนจดทะเบียนการค้าหรือทะเบียนพาณิชย์ก็สามารถยื่นเอกสารขอจดทะเบียนได้ที่สำนักงานเขต หรือองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) หรือเทศบาล - สัญญาเช่า เช่น เปิดร้านค้าในห้างสรรพสินค้า เช่าร้านค้าในตึกแถว เอกสารสัญญาเช่าจะช่วยบอกได้ว่ากิจการตั้งอยู่ที่ใด ทำมาแล้วนานแค่ไหน โดยอาจใช้สัญญาเช่าที่ทำไว้ในอดีตควบคู่กัน   บอกให้ได้ว่ากิจการมีรายได้เท่าไร   สิ่งสำคัญที่จะสะท้อนรายได้ของกิจการบุคคลธรรมดานั่นก็คือ รายการเดินบัญชีย้อนหลัง (Statement) ซึ่งนอกจากจะช่วยประเมินให้เห็นว่ากิจการมีรายได้เท่าไรแล้ว ยังสะท้อนได้ว่ากิจการประกอบการค้าเป็นอย่างไร เช่น ได้รับเงินทุกวันอย่างการขายของชำ ขายอาหาร หรือมีรายได้เป็นรายสัปดาห์ เช่น โรงเรียนสอนพิเศษ โดยการเดินบัญชีที่ดีควรฝากเงินหรือถอนเงินตามรายได้หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และไม่ตกแต่งบัญชี โดยธนาคารจะพิจารณารายการเดินบัญชีย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือน นอกจากรายการเดินบัญชีย้อนหลังแล้ว หากกิจการมีเอกสารเพิ่มเติมที่ช่วยสะท้อนรายได้ของกิจการก็ควรยื่นประกอบการพิจารณาสินเชื่อด้วยครับ ซึ่งได้แก่ - บิลการค้า สำหรับกิจการที่ทำการค้าแล้วมีการออกบิลหรือใบเสร็จให้กับลูกค้า หรือใบเสร็จที่ได้จากการซื้อสินค้ามาขาย -  เอกสารการเสียภาษี เช่น ภพ. 30 สำหรับกิจการที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เจ้าของกิจการถือว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้มากมายอย่างไม่จำกัด แต่ในการกู้เงินหากไม่สามารถสะท้อนให้เห็นได้ว่ากิจการมีรายได้เป็นอย่างไร หรือไม่ชัดเจนว่าประกอบกิจการอะไร โอกาสในการได้รับอนุมัติเงินกู้ก็อาจจะเป็นไปได้ยากครับ   ขอขอบคุณข้อมูลจาก  K-Expert
ผ่อนบ้านหมดไว เหมือนได้รถใหม่ 1 คัน

ผ่อนบ้านหมดไว เหมือนได้รถใหม่ 1 คัน

หากใครที่กำลังจะซื้อบ้าน แล้วคิดว่าจะซื้อด้วยวิธีการกู้เงิน ผ่อนรายเดือนกับธนาคาร ต้องไม่ลืมว่าค่าผ่อนที่จ่ายในแต่ละเดือนนั้น ไม่ได้นำไปชำระเงินต้นทั้งหมด แต่จะชำระดอกเบี้ยจ่ายก่อน ส่วนที่เหลือจึงค่อยชำระเงินต้น ซึ่งการจ่ายค่าผ่อนตามจำนวนเงินที่ธนาคารกำหนดไว้ในแต่ละเดือน โดยไม่มีการผ่อนชำระเพิ่ม เมื่อจ่ายแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนครบกำหนด ดอกเบี้ยทั้งหมดอาจจะสูงถึงประมาณ 70% ของวงเงินกู้เลยทีเดียว แต่ถ้าเราเลือกที่จะชำระค่าผ่อนบ้านเพิ่มจากการผ่อนปกติ รู้หรือไม่ว่าวิธีนี้จะช่วยให้เราประหยัดดอกเบี้ยจ่ายเท่ากับได้รถใหม่มา 1 คัน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นเรามีคำตอบครับ   ยิ่งจ่ายมาก ยิ่งลดมาก ปกติแล้วดอกเบี้ยบ้านจะคิดแบบลดต้นลดดอก หมายความว่าดอกเบี้ยที่ต้องชำระในแต่ละเดือนจะคำนวณจากเงินต้นคงเหลือของเดือนนั้นๆ   