กำจัด 10 จุดอ่อน แก้ไขปัญหากู้ซื้อบ้าน ไม่ผ่าน

กำจัด 10 จุดอ่อน แก้ไขปัญหากู้ซื้อบ้าน ไม่ผ่าน

Categories : Infographic
Tags : , ,

ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้รายได้หรือกำลังซื้อบางส่วนลดลง ขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งเหตุผลหลักที่แบงก์ปฏิเสธการให้สินเชื่อก็เนื่องมาจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ลดลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมีภาระผ่อนรถยนต์คันแรก, การมีบัตรเครดิตหลายใบ, การผ่อนชำระสินค้ากับบัตรต่างๆ ตลอดจนรายได้ที่ลดลงในบางอาชีพอันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจ เป็นต้น

ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงในการยื่นขอกู้ซื้อบ้านแล้วไม่ผ่าน จึงมีคำแนะนำให้กำจัด 10 จุดอ่อน ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินดังนี้

1.บัตรเครดิตหลายใบมีไว้ทำไม ไม่รู้หรือว่ามีผลทำให้กำลังซื้อบ้านลดลง ในการพิจารณาวงเงินที่จะให้สินเชื่อซื้อบ้าน แบงก์จะนำวงเงินจากบัตรเครดิตทุกใบที่มีอยู่คิดรวมเป็นภาระหนี้สิน (แม้จะยังไม่ได้รูดจ่ายก็ตาม) ส่งผลให้กู้ได้น้อยลงหรือกู้ไม่ผ่านในที่สุด หากภาระหนี้สินที่มีทั้งหมดเกินกว่า 40% ของรายได้รวมทั้งหมด

2.ผ่อนสินค้าผ่านบัตรต่างๆ ต้องรีบเคลียร์ให้หมด ปัจจุบันนอกเหนือจากบัตรเครดิตแล้วยังมีบัตรสำหรับผ่อนชำระสินค้าอื่นๆ ซึ่งควรรีบเคลียร์ให้หมด มิฉะนั้นก็จะถูกนำมาพิจารณาเวลาให้สินเชื่อด้วยเช่นกัน

3.จะยื่นกู้ซื้อบ้านควรเช็คเครดิตบูโรก่อน บางคนมีหนี้หรือค้างชำระหนี้โดยไม่รู้ตัว เมื่อยื่นขอกู้แบงก์จะตรวจสอบข้อมูลมานังเครดิตบูโรซึ่งเครดิตบูโรจะเก็บรวบรวมข้อมูลการชำระสินเชื่อหรือบัตรเครดิต อันประกอบด้วยข้อมูลส่วนบุคคลและประวัติการชำระสินเชื่อ ทั้งวงเงินยอดค้างและประวัติการผิดนัดชำระหนี้ในแต่ละสิ้นเดือนย้านหลังไม่เกิน 36 เดือน

หากผู้ขอสินเชื่อมีประวัติการชำระสินเชื่อที่ไม่ดี มีการค้างชำระหรือผิดนัดชำระ หรือแม้กระทั่งไม่เคยมีประวัติสินเชื่อกับสถาบันการเงินใดเลย โอกาสที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินก็จะมีน้อยลง หรือถึงขั้นไม่อนุมัติสินเชื่อให้ก็เป็นได้

4.ผ่อนรถยนต์คันแรกอยู่ต้องคิดให้ดีก่อนจะกู้ซื้อบ้าน สาเหตุหลักอย่างหนึ่งที่แบงก์ปฏิเสธการให้สินเชื่อก็เนื่องจากผู้กู้มีภาระ ติดผ่อนชำระรถยนต์จากโครงการรถคันแรก ดังนั้นก่อนจะซื้อบ้านต้องคิดให้ดีหรือลองทำ Pre-approve กับสถาบันการเงิน เพื่อดูความสามารถในการชำระหนี้ว่ายังผ่อนบ้านเพิ่มได้อีกหรือไม่

5.อย่าค้ำประกันใครง่ายๆ เพราะสถาบันการเงินจะนำมาพิจารณารวมเป็นภาระหนี้ของคุณด้วย ทำให้ความสามารถในการกู้ลดลง เช่นเดียวกับบัตรเครดิตหรือบัตรผ่อนสินค้าอื่นๆ

6.ก่อนคิดจะกู้ลองสร้างเครดิตดีๆให้ตัวเองกันไหม หากไม่มั่นใจในรายได้หรืออาชีพของตนเองว่าแบงก์จะปล่อยกู้หรือไม่ ลองสร้างเครดิตที่ดีให้กับตัวเองโดยการเปิดบัญชีออมเงินสักระยะหนึ่งอาจจะ 1-2 ปี ซึ่งนอกจากเงินออมนี้จะกลายเป็นเครดิตว่าคุณมีวินัยทางการเงินได้อีกทางหนึ่งด้วย

7.หาผู้กู้ร่วมที่มีเครดิตดี การมีผู้กู้ร่วมที่มีอาชีพมั่นคง มีรายได้ประจำ เช่น ข้าราชการ, พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือประกอบวิชาชีพพิเศษ เช่น แพทย์, อัยการ เป็นต้น อาจทำให้มีโอกาสที่จะได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินมากขึ้น

8.เลือกซื้อที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและสอดคล้องกับกำลังซื้อ ในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยขอให้คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้เป็นหลัก ไม่ใช่เพราะความต้องการอยากได้ เพราะหากผ่อนไม่ไหวจะกลายเป็นภาระที่หนักอึ้ง หรือต้องยอมให้แบงก์ยึดไปอย่างน่าเสียดาย นกน้อยต้องทำรังแต่พอตัว

9.เลือกระยะเวลาผ่อนชำระยาวๆ ไว้ก่อน แนะนำให้เลือกระยะเวลาการผ่อนชำระบ้านที่นานๆ ไว้ก่อน เช่น 25-30 ปี เพื่อให้วงเงินที่ผ่อนชำระต่อเดือนน้อยๆ หากรายได้ลดลงก็ไม่กระทบกับการผ่อน ในทางกลับกันถ้ามีรายได้เพิ่มขึ้นก็สามารถโปะได้ หรือไม่ต้องผ่อนนานตามที่กำหนดไว้ได้

แต่ถ้าเลือกผ่อนระยะสั้นไปแล้วจะขอขยายเวลาออกไปต้องเสียเวลาไปยื่นเรื่องใหม่ๆ และอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก

10.ถ้ายังไม่พร้อมก็อย่าเพิ่งคิดเป็นหนี้ เนื่องจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะผูกพันเป็นภาระหนี้ในระยะยาวเป็น 10 ปี 25 ปีขึ้นไป ฉะนั้นต้องมั่นใจในกำลังผ่อนของตัวเองเสียก่อนจึงคิดจะมีบ้าน

หากสามารถกำจัด 10 จุดอ่อนเหล่านี้ ซึ่งจะมีผลต่อการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินลงได้แล้วล่ะก็ เชื่อว่าคุณจะมีบ้านได้อย่างใจฝันแน่นอน

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก  home.co.th

บทความ Infographic ล่าสุด