ไขข้อสงสัย? บ้านแบบไหนเหมาะกับ การติดโซลาร์เซลล์ และ 7 เรื่องควรรู้

ติดต่อโครงการ


Ryl Info 7 Qa Solar 1200x628

ไขข้อสงสัย? บ้านแบบไหนเหมาะกับ การติดโซลาร์เซลล์ และ 7 เรื่องควรรู้

การติดโซลาร์เซลล์

การติดโซลาร์เซลล์ บนหลังคาอาคาร หรือที่พักอาศัย เป็นแนวทางหนึ่งที่เข้ามาช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้อย่างมาก โดยเฉพาะหากคิดถึงความคุ้มค่าในระยะยาว เพราะเป็นการลงทุนครั้งเดียว และเป็นการใช้พลังงานธรรมชาติที่ไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติม ยกเว้นแต่การดูแลรักษา และการซ่อมบำรุงตามอายุการใช้งาน

Ryl Info 7 Qa Solar

โดยเฉพาะตอนนี้อากาศเมืองไทยร้อนกันสุด ๆ แดดแรงแทบจะเผาผิวเราให้ไหม้ได้เลย ถ้าขืนไปยืนอยู่กลางแดดนาน ๆ โดยไม่ได้มีการป้องกัน ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกจะอยู่แต่ภายในอาคาร เปิดเครื่องปรับอากาศเย็น ๆ เพื่อความสบายตัว ลดความเสี่ยงออกไปสัมผัสอากาศร้อนภายนอก

 

เมื่อต้องอยู่แต่ภายในอาคาร หรือบ้านเรือน ที่พักอาศัย แถมต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ หรือ พัดลมเป็นเวลานาน ๆ แน่นอน ค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน แม้ว่าจะใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าแบบประหยัดไฟเบอร์ 5 ก็ตาม แต่ช่วงหน้าร้อนแบบนี้ ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นสูงสุดของปี การติดโซลาร์เซลล์ จึงน่าจะเป็นตัวช่วยที่ดีในการประหยัดค่าไฟฟ้า

บ้านแบบไหนเหมาะกับ การติดโซลาร์เซลล์

ระบบโซลาร์เซลล์ หรือระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นพลังงานทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้น​ เพราะนอกจากจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ปัจจุบันราคายังถูกลงกว่าในอดีตค่อนข้างมาก และยิ่งในระยะยาวก็มีความคุ้มค่า เพราะเป็นการลงทุนครั้งเดียว ไม่นับรวมกับการซ่อมบำรุง และในอนาคตโซลาร์จะเป็นหนึ่งในพลังงานที่สามารถทดแทนพลังงานหลักได้หากมีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น

 

ปัจจุบันดีเวลลอปเปอร์ที่พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ก็ใชระบบโซลาร์เซลล์ ที่มีการติดตั้งตามอาคารหรือบ้านมาเป็นหนึ่งจุดขายสำคัญ เพราะช่วยทำให้คนที่อยู่บ้านลดค่าใช้จ่ายจากค่าไฟฟ้าลงได้มาก ทำให้ระบบโซลาร์เซลล์ ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนบ้านไหนที่ยังไม่ได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ แล้วมีความสนใจที่จะนำมาติดตั้งบ้าง คงต้องศึกษาข้อมูลและวัดความคุ้มค่าดูก่อน เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ปรกอบการตัดสินใจ เพราะแม้ว่าปัจจุบันราคาโซลาร์เซลล์จะถูกลง แต่ก็ต้องใช้งบประมาณมากพอสมควร ​

 

สำหรับบ้านที่จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ควรมีพื้นที่บนหลังคาหรือดาดฟ้าที่รับแสงได้ดี โดยทิศใต้จะรับแสงได้ดีที่สุด ส่วนทิศเหนือจะรับแสงได้น้อยที่สุด การติดตั้งจะใช้พื้นที่ประมาณ 14 – 18 ตารางเมตรขึ้นไป และพื้นที่ติดตั้งต้องรับน้ำหนักได้ประมาณ 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไปด้วย ซึ่งบ้านที่เหมาะกับการติดตั้งระบบโซลาร์จะเป็นบ้านแบบไหนบ้าง มาดูกัน

บ้านที่มีการใช้ไฟระหว่างวันมาก

เช่น บ้านที่มีผู้อยู่อาศัยช่วงเวลากลางวัน อาคารโฮมออฟฟิศ ร้านอาหารที่มีการเปิดแอร์ตลอดวัน ส่วนใครที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า การชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ช่วงกลางวันถือว่าเหมาะมาก เพราะเป็นช่วงที่สามารถใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ได้เต็มที่ ช่วยลดการใช้ไฟจากการไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี

เจ้าของบ้านที่อยากมีส่วนร่วมในการใช้พลังงานสะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดยการติดตั้งระบบโซลาร์จะช่วยลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกได้ นอกจากนี้ การติดโซลาร์เซลล์ยังช่วยให้บ้านเย็นขึ้นด้วย เพราะเหมือนมีหลังคาอีกชั้นช่วยบังแดดไว้

บ้านที่ต้องการประหยัดค่าไฟในระยะยาว

การติดโซลาร์ เป็นการตอบรับการมาของโลกยุคดิจิทัล ที่ค่าไฟมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยบ้านที่มีค่าไฟเกิน 3,000 บาทต่อเดือน มีความเหมาะสมที่จะติดโซลาร์เซลล์

Solar Cell

7 ข้อต้องรู้ในการติดตั้งโซลาร์เซลล์

สำหรับบ้านไหน หรืออาคารไหน ที่ต้องการจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ หรือโซลาร์รูฟท็อป คงต้องทำการศึกษาหาข้อดีข้อเสีย วางแผนด้านการติดตั้ง เพราะว่าจะต้องมีขั้นตอนการขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการวางแผนงบประมาณ  ข้อมูลด้านการใช้งาน การดูแล และบำรุงรักษา เพื่อจะได้เข้าใจระบบการทำงาน ลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นภายหลังด้วย

โดยแนวทางการติดโซลาร์เซลล์  มี 7 เรื่องสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจ และต้องปฏิบัติ ดังนี้

1.เช็คพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในบ้านด้วย บิลค่าไฟฟ้าย้อนหลัง 3 เดือน – 1 ปี

ก่อนจะหาสเปคแผงโซลาร์เซลล์ หรือคิดว่าบ้านเราจะต้องติดตั้งกี่แผงดี? หยุดความคิดนั้นก่อน เพราะสิ่งที่ต้องทำอันดับหนึ่งคือต้องคำนวนว่าบ้านเราใช้ไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหน ด้วยการดูบิลค่าไฟฟ้าย้อนหลัง 3 เดือน – 1 ปี เพราะพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของเราจะเป็นเหมือนแนวทางให้เราสามารถตัดสินใจได้ว่าเราจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังผลิตเท่าไร

2.สำรวจปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งกลางวันและกลางคืน

ลองดูว่าปริมาณที่เราใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวันมากน้อยแค่ไหน เอามาเปรียบเทียบกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าในตอนกลางคืน เราจะได้เห็นว่าถ้าเราจะสามารถลดค่าไฟฟ้าช่วงกลางวันไปได้เท่าไรหากติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป

3.เช็คค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง

สำหรับค่าใช้จ่ายในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ขอเปรียบเทียบกับข้อมูล ดังนี้ หากเราต้องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังติดตั้ง 1,000 วัตต์ จะมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 25,000 บาท ถึง 35,000 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่รวมทุกๆอย่างแล้วทั้ง ค่าบริการติดตั้ง ค่าใช้จ่ายในการขออนุญาตติดตั้ง ทั้งนี้ การติดตั้ง 1,000 วัตต์หรือ 1 กิโลวัตต์ สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 500-800 บาทต่อเดือน

4.สำรวจพื้นที่สำหรับติดตั้งและการยื่นเรื่องขออนุญาตติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

เมื่อเราสำรวจการใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และเลือกปริมาณในการผลิตแล้ว ให้เราแจ้งขออนุญาตติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่เขตโยธาท้องถิ่นที่เราอาศัยอยู่ ทางเขตโยธาจะส่งวิศวกรมาสำรวจหลังคาบ้านของเราว่ามีความพร้อมติดตั้งหรือไม่ หรือจะต้องซ่อมแซมหลังคา หรือต้องเพิ่มเติมอะไรเพื่อให้ติดตั้งแผงได้โดยปลอดภัย หลังจากเช็คความพร้อมของหลังคาบ้านแล้ว เราจะต้องทำเรื่องขออนุญาตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) หรือการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)ในเขตพื้นที่ ที่บ้านเราตั้งอยู่โดยส่งแบบแปลน 2 แบบไปให้การไฟฟ้าฯ พิจารณา แบบที่1 เรียกว่า “ส่งแบบ Single Line Diagram” เป็นแปลนระบบไฟฟ้า และ 2 เป็นแปลนอินเวอร์เตอร์

เตรียมเฮ! ธ.ทหารไทย ปล่อยสินเชื่อ Solar Rooftop วงเงินกู้สูงสุด 100 %

5.ยื่นเรื่องกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

เมื่อเราได้รับการพิจารณาจากเขตโยธาท้องถิ่น และการไฟฟ้าฯเรียบร้อยแล้ว ให้เรานำเอกสารที่ได้รับมายื่นเรื่องต่อไปที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพราะเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ รับเรื่องและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตการประกอบกิจการ พลังงานตามประเภท ขนาดและลักษณะของกิจการพลังงาน ตลอดจน ตรวจสอบการและสนับสนุนการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการออกใบอนุญาตทั้งก่อนและหลังในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ กกพ.จะพิจารณาว่าเราสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้หรือไม่

6.เริ่มติดตั้งโซลาร์เซลล์ 

ขั้นตอนที่ 6 นี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญเพราะเราจะต้องเริ่มขึ้นหลังคาแล้ว โดยเราจะต้องเตรียมตัวดังนี้

-เลือกทีมช่างที่มีความชำนาญการ เลือกใช้บริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ มีประวัติการติดตั้ง และเคยรับงานมากน้อยแค่ไหน ลักษณะงานขนาดเล็กใหญ่แค่ไหน

-เลือกใช้อินเวอร์เตอร์ที่มีคุณภาพ

-เลือกแผงโซลาร์เซลล์และรุ่นของแผงที่เหมาะสม

เมื่อช่างมาติดตั้ง เราจะต้องเช็คว่าสิ่งที่ช่างแนะนำก่อนหน้านี้ กับอุปกรณ์ที่นำมาติดจริงตรงกันหรือไม่  อย่างไรก็ดียังไม่ต้องกังวลไป เพราะจะมีวิศวกรจากโยธาเขตท้องถิ่นมาตรวจเช็คอีกครั้ง ว่าอุปกรณ์ได้มาตรฐานหรือไม่

7.การใช้งาน การดูแลรักษา และการรีไซเคิล

เมื่อติดตั้งแล้วเสร็จ ก็เป็นหน้าที่ของเราเจ้าของบ้านที่จะเป็นคนดูแลรักษา เบื้องต้นคือการล้างแผงโซลาร์เซลล์ไม่ให้มีฝุ่นหรือสิ่งสกปรกมาเกาะเพราะจะลดประสิทธิภาพการผลิตพลังงานไฟฟ้าของแผงโซลาร์เซลล์เพียงแค่ใช้น้ำสะอาดฉีดล้างและใช้ผ้าเช็ดให้แห้ง แผงโซลาร์เซลล์จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับบ้านเรานานประมาณ 25 ปีโดยมาตรฐาน  (หากดูแลรักษาดีสามารถใช้งานนานถึง 30 ปี) เมื่อแผงโซลาร์หมดอายุการใช้งานแล้วก็จะต้องนำแผงเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแผงโซลาร์ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีนำร่องที่สามารถรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ได้แล้ว

 

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลสำหรับการใช้พิจาณา และประกอบการตัดสินใจ รวมถึงขั้นตอนการดำเนินการติดตั้ง  ซึ่งบ้านไหนจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ ก็ควรหาข้อมูลให้รอบด้าน ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และดำเนินการต่าง ๆ ให้ถูกต้อง เพื่อที่จะได้มีพลังงานได้ใช้ในต้นทุนที่ประหยัดลง

 

CR : SCB, Greenpace Thailand

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

บทความ Life+Style ล่าสุด