ตัวอย่างเช่น สมมุติว่า กู้เงินซื้อบ้าน 2,000,000 บาท ธนาคารกำหนดให้ผ่อนชำระเดือนละ 15,000 บาท เป็นระยะเวลา 30 ปี อัตราดอกเบี้ยปีแรก 2.50% ต่อปี หลังจากนั้น MRR-1 (สมมุติให้ 1 เดือนเท่ากับ 30 วัน) ในเดือนแรกจะเสียดอกเบี้ยอยู่ที่ [2,000,000X2.5%] X [30/365]  = 4,109.59 บาท เมื่อจ่ายชำระค่าผ่อน 15,000 บาท จะถูกนำไปชำระดอกเบี้ยก่อน 4,109.59 บาท ส่วนที่เหลือ 15,000 – 4,109.59 = 10,890.41 บาท ค่อยนำไปชำระเงินต้น เท่ากับว่าเงินต้นคงเหลือจะอยู่ที่ 2,000,000 – 10,890.41 = 1,989,109.59 บาท และเงินต้นคงเหลือก็จะนำไปใช้คำนวณดอกเบี้ยในเดือนถัดไป ซึ่งเท่ากับ [1,989,109.59X2.5%] X [30/365]  = 4,087.21 บาท จะเห็นได้ว่าหากอัตราดอกเบี้ยเท่ากัน ในเดือนถัดไปดอกเบี้ยจะลดลงตามเงินต้นที่ลดลง ดังนั้นการผ่อนชำระหนี้ในแต่ละเดือนด้วยจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นก็จะยิ่งทำให้เงินต้นลดลง ซึ่งเท่ากับว่าดอกเบี้ยจ่ายก็จะลดลงด้วยเช่นกันครับ   ผ่อนเพิ่มแค่เดือนละ 2,000 บาท ประหยัดดอกเบี้ยเท่ากับราคารถอีโคคาร์ 1 คัน จากตัวอย่างจะพบว่าหากเลือกผ่อนชำระเดือนละ 15,000 บาท ตามที่ธนาคารกำหนดไว้ไปเรื่อยๆ จนครบกำหนด ดอกเบี้ยจ่ายทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 1,600,000 บาท แต่หากผ่อนเพิ่มแค่เดือนละ 2,000 บาท จากผ่อนเดือนละ 15,000 บาท เป็น 17,000 บาท ดอกเบี้ยจ่ายทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 1,170,000 บาท เมื่อเปรียบเทียบดอกเบี้ยจ่ายแล้ว การผ่อนเพิ่มเดือนละ 2,000 บาท จะช่วยให้ประหยัดดอกเบี้ยได้ถึง 430,000 บาท และช่วยร่นระยะเวลาในการผ่อนบ้านให้เร็วขึ้นถึงประมาณ 5 ปี   นอกจากนี้หากเราได้รับเงินก้อน ไม่ว่าจะเป็น เงินโบนัส ค่าคอมมิชชั่น ก็อย่าลืมแบ่งเงินบางส่วนนี้ไปโปะบ้านด้วยนะครับ จะได้ประหยัดดอกเบี้ยจ่าย และหมดภาระหนี้สินเร็วขึ้นครับ   ขอขอบคุณข้อมูลจาก K-Expert
ค่าใช้จ่ายที่ตามมา หากคิดว่าจะอยู่คอนโด

ค่าใช้จ่ายที่ตามมา หากคิดว่าจะอยู่คอนโด

หนุ่มสาวรุ่นใหม่วัยเริ่มต้นทำงาน เมื่อทำงานไปได้สักพัก พอมีเงินเก็บบ้างแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงมองหาคอนโดสักห้องไว้อยู่อาศัยเพื่อให้ชีวิตสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เพราะไม่ต้องตื่นแต่เช้า เดินทางฝ่ารถติดจากบ้านมาถึงที่ทำงาน จะไปไหนมาไหนก็ใกล้ เหมาะกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบัน แต่การซื้อคอนโดสักห้องก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง พอๆ กับการซื้อบ้านสักหลังเลยทีเดียว นอกจากเงินดาวน์ เงินผ่อนต่อเดือนแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายตามมาอีกมากมายเมื่อเข้าอยู่คอนโด ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ว่าจะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลยครับ ค่าใช้จ่ายที่เลี่ยงไม่ได้หากจะใช้ชีวิตในคอนโด ค่าเฟอร์นิเจอร์ ถ้าคอนโดที่ซื้อเป็นห้องเปล่าซึ่งยังไม่ได้ตกแต่งหรือมีเฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้ใดๆ แน่นอนว่าต้องมีค่าใช้จ่ายในการซื้อเฟอร์นิเจอร์มาตกแต่งห้องให้พร้อมอยู่ ไม่ว่าจะเป็น เตียงนอน ตู้เสื้อผ้า โซฟา รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่จำเป็น รวมกันแล้วเป็นค่าใช้จ่ายหลักหมื่นถึงหลักแสนบาทเลยทีเดียวครับ ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้คือค่าดูแลรักษาทรัพย์สินของส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็น ระบบรักษาความปลอดภัย สระว่ายน้ำ ฟิตเนส สวนในโครงการ หรือที่จอดรถ ซึ่งจะเรียกเก็บจากเราล่วงหน้าเป็นรายปี โดยคิดราคาตามขนาดพื้นที่ห้อง เป็นราคาต่อตารางเมตร ทั้งนี้ อัตราค่าส่วนกลางจะแตกต่างกันไปในแต่ละโครงการ เช่น 50 บาท/เดือน/ตร.ม. สมมติเราเลือกคอนโดแบบ 1 ห้องนอน ขนาด 25 ตารางเมตร ค่าใช้จ่ายส่วนกลางจะอยู่ที่ 15,000 บาท ต่อปีครับ ค่าประกันอัคคีภัย ค่าประกันอัคคีภัยถือเป็นอีกหนึ่งค่าใช้จ่ายที่มาพร้อมกับการกู้ซื้อคอนโด หรือนิติบุคคลเรียกเก็บจากเจ้าของร่วมทุกคน เพื่อช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับคอนโด ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ปกติจะจ่ายพร้อมกับค่าผ่อนคอนโดในงวดแรก หรือถูกเรียกเก็บจากนิติบุคคลเป็นรายปี โดยค่าเบี้ยประกันจะแตกต่างกันไปตามขนาดพื้นที่ห้อง รวมถึงชั้นของคอนโดที่อยู่ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณหลักพันบาทต่อปี ค่าสาธารณูปโภค เมื่อเข้าอยู่คอนโดแล้วย่อมมีค่าสาธารณูปโภคเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือค่าอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายเป็นประจำทุกเดือน แต่จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ของแต่ละคน ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาทต่อเดือนขึ้นไป จะเห็นว่าเมื่อรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ เข้าด้วยกันแล้วจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว หากไม่เตรียมตัวเก็บเงินก้อนไว้ หรือไม่ได้วางแผนบริหารจัดการรายจ่ายในแต่ละเดือน แต่ละปีให้ดี ก็มีโอกาสที่จะกู้ซื้อคอนโดแล้วผ่อนไม่ไหว ดังนั้น ใครที่คิดว่าคอนโดสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตได้ และสนใจอยากซื้อคอนโดสักห้อง ต้องไม่มองเพียงแค่ว่ามีเงินดาวน์ เงินผ่อนแล้วจะเข้าอยู่ได้เลย ต้องเตรียมเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่จะตามมาด้วยครับ ทั้งนี้ แม้ว่าธนาคารจะกำหนดให้เรามีภาระผ่อนต่อเดือนได้ถึง 40% ของรายได้ แต่ทางที่ดีแนะนำว่า ไม่ควรผ่อนเกิน 30% ของรายได้ครับ เพราะต้องเผื่อเงินไว้สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะตามมาด้วย เพื่อไม่ให้ภาระผ่อนตึงมือจนเกินไปหรือกระทบกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในแต่ละเดือนของเรา   ขอขอบคุณข้อมูลจาก : K-Expert
อยากได้เงินมาซ่อมบ้าน ต้องทำอย่างไร 

อยากได้เงินมาซ่อมบ้าน ต้องทำอย่างไร 

เชื่อว่าใครๆ ก็อยากให้บ้านแสนรักยังคงสภาพสวยงามเหมือนใหม่อยู่เสมอ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อระยะเวลาผ่านไปนานๆ บ้านของเราก็ย่อมที่จะทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา การซ่อมแซมบ้านเพื่อให้มีสภาพสวยงามพร้อมอยู่เหมือนเช่นเดิมจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งในการซ่อมแซมบ้านแต่ละครั้ง ต้องยอมรับว่าใช้เงินจำนวนไม่น้อย แล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้มีเงินเพียงพอไว้สำหรับซ่อมแซมบ้าน ใช้เงินของตัวเอง จากการเก็บออม สำหรับใครที่ต้องการเตรียมเงินไว้ซ่อมแซมบ้านในอนาคต โดยปัจจุบันยังไม่มีเรื่องเร่งด่วนให้ต้องรีบซ่อมแซมบ้าน หรือไม่อยากเสียดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงิน แนะนำให้ใช้วิธีเก็บออมเงินเอาไว้ล่วงหน้า โดยตั้งเป้าหมายว่าจะซ่อมแซมบ้านเมื่อไหร่ และใช้งบประมาณเป็นจำนวนเงินเท่าไร เช่น จะซ่อมแซมบ้านด้วยจำนวนเงิน 100,000 บาท ในอีก 2 ปีข้างหน้า ก็เท่ากับว่าจะต้องเก็บออมเงินประมาณเดือนละ 4,100 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้แนะนำให้เก็บออมไว้ในสินทรัพย์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ฝากประจำรายเดือนปลอดภาษี หรือกองทุนตลาดเงิน เพื่อให้มั่นใจว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าจะมีเงินไว้ใช้ซ่อมแซมบ้านอย่างแน่นอน ขอวงเงินเพิ่ม จากสินเชื่อบ้านที่กำลังผ่อน หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินซ่อมแซมบ้านทันที หรือไม่สามารถรอเวลาให้เก็บออมเงินได้เพียงพอเสียก่อน  เราก็สามารถขอสินเชื่อเพิ่มจากธนาคารปัจจุบันที่เรากำลังผ่อนชำระสินเชื่อบ้านอยู่ได้ โดยธนาคารจะมีการกำหนดเงื่อนไขสำหรับการกู้เพิ่ม เช่น ต้องเป็นลูกค้าที่มีประวัติการผ่อนชำระดี ไม่มีการค้างชำระและผ่อนมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ เช่น ให้วงเงินไม่เกิน 80% ของวงเงินที่ได้ผ่อนชำระไปแล้ว ทั้งนี้เงื่อนไขของแต่ละธนาคารอาจมีความแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามการขอวงเงินเพิ่มจากยอดเงินกู้ที่ผ่อนชำระไปแล้วนั้น อัตราดอกเบี้ยจ่ายอาจจะสูงกว่าดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านที่กำลังผ่อนอยู่ และดอกเบี้ยจ่ายสำหรับวงเงินกู้เพิ่มครั้งนี้จะไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ เหมือนกับดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านครับ ขอสินเชื่อใหม่ จากบ้านที่ปลอดภาระ การนำบ้านที่ปลอดภาระไปใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้มีเงินมาซ่อมแซมบ้าน ซึ่งการนำบ้านที่ปลอดภาระไปใช้ขอกู้เงินกับธนาคารอีกครั้ง เงื่อนไขที่ได้รับจะแตกต่างจากการกู้ซื้อบ้านครั้งแรกครับ เช่นระยะเวลาการผ่อนชำระจะสั้นกว่า อาจผ่อนได้ไม่เกิน 15 ปี แต่สินเชื่อกู้ซื้อบ้านจะผ่อนได้สูงถึง 30 ปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยอาจจะคิดในอัตราที่สูงกว่าการกู้ซื้อบ้านใหม่ โดยสินเชื่อประเภทนี้จะไม่สามารถนำดอกเบี้ยจ่ายไปลดหย่อนภาษีได้ ทั้งนี้ในการขอสินเชื่อใหม่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเหมือนกับการกู้ซื้อบ้านใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ค่าจำนอง 1% ของวงเงินจำนอง ค่าประเมิน ค่าประกันอัคคีภัย ค่าอากรแสตมป์ ค่าทำสัญญาวงเงินกู้ เป็นต้น การหมั่นตรวจเช็คสภาพบ้านอยู่เสมอจะทำให้พบจุดซ่อมแซมเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเราสามารถทยอยซ่อมแซมบ้านไปได้เรื่อยๆ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้บ้านคงสภาพสวยงามเช่นเดิมอยู่เสมอ โดยที่ไม่ต้องเสียเงินก้อนโตไปกับการซ่อมแซมบ้านครั้งใหญ่ครับ   ขอบคุณข้อมูลจาก  k-expert
บ้านมีหลายหลัง ดอกเบี้ยลดหย่อนอย่างไร?

บ้านมีหลายหลัง ดอกเบี้ยลดหย่อนอย่างไร?

หลายคนทราบดีอยู่แล้วว่า "ดอกเบี้ยบ้าน" เป็นอีกค่าลดหย่อนหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งหากมีบ้านหลังเดียวก็คงทำความเข้าใจได้ไม่ยาก ว่าสามารถนำดอกเบี้ยบ้านมาใช้ลดหย่อนภาษีได้เท่าไร แต่หากมีบ้านหลายหลัง บางคนอาจสับสนว่าจะนำดอกเบี้ยบ้านมาลดหย่อนอย่างไร วันนี้เรามีคำแนะนำที่เข้าใจได้ง่ายๆ สำหรับคนที่มีบ้านหลายหลังมาฝากครับ บ้านหลายหลังแบบกู้คนเดียว โดยปกติแล้วดอกเบี้ยบ้านสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาทครับ หากมีบ้านหลายหลังมาจากการกู้คนเดียว สามารถนำดอกเบี้ยจ่ายของบ้านที่เราเป็นผู้กู้ มารวมกันแล้วลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท เช่น มีบ้าน 2 หลัง หลังที่ 1 มีดอกเบี้ยจ่าย 50,000 บาท หลังที่ 2 มีดอกเบี้ยจ่าย 60,000 บาท เท่ากับว่าสามารถนำดอกเบี้ยบ้านมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาทครับ ถึงแม้ดอกเบี้ยจ่ายจริงจะอยู่ที่ 110,000 บาทก็ตาม บ้านหลายหลังแบบกู้ร่วม หากใครที่มีบ้านหลายหลังและเป็นการกู้ร่วม การนำดอกเบี้ยบ้านมาลดหย่อนให้หารเฉลี่ยเท่าๆ กันตามจำนวนผู้กู้ร่วมครับ แต่ก่อนที่จะนำดอกเบี้ยมาหารเฉลี่ย ดอกเบี้ยจ่ายของการกู้ร่วมของบ้านแต่ละหลังจะต้องไม่เกิน 100,000 บาท เช่น กู้ร่วม 2 คน ดอกเบี้ยบ้านจากการกู้ร่วมทั้งปีอยู่ที่ 120,000 บาท ตามเกณฑ์ของการลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านสามารถลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 100,000 บาท จึงทำให้ดอกเบี้ยบ้านที่แต่ละคนนำมาลดหย่อนได้จะเท่ากับคนละ 50,000 บาทเท่านั้นครับ และหากมีบ้านหลายๆ หลัง เมื่อนำจำนวนดอกเบี้ยบ้านที่หารเฉลี่ยแล้วมารวมกัน ในหนึ่งคนจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาทเช่นกันครับ ตัวอย่างเช่น มีบ้าน 3 หลัง กู้ร่วม 2 หลัง กู้เดี่ยว 1 หลัง สมมติว่า หลังที่ 1 กู้ร่วมหารเฉลี่ยผู้กู้ร่วมได้ดอกเบี้ยบ้านคนละ 40,000 บาท หลังที่ 2 กู้ร่วมหารเฉลี่ยผู้กู้ร่วมได้ดอกเบี้ยบ้านคนละ 30,000 บาท หลังที่ 3 กู้เดี่ยวดอกเบี้ยบ้านอยู่ที่ 50,000 บาท รวมแล้วดอกเบี้ยบาททั้งหมดเท่ากับ 120,000 บาท แต่สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านได้ไม่เกิน 100,000 บาทครับ แต่หากรวมกันแล้ว 3 หลังดอกเบี้ยตามจริงไม่ถึง 100,000 บาท ก็สามารถลดหย่อนได้ตามจริงเท่านั้น เช่น ดอกเบี้ยบ้าน 3 หลัง รวมกันแล้วอยู่ที่ 80,000 บาท สิทธิลดหย่อนจะใช้ได้ตามจริงก็คือ 80,000 บาทครับ อย่างไรก็ตามดอกเบี้ยบ้านจากการกู้เงินบางประเภทไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เช่น การกู้เพื่อตกแต่งบ้าน การนำบ้านปลอดภาระมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อขอกู้เงินกับธนาคาร การกู้เอนกประสงค์โดยกู้เพิ่มจากวงเงินกู้บ้านเดิม ดังนั้นก่อนการนำดอกเบี้ยบ้านมาลดหย่อนภาษีควรตรวจสอบสัญญาด้วยครับว่าเป็นเงินกู้ประเภทใด เพื่อไม่ให้ใช้สิทธิแบบผิดเงื่อนไขของกรมสรรพากร   ขอขอบคุณข้อมูลจาก K-Expert
รายได้เสริมแบบไหน ใช้กู้บ้านได้

รายได้เสริมแบบไหน ใช้กู้บ้านได้

ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันมีหลายคนมองหารายได้เพิ่มหรืออาชีพเสริมทำควบคู่ไปพร้อมกับงานประจำ นั่นอาจเป็นเพราะค่าครองชีพที่สูงขึ้น การมีรายได้จากงานประจำเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับใช้จ่าย หรือเพราะอยากทำในสิ่งที่ชอบแถมมีรายได้เพิ่มด้วย ซึ่งในบางครั้งรายได้ที่มาจากการทำอาชีพเสริมอาจจะได้มากกว่างานประจำเสียอีก เชื่อว่ามีหลายๆ คนสงสัยว่า เราสามารถนำรายได้เสริมเหล่านี้มายื่นกู้ซื้อบ้านได้หรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบคมาให้ครับ     รายได้เสริมต้องได้รับเป็นประจำสม่ำเสมอ  ก่อนที่จะนำรายได้เสริมต่างๆ ไปแสดงกับธนาคารเพื่อยื่นกู้ ต้องดูว่ารายได้เสริมนั้น เราได้รับเป็นประจำสม่ำเสมอหรือไม่ เพราะรายได้ที่ธนาคารจะนำมาพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ ปกติแล้วต้องเป็นรายได้ที่ได้รับเป็นประจำสม่ำเสมอทุกๆ เดือน นั่นหมายถึงว่าเราจะมีเงินจากรายได้เสริมไปชำระค่าผ่อนบ้านได้ทุกๆ เดือนเช่นกันครับ หากใครที่มีรายได้เสริมแบบบางเดือนได้บ้างไม่ได้บ้างก็อาจจะยากสักหน่อยที่ธนาคารจะนำรายได้ในส่วนนี้ไปพิจารณาการยื่นกู้ซื้อบ้านครับ มีเอกสารแสดงรายได้เสริมอย่างชัดเจน เมื่อเรามีรายได้เสริมแล้ว ต้องแสดงให้ได้ครับว่ารายได้เสริมที่ได้รับในทุกๆ เดือน เป็นจำนวนเงินเท่าไร เพื่อให้ธนาคารนำไปประเมินเป็นรายได้เฉลี่ยต่อเดือน สำหรับเอกสารที่สามารถใช้ยืนยันรายได้เสริมต่างๆ ขอยกตัวอย่างดังนี้ครับ - รายได้เสริมจากการรับจ้างอิสระ เช่น สอนพิเศษตามโรงเรียนสอนพิเศษ รับจ้างทำบัญชี ขายประกัน ซึ่งบริษัทที่จ้างเราทำงานจะต้องมีการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิให้ครับ โดยจะแสดงประเภทรายได้ และจำนวนเงินที่เราได้รับจากการจ้างทำงาน รวมทั้งรายการเดินบัญชี (Statement) ที่บริษัทโอนเงินเข้าบัญชีเป็นค่าจ้างให้กับเรา หรือหากรับเป็นเงินสดก็ควรนำเงินเข้าบัญชีก่อนแล้วค่อยถอนออกมาใช้จ่ายครับ - รายได้เสริมจากกิจการส่วนตัว เช่น ทำเบเกอรี่ขาย ขายเสื้อผ้า ขายของออนไลน์ เอกสารแสดงรายได้ของการทำกิจการส่วนตัวที่ต้องใช้คือ รายการเดินบัญชี (Statement) ครับ หากใครที่ได้รับเงินจากลูกค้าเป็นเงินสดควรนำเงินเข้าบัญชีก่อนแล้วค่อยถอนออกมาใช้จ่ายตามลักษณะของกิจการ เช่น ได้รับเงินทุกวัน ก็ควรนำเงินเข้าบัญชีทุกวัน นอกจากนี้ต้องมีเอกสารที่แสดงได้อย่างชัดเจนว่าเราทำกิจการอะไร เช่น ทะเบียนการค้า หรือทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการขายออนไลน์ หรือสัญญาเช่าพื้นที่ขายของ เป็นต้น - รายได้เสริมจากการให้เช่า เช่น ให้เช่าบ้าน คอนโด หรือที่ดินเปล่า เอกสารแสดงรายได้สำหรับการให้เช่า ได้แก่ สัญญาเช่าและรายการเดินบัญชี (Statement) ที่ผู้เช่าโอนเข้าบัญชีให้กับเรา การมีรายได้เพิ่มนอกเหนือจากงานประจำจะช่วยแบ่งเบาภาระผ่อนหนี้บ้านในแต่ละเดือนให้กับเราได้ครับ ดังนั้นหากใครที่มีรายได้มาจากการทำอาชีพเสริมต่างๆ ก็ควรทำอย่างจริงจัง ไม่ย่อท้อกับอุปสรรคหรือปัญหาใดๆ จะได้มีเงินเพิ่มไว้ผ่อนบ้านได้อย่างสบายๆ  
สูตรเด็ดเคล็ดลับ ลงทุนคอนโด การรันตีผลตอบแทน

สูตรเด็ดเคล็ดลับ ลงทุนคอนโด การรันตีผลตอบแทน

“คอนโด การันตีผลตอบแทน” หรือที่ในต่างประเทศนิยมเรียกว่า “Sales & Leaseback Stratgies (คอนโดที่ขายโดยใช้กลยุทธ์ขายแล้วเช่ากลับคืน) ” ในแง่การลงทุนแล้วจัดว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คอนโดแบบนี้มักพบเจอได้ไม่ยากตามหัวเมืองท่องเที่ยวต่างๆ อาทิ พัทยา หัวหิน ภูเก็ต และเชียงใหม่ รวมถึงในกรุงเทพฯ ด้วย จุดน่าสนใจของคอนโดฯ ลักษณะนี้อยู่ตรงที่ผู้ลงทุนที่ซื้อเป็นเจ้าของจะมีสิทธิได้รับผลตอบแทนจากการที่โครงการรับเอาไปบริหารจัดการปล่อยเช่า โดยอาจทำเป็นโรงแรมหรือเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ให้แทน โดยผลตอบแทนนี้จะได้รับแน่ๆ ตามข้อตกลงหรือสัญญาที่การันตีเอาไว้ ซึ่งปกติมักจ่ายออกมาในรูปของค่าเช่านั่นเอง ไม่เพียงเท่านั้นการถือครองคอนโดฯ แบบนี้ยังช่วยให้เจ้าของไม่มีภาระจ่ายค่าส่วนกลางในระหว่างการถือครอง ขณะเดียวกันก็ยังมีโอกาสกลับมาใช้ประโยชน์คอนโดฯ เพื่อพักผ่อนในยามที่ต้องการได้ด้วย และข้อดีสุดท้ายก็คือเมื่อคิดขายเมื่อไร คอนโดฯ แบบนี้ก็มักขายได้ง่ายและได้ราคากว่าคอนโดฯ ทั่วไป แม้คอนโดฯ ประเภทนี้จะน่าจูงใจอย่างยิ่งต่อการลงทุนซื้อ แต่ความสำเร็จสำคัญในการลงทุนจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ล้วนขึ้นอยู่กับคุณลักษณะและทำเลที่ตั้งของตัวคอนโดฯ เป็นสำคัญ ซึ่งจะต้องเหมาะกับการนำมาใช้หาผลประโยชน์ในการปล่อยเช่าด้วย หากไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว คนที่ลงทุนก็มีโอกาสประสบปัญหาต่างๆ ได้เช่นกัน อาทิ ทำสัญญากันแล้วไม่อาจ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในระยะยาว หรือบางครั้งอาจเลวร้ายถึงชั้นมีการผิดสัญญาเกขึ้นได้ ในบ้านเราเมื่อไม่นานมานี้ได้เคยมีผู้ทำการวิจัยและศึกษาคอนโดฯ การันตีผลตอบแทนเอาไว้ โดยพบว่าปัจจัยกำหนดความสำเร็จในการซื้อคอนโดฯ แบบขายแล้วเช่ากลับคืนมาบริหาร โดยทั่วไปจะขึ้นอยู่กับ 7 ปัจจัยสำคัญดังนี้ วิวทิวทัศน์และบรรยากาศ เป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ที่จะช่วยให้คอนโดฯ ปล่อยเช่าง่าย ได้ราคาและประสบความสำเร็จ ทำเลที่ตั้ง คอนโดฯ ที่ทำเลที่ตั้งที่ดีกว่า เมื่อนำห้องชุดไปบริหารเป็นโรงแรมก็จะทำให้มีลูกค้ามาใช้บริการมากกว่าตามไปด้วย การเพิ่มมูลค่าคอนโดฯ หลังลงทุนไป ต้องเน้นเลือกคอนโดฯ เฉพาะที่อยู่ในทำเลที่มีแนวโน้มเพิ่มค่าได้ดีเท่านั้น คือต้องเป็นพื้นที่ที่มีแนวโน้มเจริญขึ้นได้เรื่อยๆ และไม่มีปัญหาการแข่งขันทั้งในปัจจุบันและในอนาคต การการันตีค่าเช่า ควรต้องมีระบุในสัญญาไว้อย่างชัดเจนเป็นลายลักษรณ์อักษร ผลตอบแทนและความคุ้มค่าในการลงทุน ต้องพิจารณาดูว่าผลตอบแทนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหนและคุ้มค่าเพียงใด ปกติเกณฑ์ที่ใช้วัดความคุ้มค่าควรต้องสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อคอนโดฯถัวเฉลี่ยอย่างน้อย 1% ความปลอดภัยในโครงการ โดยทั่วไปคอนโดฯ ที่มีปัญหาเรื่องความปลอดภัยมักส่งผลลบตามมา ทำให้คอนโดฯนั้น มีปัญหาในการปล่อยเช่าในอนาคต การมีสิทธิได้กลับมาพักที่โครงการ ถือเป็นส่วนที่ทำให้ผู้ซื้อเกิดความภาคภูมิใจและรู้สึกดีที่ได้เป็นเจ้าของคอนโดฯ เพราะมีโอกาส มาใช้พักผ่อนเมื่อต้องการได้